Tuesday, 20 May 2025
NewsFeed

ม็อบ 3 นิ้ว นัดชุมนุมใหญ่ 20 มี.ค. ที่สนามหลวง ผุดกิจกรรมพับจดหมายส่งข้ามรั้ววัง เรียกร้องให้มีการจำกัดอำนาจกษัตริย์ ยันไม่มีเดินขบวน ไม่มีแกนนำ เริ่ม 6 โมงเย็น เลิก 3 ทุ่ม

วันที่ 17 มี.ค. 2564 เพจ ‘เยาวชนปลดแอก - Free YOUTH’ ได้โพสต์ข้อความนัดมวลชนร่วมชุมนุม ในวันที่ 20 มี.ค. นี้ โดยระบุว่า การต่อสู้ของผู้ถูกกดขี่ได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง ร่วมลั่นกลองรบและเคลื่อนพลไปพร้อมกัน

สนามราษฎร จะไม่ได้เป็นเพียงที่เผาศพอีกต่อไป มวลชนรีเดมทุกท่านโปรดเตรียมความพร้อมสู้ศึกครั้งนี้ โดยภายในงานประกอบด้วย Highlights คือ

ส่งสารเรียกร้องให้มีการจำกัดอำนาจกษัตริย์และลงมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่หลากหลาย ร่วมกันแสดงพลังหยุดระบอบกษัตริย์เหนือรัฐธรรมนูญ และทวงคืนประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน

นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า สภาคว่ำร่างรัฐธรรมนูญแล้ว เมื่อค่ำคืนที่ผ่านมานี้คือการปิดตายทางออกของประเทศผ่านช่องทางสภา และกระทำการเยี่ยงกบฏต่อประชาชน

ทั้งนี้ การคว่ำครั้งนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ส.ว.คือผู้เป็น #ปฏิปักษ์ ต่อการนำพาประเทศให้พ้นวิกฤติ แล้วใครแต่งตั้งส.ว.หรือ? หากมิใช่คณะรัฐประหารที่ #กษัตริย์ เซ็นรับรอง

วันที่ 20 มีนาคมนี้ มวลชน REDEM ได้นัดหมายไปสนามราษฎร เพื่อส่งจดหมายถึงคนสั่งล้มรัฐธรรมนูญโดยตรง พร้อมกัน 18.00 น. ที่สนามหลวง และยุติการชุมนุมในเวลา 21.00 น.

* ไม่มีการเดินขบวน ไม่มีแกนนำ ร่วมกันแสดงพลังให้เต็มพื้นที่ นำกิจกรรมมาร่วมกันทำ นี่คือพื้นที่ของประชาชนทุกคน!”


ที่มา : https://www.facebook.com/FreeYOUTHth/photos/a.115688233213576/475821403866922/

ศึกษาธิการ ประชุมปรับนโยบาย ป้อนนักวิทยาศาสตร์สู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ตอบโจทย์กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต พร้อมขยายฐานส่งนักวิจัย/นักวิทยาศาสตร์ทุน พสวท. ชดใช้ทุนในหน่วยงานวิจัยเอกชน

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ รักษาราชการแทน รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 38-1/2564 ณ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายฐานหน่วยงานเอกชนที่มีหน่วยปฏิบัติงานวิจัยและพัฒนาสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ให้ผู้สำเร็จการศึกษาทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ทุน พสวท.) สามารถปฏิบัติงานตอบแทนทุนได้ในเบื้องต้น 46 แห่ง

โดยมีผู้สำเร็จการศึกษาจากทุน พสวท. เข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานเอกชนเป็นกรณีนำร่องแล้ว เช่น บริษัท เอสบีซี อบาคัส จำกัด สถาบันวิทยสิริเมธี บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นต้น ทั้งนี้ผู้สำเร็จการศึกษา จะต้องรายงานความก้าวหน้าการทำวิจัยทุก 6 เดือน และในการประชุมครั้งนี้ได้มีมติให้เพิ่มหน่วยงานเอกชนอีก 1 แห่ง คือ บริษัท ฮอทิเจนเนติคส์ รีเสิร์ช (เอส.อี.เอเซีย) รวมเป็น 47 แห่ง

การที่นักวิจัยเป็นผู้สำเร็จการศึกษาทุน พสวท. ได้เข้าร่วมในหน่วยปฏิบัติงานวิจัยและพัฒนาที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในหน่วยงานเอกชน ตามที่มีแผนพัฒนาร่วมกัน นับว่าเป็นการขยายฐานการวิจัยเพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศได้ตรงจุด

รวมทั้งทำให้นักวิจัยได้รับการสนับสนุนในด้านเทคโนโลยีและทรัพยากรที่เหมาะสม ทันสมัยจากภาคเอกชน ส่งผลให้เกิดขวัญกำลังใจที่จะสร้างงานวิจัยตอบแทนประเทศ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์แรกเริ่มของการให้ทุน พสวท. คือ ต้องการสร้างนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์ศักยภาพสูงมาร่วมพัฒนาประเทศ

“นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติให้ปรับเพิ่มสาขาวิชาที่สามารถเลือกศึกษาในระดับปริญญาตรีสู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล เพื่อตอบโจทย์กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ภายใต้แนวคิดที่ว่า ประเทศไทยสามารถผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจใน 2 รูปแบบ ได้แก่ 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต”

“5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (FIRST S-CURVE) คือ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหาร

5 อุตสาหกรรมอนาคต (NEWS - CURVE) คือ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ ดิจิทัล เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และการแพทย์ครบวงจร”

จากเดิมการรับทุน พสวท. ระดับปริญญาตรี สามารถเลือกศึกษาได้เฉพาะด้านวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ 6 สาขาวิชา (คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ธรณีวิทยา และพฤกษศาสตร์) จึงได้ปรับเพิ่มให้สามารถเลือกศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ได้ โดยให้พิจารณาสัดส่วนระหว่างวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์กับวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ อีก 42 หลักสูตร

เช่น จุลชีววิทยา เคมีบูรณาการ เคมีอุตสาหกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ วัสดุศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์การกีฬา วิทยาการข้อมูล วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์พอลิเมอร์ วิทยาศาสตร์ชีวภาพรังสี วิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ เป็นต้น

ศาสตราจารย์ ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาทุน พสวท. 1,732 คน เข้าปฏิบัติงานตอบแทนทุนตามหน่วยงานต่าง ๆ 1,692 คน อยู่ระหว่างรอบรรจุเข้าตอบแทนทุน 40 คน

ซึ่งผู้สำเร็จการศึกษาได้สร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ รวมถึงสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมจำนวนมาก และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ 19 คน ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติในระดับชาติและนานาชาติ และทุนวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ 62 รางวัล

และยังมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติจนเป็นที่ยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์ ขณะที่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ผู้สำเร็จการศึกษาจำนวนหนึ่งได้สร้างนวัตกรรม งานวิจัย พัฒนา และสื่อสารข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ COVID-19 ที่ถูกต้อง

ในส่วนของการดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ตลอดระยะเวลา 24 ปีที่ผ่านมา มีผู้สำเร็จการศึกษาทุน สควค. และเข้าปฏิบัติงานในโรงเรียนและหน่วยงานทางการศึกษา 5,397 คน ซึ่งนอกจากได้ปฏิบัติงานสอน พัฒนาและส่งเสริมนักเรียนให้ได้รับรางวัลในเวทีการประกวดต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว

ยังมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการเรียนการสอนของประเทศ โดยร่วมเป็นวิทยากรแกนนำในโครงการต่าง ๆ ของ สสวท. ร่วมเป็นคณะทำงานในโครงการต่าง ๆ ของ สพฐ. ตลอดจนได้รับรางวัลหนึ่งครูแสนดี 44 คน รางวัลครูสอนดี ครูดีเด่น ครูดีเยี่ยม ครูดีในดวงใจ 94 คน รางวัล OBEC AWARDS 18 คน รางวัลวิจัยคุรุสภา 9 คน รางวัลครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น 4 คน และรางวัลอื่น ๆ อีกจำนวนมาก และบางส่วนได้รับเชิญเป็นกรรมการระดับนานาชาติ

ทั้งนี้ สสวท.ได้เสนอขออนุมัติการดำเนินงานโครงการ สควค. ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2564-2567) โดยมุ่งเน้นพัฒนาทักษะสำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้าน Digital Literacy การทำวิจัยในชั้นเรียน และการนำการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ หรือใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี


ที่มา: https://moe360.blog/2021/03/17/new-engine-of-growth/?fbclid=IwAR0sOF03nwgjp4N7QP684Q-jXmi4p9iT4d26ZdYz7W41cZHenZtPrNGJZw4

ราชกิจจานุเบกษา ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา และการชำระเงินคืนกองทุน ใช้บังคับตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป

เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเงินให้ กู้ยืมเพื่อการศึกษา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและการชำระเงินคืนกองทุน พ.ศ. 2563 ความว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงระเบียบคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและการชำระเงินคืนกองทุน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19 (7) และ (17) มาตรา 39 มาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 44 และมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 คณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาในการประชุมครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 ได้มีมติให้ออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและการชำระเงินคืนกองทุน พ.ศ. 2563”

ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับกับการดำเนินการให้กู้ยืมเงินตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป

ข้อ 3 ให้ยกเลิก

(1) ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและการชำระเงินคืนกองทุน พ.ศ. 2561

(2) ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและการชำระเงินคืนกองทุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

ข้อ 4 ในระเบียบนี้

“กองทุน” หมายความว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

“ผู้กู้ยืมเงิน” หมายความว่า นักเรียนหรือนักศึกษาผู้ได้รับเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 และให้หมายความรวมถึงนักเรียนหรือนักศึกษาผู้ได้รับเงินกู้ยืมตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541 และนิสิตหรือนักศึกษาผู้รับทุนการศึกษาแบบต้องใช้คืนจากกองทุนเพื่อการศึกษาตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการบริหารกองทุนเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติมที่ออกตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 ด้วย

“เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา” หมายความว่า เงินที่กองทุนจัดสรรให้ผู้กู้ยืมเงินเพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพ

“นักเรียนหรือนักศึกษา” หมายความว่า ผู้ซึ่งศึกษาอยู่ในสถานศึกษา และให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับการตอบรับให้เข้าศึกษาในสถานศึกษาด้วย

“สถานศึกษา” หมายความว่า โรงเรียน สถาบันอุดมศึกษา หรือสถานศึกษาอื่นของรัฐ โรงเรียนของเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนและสถาบันอุดมศึกษาของเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

“ค่าเล่าเรียน” หมายความว่า เงินค่าเล่าเรียน ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่สถานศึกษาเรียกเก็บจากนักเรียนหรือนักศึกษา

“ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา” หมายความว่า ค่าใช้จ่ายอื่นที่มิใช่ค่าเล่าเรียนที่สถานศึกษาเรียกเก็บจากนักเรียนหรือนักศึกษาตามระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งของสถานศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา

“ค่าครองชีพ” หมายความว่า ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีพระหว่างศึกษา

“สถาบันการเงิน” หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือธนาคารที่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

“นิติบุคคล” หมายความว่า นิติบุคคลไทยที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย

“ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

“ผู้จัดการ” หมายความว่า ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

ข้อ 5 ในการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและการชำระเงินคืนกองทุน ให้กองทุนสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา นักเรียนหรือนักศึกษาผู้ขอกู้ยืมเงิน ผู้กู้ยืมเงิน และผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 และตามระเบียบนี้ รวมทั้ง กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของกองทุน ทั้งที่ออกใช้บังคับอยู่แล้ว และที่จะออกใช้บังคับต่อไปในภายหน้าโดยเคร่งครัด

