หายใจอีกไม่กี่ที กะพริบตาอีกไม่กี่หนก็จะถึงช่วงเวลาที่ 'คนไทย' ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กว่า 52 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรก หรือที่เรียกว่า 'นิวโหวตเตอร์' จำนวนกว่า 8.1 แสนคน จะได้ใช้อำนาจทางการเมืองผ่านปลายปากกา เลือกผู้แทนราษฎรเข้าสภาอีกครั้ง
ไม่ว่าเงื่อนไขที่นำไปสู่การเลือกตั้ง จะเกิดจากการยุบสภา หรือ การสิ้นสุดวาระของสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม หากไม่มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อน หรืออุบัติเหตุเกิดขึ้น คาดว่าห้วงเวลาของการจัดการเลือกตั้งใหญ่ จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้
แต่ก่อนจะถึงวันเข้าคูหา กากบาทเลือกพรรคที่ชอบ & คนที่ใช่ The State Times ขอหยิบยกเอาเรื่องราวการเลือกตั้งของประเทศไทย นับจากอดีต สู่ปัจจุบัน มาบอกเล่ากัน โหมโรงเรื่องแรก #เลือกตั้งสตอรี่ เราพาย้อนเวลากลับไป ในวันที่คนไทยทุกคน เริ่มต้นเป็น 'นิวโหวตเตอร์' ในการเลือกตั้งครั้งแรก
กว่า 90 ปีก่อน ห้วงเวลาแห่งการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 คือวันที่นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบอบการเมืองไทย ซึ่งขณะนั้นยังใช้ชื่อสยาม จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเปลี่ยนรูปแบบการปกครองมาเป็นระบบรัฐสภา
กลไกการปกครองแบบประชาธิปไตยถูกประกอบสร้างและเริ่มวางรากฐานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ การจัดการเลือกตั้ง การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการเปิดทางให้มีการจัดตั้งพรรคการเมือง
แค่ราว 1 ปี หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 10 ธันวาคม 2475 รัฐบาลคณะราษฎร ซึ่งมีพระยาพหล พลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 โดยเป็น 'การเลือกตั้งทางอ้อม' ครั้งเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทย