Thursday, 8 May 2025
NewsFeed

ผบ.ตร. พบปะสื่อมวลชน พูดคุยอย่างเป็นกันเอง ตอบทุกคำถามอย่างเปิดใจ

เมื่อวานนี้ (24 เม.ย.68) เวลา 12.30 น. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ให้เกียรติพบปะสื่อมวลชน ณ ห้องกระจก ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในบรรยากาศเป็นกันเอง พร้อมร่วมรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับผู้สื่อข่าวจากหลากหลายสำนักข่าว

ภายหลังการรับประทานอาหาร พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ฯได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถามอย่างเต็มที่ พร้อมตอบคำถามในประเด็นต่าง ๆ อย่างเปิดใจ โดยเฉพาะเรื่องภารกิจสำคัญและนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนองค์กรด้วยความโปร่งใส และพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน

นายกอินเดียลั่น ‘ตามล่าถึงขอบโลก’ ผู้ก่อเหตุชาวปากีฯ กราดยิงในแคชเมียร์ พร้อมตัดสนธิสัญญาแม่น้ำสินธุ-ขับเจ้าหน้าที่ปากีสถานพ้นประเทศ

(25 เม.ย. 68) นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี (Narendra Modi) ของอินเดีย ประกาศจุดยืนอย่างแข็งกร้าวว่าจะ “ไล่ล่าผู้ก่อการร้ายและผู้สนับสนุนไปจนสุดขอบโลก” เพื่อตอบโต้เหตุกราดยิงนักท่องเที่ยวในแคชเมียร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าผู้ก่อเหตุ 2 ใน 3 รายเป็นชาวปากีสถาน โดยไม่เอ่ยชื่อปากีสถานโดยตรง แต่ท่าทีแข็งกร้าวของผู้นำอินเดียสะท้อนถึงความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้าน

อินเดียตอบโต้ทางการทูตโดยระงับสนธิสัญญาแบ่งปันแม่น้ำสินธุที่มีมายาวนานกว่า 60 ปี และปิดด่านพรมแดนทางบกเพียงแห่งเดียวกับปากีสถาน นอกจากนี้ ยังเรียกตัวที่ปรึกษาด้านกลาโหมกลับประเทศ พร้อมลดจำนวนเจ้าหน้าที่สถานทูตในอิสลามาบัดจาก 55 คน เหลือ 30 คน และประกาศให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันของสถานทูตปากีสถานเป็น “บุคคลไม่พึงปรารถนา”

ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจในแคชเมียร์ได้เผยชื่อผู้ต้องสงสัยทั้ง 3 ราย พร้อมเสนอเงินรางวัลนำจับ โดยระบุว่ามือปืน 2 คนเป็นชาวปากีสถาน และคาดว่าเชื่อมโยงกับกลุ่มติดอาวุธข้ามพรมแดน ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศอินเดียแถลงว่าคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อมโยงดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียด

เหตุโจมตีนี้นับเป็นการโจมตีพลเรือนครั้งรุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 20 ปีของอินเดีย สื่อท้องถิ่นรายงานว่า นายกฯ โมดีเรียกประชุมทุกพรรคการเมืองเพื่อหารือแนวทางตอบโต้และสร้างความเป็นเอกภาพ ขณะที่ปากีสถานออกมาตอบโต้ว่า อินเดียระงับสนธิสัญญาแม่น้ำอย่างบุ่มบ่าม และถือเป็นการ 'ก่อสงครามน้ำ' อย่างผิดกฎหมายอีกด้วย

ผบ.ตร.ลงพื้นที่เหตุเครื่องบินตกที่ อ.หัวหิน สดุดีทุกคนที่อยู่บนเครื่องบินลำดังกล่าว บังคับเครื่องตกลงทะเลเพื่อไม่ให้ตกในเขตบ้านเรือนประชาชน

(25 เม.ย.68) พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เดินทางลงพื้นที่เกิดเหตุเครื่องบินของกองบินตำรวจตกบริเวณทะเลใกล้กับสนามบินบ่อฝ้าย อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทันทีที่ได้รับรายงาน พร้อมด้วย นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ , พล.ต.ท.นิตินัย หลังยาหน่าย ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน , พล.ต.ต.ศิริกุล บุญอิ้ง ผู้บังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และผู้แทนหน่วยต่างๆ ได้แก่ การท่าอากาศยานหัวหิน , หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน กองทัพอากาศ , พิสูจน์หลักฐานตำรวจ

ทั้งนี้ เมื่อถึงพื้นที่ ผบ.ตร. แสดงความเคารพร่างตำรวจผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมยกย่องสดุดีนักบิน วิศวกร และช่างเครื่องทุกคน เพราะจากการตรวจสอบเบื้องต้นในขณะเกิดเหตุเครื่องบินจะเสียหลักทิศทางมุ่งไปยังบ้านเรือนประชาชน แต่นักบินบังคับเครื่องให้มาทางทะเลเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียกับพี่น้องประชาชน นับเป็นความสูญเสียบุคลากรที่มากความสามารถทั้ง 5 นาย และบาดเจ็บอีก 1 นาย ที่รักษาตัวที่โรงพยาบาลหัวหิน

ผบ.ตร.ได้สั่งการให้มีการตั้งคณะกรรมการและทีมสอบสวนหาสาเหตุที่เกิดขึ้นแล้ว ส่วนการเก็บกู้มอบหมายให้กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจน้ำ ร่วมกับกองบินตำรวจ ดำเนินการนำเครื่องบินดังกล่าวขึ้นมาจากทะเล คาดว่าใช้เวลาอย่างน้อย 1 วัน โดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด และไม่ให้เกิดความเสียหายต่อพยานหลักฐานต่างๆ และกำชับดูแลการเคลื่อนย้ายร่างผู้เสียชีวิตเพื่อชันสูตร ประสานญาติเพื่อนำร่างไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ดูแลครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บอย่างใกล้ชิด และจัดพิธีอย่างสมเกียรติ ดูแลสวัสดิการอย่างเต็มที่ พร้อมกำชับให้เร่งสืบสวนหาข้อเท็จจริง เพื่อป้องกันเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำในอนาคต ทุกขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมาย สมเกียรติ 

