Wednesday, 3 July 2024
PM25

‘จีน’ ออกแผนปฏิบัติการมุ่งปรับปรุง ‘คุณภาพอากาศ’ หวังลด PM 2.5 ให้ได้ร้อยละ 10 ภายในปี 2025

เมื่อวานนี้ (8 ธ.ค.66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะรัฐมนตรีจีนเผยแพร่แผนปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศ ท่ามกลางความพยายามส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจคุณภาพสูงของประเทศ

แผนปฏิบัติการดังกล่าวประกอบด้วยชุดมาตรการที่มุ่งบรรลุเป้าหมายท้องฟ้าที่มีสีฟ้ามากขึ้น ภายในปี 2025 อาทิ การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมสีเขียว การสร้างพลังงานผสมที่สะอาดมากขึ้น และการพัฒนาระบบการขนส่งคาร์บอนต่ำ

เป้าหมายของแผนนี้คือเพื่อลดความเข้มข้นของฝุ่นพิษขนาดเล็ก พีเอ็ม 2.5 (PM2.5) ในเมืองระดับแคว้นขึ้นไป ลงร้อยละ 10 ภายในปี 2025 เมื่อเทียบกับระดับปี 2020 เพื่อควบคุมสัดส่วนวันที่มีมลพิษทางอากาศย่ำแย่แต่ละปีให้อยู่ที่ร้อยละ 1 หรือต่ำกว่า และเพื่อลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายกว่าร้อยละ 10

ภูมิภาคปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ยและพื้นที่โดยรอบ รวมถึงภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี และที่ราบเฝินเว่ย ถูกระบุเป็นพื้นที่สำคัญในแผนปฏิบัติการข้างต้น

นอกจากนี้ จีนจะสั่งห้ามกำลังการผลิตเหล็กใหม่ เร่งการยกเลิกกำลังการผลิตที่ล้าสมัยในอุตสาหกรรมหลัก และส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

จีนจะดำเนินการเพื่อพัฒนาพลังงานใหม่และพลังงานสะอาดเพิ่มเติม เพื่อรับประกันว่าพลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิลจะครองสัดส่วนร้อยละ 20 ของการใช้พลังงานทั้งหมดของประเทศ ภายในปี 2025 โดยการผลิตและการจัดหาก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ส่วนยานยนต์พลังงานใหม่จะครองสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรถบัส รถแท็กซี่ และยานพาหนะขนส่งสาธารณะอื่นๆ ในเมืองรุ่นใหม่หรือที่ได้รับการปรับปรุงในพื้นที่สำคัญ

ทั้งนี้ จีนจะพยายามเสริมสร้างการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมาย การปรับปรุงกฎหมาย การปรับปรุงนโยบายสิ่งแวดล้อมและนโยบายเศรษฐกิจ ขยายความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการสภาพแวดล้อมในชั้นบรรยากาศ ตลอดจนการป้องกันและควบคุมการแปรสภาพเป็นทะเลทราย

‘52 จังหวัด’ อ่วม!! ค่าฝุ่นพิษ PM 2.5 เกินมาตรฐาน วอนปชช.เฝ้าระวังสุขภาพ ใส่แมสก์ป้องกันอย่างมิดชิด

(11 ธ.ค.66) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า-GISTDA รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชัน ‘เช็คฝุ่น’ พบ 52 จังหวัดของประเทศไทย มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานเกินมาตรฐาน (มาตรฐานไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม.) ที่ส่งผลต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง อาทิ สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง ลพบุรี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ กาฬสินธุ์ อุดรธานี หนองคาย และมหาสารคาม ที่มีค่าคุณภาพอากาศระดับสีแดง

ในขณะที่กรุงเทพมหานคร พบค่าฝุ่น PM2.5 ระดับสีแดงสูงสุดเพียง 1 เขต คือที่เขตหนองแขม 82.3 ไมโครกรัม ส่วนพื้นที่เขตอื่นอยู่ระดับสีส้ม ซึ่งยังเกินมาตรฐานกว่า 40 เขต

ขณะเดียวกัน กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นเช้านี้เช่นกัน โดยระบุว่า

ตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ได้ในช่วง 27.3-65.9 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) และพบว่าเกินมาตรฐาน (มาตรฐานไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม.) อยู่ในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 71 พื้นที่ ได้แก่

1.แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 49.4 มคก./ลบ.ม.
2.ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 50.5 มคก./ลบ.ม.
3.แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 46.7 มคก./ลบ.ม.
4.แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 39.1 มคก./ลบ.ม.
5.ช่องนนทรี เขตยานาวา กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 44.0 มคก./ลบ.ม.
6.ริมถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 40.4 มคก./ลบ.ม.
7.ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 46.2 มคก./ลบ.ม.
8.ริมถนนลาดพร้าว เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 42.2 มคก./ลบ.ม.
9.ริมถนนดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 48.8 มคก./ลบ.ม.
10.แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 56.6 มคก./ลบ.ม.
11.เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 48.3 มคก./ลบ.ม.
12.เขตจอมทอง กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 44.4 มคก./ลบ.ม.
13.ริมถนนจรัญสนิทวงศ์ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 49.7 มคก./ลบ.ม.
14.เขตบางแค กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 40.4 มคก./ลบ.ม.
15.ริมถนนพระราม 2 เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 48.4 มคก./ลบ.ม.
16.เขตบางคอแหลม กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 39.2 มคก./ลบ.ม.
17.สวนหลวง ร.9 เขตประเวศ กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 39.1 มคก./ลบ.ม.
18.สวน 60 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 40.7 มคก./ลบ.ม.
19.สวนรมณีย์ทุ่งสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 40.2มคก./ลบ.ม.
20.สวนธนบุรีรมย์ เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 39.4มคก./ลบ.ม.

