Sunday, 18 May 2025
NewsFeed

จเรตำรวจแห่งชาติเปิดโครงการอบรมไซเบอร์ เพื่อต่อกรกับกลุ่มแก๊งอาชญากรรมในรูปแบบใหม่ 

(19 ก.พ.68) พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า วานนี้ได้เป็นประธานโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เร่งรัดสำนวนคดีออนไลน์และสร้างมาตรฐานระบบการสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 เพื่อทบทวนและเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในวิธีการใช้งานระบบริหารจัดการ สืบสวน สอบสวน ตรวจสอบวิเคราะห์รายละเอียดของคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) โดยมีกำหนดการจัดโครงการดังกล่าว ระหว่างวันที่ 16-21 กุมภาพันธ์ 2568 ณ โรงแรมมัสดีฟส์ บีช รีสอร์ท อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี 

ด้วยปัจจุบันเกิดปรากฏการณ์ New paradigm (กระบวนทัศน์) ทางอาชญากรรมขึ้นมาใหม่ เนื่องจากขณะนี้ คดีอาชญากรรมออนไลน์ , คดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นคดีรูปแบบใหม่ New Normal  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากรูปแบบเดิม ๆ เป็นรูปแบบการทำงานแบบใหม่ทั้งหมด เพราะคดีเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว คนร้ายสามารถใช้โทรศัพท์หลอกลวงคนเป็นร้อยล้านครั้งในเวลาอันสั้น เป็นการทำลายรูปแบบการทำงานแบบเดิมทั้งหมดในกระบวนการยุติธรรม ไม่เหมือนกับการวิ่งราวทรัพย์ หรือคดีพื้นฐานอื่น ๆ ซึ่งคดีรูปแบบใหม่นี้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วมาก ทำให้ต้องหาข้อมูลอย่างรวดเร็วจากธนาคารต่าง ๆ หรือการปิดกั้น ยับยั้ง ระงับข้อมูลในเชิง AI ต้องทำอย่างรวดเร็ว 

ดังนั้น จึงตัองมีการระดมความเห็นเพื่อหาวิธืการรับมือให้สอดคล้องกับรูปแบบอาชญากรรมรูปแบบใหม่ New paradigm ซึ่งขณะนี้ตำรวจและทางการไทยกำลังต่อกรกับปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการตรวจสอบพบความเชื่อมโยงของคดีเป็นจำนวนมาก แต่คดีอาจจะเหลือน้อยลงเพราะเป็นคดีเรื่องเดียวกัน จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและสามารถนำตัวคนร้ายมาลงโทษได้อย่างรวดเร็ว ในส่วนนี้จะดำเนินการเป็นไกด์ไลน์เพื่อสร้างวิธีการทำงานในรูปแบบใหม่ แล้วนำรูปแบบนี้ไปใช้กับตำรวจทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือแก้ไขปัญหาประชาชนได้ทั้งในเรื่องการจับกุมคนร้าย และในเรื่องของการติดตามทรัพย์สินกลับมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

‘ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด’ ชี้ ซาอุดีอาระเบีย สุดเนื้อหอม ที่แม้แต่พญาอินทรี - พญาหมี ยังมิอาจมองข้าม

(19 ก.พ. 68) นายจิรวัฒน์ เดชาเสถียร ผู้เชี่ยวชาญด้านการขาย การตลาดและการจัดการค้าปลีกค้าส่งในภูมิภาคอาเซียน โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ในวันที่ขายของในไทยยาก

ไปจีนหรืออื่นๆ ก็โดนกดราคาจากการแข่งขันที่สูง ไปยุโรปก็โดนกีดกันการค้า ถามหาเอกสารเต็มไปหมด ถนนทุกสายจึงมุ่งไปยังตะวันออกกลาง

ผมนั่งเขียนเรื่องนี้ระหว่างการรอเครื่องในยามเช้าตรู่ ในช่วงเวลาที่ทีมงานผมอยู่ระหว่างการทำตลาดในงาน Gulf foods ที่ Dubai ทำไมต้องดูไบ ดูดอกได้มั้ย ก็เพราะดูไบที่อยู่ใน UAE คือนครรัฐที่เปิดอิสระให้ต่างชาติในการค้าขายในตะวันออกกลางและเป็นเสมือน gateway ในการทำตลาดใน Gulf 6 ประเทศ ผมเคยเขียนไว้ว่า Filipino หรือปินอยด์คือชาติที่อยู่ในดูไบมากสุดกว่าล้านคน ตลาดสินค้าสำหรับปินอยด์จึงซ่อนอยู่ที่นั่น