ข้อ 6 ให้ผู้จัดการเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจวินิจฉัยปัญหาในการปฏิบัติตามระเบียบนี้ แล้วรายงานให้คณะกรรมการทราบ รวมทั้งการออกประกาศกำหนดแนวปฏิบัติเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมแนวทางและวิธีดำเนินการตามระเบียบนี้

หมวด 1 การให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา

ข้อ 7 กองทุนจะสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาด้วยการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ใน 4 ลักษณะ ดังต่อไปนี้

อ่านต่อทั้งหมด http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/058/T_0001.PDF

‘ดร.นิว’ ซัด ‘ปิยบุตร’ เสนอ ‘ความรุนแรง’ หวังเลียนแบบสงครามกลางเมืองฝรั่งเศส เชื่อน่าจะเป็นแกนนำตัวจริงที่อยู่เบื้องหลังม็อบ ยุยงปลุกปั่นอยู่หลังม่านโซเชียลมีเดียอย่างอำมหิต

ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ "ดร.นิว" นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Suphanat Aphinyan ว่า

ความเคลื่อนไหวล่าสุดหลังวาระ 3 ปิยบุตรเสนอ "สงครามกลางเมืองในฝรั่งเศส" ครั้งการปฏิวัติคอมมูนปารีส เผยเหตุผลว่าทำไมที่ผ่านมาปิยบุตรถึงชี้นำการรื้อถอนสถาบันการเมืองเดิมทิ้ง มุ่งหวังที่จะสร้างสถานการณ์เลียนแบบ

เป็นอย่างที่คาดไว้มาโดยตลอดว่าปิยบุตร แสงกนกกุล น่าจะเป็นแกนนำตัวจริงที่อยู่เบื้องหลังม็อบ ยุยงปลุกปั่นอยู่หลังม่านโซเชียลมีเดียอย่างอำมหิต

เพราะปิยบุตรจมปลักดักดานอยู่กับคอมมูนปารีสและความรุนแรงในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสอย่างโงหัวไม่ขึ้น เป็นที่มาของ RT ค้อนเคี้ยวคอมมิวนิสต์ ตลอดจน REDEM ประชาชนนารวม ที่กำลังเคลื่อนไหวไปสู่ความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน

กิโยติน #ม็อบ20มีนา แห่งความป่าเถื่อนของ #REDEM กับการเสนอสงครามกลางเมืองของปิยบุตรในระยะเวลาอันใกล้เคียงกัน คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

ประชาชนชาวไทยจะอดทนกับปิยบุตรที่คอยยุยงปลุกปั่นสร้างความแตกแยกไปสู่ความรุนแรงได้อีกนานแค่ไหน?

#ปิยบุตรนารวม #ปิยบุตรคอมมูนปารีส

ดร.ศุภณัฐ

18 มีนาคม พ.ศ. 2564

#ประชาธิปไตยTheseries by ดร.ศุภณัฐ


ที่มา : https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=3990143471048261&id=100001579425464

WHO ออกแถลงการณ์ แนะนำประเทศต่าง ๆ ใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ฉีดให้ประชาชนต่อไป ชี้ประโยชน์ที่ได้รับ มีมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์ในวันนี้ (17 มี.ค.) ระบุว่า ประเทศต่างๆควรใช้วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าต่อไป ในระหว่างที่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของ WHO ยังคงทำการพิจารณาทบทวนความปลอดภัยของวัคซีนดังกล่าว หลังมีรายงานการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนบางราย

“การฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ไม่ได้ช่วยลดอาการป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคอื่น โดยอาการลิ่มเลือดอุดตันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้บ่อย และอาการลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำนับเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจที่พบเห็นมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ทั่วโลก”