จากนั้น ผบ.ตร. และคณะ ได้เดินทางไป เพื่อเยี่ยมอาการ “ร้อยตำรวจเอก จตุรงค์ วัฒนไพรสาณฑ์” นักบินที่รอดชีวิต ซึ่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลหัวหิน ล่าสุดมีอาการกระดูกใบหน้าหัก เจาะปอดใส่ท่อระบายของเสียออกจากทรวงอก ไม่พบว่าได้รับการกระทบกระเทือนทางสมองแต่อย่างใด ล่าสุดได้ประสานกับทางโรงพยาบาลตำรวจ หากต้องมีการเคลื่อนย้ายไปรักษา ยืนยันดูแลรักษาอย่างเต็มที่

ปตท.สผ. เผย Q1/68 กำไรสุทธิ 1.6 หมื่นล้าน พร้อมส่งเงินเข้ารัฐกว่า 6.8 พันล้านบาท

(25 เม.ย. 68) ปตท.สผ. เผยความคืบหน้าการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2568 และความก้าวหน้าที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้ง สามารถนำส่งรายได้จากการดำเนินงานให้กับรัฐกว่า 6,800 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่าในไตรมาสที่ 1 และในช่วงที่ผ่านมา บริษัทมีความก้าวหน้าในการดำเนินธุรกิจหลายด้าน โดยล่าสุด ปตท.สผ. ได้ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติส่วนเพิ่มของแหล่งอาทิตย์ กับ ปตท. ซึ่งเป็นผู้ซื้อ เพื่อเพิ่มปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติต่อวันตามสัญญา (Daily Contract Quantity หรือ DCQ) ขึ้นเป็น 330 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากเดิมที่ปริมาณ 280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2568 เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยตอบสนองความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประชาชน และส่งเสริมการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ นอกจากนี้ ในเดือนเมษายน 2568 ปตท.สผ. ยังได้เข้าซื้อสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มเติมในบริษัท APICO LLC ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนในโครงการสินภูฮ่อม แหล่งปิโตรเลียมบนบกที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ส่งผลให้ ปตท.สผ. ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมในโครงการสินภูฮ่อมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 90 จากเดิมร้อยละ 80.487 และได้รับปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนการลงทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งในปี 2567 โครงการสินภูฮ่อมมีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติเฉลี่ย 105 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และคอนเดนเสท 222 บาร์เรลต่อวัน

สำหรับการพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) ที่โครงการอาทิตย์ ได้รับการบรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี 2564-2573 (Nationally Determined Contribution Action Plan Mitigation 2021-2030) แล้วในปี 2567 ที่ผ่านมา โดยขณะนี้ บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการทำข้อตกลงต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) โดยคาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 700,000 – 1,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี 

นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีขั้นสูง ต่อยอดองค์ความรู้ รวมทั้ง การพัฒนาบุคลากร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศต่อไปในอนาคต 

สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 1 ปี 2568 ปตท.สผ. มีรายได้รวม 74,196 ล้านบาท (เทียบเท่า 2,185 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยมีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 484,218 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2567 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอัตราการผลิตปิโตรเลียมของโครงการ G1/61 ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยอยู่ที่ 45.74 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก จึงส่งผลให้ไตรมาสที่ 1 นี้ บริษัทมีกำไรสุทธิ 16,561 ล้านบาท (เทียบเท่า 488 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) 

จากผลการดำเนินงานดังกล่าว ปตท.สผ. ได้นำส่งรายได้ให้กับรัฐในรูปของภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งผลประโยชน์อื่น ๆ ในไตรมาส 1 ปี 2568 จำนวนกว่า 6,800 ล้านบาท เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาชุมชน การศึกษา และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐยังได้รับส่วนแบ่งของผลผลิตปิโตรเลียมจากโครงการ G1/61 และ G2/61 ซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) เป็นรายได้ทางตรงจากการผลิตปิโตรเลียมที่รัฐนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอีกส่วนหนึ่งด้วย

ททท. เปิดเวทีเจรจาธุรกิจสินค้าบริการท่องเที่ยว เน้นกลุ่ม Health and Wellness หวังดึง นทท. คุณภาพ

(25 เม.ย.68) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดกิจกรรม Amazing Thailand Health & Wellness Trade Meet 2025 เวทีเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ สำหรับสินค้าบริการทางการท่องเที่ยวกลุ่ม Health and Wellness ของไทย พร้อมจัดสำรวจและทดสอบสินค้าและบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทยให้ผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้าร่วมงาน หวังดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพจากทั่วโลก 

นางจิระวดี คุณทรัพย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ททท. กล่าวว่า ททท. มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวกลุ่ม Health and Wellness ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย High Value ที่มีการใช้จ่ายสูง ผ่านการจัดกิจกรรม Amazing Thailand Health & Wellness Trade Meet 2025 ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการ Amazing Thailand Health & Wellness Journey เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการด้าน Health and Wellness ของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จัก โดยนำผู้ประกอบการจากต่างประเทศทั่วโลกจำนวน 100 ราย ได้แก่ ภูมิภาคยุโรป 19 ราย ภูมิภาคอเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกา 11 ราย ภูมิภาคเอเชียตะวันออก 40 ราย และภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ 30 ราย ร่วมเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการไทยจำนวน 50 ราย ที่มาร่วมนำเสนอสินค้าและบริการทางด้านสุขภาพที่หลากหลาย ได้แก่ สปาบำบัด บริการการแพทย์เพื่อสุขภาพในโรงพยาบาล โรงแรมสุขภาพชั้นนำ อาทิ Chiva-Som, Kamalaya และ Sri Panwa ศูนย์สุขภาพที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล อาทิ BDMS Wellness Clinic, RAKxa Integrative Wellness และ โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา เป็นต้น พร้อมนี้ยังได้จัดกิจกรรมทัศนศึกษาสำรวจและทดสอบสินค้าและบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทยตามพฤติกรรมและความสนใจของนักท่องเที่ยวในแต่ละภูมิภาค เพื่อกระตุ้นการส่งเสริมตลาดและตอกย้ำภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะ Quality Destination สู่สายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ

กิจกรรมภายในงาน Amazing Thailand Health & Wellness Trade Meet 2025 ประกอบด้วย กิจกรรม Thailand Health and Wellness Product Update นำเสนอสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน โดยนางสาว เอิบลาภ ศรีภิรมย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าการท่องเที่ยว ททท. กิจกรรมเสวนาในหัวข้อ Wellness Hub Thailand โดยนายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และ บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)

นอกจากนี้ยังมี การจัด Showcase และกิจกรรม DIY ด้าน Wellness ได้แก่ การทำยาดมสูตรเฉพาะในแบบฉบับของตนเอง อาหารสุขภาพ และ การตรวจธาตุเจ้าเรือนตามภูมิปัญญาไทยพร้อมวิธีการดูแลตนเอง นอกจากนี้ยังได้นำผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวต่างชาติร่วมสำรวจและทดสอบสินค้าและบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทย (Amazing Thailand Health & Wellness Fam Trip) โดยแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการเดินทางทัศนศึกษาในพื้นที่ศักยภาพ อาทิ กรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์, นครปฐม, กาญจนบุรี, พัทยา ชลบุรี, ปราจีนบุรี, เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี, ภูเก็ต, พังงา, กระบี่, เขาใหญ่ นครราชสีมา ใน 2 ช่วงก่อนและหลังกิจกรรม Trade Meet ได้แก่ Pre Trip ในวันที่ 21 – 24 เมษายน 2568 และ Post Trip ในวันที่ 26 -29  เมษายน 2568

ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวกลุ่ม Health and Wellness ถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 100,259 บาทต่อคนต่อทริป โดยสินค้ายอดนิยมในประเทศไทย นอกจากสินค้าประเภทการนวดแผนไทยและสปาแล้ว ยังมีกิจกรรมเชิงสุขภาพ อาทิ โยคะ อาหารสุขภาพ Wellness Program for Antiaging, Retreat, สุขภาวะองค์รวม (Holistic Wellness ) รวมไปถึงด้าน Medical อาทิ การศัลยกรรมความงาม การมีบุตร เป็นต้น ที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยจังหวัดที่ได้รับความนิยมในด้าน Health and Wellness ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรีภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และ กระบี่

‘จีน’ ผนึกกำลัง ‘รัสเซีย’ สร้างบ้านหลังแรกของมนุษย์บนดวงจันทร์ ตั้งเป้าฐานถาวรพร้อมแหล่งพลังงานนิวเคลียร์ภายในปี 2035

(25 เม.ย. 68) จีนและรัสเซียเดินหน้าขยายความร่วมมือด้านอวกาศอย่างต่อเนื่อง โดยลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อพัฒนาสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ (ILRS) ร่วมกันตั้งแต่เดือนมีนาคม 2021 และกำหนดเริ่มภารกิจสำรวจดวงจันทร์ภายในปี 2026 ทั้งสองประเทศยืนยันเป้าหมายจะสร้างฐานทัพที่มนุษย์สามารถอาศัยอยู่ได้อย่างถาวรภายในทศวรรษหน้า

หนึ่งในเป้าหมายหลักคือการติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์บนดวงจันทร์ เพื่อรองรับการใช้พลังงานในช่วงกลางคืนอันยาวนานของดวงจันทร์ที่ไร้แสงอาทิตย์ โดย เป่ย เจ้าอวี่ (Pei Zhaoyu) หัวหน้าวิศวกรของภารกิจฉางเอ๋อ-8 (Chang’e-8) เผยว่าโรงไฟฟ้าจะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของ ILRS ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 24 เมษายน ซึ่งเป็นวันอวกาศของจีน ตัวแทนของจีนและรัสเซียได้พบปะเพื่อย้ำจุดยืนร่วมด้านความร่วมมืออวกาศ โดยรัสเซียได้นำเสนอแผนการสำรวจทรัพยากรแร่ธาตุและน้ำบนดวงจันทร์ พร้อมทั้งแนวคิดใช้วัสดุจากดวงจันทร์เป็นเชื้อเพลิงในอนาคต ขณะที่จีนตั้งเป้าส่งมนุษย์เหยียบดวงจันทร์ภายในปี 2030

ระหว่างปี 2033-2035 จีนและรัสเซียมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ร่วมบนดวงจันทร์ ขณะนี้มี 17 ประเทศเข้าร่วมโครงการ ILRS และจีนตั้งเป้าขยายพันธมิตรเพิ่มเป็น 50 ประเทศ โดยเน้นกลุ่ม BRICS และประเทศกำลังพัฒนา

โครงการ ILRS ได้รับการแบ่งเป็น 3 ระยะ เริ่มจากการสำรวจและระบุตำแหน่งฐาน ทดสอบเทคโนโลยี ต่อด้วยการสร้างระบบสื่อสารและการขนส่ง ก่อนเข้าสู่ระยะสุดท้ายคือการขยายสถานีวิจัยและส่งมนุษย์ขึ้นสำรวจดวงจันทร์ โดยประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ระบุว่า โครงการนี้ “น่าสนใจและมีแนวโน้มดีมาก” ในระหว่างการเยือนจีนปี 2024

ผบ.ตร. ลงพื้นที่หัวหิน แสดงความเคารพ 5 วีรบุรุษตำรวจ พร้อมยกย่องนักบินเสียสละบังคับเครื่องเลี่ยงชุมชนก่อนตกทะเล

(25 เม.ย. 2568) พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุเครื่องบินกองบินตำรวจตกในทะเล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขณะปฏิบัติภารกิจทดสอบการบิน โดยแสดงความเคารพร่างตำรวจ 5 นายที่เสียชีวิต พร้อมยกย่องความเสียสละของนักบินที่ควบคุมเครื่องหลบเลี่ยงเขตชุมชน ก่อนตกในทะเล ทั้งนี้มีตำรวจอีก 1 นายบาดเจ็บจากเหตุการณ์ อยู่ระหว่างการรักษาตัวที่โรงพยาบาลหัวหิน

ผบ.ตร.ได้สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาสาเหตุ พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเก็บกู้เครื่องบินจากทะเลโดยไม่ให้กระทบพยานหลักฐาน พร้อมกำชับให้ดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บอย่างใกล้ชิด จัดพิธีเคลื่อนย้ายร่างและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอย่างสมเกียรติ และให้สวัสดิการแก่ครอบครัวอย่างเหมาะสม

จากนั้น ผบ.ตร.ได้เข้าเยี่ยม ร.ต.อ.จตุรงค์ วัฒนไพรสาณฑ์ นักบินที่รอดชีวิต ซึ่งขณะนี้อยู่ในความดูแลของแพทย์ มีอาการกระดูกใบหน้าหักและเจาะปอดเพื่อระบายของเสีย โดยไม่พบภาวะกระทบกระเทือนทางสมอง เบื้องต้นได้ประสานโรงพยาบาลตำรวจเพื่อเตรียมความพร้อมหากต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้ารักษาต่อ

ไทย-จีนร่วมเฉลิมฉลอง 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต ด้วยภาพยนตร์ 'สายใยรักสองแผ่นดิน' ถ่ายทอดมิตรภาพผ่านศิลปะบนแผ่นฟิล์ม

เมื่อวันที่ (24 เม.ย.68) ผ่านมา สมาคมมิตรภาพไทย-จีน ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวภาพยนตร์ 'สายใยรักสองแผ่นดิน' เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ณ โรงแรมแม่น้ำ รามาดาพลาซา

นายกร ทัพพะรังสี นายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีน กล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนที่เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 ได้เติบโตและลึกซึ้งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งระดับรัฐบาลและภาคประชาชน พร้อมย้ำว่านี่คือ 'ความสัมพันธ์ที่พิเศษยิ่ง'

ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดย ปรัชญา ปิ่นแก้ว ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ผ่านโครงเรื่องแนวดราม่าโรแมนติก นำแสดงโดย มุก วรนิษฐ์ และ เอส ชิษณุพงศ์ ขณะที่ดนตรีประกอบจะได้รับการออกแบบโดย ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ โดยมีเป้าหมายสานสายใยมิตรภาพไทย-จีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในอนาคต

‘ซูรับ เซเรเตลี’ กับการเมืองของรัสเซีย ในบทบาทผู้สร้างสัญลักษณ์แห่งชาติ

ในโลกที่การเมืองและศิลปะมักถูกเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออกซูรับ เซเรเตลี (Zurab Tsereteli) «Зураб Константинович Церетели» ศิลปินชาวจอร์เจีย-รัสเซียผู้ยิ่งใหญ่ยุคหลังโซเวียตได้สร้างผลงานที่สะท้อนถึงอำนาจรัฐและอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างชัดเจน ด้วยประติมากรรมขนาดใหญ่ที่ออกแบบมาเพื่อยกย่องความยิ่งใหญ่ของรัฐและสัญลักษณ์แห่งอำนาจของผู้นำ เช่น อนุสาวรีย์พระเจ้าปีเตอร์มหาราช (Peter the Great) ที่แสดงถึงอำนาจและอุดมการณ์ของรัฐได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และการยืนยันความมั่นคงของรัฐบาลรัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน

การเสียชีวิตของซูรับ เซเรเตลีในวันนี้จึงไม่เพียงแค่การสูญเสียศิลปินผู้ยิ่งใหญ่เท่านั้นหากแต่ยังเป็นการสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรัสเซียภายใต้สภาพแวดล้อมที่ศิลปะและการเมืองถูกเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น ผลงานของเขาสะท้อนถึงการใช้งานศิลปะในฐานะเครื่องมือของรัฐในการเสริมสร้างอำนาจและการสร้างภาพลักษณ์แห่งชาติในการช่วงชิงอำนาจและยืนยันสถานะของรัสเซียในเวทีโลก บทความนี้จะนำเสนอบทบาทของซูรับ เซเรเตลีในการสร้างสัญลักษณ์ทางการเมืองและการใช้งานศิลปะในฐานะเครื่องมือของรัฐในการเสริมสร้างอำนาจ พร้อมทั้งพิจารณาถึงการสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรัสเซียและการใช้ศิลปะเพื่อสร้างสรรค์อัตลักษณ์แห่งชาติในยุคหลังโซเวียต

ซูรับ เซเรเตลีเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1934 ณ กรุงทบิลิซี ประเทศจอร์เจีย เริ่มต้นชีวิตทางศิลปะด้วยความมุ่งมั่นตั้งแต่วัยเยาว์และก้าวเข้าสู่เวทีศิลปะระดับชาติอย่างมั่นคงในช่วงทศวรรษ 1960s–1980s กลายเป็นหนึ่งในศิลปินชั้นนำของสหภาพโซเวียต ผลงานของเขามีลักษณะเฉพาะที่สะท้อนการรวมอำนาจของรัฐ ความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ชาติ และการแสดงออกทางการเมืองที่เด่นชัด ผ่านรูปแบบศิลปะขนาดใหญ่ในพื้นที่สาธารณะ หนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ อนุสาวรีย์ “พระเจ้าปีเตอร์มหาราช” (Peter the Great) ที่ตั้งตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำมอสโก เป็นประติมากรรมขนาดมหึมาที่ไม่เพียงแสดงถึงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์รัสเซีย แต่ยังสะท้อนนัยทางอำนาจ ความทันสมัย และการสร้างชาติในบริบทร่วมสมัย รูปปั้นดังกล่าวกลายเป็นทั้งจุดสนใจของประชาชนและเป็นเครื่องยืนยันบทบาทของศิลปะในฐานะสื่อแห่งอุดมการณ์ ซูรับ เซเรเตลียังมีผลงานอื่นที่สอดรับกับวาระแห่งรัฐ เช่น อนุสาวรีย์แห่งชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่สอง อนุสรณ์แห่งความภาคภูมิใจในความเป็นชาติรัสเซีย และ "ระฆังแห่งสันติภาพ" (The Bell of Peace) 

ซึ่งสะท้อนแนวคิดการสร้างสันติภาพระหว่างประเทศ นอกจากนี้เขายังมีผลงานศิลปะในต่างประเทศหลายแห่ง เช่น อิตาลี สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ แสดงให้เห็นถึงการเผยแพร่อุดมการณ์ผ่านเครือข่ายศิลปะระดับนานาชาติ ในทางการเมืองซูรับ เซเรเตลีมีบทบาทที่โดดเด่นในรัสเซียโดยเฉพาะในฐานะประธาน Russian Academy of Arts ที่ส่งผลต่อทิศทางของศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศอย่างลึกซึ้ง เขาเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบายวัฒนธรรมในยุคหลังโซเวียตโดยเฉพาะในยุคของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ซึ่งเน้นการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการรวมชาติและยืนยันอัตลักษณ์รัสเซียในเวทีโลก ศิลปะของซูรับ เซเรเตลีจึงไม่ใช่เพียงการประดับเมืองแต่คือ “สัญลักษณ์ทางการเมือง” ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความภาคภูมิใจ ความสามัคคี และการยืนยันสถานะของรัฐ บ่อยครั้งที่ผลงานของเขามีขนาดใหญ่โต โอ่อ่า สื่อถึงความยิ่งใหญ่และอำนาจที่อยู่เหนือปัจเจก ซึ่งสอดรับกับแนวโน้มของรัฐรัสเซียในการสร้าง "ความมั่นคงเชิงวัฒนธรรม" และ "การปกครองผ่านความทรงจำ" (governing through memory) ในบริบทดังกล่าว ซูรับ เซเรเตลีจึงเป็นมากกว่าศิลปินหากแต่เป็น “ผู้สร้างวาทกรรม” ผ่านประติมากรรมที่มีชีวิต และมีพลังในการหล่อหลอมอุดมการณ์ของชาติอย่างลึกซึ้งและยาวนาน

ซูรับ เซเรเตลี เคยกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “การสร้างสรรค์งานศิลปะที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์และอำนาจของรัฐจะช่วยเสริมสร้างความภาคภูมิใจของชาติ และช่วยให้ประชาชนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ร่วม” คำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นบทบาทของศิลปะในฐานะกลไกทางอุดมการณ์ (ideological apparatus) ที่มิได้จำกัดอยู่แค่การถ่ายทอดความงามในเชิงสุนทรียะเท่านั้น หากแต่ยังทำหน้าที่ “สถาปนา” ความชอบธรรมให้แก่รัฐผ่านการสร้างสัญลักษณ์ที่ทรงพลัง หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนคือ อนุสาวรีย์ “พระเจ้าปีเตอร์มหาราช” (Peter the Great) ใจกลางกรุงมอสโก ประติมากรรมขนาดมหึมาสูงกว่า 90 เมตร แสดงให้เห็นพระเจ้าปีเตอร์ทรงยืนอยู่บนเรือรบ ซึ่งสื่อถึงการปฏิรูปรัสเซียในศตวรรษที่ 18 และการเปิดประเทศสู่โลกภายนอก สัญลักษณ์นี้ไม่เพียงแค่ย้อนรำลึกถึงอดีต แต่ยังถูกนำมาใช้ซ้ำเพื่อเน้นย้ำแนวคิดเรื่อง “ความต่อเนื่องของอำนาจ” (continuity of power) โดยเฉพาะในยุคของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ที่พยายามสานต่อความยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์เข้ากับอัตลักษณ์ของรัฐร่วมสมัย ในเชิงทฤษฎีบทบาทของศิลปะในลักษณะนี้สามารถวิเคราะห์ผ่านกรอบแนวคิดของ มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) โดยเฉพาะแนวคิดเกี่ยวกับ อำนาจอธิปไตย (sovereign power) และ ชีวการเมือง (biopolitics) ดังนี้

1) อำนาจอธิปไตย (Sovereign Power)
ตามแนวคิดของฟูโกต์ อำนาจอธิปไตยคืออำนาจที่ควบคุม “ชีวิตและความตาย” ของปัจเจก รัฐที่สร้างอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ซึ่งสะท้อนถึงความยิ่งใหญ่ของอดีตนั้น กำลังสถาปนาอำนาจของตนผ่านการเชื่อมโยงกับบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ได้รับการยกย่อง อนุสาวรีย์ในลักษณะนี้จึงเป็นมากกว่าการรำลึก หากแต่คือ “การสร้างร่างชาติ” (body politic) ใหม่ภายใต้การนำของผู้นำ เซเรเตลีจึงไม่ใช่เพียงศิลปิน หากแต่เป็น “ช่างหล่อความชอบธรรม” (legitimacy sculptor) ให้กับรัฐ และในบางกรณีอาจนับได้ว่าเป็น “ช่างหล่ออำนาจ” (power sculptor) โดยปริยาย ผ่านผลงานที่สื่อถึงความมั่นคง ความยิ่งใหญ่ และความเป็นนิรันดร์ของรัฐ

2) ชีวการเมือง (Biopolitics)
ในขณะที่อำนาจอธิปไตยควบคุมชีวิตจากเบื้องบน ชีวการเมืองเป็นอำนาจที่จัดการกับชีวิตประชากรในเชิงระบบและกลไก อนุสาวรีย์และศิลปะในพื้นที่สาธารณะจึงเป็นส่วนหนึ่งของ “เครื่องมือชีวการเมือง” ที่รัฐใช้ในการควบคุมความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมของประชาชน ผ่านงานศิลปะเหล่านี้ รัฐสามารถ “ปลูกฝัง” ความภาคภูมิใจในชาติ ความยิ่งใหญ่ในอดีตหรือแนวคิดชาตินิยม ซึ่งจะก่อเกิดเป็นทุนทางอารมณ์ (emotional capital) ที่รัฐสามารถนำมาใช้เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาภายใน เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ การจำกัดเสรีภาพ หรือการรวมศูนย์อำนาจ อนุสาวรีย์ในบริบทของรัสเซียจึงมิใช่เพียงสัญลักษณ์ของอดีต แต่เป็นองค์ประกอบสำคัญของวาทกรรมทางอำนาจ (discourse of power) ที่รัฐร่วมสมัยใช้ในการนิยามความเป็นชาติและความยิ่งใหญ่ของผู้นำ ผ่านการควบคุมความทรงจำร่วมและอารมณ์ร่วมของสังคม

แนวคิดของเบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) ว่าด้วย “ชาติ” ในฐานะชุมชนจินตกรรม (imagined community) ช่วยอธิบายบทบาทของศิลปะและอนุสาวรีย์ในฐานะเครื่องมือทางอุดมการณ์ได้อย่างลุ่มลึก แอนเดอร์สันเสนอว่า แม้สมาชิกของชาติมิได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัวแต่ก็สามารถรู้สึกถึงความเป็นส่วนหนึ่งร่วมกันได้ผ่าน “สัญลักษณ์ร่วม” อาทิ ภาษา วรรณกรรม ธงชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อวัฒนธรรมอย่างศิลปะและอนุสาวรีย์ ในบริบทนี้ผลงานของซูรับ เซเรเตลีโดยเฉพาะอนุสาวรีย์ Peter the Great และประติมากรรมขนาดใหญ่อื่น ๆ ที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของรัสเซียทำหน้าที่เสมือน “เครื่องจักรผลิตความทรงจำ” (memory-making machinery) ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างและหล่อหลอมจินตนาการแห่งชาติให้กลายเป็นสิ่งที่ “จับต้องได้” ในพื้นที่สาธารณะศิลปะเชิงสัญลักษณ์เหล่านี้เป็นกระบวนการ “ทำให้ชาติปรากฏขึ้น” (making the nation visible) ในจินตนาการของประชาชน ผ่านรูปธรรมที่สามารถมองเห็น สัมผัสและระลึกถึงได้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของปิแอร์ โนรา (Pierre Nora) เรื่อง “สถานที่แห่งความทรงจำ” (Lieux de Mémoire) โดยโนราเสนอว่าในยุคที่ “ความทรงจำตามธรรมชาติ” เริ่มเลือนหายไปจากชีวิตประจำวัน สังคมจึงจำเป็นต้อง “บรรจุ” ความทรงจำเหล่านั้นไว้ในรูปของวัตถุ พิธีกรรม หรือสถานที่ เช่น อนุสาวรีย์ พิพิธภัณฑ์ หรือสถานที่รำลึก ในแง่นี้อนุสาวรีย์ที่รัฐสร้างขึ้น เช่น อนุสาวรีย์เฉลิมฉลองชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่สอง (WWII) จึงมิใช่เพียงการรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต หากแต่เป็นการจัดระเบียบความทรงจำ (organized remembering) ของสังคม โดยเน้นคุณค่าเฉพาะ เช่น ความกล้าหาญ ความเสียสละ และความชอบธรรมของอำนาจรัฐ ซึ่งเป็นกระบวนการคัดเลือกความทรงจำ (selective memory) ที่ทำให้บางเรื่องราวถูกจดจำอย่างมีเกียรติ ขณะที่เรื่องอื่นถูกละเลยหรือถูกลืมไปโดยเจตนา

ด้วยเหตุนี้ศิลปะของรัฐจึงกลายเป็น “พื้นที่” แห่งความทรงจำที่รัฐใช้ควบคุม “การจำได้–ลืมไป” (remembering and forgetting) ของประชาชน ทั้งเพื่อสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชาติและเพื่อรักษาอำนาจผ่านการควบคุมการนิยามอดีตในแบบที่รัฐต้องการ เมื่อพิจารณาจากมุมมองทางความคิดของรัสเซียจะพบว่าวิสัยทัศน์ในการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือทางการเมืองนั้นมีรากฐานลึกซึ้งในแนวคิดเรื่อง “อุดมการณ์รัสเซีย” (Russian Idea – «Идея русской духовности») ซึ่งปรากฏชัดในผลงานของนักปรัชญาคลาสสิกอย่างฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ (Fyodor Dostoevsky) นิโคไล เบอร์เดียเยฟ (Nikolai Berdyaev) และ วลาดีมีร์ โซโลเวียฟ (Vladimir Solovyov) ที่ล้วนมองว่าภารกิจทางประวัติศาสตร์ของรัสเซียคือการผสมผสานศาสนา ศีลธรรม และจิตวิญญาณเข้ากับพันธกิจทางการเมืองและวัฒนธรรม 

โดยศิลปะและวรรณกรรมถูกมองว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ของชาติ และปกป้องความยิ่งใหญ่ของรัสเซียในกระแสประวัติศาสตร์ แนวคิดนี้สะท้อนอย่างเด่นชัดในงานของยูริ ลอตมัน (Yuri Lotman) ซึ่งวิเคราะห์วัฒนธรรมรัสเซียผ่านกรอบสัญญะวิทยา (semiotics) โดยเสนอว่า "พื้นที่ทางวัฒนธรรม" (semiosphere) คือสนามของการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ที่ซึ่งอนุสาวรีย์และงานศิลปะสาธารณะทำหน้าที่จัดระเบียบความคิด ความทรงจำ และโครงสร้างของอำนาจอย่างแยบยล ในทำนองเดียวกัน เลฟ กูมิเลฟ «Лев Гумилёв» ได้เสนอแนวคิด “ความหลงใหลแห่งชาติ” (passionarnost’) เพื่ออธิบายพลวัตของชาติพันธุ์ โดยรัฐสามารถใช้ผลงานศิลปะโดยเฉพาะอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่เป็นเครื่องมือสะท้อนพลังทางจิตวิญญาณของชาติ เพื่อรวมศูนย์พลังทางสังคมและความภาคภูมิใจในช่วงวิกฤต ในขณะที่อเล็กเซย์ โลเซฟ «Алексей Лосев» เสนอให้มอง “สัญลักษณ์” และ “ตำนาน” ในฐานะพลังเชิงอภิปรัชญา (metaphysical) ที่หล่อหลอมรัฐ ศาสนา และศิลปะให้เป็นหนึ่งเดียว การสร้างอนุสาวรีย์ เช่น Peter the Great โดยศิลปินอย่างซูรับ เซเรเตลีจึงไม่ใช่เพียงการรำลึกถึงอดีต หากแต่เป็นการสร้าง “ตำนานทางการเมือง” ที่ยังดำรงอยู่เพื่อยืนยันอำนาจและความต่อเนื่องของชาติในปัจจุบัน ดังนั้นการสร้างผลงานศิลปะของซูรับ เซเรเตลีจึงไม่อาจแยกออกจากยุทธศาสตร์การเมืองของรัฐรัสเซียได้โดยเฉพาะในยุคของปูตินซึ่งรัฐให้ความสำคัญกับการฟื้นฟู "ความยิ่งใหญ่ของชาติ" (Russian greatness) ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ งานของเขาทำหน้าที่ผลิตและสถาปนาความทรงจำร่วม (collective memory) ที่เอื้อต่ออัตลักษณ์แบบอนุรักษนิยมและชาตินิยม

