Monday, 19 May 2025
NewsFeed

ทรัมป์จ่อเลิกเอาผิดคนอเมริกันติดสินบนต่างชาติ อ้างช่วยธุรกิจอเมริกันแข่งเวทีโลก

(11 ก.พ.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ว่า เขามีแผนลงนามในคำสั่งบริหารที่กำหนดให้กระทรวงยุติธรรมหยุดการดำเนินคดีต่อชาวอเมริกันที่ถูกกล่าวหาว่าติดสินบนเจ้าหน้าที่ต่างชาติในการขยายธุรกิจในประเทศอื่นๆ โดยคำสั่งนี้มีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และกำหนดให้บังคับใช้กฎหมายต่อต้านการทุจริตในต่างประเทศ (FCPA) ปี 1977 อย่างมีความสมเหตุสมผล

กฎหมาย FCPA ถือว่าเป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรงหากมีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ต่างประเทศเพื่อขอรับประโยชน์ทางธุรกิจ รวมถึงการไม่มีกระบวนการบัญชีหรือระบบควบคุมภายในองค์กรที่ถูกต้อง ซึ่งถือเป็นการละเมิดทางอาญาที่สำคัญ

เอกสารที่เผยแพร่โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า คำสั่งบริหารนี้จะให้แพม บอนดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมระงับการบังคับใช้กฎหมาย FCPA จนกว่าจะมีการทบทวนกรอบคำแนะนำการบังคับใช้กฎหมายเพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันของอเมริกา

ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายในการปกป้องบรรดาบริษัทสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย FCPA ที่เข้มงวดเกินไป ซึ่งทำให้บริษัทเหล่านี้ไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศอย่างเท่าเทียมกับคู่แข่งจากประเทศอื่น

คำสั่งนี้ยังอ้างถึงความสำคัญของการมีความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ในแหล่งทรัพยากรสำคัญทั่วโลก เช่น แร่ธาตุ ท่าเรือน้ำลึก และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมความมั่นคงของสหรัฐฯ

ในปี 2024 กระทรวงยุติธรรมและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย FCPA ใน 26 คดี และมีบริษัทอย่างน้อย 31 แห่งที่อยู่ภายใต้การสืบสวนจนถึงช่วงปลายปี

DIPROM ชวนร่วมโครงการ Angel Fund Connect พร้อมขยายเวลาสมัครร่วมชิงทุนสนับสนุนถึง 20 ก.พ.นี้

(11 ก.พ. 68) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ขอเชิญ Startup ที่เคยเข้าร่วมโครงการ DIPROM Angel Fund และ DIPROM Startup Connect สมัครเข้าร่วม โครงการ Angel Fund Connect 2025 เพื่อเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนและตลาดให้ธุรกิจของคุณเติบโต พร้อมกับชิงเงินสนับสนุนธุรกิจมูลค่ารวมกว่า 4 ล้านบาท

สำหรับโครงการนี้ เหมาะสำหรับผู้ประกอบการประสบปัญหาขายของไม่ได้, กำไร 1 บาท หาได้ยากกว่าเดิม ต้องเตรียมพร้อมหาโอกาสตลาดใหม่ๆ รวม รวมถึงอยากต่อยอดธุรกิจแต่แหล่งเงินทุนหายากเหลือเกิน

พร้อมกันนี้ DIPROM ยังเปิดโอกาสสำหรับ Influencer / Content Creator / Marketer ที่มีไอเดีย ปัง! มีแพลตฟอร์ม พร้อม! และต้องการพาธุรกิจไปไกลกว่าเดิม สมัครเข้าร่วมโครงการ Angel Fund Connect เพื่อต่อยอดธุรกิจ และเปลี่ยนคอนเทนต์ให้เป็นทุน! พร้อมร่วมชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านบาท

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อได้ที่ กองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่  กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร.02-430-6873 ต่อ 1625 หรือ สมัครได้ที่ลิ้งค์ : https://forms.gle/PerABjPkUx2QJVph8
ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568

