Wednesday, 3 July 2024
PM25

‘พงษ์ภาณุ’ สะท้อนภาพ ภาคท่องเที่ยวเชียงใหม่น่าห่วง หวังเห็นแสงสว่าง หลังภาคีเครือข่ายรัฐเอกชนร่วมกู้วิกฤต PM2.5 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ภาคการท่องเที่ยว นับเป็นฟันเฟืองที่สำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ นั่นเพราะรายได้ราว 80% มาจากกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว ขณะที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวในช่วงที่บูมสุดขีดมีมากถึง 10 ล้านคน ในปี 2562 ก่อนที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด-19

แม้สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นหลังโควิด-19 คลี่คลายเมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่ทว่า กลับมาได้รับผลกระทบจากไฟป่า และฝุ่น PM2.5 ซ้ำเติมเข้าไปอีก ทำให้สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ไม่ฟื้นตัวตามเป้าหมายที่คาดการณ์กันไว้

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองต่อผลกระทบจาก PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ว่า จากข้อมูลด้านเศรษฐกิจของเชียงใหม่ พบว่ารายได้ประมาณ 80% มาจากภาคการท่องเที่ยวใหญ่มา สะท้อนให้เห็นว่าการท่องเที่ยวมีความสำคัญมาก เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่กระทบต่อการท่องเที่ยว จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของเชียงใหม่อย่างปฏิเสธไม่ได้

ทั้งนี้ จากการติดตามตัวเลขสถิติด้านการท่องเที่ยวอย่างละเอียด จะเริ่มเห็นสัญญาณที่นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเชียงใหม่เมื่อปลายปีที่แล้ว และคาดว่าน่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อประเทศจีนเปิดประเทศ เพราะคนจีนชอบมาเที่ยวเชียงใหม่อยู่แล้ว แต่ทว่า หลังจากเกิดวิกฤต PM2.5 กลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ตัวเลขนักท่องเที่ยวลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก และคงเป็นเรื่องยากที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนเมื่อปี 2562 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือนเชียงใหม่ถึงกว่า 10 ล้านคน

ในขณะเดียวกัน จากกรณีที่ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ได้ตัดสินให้ประชาชนชนะคดีกรณีรัฐละเลยในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม แม้จะเป็นข่าวดีที่ชาวเชียงใหม่ชนะคดี แต่เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า กลไกภาครัฐในการดูแลแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมล้มเหลว ไม่สามารถคุ้มครองชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนได้อย่างเหมาะสม

“การที่ประชาชนชนะคดีภาครัฐในเรื่องสิ่งแวดล้อม ถือเป็นกรณีประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งทำให้เราได้รู้ว่าจะพึ่งพาภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ในอดีตเมื่อครั้งที่ผมเป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต เคยมีแนวคิดที่จะเก็บภาษีจากการปล่อยคาร์บอน โดยเฉพาะในเรื่องการเก็บภาษีรถยนต์ จากเดิมที่เก็บตามจำนวนซีซี แต่จะเปลี่ยนไปใช้รูปแบบเก็บภาษีตามการปล่อยคาร์บอน ซึ่งสมัยนั้นทำการศึกษาเยอะแยะไปหมด แต่ก็ไม่สำเร็จ”

นายพงษ์ภาณุ กล่าวด้วยว่า ในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อชีวิตประชาชน คงต้องพึ่งกลไกของภาคเอกชนเข้ามาช่วยลด คาร์บอน ลดฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะแนวคิดการเปิดตลาดคาร์บอนเครดิตของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะช่วยให้การแก้ไขปัญหามลพิษได้อย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างมูลค่าจากอากาศที่บริษัท ประกอบกับโครงการหยุดเผาเรารับซื้อ ที่เริ่มเป็นรูปร่างจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เชื่อว่าจะเป็นทางออกในการคลี่คลายวิกฤตที่เกิดขึ้นและจะทำให้การท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่กลับมาเหมือนเมื่อปี 2562 ได้อีกครั้ง

‘เพื่อไทย’ หนุน!! ‘พรบ.อากาศสะอาด’ ทวงคืนไฮซีซันท่องเที่ยวภาคเหนือ พร้อมดันรถไฟฟ้า 20 บาท คลายมลพิษเมืองกรุงจากฝุ่น PM

ดูเหมือนการมุ่งเป้าแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จะถูกขับเคลื่อนอย่างจริงจังและเข้มข้น หลังจากเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 พรรคเพื่อไทยได้ยื่นร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด เพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเข้าสู่สภา เพื่อเร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง ซึ่งมีการปรับปรุงร่างกฎหมายให้มีกลไกแก้ไขปัญหาที่เข้ากับสถานการณ์มากขึ้น โดยให้มีบทลงโทษแก่ผู้ก่อมลพิษเผาป่าในประเทศ รวมถึงกลไกแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน ให้มีการลงโทษบริษัทที่ทำให้เกิดมลพิษข้ามแดนด้วยเช่นกัน

(6 ต.ค. 66) นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ต้นตอ ด้วย พรบ.อากาศสะอาด เพื่อไทยทุกคน’ ระบุว่า...

ปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพของประชาชน รวมไปถึงกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของไทย กล่าวคือ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 (1 ม.ค. ถึง 31 มี.ค.) พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศในไทย กว่า 2 ล้านราย ซึ่งผลการศึกษาของกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ IQAir พบว่าในปี 2563 มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนไทยกว่า 14,000 ราย และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 149,367 ล้านบาท โดยกรุงเทพมหานคร มีความเสียหายมูลค่าทางเศรษฐกิจจากมลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM 2.5 ถึง 104,557 ล้านบาท โดยคิดเป็นร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (City’s GDP)

ในขณะเดียวกัน ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล โดยทางภาคเหนือ ในช่วงต้นปีซึ่งควรจะเป็นไฮซีซันของการท่องเที่ยวไทย แต่นักท่องเที่ยวกลับมีความกังวลเรื่องมลพิษทางอากาศที่สูงเกินมาตรฐาน สาเหตุหลักเกิดจากการเผาทั้งในและนอกประเทศ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากตัดสินใจไม่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงเวลานี้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่จำนวนมากสูญเสียโอกาสการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวโดยสิ่งที่พวกเขาไม่ได้ก่อ 

ดังนั้น พรบ.อากาศสะอาด ฉบับนี้ จะแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ เพื่อทวงคืนไฮซีซันของการท่องเที่ยวกลับคืนมาให้กับพี่น้องประชาชนภาคเหนือ

เมื่อพิจารณาที่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร สาเหตุหลักของฝุ่น PM 2.5 กว่า 50% เกิดมาจากภาคการขนส่ง กระทรวงคมนาคมพร้อมมีส่วนร่วมในการส่งเสริมอากาศสะอาดให้กับคนไทย โดยการรณรงค์ให้ประชาชนได้เข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เริ่มจากเส้นเลือดใหญ่ในการขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้า มีการเร่งผลักดันให้เป็น 20 บาทตลอดสาย โดยวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา รฟม.ได้มีการอนุมัติรถไฟฟ้าสายสีม่วงให้เป็น 20 บาทตลอดสายเป็นที่เรียบร้อย เตรียมเสนอให้ ครม.อนุมัติในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ ในขณะเดียวกัน ด้านเส้นเลือดฝอย ขสมก.ก็มีแผนเปลี่ยนรถโดยสารประจำทาง EV จากปีนี้ จำนวน 224 คัน ให้เพิ่มเป็น 2,013 คัน ภายในปี 2568

เพราะสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทยคือมาตรฐานของเราครับ ❤️

‘บางจาก’ ยกระดับคุณภาพน้ำมันดีเซล ชู!! มาตรฐาน EURO 5 เริ่ม 15 พ.ย. 66

(3 พ.ย. 66) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เตรียมปรับคุณภาพน้ำมันดีเซลทุกชนิด และผลิตภัณฑ์พรีเมียมของบางจาก ทั้งบางจาก ไฮพรีเมียม 97 พรีเมียมแก๊สโซฮอล์ และบางจาก ไฮพรีเมียมดีเซล S ในเขตกรุงเทพมหานครให้มีปริมาณกำมะถันต่ำเทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 เริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป

โดยบางจากฯ จะปรับสูตรน้ำมันดีเซลที่จำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันบางจากและสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่เดิม ซึ่งเป็นสถานีบริการน้ำมันบางจากที่ปรับจากสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมจำนวน 224 สาขา ให้เป็นดีเซลปริมาณกำมะถันต่ำเทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 ที่มีค่ากำมะถันลดลงถึง 5 เท่า อ้างอิงจากผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการ

โดยการปรับลดปริมาณกำมะถันในน้ำมันดีเซลนี้ สามารถช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ เพราะกำมะถันในน้ำมันเมื่อถูกเผาไหม้จะเกิดเป็นซัลเฟตและจับกับมลพิษอื่น ทำให้เกิดเป็นฝุ่น PM 2.5

นอกจากนี้ ในช่วงเวลาเดียวกัน ลูกค้าบางจากฯ สามารถนำใบเสร็จจากการเติมน้ำมันไปรับบริการตรวจเช็กสภาพรถฟรี 11 รายการ ได้ที่ FURiO Care และ Wash Pro สาขาที่ร่วมรายการ

