Saturday, 17 May 2025
NewsFeed

สหรัฐประณามไทยส่ง 40 อุยกูร์กลับจีน แต่ตัวเองก็ไล่ตะเพิดผู้อพยพไม่ต่างกัน

(28 ก.พ. 68) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจต่อการที่รัฐบาลไทยส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์อย่างน้อย 40 คนกลับไปยังจีนเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวทำให้ชาวอุยกูร์ต้องกลับไปเผชิญสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยไม่มีหลักประกันในการได้รับกระบวนการทางกฎหมายที่เหมาะสม พร้อมย้ำว่ากลุ่มชาติพันธุ์นี้เคยถูกกดขี่ ข่มเหง บังคับใช้แรงงาน และทรมานภายใต้การปกครองของจีน

“ในฐานะพันธมิตรที่ยาวนานของไทย เรารู้สึกตกใจกับเหตุการณ์นี้ ซึ่งอาจขัดแย้งกับพันธกรณีของไทยตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน รวมถึงข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองบุคคลจากการบังคับให้หายสาบสูญ” แถลงการณ์ระบุ

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังชี้ว่า การส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีนขัดกับแนวทางดั้งเดิมของไทยที่ให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองกลุ่มผู้ลี้ภัยที่อยู่ในภาวะเปราะบาง ทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทย และประเทศอื่น ๆ ที่มีชาวอุยกูร์ลี้ภัยอยู่ หลีกเลี่ยงการส่งพวกเขากลับไปยังจีน

สหรัฐฯ ย้ำข้อกล่าวหาต่อจีนว่า ทางการปักกิ่งภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในซินเจียง พร้อมเรียกร้องให้มีการติดตามตรวจสอบอย่างเข้มงวดเกี่ยวกับสวัสดิภาพของผู้ที่ถูกส่งตัวกลับ และให้รัฐบาลไทยแสดงความชัดเจนในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของชาวอุยกูร์ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่สหรัฐอเมริกาออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของไทย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่านโยบายต่อต้านผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ขัดแย้งต่อหลักสิทธิมนุษยชนเช่นกัน 

เจ้าของเรือทิ้งขยะลงแม่น้ำเจ้าพระยา อ้างเป็นฝีมือพนักงานชั่วคราว ด้าน ‘กรมเจ้าท่า’ เตรียมล้อมคอกเข้าแจ้งความพร้อมพักใบขับขี่เรือ

กรมเจ้าท่า เร่ง !! ตรวจสอบกรณีเรือภัตตาคารปรากฏคลิปทิ้งขยะลงแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะที่ผู้บริหารเรือรอยัลกาแลคซี่ครูซ แถลงขอโทษพนักงานเทขยะทิ้งลงในแม่น้ำเจ้าพระยา อ้างเป็นพนักงานชั่วคราวทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ได้ยุติสัญญาจ้างพนักงานรายวันที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว 

(28 ก.พ. 68) จากกรณีผู้ใช้ Facebook Carla Porter โพสต์คลิปวิดีโอจากเจ้าของคลิป Mean Vanvarang โดยเนื้อหาในคลิปเป็นเรือภัตตาคารชื่อ Royal Galaxy Cruise ได้ทิ้งขยะลงแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับเรือฯ ลำดังกล่าว เลขทะเบียน 660001070 ชื่อเรือ รอยัล กาแล็คซี่ ครูซ ประเภทเรือโดยสารและภัตตาคาร มีบริษัท แฮปปี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เทรด จำกัด เป็นเจ้าของเรือ 

นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า ได้สั่งการให้สำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ กรมเจ้าท่า รวบรวมข้อมูลดังกล่าว เพื่อเข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อนายเรือและผู้เกี่ยวข้อง ต่อ สน.ปากคลองสาน และได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเรือฯ ลำดังกล่าวร่วมกับกรุงเทพมหานคร และตำรวจน้ำ โดยจุดที่เกิดเหตุอยู่ในลำแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสะพานกรุงเทพ ซึ่งเกิดเหตุเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ช่วงเวลา 19.00 น. เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนตามมาตรา 119 พ.ร.บ. การเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 (ฉบับที่ 14 พ.ศ.2535) ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

ทั้งนี้ กรมเจ้าท่า จะเร่งตั้งกรรมการและสอบสวนการปฏิบัติหน้าที่ของนายเรือเพื่อพิจารณาพักใช้ใบประกาศนียบัตรนายเรือ (ใบขับขี่เรือ) ให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน ในส่วนมาตรการอื่นๆ กรมเจ้าท่าจะดำเนินการ จัดประชุม สมาคมเรือไทย ผู้ประกอบการเรือโดยสารในลำแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ตระหนักถึงการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมทางน้ำ ตลอดจนการดูแลความปลอดภัยในการโดยสารทางเรือ และหากประชาชนหรือผู้โดยสารทางเรือพบเห็นเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยทางน้ำ หรือการทิ้งสิ่งของต่างๆ ลงไปในลำแม่น้ำ ลำคลอง หรือทะเล สามารถโทรแจ้ง สายด่วนกรมเจ้าท่า 1199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวเน็ตจำนวนมากที่เห็นคลิปวิดีโอแล้วรู้สึกไม่พอใจอย่างมาก โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ‘ทนายวนิดา แซ่ก๊วย’ ได้โพสต์ข้อความว่า พวกเราต้องออกมาเพื่อให้บริษัท Royal Galaxy Cruise  มีการวางโทษหรือคาดโทษให้กับพนักงานกลุ่มนี้โดยนำเงินหักจากเงินเดือนและเพื่อนำเงินเดือนของที่หักมานั้นเพื่อไปเป็นประโยชน์กับสาธารณะในการทำสิ่งแวดล้อมในองค์กรใดองค์กรหนึ่งหรือสภาทนายความที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมได้นะคะเพราะสภาทนายความสำนักงานสิ่งแวดล้อม ทำเพื่อมวลชนและทำเพื่อประชาชนค่ะและให้ช่วยลงข่าวถึงการรับรู้ของประชาชนว่าบริษัท Royal Galaxy Cruise ได้ออกมาขอโทษและทำอะไรที่ดีสำหรับสิ่งแวดล้อมด้วยนะคะช่วยกันแชร์เยอะๆ นะคะเพื่อที่จะให้สังคมประเทศไทยน่าอยู่หากผู้ประกอบการมีการรักษาสิ่งแวดล้อมพวกเรายินดีที่จะสนับสนุนแต่องค์กรใดที่ยังไม่รักษาสิ่งแวดล้อม ต้องออกมาขอโทษและทำในสิ่งดีดีให้กับสิ่งแวดล้อม