ครบ 3 ปีรถไฟจีน-ลาว เชื่อมไทย-จีน ขนสินค้าดันเศรษฐกิจภูมิภาคโต สร้างการเดินทางข้ามประเทศ 1.6 ล้านครั้ง

(11 ก.พ.68) นับตั้งแต่ที่ทางรถไฟจีน-ลาวเปิดดำเนินการเมื่อกว่า 3 ปีก่อน ทางรถไฟสายนี้ไม่เพียงแต่กระชับความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ลาว แต่ยังช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสำหรับไทยเองแล้ว ทางรถไฟจีน-ลาวยังถือเป็นโลจิสติกส์รูปแบบใหม่สำหรับการค้ากับจีน

รายงานระบุว่าการเปิดใช้งานจุดขนถ่ายสินค้าสถานีเวียงจันทน์ใต้บนทางรถไฟจีน-ลาวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2022 นับเป็นก้าวสำคัญของการเชื่อมโยงระบบรางระหว่างจีน ลาว และไทย โดยตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งบรรทุกทุเรียน ลำไย และสินค้าอื่น ๆ จากไทยถูกนำเข้าสู่จีนผ่านทางรถไฟจีน-ลาว ส่วนสินค้าส่งออกจากจีน เช่น เบียร์และยา ถูกขนส่งสู่ไทยผ่านเส้นทางสายนี้ด้วยเช่นกัน

บริษัท การรถไฟแห่งประเทศจีน สาขานครคุนหมิง จำกัด รายงานว่ามีขบวนรถไฟสินค้าที่วิ่งผ่านทางรถไฟจีน-ลาว-ไทยโดยตรง จำนวน 272 ขบวน ในปี 2024 ซึ่งขนส่งสินค้าทั้งหมด 144,900 ตัน ตัวเลขข้างต้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 และร้อยละ 71.7 เมื่อเทียบปีต่อปี ตามลำดับ

นอกจากนี้ จีนและไทยได้ร่วมกันสำรวจรูปแบบการขนส่งที่ผสมผสานระหว่างทางถนนและทางราง โดยมีการขนส่งผลไม้สด ผัก และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่เย็นจากไทยทางถนนสู่นครหลวงเวียงจันทน์ ก่อนจะขนถ่ายขึ้นขบวนรถไฟด่วนจีน-ลาวเพื่อส่งตรงถึงนครคุนหมิงของจีน ซึ่งช่วยลดต้นทุนการขนส่งและรับประกันการหมุนเวียนสินค้าที่มีประสิทธิภาพ

นอกเหนือจากการค้าแล้ว ทางรถไฟจีน-ลาวยังส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนและวัฒนธรรม โดยตลอดช่วงสามปีที่ผ่านมา ปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารต่อเดือนเพิ่มขึ้นจากกว่า 6 แสนครั้งช่วงเริ่มให้บริการ อยู่ที่มากกว่า 1.6 ล้านครั้ง ซึ่งช่วยยกระดับการเชื่อมโยงและสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมในภูมิภาค

‘อัครเดช’ ประสานความร่วมมือทูตพาณิชย์รัสเซีย เร่งดัน FTA ไทย-รัสเซีย เชื่อสร้างประโยชน์การค้า 2 ประเทศ

(11 ก.พ. 68) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี เขต 4 และโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า จากการที่ตนได้หารือกับนาย Yuri Lyzhin ทูตพาณิชย์ของกระทรวงพาณิชย์รัสเซีย และตัวแทนผู้ประกอบการของรัสเซีย เช่น นาย Ivan D. Ignatov จากบริษัท RUSAL และนาย Artem Asatur จากบริษัท Aluminium Association ที่ฝ่ายรัสเซียมีข้อเสนอในการจัดทำเขตการค้าเสรี(Free Trade Area) กับทางรัฐบาลไทย เพื่อส่งเสริมและยกระดับเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนในไทยของนักธุรกิจชาวรัสเซียให้มากขึ้น เนื่องด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพและโอกาสในการเติบโตของประเทศไทย ซึ่งตนเห็นด้วยและได้ตอบรับกับแนวคิดดังกล่าว พร้อมตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อศึกษาร่างกฎระเบียบและข้อตกลง FTA ไทย-รัสเซียด้านอุตสาหกรรมโลหะโดยเฉพาะอลูมิเนียมเพื่อยกระดับการค้าการลงทุนของทั้ง 2 ประเทศโดยนำเสนอรัฐบาลผ่านสภาผู้แทนราษฎร

“ในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ไทยกับรัสเซียจะร่วมกันเจรจาผลักดัน FTA ไทย-รัสเซีย ให้ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม หลังทั้งคู่เคยพยายามผลักดันร่วมกันมาตั้งแต่ 6 ปีที่แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้จนถึงปัจจุบัน โดยในครั้งนี้ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรมสภาผู้แทนราษฎรจะเข้ามาร่วมสนับสนุน เพื่อดำเนินการจัดทำข้อตกลง FTA ไทย-รัสเซีย ให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการ อันจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจและสร้างผลประโยชน์อันมหาศาลให้กับทุกภาคส่วนในประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการและภาคแรงงาน เพราะถ้า FTA ดำเนินการแล้วเสร็จจนมีผลบังคับใช้ ตนเชื่อว่ารัสเซียจะเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นอย่างแน่นอน ในทางเดียวกันผู้ประกอบการไทยก็จะสามารถส่งสินค้าไปขายในรัสเซียได้ปริมาณมากขึ้น เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับไทยได้มากยิ่งขึ้นเช่นกัน” นายอัครเดช กล่าวทิ้งท้าย

ทรัมป์เปิดปาก!! บอกบางส่วนของยูเครนอาจรวมกับรัสเซีย มอสโกชี้ช่องประชาชนลงประชามติหนุนเข้าร่วม

(11 ก.พ.68) โฆษกของเครมลิน ดมิทรี เปสคอฟ กล่าวเมื่อวันอังคารว่า พื้นที่ส่วนสำคัญของยูเครนต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และเป็นข้อเท็จจริงที่ประวัติศาสตร์ได้ยืนยันแล้ว

คำพูดของโฆษกรัสเซียมีขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวว่า ยูเครนควรรับประกันความปลอดภัยของเงินทุนจากสหรัฐฯ ที่ได้ลงทุนในประเทศนี้ เพราะบางส่วนอาจจะกลายเป็นรัสเซียในอนาคต หรืออาจจะไม่เป็นรัสเซียในวันข้างหน้าก็ย่อมได้

เรื่องดังกล่าวทางด้านโฆษกรัสเซียออกมาแถลงว่า "มันเป็นข้อเท็จจริงที่ส่วนสำคัญของยูเครนต้องการที่จะเป็นรัสเซีย และได้กลายเป็นรัสเซียแล้ว นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริงบนโลกนี้ ด้วยการที่มีการเข้าร่วมในสหพันธรัฐรัสเซียในสี่ภูมิภาคใหม่ ซึ่งประชาชนที่แม้จะต้องเผชิญกับอันตรายมากมายก็ยังยืนเข้าแถวและลงประชามติในการเข้าร่วมสหพันธรัฐรัสเซีย คำพูดดังกล่าวสอดคล้องกับคำพูดของประธานาธิบดีทรัมป์เป็นอย่างมาก"

เปสคอฟยังกล่าวเพิ่มเติมว่า หากมีการลงประชามติ ปรากฏการณ์ใด ๆ อาจเกิดขึ้นได้ด้วยความน่าจะเป็น 50/50

"คุณรู้ไหมว่า ปรากฏการณ์ใด ๆ เกิดขึ้นได้ด้วยความน่าจะเป็น 50% อาจเป็นใช่หรือไม่ใช่ ผมไม่สามารถบอกอะไรได้มากกว่านี้" เปสคอฟกล่าว

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (10) : ‘การปล่อยให้เอกชนผลิตไฟฟ้ามากขึ้น’ ทำให้ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ จริงหรือไม่!!!

