Thursday, 8 May 2025
NewsFeed

สำนักงานตำรวจแห่งชาติแถลงผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือน เด็ดขาด รุกปราบปรามอาชญากรรมทุกรูปแบบ พร้อมเสริมสวัสดิการ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับตำรวจและครอบครัว

(23 เม.ย. 68) เวลา 10.30 น. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มอบหมายให้ พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ และ พล.ต.ต.วรศักดิ์                 พิสิษฐบรรณกร รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงผลการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รอบ 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึง 31 มีนาคม 2568 ณ สารสิน อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

1. ผลการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรม 4 กลุ่ม 
- คดีอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญ : จับกุม 9,183 คดี ผู้ต้องหา 12,329 คน 
- คดีชีวิต ร่างกายและเพศ : จับกุม 29,213 คดีผู้ต้องหา 34,876 คน 
- คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ : จับกุม 6,924 คดี ผู้ต้องหา 8,380 คน 
- คดีที่น่าสนใจหรือรัฐเป็นผู้เสียหาย : จับกุม 263,731 คดี ผู้ต้องหา 275,514 คน

2. ผลการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน 
2.1 มาตรการปราบปรามยาเสพติด 
- ผลการปราบปรามยาเสพติด จับกุมผู้ต้องหา 123,910 คน , ข้อหาฟอกเงิน 146 คดี ของกลางยาบ้า 510,211,182 เม็ด , ไอซ์ 29,604.74 กิโลกรัม , เคตามีน 3,926.78 กิโลกรัม , เฮโรอีน 880.20 กิโลกรัม , ยาอี 118,230 เม็ด ยึดอายัดทรัพย์สิน 4,986,222,913 บาท
- มาตรการสกัดกั้นและปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดตามแนวชายแดนและพื้นที่ตอนในของประเทศ Seal Stop Safe ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 31 มีนาคม 2568 จับกุมข้อหาร้ายแรง 23,270 คดี ของกลางยาบ้าและยาอี รวม 200.64 ล้านเม็ด และไอซ์ , เคตามีน , เฮโรอีน รวม 11 ตัน ยึดอายัดทรัพย์สิน 1,414.66 ล้านบาท โดยมีการจับกุมและการยึดทรัพย์ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 19 - 79 เมื่อเทียบจากปี 2567
- ผลการจับกุมการกระทำความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ถึง 3 เมษายน 2568 จับกุมผู้ต้องหา 2,260 คน ของกลาง 1,106,936 ชิ้น มูลค่า 218,499,239 บาท , การจับกุมผู้ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ารายใหญ่ หรือมูลค่าของกลาง 5 แสนบาทขึ้นไป และแก๊สหัวเราะ (รวมยอดของกรมศุลกากร) จำนวน 26 คดี ผู้ต้องหา 27 คน ของกลาง 1,297,111 ชิ้น มูลค่า 264,492,100 บาท , คดีฟอกเงิน 22 คดี ของกลาง 839,948 ชิ้น มูลค่าของกลาง 202,863,310 บาท , ระงับ/ปิดกั้น URL ที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า 11,106 URL และปิดกั้นเพจเฟซบุ๊กตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงเดือนมีนาคม 2568 จำนวน 1,687 เพจ 

2.2 แก๊งคอลเซ็นเตอร์ 
จำนวนคดีที่รับแจ้งความในระบบแจ้งความออนไลน์ 126,400 คดี ออกหมายจับ 327 คดี มีผลการจับกุม 152 คดี พนักงานอัยการสั่งฟ้องคดี จำนวน 125 คดี 
ผลการจับกุมอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทุกประเภท 22,551 ราย บัญชีม้า 4,558 ราย การพนันออนไลน์ 35,174 ราย

การช่วยเหลือเหยื่อจากการค้ามนุษย์ การปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และตั้งศูนย์ประสานงานระหว่างไทยและกัมพูชา อีกทั้งนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งจัดตั้ง ศูนย์อำนวยการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน (ศอ.ปชด.) ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบในส่วนของ ศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และการค้ามนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน (ฉก.88) ส่งผลให้สามารถปราบปรามขบวนการอาชญากรรมทางเทคโนโลยีข้ามชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทางการกัมพูชาได้ควบคุมตัวคนไทย ผู้มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมืองปอยเปต และส่งตัวกลับมายังประเทศไทย เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2568 ทางการกัมพูชาได้ควบคุมตัวคนไทยจำนวน 119 ราย  ซึ่งผลการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพและพนักงานสอบสวน พบว่า ผู้ต้องหา 100 รายมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ อีก 15 รายอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยศาลได้อนุมัติหมายจับรวมทั้งสิ้น 102 ราย รวมถึงหัวหน้าแก๊งชาวจีนจำนวน 2 ราย 

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ครั้งที่ 1 ทางการกัมพูชาได้ควบคุมตัวคนไทยจำนวน 56 ราย  ซึ่งผลการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพและพนักงานสอบสวน พบว่า ผู้ต้องหา 49 รายมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ อีก 17 รายอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน ในข้อหาสำคัญ ได้แก่ ร่วมกันเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, อั้งยี่, ซ่องโจร, ฉ้อโกงประชาชน และนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ขบวนการดังกล่าวมีพฤติการณ์ในการหลอกลวงประชาชนรูปแบบต่าง ๆ เช่น การหลอกลงทุนเทรดหุ้น โรแมนซ์สแกม การพนันออนไลน์ และการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง

2.3 ค้ามนุษย์ อาวุธปืน อาวุธสงคราม หนี้นอกระบบ ผู้มีอิทธิพล คนต่างด้าวผิดกฎหมาย และอาชญากรรมข้ามชาติ 1) ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงป้องกันการค้ามนุษย์ 1,263 ครั้ง ดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และความผิดที่เกี่ยวข้อง จำนวน 116 คดี จับกุมผู้ต้องหา 150 คน , คัดกรอง (NRM) 15,819 คน พบข้อบ่งชี้อาจเข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ 1,543 คน , ตรวจเรือประมง 1,128 ลำ จับกุมเรือประมง 19 คดี ผู้ต้องหา 20 คน ,  สถิติ CyberTip 142,015 เรื่อง และจับกุมคดีล่วงละเมิดเด็กทางอินเตอร์เน็ต 43 คดี 
2) เปิดยุทธการกวาดล้างผู้มีอิทธิพล 
- “CIB ขยี้อิทธิพล” เป้าหมายผู้มีอิทธิพล 47 เป้าหมาย กลุ่มแก๊งอาชญากรรม 74 เป้าหมาย จับกุม 109 คน ตรวจยึดยานพาหนะ 168 คัน อาวุธปืน 18 กระบอก เครื่องกระสุน 252 นัด , ยาเสพติด และอื่นๆ 
- “ธรณีนี้ มีขื่อ มีแป” เป้าหมายตรวจค้น 667 จุด 89 หมายจับ จับกุม 218 คน ตรวจยึดรถยนต์ 64 คัน รถจักรยานยนต์ 250 คัน อาวุธปืน 266 กระบอก พร้อมกระสุน 5,743 นัด , ระเบิด และยาเสพติด 
3) กำหนดพื้นที่แก้ไขปัญหาสถานการณ์ชายแดน หมู่บ้านเป้าหมายหลัก 4,639 หมู่บ้าน หมู่บ้านเป้าหมายรอง     (เฝ้าระวัง) 21,669 หมู่บ้าน ดำเนินการผลักดันส่งกลับคนต่างด้าว 50,918 ราย ลงข้อมูลบัญชีบุคคลต้องห้าม 1,330 ราย

3. การดำเนินการที่สำคัญ 
3.1 มาตรการ 7 ขั้นตอน ป้องกันคนต่างด้าวถูกหลอกลวงหรือเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 
สรุปผลการปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม ถึง 24 กุมภาพันธ์ 2568 มีการตั้งจุดตรวจ 17,908 จุด , ตรวจสอบยานพาหนะ 806,952 คัน , มีการตรวจสอบป้ายทะเบียนรถและใบหน้าบุคคล 22,828 ข้อมูล , ตรวจสอบสถานที่พัก สถานีขนส่ง จุดพัก ช่องทางธรรมชาติ ท่าข้ามต่าง ๆ 20,482 แห่ง จำนวน 24,537 ครั้ง , จับกุมคนต่างด้าวกระทำผิดกฎหมาย 1,962 ราย , ปฏิเสธการเข้าเมือง 2,367 ราย เพิกถอนการอนุญาต 202 ราย , ประชาสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ ผ่านทุกช่องทาง , ดำเนินการทางปกครอง รวมจำนวน 7 ราย และการประสานงานความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การเดินทางข้ามแดนโดยผิดกฎหมายและการกระทำความผิดของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