21.สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 44.2 มคก./ลบ.ม.
22.สวนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 46.4 มคก./ลบ.ม.
23.สวนบางแคภิรมย์ เขตบางแค กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 39.9 มคก./ลบ.ม.
24.สวนทวีวนารมย์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 52.4 มคก./ลบ.ม.
25.สวนหนองจอก เขตหนองจอก กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 42.7 มคก./ลบ.ม.
26.สวนหลวงพระราม 8 เขตบางพลัด กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 43.0 มคก./ลบ.ม.
27.ริมถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 41.1 มคก./ลบ.ม.
28.ริมถนนสุขุมวิท เขตพระโขนง กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 42.2 มคก./ลบ.ม.
29.ริมถนนราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 47.2 มคก./ลบ.ม.
30.ริมถนนพระราม 5 เขตดุสิต กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 40.5 มคก./ลบ.ม.
31.ริมถนนกรุงเกษม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 39.6 มคก./ลบ.ม.
32.ริมถนนตรีมิตร วงเวียนโอเดียน์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 47.5 มคก./ลบ.ม.
33.ริมถนนพระราม 6 เขตพญาไท กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 38.7 มคก./ลบ.ม.
34.ริมถนนลาดพร้าว ซอยลาดพร้าว 95 เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 54.2 มคก./ลบ.ม.
35.ริมถนนพระรามที่ 4 หน้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 37.6 มคก./ลบ.ม.
36.ริมถนนนราธิวาส เขตบางรัก กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 54.2 มคก./ลบ.ม.
37.แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 49.1 มคก./ลบ.ม.
38.ริมถนนซอยสุขุมวิท 63 เขตวัฒนา กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 43.0 มคก./ลบ.ม.
39.ริมถนนพัฒนาการ เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 52.4 มคก./ลบ.ม.
40.ริมถนนบางนา-ตราด เขตบางนา กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 55.3 มคก./ลบ.ม.

41.ริมถนนพหลโยธิน แยก ม.เกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 46.2 มคก./ลบ.ม.
42.เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 39.4 มคก./ลบ.ม.
43.ริมถนนสุขาภิบาล5 เขตสายไหม กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 43.8 มคก./ลบ.ม.
44.แยกสวนสยาม-รามอินทรา เขตคันนายาว กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 46.4 มคก./ลบ.ม.
45.ริมถนนลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 51.9 มคก./ลบ.ม.
46.ริมถนนสีหบุรานุกิจ เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 46.8 มคก./ลบ.ม.
47.ริมถนนเลียบวารี เขตหนองจอก กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 51.3 มคก./ลบ.ม.
48.ริมถนนศรีนครินทร์ เขตประเวศ กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 54.6 มคก./ลบ.ม.
49.ริมถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 47.5 มคก./ลบ.ม.
50.ริมถนนเจริญนคร เขตคลองสาน กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 51.9 มคก./ลบ.ม.

51.ริมถนนแยกท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 51.5 มคก./ลบ.ม.
52.ริมถนนซอยนิคมบ้านพักรถไฟธนบุรี 5 เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 57.7
53.ริมถนนพุทธมณฑล 1 เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 50.0 มคก./ลบ.ม.
54.ริมถนนคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 59.1 มคก./ลบ.ม.
55.ริมถนนเพชรเกษม เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 51.1 มคก./ลบ.ม.
56.ริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 59.3 มคก./ลบ.ม.
57.ริมถนนเอกชัย เขตบางบอน กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 50.7 มคก./ลบ.ม.
58.ริมถนนประชาอุทิศ เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 40.6 มคก./ลบ.ม.
59.ริมถนนสามเสน เขตพระนคร กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 41.8 มคก./ลบ.ม.
60.แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 47.8 มคก./ลบ.ม.

61.แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 44.0 มคก./ลบ.ม.
62.แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 46.2 มคก./ลบ.ม.
63.ริมถนนพหลโยธิน เขตบางเขน กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 48.9 มคก./ลบ.ม.
64.เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 39.5 มคก./ลบ.ม.
65.ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี : มีค่าเท่ากับ 55.9 มคก./ลบ.ม.
66.ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี : มีค่าเท่ากับ 55.9 มคก./ลบ.ม.
67.ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี : มีค่าเท่ากับ 48.5 มคก./ลบ.ม.
68.ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ : มีค่าเท่ากับ 56.2 มคก./ลบ.ม.
69.ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ : มีค่าเท่ากับ 65.9 มคก./ลบ.ม.
70.ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร : มีค่าเท่ากับ 56.4 มคก./ลบ.ม.
71.ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร : มีค่าเท่ากับ 47.8 มคก./ลบ.ม

‘กทม.’ คลุกฝุ่น!! แดงทุกเขต ‘ลาดพร้าว’ หนักสุด ส่วนภาพรวมทั้งประเทศเกินมาตรฐาน 37 จังหวัด

(13 ธ.ค.66) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า-GISTDA รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 แบบรายชั่วโมง ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชัน ‘เช็กฝุ่น’ พบ 4 จังหวัดของประเทศไทยมีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานและส่งผลกระทบต่อสุขภาพระดับสีแดง สูงสุดอยู่ที่ สมุทรสาคร ตามด้วย นครปฐม นนทบุรี กทม. ขณะที่อีก 33 จังหวัดเกินค่ามาตรฐานระดับสีส้มที่เริ่มส่งผลต่อสุขภาพ

ในขณะที่ กรุงเทพมหานคร พบค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานในระดับสีแดงทุกเขต สูงสุดที่ ลาดพร้าว หลักสี่ หนองแขม จตุจักร ดินแดง ดอนเมือง ห้วยขวาง บางกอกใหญ่ ทวีวัฒนา บางซื่อ เป็นต้น

แอปพลิเคชัน ‘เช็กฝุ่น’ ยังคาดการณ์ปริมาณฝุ่น PM2.5 ในอีก 3 ชั่วโมงข้างหน้า พบว่าหลายพื้นที่ยังคงมีค่าคุณภาพอากาศที่เกินค่ามาตรฐานในระดับสีส้มไปจนถึงสีแดง ทั้งนี้ ข้อมูลบนแอปฯ ‘เช็กฝุ่น’ มีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมร่วมกับ AI (Artificial intelligence) ในการวิเคราะห์ค่าฝุ่น PM2.5 แบบรายชั่วโมงในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ร่วมกับการใช้ข้อมูลการตรวจวัด PM2.5 จากกรมควบคุมมลพิษ, ข้อมูลสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงข้อมูลของแหล่งกำเนิดฝุ่น เช่น จุดความร้อน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก มานำเสนอให้ในรูปแบบข้อมูลตัวเลขและค่าสีในระดับต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าใจสถานการณ์ได้ง่ายยิ่งขึ้น

ประชาชนควรสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้ง เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจตามมาโดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูล PM2.5 แบบรายชั่วโมงเพิ่มเติมผ่านแอปฯ ‘เช็กฝุ่น’

‘กทม.’ ผุด ‘ห้องเรียนปลอดฝุ่น’ ชั้นอนุบาลไปแล้ว 43% พร้อมสั่งเข้มห้ามโรงเรียนให้เด็กเข้าแถวในวันค่าฝุ่นพุ่ง

(18 ธ.ค.66) ที่ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยความคืบหน้าการทำห้องเรียนปลอดฝุ่นสำหรับห้องเรียนอนุบาล ของ กทม. ภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 26/2566 ว่า ห้องเรียนปลอดฝุ่น ต้องทำให้เป็นระบบปิดก่อน โดยมีจำนวนห้องเรียนอนุบาลทั้งหมด 1,743 ห้อง เป็นห้องเรียนที่มีเครื่องปรับอากาศ 162 โรงเรียน 758 ห้อง คิดเป็น 43.5% ไม่มีเครื่องปรับอากาศ 267 โรงเรียน 985 ห้อง คิดเป็น 56.5% ทั้งนี้ให้แต่ละสำนักงานเขตคุยว่ามีใครที่จะเป็นผู้สนับสนุนการทำห้องเรียนปลอดฝุ่นในลักษณะ CSR ได้บ้าง

นายศานนท์ กล่าวว่า รวมถึงให้ความรู้ควบคู่กันไป เพราะยังมีบางโรงเรียนที่ให้เด็กเข้าแถวตอนค่าฝุ่นสีส้ม ซึ่งทำไม่ได้ สำนักงานเขตจะต้องมีการรายงานให้กับผู้บริหารทุกเช้า โดยให้ถ่ายรูปส่งมาว่าแต่ละโรงเรียนมีมาตรการอย่างไร ทั้งนี้ต้องให้กลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กเล็ก ผู้มีโรคประจำตัว หรือป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ เข้าไปอยู่ห้องประชุมที่มีการทำห้องเรียนปลอดฝุ่นแล้ว

นายศานนท์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ผอ.โรงเรียนมีอำนาจในการสั่งหยุดโรงเรียน เมื่อมีค่าฝุ่นระดับสูงติดต่อกันหลายวัน นอกจากนี้จะบรรจุในหลักสูตร เป็นภัยพิบัติศึกษา ที่มีเรื่องน้ำท่วม อุบัติเหตุ ไฟไหม้ ให้เด็กๆมีความตื่นตัวในการใช้ชีวิตในเมือง

ทั้งนี้ สำนักการศึกษาได้รายงานในที่ประชุมฯ ว่าในปีการศึกษา 2567 จะสามารถทำห้องเรียนปลอดฝุ่นสำหรับห้องเรียนอนุบาล เพิ่มเติมได้อีก 191 ห้อง ตามงบประมาณ ปี 2567 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนจัดหาเครื่องฟอกตามกระบวนการ e – bidding อย่างไรตามในส่วน 985 ห้องเรียนที่เหลือนั้น สำนักงานเขตจะเร่งรัดมีการปรับปรุงกาพภาพของห้องเรียนให้เป็นระบบปิด จัดหาเครื่องปรับอากาศส่วนที่มีความจำเป็นน้อยมาใช้ในห้องปลอดฝุ่น และประสานภาคเอกชนสนับสนุนเครื่องปรับอากาศต่อไป

'รมว.ปุ้ย' กำชับทุกนิคมฯ 'ควบคุม-ติดตาม' ฝุ่น PM 2.5 วอน!! ต้อง 'จริงจัง-ต่อเนื่อง' เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ขานรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กำชับควบคุม/ติดตามตรวจสอบฝุ่น PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง-จริงจัง เห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม อยู่เคียงคู่สิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

(21 ธ.ค.66) นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งหามาตรการเพิ่มสำหรับ การลดฝุ่น PM 2.5 ให้เข้มข้นขึ้น เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืนนั้น ที่ผ่านมา กนอ. มีการดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อควบคุมติดตามตรวจสอบ ในการลด PM 2.5 ตามมาตรการที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง คือ...

1.กำหนดค่ามาตรฐานของการระบายมลพิษทางอากาศในรูปแบบ Loading โดยคำนึงถึงความสามารถหรือรูปแบบในการรองรับมลพิษทางอากาศ ตามประกาศ กนอ. ที่ 79/2549 เรื่อง กำหนดอัตราการปล่อยมลสารทางอากาศจากปล่องของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม และนำค่า Emission Loading ที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของนิคมอุตสาหกรรมใช้ในการอนุมัติจัดตั้งโรงงานในอนาคต ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมายังคงเป็นไปตามที่มาตรฐานกำหนด 

2.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม จัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อการป้องกัน แก้ไข และลดปัญหาฝุ่นละอองรวม และฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) และ 3.กำหนดให้มีการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ตามวิธีการตรวจวัดที่เป็นไปตามหลักวิชาการในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ. กำกับดูแล จำนวน 14 แห่ง และ 1 ท่าเรืออุตสาหกรรม ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม โดยผลการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ตั้งแต่ปี 2563-2565 นั้น มีค่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน

"กนอ. ยังคงมุ่งมั่นในการควบคุม ดูแล และแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 อย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยกำหนดมาตรการต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วนและครอบคลุมทุกด้าน มั่นใจว่าสามารถช่วยให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมีคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และสามารถประกอบกิจการควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน" นายวีริศ กล่าว

ทั้งนี้ จากรายงานของกรมควบคุมมลพิษ สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 (19 ธ.ค.66) พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลพบว่า ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในภาพรวมนั้นปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยพบพื้นที่เกินค่ามาตรฐานหลายแห่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จึงควรหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านในช่วงที่มีฝุ่นละออง PM 2.5 สูง และควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย ขณะที่สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ภาคอื่นๆ พบว่า ภาคเหนือ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ภาคกลางและตะวันตก อยู่ในเกณฑ์ดี และ ภาคตะวันออก อยู่ในเกณฑ์ดี

‘วิชัย ทองแตง’ เดินหน้าขจัดฝุ่นพิษ เล็งสร้างโรงงานชีวมวลอัดเม็ดทั่วภาคเหนือ  หวังสกัดการเผา - เปลี่ยนเศษซากการเกษตรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น

เมื่อวานนี้ (23 ธ.ค.66) จากเฟซบุ๊ก ’Akom Suwanganta‘ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

‘วิชัย ทองแตง’ Godfather of Startup - SMEs และบทบาทแก้ปัญหา PM 2.5 ด้วยโมเดลหยุดเผาเรารับซื้อ ลุยสร้างโรงงานชีวมวลอัดเม็ด 3,500 ล้านบาททั่วภาคเหนือ 

“ผมต้องมาเชียงใหม่บ่อยขึ้น เพราะวางภารกิจสำคัญในสิ่งที่ตัวเองทำได้ คือการเป็นส่วนหนึ่งในกลไกแก้ไขปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ เพราะเป็นกับดักสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจที่เนิ่นนาน และเป็นอุปสรรคสำคัญของสุขภาพ และการเติบโตของเมืองสู่ Wellness” เป็นการเปิดบทสนทนาของชายวัย 77 ที่มีพลังและความมุ่งมั่นด้วยแก่นแกนความคิดว่า การทำงานมี 2 เรื่อง คือเรื่องที่ตัวเองทำได้ I can do และสิ่งที่ทำไม่ได้ I cant do เรื่องไหนที่ทำได้ก็ต้องทำเลย 

พร้อมยกตัวอย่างการทำงานเชิงปฏิบัติการในพื้นที่ภาคเหนือ 2 เรื่อง ที่ได้ทำไปแล้วคือ โครงการหยุดเผาเรารับซื้อ ด้วยการรับซื้อซังข้าวโพดจากเกษตรกร สกัดการเผาทำลายซังข้าวโพด สาเหตุสำคัญที่เกิด PM 2.5 เน้นที่การบริหารจัดการเศษวัสดุการเกษตร นำมาแปรเป็นชีวมวลอัดแท่งหรือปุ๋ยอินทรีย์ รวมถึงสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการป้องกันไฟป่า ปรับระบบการทำการเกษตรอย่างครบวงจรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนำมาแปรรูปเป็นชีวมวลอัดแท่งส่งไปสู่ระบบคาร์บอนเครดิต 

โดยนำร่องลงทุน 350 ล้านบาท สร้างโรงงานบริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด ด้วยมาตรฐานระดับโลก พร้อมจะรับซื้อซังข้าวโพดตันละ 800-1,000 บาท มาอัดเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดสีดำ หรือ Black Pellet ที่ตลาดในญี่ปุ่น และในประเทศมีความต้องการสูง และมีแผนที่จะสร้างอีก 10 โรงงานชีวมวลที่ เชียงราย แพร่ อุทัยธานี กระจายตัวทั่วภาคเหนือ

เรื่องที่สอง คือ ได้เล่าถึงคุณปุ่น (Naruemon Taksaudom) ในการสนับสนุนกาแฟฮิลล์คอฟให้เข้าสู่กระบวนการ #NeutralCarbon #Coffee ผลิตภัณฑ์กาแฟคาร์บอนต่ำแห่งแรกในประเทศไทย เกิดได้ในระบบ T-ver โดยทีม Green Standard payoff

คุณวิชัยเล่าแลกเปลี่ยนในวงกาแฟว่าแรงบันดาลใจหลังจากนี้คือจะเน้น 3 เรื่องคือ การศึกษาจะเดินสายบรรยายฟรีทั่วประเทศด้วยทุนของตนเอง สองการเกษตรจะเดินสายบรรยายองค์กรการเกษตร และโชห่วย การเตรียมออกแบบ Platform เพื่อช่วย SME คนตัวเลขในการคงวิถีค้าปลีกไทยที่นับวันจะลดลงตามอัตราเร่งของร้านสะดวกซื้อ

ส่วนงานด้านการลงทุน จะเน้นเรื่อง Digital Tranformation ที่ได้ทำบทบาทเป็นพ่อทูนหัวของ Start up-SME ในทำนอง Angle Fund ร่วมทุน ไม่ใช่เป็น VC แต่จะลงลึกไปในด้านการเสริมประสบการณ์ไปพร้อมกัน มีแผนที่จะผลักดันบริษัทสตาร์ตอัปเข้าตลาดหุ้นได้ ประมาณ 2 บริษัท โดยจะไม่ถือหุ้นใหญ่เกิน 50% อาจจะถือหุ้นแค่ 20-30% และไม่เข้าไปบริหาร แต่ต้องยึดหลักการ 3 ด้านคือ จะไม่ใช้เทคโนโลยีเพื่อโกงหรือหลอกลวงผู้อื่น สองเราจะเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดี และเราจะแบ่งปันความรู้ และโอกาสแก่ผู้ที่ด้อยกว่า

สูตรการเลือกสตาร์ตอัป คือ ขอให้มี 2G ก่อน G แรกคือ Growth ต้องมีการเติบโต รายได้มากน้อยไม่ว่ากัน และ G ที่สอง คือ Gain ต้องมีกำไร เพราะนั่นแปลว่าเข้าใจวิธีการบริหารและต้นทุนธุรกิจดีถ้ามี 2G แล้ว ผมก็ไม่ต้องเหนื่อยมาก จากนั้นก็จะหาช่องทางระดมทุน หรือแนะนำกลุ่มเวนเจอร์แคปปิตอล (VC) พร้อมทั้งช่วยวางแผนทางการเงินให้

พร้อมยกตัวอย่างสตาร์ตอัปที่ได้ไปร่วมสนับสนุนทุน Platform หลายตัว ที่ต้องตั้งเป้าให้เกิด Unicorn ของไทยเพิ่มอีก 1 ตัว ยกตัวอย่างมีหลาย Start up ที่ทยอยมา Pitch การเกษตร Smart Farmer เช่น Farmbook เป็น ‘กระดานเทรดข้าว’, Invitrace, รวมถึงด้าน Smart City ที่จะลงทุนที่นิมมานเหมินท์แห่งแรกที่จะตอบโจทย์แก้ไขปัญหาหลายด้านผ่านดิจิทัล Platform ด้วยการร่วมมือกับ NT นอกจากนั้นก็จะมีธุรกิจที่ใช้ AI ก็มีสตาร์ตอัปที่บริหารโหลดสำหรับการชาร์จไฟฟ้าของรถอีวี เพราะรถอีวีเวลาชาร์จไฟครั้งหนึ่งเท่ากับติดแอร์พร้อมกัน 10 ตัว ทำให้โหลดกระชากมาก

‘วิชัย ทองแตง’ ได้ประกาศ New Chapter ตอนอายุ 70 คือ สร้างคนเป็นหลัก ไม่เน้นสร้างเวลท์ (ความมั่งคั่ง) โดยเคลื่อนตัวผ่าน ‘วิชัยกรุ๊ป’ และในฐานะที่ปรึกษาโรงพยาบาลพญาไท ยืนยืนว่าไม่ได้ทิ้งธุรกิจด้านสุขภาพ (healthcare) เพราะเป็นธุรกิจที่มีความมั่นคงสูงมากประเภทธุรกิจที่ให้ความสำคัญ อีกทั้งยังกล่าวว่า จะเป็น ’เมกะเทรนด์‘

นอกจากเรื่องเทคโนโลยีบล็อกเชนแล้ว ก็ยังมีธุรกิจคาร์บอนเครดิต ซึ่งเตรียมจะเปิดตัวแถลงข่าวใหญ่ในเร็ว ๆ นี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยบริษัทนี้จะมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบการเคลมคาร์บอนเครดิตได้สูงขึ้น และมีตลาดรองรับ ซึ่งจะเป็นธุรกิจที่จะช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้เป็นอย่างดี 

‘ดร.เอ้’ ยกฝุ่นพิษ ‘เป็นวิกฤติชาติ' ฆ่าคนได้หากไม่รีบแก้ ยกเมืองใหญ่ของโลก ก็เคยเจอมาก่อน ยังสามารถแก้ได้

‘ดร.เอ้’ ยกฝุ่นพิษเป็นวิกฤติชาติ ฆ่าทุกคนได้ หากไม่รีบแก้ไข เตรียมลงพื้นที่ กทม.หลังพบค่าฝุ่นพิษเกินกว่าจุดอันตรายเพียบ

(12 ม.ค. 67) ‘ดร.เอ้’ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม. ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า “ฝุ่นพิษเป็นวิกฤตชาติ เราทุกคนต้องช่วยกัน แก้ปัญหาที่ต้นตอ อย่าปล่อยไว้ จนยากที่จะเยียวยา ปล่อยฝุ่นว่าเลวร้าย ปล่อยไว้ยิ่งโหดกว่า ตั้งคำถามทำไมกรุงเทพ จะเป็นเมืองที่อากาศสะอาดไม่ได้”

‘ดร.เอ้’ กล่าวอีกว่า “ฝุ่น PM2.5 ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่มาเฉพาะฤดูหนาว บางคนยังเข้าใจผิด แต่มันอยู่กับเราทุกวัน โดยส่วนตัวเคยไปวัดฝุ่นที่ป้ายรถเมล์ หน้าโรงเรียน หน้าโรงพยาบาล รวมถึงพื้นที่ที่มีรถสัญจรไปมา ปรากฏว่ามีค่ามลพิษเกินกว่ามาตรฐาน เกินกว่าจุดอันตรายทั้งสิ้นเลย แต่เรากลับไม่ทำอะไรเลย ทั้งๆ ที่มันน่ากลัว สามารถฆ่าเรา ฆ่าพ่อแม่เรา ฆ่าลูกหลานเรา เพราะว่า PM2.5 มันคืออนุภาคขนาดเล็กมาก เล็กกว่า 2.5 ไมครอน ยิ่งเล็กมากเท่าไหร่ยิ่งน่ากลัว อันตรายถึงตายมากเท่านั้น เพราะเมื่อเราสูดเข้าไปแล้วมันสามารถเข้าไปถึงปอด ถึงเส้นเลือดในสมองเลย และมันไม่ได้เป็นเชื้อโรค เราฆ่ามันไม่ตาย เข้าไปแล้วเข้าไปเลย และยิ่งเข้าไปมากๆ ทุกวันๆ ตั้งแต่เด็ก มันก็สะสมๆ ทำให้เกิดโรคร้าย มะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคความดันและอีกหลายโรคร้ายตามมา”

‘ดร.เอ้’ กล่าวว่า “สถิติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2565 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศมากถึง 6 ล้านคน และมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง และในประเทศไทยพบมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศมากกว่า 70,000 คนแล้ว และถ้าเราปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ต่อไป โรคมะเร็งปอดจะเป็นโรคที่อันตรายมากที่สุด โดยปัจจุบันมีคนเสียชีวิตจากโรคนี้มากกว่าผู้ประสบอุบัติเหตุเสียอีก เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องวิกฤตของชาติที่ต้องรีบแก้ไขให้เร็วที่สุด”

สำหรับปัญหา PM2.5 ในกรุงเทพมหานครนั้น ‘ดร.เอ้’ กล่าวว่า “80-90% มาจากรถ โดยเฉพาะรถขนาดใหญ่ที่ใช้ในการขนส่ง รวมถึงเครื่องจักรในการก่อสร้างถือเป็นอันดับ 1. ส่วนอันดับ 2.มาจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันนี้ตั้งอยู่ทุกทิศทาง ล้อมกรุงเทพไว้หมดแล้ว รวมถึงการไหม้กลางแจ้ง พวกเผาหญ้า พื้นที่การเกษตร”

อย่างไรก็ตามปัญหามลพิษทางอากาศสามารถแก้ได้ ขอแค่มีความมุ่งมั่น และเอาจริงเอาจัง ยกตัวอย่างประเทศอื่น เมืองอื่นที่มีมลพิษทางอากาศเลวร้ายที่สุดในโลกก็สามารถแก้ได้แบบเบ็ดเสร็จมาแล้ว เช่น ปักกิ่ง ลอนดอน ลอสแอนเจลิส และกรุงโซล ทุกเมืองล้วนเคยมีมลพิษทางอากาศเลวร้ายกว่ากรุงเทพยังสามารถแก้ปัญหาได้หมด เพราะเขามีความมุ่งมั่น และเอาจริงเอาจังกับปัญหาที่ก่อให้เกิดมลพิษไม่ว่าจะเป็นโรงงานที่ปล่อยมลพิษทางอากาศ เขายุติหรือย้ายออกทันที เช่นเดียวกันกับรถยนต์ รถสิบล้อที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์นั้นเขาให้เลิกใช้เลยและริเริ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้า มีการจำกัดเขตปลอดมลพิษ การนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหา รวมไปถึงมีกฎหมายอย่างเข้มงวด เป็นต้น 

"ผมพูดเรื่องนี้มาตลอด เพราะเป็นห่วงคุณภาพชีวิตคนไทย พร้อมเสนอแนวทางแก้ไข ดีใจที่วันนี้ ร่าง พรบ.อากาศสะอาด เข้าสภาฯ หลายร่าง จึงหวังว่าปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 จะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังเสียที ทำไมกรุงเทพ จะเป็นเมืองที่อากาศสะอาดไม่ได้ครับ เราทำได้ แบบอย่างจากทุกเมืองที่เคยมีมลพิษทางอากาศเลวร้าย เป็นคำตอบ เขาแก้ไขได้หมด กรุงเทพฝุ่นเกินมาตรฐานหลายพื้นที่ เราจะปล่อยไว้แบบนี้กันจริงหรือครับ” ดร.เอ้ กล่าว

ทั้งนี้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘เอ้ สุชัชวีร์’ ได้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นสนับสนุนในการรีบแก้ปัญหาฝุ่นพิษเป็นจำนวนมาก โดยดร.เอ้ เตรียมลงสำรวจพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร หลังพบว่ามีค่าฝุ่นพิษเกินกว่าจุดอันตรายหลายจุด

'ดร.เอ้' แนะ!! กทม. ควรสั่งปิดโรงเรียนเด็กเล็ก ชี้!! ฝุ่นพิษครองเมือง เร่งกวดขันต้นตอเสียที

(19 ม.ค.67) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ 'ดร.เอ้' รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม. ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว 'เอ้ สุชัชวีร์' โดยระบุว่า...