(11 ก.พ. 68) “การปล่อยให้การผลิตไฟฟ้าไปอยู่ในมือของภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ” เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ นักวิชาการ NGO และสื่อบางสำนัก มักหยิบยกมากล่าวอ้างว่า มีส่วนสำคัญที่ทำให้ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ซึ่งกลับกลายเป็นความย้อนแย้งกับการเรียกร้องให้ “เพิ่มการใช้กลไกตลาดเข้าไปในระบบไฟฟ้า เพื่อทำให้เกิด ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ อย่างเสรี” ขึ้นในประเทศไทย เพราะ ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ อย่างเสรี ย่อมหมายถึงผู้ประกอบการเอกชนสามารถที่จะเข้ามามีบทบาทใน ‘กิจการไฟฟ้า’ มากขึ้นทั้งระบบตั้งแต่ ‘ต้นน้ำ’ ไปจนกระทั่งถึง ‘ปลายน้ำ’ 

โดยที่ มาตรา 56 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ได้ระบุเอาไว้ว่า “รัฐต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง ตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามรัฐธรรมนูญ และในวรรคสอง ได้ระบุว่า “โครงสร้างหรือโครงข่ายพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ โดยความมั่นคงของรัฐนั้นจะให้เอกชนเป็นเจ้าของเกิน 51 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้” ดังนั้น แม้ว่า เอกชนจะเข้ามามีบทบาทในกิจการไฟฟ้า โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น แต่คงอยู่ในกรอบกติกาภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งมีการวางแผนและกำหนดนโยบายโดย กพช. และกำกับดูแลการประกอบกิจการโดย กกพ. มี กฟผ. ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการในส่วนของการซื้อและขายไฟฟ้า จากข้อมูล ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 กำลังผลิตตามสัญญาของระบบที่กฟผ. รับผิดชอบดูแลบริหารจัดการคือ 51,414.30 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นของ กฟผ. 31.62% เอกชนรายใหญ่ (IPP) 38.12% เอกชนรายเล็ก (IPP) 18.13% และนำเข้าจากต่างประเทศอีก 12.13% (ในส่วนของเอกชนรายใหญ่ (IPP) รายหนึ่งคือ RATCH มีกฟผ. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่หนึ่ง (45%)

การที่ผู้ประกอบการเอกชนเข้ามามีส่วนในการผลิตไฟฟ้าเกิดจากรัฐบาลในปี พ.ศ. 2533 ได้ให้การส่งเสริมเอกชนได้เข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้า เพื่อจะเป็นการเพิ่มการแข่งขันในกิจการพลังงานไฟฟ้า ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและผู้บริโภคมีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังจะเป็นการลดภาระการลงทุนของรัฐและลดภาระหนี้สินของประเทศ ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กรณีของโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ซึ่งใช้ระบบพลังงานความร้อนร่วม เป็นต้น ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับบริการและคุณภาพไฟฟ้าที่ดีขึ้น เป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการด้านพลังงานของประเทศ และเป็นส่วนในการช่วยพัฒนาตลาดทุนของประเทศอีกด้วย

ด้วย นโยบายลดภาระการลงทุนภาครัฐ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของรัฐบาลในปี พ.ศ. 2535 ทำให้มีมติ ครม. เห็นชอบเรื่องแนวทางในการดำเนินงานในอนาคตของ กฟผ. โดยกำหนดขั้นตอนและแนวทางให้เอกชนมีบทบาทมากขึ้นในกิจการไฟฟ้าของไทย ให้มีการลงทุนจากภาคเอกชนในการผลิตไฟฟ้ารูปแบบของผู้ผลิตไฟฟ้าฟ้าอิสระหรือรายใหญ่ (IPP) ต้องขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. เท่านั้น และให้ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก (SPP) ซึ่งใช้พลังงานนอกรูปแบบ เป็นการแบ่งเบาภาระทางด้านการลงทุนของรัฐในระบบการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าด้วย โดย กฟผ. ได้ประกาศรับซื้อไฟจากเอกชนรายใหญ่เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 ซึ่งปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจะอยู่ภายใต้มติเห็นชอบของ ‘คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)’ มาจนถึงปัจจุบัน และ ‘คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)’ ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน อันหมายถึง กิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซธรรมชาติ และกิจการระบบโครงข่ายพลังงาน