ดูไบใหญ่เกินไป เกินหน้าเกินตาพี่ใหญ่ซาอุดี วันนี้จึงเกิด Vision 2030 ขึ้น 14 โครงการใหญ่ที่กำลังเดินหน้าซ้ายจรดขวา ตะวันตกยันตะวันออก จึงมีมูลค่ามหาศาล นครริยาดห์จึงเนื้อหอมให้ใครต่อใครเข้าไป ไทยเราเทรดเป็นเบอร์ 1 มูลค่า 5-6 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่เงินไปตกอยู่รายใหญ่หมด ไม่ใช่ปลาใหญ่เก่ง แต่ปลาใหญ่จมูกไว และทำในสิ่งที่ปลาเล็กทำไม่ได้นะครับ..ตลาดที่นู่นเปิดทุก sector หากไม่สนใจ ไทยเราเสียตำแหน่งในสามปีนี้แน่นอน วันนี้แขกซาอุติด Series เกาหลี กินหมี่ Budok กันสนุก จีนขนคนไปลงอีก 80000 คน ไม่ใช่สแกมเมอร์นะ.. ท่านทราบมั้ยว่าวันนี้คนไทยไปที่นั่นกว่า 1 แสนคนแล้ว...

มีอะไรอีกเยอะสำหรับซาอุดี ไม่ใชแค่ริยาดห์ เจดดาห์ มะกะห์ แต่ที่นั่นคืออนาคตจริงๆ โดยเฉพาะเกษตรไทย
ข้าวเหนียวมะม่วงจานละ 700 ฮะ ท่านผู้ชม ปี 2030 ซาอุจะโตแบบเท่าตัว โครงการ SEVEN หรือ Saudi Entertainment Venture กำลังขึ้น คิดดูเรามีอะไรไปแข่ง ...

เพิ่งได้ยินเสียงสายค้าปลีกไทยว่าเพิ่งลงนามขยายสองสาขาที่นั่นเมื่อสองสัปดาห์ก่อน 
คิดดู ซาอุเนื้อหอมแค่ไหน 
ทำไมพญาอินทรี ไปพบพญาหมีที่นั่นก็ลองคิดดู โลกเปลี่ยนอย่างไว..

ทรัมป์แบนสื่อยักษ์ AP พ้นทำเนียบขาว เหตุไม่ยอมเรียก ‘อ่าวอเมริกา’ ในรายงานข่าว

(19 ก.พ.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งจำกัดการเข้าถึงของผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว Associated Press (AP) ในทำเนียบขาวและเครื่องบินประจำตำแหน่ง Air Force One หลัง AP ปฏิเสธที่จะเปลี่ยนการเรียกชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก' เป็น 'อ่าวอเมริกา' ตามคำสั่งของทรัมป์

“ถ้ายังไม่เปลี่ยนชื่อ ก็อย่าหวังว่าจะได้ทำข่าว” ทรัมป์กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ที่คฤหาสน์มาร์-อะ-ลาโก รัฐฟลอริดาเมื่อวานนี้ โดยย้ำว่า AP จะถูกจำกัดพื้นที่รายงานข่าว จนกว่าพวกเขาจะยอมรับว่า 'อ่าวอเมริกา' ควรเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของน่านน้ำดังกล่าว

AP ยืนยันว่าจะยังคงใช้ชื่อเดิมที่มีมานานกว่า 400 ปี และในฐานะองค์กรข่าวระดับโลก จะรายงานเรื่องนี้ตามหลักบรรณาธิการ พร้อมรับทราบชื่อที่ทรัมป์เลือก แต่ไม่ยอมเปลี่ยนการเรียกขานหลัก

การกดดันสื่อครั้งนี้ทำให้สมาคมผู้สื่อข่าวทำเนียบขาวออกมาประท้วงทันที โดยระบุว่าเป็นการคุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชน ขณะที่องค์กรข่าวใหญ่ ๆ เช่น Reuters ยังคงใช้ชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก' และจะกล่าวถึงคำสั่งของทรัมป์ในบริบทที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

การแบน AP ออกจากศูนย์กลางอำนาจของสหรัฐฯ ครั้งนี้ อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของศึกสื่อ-การเมือง ที่ร้อนระอุขึ้นทุกวัน

'สมศักดิ์' มอบ 7 นโยบายขับเคลื่อน Medical & Wellness Hub พร้อมประกาศเจตนารมณ์ร่วม 4 คณะแพทย์วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ATMPs

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบ 7 นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพ สู่ Medical & Wellness Hub จ่อตั้งสำนักงานดูแลโดยเฉพาะ ยกระดับหมอนวดไทยให้เชี่ยวชาญพิศษ 7 กลุ่มอาการ รวมทั้ง 'สมุนไพร-ยา-อาหาร' ของไทย รุกส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ยกระดับมาตรฐานเสริมความงาม อุ้มบุญ ผ่าตัดแปลงเพศกลุ่มต่างชาติ ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง หรือ ATMPs พร้อมประกาศเจตนารมณ์ร่วม 4 คณะแพทย์ส่งเสริมวิจัยและพัฒนาเพิ่มการเข้าถึงยา ATMPs ของประชาชน

(19 ก.พ.68) ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนนโยบายเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจสุขภาพ สู่ Medical & Wellness Hub โดยได้มอบนโยบายต่อผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และการประกาศเจตนารมณ์เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (Advanced Therapy Medical Products, ATMPs) ระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)

นายสมศักดิ์กล่าวว่า การเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจและสุขภาพ สู่ Medical & Wellness Hub เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกระทรวงสาธารณสุขปี 2568 เพื่อยกระดับให้เป็นกระทรวงด้านสังคมควบคู่เศรษฐกิจ โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศ เพิ่มโอกาสสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและประเทศ ผ่านการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านการแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย ภูมิปัญญาไทย สมุนไพรไทย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ นวดสปา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ไปจนถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมสุขภาพและชีวการแพทย์ ซึ่งทั้งหมดต้องมีมาตรฐานและความปลอดภัย เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และบริการสุขภาพระดับโลก โดยจะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าวผ่าน 7 นโยบายสำคัญ คือ 1.การจัดตั้ง 'สำนักงานนโยบายและเศรษฐกิจสาธารณสุข (สนศส.)' เป็นหน่วยงานระดับกรม ทำหน้าที่วิเคราะห์ วิจัย และกำหนดนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์สุขภาพและการคลังสุขภาพ เพื่อจัดสรรทรัพยากรให้คุ้มค่า สนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย และสร้างระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและยั่งยืน

2.ยกระดับภูมิปัญญาไทย คือ นวดไทย โดยพัฒนาหมอนวดไทยให้เชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ คือ กลุ่มปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Office syndrome), โรคหัวไหล่ติด, โรคนิ้วล็อก, ภาวะกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (ปวดสลักเพชร), หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท, อัมพฤกษ์อัมพาต และกลุ่มระบบสืบพันธุ์ 3.ยกระดับสมุนไพรไทย/ยาไทย อาหารไทย ภายใต้แนวคิด "เจ็บป่วยคราใด คิดถึงยาไทย ก่อนไปหาหมอ" โดยผลักดันการใช้ยาสมุนไพรในระบบหลักประกันสุขภาพ เพิ่มรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติรวม 106 รายการ ปรับระบบบริการผู้ป่วยนอกเพื่อส่งเสริมให้แพทย์สั่งจ่ายยาสมุนไพร 32 รายการใน 10 กลุ่มอาการโรคที่พบบ่อยเพิ่มขึ้นอย่างน้อย ร้อยละ 10 ส่งเสริมสมุนไพรไทยและอาหารไทยต่างๆ เช่น กระชายดำ ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน ไพล ปลาส้ม/แหนมที่มีโพรไบโอติกส์-พรีไบโอติกส์ 4.ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งปี 2566 ประเทศไทยมีมูลค่าตลาดการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพราว 1.42 ล้านล้านบาท โดยเน้นประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เช่น สปา บ่อน้ำพุร้อน แหล่งน้ำแร่ จับคู่โรงแรมกับโรงพยาบาลในการให้บริการแพคเกจสุขภาพ พัฒนาระบบเอเยนซีขายแพคเกจสุขภาพ เพิ่มคลินิก Wellness การแพทย์และแพทย์ไทยในโรงแรม ซึ่งมีการนำร่องแล้วคือโมเดล Wellcation ของเขตสุขภาพที่ 5 และ Phuket Wellness Sandbox