WHO ระบุว่า แม้เป็นเรื่องปกติที่ประเทศต่าง ๆ จะทำการแจ้งเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่เกิดจากการฉีดวัคซีน แต่สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่ามีความเชื่อมโยงโดยตรงกับการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ดี ถือเป็นเรื่องดีที่จะมีการสืบค้นในเรื่องนี้ และสิ่งนี้แสดงว่าระบบการเฝ้าระวังยังคงใช้การได้ ขณะที่ระบบการควบคุมยังคงมีประสิทธิภาพ

WHO แถลงว่า จะทำการเปิดเผยผลการสืบค้นต่อสาธารณะโดยเร็วที่สุด ทันทีที่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของ WHO เสร็จสิ้นการพิจารณาทบทวนความปลอดภัยของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งขณะนี้ WHO มองว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มีมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และ WHO ขอแนะนำให้ประเทศต่าง ๆ ยังคงใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าต่อไป

ขณะนี้ หลายประเทศในยุโรปต่างพากันระงับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หลังมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากอาการแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติ และบางรายมีอาการลิ่มเลือดอุดตันในปอดหลังได้รับวัคซีน

งบประมาณกระทรวงวัฒนธรรมถูกหั่น สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ถูกลดงบประมาณส่วนทุนการศึกษาที่จะให้นักเรียน นักศึกษาของสถาบันในแต่ละปี ตัดเหลือ 50 ทุน จากจำนวน 100 ทุน ซึ่งอาจกระทบความต่อเนื่องที่ได้รับทุน

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้รับงบประมาณ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 รวมทั้งสิ้น 7,104,347,600 บาท ลดลงจากปี 2564 จำนวน 858,540,900 บาท คิดเป็นร้อยละ 10.78 นั้น

ตนได้แจ้งให้ที่ประชุมผู้บริหารทราบว่า หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณเพิ่มในปีนี้ คือ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ได้รับ 88,843,000 บาท เพิ่มขึ้น 14,737,500 บาท คิดเป็นร้อยละ 20 โดยส่วนที่เพิ่มเป็นการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศ ในด้านการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม การสร้างค่านิยมให้คนไทย ซึ่งโยกจากที่หน่วยงานอื่นมาให้ศูนย์คุณธรรมดำเนินการ

ทั้งนี้ เนื่องจากศูนย์คุณธรรม มีบุคลากรอยู่จำกัด การดำเนินงานจึงต้องใช้วิธีบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมการศาสนา สำนักงานปลัด วธ.กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

นายอิทธิพลกล่าวอีกว่า ขณะที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) ถูกลดงบประมาณมากที่สุด โดยได้รับจำนวน 1,053,641,700 บาท ลงลด จำนวน 248,539,500 บาท โดยถูกตัดจากที่เสนอขอไป ถึงร้อยละ 30

ทั้งนี้ งบประมาณที่ถูกปรับลดอยู่ในส่วนทุนการศึกษาที่จะให้นักเรียน นักศึกษา ของสถาบัน ในแต่ละปี ซึ่งได้มีการมอบให้ จำนวน 100 ทุน ในปีนี้ถูกตัดเหลือ 50 ทุน ซึ่งอาจกระทบต่อความต่อเนื่องที่ได้รับทุน อย่างไรก็ตาม สบศ. จะทำเรื่องเสนอขอแปลงงบประมาณเพิ่มเติม ในชั้นกรรมาธิการ และจะปรับแผนงานในส่วนต่าง ๆ เพิ่มเติม โดยเน้นย้ำว่าให้เรียงลำดับความสำคัญและจำเป็นมากที่สุด

“ในส่วนกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้มอบหมายให้ทบทวนแผนงานจัดกิจกรรมวัฒนธรรม ประเพณี ที่ได้มีการสนับสนุนผ่านเครือข่ายวัฒนธรรมต่าง ๆ รวมถึงการดำเนินงานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยย้ำให้เจาะกลุ่มให้แคบลง เนื่องจากงบประมาณต้องใช้อย่างจำกัด ซึ่งส่วนที่ต้องให้ความสำคัญ และขยายผล คือ เรื่องอาหาร และผ้า