3.2 แนวทางการบริหารจัดการคดีสำคัญต่าง ๆ  มีการบริหารจัดการคดีสำคัญต่างๆ อาทิ กรณีเพลิงไหม้รถนักเรียน มีการตั้ง ศปก.ส่วนหน้า บริหารเหตุการณ์ฉุกเฉิน พร้อมดำเนินคดีทุกข้อหากับคนขับและผู้ที่เกี่ยวข้อง , คดีไอคอนกรุ๊ป มีการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งความทั่วประเทศ , กรณีคดีห้างเพชรทองเคทูเอ็น (ตั๊ก-เบียร์) และห้างเพชรทองธาดาโกลด์ (ใบหนาด) มีการเปิดช่องทางสายด่วน 1599 เพื่อเป็นศูนย์รับแจ้งเหตุให้กับผู้เสียหาย , กรณีคดีนายแพทย์บุญ วนาสิน ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับผู้ต้องหา จำนวน 16 ราย จับกุมแล้ว 15 ราย คงเหลือ 1 ราย คือ นายแพทย์บุญฯ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีหนังสือแจ้งไปยังองค์กรตำรวจสากล (Interpol) และได้ประกาศตำรวจสากลสีแดง (Red Notice) เรียบร้อยแล้ว

3.3 การบริหารจัดการภัยเหตุตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม และการรับมือภัยธรรมชาติ พายุฤดูร้อน
ดำเนินการตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เน้นในการบริหารจัดการพื้นที่ ปิดล้อมที่เกิดเหตุ อพยพ ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ การอำนวยความสะดวกด้านการจราจร การนำส่งสายการแพทย์ การพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลและการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดี

4. การขับเคลื่อนนโยบายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 15 ข้อ และนโยบายรัฐบาล 
สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายและขับเคลื่อนโครงการ/กิจกรรม ที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล จำนวน 32 โครงการ/กิจกรรม โดยมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการ Digital Police Station,         การปรับปรุงแก้ไขคำสั่ง ตร. ที่ 419/2556 เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวนการสอบสวนและ มาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา , โครงการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาข่าวกรองเชิงยุทธศาสตร์และข่าวเชิงรุก, จัดทำแผนแม่บทด้านงบประมาณ การเงิน บัญชี การส่งกำลังบำรุงและเทคโนโลยีสารสนเทศ, โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ช่วยเหลือข้าราชการตำรวจที่เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ สวัสดิการบ้านพัก บ้านพักน่าอยู่ อาหารกลางวัน 

5. สวัสดิการและความเป็นอยู่
มีการดูแลสวัสดิการในด้านต่างๆ สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจและครอบครัว อาทิ เบี้ยเลี้ยง , การช่วยเหลือข้าราชการตำรวจที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ , สวัสดิการด้านอาหารกลางวันหน่วยในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ , การอบรม Money Management & Investment “ค่ายส่งสุขทางการเงิน เพื่อครอบครัวตำรวจไทย” ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับสมาคมแม่บ้านตำรวจ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ความรู้ความเข้าใจด้านการวางแผนการเงิน , โครงการ “เสริมสร้างทักษะดนตรี กีฬา ช่วงปิดภาคการศึกษาแก่บุตรหลานข้าราชการตำรวจ” เป็นต้น 

และเน้นการเปลี่ยนแนวคิด Mindset 6 ด้าน 1. ปกป้องพิทักษ์เทิดทูนสถาบัน 2. การดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา 3. แก้ไขสิ่งที่ผิดและทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม 4. อุดมคติตำรวจ 5. เป็นต้นแบบและเป็นแบบอย่างที่ดี 6. การพัฒนาและดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน นอกจากนี้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฝากเพิ่มเติมว่า ห้วงที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บางคดีผู้เสียหายมีจำนวนมากที่จะต้องเข้าไปแก้ไขปัญหา เพิ่มจำนวนพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ รวมถึงการบริหารจัดการคดีสำคัญ ช่วงการจัดงานเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ที่ตำรวจได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ จึงขอขอบคุณตำรวจทุกนายที่ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเห็นผลเป็นที่ประจักษ์ มีการขับเคลื่อนและเห็นผลเป็นที่ประจักษ์ แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องขับเคลื่อนและกำหนดมาตรการเข้มข้น การปฏิบัติอย่างจริงจังต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ยาเสพติด อาชญากรรมออนไลน์ ปัญหาคนต่างด้าวผิดกฎหมาย/นอมินี จะต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด ต่อเนื่อง จริงจัง เพื่อให้อาชญากรรมดังกล่าวลดลง และแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน ในบางโครงการเป็นโครงการระยะยาว จะต้องเร่งรัดให้สำเร็จผลและปรับแผนการปราบปรามอาชญากรรมให้ทันต่อสภาพอาชญากรรม และการสร้างวินัยจราจร เพื่อลดอุบัติเหตุและ  จะได้สรุปผลการดำเนินการในรายไตรมาสต่อไป

สตูล ศรชล เตรียมความพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินทางทะเล จัดการฝึก TTX จำลองแผนช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล สร้างความมั่นใจให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว

พลเรือโท สุวัจ ดอนสกุล ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 3 (ศรชล.ภาค 3)/ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 มอบหมายให้ น.อ.แสนย์ไท บัวเนียม รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล จังหวัดสตูล (รอง ผอ.ศรชล.จว.สตูล) จัดการฝึกซ้อมแผนช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล การปฏิบัติด้านการแพทย์ฉุกเฉินทางทะเล และการบริหารจัดการในภาวะวิกฤต ในรูปแบบ Table Top Exercise (TTX) ระหว่างวันที่ 23 – 24 เมษายน 2568 เวลา 08.30 – 17.30 น.ณ เพ็ญทิพย์ รีสอร์ท อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการซักซ้อมความเข้าใจ และขั้นตอนการปฏิบัติ ตามแผนเผชิญเหตุช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล การปฏิบัติด้านการแพทย์ฉุกเฉินทางทะเล และการบริหารจัดการในภาวะวิกฤต ของจังหวัดสตูล และนำไปสู่การฝึกภาคสนาม การปฏิบัติจริง เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติต่าง ๆ ในพื้นที่ทางทะเลของจังหวัดสตูล อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่น เกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ให้กับประชาชนในพื้นที่ ผู้ประกอบอาชีพประมง และผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางทะเล รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่เดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่ทางทะเลของจังหวัดสตูล

ในวันพุธที่ 23 เมษายน 2568 เวลา 09.30 น. นาวาเอกแสนย์ไท บัวเนียม รอง ผอ.ศรชล.จว.สตูล เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึก ณ เพ็ญทิพย์ รีสอร์ท หน่วยงานที่เข้าร่วมการฝึกซ้อมครั้งนี้ ประกอบด้วย:
• ศรชล.จว.สตูล
• ศคท.จว.สตูล
• สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสตูล (ปภ.สตูล)
• สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสตูล
• โรงพยาบาลสตูล
• สถานีตำรวจภูธรเมืองสตูล
• หน่วยงานในสังกัดกองทัพเรือที่เกี่ยวข้อง
• หน่วยงานของกรมเจ้าท่าในพื้นที่
• องค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล
• องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ชายฝั่ง
• สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
• หน่วยรักษาความปลอดภัยทางทะเล กองทัพเรือ เกาะหลีเป๊ะ
• เรือ ต.114 และ เรือ ต.273
• ชุดปฏิบัติการพิเศษนาวิกโยธิน พื้นที่ปฏิบัติการทางทะเล ศรชล.ภาค 3 (ชปพ.นก.พตต.ศรชล.ภาค 3)
• และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
• การปฏิบัติใน วันที่ 23 เมษายน 2568 ประกอบด้วย
การบรรยายพิเศษโดยวิทยาการผู้มีประสบการณ์จากหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้
• ปภ.จว.สตูล–แผนเผชิญเหตุและการจัดตั้งศูนย์บัญชาการ
• ศคท.จว.กระบี่–ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ทางทะเลของ ศรชล.ภาค 3
• สาธารณสุขจังหวัด / รพ.สตูล – ระบบสั่งการ 1669 และการแพทย์ฉุกเฉินทางทะเล
• รอง ผอ.ศรชล.จว.สตูล / ศคท.จว.สตูล / ปภ.สตูล – แนวทางการฝึกและสถานการณ์สมมุติ