ในบริบทของรัฐที่เน้นความเข้มแข็งของชาติ ความต่อเนื่องของประวัติศาสตร์และความชอบธรรมของอำนาจ ศิลปะจึงไม่ใช่เพียงเครื่องมือของการแสดงออกส่วนบุคคล แต่กลายเป็นกลไกของรัฐที่ใช้ผลิตซ้ำอุดมการณ์สร้าง “ภาพแทน” ของความเป็นชาติ และปลูกฝังอารมณ์ร่วมแห่งความภาคภูมิใจในหมู่ประชาชนศิลปะจึงอยู่ในฐานะการสร้างสัญลักษณ์ทางการเมืองและชาติพันธุ์ ดังนี้

1) การสร้างภาพลักษณ์แห่งชาติผ่านงานศิลปะ
รัฐรัสเซียในยุคหลังโซเวียตโดยเฉพาะภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ที่ให้ความสำคัญกับการรื้อฟื้นอัตลักษณ์แห่งชาติผ่านภาพจำทางศิลปะที่เชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบัน เช่น อนุสาวรีย์ต่าง ๆ ที่ยกย่องบุคคลในประวัติศาสตร์เช่น พระเจ้าปีเตอร์มหาราช, พระนางเจ้าแคทเธอรีน หรือแม่ของชาติถูกใช้เป็นสื่อกลางในการส่งผ่านนัยแห่งความต่อเนื่อง ความเข้มแข็ง และเกียรติภูมิของรัสเซีย ในทางหนึ่งสิ่งเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์เชิงอุดมการณ์ที่บอกแก่ประชาชนว่า "ชาติ" คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ มีรากเหง้า และควรภาคภูมิใจ ทั้งยังเป็นการตอบโต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่ถูกมองว่าอาจกัดกร่อนอัตลักษณ์รัสเซียได้

2) ศิลปะและการยกย่องผู้นำ: ความชอบธรรมในนามของประวัติศาสตร์
ในรัสเซียงานศิลปะจำนวนมากมีหน้าที่สร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้แก่ผู้นำโดยผ่านการเปรียบเปรยกับบุคคลในประวัติศาสตร์ การสร้างอนุสาวรีย์ การจัดนิทรรศการ และพิธีเฉลิมฉลองในวาระทางการเมืองล้วนมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความชอบธรรมของผู้นำปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อผู้นำเหล่านั้นถูกวางไว้ในสายธารประวัติศาสตร์ของ "ผู้กอบกู้ชาติ" งานของซูรับ เซเรเตลี เช่น อนุสาวรีย์แห่งมิตรภาพกับสหรัฐฯ (มอบให้หลังเหตุการณ์ 9/11), อนุสาวรีย์พระเจ้าปีเตอร์, และงานแสดงความยินดีในวาระทางการเมืองล้วนมีนัยของ การผลิตซ้ำความภักดีและยกย่องรัฐโดยใช้รูปแบบศิลปะอันโอ่อ่าและยิ่งใหญ่

3) การเสริมสร้างรัฐในเชิงอุดมการณ์
ในระบอบที่มุ่งเน้นการควบคุมทางวัฒนธรรมและการเมือง ศิลปะทำหน้าที่เป็นหนึ่งใน “แนวป้องกันทางอุดมการณ์” (ideological defense line) ของรัฐ รัฐอาจไม่ได้ใช้อำนาจกดขี่แบบเผด็จการแบบเดิมเสมอไป แต่ใช้กลไกทางวัฒนธรรม เช่น ศิลปะ, พิธีกรรมรัฐ, และสื่อมวลชน เพื่อจัดระเบียบความคิด ความรู้สึก และจินตนาการของพลเมืองให้เป็นไปตาม “มาตรฐานชาติ” การสร้างศิลปะที่ สะท้อนอัตลักษณ์รัสเซียในฐานะชาติที่ยิ่งใหญ่ กล้าหาญ เคร่งศีลธรรม และต่อต้านตะวันตก คือการปลูกฝังอารมณ์ร่วมที่รัฐสามารถเรียกใช้งานในช่วงเวลาวิกฤต ไม่ว่าจะเพื่อเสริมอำนาจทางการเมือง หรือเพื่อสร้างความสามัคคีในเวลาสงคราม

บทสรุป การจากไปของซูรับ เซเรเตลีมิได้เป็นเพียงการสูญเสียของแวดวงศิลปะ หากแต่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สะท้อนถึงการสิ้นสุดของยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยของรัสเซีย ยุคที่ศิลปะมิได้ทำหน้าที่เพียงในเชิงสุนทรียศาสตร์ หากแต่เป็น “เครื่องมือของรัฐ” ในการกำหนดอัตลักษณ์ทางการเมือง วัฒนธรรม และอุดมการณ์ของชาติ เซเรเตลีไม่ได้เป็นเพียงประติมากรผู้สร้างผลงานขนาดยักษ์ที่ตระหง่านอยู่ในพื้นที่สาธารณะ หากแต่เป็น “ผู้สื่อสารอุดมการณ์ของรัฐ” ผ่านงานศิลปะที่มีลักษณะของการเป็นทั้งสัญลักษณ์แห่งความทรงจำ และเครื่องกลไกทางอำนาจ ผลงานของเขาสะท้อนให้เห็นกระบวนการของ “การปกครองผ่านความทรงจำ” (governance through memory) ซึ่งรัฐใช้ในการกำหนดกรอบการรับรู้ของประชาชนต่อชาติ ผู้นำและอดีต เมื่อพิจารณาผลงานของเซเรเตลีผ่านกรอบแนวคิดของนักคิดอย่าง เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน มิเชล ฟูโกต์ และ ยูริ ลอตมันเราจะเห็นว่าอนุสาวรีย์เหล่านี้มิใช่เพียงโครงสร้างทางกายภาพ หากแต่เป็น สนามความหมาย (semantic field) ที่เชื่อมโยงอำนาจ วาทกรรม และความทรงจำเข้าด้วยกันอย่างแนบแน่น