ทั้งนี้ ผมยังได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานสร้างความเข้าใจกับเครือข่ายทางวัฒนธรรมทุกภาคส่วนที่เคยร่วมงานกันถึงการได้รับงบประมาณในการดำเนินงาน แผนกิจกรรมต่างๆ ที่ลดลง รวมถึงให้มีการปรับขอบเขตการดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ ให้เหมาะสมตามสัดส่วน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต” รมว.วัฒนธรรมกล่าว.


ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/local/2053049

โควิด-19 เป็นดราม่าการเมืองอีกแล้ว ในคลัสเตอร์บางแค จนกลายเป็นการเมืองในเขตบางแค จนได้

ตอนนี้การระบาดโควิดรอบล่าสุดในพื้นที่ตลาดบางแค แหล่งแรงงานพม่า ดราม่านี้เริ่มต้นมาจาก โลกออนไลน์ อย่างชุมชนออนไลน์ในกลุ่มปิดเฟสบุ๊คชื่อว่า ”ของดีบางแค” ซึ่งจุดประสงค์ของกลุ่มนี้คือ เยียวยาเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล หลังโดนพิษโควิด ระลอกแรก เชิญชาวเขตบางแคและเขตใกล้เคียง พื้นที่ฝั่งธน มาค้าขายออนไลน์ ให้คนตัวเล็ก ที่ไม่มีหน้าร้าน คนทุนน้อย คนขายของริมทาง หรือของที่บ้าน แม้กระทั่งคนมีหน้าร้าน

ผู้สื่อข่าว THE STATES TIMES ลงพื้นที่สืบหาข่าวมารายงาน ได้ทราบข่าวว่าชุมชนออนไลน์ กลุ่ม “ของดีบางแค” ก่อตั้งโดย ดร.ตั้น กฤชนนท์ อัยยปัญญา อดีตผู้สมัคร สส.พลังพลังประชารัฐ ซึ่งแพ้การเลือกตั้งล่าสุด ให้แก่นายณัฐพล เรืองปัญญาวุฒิ จากอดีตพรรคอนาคตใหม่ ไปแค่ 147 คะแนนเท่านั้น และเป็นคนที่แพ้น้อยที่สุดของพรรคพลังประชารัฐ ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็น เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้เป็นอาแท้ ๆ ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า

ดราม่าเริ่มต้นว่า คนในเขตบางแค ไม่เคยเห็นหน้านายณัฐพล เรืองปัญญาวุฒิ สส.พรรคก้าวไกลเลย เวลาชาวบางแคเจอวิกฤติโควิดทุกระลอก รวมทั้งงานศพ งานบวช งานแต่ง งานวัด แต่ทุกงาน ทุกวิกฤติ ชาวบ้านเห็นแต่ ดร.ตั้น ลงมาทุกครั้งทุกงาน จนหนึ่งปีแรกของการเลือกตั้ง ชาวบางแคยังเข้าใจว่า ดร.ตั้น กฤชนนท์ อัยยปัญญา เป็น สส.เขตบางแค แต่ที่จริงแล้ว สส.เท้ง ณัฐพล เรืองปัญญาวุฒิ คือสส.เขตบางแค พรรคอนาคตใหม่

จนล่าสุดเกิดโควิด-19 ระลอกล่าสุด คลัสเตอร์บางแค จนเกิดดราม่า เห็นแต่ชายเสื้อขาวร่วมทุกข์ร่วมสุข กับพี่น้องชาวบางแค แต่ไม่เคยเห็นหน้า สส.เท้งเลย