การอภิปราย วิเคราะห์สถานการณ์ ฝึกตัดสินใจ และเสนอแนะแนวทางปฏิบัติร่วมกันระหว่างหน่วยงาน

วันที่ 24 เมษายน 2568 ปล่อยโจทย์สถานการณ์จำลองเหตุอุบัติภัยทางทะเล (สถานการณ์จริงสมมุติ), วิเคราะห์การปฏิบัติ ประเมินปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ

สรุปผลการฝึก โดยคณะควบคุมการฝึก: ศรชล.จังหวัดสตูล / ศคท.สตูล / ปภ.สตูล
การฝึก TTX ครั้งนี้ถือเป็นกลไกสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนในจังหวัดสตูล เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินทางทะเลได้อย่างทันท่วงที มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยสูงสุด

เหตุด่วน เหตุร้าย ภัยทางทะเล
📞 ต้องการความช่วยเหลือทางทะเล โทร. 1465 แจ้ง ศรชล.ภาค 3 ตลอด 24 ชั่วโมง

นาวิกโยธินสหรัฐฯ 2 นายถูกสอบสวนข่มขืนหญิงญี่ปุ่นในโอกินาวา ซ้ำเติมความไม่พอใจชาวบ้านในพื้นที่ต่อฐานทัพอเมริกัน

(24 เม.ย. 68) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สมาชิกหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐฯ 2 นาย กำลังถูกสอบสวนในข้อหาข่มขืนหญิงชาวญี่ปุ่น 2 รายในจังหวัดโอกินาวา โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมและมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นคดีล่วงละเมิดทางเพศล่าสุดที่จุดชนวนความไม่พอใจของชาวบ้านในพื้นที่ต่อการมีฐานทัพสหรัฐฯ ตั้งอยู่

ตำรวจท้องที่เปิดเผยว่า นาวิกโยธินสหรัฐฯ วัย 20 ปีเศษต้องสงสัยว่าข่มขืนหญิงชาวญี่ปุ่นที่ฐานทัพอเมริกันในเดือนมีนาคม และยังถูกกล่าวหาว่าทำร้ายผู้หญิงอีกราย ขณะที่นาวิกโยธินอีกนายในวัยเดียวกันถูกกล่าวหาว่าข่มขืนหญิงชาวญี่ปุ่นอีกคนหนึ่งที่ฐานทัพเดียวกันเมื่อเดือนมกราคม โดยตำรวจญี่ปุ่นได้ส่งสำนวนคดีให้อัยการแล้ว

เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่น จอร์จ กลาส (George Glass) ยืนยันว่าสหรัฐฯ พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับการสอบสวนของทางการญี่ปุ่น และให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความไว้เนื้อเชื่อใจและความเป็นหุ้นส่วนอันยาวนานกับญี่ปุ่น พร้อมให้คำมั่นว่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันการกระทำที่บ่อนทำลายความสัมพันธ์นี้

สำหรับเหตุการณ์ล่าสุดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดที่สั่งสมมานานระหว่างชาวโอกินาวากับทหารสหรัฐฯ ที่ประจำการอยู่ในพื้นที่ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 54,000 นายทั่วญี่ปุ่น โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ฐานทัพบนเกาะโอกินาวา ผู้ว่าการจังหวัดโอกินาวาได้ออกมาประณามการกระทำดังกล่าวว่า "เลวทราม" และเรียกร้องให้กองทัพสหรัฐฯ มีมาตรการป้องกันที่เข้มงวดเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย

จีนปฏิเสธการเชื่อมโยงกับความขัดแย้ง ‘คลองปานามา’ พร้อมย้ำความสัมพันธ์อันดีกับลาตินอเมริกา บนหลักการเคารพซึ่งกันและกัน

กระทรวงการต่างประเทศจีนออกแถลงการณ์ตอบโต้สหรัฐฯ กรณีเชื่อมโยงจีนกับข้อขัดแย้งเกี่ยวกับคลองปานามา โดยระบุว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่สามารถบดบังเป้าหมายที่แท้จริงของสหรัฐฯ ในการขยายอิทธิพลในภูมิภาคลาตินอเมริกาได้

แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังสื่อปานามาวิพากษ์บทบาทของสหรัฐฯ ในอเมริกากลาง โดยเฉพาะแผนการตั้งฐานทัพถาวรและข้อกล่าวหาเรื่องการใช้ 'ภัยคุกคามจากจีน' เพื่อสนับสนุนนโยบายความมั่นคงของตน

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนย้ำว่า การบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับจีนและคลองปานามาไม่สามารถปกปิดความต้องการของสหรัฐฯ ในการแทรกแซงภูมิภาคนี้ได้ พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยุติการขัดขวางความร่วมมือระหว่างจีนและประเทศในลาตินอเมริกา โดยจีนยึดมั่นในหลักความเสมอภาค ผลประโยชน์ร่วม และไม่แทรกแซงกิจการภายใน

ประธานาธิบดีปานามาได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการแทรกแซงจากจีน โดยยืนยันว่าไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่บ่งชี้ถึงการกระทำดังกล่าว ขณะที่จีนสรุปว่า ความร่วมมือในภูมิภาคควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของการส่งเสริมเสถียรภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านความเข้าใจซึ่งกันและกัน

‘ตรีรัตน์’ สวน ‘สส. พรรคส้ม’ ปมเบรกซื้อไฟฟ้าสีเขียว ชี้ ไม่ได้จะทำให้ค่าไฟถูกลง มีแต่ทำให้ค่าไฟแพง

‘ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส’ สวนพรรคประชาชน ชี้กรณีเบรกการซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด 5,200 mw และ 3,600 mw ไม่ได้จะทำให้ค่าไฟถูกลง มีแต่ทำให้ค่าไฟแพง พร้อมแนะควรไปรื้อสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดแบบเก่าที่มีค่า Adder ออกจากระบบดีกว่า 

นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส อดีตรองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งปัจจุบันลาออกมาเป็นนักธุรกิจพลังงานสะอาด ได้โพสต์เฟซบุ๊ก และ X สวนนายวรภพ วิริยะโรจน์ และนายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ถึงประเด็นการเบรกการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบ Feed-in Tariff รอบ 5,200 เมกะวัตต์ และรอบเพิ่มเติม 3,600 เมกะวัตต์ ดังนี้

ผมได้เห็นข่าวที่นายวรภพ วิริยะโรจน์ และนายศุภโชติ ไชยสัจ สส.พรรคประชาชน ออกมาแถลงข่าวขอให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะรมว.พลังงาน เบรกการลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด 3,600 mw ไม่งั้นคนไทยจะต้องจ่ายค่าไฟแพงไปอีก 25 ปี

ซึ่งด้วยความเคารพ ผมต้องขอเห็นต่าง และคิดว่าเป็นการนำเสนอข้อมูลที่อาจคลาดต่อความเป็นจริงครับ

ซึ่งก่อนที่ผมชี้แจง 2 เรื่อง

1.) ผมขอเน้นย้ำก่อนว่าผมยืนในหลักการเดิมเสมอ คือการต่อสู้เพื่อให้ประชาชนมีค่าไฟที่ถูกลง สมัยที่ผมทำงานการเมืองเคยต่อสู้เรื่องนี้อย่างไร ทุกวันนี้แม้ออกมาแล้ว ก็ยังต่อสู้เรื่องนี้อยู่เช่นเดิมครับ