"แดง แดง แดง ทั้งกทม." ฝุ่นพิษครองเมือง กทม. ต้องแจ้งเตือน และ เข้มงวดกับต้นตอ

ดร.เอ้ กล่าวว่า ตนเองไอหนักมากตั้งแต่เช้า โทรหาหมอเพื่อนกัน เขาบอกว่า ฝุ่นพิษ PM2.5 วิกฤตแล้ว คนไข้โรคทางเดินหายใจ คิวเต็มรพ. หมอเครียดมาก ผมห่วงใยเพื่อนๆ และลูกๆ นะครับ เพราะจะใส่หน้ากาก N95 ทั้งวันก็หายใจไม่สะดวก จะซื้อเครื่องฟอกอากาศ ก็ไม่ได้ผลมากนัก เฮ้อ...ไม่รู้จะทำไงดี ครอบครัวคนกทม. เราจำเป็นต้องใช้ชีวิตที่นี่... กรุงเทพเรา อากาศหายใจ ไม่ได้แล้วหรือ เรามาถึงจุดนี้ได้ไง? ใครก็รู้ว่า ต้นกำเนิดฝุ่นมาจากการขนส่ง หนักที่สุด ซึ่งมันแก้ได้

ดร.เอ้ กล่าวว่า สิ่งที่ กทม. ต้องทำเร่งด่วน เป็นอันดับแรก คือ การแจ้งเตือนผู้ปกครอง เพราะวันนี้โรงเรียนเด็กเล็กควรปิด และต้องมีรายงานฝุ่น ขึ้นป้าย LED ที่มีอยู่เต็ม กทม. แจ้งให้ประชาชนระวังตัวใส่หน้ากาก ป้องกันตนเอง และลูกๆ

อันดับสอง รถขนส่งที่ปล่อยฝุ่นพิษ ส่วนใหญ่ไปส่งของ ที่ไซต์งานก่อสร้าง ดังนั้น กทม. มีอำนาจตรวจจับ และบังคับใช้กฎหมายกับเจ้าของสถานที่ก่อสร้างไร้ความรับผิดชอบได้ทันที ให้เขากวดขันกับรถที่ปล่อยฝุ่น เข้า-ออก เพราะเขากลัวถูกพักการก่อสร้าง ซึ่งเสียหายมาก ใครก็กลัว ทุกเมืองทั่วโลก ทำแบบนี้

ทั้งนี้ ดร.เอ้ ยังเชื่อ เรายังแก้ปัญหามลพิษได้ หากผู้นำมุ่งมั่น จริงจัง ดุดัน มากพอ กับการสู้กับต้นกำเนิดฝุ่น ที่วันนี้ยังปล่อยทำร้ายคนกทม. ทุกวันๆ

ย้อน 3 ไทม์ไลน์ แนวทางกู้วิกฤต PM 2.5 ของ ‘พลเอกประยุทธ์’ ‘ขอความร่วมมือเพื่อนบ้าน-เร่งคุมปัญหาในประเทศ-ชู EV ปรับสมดุล’

>> เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 66 ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่

แนวทางการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยแนวทางการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย...

1.) ภายในประเทศ รัฐบาลได้ขับเคลื่อน ‘แม่แจ่มโมเดล’ ที่บูรณาการทุกภาคส่วน ในทุกระดับ อย่างครบวงจร และขยายผลไปในทุกพื้นที่ของภาคเหนือต่อไป 

2.) ภายนอกประเทศ รัฐบาลได้ใช้การเจรจาและขอความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ในการจำกัดปัญหาหมอกควันนี้ นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมืองเชียงใหม่ สายโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี ที่อยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อก่อสร้างในอนาคตอันใกล้นี้ อีกทั้งการส่งเสริมการใช้และผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งจะไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมตามทิศทางของโลก แต่เป็นการสร้างเศรษฐกิจใหม่ของไทยในศตวรรษหน้าอีกด้วย 

>> เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 66 สั่งการ ครม.แก้ปัญหา PM 2.5 อย่างยั่งยืน

พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ

การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (28 มี.ค. 66) ได้มีการหารือ และสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ โดยผมขอให้กำกับดูแลลงในรายละเอียดมากขึ้น เน้นแก้ไขที่ต้นตอของปัญหาจริงๆ ได้แก่...

1.) การเผาป่า/ไฟป่า ‘นอกประเทศ’ ที่เป็นสาเหตุหลักในปัจจุบัน ช่วงเดือนมีนาคมนี้ พบจุดความร้อนสะสมสูงถึง 25,209 จุด ทั้งนี้ผมได้ใช้ทั้งช่องทางการทูตและช่องทางส่วนตัว หารือ/ขอความร่วมมือไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ในการควบคุมการเผาต่างๆ เพื่อลดผลกระทบร่วมกันของประชาชนในพื้นที่ 

2.) การควบคุมและดับไฟป่า ‘ในประเทศ’ ทั้งป่าอนุรักษ์และป่าสงวน โดยผมได้สั่งการให้บูรณาการเครื่องมือ เจ้าหน้าที่ และแผนงานจากทุกภาคส่วน เช่น เจ้าหน้าที่ชุดดับไฟป่า, เฮลิคอปเตอร์ดับไฟป่า, การทำฝนหลวง, การสร้างแนวกันไฟ ตลอดจนอาสาสมัครในพื้นที่ ทำงานร่วมกับฝ่ายปกครอง-ฝ่ายทหาร เพื่อลดปัญหาเป็นการเร่งด่วนด้วย

3.) การกำกับดูแลการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ‘ในประเทศ’ ซึ่งผมให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ใช้กลไกที่มีอยู่ในทุกระดับ ขอความร่วมมือและสร้างความเข้าใจให้มากขึ้น เพื่อลดการเผาลงให้ได้มากที่สุด รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป  

4.) การให้คำแนะนำด้านสุขภาพ เช่น ลดการออกกำลังกาย หรือกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงนี้ และควรสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร เป็นต้น สำหรับผู้ที่มีปัญหาแสบตา คันตา ตาแดง ระคายเคืองผิวหนัง ไอ หายใจลำบาก หรือแน่นหน้าอก ฯลฯ ขอให้เข้ารับบริการ ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสถานพยาบาลของรัฐที่ใกล้บ้านในทันทีได้ทุกแห่ง