พร้อมให้คำปรึกษาและคำแนะนำในการดูแลให้เครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ปล่อยเขม่าที่เกิดจากการเผาไหม้อันเป็นสาเหตุของฝุ่น PM 2.5 โดยสามารถดูรายชื่อ FURiO Care และ Wash Pro ได้ที่ www.bcpcarcare.com

‘นครเดลี’ ของอินเดีย ประกาศสั่งปิดโรงเรียนทุกแห่งในเมือง 2 วัน หลังฝุ่นพิษ PM 2.5 พุ่งสูง กระทบชีวิต-สุขภาพ ปชช.กว่า 30 ล้านคน

(3 พ.ย. 66) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ทางการของกรุงเดลี เขตขนาดใหญ่ในกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย ได้มีการสั่งปิดโรงเรียนต่างๆ ทั่วเมืองหลวงทั้งหมดเป็นเวลา 2 วัน เนื่องจากหมอกควันพิษที่แผ่ปกคลุมไปทั่วเมืองใหญ่แห่งนี้ ซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตและสุขภาพของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้ราว 30 ล้านคน

โดยจากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในกรุงนิวเดลี พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) สูงกว่า 35 เท่าจากค่ามาตรฐานปลอดภัยที่องค์การอนามัยโลกกำหนด

‘นายอาร์วินด์ เกจรีวัล’ มุขมนตรีเดลี โพสต์บน X (ทวิตเตอร์) ว่า “จากระดับมลพิษที่สูงขึ้น โรงเรียนรัฐและเอกชนทั้งหมดจะยังคงปิดเรียนต่อไปอีก 2 วัน”

ด้านรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของเดลี ยังได้เรียกประชุมฉุกเฉิน เพื่อทบทวนสถานการณ์หมอกควันพิษที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ กรุงเดลี ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกอีกด้วย โดยกลุ่มหมอกควันพิษที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากการเผาพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร ไอเสียรถยนต์และการปล่อยมลพิษของโรงงานรวมกัน

'สุริยะ' รับลูก 'นายกฯ' สั่งหน่วยงานคมนาคม โละหมด 'รถยนต์สันดาป'  ชี้!! 'หมดสัญญาเช่า' เปลี่ยนใช้ 'EV' ช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5

(7 พ.ย.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) เพื่อแก้ปัญแทนรถยนต์ที่หมดอายุนั้น กระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญ และขานรับข้อสั่งการดังกล่าว ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ทั้งส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจรวบรวมรายละเอียด และพิจารณาเปลี่ยนรถยนต์ใช้น้ำมัน (สันดาป) ที่หมดอายุสัญญาเช่าให้เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า สอดคล้องเป้าหมายในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 30% ภายในปี 2573 โดยให้พิจารณาตามความเหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ หรือฝุ่นละออง PM 2.5

ทั้งนี้ จากการรายงานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ระบุว่า ทอท. จะทยอยปรับเปลี่ยนรถที่มีการใช้ให้บริการในท่าอากาศยานทั้งหมดให้เป็นรถไฟฟ้า ตามนโยบายของรัฐบาลในการลดการใช้ยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน ซึ่งในปัจจุบัน รถส่วนกลางของ ทอท. ส่วนใหญ่เป็นรถเช่าระยะเวลา 3 ปี ดังนั้น หากหมดสัญญาเช่าแล้ว ให้ ทอท.พิจารณาเริ่มสัญญารถเช่าใหม่ เปลี่ยนให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ใช้น้ำมันทั้งหมด

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ขณะนี้ กระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก ประสานไปยังหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เพื่อมอบหมายให้สรุปรายละเอียดและพิจารณารถยนต์ที่ใช้ภายในของแต่ละหน่วยงาน และจะหมดสัญญาเช่าให้เปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ตามข้อสั่งการของรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ทั้งนี้ ให้แต่ละหน่วยงานพิจารณาตามความเหมาะสมในการใช้งาน เช่น ในเบื้องต้นจะให้เปลี่ยนรถยนต์ที่วิ่งใช้ภายในจังหวัด หรือระยะทางไม่ไกลมากนัก หากเป็นรถยนต์ที่ใช้วิ่งข้ามจังหวัด อาจจะยังคงเป็นรถยนต์ใช้น้ำมันไปก่อร เนื่องจากติดปัญหาเรื่องระยะทางวิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังไม่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ให้หน่วยงานทั้งหมดสรุปรายละเอียดและแผนการดำเนินงานเสนอมายังกระทรวงฯ โดยเร็วที่สุด

'พัชรวาท' ลุย เชียงใหม่ ระดมทุกหน่วย เตรียมรับมือไฟป่า หมอกควัน พื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ดูแลประชาชน เน้นย้ำ แจ้งเตือนสถานการณ์ PM 2.5 ต้อง 'ทั่วถึง เท่าเทียม ทันท่วงที'

วันที่ 8 พ.ย. ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมการมอบนโยบายเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2567 โดยได้มอบนโยบายให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 17 จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ดังที่ปรากฏในคำแถลงนโยบาย มีการลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และใรการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 16 ต.ค.และ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้เร่งรัดมาตรการเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ทั้งระบบให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษปี 2567 เพื่อใช้รับมือกับการควบคุมไฟในป่าการเผาพื้นที่ทำการเกษตร และการควบคุมการเกิดฝุ่นในพื้นที่เมือง ซึ่งสถานการณ์ฝุ่นในปี 2566 จากปรากฏการณ์เอลนีโย่ เตือนให้เราเห็นแล้วว่าในปีหน้าสถานการณ์จะรุนแรงขึ้น ดังนั้นทุกหน่วยงานจะต้องนำมาตรการที่กำหนดร่วมกันไปปฏิบัติอย่างเร่งด่วน อย่างทันที ด้วยความตระหนักถึงการปกป้องสุขภาพของประชาชน ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจ เห็นความพร้อมและรับรู้ว่าภาครัฐทำอย่างเต็มที่ ไม่ได้มีการละเลย 

"ต้องลดการเผาไหม้ทั้งในพื้นที่เกษตรเผาไหม้ซ้ำซาก  พื้นที่ป่า จะมุ่งเป้าไปที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติที่มีสถานการณ์ไฟป่ารุนแรงโดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ต้องตรึงพื้นที่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า เราจะมีการจัดระเบียบการเก็บหาของป่าโดยอนุญาตเฉพาะคนในพื้นที่เท่านั้น ผ่านการลงทะเบียน ส่วนพื้นที่ป่าอนุรักษ์จะต้องมี จุดตรวจ จุดสกัด เพื่อมิให้เกิดการลักลอบเผาป่า เมื่อเข้าห้วงสถานการณ์ฤดูไฟป่าจะต้องมีผู้บังคับบัญชาเหตุการณ์ มีกำลังพล และเครื่องมือพร้อมปฏิบัติในการดับไฟป่าและสามารถสับเปลี่ยนกำลังระดมพลช่วยกันดับไฟป่าได้อย่างทันท่วงทีโดย ผ่าน war room ระดับพื้นที่ และดึงหมู่บ้านเครือข่ายดับไฟป่า (อส.อส.) มาร่วมในการดับไฟป่าด้วย โดยมีเป้าลดพื้นที่ ไฟไหม้ลดลง 50 % จากปี พ.ศ.2566" พล.ต.อ.พัชรวาทกล่าว   

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวอีกว่า การควบคุมการเผาจากแหล่งกำเนิด คือหัวใจ ทุกหน่วยงานทุกภาคประชาสังคม ต้องช่วยสื่อสารกับประชาชน ซึ่งนอกจากการดูแลตัวเองแล้ว ต้องให้ความร่วมมือปฏิบัติตามคำแนะนำคำร้องขอของภาครัฐด้วย การแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นต้องทั่วถึงเท่าเทียมทันท่วงทีเพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูล ที่รวดเร็วถูกต้อง 

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า นายกฯ ได้มีการสั่งการให้ตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาเพื่อกำกับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยมอบให้ตนเป็นประธาน และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานคนที่ 2 และเร่งจัดตั้งศูนย์ ปฏิบัติการระดับพื้นที่เพื่อดำาเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่งหมอกควันและฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการศูนย์ เพื่อเชื่อมโยงนโยบายสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ ที่มีการบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ

"สุดท้ายขอเน้นย้ำให้ทุกหน่วยราชการปฎิบัติการโดยความแม่นยำ รวดเร็ว ทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ ในปีนี้ภาครัฐได้มีการเตรียมการอย่างรวดเร็วก่อนสถานการณ์ฝุ่นและพร้อมจะดำเนิน อย่างเต็มที่ ทุกฝ่ายต้องรวมพลังกัน ทุกภาคส่วนรวมถึงพี่น้องประชาชนเพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นที่คาดว่าจะรุนแรงได้ขอเป็นกำลังใจให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ"พล.ต.อ.พัชรวาทกล่าว 

จากนั้นพล.ต.อ.พัชรวาท ได้เดินเยี่ยมชมบูธนิทรรศการของหน่วยงานต่างๆที่จัดขึ้น พร้อมทั้งทักทายและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ร่วมกันทำงานเพื่อประชาชน 