สภาพการณ์ที่เป็นอยู่ของ ‘กิจการไฟฟ้า’ ทั้งระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ น่าจะมีความเหมาะสมที่สุดกับบริบทของประเทศไทยแล้ว ด้วย ‘กิจการไฟฟ้า’ ยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ ด้วยความเป็นกิจการรัฐวิสาหกิจจึงคงวัตถุประสงค์และความมุ่งหมายในการเป็นกิจการที่ดำเนินงานเพื่อบริการสาธารณะสำหรับประชาชนคนไทย ในอีกมิติหนึ่งที่มีความสำคัญคือ ความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งปรากฏให้เห็นในหลาย ๆ ประเทศ อาทิ ประเทศเพื่อนบ้านด้านตะวันตก ซึ่งมีปัญหาไฟฟ้าดับเป็นประจำ จนกิจการธุรกิจต่าง ๆ ต้องมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไว้ใช้เอง หรือหลาย ๆ ประเทศในละตินอเมริกา ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจนปัจจุบัน ทั้งนี้ จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการที่จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ความต้องการไฟฟ้าในภูมิภาคอเมริกากลางและใต้จึงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และส่งผลให้เกิดความขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าไปทั่วทั้งภูมิภาค ตั้งแต่บราซิลที่ขาดแคลนทรัพยากรไปจนถึงเวเนซุเอลาซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันเอง ท่ามกลางความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ภูมิภาคนี้ต้องดิ้นรนกับปัญหาต่าง ๆ มากมายในการสร้างกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ บราซิลและชิลีได้ชะลอแผนการสร้างเขื่อนพลังงานน้ำแห่งใหม่เมื่อไม่นานนี้ อันเนื่องจากปัญหาสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม จนทำให้ทั้งสองประเทศต้องมองหาแหล่งพลังงานอื่นเพื่อตอบสนองความต้องการที่คาดการณ์ไว้ ในโคลอมเบียการก่อการร้ายภายในประเทศส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานการส่งและจำหน่ายไฟฟ้าในเขตชนบทหลายแห่งต้องถูกทำลายลง ภูมิภาคนี้โดยรวมจึงมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าที่สูงมาก 

ในตอนต่อไปจะได้อธิบายถึงข้อเท็จจริงในรายละเอียดให้ผู้อ่าน TST ได้พอรู้และเข้าใจในเรื่องของ “การมี ‘ไฟฟ้าสำรอง’ มากจนเกินความต้องการ จนทำให้ ‘ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment หรือ ค่า AP)’ อันเป็นต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่กฟผ. ต้องจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชน เป็นค่าความพร้อมในการเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า ไม่ว่าโรงไฟฟ้าจะผลิตหรือไม่ก็ตาม ซึ่งถือเป็นเป้าหลักที่สำคัญและใหญ่ที่สุดที่นักวิชาการ NGO และสื่อบางสำนัก ได้ระบุเอาไว้ว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ว่าเป็นจริงดังที่มีการนำมาหยิบยกกล่าวอ้างหรือไม่ 

‘เจือ ราชสีห์’ เตรียมเสนอ!! ‘นายกฯ อิ๊งค์’ ให้เร่งพัฒนาภาคใต้ ให้เจริญ ดันงบ!! ‘สร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา – สร้างโรงพยาบาลเมืองสงขลา’