ล่าสุด ทางด้านเรือรอยัล กาแลคซี่ ครูช (Royal Galaxy Cruise) ได้ออกแถลงการณ์ ว่า ในนามของ เรือรอยัลกาแลคซี่ครูซ เราขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางผู้บริหารได้รับทราบและไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเรื่องนี้และวางมาตรการแก้ไขทันที

จากการตรวจสอบ พบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากพนักงานลูกจ้างชั่วคราว ที่หมุนเวียนกันเข้าทำงาน ยังไม่ได้รับการอบรมเรื่องขั้นตอนการจัดเก็บขยะบนเรือหลังเลิกงาน ได้กระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในส่วนพนักงานประจำทุกคนจะได้รับการอบรมเรื่องความสะอาดและกระบวนการกำจัดขยะ อย่างถูกต้องอยู่เสมอมา

มาตรการแก้ไขและป้องกัน

- ยุติสัญญาจ้างพนักงานรายวันที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
- กำชับพนักงานทุกคนให้ปฏิบัติตามมาตรฐานความสะอาดและสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด
- เพิ่มการตรวจสอบและอบรมให้เข้มข้นยิ่งขึ้น

เราขออภัยอีกครั้ง และขอยืนยันว่าจะปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นเพื่อรักษาคุณภาพการบริการและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และจะไม่ให้ปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นอีก

‘Amnesty’ ทำตัวเป็นนักบุญ แต่ตรรกะพังยับ ถามกลับหากไม่ส่ง ‘อุยกูร์’ กลับมาตุภูมิ จะให้ส่งไปไหน?

อุยกูร์กำเนิดที่ไหน? และตรรกะบิดเบือนของ Amnesty ที่พยายามเปลี่ยนข้อเท็จจริงให้เป็นอาชญากรรม

ถ้าพูดกันตามประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ชาวอุยกูร์ไม่ใช่ชนเผ่าหลงทาง พวกเขามีบ้าน มีถิ่นกำเนิด และที่สำคัญคือ บ้านของพวกเขาอยู่ในจีน ไม่ใช่อเมริกา ไม่ใช่ยุโรป และไม่ใช่ 'แดนศิวิไลซ์แห่งสิทธิมนุษยชน' ที่พวก NGO ตะวันตกชอบปั้นแต่งขึ้นมา

อุยกูร์: ชาติพันธุ์ที่มีรากฝังแน่นในดินแดนจีน

ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ อุยกูร์เป็นชนเผ่าที่ตั้งรกรากอยู่ในซินเจียงมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดินแดนนี้เป็นศูนย์กลางของเส้นทางสายไหม เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างอารยธรรมจีน เปอร์เซีย อาหรับ และยุโรปตะวันออก อุยกูร์มีภาษา วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของตัวเองก็จริง แต่ดินแดนที่พวกเขาอาศัยอยู่ก็เป็น ส่วนหนึ่งของจีนมาตลอด ตั้งแต่ราชวงศ์ถัง ราชวงศ์หยวน ราชวงศ์หมิง มาจนถึงยุคราชวงศ์ชิง

ดังนั้น ถ้าถามว่าอุยกูร์กำเนิดที่ไหน? คำตอบชัดเจน: ที่จีน

Amnesty กับตรรกะบิดเบือนเรื่องการส่งตัวอุยกูร์กลับจีน

เมื่อใดก็ตามที่มีการส่งตัวอุยกูร์กลับจีน Amnesty และ NGO ตะวันตกจะโวยวายทันทีว่ามันคือ 'การละเมิดสิทธิมนุษยชน' หรือแม้กระทั่ง 'การส่งไปตาย' พูดราวกับว่าจีนเป็นแดนมิคสัญญีที่ไม่มีใครควรกลับไปเหยียบอีก แต่ ถ้าชาวอุยกูร์ไม่กลับจีน แล้วจะให้พวกเขาไปไหน?