‘พัชรวาท’ สั่ง!! เร่งระดมสมองแก้ฝุ่นพิษ หลังค่า ‘PM2.5’ พุ่ง  ชงใช้นวัตกรรมแก้ปัญหาเร่งด่วน เปิดกว้างเอกชนเสนอเทคโนโลยี

(26 พ.ย. 66) ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้รับรายงานสถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 ในเขต กทม.และปริมณฑล ซึ่งพบว่าในช่วงที่ผ่านมามีค่าเกินมาตรฐาน จึงได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.อภิรัต นิยมการ รองเลขาธิการ นรม. เรียกประชุมด่วนเพื่อติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ใน กทม.และปริมณฑลอย่างใกล้ชิด และแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง

ร.อ.รชฏกล่าวถึงการประชุมวันนี้ว่า พล.ต.ท.อภิรัต เป็นประธานการประชุม โดยมีนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ, นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาการอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย ได้หารือถึงสภาพปัญหาโดยเฉพาะพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ประชุมได้สะท้อนปัญหาว่าช่วงนี้เป็นช่วงอากาศปิด ทำให้ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน ประกอบกับสภาพการจรจรที่มีปริมาณการใช้รถใช้ถนนจำนวนมาก สำหรับปัญหาควันจากการเผา จะขอความร่วมมือในพื้นที่ปริมณฑลไม่ให้มีการเผาในพื้นที่โล่ง และขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันบูรณาการแก้ไขปัญหา

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เสนอให้มีการใช้นวัตกรรมร่วมแก้ไขปัญหาฝุ่น เช่น การติดตั้งพัดลมยักษ์ตามจุดต่างๆ ในพื้นที่ของกลุ่มเปราะบาง และตามสถานศึกษา เพื่อให้เป็นเซฟโซน ทำให้เกิดอากาศหมุนเวียน พร้อมกันนี้ยังได้เปิดรับฟังข้อเสนอของภาคเอกชน เชิญชวนให้มาร่วมนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถบรรเทา และแก้ปัญหาได้ และยังเป็นการระดมสมอง เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาระดับชาติต่อไป และได้นำเรียนผลการประชุมรายงาน พล.ต.อ.พัชรวาทแล้ว

“ท่านรองนายกฯ และ รมว.ทส.ห่วงใยสุขภาพของประชาชนอย่างมาก ได้เร่งรัดให้ทุกฝ่ายแก้ไขปัญหาให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนเกิดความสบายใจ ไม่ให้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เร็วๆ นี้ ผมจะลงพื้นที่ติดตามจุดที่พบว่าเป็นต้นกำเนิดฝุ่น ตามที่ พล.ต.อ.พัชรวาทสั่งการ เพื่อหามาตรการแก้ไขเพิ่มเติมทั้งในระยะเร่งด่วน และระยะยาวต่อไป” ร.อ.รชฏ กล่าว

'นายกฯ เศรษฐา' มอบนโยบายดึง 'ทุกภาคส่วน-เพื่อนบ้าน' แก้ฝุ่น PM 2.5 เปรย!! ขอบรรเทาให้ลดน้อยลง ยอมรับคงลำบากถ้าให้หมดไปทันที

(29 พ.ย.66) ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประชุมมอบนโยบายเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2567 และปล่อยขบวนคาราวานปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยมี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ กล่าวมอบนโยบายว่า การประชุมวันนี้เป็นสัญญาณดีที่สุด ซึ่งเราทุกคนเห็นด้วย ดูได้จากแววตาคนที่มานำเสนอในวันนี้เป็นคนที่มีความจริงใจกับปัญหานี้ รับทราบถึงปัญหานี้อย่างถ่องแท้ และอยากให้ปัญหานี้ลดน้อยลงไป ซึ่งการใช้คำพูดด้วยความระมัดระวัง ใช้คำว่าลดน้อยลงไปเพราะถ้าให้หมดไปคงลำบาก เราอยู่กับความเป็นจริงดีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมีหลายส่วน ทั้งเกิดจากท่อไอเสียด้วย และในอนาคตคิดว่าไม่เกิน 10 ปี การที่เรามาใช้รถ EV เยอะขึ้นก็จะทำให้ PM 2.5 ที่เกิดจากรถยนต์ลดน้อยลงอย่างมีนัย