2.) ผมต้องขอออกตัวว่าผม หรือบริษัทผม ไม่ได้เข้าร่วมประมูลขายไฟให้ภาครัฐ และไม่เคยร่วมประมูลการขายไฟให้ภาครัฐ และก็ไม่ได้เป็นผู้ติดตั้งให้ผู้ชนะประมูลด้วย เพราะฉะนั้นการให้ข้อมูลของผม ไม่ได้มีเรื่องผลประโยชน์ใด ๆ ของผมแน่นอนครับ มีแต่เพียงความหวังดี

ซึ่งในประเด็นไหนที่ผมเห็นว่าความเข้าใจของผู้แถลงอาจผิดพลาดจากความเป็นจริง ผมในฐานะคนประกอบอาชีพด้านพลังงานสะอาดอย่างสุจริต ก็อยากจะนำเสนอความจริงอีกด้านให้สังคมได้รับรู้ โดยมีจุดหมายเดียวกัน เช่นเดียวกับ สส.พรรคประชาชน คือการหาทางออกให้ค่าไฟของประเทศไทยเราถูกลง

ผมขอเริ่มจากการฉายภาพให้ทุกท่านได้เห็นโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบัน และต้นทุนขายไฟของโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทดังนี้ :

1. โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ-ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 1.40 บาท/หน่วย
2. โรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ (แม่เมาะ)-ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 1.32 บาท/หน่วย
3. โรงไฟฟ้าถ่านหิน (นำเข้า)-ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 2.01 บาท/หน่วย
4. โรงไฟฟ้าก๊าซ-ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 3.24-4.06 บาท/หน่วย (รวมค่า AP)
5. โรงไฟฟ้าลม (แบบมี adder)-ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 8 บาท/หน่วย
6. โรงไฟฟ้าโซลาร์ (แบบมี adder)-ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 10-12 บาท/หน่วย
7. โรงไฟฟ้าโซลาร์ & ลม (หลัง adder หมด)-ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 4.5 บาท/หน่วย รวม FT
8. โรงไฟฟ้าโซลาร์ (สัญญาใหม่ รับซื้อราคาคงที่ Nonfirm) -2.16 บาท/หน่วย
9. โรงไฟฟ้าโซลาร์+แบตเตอรี่ (สัญญาใหม่ รับซื้อราคาคงที่ แบบ Firm)-2.8 บาท/หน่วย
10. โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอื่น ๆ (ชีวมวล ขยะ)- 4-6 บาท/หน่วย

โดยราคาด้านบนเป็นราคาขายไฟหน้าโรงไฟฟ้า ยังไม่รวมค่าสายส่ง 0.24 บาท/หน่วย และค่าสายจำหน่ายและการให้บริการของการไฟฟ้าส่วนจำหน่าย ซึ่งก็คือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ที่ 0.51 บาท/หน่วย

กลับมาที่ประเด็นร้อน-การที่ กกพ.ประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด ประเภทโรงไฟฟ้าโซลาร์ (แบบราคารับซื้อคงที่) 2.16 บาท/หน่วย และโรงไฟฟ้าโซลาร์+แบตเตอรี่ที่ 2.8 บาท/หน่วย เป็นการทำให้ค่าไฟประเทศไทยแพงไปอีก 25 ปีหรือไม่ ?

หากท่านได้ดูโครงสร้างที่ผมเขียน จะเห็นเลยว่าไม่จริงครับ เพราะวันนี้ต้นทุนเฉลี่ยค่าผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศนั้นอยู่ที่เกือบ 3.3 บาท/หน่วย โดยคละกันทั้งไฟฟ้าถูกและไฟฟ้าแพง

การที่เรารับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ 2 บาทกว่า/หน่วย จะเป็นการทำให้ต้นทุนไฟฟ้าค่าเฉลี่ยของประเทศถูกลงด้วยซ้ำ ไม่ใช่แพงขึ้นอย่างที่หลายท่านเข้าใจผิด

ประเด็นที่ 2.) (ที่ไม่มีใครเคยกล่าวถึงเลย) คือในปี 2568-2577 จะมีโรงไฟฟ้าก๊าซและน้ำมัน ซึ่งมีต้นทุนแพงกว่าพลังงานสะอาดอย่างมาก กำลังจะถูกปลดระวางออกจากระบบอีก 14,573 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าเอกชน 10,396 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้า กฟผ. 4,177 เมกะวัตต์

ซึ่งการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดในครั้งนี้ จึงเป็นการเอาโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ใหม่กว่าและถูกกว่าเข้ามาทดแทนโรงไฟฟ้าก๊าซและน้ำมันที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และกำลังจะหมดอายุ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่าผลิตไฟถูกลงอีกเกือบ 1 บาท/หน่วย

ประเด็นที่ 3.) ราคารับซื้อไฟที่ 2.16 บาท/หน่วย มันเป็นราคาที่แพงหรือไม่ และราคาแผงโซลาร์มันมีแต่ลงจริงหรือไม่ ?

ผมต้องนำเรียนทั้งคุณศุภโชติ และนายพีระพันธุ์ ที่เบรกการรับซื้อไฟฟ้าครั้งนี้ ว่ามันไม่แพงเลยครับ

ผมในฐานะที่ทำธุรกิจรับติดตั้งโซลาร์เซลล์ และขายไฟ (ให้เอกชน) บอกได้เลยว่าราคานี้ไม่ได้เป็นราคาที่แพงเลย เพราะผู้ชนะประมูลต้องลงทุนทั้งที่ดิน ซึ่งโรงไฟฟ้าโซลาร์ 1 เมกะวัตต์ ต้องใช้ที่ดินมากถึง 6 ไร่ และไหนจะเรื่องการดูแลระบบ การล้างแผงโซลาร์ การกำจัดหนู แมลงไม่ให้ไปกัดสายไฟ และการเดินระบบสายส่ง+ปักเสาไฟฟ้าไปจุดเชื่อมต่อของการไฟฟ้า ล้วนแต่มีต้นทุนที่สูง นอกจากนี้ แผงโซลาร์ยังมีอัตราการเสื่อมของแผงอยู่ที่ 0.5% ต่อปีอีกด้วย เพราะฉะนั้น Factor เหล่านี้ มันต้องถูกนำไปคำนวณด้วยครับ

ค่าแผง Solar นั้นคิดเป็นเพียง 15% ของต้นทุนโครงการ Solar Farm เท่านั้น และยังมีต้นทุนอื่น ๆ อีกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าแรง ค่า O&M ค่าสายส่ง ค่าที่ดิน หรือค่าเช่าที่ดิน ที่เป็นราคาแปรผัน จึงไม่สามารถนำแค่ค่าแผงมาคิดเป็นต้นทุนได้

ราคาแผงโซลาร์เองก็ไม่ได้มีแต่ลงอย่างเดียว โปรดอย่าเข้าใจผิดว่ามันมีแต่ถูกลง อย่างช่วงไตรมาสนี้ ราคาแผงโซลาร์มีการปรับขึ้นเนื่องจากรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตแผงโซลาร์รายใหญ่สุดของโลกมีการเพิ่มภาษีส่งออก 5% ตั้งแต่ ธ.ค. 2567 ไม่รวมกับเรื่องของราคาที่แปรผันของ Wafer ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของแผงโซลาร์อีกด้วย

เพราะฉะนั้นแล้วผู้ที่จะเข้าประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดลอตใหม่ต้องเอาปัจจัยความไม่แน่นอนเหล่านี้มาคำนวณความเสี่ยง เพราะต้องยืนราคาขายไฟยาว 25 ปี ยังไม่นับการเปลี่ยนระบบอินเวอร์เตอร์และแบตเตอรี่ที่มีอายุใช้งานสั้นกว่าแผงโซลาร์อย่างมาก เพราะต้องเปลี่ยนใหม่ทุก 10 ปีครับ

ประเด็นที่ 4.) โอกาสของประเทศไทย

วันนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องดึงดูดนักลงทุนต่างชาติกลุ่มใหม่อีกมาก โดยเฉพาะกลุ่ม Data Center ที่มีความประสงค์อยากมาลงทุนในภูมิภาคเรา

ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มนี้ต้องการมาลงทุนในประเทศที่สามารถส่งพลังงานสะอาดให้กับเขาได้เท่านั้น เพราะบริษัทเหล่านี้ได้เซ็นพันธสัญญาสู่ Net Zero Carbon เอาไว้ (ยกตัวอย่าง Amazon Web Service)