ไปยุโรป? อย่าหวังเลย ประเทศตะวันตกที่ชอบตะโกนเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่เคยเปิดประตูต้อนรับผู้อพยพอุยกูร์เป็นจำนวนมาก

ไปอเมริกา? เผลอ ๆ จะถูกปฏิเสธตั้งแต่ด่านตรวจคนเข้าเมือง

หรือ Amnesty อยากให้อุยกูร์ตั้งประเทศใหม่? ถ้าคิดแบบนี้ก็พูดมาตรง ๆ อย่าอ้อมค้อม เพราะนี่คือแนวคิดแบ่งแยกดินแดนโดยตรง

การส่งผู้ร้ายข้ามแดน: หลักการสากลที่ Amnesty แกล้งทำเป็นมองไม่เห็น

เรื่องที่ตลกร้ายคือ เมื่อเป็นเรื่องของอาชญากรจากประเทศอื่น ประเทศตะวันตกก็รีบส่งตัวกลับประเทศต้นทางทันทีโดยไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อเป็นอุยกูร์ Amnesty กลับพยายามทำให้เป็นเรื่องใหญ่ ทั้งที่การส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นหลักการสากลที่ทุกประเทศปฏิบัติตาม

ถ้าไม่ส่งกลับจีน แล้ว Amnesty จะให้ไปไหน? หรือพวกเขาต้องการให้คนเหล่านี้ลอยนวลไปอาศัยอยู่ที่อื่นโดยไม่มีการตรวจสอบ ทั้งที่บางคนอาจมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มหัวรุนแรง เช่น ETIM (East Turkestan Islamic Movement) ที่ถูกขึ้นบัญชีเป็นองค์กรก่อการร้ายจากหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ เอง

วัฒนธรรมอุยกูร์อยู่ในจีน: สัจธรรมที่ Amnesty ไม่อยากรับรู้ อุยกูร์ไม่ใช่ชนเผ่าไร้ราก พวกเขามีดินแดน มีบ้าน และบ้านของพวกเขาก็คือ จีน ศิลปะ อาหาร ดนตรี และการค้าขายของอุยกูร์เป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมจีนมาหลายร้อยปี ลองไปเดินตลาดในคัชการ์ (Kashgar) แล้วจะเห็นว่าอุยกูร์ไม่ได้เป็นแค่กลุ่มชนที่แยกตัวจากสังคมจีน แต่พวกเขาคือ หนึ่งในสีสันของอารยธรรมจีน

ถ้าจีนเป็นบ้านของอุยกูร์ แล้วทำไมการส่งตัวกลับถึงเป็นปัญหา? นี่คือคำถามที่ Amnesty ไม่มีวันตอบได้ เพราะพวกเขาไม่ได้สนใจสิทธิมนุษยชนจริง ๆ พวกเขาสนแค่การใช้ 'สิทธิ' เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อโจมตีจีน

บทสรุป: Amnesty ทำตัวเป็นนักบุญ แต่ตรรกะพังยับ
สุดท้ายแล้ว ประเด็นเรื่องอุยกูร์ไม่ใช่เรื่องของ 'การละเมิดสิทธิ' อย่างที่ Amnesty พยายามยัดเยียดให้โลกเชื่อ แต่เป็นเรื่องของ การบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อแทรกแซงกิจการภายในของจีน

ชาวอุยกูร์เกิดที่จีน โตที่จีน วัฒนธรรมของพวกเขาอยู่ในจีน และเมื่อพวกเขาถูกส่งตัวกลับบ้านเกิดของพวกเขาเอง Amnesty กลับโวยวายเหมือนเป็นเรื่องผิดมหันต์ เอาให้ชัดก่อนว่าคุณกำลังปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือกำลังสร้างความแตกแยกกันแน่?

สรุปภาพรวมเศรษฐกิจไทย โอกาสและความท้าทายของ SME

เอกสาร World Bank Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ได้ทำการสรุปภาพรวมเศรษฐกิจไทยฉบับเดือนกุมภาพันธ์ โดยมีมุมมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2025 คาดว่าจะเติบโต 2.6% โดยได้รับแรงหนุนจาก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การส่งออกที่ฟื้นตัว และการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ภาค SME ยังคงเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ 

โดยหัวข้อหลักๆ ในเอกสารฉบับนี้ประกอบไปด้วยหัวข้อดังต่อไปนี้ค่ะ 

เรื่อง : อรวดี ศิริผดุงธรรม, IP

รมว.ต่างประเทศสหรัฐอ่อนซ้อม แก้ปัญหาอุยกูร์ไม่ได้ สะท้อนอาเซียนเมินสหรัฐฯ หันหา 'จีน-รัสเซีย' มากขึ้น

(28 ก.พ. 68) การส่งตัวชาวมุสลิมอุยกูร์จากไทยกลับสู่จีน สะท้อนให้เห็นว่ารัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐคนใหม่ 'มาร์โก รูบิโอ' ยังอ่อนประสบการณ์ สะท้อนถึงความล้มเหลวในความพยายามของ มาร์โค รูบิโอ ที่จะรักษาความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กับไทย

ย้อนไปเมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระหว่างการให้การต่อสภาคองเกรสก่อนเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ รูบิโอเน้นย้ำถึงความสำคัญของการล็อบบี้รัฐบาลไทยไม่ให้ส่งตัวอุยกูร์กลับจีน โดยระบุว่า “ประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ และเป็นพันธมิตรทางประวัติศาสตร์ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด” อย่างไรก็ตาม เพียงหนึ่งเดือนหลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่ง รัฐบาลไทยก็ตัดสินใจดำเนินการสวนทางกับความพยายามของวอชิงตัน

รูบิโอออกแถลงการณ์ทันทีหลังการส่งตัวเกิดขึ้น โดยระบุว่า “เราขอประณามอย่างรุนแรงที่สุดต่อการที่ไทยบังคับส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีน” พร้อมเตือนว่าไทยอาจละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานของสหประชาชาติ เขายังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยตรวจสอบว่าจีนปกป้องสิทธิมนุษยชนของชาวอุยกูร์หรือไม่

ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ และชาติตะวันตกแสดงความไม่พอใจ สถานเอกอัครราชทูตจีนในไทยออกแถลงการณ์ตอบโต้ โดยยืนยันว่าการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีนนั้นเป็นไปตามกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมชี้ว่า “บุคคลบางส่วนที่ถูกส่งกลับมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้าย”

ข้อกล่าวหาที่ว่ากลุ่มอุยกูร์บางส่วน มีความเกี่ยวข้องกับ ‘ขบวนการอิสลามเตอร์กิสถานตะวันออก’ (ETIM) ซึ่งเป็นองค์กรก่อการร้ายไม่ได้กล่าวหาแบบไร้หลักฐาน เพราะตามรายงานของ Reuters เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ระบุว่า เจ้าหน้าที่จีนเคยเตือนว่าชาวอุยกูร์ที่หลบหนีผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเป้าหมายจะนำแนวคิดญิฮาดกลับไปยังจีน โดยมีบางส่วนเดินทางไปเข้าร่วมรบในซีเรียกับกลุ่ม Turkistan Islamic Party (TIP)

นอกจากรอยเตอร์ ช่วงที่ผ่านมามีสื่อตะวันตกเริ่มให้ความสนใจกับประเด็นนี้มากขึ้น เช่น The Economist รายงานว่า “Militant Uyghurs in Syria threaten the Chinese government” และ The Telegraph พาดหัวข่าวว่า “Uyghur fighters in Syria vow to come for China next” ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลของรัฐบาลจีนที่เพิ่มขึ้น

เหตุการณ์ล่าสุดนี้ถูกมองว่าเป็นสัญญาณว่าไทยเอนเอียงไปทางจีนมากขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ ในขณะที่สหรัฐฯ และสหประชาชาติแสดงความ 'เสียใจ' ต่อการกระทำของไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการทูตชี้ว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับดุลอำนาจระหว่างไทย-จีน-สหรัฐฯ

เป็นที่น่าสังเกตอีกว่า ในวันเดียวกับที่ไทยส่งตัวอุยกูร์ให้จีน ทางรัสเซียได้ส่ง เซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงไปหารือกับผู้นำอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งทั้งอินโดฯ และมาเลเซีย กำลังพยายามเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม  BRICS อย่างชัดเจนตลอดช่วงที่ผ่านมา สะท้อนว่าทั้งรัสเซีย-จีน ต่างกำลังขยายอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งคงต้องจับตากันว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐที่นำโดยรัฐมนตรีใหม่ถอดด้านอย่าง มาร์โก รูบิโอ จะแก้เกมนี้เช่นไร

‘พีทีที สเตชั่น’ ร่วมโครงการ 'หัวจ่ายเชื้อเพลิงมาตรฐาน' พร้อมผ่านการรับรองระดับสีเงิน 105 ปั๊ม มากที่สุดในประเทศ

พีทีที สเตชั่น ทุกสถานีทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ 'หัวจ่ายเชื้อเพลิงมาตรฐาน' ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นโครงการเสริมจากมาตรการทางกฎหมาย ผ่านการรับรองระดับสีเงิน 105 สถานี ถือเป็นแบรนด์สถานีบริการที่ได้รับการรับรองระดับสีเงินจำนวนมากที่สุด และมี พีทีที สเตชั่น ที่ผ่านการรับรองหัวจ่ายมาตรฐานแล้ว 2,167 สถานี ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการและรออนุมัติ พิสูจน์ความมุ่งมั่นในการส่งมอบสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสูงสุดให้กับผู้บริโภค

(28 ก.พ. 68) นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า โครงการ 'หัวจ่ายเชื้อเพลิงมาตรฐาน' เป็นการประสานความร่วมมือระหว่าง กรมการค้าภายใน ร่วมกับ บริษัทผู้ค้าน้ำมันทั้ง 10 บริษัท โดยให้สถานีที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องส่งรายงานผลการทดสอบน้ำมันของตน ให้กับกรมการค้าภายใน เดือนละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 6 เดือน  และหลังจากนั้นให้ส่งรายงานผลการทดสอบน้ำมันให้กรมเดือนละครั้ง ทุกเดือน หากสถานีใดดำเนินการได้ถูกต้อง ครบถ้วน จะได้การยกระดับป้ายสัญลักษณ์เป็นสีเงิน (Silver) และหากปฏิบัติตามเงื่อนไขถูกต้องจนครบ 2 ปี จะได้รับการยกระดับป้ายสัญลักษณ์เป็นสีทอง (Gold) ตามลำดับ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่ใช้บริการจากสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศว่าจะได้ปริมาณถูกต้องครบถ้วนอย่างแน่นอน ปัจจุบันนี้มีสถานีที่สมัครและเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 6,793 สถานี และได้รับการอนุมัติเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 5,788 สถานี และมีสถานีที่ได้รับป้ายสีเงินแล้วทั้งสิ้น 211 สถานี   

หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า การเข้าร่วม 'โครงการหัวจ่ายเชื้อเพลิงมาตรฐาน' ของกรมการค้าภายใน สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานและความตั้งใจของ OR ที่ให้ความสำคัญกับการรักษามาตรฐานการให้บริการของ พีทีที สเตชั่น มาอย่างต่อเนื่องให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น และเป็นตัวอย่างที่สำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความมุ่งมั่นของ OR ในการส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุด และตอกย้ำความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคว่าจะได้รับปริมาณน้ำมันเป็นไปตามมาตรฐานทุกหัวจ่ายตามที่กรมการค้าภายในกำหนด โดยปัจจุบัน สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ทุกแห่งทั่วประเทศจำนวน 2,340 สถานี ได้สมัครเข้าร่วมโครงการครบถ้วนทั้งหมด 100% แล้ว โดยมีสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ที่ได้รับการอนุมัติให้ผ่านการรับรองแล้ว 2,167 สถานี ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการและรออนุมัติ และยังมีสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ที่ได้รับการรับรองระดับสีเงิน ซึ่งเป็นสถานีบริการที่รักษามาตรฐานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือน จำนวน 105 แห่ง จากจำนวนสถานีบริการทุกแบรนด์ที่ได้รับการรับรองระดับเงินทั้งหมดทั่วประเทศ จำนวน 211 แห่ง ซึ่งถือเป็นแบรนด์สถานีบริการน้ำมันที่ได้รับมาตรฐานในระดับนี้จำนวนมากที่สุดในประเทศ และอยู่ระหว่างการมุ่งสู่การรับรองระดับสูงสุดคือระดับสีทองที่ต้องรักษามาตรฐานต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี อีกด้วย 

ทั้งนี้ OR มีหน่วยงานตรวจสอบมาตรฐานการให้บริการของสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ทั่วประเทศ (Mobile Unit) อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้บริโภคจะได้รับทั้งสินค้าและบริการที่ได้มาตรฐานสูงสุด และที่ผ่านมา OR ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยตรวจสอบหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น และนำส่งรายงานการตรวจสอบให้กองชั่งตวงวัด กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นประจำทุกเดือน และหากพบว่ามีค่าที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดจะปิดการจำหน่ายหัวจ่ายนั้น ๆ ทันที และประสานงานแจ้งเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัด เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ และให้คำรับรองมาตรวัดปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ก่อนที่จะเปิดจำหน่ายอีกครั้ง

‘ภูมิธรรม’ ตอกสหรัฐ-ชาติตะวันตก เคยเสนออุยกูร์ลี้ภัย แต่ถูกเมิน เพราะคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศตัวเอง ยันไทยไม่มีทางเลือก-ปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ วอนสื่อไทยบางราย อย่าโหมจนเป็นเรื่อง ไม่กังวลเรื่องก่อการร้าย

(28 ก.พ. 68) ที่กระทรวงกลาโหม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีข้อกังวล จะมีเหตุก่อการร้าย หลังจากส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน ว่า หากเราส่งชาวอุยกูร์แล้วได้รับอันตรายจนถึงแก่ชีวิต ก็เป็นเรื่องที่จะต้องขบคิดกัน แต่การดำเนินการครั้งนี้ เรามีหนังสือที่เป็นทางการจากจีนที่ควรแก่การเชื่อถือ ในขณะเดียวกันจีนมีสิทธิที่จะขอตัวชาวอุยกูร์ ที่ถูกควบคุมตัวในประเทศไทยมานานกว่า 11 ปี เป็นเรื่องที่ไม่สมควรเหตุเพราะเรา แก้ไขปัญหาที่ผ่านมาไม่ได้ ขณะเดียวกันเรื่องการส่งตัวไปประเทศที่ 3 เราดำเนินการมา 11 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้ที่ส่งไปตุรกีกว่าร้อยคนเราประสบความสำเร็จ แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีใครตอบรับเลย และตนก็ได้บอกกับชาติตะวันตกแล้วว่าหากเขารับไป ก็ไม่มีปัญหา แต่เขาก็ไม่รับ เพราะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเขา ดังนั้นเมื่อทางการจีนยืนยันว่าทั้งหมดเป็นพลเรือนของจีนที่มีเชื้อสายอุยกูร์ มีที่อยู่ชัดเจน จึงอยากขอตัวกลับไป เราจึงดำเนินการตามขั้นตอน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ชี้แจงกับประเทศตะวันตกหลายชาติ เช่น สหรัฐ ก็ได้พูดคุยกับตน ซึ่งก็ได้ย้ำไปว่า เราจะทำภายใต้อธิปไตยและกฎหมายของไทย คำนึงถึงหลักสากลและกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ให้เกิดความผิดพลาดในเรื่องนี้ รวมถึงคำนึงถึงกฎหมายที่จะไม่ส่งคนไปเสียชีวิต เรามีสถานะอยู่แค่นี้กักตัวเอาไว้ก็ทำผิดกฎหมาย เราไม่มีทางเลือก และชัดเจนว่าเราไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรในเรื่องนี้ เพียงแต่ต้องดำรงประเทศให้มีความถูกต้องและเหมาะสม เพราะการที่เราขังชาวอุยกูร์ ก็ถูกร้องเรียนมาตลอดว่าเป็นการทรมาน ซึ่งขัดต่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย 2565 ดังนั้น การส่งอุยกูร์กลับไปจีน จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด อีกทั้งรัฐบาลก็จะติดตามเรื่องของความปลอดภัยเป็นระยะ