ในบริบทของรัสเซียร่วมสมัย มรดกของซูรับ เซเรเตลีจะยังคงส่งอิทธิพลต่อไป ไม่ว่าจะในฐานะเครื่องเตือนใจถึงสายสัมพันธ์ระหว่างศิลปินกับอำนาจรัฐ หรือในฐานะจุดตั้งต้นของการทบทวนบทบาทของศิลปะต่อการเมืองในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ศิลปะในที่นี้จึงมิใช่เพียงภาพสะท้อนของสังคม หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการจัดระเบียบสังคมผ่านความทรงจำ ประวัติศาสตร์ และอุดมการณ์ที่รัฐเลือกจะจารึกไว้

ศ.นพ.ยง แสดงความเห็นกรณีแพทย์รุ่นน้อง bully แพทย์รุ่นพี่

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ข้อโต้แย้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ กับ Hippocratic Oath

มีเสียงวิจารณ์กันมากในสื่อสังคม ในฐานะที่เป็นกลาง และพยายามให้ความรู้ ที่เกิดจากงานวิจัยของเรามาโดยตลอด เมื่อได้รับฟังในสื่อสังคม ก็อดไม่ได้ ที่อยากจะให้ความคิดเห็นของแพทย์รุ่นพี่ ที่รุ่นน้องเรียกว่าลุง

ต้องยอมรับก่อนว่า วัคซีนป้องกันโรคทางเดินหายใจไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือโควิด 19 ที่มีระยะฟักตัวสั้น และมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ประสิทธิภาพของวัคซีน ไม่ได้สูงอย่างวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี หรือวัคซีนป้องกันหัด และป้องกันโรคต่างๆ ในเด็กเล็ก วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ป้องกันการติดเชื้อได้ต่ำมาก แต่เชื่อว่าลดความรุนแรงของโรค ลดการนอนโรงพยาบาล

ปีที่แล้วผมได้ฉีดวัคซีนให้กับลูกหลานทุกคน แต่ก็ติดไข้หวัดใหญ่เกือบทุกคน แต่ไม่มีใครนอนโรงพยาบาลเลย ผมเองก็ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มามากกว่า 20 ปีแล้วไม่เคยขาด แต่ก็เป็นไข้หวัดใหญ่ ปีเว้น 1 หรือ 2 หรือ 3 ปีมาโดยตลอดเหมือนกัน แต่ก็ไม่เคยนอนโรงพยาบาล ด้วยเรื่องไข้หวัดใหญ่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ มีประสิทธิภาพในสถานการณ์จริงในการลดการนอนโรงพยาบาล 40-60% เท่านั้น

ถ้าถามว่า ปีนี้จะฉีดให้กับลูกหลานและตัวเองหรือไม่ ตอบได้เลยว่า “ฉีด” อีก ทั้งนี้เพราะวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนที่ปลอดภัย ใช้กันมานานมาก และมีราคาไม่แพง ซึ่งตรงข้ามกับวัคซีนโควิด 19 ถ้าถามว่าจะฉีดไหม ผมตอบได้เลยว่า “ไม่ฉีด” โรคโควิด 19 ขณะนี้ไม่ต่างเลยกับไข้หวัดใหญ่ ที่ไม่ฉีดก็เพราะว่าวัคซีนมีราคาแพงมาก แพงกว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่มากกว่า 10 เท่า และอาการข้างเคียงก็มีมากกว่า ถึงจะเป็นเด็กเล็กที่ยังไม่เคยเป็นมาเลยก็ไม่ฉีด เมื่อก่อนที่ฉีด ก็เพราะโรคในความรุนแรงลงปอดได้สูงมาก ปัจจุบันเปลี่ยนไป ตามวิวัฒนาการ และเป็นเหตุที่ทำให้วัคซีนโควิด 19 จึงเลิกผลิตกันถึงเกือบหมด วัคซีน mRNA ที่มีการชื่นชอบกันมากในช่วงของโควิด 19 มีการศึกษาระยะสั้นเร่งด่วน ขณะนี้ก็ไปไม่รอด แนวโน้มก็คงจะเลิกผลิตทั้งหมด

งานทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการศึกษาวิจัย ถ้าสมมติทำการศึกษาวิจัย 10 โครงการ แน่นอนใน 10 โครงการนั้นมีทั้งโครงการที่ให้ผลบวกและผลลบ แล้วแต่ใครจะหยิบโครงการไหนมาพูด จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ผมให้ความรู้ จะใช้จากงานวิจัยที่เราได้ทำ โดยเฉพาะทำในประเทศไทย สังคมไทย มากกว่าที่จะอ่านวารสารมาให้ฟัง และไม่เคยทำวิจัยในเรื่องนั้นเลย สิ่งที่สำคัญก็คือบางครั้งแค่อ่านหนังสือได้ ไม่ได้วิเคราะห์หรืออ่านหนังสือเป็น ก็มาวิพากษ์วิจารณ์กันทำให้ประชาชนสับสน

ในทางการแพทย์ ก่อนจบแพทย์ จะมีการอบรมปัจฉิมนิเทศ และมีการแจก ให้อ่านและเป็นเอกสารที่สวยงาม โดยเฉพาะ Hippocratic Oath ที่แพทย์ทุกคนควรจะได้พึงปฏิบัติเช่นเดียวกันกับ Hippocratis ซึ่งสามารถค้นอ่านได้จากออนไลน์ได้ง่ายมาก ถ้ากระดาษแผ่นนั้นหาย และจะต้องอยู่ในจิตใจ

ในการที่แพทย์รุ่นน้อง bully แพทย์รุ่นพี่ ผมเห็นว่า แนวทางการปฏิบัติไม่ได้ถูกอบรมตามแบบอย่าง Hippocratic Oath หรือไม่เช่นนั้นก็ไปอยู่เมืองนอกเสียนานเลยลืมหมด ผมคงไม่ได้แตะต้องเนื้อหาความรู้ เพราะผมเชื่อว่าสมัยนี้ความรู้ที่พูดออกมาจากการอ่านวารสารให้ฟัง ประชาชนทั่วไปในสื่อสังคมสามารถตัดสินใจได้

ในช่วงของโควิด 19 ผมเองก็ถูกบุลลีอย่างหนัก แต่ไม่เคยตอบโต้ และมีการพูดจาอย่างสุภาพเสมอในฐานะที่เราเป็นแพทย์ และไม่เคยโกรธเกลียดใคร การพูดครั้งนี้ก็พยายามพูดเป็นกลาง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top