5.ศูนย์กลางอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ โดยปี 2566 ประเทศไทยมีมูลค่าตลาดราว 2 แสนล้านบาท เป็นการนำเข้า 9 หมื่นล้านบาทและส่งออก 1.18 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ไม่ซับซ้อน ได้แก่ วัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ เช่น ถุงมือยางทางการแพทย์ หลอดสวน หลอดฉีดยา และกลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น เตียงผู้ป่วย เตียงตรวจ รถเข็นผู้ป่วย เบื้องต้นจะส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพและเครื่องมือแพทย์ฝีมือคนไทย เร่งรัดกระบวนการอนุมัติอนุญาตและทดสอบมาตรฐานเครื่องมือแพทย์เพื่อขึ้นทะเบียนให้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์ที่มีความซับซ้อน และใช้วิธีจับคู่ระหว่างผู้วิจัยและผู้ที่จะผลิตต่อ 6.ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง (ATMPs) ซึ่งทั่วโลกมีมูลค่าถึง 4.19 แสนล้านบาท คาดว่าปี 2573 จะเติบโตถึง 1.25 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลกำลังผลักดันศูนย์กลาง ATMPs ตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำด้านการแพทย์สมัยใหม่ในระดับโลก ภายในปี 2570 เนื่องจากเอกชนมีความสนใจและต้องการผลักดันอุตสาหกรรม และจะหาทางออกเพื่อลดข้อกังวลของสภาวิชาชีพในการใช้ผลิตภัณฑ์ ATMPs และ 7.การดูแลบุคคลและความงาม (Personal Care and Beauty) โดยจะขับเคลื่อน 4 เรื่อง คือ เวชศาสตร์ความงาม เน้นตรวจสอบแพทย์ต่างชาติที่เข้ามาประกอบเวชกรรมในไทย รวมถึงแพทย์เถื่อน คลินิกเถื่อน ยกระดับคลินิกความงามให้มีมาตรฐานระดับสากล เปิดหลักสูตรอบรมแพทย์เวชปฏิบัติความงามเป็นหลักสูตรกลางของประเทศ ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับหัตถการเสริมความงาม และพัฒนาระบบเอเยนซีให้สามารถโฆษณาเชิญชวนชาวต่างชาติมารับบริการได้, จิตเวชและพฤติกรรมบำบัดสำหรับชาวต่างชาติ, การอุ้มบุญและการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว การทำ ICSI และการผ่าตัดยืนยันเพศสภาพ ส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ

"วันนี้หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ยังได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ทั้ง 4 สถาบัน ประกาศเจตนารมณ์เพื่อร่วมมือกันทางวิชาการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ATMPs ซึ่งส่วนใหญ่เป็น "ยา" ที่ออกฤทธิ์เป็นยีน เซลล์ หรือเนื้อเยื่อ ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยพัฒนาจำนวนมาก เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงของผู้ป่วย โดยปี 2568 มีเป้าหมายให้คนไทยและชาวต่างชาติสามารถเข้าถึงยา ATMPs ในไทยที่ได้มาตรฐานอย่างเหมาะสมผ่านกลไกการอนุญาตวิจัยในพื้นที่ทดลอง 5 แห่งในสังกัดกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ควบคู่ไปกับการจัดตั้งศูนย์บริการผลิตภัณฑ์ยา ATMPs แบบเบ็ดเสร็จ รวมถึงเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” นายสมศักดิ์กล่าว 

ผู้ว่ากัมพูชานำ 'พล.ต. เนียง' ต้นเหตุร้องเพลงปลุกใจ เคลียร์ทหารไทย คาดเบื้องบนสั่งบุกปราสาทไทย