อนาคตของประเทศไทยจึงจำเป็นที่ต้องสนับสนุนโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่มีราคาถูกให้เกิดขึ้นในอนาคต

สุดท้ายนี้ สิ่งสำคัญที่จะทำให้ค่าไฟถูกลง คือการกำจัดโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูง และโรงไฟฟ้าเก่าที่ด้อยประสิทธิภาพออกจากระบบ

ผมอยากฝากเพื่อน สส.พรรคประชาชน รวมถึงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ว่าเราจะทำอย่างไรให้โรงไฟฟ้าสะอาด (แบบเก่า) ที่มีค่า Adder และก็ได้คืนทุนไปนานโขแล้ว ปลดระวางออกจากระบบ

ซึ่งหากท่านจำได้ ผมเองเคยเอาสัญญามาเปิดให้พวกท่านดูแล้ว ว่าโรงไฟฟ้ากลุ่มนี้ นอกจากจะได้ค่าไฟสูงถึง 8-12 บาท/หน่วย ในช่วงมี Adder แล้ว หลังหมด Adder ก็ยังสามารถขายไฟฟ้าต่อไปได้เรื่อย ๆ แบบไม่มีวันหมดอายุ ในราคาขายที่ 4.5 บาท/หน่วย ซึ่งแพงกว่าสัญญารับซื้อไฟฟ้าฉบับใหม่ที่ 2.16 บาทกว่าเท่าตัว !

นี่เป็นเคราะห์กรรมหนักที่ประชาชนคนไทยต้องรับไว้ และรอคอยความหวังให้นักการเมืองที่มีความตั้งใจเข้ามาปลดสัญญาทาสเหล่านี้ ไม่ใช่การไปเบรกซื้อพลังงานสะอาดราคาถูกที่จะมาทดแทนโรงไฟฟ้า Fossil แบบเดิมครับ

‘ภูมิธรรม’ เผยผลพูดคุย ‘ไทย-มาเลเซีย’ คืบหน้า ย้ำปัญหาชายแดนใต้ไม่ง่าย แต่พร้อมเดินหน้าพัฒนาเพื่ออนาคตร่วมกัน

(24 เม.ย. 68) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการที่นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการ สมช. เข้าร่วมประชุมสภาความมั่นคงอาเซียนที่มาเลเซีย โดยระบุว่ามีการพูดคุยกับนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ด้วย

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ประเด็นสำคัญของการหารือคือปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วน และผลการพูดคุยของผู้นำทั้งสองประเทศเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยเน้นย้ำว่าทั้งไทยและมาเลเซียมีความตั้งใจร่วมกันในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ เพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม นายภูมิธรรมยอมรับว่า ปัญหาดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขได้ง่าย เนื่องจากมีความซับซ้อนและสั่งสมมานาน แต่การหารือครั้งนี้อาจนำไปสู่แนวทางใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการในหลายมิติควบคู่กันไป

จากความหลากหลายสู่ภัยความมั่นคงทางศีลธรรม กับวาทกรรมต่อต้าน LGBT ในยุทธศาสตร์อำนาจของรัสเซีย

(24 เม.ย. 68) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหพันธรัฐรัสเซียได้ผลักดันนโยบายและวาทกรรมทางการเมืองที่แสดงออกถึงการต่อต้านขบวนการ LGBT อย่างชัดเจน ไม่เพียงแต่ในเชิงวัฒนธรรมและสังคม หากแต่ยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ โดยมีการจัดให้ "ขบวนการ LGBT" เป็นภัยคุกคามต่ออัตลักษณ์ของชาติ ศีลธรรมดั้งเดิม และความมั่นคงของรัฐ ความเคลื่อนไหวล่าสุดในการขึ้นบัญชี LGBT movement เป็น “องค์กรหัวรุนแรง” หรือแม้แต่ “องค์กรก่อการร้าย” สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของวาทกรรมอำนาจ ซึ่งมุ่งเน้นการผูกโยง “ความหลากหลาย” เข้ากับ “ความเสี่ยงทางความมั่นคง” โดยจะอธิบายผ่านบริบททางการเมืองและสังคมของรัสเซียต่อประเด็น LGBT ดังนี้

ในสมัยสหภาพโซเวียต ความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศถือเป็น “พฤติกรรมเบี่ยงเบน” และถูกทำให้เป็นอาชญากรรมภายใต้ประมวลกฎหมายอาญาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1934 ตามนโยบายของโจเซฟ สตาลิน ซึ่งมาตรา 121 ของกฎหมายอาญาโซเวียตระบุว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน (เฉพาะในผู้ชาย) มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี แนวคิดของโซเวียตสะท้อนการมองว่า LGBT เป็นภัยต่อโครงสร้างครอบครัวแบบสังคมนิยม และถูกเชื่อมโยงกับ “ความเสื่อมทรามของทุนนิยมตะวันตก” แม้ในยุคหลังสงครามเย็นภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน แม้รัสเซียจะยกเลิกมาตราดังกล่าวในปี ค.ศ. 1993 แต่อคติทางสังคมและการตีตราก็ยังคงอยู่ในระดับสูง

กฎหมายปี ค.ศ. 2013 หรือที่รู้จักในชื่อ “กฎหมายต่อต้านการโฆษณาเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเพศที่ไม่เหมาะสมกับเยาวชน” (Law on the Propaganda of Non-Traditional Sexual Relationships to Minors) มีสาระสำคัญคือการห้ามเผยแพร่เนื้อหาที่ “ส่งเสริมความสัมพันธ์รักร่วมเพศ” ต่อเด็กและเยาวชน โดยมีบทลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญา เช่น ปรับเงิน หรือจำกัดสิทธิ์ทางสื่อสารมวลชน ต่อมาในปี ค.ศ. 2022 กฎหมายดังกล่าวได้ถูกขยายขอบเขตให้ครอบคลุม “การโฆษณา LGBT ในที่สาธารณะ” ทั้งหมดไม่จำกัดเฉพาะต่อผู้เยาว์ ซึ่งหมายความว่าการพูดถึงความหลากหลายทางเพศในเชิงบวก การจัดกิจกรรม หรือสื่อที่เกี่ยวข้องสามารถถูกปรับโทษตามกฎหมายได้อย่างกว้างขวาง นี่เป็นพัฒนาการสำคัญที่รัฐรัสเซียได้บูรณาการวาทกรรมต่อต้าน LGBT เข้าสู่กลไกของกฎหมายอย่างเป็นทางการ

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2023 ศาลฎีกาของรัสเซียได้มีคำวินิจฉัยให้ “ขบวนการ LGBT International Public Movement” เป็น “องค์กรสุดโต่ง” «экстремистская организация» ตามคำร้องจากสำนักงานอัยการสูงสุด โดยให้เหตุผลว่ากลุ่มดังกล่าว “ทำลายคุณค่าดั้งเดิมของชาติและเป็นภัยต่อศีลธรรม” ต่อมาในปี ค.ศ. 2024 มีการประกาศโดยทางการบางระดับว่าการแสดงออกเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศอาจเข้าข่าย “การก่อการร้ายทางวัฒนธรรม” (cultural terrorism) หรือ “ภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอารยธรรมของรัสเซีย” นี่ไม่ใช่แค่การกำหนดให้ LGBT movement เป็นกลุ่มผิดกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นการยกระดับการต่อต้าน LGBT ไปสู่ระดับความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงจาก “วาทกรรมทางศีลธรรม” ไปสู่วาทกรรมความมั่นคงและรัฐนิยม

เมื่อเราวิเคราะห์ในมิติของวาทกรรมความมั่นคง (Security Discourse) และทฤษฎีวาทกรรม (Discourse Theory) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) โอเล่ วีเวอร์ (Ole Wæver) และสจ๊วต ฮอลล์ (Stuart Hall) โดยเฉพาะเมื่อรัฐใช้วาทกรรมในการกำหนดว่า “อะไรคือภัยคุกคาม” และ “ใครคือศัตรูของชาติ” พบว่าในทศวรรษที่ผ่านมารัฐรัสเซียได้ใช้วาทกรรมที่ร้อยเรียง LGBT เข้ากับภาพของ “ภัยต่อความมั่นคงทางศีลธรรม” ตัวอย่างวลีสำคัญที่ปรากฏในสื่อและกฎหมายรัฐ ได้แก่