นายกฯ กล่าวว่า อีกประเด็นเรื่องการเผาป่าและการมีไฟป่า ต้องกลับไปพูดถึงบ่อเกิดมันเกิดจากอะไร เกิดจากเรื่องของเศรษฐกิจมากกว่า หากเศษข้าวโพดซังข้าวโพดตอข้าวทั้งหลายมีคนมารับซื้อ โดยที่เขาไม่ต้องใช้ ไม้ขีดก้านเดียวเผา เชื่อว่าไม่มีใครอยากทำ เชื่อว่าทุกคนตระหนักดีกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายที่สูงในการบริหารจัดการเรื่องซากพืชผลเป็นปัญหาใหญ่ทางเศรษฐกิจปากท้อง งบประมาณค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลายๆ ท่านนำเสนอตรงนี้ มีการพูดถึงออปชั่นที่เราจะทำ ทั้งการเสนอซอฟโลน รายละเอียดต่างๆ ที่เสนอมาถือเป็นสิ่งที่ตนเชื่อว่าเป็นเรื่องที่เราต้องไปทำต่อ และจะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนที่สุด

หากพูดจากันแล้วไม่ทำตาม มาตรการภาษีก็ต้องมีมา ถ้าท่านไปซื้อของจากประเทศที่เขาไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องอากาศบริสุทธิ์เรามีพระราชบัญญัติอากาศสะอาด มีหลายภาคส่วนมา ใช้เวลาในวันนี้อย่างจริงจัง หากเพื่อนบ้านเราไม่ทำให้หรือนายทุนจากบ้านเราไปทำมาหากินในประเทศเขา และไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้รัฐบาลนี้ก็ยอมรับไม่ได้

นายกฯ กล่าวว่า วันนี้มาด้วยกันหลายภาคส่วนก็ต้องพูดกันอย่างตรงไปตรงมา พูดกันให้ชัดเจน ซึ่งจริงๆแล้วตัวเลขมาจากลาว จากเมียนมาเยอะเรื่องการพูดคุยกับเราก็น่าจะง่ายกว่า เพราะเราได้มีการพูดคุยกันด้วยดีมาตลอด ขณะที่ทางเมียนมาเราได้พยายามหาทาง ที่จะเข้าไปพูดคุยกับเขา เพื่อที่จะให้เขาเห็นว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ หากเรามีความสงบการค้าขายเราไปได้ด้วยดี เราสามารถซื้อสินค้าเข้ามาได้ พี่น้องประชาชนในภาคเหนือ 10 กว่าจังหวัดสามารถอยู่ได้อย่างมีอากาศบริสุทธิ์ ก็ถือเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องให้ความสำคัญ ไม่เช่นนั้นตนคิดว่าเราทำคนเดียวคงไม่ได้ เราอยู่คนเดียวบนโลกไม่ได้ เรื่องของภาคประชาชนต้องมากยิ่งขึ้นในอนาคต ยืนยันว่ารัฐบาลนี้ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องกับเรื่องอากาศสะอาดเพราะหากคิดดูจริงๆ สิทธิพื้นฐานของมนุษยชนเราเรียกร้องกันหลายเรื่อง แต่เรื่องที่จะได้ที่สุดคืออากาศสะอาดซึ่งเป็นของฟรี หากรัฐบาลไม่ให้ความสนใจหรือไม่สามารถทำให้มันดีขึ้นได้ ตนว่าเรามีปัญหา ฉะนั้นเรื่องนี้ขอให้ทุกท่านที่นั่งอยู่ตรงนี้ตระหนักและเข้าใจว่ารัฐบาลนี้จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกๆ

จากนั้นนายกฯ เดินชมนิทรรศการ โดยได้ชื่นชมการนำวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตร จากต้นไม้ ใบไม้ กิ่งไม้มาทำเป็นบรรจุภัณฑ์ภาชนะ เช่น จาน ชามกระทงใบไม้ เพื่อลดการเป็นเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดไฟป่า

ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวว่า ให้นำวิดีโอไปฉายบนเครื่องบินเพื่อให้ต่างชาติได้รู้ถึง การนำวัสดุธรรมชาติมารีไซเคิลให้มีเรื่องราวต่อเนื่อง ที่เป็นการนำเศษใบไม้ มาทำเป็นภาชนะเพื่อลดไฟป่า ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเอกชนหลายรายช่วยกันได้ ก็จะสามารถเปิดตลาดใหม่ ทั้งนี้ แน่นอนว่าวัสดุรีไซเคิลดังกล่าวมีราคาแพงมากกว่าพลาสติกหรือโฟม แต่สำหรับบางเหตุการณ์บางบริษัทอาจจะดีกว่า เมื่อคืนวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา ตนไปลอยกระทงก็ใช้กระทงที่ทำมาจากใบไม้ ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม โดยในส่วนของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ก็ได้เริ่มดำเนินการทำแล้ว ถ้าช่วงไฮซีซั่นนี้ทำได้ทันก็จะสามารถนำไปใช้บน เครื่องบินชั้นบิสสิเนสคลาส หรือชั้นเฟิร์สคลาส ได้ทันที เพื่อเป็นหน้าเป็นตา ให้กับประเทศเป็นการโฆษณาและช่วยในหลายอย่าง นอกจากนี้ ได้มีการมอบวัสดุเชื้อเพลิงชีวมวลตัวอย่าง ให้นายกฯด้วย