(12 ก.พ. 68) นายเจือ ราชสีห์ ที่ปรึกษาของรองนายกรัฐมนตรีและของ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ในโอกาสที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จังหวัดสงขลา วันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ นี้ ตนขอให้ นายกรัฐมนตรี ช่วยนำงบประมาณลงมาพัฒนาภาคใต้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะจังหวัดสงขลา ซึ่งตนได้รับการร้องเรียนจากชาวจังหวัดสงขลา อยากให้มีการพัฒนาหลายๆ ด้าน จึงขอฝากให้นายกรัฐมนตรีช่วยแก้ไขปัญหาให้ คือ

1. โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา จากฝั่งเทศบาลนครสงขลา จังหวัดสงขลา ไปยังฝั่งอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โครงการนี้เป็นความหวังของชาวสงขลามานาน โดยเฉพาะการเชื่อมต่อเทศบาลนครสงขลา จังหวัดสงขลา ไปยังฝั่งอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจร ลดระยะทางการเดินทาง และส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ได้อย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางระหว่างจากฝั่งเทศบาลนครสงขลา จังหวัดสงขลา ไปยังฝั่งอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ยังคงต้องใช้เส้นทางอ้อมเป็นระยะทางไกล หรือใช้บริการแพขนานยนต์ข้ามฟาก ซึ่งไม่สามารถรองรับปริมาณการเดินทางที่เพิ่มขึ้นได้ อีกทั้งแพขนานยนต์ข้ามฟากสามารถใช้ได้จนถึง 22.00 น. เท่านั้น ซึ่งในช่วงเช้า-ช่วงเย็น ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ไม่สะดวกในการเดินทาง และกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลา โดยตนเคยยื่นเรื่องนี้ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาไปแล้ว และขณะนี้มีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง กรมทางหลวงชนบท ได้ตั้งงบประมาณในปี พ.ศ. 2569 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ ถ้าการศึกษาของกรมทางหลวงชนบทผ่าน ขอให้นายกรัฐมนตรีช่วยอนุมัติงบประมาณ ด้วย

2. สร้างโรงพยาบาลอำเภอเมืองสงขลา หรือโรงพยาบาลจังหวัดสงขลา2 เป็นการคืนโรงพยาบาลให้กับพี่น้องในเขตเทศบาลนครสงขลา และตำบลใกล้เคียงด้วย หลังจากที่โรงพยาบาลจังหวัดสงขลา ได้ย้ายออกจากเทศบาลนครสงขลา ไปตั้งอยู่ในตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ทำให้พี่น้องในเขตเทศบาลนครสงขลา และตำบลใกล้เคียงได้รับความเดือดร้อน ซึ่งพี่น้องในเขตเทศบาลนครสงขลาและตำบลใกล้เคียง อยากได้โรงพยาบาลที่มีศักยภาพ มีความพร้อมเพื่อดูแลผู้ป่วยในได้ และเพื่อให้พี่น้องได้เข้าถึงสิทธิในการบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ

‘นิว จตุพร’ ผู้ต้องหาคดี 112 หนีไปนอก ‘ตั้ง อาชีวะ’ รอรับ!! ประเทศปลายทาง

(12 ก.พ. 68) นางสาวจตุพร แซ่อึง หรือ นิว นักกิจกรรมจากจังหวัดบุรีรัมย์วัย 27 ปี ผู้ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ

ได้โพสต์เฟซบุ๊กเช็คอินที่เมืองออกแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นรูปนายเอกภพ เหลือราหรือ “ตั้ง อาชีวะ” เป็นผู้มารอรับที่สนามบิน ว่า

“ขอบคุณครับที่มารับถึงสนามบินเลยยยยยย แถวนี้ไม่มีฝุ่นเลยครับ ”