(19 ก.พ.68) สื่อทางการกัมพูชารายงานว่า นาย เมียน จันยาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรมีชัย ได้นำคณะทหารกัมพูชา นำโดย พล.ต เนียง คิม ผู้บัญชาการพลน้อยที่ 42 เดินทางมายังบริเวณปราสาทตาเมือนธม อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเจรจาและกระชับความสัมพันธ์กับทหารไทย หลังเหตุการณ์ที่สร้างความตึงเครียดระหว่างสองประเทศ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2567 พล.ต เนียง คิม ได้นำกลุ่มเด็กนักเรียน พระสงฆ์ และทหารกัมพูชา ขึ้นมาร้องเพลงปลุกใจที่ปราสาทตาเมือนธม ซึ่งนำไปสู่การประท้วงจากกองทัพภาคที่ 2 ของไทย ต่อกองบัญชาการทหารภูมิภาคที่ 4 ของกัมพูชาในวันที่ 18 ตุลาคม 2567 เหตุการณ์ลุกลามเมื่อ พล.ต เนียง นำคณะแม่บ้าน 25 คน มาร้องเพลงปลุกใจอีกครั้ง จนเกิดปฏิกิริยาจากทหารไทยและการตอบโต้ทางวาจาจาก พล.ต เนียง ตามที่มีรายงานข่าว

เพจ 'OddarMeanchey' ของกัมพูชาได้เผยแพร่คลิปวิดีโอขณะ นายเมน จันญาดา นำคณะเข้าพบ พ.ท.จักรกฤษ ปิยะศุภฤกษ์ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 23 ฝ่ายไทย เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 เวลาประมาณ 15.00 น. ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยและจับมือร่วมกันเพื่อลดความตึงเครียด

นาย เมียน จันยาดา กล่าวกับทหารไทยว่า “ไม่มีใครมาแย่งหรือเบียดเบียนกัน เราอยู่ร่วมกัน เรารักกัน” พร้อมย้ำว่าประเด็นพรมแดนควรเป็นเรื่องของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องระหว่างสองประเทศ ขณะที่สถานการณ์ชายแดนยังคงสงบ และปราสาทตาเมือนธมยังเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชายังคงตรึงกำลังในพื้นที่เพื่อเฝ้าระวัง โดยเฉพาะหลังจากเกิดกระแสโซเชียลในกัมพูชา ที่มีการยกย่อง พล.ต เนียง ว่าเป็น 'ฮีโร่' ที่กล้าตอบโต้ทหารไทย ขณะที่โซเชียลไทยเองก็มีการตอบโต้กันอย่างดุเดือด

แหล่งข่าวระบุว่า การเดินทางมาของคณะผู้ว่าฯอุดรมีชัย และ พล.ต เนียง อาจเป็นคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกัมพูชา เพื่อบรรเทาความตึงเครียดและรักษาความสัมพันธ์กับไทย แม้ว่าการเจรจาครั้งนี้จะเกิดขึ้นด้วยความเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม

ชมคลิปข่าว: https://www.youtube.com/watch?v=Orl7Mjy18d0&embeds_referring_euri=https%3A%2F%2Fpressocm.gov.kh%2F&source_ve_path=MjM4NTE

“อุทาหรณ์” หมายถึง “สิ่ง หรือเรื่องราวที่ยกขึ้นมาอ้าง หรือเทียบเคียงให้เห็นเป็นตัวอย่าง”

(19 ก.พ. 68) อ.ไชยันต์ โพสต์เฟซบุ๊ก ยกเป็น อุทาหรณ์ บุคคลที่ใส่ร้ายคนอื่นด้วยข้อมูลเท็จ หลัง 2 นักวิชาการ ‘ชัยพงษ์ สำเนียง’ และ ‘รศ.ดร.กุลดา เกษบุญชู’ ใส่ความด้วยเรื่องไม่จริง จนต้องออกมาโพสต์ข้อความขอโทษ