ทั้งนี้ ผมได้ติดตามและได้รับรายงานการป้องกัน รวมทั้งการแก้ปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 ในภาพรวมของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าโดยพื้นฐานแล้ว คนไทยเป็นผู้มีน้ำใจและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้นหากได้รับทราบข้อมูลและคำแนะนำที่ถูกต้อง ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ทำให้ทุกปัญหาของบ้านเมืองคลี่คลายลงไปได้ ในทางที่ดีเสมอครับ

>> เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 66 มีการประชุม 3 ฝ่าย (ไทย-ลาว-เมียนมา) เพื่อร่วมแก้ปัญหา PM 2.5 อย่างยั่งยืน

พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ

สุขภาพและความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน เป็นสิ่งที่ผมและรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จากการติดตามประเมินผลการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันมาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง หลายมาตรการประเทศไทยเราสามารถควบคุมและจำกัดปัญหา PM 2.5 ได้เองเป็นอย่างดี มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม สำหรับการลดปัญหาหมอกควันข้ามแดนนั้น จำเป็นจะต้องกระชับความร่วมมือกับประเทศอย่างใกล้ชิด ซึ่งในวันนี้ผมได้ริเริ่มให้มีการประชุมสามฝ่าย ผ่านระบบ Video Conference เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน กับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ที่เห็นพ้องต้องกันในหลายเรื่อง ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดปัญหาหมอกควันข้ามแดน ทั้งในระยะเร่งด่วน และระยะยั่งยืน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่…

1.) การแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ รวมถึงแนวทางดำเนินการด้านกฎหมายของแต่ละประเทศ เพื่อควบคุมที่ต้นเหตุของปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือเกษตรกรในการบริการจัดการของเสีย-ซากพืชผลทางการเกษตร โดยแปรให้เป็นพลังงาน เช่น (1) การทำโรงไฟฟ้า BCG ที่เปลี่ยนของเสียให้เป็นปุ๋ย, พลังงานไฟฟ้า หรือน้ำมันดีเซล (2) การทำโรงงานไบโอก๊าซขนาดเล็ก ตามชุมชนขนาดเล็ก และ (3) การแปรรูปเศษซากที่เหลือจากการเกษตรเป็นวัสดุที่เป็นรายได้ เป็นต้น   

2.) การใช้ประโยชน์กลไกทุกระดับ ในรูปแบบทวิภาคี เช่น คณะกรรมการชายแดนในระดับจังหวัด และการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 เพื่อให้ผู้นำอาเซียน ได้ร่วมกันพิจารณาสั่งการ และเร่งรัดการปฏิบัติให้มีผลเป็นรูปธรรมและรอบด้าน 

3.) การจัดตั้งระบบเตือนภัยและส่งเสริมประสิทธิภาพการดับไฟ, การบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และการพัฒนาความสามารถเจ้าหน้าที่ เพื่อลดจุดความร้อนและควบคุมมลพิษในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง  

ซึ่งมาตรการทั้งหลายเหล่านั้นจะต้องนำไปสู่การปฏิบัติ โดยจัดทำแผนร่วมกันในรายละเอียด และขับเคลื่อนในทุกระดับต่อไป โดยบรรยากาศการประชุมสามฝ่ายในวันนี้ เป็นไปด้วยความราบรื่นและเต็มเปี่ยมด้วยมิตรภาพ ทำให้ผมเชื่อมั่นว่าจะเป็นพลังแห่งความร่วมมือระหว่างกัน ที่จะนำมาสู่การคลี่คลายปัญหานี้ได้ โดยเร็ววันครับ

‘นายกฯ’ โล่งอกหลังค่าฝุ่น PM 2.5 เชียงใหม่ดีขึ้น ชมพ่อเมืองเป็นซูเปอร์ผู้ว่าฯ ส่วน กทม.ยังหนักอยู่

(21 ม.ค. 67) ที่กองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงสภาพอากาศและค่าฝุ่น PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ดีขึ้น หลังหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ ว่า เช้าวันเดียวกันนี้ ได้ดูรายละเอียดตัวเลขอยู่ที่ 12 เป็นสีเขียวดี แต่ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะถ้าเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกับปีที่แล้วดีขึ้นเยอะ

ทั้งนี้ ก่อนขึ้นเครื่องตนได้เจอกับทหาร ตำรวจ และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ที่ถือว่าเป็นซูเปอร์ผู้ว่าฯ ประสานงานได้ดีหมด แต่ถ้าต้องการอะไรก็ขอให้บอกมา ขอให้ร่วมมือกันทำงาน รักกัน หนักนิดเบาหน่อยก็ให้ช่วยเหลือกันไป มีอะไรก็ขอให้บอกมา ซึ่งผลที่ออกมาดีในวันนี้ ไม่ได้บอกว่าต่อไปจะดีหรือไม่ แต่เราพยายามอย่างเต็มที่และวันนี้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ก็ลดไปถึง 4-5 เท่าแล้วในช่วงเวลาเดียวกัน เป็นเรื่องที่น่าชื่นใจและจะทำกันต่อไป

“ก็เข้าใจที่กรุงเทพฯ ยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งจากการที่ผมได้ไปเจอกับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ได้มีการคุยกันในเรื่องนี้และมีการขอร้องกันไป” นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่า กรณีที่ศาลปกครองเชียงใหม่ขอให้นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ทำแผนแก้ปัญหาฝุ่นภายใน 90 วัน นับแต่คำพิพากษาและเรื่องพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … จะส่งเรื่องไปเมื่อไหร่ นายกฯ กล่าวว่า แน่นอนก็ต้องทำตามคำสั่งของศาลปกครอง และจะเชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาพูดคุย เพื่อปรับปรุงแผนตามที่ศาลปกครองขอมา แน่นอนว่าก็ต้องทำตาม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top