นายภูมิธรรม ยังขอวิงวอนให้สื่อไทยและสื่อต่างประเทศ โดยเฉพาะสื่อในประเทศไทยบางราย ที่นำเสนอเหมือนอยากให้ประเด็นไม่จบ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศเลย อยากให้คำนึงถึงประเทศไทยด้วย ยืนยันรัฐบาลไทยมีความปรารถนาดี เพื่อไม่ให้ไทยถูกกล่าวหาและปฏิเสธจากทุกฝ่าย เราไม่ได้มีเจตนาร้าย หรือโหดเหี้ยม อำมหิต ที่จะส่งคนไปตาย เพียงแต่ต้องการแก้ไขปัญหาภายในประเทศของเรา เพื่อไม่ต้องมารับภาระ และจากการติดตามตอนนี้ไม่มีอะไรน่ากังวลสิ่ง แต่หลังจากนี้ก็ต้องติดตามและพิจารณาเป็นระยะ พร้อมยืนยันว่าไทยมีเจตนารมณ์ชัดเจนว่าการส่งอุยกร์กลับจีน ปฏิบัติตามกฎหมายทุกอย่าง และมองว่าไม่น่าจะมีอะไรที่ทำให้เป็นเรื่อง

เมื่อถามว่าในด้านการข่าว มีการเคลื่อนไหวในเรื่องการก่อความไม่สงบหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า อยากให้ช่วยกัน เราไม่อยากให้มีอะไรเกิดขึ้น เราไม่ได้มีการละเมิดใคร หากส่งเขาไปเสียชีวิตอาจต้องกังวล แต่ปัจจุบันนี้เขายังอยู่ดี แต่หากมีปัญหาหลังจากนี้ ก็เป็นเรื่องของคนที่ผิดจากสิ่งที่ควรจะเป็น

สมาคมอุยกูร์ในสหรัฐฯ บุกสถานทูตไทย จี้ไทยรับผิดชอบ ส่ง 40 อุยกูร์กลับจีน

(28 ก.พ.68) สมาคมอุยกูร์ในสหรัฐอเมริกา (Uyghur American Association) ได้โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊ก พร้อมประณามการส่งตัวชาวอุยกูร์ 40 คนกลับจีนโดยรัฐบาลไทย โดยระบุว่า "พวกเรายืนหยัดหน้าสถานทูตไทยในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อประท้วงการส่งตัวชาวอุยกูร์ 40 คนกลับไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีประวัติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอุยกูร์ ขณะนี้พวกเขากำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงถูกจับกุม ทรมาน และอาจถึงชีวิต"

การประท้วงครั้งนี้มีการมอบพวงหรีดสีดำให้กับสถานทูตไทยเพื่อแสดงความไว้อาลัยและปฏิเสธการกระทำที่ไม่ยุติธรรม โดยสมาคมฯ ขอขอบคุณผู้ร่วมชุมนุมที่ออกมาแสดงพลังและให้การสนับสนุนชาวอุยกูร์ในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม

ในระหว่างการชุมนุม ผู้ประท้วงได้ชูป้ายข้อความที่รุนแรง รวมถึง “แพทองธาร ชินวัตร มือของเธอเปื้อนเลือดของชาวอุยกูร์” “ประเทศไทยทรยศต่อสิทธิมนุษยชน” “ประเทศไทยสมรู้ร่วมคิดในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของชาวอุยกูร์” และ “ประเทศไทยล้มเหลวในการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศในการปกป้องชีวิตมนุษย์”

วงดนตรีดังเม็กซิโก ยกเลิกการแสดงด่วน หลังแก๊งค้ายาส่งศีรษะมนุษย์และจดหมายขู่ฆ่า

(28 ก.พ. 68) ศิลปินเจ้าของรางวัลแกรมมี วงกรูโป ฟีร์เม จากเม็กซิโก ตัดสินใจยกเลิกการแสดงในงานคาร์นิวัลเมืองมาซัตลัน ซึ่งมีกำหนดในวันที่ 1 มี.ค. 2568 หลังจากได้รับคำขู่ฆ่าสมาชิกวง ซึ่งคาดว่าเป็นฝีมือของแก๊งค้ายาเสพติด

ตามรายงานจากสื่อท้องถิ่น เม็กซิโก วงดนตรีชื่อดังที่มีแนวทางการเล่นดนตรีผสมผสานกับดนตรีพื้นบ้านซิโนโลอา ได้รับข้อความขู่ฆ่าในลักษณะที่ระบุว่า “ถ้าวงกรูโป ฟีร์เม ขึ้นแสดงที่งานคาร์นิวัลมาซัตลัน เราจะฆ่าพวกแกทุกคน” นอกจากนี้ยังพบศีรษะมนุษย์ที่ถูกตัดขาดและถูกทิ้งไว้บนกล่องสีเขียวข้างทางในเมืองติฮัวนาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา พร้อมทั้งพบว่าชิ้นส่วนร่างกายถูกเก็บไว้ในตู้แช่เย็น

หลังการค้นพบดังกล่าว ทีมอัยการรัฐบาฮากาลิฟอร์เนียได้เริ่มการสืบสวน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีนี้ ศีรษะมนุษย์ถูกพบห่างจากสถานที่จัดงานกว่า 1,600 กิโลเมตรในพื้นที่ทางใต้ของชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก

บริษัท มิวสิค วีไอพี เอนเทอร์เทนเมนต์ ซึ่งเป็นต้นสังกัดของวงกรูโป ฟีร์เม ได้ประกาศยกเลิกการแสดงในวันที่ 1 มี.ค. 2568 โดยให้เหตุผลว่าเป็นการคำนึงถึงความปลอดภัยของทุกฝ่าย ซึ่งไม่นานหลังจากนั้น นักร้องเม็กซิกันอีกสองราย โฮซี กูเอน และฮอร์เก เมดินา ก็ได้ยกเลิกการแสดงในงานคาร์นิวัลเดียวกันโดยไม่มีการระบุเหตุผลเพิ่มเติม