ผู้สื่อข่าว THE STATES TIMES ลงพื้นหาข่าวมาว่าทำไม ดร.ตั้น เป็นที่รู้จักของชาวบางแคอย่างรวดเร็ว เหตุเพราะอยู่ในพื้นที่ตลอด แม้มีตำแหน่งระดับชาติ คือเลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโควิดระลอกแรก แจกมาม่า ไข่ไก่ แบบส่งถึงบ้านกันเลย ร่วมกับ ผู้ใหญ่กั๊ม เริงม่วงชุ่ม คณะทำงานติดตามนโยบายผู้ว่า กทม. คนทำงานในพื้นที่เขตบางแคมายาวนาน ที่มีที่มั่นฐานเสียงอยู่ สี่แยกทศกัณฑ์

ปีใหม่ที่ผ่านมา และวิกฤติโควิด มีแต่ป้าย ดร.ตั้น ร่วมกับ ผู้ใหญ่กั๊ม ขึ้นทั่วเขตบางแค แจกเจล แจกแอลกอฮอลล์ แจกหน้ากากอนามัย

อย่าลืมว่าสังคมไทย ในยามยาก ยามหน้าสิ่วหน้าขวาน คนที่เดือดร้อนเห็นหน้าใคร เขาจะจำไปตลอด จะว่าหาเสียงก็แล้วแต่ใครจะถือหางใคร

ดร.ตั้น กฤชนนท์ อัยยปัญญา

มีพื้นฐานการศึกษา วิศวกรรมศาสตร์ และบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจของตัวเอง เป็นคนพื้นที่ฝั่งธนโดยกำเนิด ลงการเมืองครั้งแรกใส่สีเสื้อพรรคพลังประชารัฐ โดยการเปิดโอกาสของ รองหัวหน้าพรรค นายณัฐพล ทีปสุวรรณ

ส่วนพี่เลี้ยงในเขตบางแค มีคนในพื้นที่ ผู้ใหญ่กั๊ม เริงม่วงชุ่ม และผู้ใหญ่อัมพร แก้วลาย ที่ทำงานในพื้นที่ตลอดเวลา และเป็นทั้งคู่เป็นผู้ช่วย สก.นายเพทาย จันเผื่อน พรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่เคยสอบตกเลย 2 คนนี้เครือข่ายในชุมชนบางแค ถือว่าไม่ธรรมดาเลย รวมทั้งได้แรงหนุนจากเครือข่ายสมาคมชาวปักษ์ใต้ ย่านฝั่งธน โดยมีนายประจวบ ชูใหม่ ผู้บริหารสมาคมชาวปักษ์ใต้ เคียงข้างตลอดเวลาเวลาที่ ดร.ตั้นลงพื้นที่

การเลือกตั้งครั้งล่าสุด ได้อดีต สส.โกวิทย์ ธารณา ที่ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ มาช่วยพรรคพลังประชารัฐ อีกแรงนึง

ถือว่ากำลังคนในพื้นที่ ดร.ตั้น แข็งแรงไม่น้อย

สส.เท้ง ณัฐพล เรืองปัญญาวุฒิ

มีพื้นฐานการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยธุรกิจครอบครัวในด้านอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของฝั่งธน ได้เป็น สส.เพราะกระแสเห่อธนาธร ทั้งที่ชาวบ้านไม่ค่อยเห็นหน้าทั้งก่อนเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง

สส.รายนี้ถือว่าเป็นคนสนิทของนายธนาธร เพราะหลังจากยุบพรรคอนาคตใหม่ เกิดพรรคก้าวไกล นายธนาธรไว้ใจ สส.เท้ง ให้ที่ทำการพรรคก้าวไกล ตั้งในบริษัทของ สส.เท้ง ในเขตบางแค เลยทีเดียว

ในพื้นที่มีนายอำนาจ ปานเผื่อน อดีตประธานสข. เขตบางแคมาช่วยดูแล พื้นที่ให้ แต่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา นายอำนาจ อยู่ในทีมงานหาเสียงของ อดีต สส. 2 สมัย อรอนงค์ คล้ายนก พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพ่ายแพ้หมดท่าในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