ด้านนายเอกภพ เหลือรา หรือ ตั้ง อาชีวะ ได้แสดงความคิดเห็นด้วยว่า “พี่ช่วยได้เท่าที่ช่วยได้น้องเอ้ย ที่เหลือก็ต้องลุยเองแล้วนะ ขอให้สนุกกับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ครับ เพราะ112ทำให้เราได้มาเจอกัน555” “รอดไปถึงฝั่งอีกคนละ ขอให้มีความสุขในการเริ่มต้นใหม่นะ เริ่มต้นชีวิตใหม่ในประเทศที่มอบโอกาสที่มาพร้อมกับความเท่าเทียม และไม่มี112”

ทั้งนี้ คำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ ของคดี น.ส.จตุพร นั้น ศาลได้พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย 

พระมหากษัตริย์ พระราชินีฯ ยืนตามศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี ในข้อหาตามมาตรา 112 และปรับ 1,000 บาท ในข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ต่อมาวันที่ 21 ส.ค. 2567 ศาลฎีกาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจตุพร โดยเห็นว่า “พิเคราะห์ข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าโทษตามคำพิพากษาไม่สูงมากนัก จำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวตลอดไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกา ตีราคาประกัน 200,000 บาท 

โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำหรือเข้าร่วมกิจกรรมซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ในลักษณะเดียวกับการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง และห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาหลักประกัน แจ้งเงื่อนไข แจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

‘อรพินทร์ เพชรทัต’ เลขาฯ รมว.พลังงาน แจงด่วน!! หลังถูกแอบอ้าง!! ขอยืมเงิน ชวนลงทุน ‘หุ้น-ทองคำ’

(12 ก.พ. 68) นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ข้อความ ระบุว่า

เรียนประชาชนทุกท่าน

ขณะนี้มีบุคคล-กลุ่มบุคคลได้แอบอ้าง ปลอมแปลง Facebook-TikTok และ Line ของข้าพเจ้า นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต ทำให้ข้าพเจ้าฯ เสื่อมเสียชื่อเสียง และสร้างความเสียหาย เดือดร้อนให้กับประชาชนที่หลงเชื่อในเรื่อง ดังนี้ 

ใช้ชื่อข้าพเจ้าฯ แอบอ้างเพื่อเชิญชวนลงทุนเรื่องทองคำ หุ้น และเรื่องต่างๆ

ใช้ชื่อข้าพเจ้าฯ แอบอ้างเพื่อการขอยืมเงิน

ข้าพเจ้าฯ ขอปฏิเสธในทุกเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น 

และขอแจ้งยืนยันสื่อโซเชียลมีเดียที่เป็นของข้าพเจ้าฯ จริงในปัจจุบัน โดยมีรายละเอียดปรากฎตามรูปภาพด้านล่างนี้ 

รบกวนทุกท่านช่วยกันแชร์ข้อความนี้ เพื่อช่วยปกป้องประชาชนบริสุทธิ์ และช่วยกำจัดมิจฉาชีพ

นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต

เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 

เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน!!

(12 ก.พ. 68) จากการเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ของพรรคเพื่อไทย ช่วงการหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 ในวันที่ 27 เมษายน ณ สนามหน้าเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช มีข้อความตอนหนึ่งในคำปราศรัยของผม นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวถึงนายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรีธรรมราชหลายสมัย ว่าเป็นผู้คัดค้านการก่อสร้างถนนเลียบชายฝั่งทะเลเขาพลายดำ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช และล่ารายชื่อประชาชนเพื่อขัดขวางโครงการดังกล่าว

ข้อมูลการปราศรัยผมอ้างอิงจากบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ต่อมาได้ตรวจสอบพบว่ามีความเข้าใจคลาดเคลื่อน นายวิทยาไม่ได้คัดค้าน และล่ารายชื่อประชาชนเพื่อขัดขวางโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด 
ผมจึงขออภัยต่อนายวิทยา แก้วภราดัย ในความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และคำปราศรัยที่ทำให้เกิดความเสียหายไว้ ณ ที่นี้

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

ผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อไทย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top