1) “ภัยต่อเด็ก”: โดยเฉพาะในกฎหมายปี ค.ศ.2013 ที่เน้นการปกป้องเยาวชนจาก “โฆษณา” ความหลากหลายทางเพศ กรอบนี้ทำให้รัฐสามารถนำเสนอการต่อต้าน LGBT ในฐานะการปกป้องเด็กแทนที่จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
2) “สงครามอารยธรรม”: รัฐบาลและสื่อกระแสหลักใช้แนวคิดว่าค่านิยมตะวันตกที่ยอมรับ LGBT คือการรุกรานทางวัฒนธรรม (Cultural Aggression) และรัสเซียต้องยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องอัตลักษณ์ดั้งเดิม
3) “ภัยจากตะวันตก”: LGBT ถูกโยงเข้ากับภาพลักษณ์ของ “ตะวันตกที่เสื่อมทราม” ที่ต้องการแทรกแซงและทำลายโครงสร้างครอบครัวของรัสเซีย

วาทกรรมเหล่านี้ทำหน้าที่ จัดระเบียบความคิดของประชาชน และสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามภายใต้กรอบของ “การปกป้องชาติ”

การวิเคราะห์แนวนี้สามารถวางอยู่บนฐานความคิดของซามูเอล ฮันติงตัน (Samuel Huntington) 
ซึ่งมองว่าโลกหลังสงครามเย็นจะเข้าสู่การขัดแย้งระหว่าง “อารยธรรม” แทนอุดมการณ์ รัสเซียได้หยิบยืมกรอบนี้มาใช้ในเชิงวาทกรรมเพื่อวาดภาพความขัดแย้งระหว่างอารยธรรมรัสเซีย (ที่เน้นความเป็นครอบครัว, ศีลธรรม, ศาสนาออร์โธดอกซ์) กับอารยธรรมตะวันตกที่เสื่อมทราม (ที่ยอมรับเสรีภาพทางเพศ) ดังน้น LGBT จึงถูกนำเสนอในฐานะเครื่องมือหรือผลพวงของลัทธิฝรั่งนิยม (Westernism) ที่คุกคามคุณค่าของโลกสลาฟ เป็นส่วนหนึ่งของ “การรุกรานด้วยซอฟต์พาวเวอร์” (soft power invasion) ที่มุ่งทำลายอัตลักษณ์ของรัสเซียจากภายใน

ในเชิงทฤษฎีอัตลักษณ์ (Identity Politics) และวาทกรรมของเออร์เนสโต้ ลาคลาวและชองทัล มูฟเฟ (Ernesto Laclau & Chantal Mouffe) ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญในสาย post-Marxist ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการวิเคราะห์การเมืองแบบวาทกรรม โดยเฉพาะในประเด็นอัตลักษณ์ ความขัดแย้ง และอำนาจของรัฐ 
พวกเขาปฏิเสธแนวคิดที่มองวาทกรรมเป็นเพียงการใช้ภาษาหรือการสื่อสารทั่วไป แต่เสนอว่า “วาทกรรมคือโครงสร้างของความหมาย” ที่มีผลต่อการจัดระเบียบโลกความจริง (social reality) โดยวาทกรรมคือกลไกที่ สร้างความจริง มากกว่าที่จะสะท้อนความจริง การผลิตอัตลักษณ์ของชาติรัสเซียยุคปูตินอาศัยการสร้าง “คู่ตรงข้าม” อย่างเข้มข้น โดย“เรา” คือประชาชนรัสเซียที่ยึดมั่นในคุณค่าดั้งเดิมของชาติ ศาสนา ครอบครัว ในขณะที่ “พวกเขา” คือกลุ่มเคลื่อนไหว LGBT, นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน, ตะวันตก และ NGO ต่างชาติ ซึ่งการกำหนดว่าใคร “ไม่ใช่พวกเรา” คือกลไกสำคัญในการรวมพลังชาติผ่านศัตรูร่วม ซึ่งในกรณีนี้ LGBT ถูกทำให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการคุกคามความมั่นคงทางวัฒนธรรมทั้งในด้านศีลธรรม ครอบครัว และอธิปไตย

เมื่อเราพิจารณา “LGBT ในฐานะศัตรูที่ผลิตได้” ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นร่วมสมัยที่สำคัญในรัฐศาสตร์เชิงวิพากษ์และทฤษฎีอำนาจ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาผ่านแนวคิดของมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) จิออจิโอ อากัมเบน (Giorgio Agamben) และฌาคส์ เดอริดา (Jacques Derrida) ที่มองว่ารัฐสามารถ “ผลิตความจริง” และ “กำหนดศัตรู” เพื่อควบคุมสังคมได้ เราพบว่า รัฐรัสเซียได้ใช้ประเด็น LGBT มาจัดระเบียบทางศีลธรรม (Moral Ordering of Society) ของสังคม รัฐชาติในยุคหลังสมัยใหม่โดยเฉพาะรัฐที่มีแนวโน้มอำนาจนิยมแบบอนุรักษนิยม มักใช้อำนาจทางวาทกรรมในการกำหนดขอบเขตของ "ศีลธรรมที่ถูกต้อง" ซึ่งเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ชาติ เช่น ศีลธรรมแห่งครอบครัว (Familial Morality) ศาสนาออร์โธดอกซ์ และเพศตามกำเนิดและบทบาททางเพศที่ชัดเจน กลุ่ม LGBT จึงถูกจัดให้อยู่นอกกรอบนี้และถูกใช้เป็น “คนอื่น” (Other) ที่รัฐสามารถจัดความหมายว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงทางวัฒนธรรมและจริยธรรม เช่นเดียวกับการที่รัฐเคยจัด “กลุ่มศัตรูของชนชั้น” หรือ “กลุ่มแปลกแยกทางอุดมการณ์” ในยุคสงครามเย็น วาทกรรมแบบนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงนโยบายทางเพศแต่เป็นการควบคุมความจริงในระดับอัตลักษณ์ของประชาชน

นอกจากนี้ LGBT ยังถูกกำหนดให้อยู่ในฐานะเป้าเบี่ยงเบนความสนใจจากวิกฤตเศรษฐกิจหรือสงครามซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่รัฐใช้อธิบายและควบคุมความไม่พอใจจากประชาชนคือ “การผลิตศัตรูภายใน” เพื่อเบี่ยงประเด็นจากความล้มเหลวของรัฐในด้านอื่น เช่น ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ ความสูญเสียในสงครามหรือความไม่พอใจของสาธารณะในบริบทการเมืองระหว่างประเทศ ในกรณีรัสเซียตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.2022 เป็นต้นมา กลุ่ม LGBT ถูกนำเสนอผ่านสื่อรัฐในฐานะสัญลักษณ์ของความเสื่อมทรามที่รุกรานจากตะวันตก และเป็น “เป้าหมายที่ง่าย” ต่อการโจมตีได้โดยไม่ต้องเผชิญแรงต้านจากผู้มีอำนาจหรือกลุ่มทุน แนวทางนี้คล้ายกับกลไกของ “แพะรับบาป” (scapegoating) ที่ใช้ในระบอบอำนาจนิยมหลายแห่ง เช่น การต่อต้านยิวของเยอรมนียุคนาซี 

การสร้างศัตรูภายในยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรวมศูนย์อำนาจให้กับวลาดิมีร์ ปูตินผู้นำ ลดทอนการถ่วงดุลจากฝ่ายค้านหรือภาคประชาสังคม รวมถึงกำหนดกรอบของ “ความรักชาติ” ให้หมายถึง “การปกป้องค่านิยมต่อต้าน LGBT” ผู้นำสามารถ “ผูกขาดคุณค่าทางศีลธรรม” ได้ภายใต้กรอบว่าเป็น “ผู้พิทักษ์ชาติจากภัยเสื่อมทราม” วาทกรรมนี้ยังส่งเสริมการสนับสนุนจากกลุ่มอนุรักษนิยม ศาสนา และชนชั้นแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโดยให้ความรู้สึกมีส่วนร่วมกับการปกป้องชาติ โดยไม่ต้องเข้าใจนโยบายเศรษฐกิจหรือการเมืองระหว่างประเทศ