จากนั้นนายเศรษฐา ได้มอบนโยบายเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ไฟป่าฯ ตอนหนึ่งว่า พี่น้องอาสาสมัครที่เคารพทุกท่านจากการดำเนินงานแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองในปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมามีสถานการณ์ไฟป่าค่อนข้างรุนแรงซึ่งทราบว่าเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานทุกท่านได้ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาอย่างเต็มกำลัง ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ปฏิบัติงานด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจในภารกิจที่สำคัญนี้ เพื่อสร้างความสุข สุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชน ตลอดจนรักษาป่าให้คงความอุดมสมบูรณ์ ปลอดภัยจากปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง วันนี้รู้สึกยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้เป็นประธานในการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองในปี 2567 และขอเป็นกำลังใจกับเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็งเต็มที่ เต็มกำลัง เต็มความสามารถและต้องอยู่ภายใต้ ความไม่ประมาทในทุกๆ ครั้งที่ปฏิบัติงาน ขอให้ปฏิบัติภารกิจบรรลุเป้าหมายและมีความปลอดภัยทุกท่าน และขอขอบคุณจากใจจริงกับท่านอาสาสมัครที่ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยขอบคุณอีกครั้ง

จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมรถหน่วยตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศแบบเคลื่อนที่ของกรมควบคุมมลพิษ และพูดคุยพบปะกับอาสาสมัครและประชาชน โดยให้กำลังใจและขอบคุณกับชนเผ่าบนดอยปุยที่ช่วยกันดูแลป่าและขอให้ทำการปลูกป่าเพิ่มมากขึ้น

‘อนุทิน’ เข้ม!! สั่งทุกจังหวัดบังคับใช้ กม.คุมแหล่งก่อมลพิษ หนุนเร่งพีอาร์เชิงรุกสร้างความร่วมมือ ปชช.แก้ปัญหา PM 2.5 

(6 ธ.ค. 66) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ มอบนโยบายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดำเนินการสำหรับป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ปี 66-67

ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วงฤดูหนาวจนถึงฤดูแล้งของทุกปี ประเทศไทยจะเกิดสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินเกณฑ์มาตรฐานในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีสาเหตุทั้งจากโดยธรรมชาติ สภาพอากาศและภูมิประเทศที่เอื้อต่อการเกิดสถานการณ์และกิจกรรมของมนุษย์ จนเกิดการสะสมของฝุ่นละอองในปริมาณสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน

ทั้งนี้ ตามข้อสั่งการ รมว.มหาดไทย ได้ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ที่ส่งผลต่อการเกิดปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการสนับสนุนการสั่งดำเนินการ ตลอดจนแจ้งเตือนแก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยให้ฝ่ายปฏิบัติการให้ความสำคัญกับการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่แหล่งกำเนิด กำชับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ให้บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการเผาในที่โล่ง การคมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรม และการก่อสร้าง ส่วนกรณีการเผาในพื้นที่การเกษตร ให้อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ ตลอดจนใช้กลไกอาสาสมัครร่วมรณรงค์งดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร ให้กับเกษตรกรเกี่ยวกับการกำจัดหรือใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ไปสู่การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มแทน เช่น การไถกลบตอ ซัง การใช้จุลินทรีย์ในการย่อยสลาย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า นายอนุทินได้กำชับให้กองอำนวยการ ปภ.จังหวัด ทบทวนและจัดทำแผนเผชิญเหตุในกรณีต่างๆ ปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน อาทิ พื้นที่เสี่ยง เช่น พื้นที่ป่า พื้นที่การเกษตร พื้นที่ริมทาง และพื้นที่ชุมชน/เมือง ตลอดจนข้อมูลประชากรกลุ่มเสี่ยง ข้อมูลทรัพยากร เครื่องจักรกลสาธารณภัย พร้อมกับมีแนวทางปฏิบัติแต่การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์แต่ละระดับอย่างชัดเจน ตลอดจนประสานการปฏิบัติร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งชุดเฝ้าระวังระดับพื้นที่ สนับสนุนการลาดตระเวนเฝ้าระวัง ป้องปรามการลักลอบเผาในเขตพื้นที่ป่า เขตพื้นที่การเกษตร

ทั้งนี้ เมื่อเกิดสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นไฟป่า หมอกควัน หรือระดับปริมาณฝุ่น PM2.5 แนวโน้มสูงเกินค่ามาตรฐาน ให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินท้องถิ่น บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกระดับการปฏิบัติตามมาตรการ บังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่นอย่างเข้มงวด กรณีที่เกิดไฟป่าให้สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะชำนาญ ประกอบกำลังเป็นชุดปฏิบัติการพร้อมอุปกรณ์เข้าระงับเหตุการณ์โดยเร็ว

“ท่าน มท.1 ห่วงใยผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงอันตราย จึงเน้นย้ำให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครที่เข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐ จัดอุปกรณ์ส่วนบุคคลที่มีความเหมาะสม กรณีการเกิดไฟป่าที่กำลังภาคพื้นที่เข้าถึงยาก ให้ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่มีอากาศยานเข้าสนับสนุน และให้ดูแลด้านสวัสดิการและค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบด้วย” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายอนุทินยังได้เน้นย้ำให้มีการสื่อสารเชิงรุกผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงสาเหตุการเกิดฝุ่นละออง ที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการลดปัญหา ได้เข้าใจต่อสถานการณ์ มาตรการข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนบทลงโทษหากมีการฝ่าฝืน ส่วนการดูแลสุขภาพประชาชนให้หน่วยงานด้านสาธารณสุข ให้ดำเนินการให้ข้อมูลการดูแลสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นการมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้ข้อมูล หรือการให้ความรู้ผ่านช่องต่างๆ และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดพื้นที่และระบบบริการประชาชนในพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) หรือห้องปลอดฝุ่น เพื่อดูแลผู้มีปัญหาสุขภาพในกรณีจำเป็นต่อไป

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! สัญญาณดี แก้ฝุ่น PM 2.5 แบบยั่งยืน เมื่อรัฐบาลจัดมาตรการเชิงรุก และเอกชนช่วยผลักดันอีกแรง

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'การกลับมาของฝุ่น PM 2.5 ภารกิจสำคัญที่รัฐบาลต้องยกให้เป็นวาระแห่งชาติ' เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ฝุ่น PM 2.5 กำลังจะเป็นประเด็นขึ้นมาอีก รัฐบาลควรต้องเตรียมการป้องกันแก้ไขและยกเป็นวาระแห่งชาติ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาโลกร้อนมีหลายประเด็นที่น่าสนใจในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการประชุม COP 28 ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) 

ความพยายามที่จะให้มีการยุติการใช้เชื้อเพลิง Fossil Fuels อย่างสิ้นเชิง แม้จะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี 

ส่วนผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมน่าจะเป็นการจัดตั้งกลไกการเงินที่เรียกว่า กองทุน Loss and Damage ที่จะทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุนเยียวยาและสนับสนุนการปรับตัวของประเทศที่มีความเสี่ยงสูงและได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน 

ประเทศไทยก็อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเปราะบางและสามารถเข้าถึงแหล่งเงินใหม่นี้ด้วย กองทุนนี้น่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2567 โดยมีธนาคารโลกเป็นผู้จัดการกองทุน

ทั้งนี้ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในไทย ก็เป็นผลพวงหนึ่งจากภาวะโลกร้อน ความพยายามของรัฐบาลก่อนที่ใช้มาตรการภาคบังคับทางกฏหมายได้พิสูจน์แล้วว่าไม่บังเกิดผลและล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง จนภาคประชาชนที่จังหวัดเชียงใหม่ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ได้ตัดสินให้รัฐบาลเป็นฝ่ายแพ้และต้องเร่งแก้ไขสภาพอากาศให้กับคนเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของคนเชียงใหม่และเป็นการยืนยันว่ามาตรการของรัฐไม่สามารถดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนได้

ทางออกของเรื่องฝุ่น PM 2.5 นี้ จึงน่าจะอยู่ที่การใช้กลไกตลาดและกลไกทางธุรกิจของภาคเอกชน และก็เป็นที่น่ายินดี ที่ขณะนี้ธุรกิจเอกชนได้ริเริ่มโครงการหยุดเผาเรารับซื้อ โดยเข้ามารับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากชาวไร่ชาวนา เพื่อนำไปแปรรูปเป็นแท่งเชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass Pellets) และส่งขายให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังสามารถนำปริมาณคาร์บอนที่ลดได้จากการหยุดเผามาขายเป็นคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งต่อเป็นรายได้เสริมให้กับเกษตรกรอีกด้วย

มาตรการริเริ่มของรัฐบาลที่น่าชมเชยคือ การจัดตั้งกองทุน ESG เพื่อระดมทุนจากประชาชนและนักลงทุนและจัดสรรเงินลงทุนไปสู่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ได้มาตรฐานด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และธรรมาภิบาล จึงเป็นโอกาสอันดีที่คนไทยทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top