วงกรูโป ฟีร์เม จากเมืองติฮัวนาเริ่มมีชื่อเสียงตั้งแต่ปี 2563 และได้สร้างชื่อจากเพลงฮิตหลายเพลง รวมถึงได้รับรางวัลมากมายจากเวทีลาตินแกรมมี ในปี 2564 พวกเขาชนะรางวัลอัลบั้มเพลงยอดเยี่ยมจากงาน Latin Grammy Award และในปีที่แล้วก็ได้ร่วมงานกับเดมี โลวาโต ในเพลง 'Chula'

การข่มขู่ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการข่มขู่ศิลปินจากกลุ่มค้ายาในเม็กซิโก ที่มักจะพยายามขัดขวางการแสดงของศิลปินในประเทศ โดยก่อนหน้านี้หลายศิลปินก็ต้องยกเลิกการแสดงเนื่องจากความรุนแรงจากแก๊งอาชญากรรม

รู้จัก ‘Susi Pudjiastuti’ รัฐมนตรีหญิงแกร่งแห่งอินโดนีเซีย จากนักธุรกิจส่งออกอาหารทะเล สู่มือพิฆาตเรือประมง (ต่างชาติ)

ข่าวในรอบสัปดาห์นี้ที่น่าหงุดหงิดโมโหของประชาชนคนไทยเป็นที่สุดก็คือ ข่าวที่เรือประมงเวียดนามที่รุกล้ำมาลักลอบจับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย แล้วบังอาจขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่ ซ้ำร้ายยังนำเรือพุ่งชนเรือหลวงเทพาเรือรบของกองทัพเรือไทยจนได้รับความเสียหายอีกด้วย ในขณะที่ไม่นานมานี้ ทหารเรือเมียนมาได้มีการใช้อาวุธกับเรือประมงไทยจนมีลูกเรือประมง 1 คนเสียชีวิต และถูกจับกุมอีก 4 คน ซึ่งยังไม่ได้รับการปล่อยตัวจนทุกวันนี้

เพราะความใจดีจนเกินไปของทางการไทยจนทำให้เรือประมงเวียดนาม ซึ่งหลายปีมานี้ย่ามใจลักลอบเข้ามาจับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยอยู่เป็นประจำ และยังทำให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในท้องทะเลไทย โดยความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในท้องทะเลไทยเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ อาทิ การปิดอ่าวไม่จับปลาในฤดูวางไข่ การใช้อุปกรณ์จับปลาที่ไม่เป็นการทำลายระบบนิเวศ ฯลฯ ในอดีต เมื่อ 4-50 ปีก่อนนั้น เรือประมงไทยมักจะฝ่ายล้ำน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นเมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนามเป็นประจำจนเป็นข่าวปรากฏแทบทุกวัน แต่ในปัจจุบันกลับกลายเป็นเรือประมงเวียดนามที่ลักลอบรุกล้ำเข้ามาจับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย

เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ชวนให้นึกถึงเรื่องราวของ ‘Susi Pudjiastuti’ หรือ ที่ชาวอินโดนีเซีย เรียกเธอว่า ‘ซูซี่’ รัฐมนตรีหญิงซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงกิจการทางทะเลและประมงอินโดนีเซีย ผู้เป็นมือพิฆาตเรือประมง (ต่างชาติ) ประวัติของเธอผู้นี้ไม่ธรรมดาเลย เธอเกิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 1965 ที่เมือง Pangandaran จังหวัดชวาตะวันตกเป็นลูกสาวของฮัจจีอาหมัด คาร์ลัน และฮัจจาห์ซูวูห์ ลาสมินาห์ เธอเป็นชาวชวาแต่ครอบครัวของเธอเป็นผู้ตั้งถิ่นฐานในเมือง Pangandaran เป็นรุ่นที่ 5 ธุรกิจของครอบครัวของเธอส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์และการทำฟาร์มปศุสัตว์

หลังจากเรียนจบมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว Susi ได้ไปเรียนต่อมัธยมศึกษาตอนปลายที่ SMA Negeri 1 Yogyakarta แต่เรียนไม่จบเพราะถูกไล่ออกด้วยเธอได้ไปร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองสนับสนุนการงดออกเสียง (Vote No) เพื่อประท้วงการครอบงำของพรรคกอลการ์ที่ทำให้อินโดนีเซียมีรัฐบาลพรรคเดียว ซึ่งในขณะนั้นเป็นขบวนการที่ถูกห้ามภายใต้ระเบียบใหม่ของประธานาธิบดี Suharto เธอเป็นรัฐมนตรีอินโดนีเซียคนแรกที่ไม่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่หลังจากที่เธอได้เป็นรัฐมนตรีแล้ว เธอได้ลงทะเบียนเรียนหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย และสำเร็จการศึกษาอย่างเป็นทางการในปี 2018

ในปี 1983 Susi ได้เริ่มต้นอาชีพในฐานะผู้ประกอบการ โดยเริ่มต้นจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายอาหารทะเลที่ Fish Auction Facility (TPI) ในเมือง Pangandaran จากการเป็นตัวแทนจำหน่าย เธอได้พัฒนาเป็นโรงงานแปรรูปอาหารทะเลในปี 1996 โดยใช้ชื่อว่า PT ASI Pudjiastuti Marine Product ซึ่งเชี่ยวชาญด้านกุ้งมังกรคุณภาพส่งออกที่บรรจุหีบห่อในชื่อ 'Susi Brand' PT ASI Pudjiastuti Marine Product ซึ่งขยายตัวเติบโตมากขึ้นและเริ่มส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศต่าง ๆ ในเอเชียและอเมริกาเหนือ

เมื่อความต้องการอาหารทะเลสดของ PT ASI Pudjiastuti Marine Product เพิ่มมากขึ้นทำให้การขนส่งทางอากาศด้วยความรวดเร็วกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับธุรกิจ ในปี 2004 Susi ได้ซื้อเครื่องบินแบบ Cessna 208 Caravan และก่อตั้ง PT ASI Pudjiastuti Aviation โดยได้รับสัญญาณเรียกขานเป็น ‘Susi Air’ และใช้ในการขนส่งอาหารทะเลสดทั่วอินโดนีเซียไปยังกรุงจาการ์ตา รวมถึงไปยังต่างประเทศเช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น

ในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2004 ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับอาเจะห์และชายฝั่งตะวันตกของสุมาตรา สายการบิน Susi Air ซึ่งในขณะนั้นมีเครื่องบิน Cessna Grand Caravan เพียง 2 ลำเท่านั้นเป็นหนึ่งในสายการบินแรกที่เข้าไปช่วยเหลือ และทำการแจกจ่ายอาหารและสิ่งของจำเป็นให้แก่ผู้ประสบภัยจากภัยพิบัติในพื้นที่ห่างไกล ในช่วงเวลาดังกล่าวสายการบิน Susi Air มักได้รับการเช่าเหมาลำไปอาเจะห์โดย NGO เพื่อปฏิบัติภารกิจบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยธรรม รายได้จากภารกิจของ NGO ในอาเจะห์ทำให้สายการบิน Susi Air สามารถจัดหาเครื่องบินลำใหม่ และขยายฝูงบินไปยังเส้นทางในปาปัวและกาลีมันตันได้ ปัจจุบันสายการบิน Susi Air เป็นผู้ใช้เครื่องบิน Cessna Grand Caravan รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

เธอได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการทางทะเลและประมงเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2014 โดยประธานาธิบดี Joko Widodo ในคณะรัฐมนตรีชุดปี 2014–2019 ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่ง Susi ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของ PT ASI Pudjiastuti Marine Product และ PT ASI Pudjiastuti Aviation เธอเข้ารับช่วงต่อในกระทรวงที่มีความเสี่ยงต่อการถูกยุบเลิก เพราะปัญหาเรือประมงต่างชาติรุกล้ำน่านน้ำอินโดนีเซียที่อยู่รอบเกาะ 17,500 เกาะเป็นประจำ ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียได้ประมาณการว่าการทำประมงผิดกฎหมายทำให้อินโดนีเซียสูญเสียรายได้กว่า 101 ล้านล้านรูเปียะห์ (7.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปี ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง Susi ได้สั่งให้เร่งกวาดล้างจับกุม ยึด และทำลายเรือประมงต่างชาติทิ้งไปหลายร้อยลำ จนทำให้เรือประมงต่างชาตินับหมื่นลำที่แสวงหาประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพส่วนใหญ่ในอินโดนีเซียต้องรีบออกจากน่านน้ำอินโดนีเซีย โดยในช่วงที่เธอดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2013 ถึง 2017 ปริมาณผลผลิตด้านการประมงของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า และในเดือนเมษายน 2018 เธอสั่งสกัดและยึดเรือประมงผิดกฎหมาย Andrey Dolgov ซึ่งเป็นเรือประมงระยะทำการไกล ในช่วงทศวรรษ 2000 และ 2010 เรือลำนี้ซึ่งมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการประมงผิดกฎหมายในวงกว้าง โดยเป็นหนึ่งในเรือที่ Interpol ต้องการมากที่สุด และในที่สุดเรือ Andrey Dolgov ก็ถูก กองทัพเรืออินโดนีเซียยึดและควบคุมในเดือนเมษายน 2018 และในปี 2019 รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งใจที่จะปรับปรุงเรือลำนี้ให้เป็นหนึ่งในเรือปฏิบัติการของกองเรือบังคับใช้กฎหมายด้านการประมงของอินโดนีเซีย

เมื่อ 16 กันยายน 2016 กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ได้มอบรางวัล Leaders for a Living Planet Award ให้กับ Susi เพื่อเป็นการยกย่องความพยายามของเธอในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการทางทะเลและการประมงจากการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคการประมงของอินโดนีเซีย และการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล รวมถึงการปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมายในน่านน้ำอินโดนีเซียอย่างเข้มงวด จากการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Ecology & Evolution พบว่า นโยบายต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายที่เข้มงวดของ Susi ส่งผลให้ “ปริมาณการจับปลาโดยรวมลดลงอย่างน้อย 25% [อาจ] ทำให้ปริมาณการจับปลาอย่างถูกกฎหมายของชาวประมงอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นถึง 14% และมีกำไรเพิ่มขึ้น 12%” 

ฝากให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบภารกิจด้านนี้ทั้งกลาโหม ต่างประเทศ และเกษตรฯ ได้นำผลงานของ ‘Susi Pudjiastuti’ มาเป็นแนวทางในการทำงาน ทั้งนี้จะเป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นตั้งใจและฝีไม้ลายมือในการปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลของชาติอย่างเต็มที่เพื่อที่ประชาชนคนไทยจะได้เห็นผลงานด้วยความชื่นชมต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top