เมื่อเราพิจารณาในระดับนานาชาติ รัสเซียไม่ได้เป็นรัฐเดียวที่ใช้วาทกรรมต่อต้าน LGBT เพื่อยืนยัน “อัตลักษณ์ของรัฐ” หรือ “ปกป้องศีลธรรม” ยังมีอีกหลายประเทศที่ใช้วาทกรรมการต่อต้าน LGBT ยกตัวอย่างเช่นฮังการี ภายใต้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บาน ฮังการีได้ผ่านกฎหมายห้ามเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ LGBT ในสื่อที่เด็กเข้าถึงได้ในปี ค.ศ. 2021 วาทกรรมเน้นว่า LGBT เป็นภัยคุกคามต่อครอบครัวแบบดั้งเดิมและค่านิยมของชาติ รัฐบาลออร์บานยังอ้างว่า ยุโรปตะวันตกพยายาม “บังคับ” ค่านิยมเสรีนิยมเข้าสู่ประเทศยุโรปตะวันออก ในขณะที่อิหร่าน การมีเพศสัมพันธ์เพศเดียวกันยังคงผิดกฎหมายและมีโทษถึงขั้นประหารชีวิต กลุ่ม LGBT ต้องดำรงชีวิตใน “พื้นที่เงา” โดยไม่มีการคุ้มครองจากรัฐ และถูกกีดกันจากการศึกษา การทำงาน และบริการสาธารณะ รัฐมักใช้ศาสนาและกฎหมายชารีอะห์เป็นเครื่องมือในการควบคุมอัตลักษณ์และศีลธรรม เมื่อเปรียบเทียบกับรัสเซีย รัสเซียตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างฮังการี (แนวอำนาจนิยมแบบเลือกตั้ง) และอิหร่าน (รัฐศาสนา) รัฐใช้ “ศีลธรรมรัสเซียดั้งเดิม” เป็นกรอบการจัดระเบียบทางอุดมการณ์ โดยนำเสนอ LGBT เป็นภัยต่ออารยธรรมสลาฟ-ออร์โธดอกซ์ และ “ภัยจากตะวันตก”

ดังนั้นวาทกรรมต่อต้าน LGBT ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ระดับสัญลักษณ์ทางการเมือง แต่มีผลกระทบที่ชัดเจนต่อการดำรงชีวิต กฎหมาย “ต่อต้านโฆษณา LGBT” (ในปี ค.ศ. 2013 และขยายในปี ค.ศ. 2022) ทำให้กิจกรรมทางวัฒนธรรม การให้ข้อมูล และการแสดงออกทางอัตลักษณ์ถูกตีความว่า “ผิดกฎหมาย” ปี ค.ศ. 2023-2024 กลุ่ม LGBT ถูกจัดเป็น “องค์กรสุดโต่ง” ส่งผลให้องค์กรช่วยเหลือและพื้นที่ปลอดภัยต้องปิดตัว มีรายงานว่ากลุ่ม LGBT ถูกตำรวจตรวจสอบอย่างเข้มข้นในโรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถานที่ทำงาน กลุ่มอนุรักษนิยมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐมักใช้ความรุนแรงกับกลุ่ม LGBT โดยไม่มีการลงโทษทางกฎหมายพื้นที่ออนไลน์ที่กลุ่ม LGBT เคยใช้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือช่วยเหลือกัน กำลังถูกตรวจสอบและแบนอย่างเป็นระบบ

องค์กรสิทธิมนุษยชน อย่างเช่น Human Rights Watch และ Amnesty International ได้ออกแถลงการณ์ประณามรัสเซียหลายครั้งว่า “ล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน” มีการรวบรวมข้อมูลและจัดทำรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของ LGBT ในรัสเซีย ซึ่งถูกใช้ในการนำเสนอในเวทีสหประชาชาติ ในขณะที่ประชาคมระหว่างประเทศ สหภาพยุโรป (EU) ได้แสดงท่าทีประณามและกำหนดมาตรการจำกัดความร่วมมือทางวัฒนธรรมบางด้าน UN Human Rights Council ตั้งข้อสังเกตว่า รัสเซียมีแนวโน้มละเมิดหลักการ “non-discrimination” ตามพันธกรณีของกติการะหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ประเทศพันธมิตรของรัสเซียบางแห่ง เช่น เบลารุส, อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย กลับสนับสนุนท่าทีดังกล่าวของรัสเซีย โดยอ้างเรื่อง “อธิปไตยทางวัฒนธรรม”

บทสรุป ในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านของระเบียบโลก รัสเซียได้ใช้ LGBT ไม่เพียงในฐานะกลุ่มประชากร แต่ในฐานะ “วาทกรรมทางการเมือง” ที่สามารถจัดระเบียบอุดมการณ์ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชน ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับโลกภายนอก ภายใต้ยุทธศาสตร์ของอำนาจแบบอนุรักษนิยม รัฐบาลรัสเซียได้ลดทอน “ความหลากหลายทางอัตลักษณ์” ให้กลายเป็น “ภัยความมั่นคงของชาติ” ผ่านการสร้างศัตรูภายใน การควบคุมทางศีลธรรม และการประกาศใช้กฎหมายที่มีลักษณะกดทับพื้นที่ของกลุ่มเพศหลากหลาย กลไกของรัฐอาศัย วาทกรรมความมั่นคง (securitization discourse) โดยผูกโยง LGBT เข้ากับแนวคิด “ภัยจากตะวันตก”, “ภัยต่อเด็ก”, และ “สงครามอารยธรรม” เพื่อทำให้ประชาชนยอมรับมาตรการที่จำกัดสิทธิเสรีภาพได้ภายใต้ข้ออ้างเพื่อความมั่นคงและศีลธรรมของชาติ การสร้าง “เรา–พวกเขา” (us–them) ดังกล่าวยังทำหน้าที่ผลิต “ศัตรูที่จัดการได้” (manageable enemy) เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ การคว่ำบาตร หรือภาวะสงคราม อย่างไรก็ตามแนวโน้มในอนาคตชี้ให้เห็นว่า การเมืองอัตลักษณ์ (identity politics) กำลังกลายเป็นสนามต่อสู้สำคัญในการกำหนดทิศทางของระเบียบโลกใหม่ รัฐต่าง ๆ โดยเฉพาะอำนาจที่ต่อต้านเสรีนิยมตะวันตกอาจหันมาใช้วาทกรรมแบบเดียวกันนี้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรูปแบบอำนาจที่รวมศูนย์และต่อต้านสิทธิมนุษยชน ในบริบทนี้ LGBT ไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มเปราะบางทางสังคม แต่กลายเป็นจุดตัดของอุดมการณ์ อำนาจ และภูมิรัฐศาสตร์ ที่ควรถูกทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและรอบด้าน

ททท. ปรับกลยุทธ์รุกตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกล ปักหมุด 15 ตลาดหลัก ดันรายได้ปีนี้สู่เป้าหมาย 2.23 ล้านล้าน

(24 เม.ย.68) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผย ตั้งแต่ต้นปี 2568 จนถึงปัจจุบันนักท่องเที่ยวตลาดระยะไกลเติบโตโดดเด่น พร้อมเร่งเครื่องกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพเดินทางสู่ประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาล เน้นเจาะกลุ่ม Health & Wellness, Yacht, Sport and Entertainment ผลักดันรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติสู่เป้าหมาย 2.23 ล้านล้านบาทในปี 2568

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. เปิดเผยว่า จากสถิติสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 21 เมษายน 2568 นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยแล้ว 11,350,463 คน ซึ่งพบว่าตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกลมีแนวโน้มการเติบโตแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 ทั้งตลาดนักท่องเที่ยวหลักและตลาดศักยภาพใหม่ อาทิ อิสราเอล 131,958 คน ( +97.43%) อิตาลี 114,808 คน (+28.6%) ฝรั่งเศส 364,262 คน (+22.65%) สหราชอาณาจักร 423,324 คน (+20.61%) เนเธอร์แลนด์ 94,074 คน (+17.88%) สเปน 52,629 คน (+17.75%) ออสเตรเลีย 255,420 คน (+16.85%) รัสเซีย 839,463 (+15.41%) ซาอุดีอาระเบีย 43,356 คน (+15.26%) เยอรมนี 407,378 คน (+13.14%) และสหรัฐอเมริกา 379,472 คน (+12.83%) 

โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนที่นั่งบนเครื่องบิน (Seat Capacity) เพิ่มขึ้นจากการดำเนินกลยุทธ์ Airline Focus ในการส่งเสริม ผลักดัน และร่วมมือกับสายการบินระหว่างประเทศให้เพิ่มความถี่เที่ยวบิน รวมถึงขยายเส้นทางบินใหม่ทั้งจากเมืองหลักและเมืองรองในต่างประเทศสู่จุดหมายปลายทางในประเทศไทย โดยหลายประเทศยุโรปเพิ่มเที่ยวบินตรงเข้าประเทศไทยในช่วงปลายปีที่แล้วจนถึงต้นปีที่ผ่านมา อาทิ สายการบิน Alitalia เส้นทางอิตาลี - กรุงเทพฯ สายการบิน Condor เส้นทางแฟรงก์เฟิร์ต – กรุงเทพฯ และภูเก็ต สายการบิน Evelop Airline S.L. เส้นทางมาดริด – กรุงเทพฯ สายการบิน Air Celedonie International เส้นทางปารีส – กรุงเทพฯ และการเพิ่มความถี่เที่ยวบิน อาทิ สายการบิน Iberojet เส้นทางมาดริด-กรุงเทพฯ สายการบิน Norse Atlantic Airways เส้นทางลอนดอน (แกตวิก) – กรุงเทพฯ เป็นต้น ซึ่งแนวโน้มยอด Forward Booking การจองบัตรโดยสารเครื่องบินล่วงหน้าในการเดินทางเข้าประเทศไทยช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน ของกลุ่มตลาดระยะไกลยังมีแนวโน้มสดใส โดยเฉพาะตลาดสหราชอาณาจักร  อิตาลี สเปน อิสราเอล รัสเซีย

ทั้งนี้ ททท. ปรับกลยุทธ์เร่งผลักดันนักท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง และเป็นตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพ เพื่อมาชดเชยนักท่องเที่ยวตลาดจีนที่มีแนวโน้มหดตัวลงในปีนี้ โดยเน้นการเพิ่มจำนวนของตลาด Quality Leisure, Family และ Incentive ในตลาดระยะไกล 15 ตลาด  ได้แก่ ยุโรป ( อังกฤษ, เยอรมนี, อิตาลี, อิสราเอล, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, นอร์เวย์, ออสเตรีย), อเมริกา (อาร์เจนตินา, บราซิล), โอเชียเนีย (ออสเตรเลีย), ตะวันออกกลาง (ซาอุดีอาระเบีย คูเวต) และแอฟริกา (แอฟริกาใต้) และตลาดระยะใกล้ 9 ตลาด ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย อินเดีย ศรีลังกา โดยเร่งการขยายการเติบโตของตลาดกลุ่มเป้าหมาย High Value ซึ่งมีการใช้จ่ายสูง อาทิ กลุ่ม Health & Wellness อาทิ นวดแผนไทย สปา โยคะ อาหารสุขภาพ และ Wellness Program ประเภทต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรป ตะวันออกกลาง อาเซียน และจีน กลุ่ม Yacht/ Super Yacht สำหรับตลาดยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชียแปซิฟิก กลุ่ม Sport and Entertainment โดยมีกีฬาที่จะส่งเสริม อาทิ กอล์ฟ มาราธอน วิ่งเทรล มวยไทย ดำน้ำ จักรยาน ในตลาดรัสเซีย ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และกลุ่ม Digital Nomad และ Workation ซึ่งประเทศไทยมีหลายเมืองที่นักท่องเที่ยวให้ความนิยม อาทิ เชียงใหม่ กทม. ภูเก็ต เกาะสมุย หัวหิน และ กระบี่

นอกจากนี้ ททท.จะใช้จุดแข็งทางด้านวัฒนธรรม และซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในการจัดกิจกรรม เทศกาล และสปอร์ตอีเวนต์ต่าง ๆ ภายใต้ Grand Festivity ในการดึงดูดให้เกิดการเดินทางมายังประเทศไทยและกระจายตัวไปยังจังหวัดหลักและรองได้ตลอดทั้งปี โดยภายหลังจากเทศกาลสงกรานต์ซึ่งล่าสุดประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีแล้ว จะจัดกิจกรรมอีเวนต์อย่างต่อเนื่องภายใต้ธีม Thailand Summer Festivals อาทิ ดนตรี (EDC, Wonderfruit, Big Mountain, ปลาร้าหมอลำ) กีฬา (UTMB, Regatta, WGP#1, FIVB, SEA Games) ศิลปะ (Na Satta, International Fireworks Festival) และวัฒนธรรมและอาหาร (Amazing Thailand Grand Taste) พร้อมสื่อสาร 360 องศาผ่านช่องทางออนไลน์-ออฟไลน์ สื่อ Social และ Mainstream Media ต่อเนื่องตลอดทั้งปีให้ประเทศไทยเป็น Top of Mind ของนักท่องเที่ยว โดยเชื่อมั่นว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศไทย 39 ล้านคน สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.23 ล้านล้านบาทในปี 2568

‘สี จิ้นผิง’ ย้ำจีนเดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจกทุกชนิด ภายในปี 2578 แม้เศรษฐกิจชะลอตัว-ไร้สหรัฐฯ ร่วมหารือในเวทีเจรจาสภาพภูมิอากาศ

(24 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนให้คำมั่นต่อผู้นำโลกว่า จีนจะเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทศวรรษหน้า โดยจะประกาศเป้าหมายใหม่ภายในปี 2578 ที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนเศรษฐกิจและทุกชนิดของก๊าซเรือนกระจก โดยแผนดังกล่าวเปิดเผยในการประชุมออนไลน์ของผู้นำโลก ซึ่งจัดโดยองค์การสหประชาชาติร่วมกับบราซิล เมื่อวันที่ 23 เมษายน โดยไม่มีสหรัฐอเมริกาเข้าร่วม

รายงานจากสื่อทางการจีน (CCTV) ระบุว่า จีนมีแผนจัดทำแผนลดการปล่อยก๊าซแห่งชาติฉบับใหม่เพื่อเสนอในการประชุม COP30 เดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะรวมถึงการควบคุมก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่น ๆ เช่น มีเทนและไนตรัสออกไซด์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 17% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ

แม้เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวและได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีระหว่างประเทศ แต่การที่ประธานาธิบดีสีออกมายืนยันแผนลดก๊าซในการประชุมระดับโลกครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณว่าจีนยังคงยึดมั่นในพันธสัญญาด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้ข้อตกลงปารีส แม้ขาดการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ที่ถอนตัวออกจากเวทีดังกล่าว

ทั้งนี้ จีนยังคงเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก โดยในปี 2566 การปล่อยก๊าซของจีนคิดเป็นสัดส่วนถึงราว 30% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมดทั่วโลก ทำให้ความเคลื่อนไหวล่าสุดของจีนเป็นที่จับตามองจากประชาคมโลกในการขับเคลื่อนเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

เครื่องบินลำเลียง DHC6-400 ตกหน้ารีสอร์ทชะอำ เสียชีวิต 5 ราย เจ็บ 1 ราย เป็นเครื่องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(25 เม.ย. 2568) เวลาประมาณ 08.15 น. ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 เพชรบุรี ได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุเครื่องบินเล็กตกในทะเล บริเวณหน้ารีสอร์ทแห่งหนึ่งในพื้นที่ชะอำ จ.เพชรบุรี เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ชะอำ และทีมกู้ชีพได้รุดเข้าตรวจสอบทันที

จากการตรวจสอบเบื้องต้น ทีมกู้ภัยรายงานว่าพบผู้เสียชีวิต 5 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย ซึ่งได้นำส่งโรงพยาบาลหัวหินแล้ว ขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างดำเนินการกู้ร่างผู้เสียชีวิตและตรวจสอบสาเหตุของอุบัติเหตุ

สำหรับเครื่องบินที่ประสบเหตุดังกล่าว เป็นแบบ DHC6-400 Twin Otter ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเริ่มเข้าประจำการตั้งแต่ปี 2563 โดยเป็นเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีที่สามารถใช้งานได้หลากหลายภารกิจ รวมถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางอากาศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top