จีนปักธงวัฒนธรรมชูสันติภาพ สนับสนุนโลกหันหน้าคุยแทนแตกแยก

สำนักข่าวซินหัวเผยแพร่รายงานคลังสมองฉบับล่าสุดในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ (18 ก.พ.68) ที่ผ่านมา โดยเน้นย้ำความสำคัญของการ 'แลกเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกัน' ระหว่างอารยธรรม เพื่อรับมือกับความท้าทายที่ส่งผลต่อการพัฒนาของมนุษยชาติ รายงานดังกล่าวเรียกร้องให้ประชาคมโลกเสริมสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน และผลักดันความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันบนพื้นฐานของสันติภาพและความเสมอภาค

จีนให้การสนับสนุนแนวคิดที่เน้นการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวของอารยธรรมต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนมากกว่าการแบ่งแยก และการเคารพซึ่งกันและกันมากกว่าการเชื่อว่าวัฒนธรรมใดเหนือกว่าวัฒนธรรมอื่น

เทศกาลตรุษจีนปี 2025 จะเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นภายหลังจากที่องค์การยูเนสโก (UNESCO) ประกาศให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ การยอมรับนี้สะท้อนถึงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมจีนในระดับโลก และเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของพลังแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในโลกที่เต็มไปด้วยความแตกแยก

สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เคยกล่าวในคำปราศรัยที่องค์การยูเนสโก ณ กรุงปารีส เมื่อปี 2014 ว่า "อารยธรรมแต่ละแห่งควรเคารพและอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว พร้อมผลักดันการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกัน" ซึ่งแนวคิดนี้ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

รายงานของซินหัวยังระบุว่ามนุษยชาติกำลังเผชิญกับความท้าทายระดับโลก ทั้งภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ความไม่มั่นคงทางการเมือง และความขัดแย้งทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งทำให้การส่งเสริมการเจรจาและความร่วมมือระหว่างอารยธรรมมีความจำเป็นยิ่งขึ้น

เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายเหล่านี้ จีนได้เสนอแผนริเริ่มระดับโลกหลายประการ ได้แก่ แผนริเริ่มการพัฒนาระดับโลก (GDI), แผนริเริ่มความมั่นคงระดับโลก (GSI), แผนริเริ่มอารยธรรมระดับโลก (GCI)

แนวทางเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นความร่วมมือระหว่างประเทศ และแก้ไขปัญหาสำคัญ เช่น ความยากจน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความขัดแย้งทางการเมือง

จีนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนมีส่วนช่วยในการเติบโตของเศรษฐกิจโลกถึงร้อยละ 30 อีกทั้งยังดำเนินโครงการพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนามากกว่า 6,000 โครงการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีการเกษตรและการบรรเทาความยากจน

ในด้านความมั่นคง จีนมีบทบาทสำคัญในการปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ และสนับสนุนการแก้ไขข้อขัดแย้งผ่านการเจรจา ไม่ว่าจะเป็นกรณีความขัดแย้งในยูเครนหรือสถานการณ์ในตะวันออกกลาง

จีนยังได้จัดตั้งแพลตฟอร์มสำหรับการเจรจาข้ามวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมความเข้าใจระหว่างอารยธรรมต่างๆ ความพยายามนี้ได้รับการสนับสนุนจากประชาคมโลก โดยที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ได้รับรองมติที่จีนเสนอให้กำหนดวันที่ 10 มิ.ย. เป็น "วันสากลแห่งการเสวนาระหว่างอารยธรรม" เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในการสร้างสังคมที่กลมเกลียว

รายงานของซินหัวสรุปว่า การเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และส่งเสริมความร่วมมือระดับโลก เป็นแนวทางสำคัญในการขจัดความแตกแยกทางวัฒนธรรมและอุดมการณ์ หากทุกอารยธรรมสามารถเคารพซึ่งกันและกัน และเรียนรู้จากกันและกัน โลกก็จะก้าวสู่อนาคตที่สงบสุข มั่นคง และรุ่งเรืองร่วมกัน

‘ชัยพงษ์ สำเนียง’ พร้อมด้วย ‘รศ.ดร.กุลดา เกษบุญชู มี้ด’ โพสต์ข้อความขอโทษ อ.ไชยันต์ ไชยพร กรณีกล่าวหาการทำงานวิจัยด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ อ้างรู้เท่าไม่ถึงการณ์

(19 ก.พ. 68) ชัยพงษ์ สำเนียง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และ รศ.ดร.กุลดา เกษบุญชู มี้ด อดีตอาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความขอโทษ ศ.ดร. ไชยันต์ ไชยพร กรณีกล่าวหาด้วยข้อมูลเท็จ

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ร่วมงานแถลงข่าวการประกวดเยาวชนต้นแบบด้านมารยาทไทย และมารยาทในสังคม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ

(19 ก.พ. 68) มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง โดย นายวิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และประธานอนุกรรมการบริหารกองทุน ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ พร้อมด้วย นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ ที่ปรึกษาประธานกรรมการมูลนิธิฯ นางสาวพิมพ์ณภัท สุนทรฐิติวงษ์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรมูลนิธิฯ และคณะมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ร่วมงานแถลงข่าวการประกวดเยาวชนต้นแบบด้านมารยาทไทย และมารยาทในสังคม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ กองทุน ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้ว่าราชการจังหวัด และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ โดยมี นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธี  พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม และเครือข่ายสถานศึกษาต่าง ๆ ร่วมพิธี  ณ ห้องประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ

การประกวดเยาวชนต้นแบบด้านมารยาทไทย และมารยาทในสังคม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา วันที่ 2 เมษายน 2568 และเพื่อกระตุ้นให้เด็ก เยาวชน และประชาชน เห็นคุณค่าความสำคัญของอัตลักษณ์ไทยในเรื่องมารยาทไทย มารยาทในสังคม และสามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี นับเป็นจุดเริ่มต้นขวบปีแรกที่กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดการประกวดเยาวชนต้นแบบด้านมารยาทไทย และมารยาทในสังคมขึ้น เพื่อรณรงค์ สร้างกระแสและความตระหนักในการสืบสานและสืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านมารยาทไทย

ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมงานสาธารณกุศลมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ที่ เว็บไซต์ www.pohtecktung.org และ เฟซบุ๊ก แฟนเพจ www.facebook.com/atpohtecktung

## ป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต ##
#สายด่วนและแอปพลิเคชันป่อเต็กตึ๊ง1418 
#ช่วยจริงอุ่นใจแม้ในนาทีฉุกเฉิน

"ดร.เฉลิมชัย" นำทีม ทส. ย้ำบทบาท สผ. ให้เป็นหลักด้านนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ในโอกาสครบรอบ 50 ปี

(19 ก.พ. 68) เวลา 09.30 น. ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมด้วย นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ที่ปรึกษา รมว.ทส. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในสังกัด ทส. เข้าร่วมงานเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ครบรอบ 50 ปี “สผ. ก้าวต่อไป เพื่ออนาคตไทยที่ยั่งยืน” พร้อมเยี่ยมชมผลงาน “50 Years ONEP From Vision to Reality” ในรูปแบบ Art & Gallery โดยมี ดร.ชญานันท์ ภักดีจิตต์ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้บริหาร สผ. ให้การต้อนรับ ณ ห้อง Auditorium ชั้น 5 อาคารทิปโก้ 1 

โดย ดร.เฉลิมชัย ได้กล่าวเปิดงานพร้อมกับเน้นย้ำว่า ทส. มีเป้าหมายสำคัญเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาล และการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานบนพื้นฐานการเติบโตร่วมกัน อันจะนำไปสู่ “ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามแนววิถีใหม่ภายใต้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” ซึ่ง สผ. เป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบาย แผน และมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศให้คงความสมบูรณ์ ดังนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการผลักดันให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม นำเทคโนโลยีมาช่วยในการปรับตัวให้ส่วนราชการมีสมรรถนะสูง และมีความทันสมัย ทำงานด้วยความรวดเร็ว เพื่อเดินหน้าอย่างมีคุณภาพทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

นอกจากนี้ในงานดังกล่าว รมว.ทส. ได้มอบรางวัล “คนดี ศรี สผ.” เพื่อเชิดชูเกียรติบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อุทิศตน และสร้างคุณประโยชน์แก่หน่วยงานและสังคม ภายใต้วิสัยทัศน์ของ สผ. คือ “ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อประชาชน”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top