หลังเลือกตั้ง นายอำนาจ ปานเผือก ออกจากพรรคประชาธิปัตย์มาช่วยดูแล สส.เท้ง แต่ข่าววงในเล่าว่า พ่อของ สส.เท้ง มีความคุ้นเคยกับ ผู้ใหญ่กั๊ม เริง ม่วงชุ่ม เป็นอันมาก ได้เชิญผู้ใหญ่กั๊ม หลายครั้งหลายครา ด้วยตัวเอง และให้คนสนิทเชิญ ให้มาช่วยดูแลพื้นที่ให้ และพา สส.เท้ง ลงพื้นที่ แต่ผู้ใหญ่กั๊ม ปฏิเสธ เพราะผู้ใหญ่กั๊มเป็นคนจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างมาก ไม่อาจร่วมมือ ช่วยงานกับพรรคที่มีแนวทางต่อต้านสถาบันได้

ทางเลือกต่อไปคือนายอำนาจ ปานเผือก ที่ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ย้ายมาพรรคอนาคตใหม่แทน

ฐานเสียงในพื้นที่ ดร.ตั้น แข็งแรงกว่าการเมืองพรรคอื่นๆในเขตบางแค พอๆกับนายสุธา ชันแสง อดีต รัฐมนตรีว่ากระทรวงพัฒนาการการสังคมและความมั่นคงขอมนุษย์ หรือ พม.

พรรคก้าวไกลเน้นทำงานออนไลน์ สนับสนุนม็อบสามนิ้ว มั่นใจว่าปลุกฐานเสียงคนรุ่นใหม่ ไม่เน้นลงพื้นที่แบบการเมืองเก่า งานศพ งานแต่ง งานบวช งานบุญ เน้นปลุกระดมรื้อรัฐธรรมนูญใหม่ ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ออกสื่อ เน้นงานสภา และโลกออนไลน์ ก็เป็นธรรมดาที่คนในพื้นที่ไม่เคยเห็นหน้า สส.เลย และก็เป็นแบบนี้ในหลายๆเขตของ สส.พรรคนี้ ทุกเขต

สถานการณ์โควิดคลัสเตอร์บางแค มีโอกาสสูงที่ทำให้ สส.ณัฐพล เรืองปัญญาวุฒิ เหนื่อยแล้วเพราะชาวบางแค พูดกันตลอดว่า เห็น สส.แต่ในโลกออนไลน์ ไม่เคยเห็นในพื้นที่

เมื่อมีคนลงพื้นที่จริง และมีพี่เลี้ยงดี อย่าง ดร.ตั้น กฤชนนท์ อัยยปัญญา บวกกับนโยบายรัฐบาลประยุทธ์ ที่ช่วยเหลือประชาชน ด้วยนโยบาย “สารพัดตระกูลชนะ” อาจจะทำให้พรรคก้าวไกล หันมาดูแลทุกข์ยากของประชาชนที่เลือกมา มากกว่าหนุนม็อบสามนิ้ว และมุ่งแก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียว

เพราะยังไงเสียชาวบ้านนึกถึงปากท้องมาเป็นอันดับแรก


ทีมข่าว THE STATES TIMES รายงานจากพื้นที่เขตบางแค

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์ ต่อกรณี แม่ 3 แกนนำม็อบเข้าพบ

คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พร้อม 'แม่เพนกวิน' 1 ในแม่ของแกนนำผู้ชุมนุมราษฎร เข้ายื่นหนังสือต่อองค์กรนานาชาติ และ นายไมเคิล ฮีท อุปทูตรักษาราชการสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

โดยใจความเนื้อหาในจดหมายบางส่วน อ้างถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่องหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกรณีการชุมนุมที่นำโดยนิสิตนักศึกษาในปี 2563 ที่ผ่านมาที่มีการขัดขวางและสลายการชุมนุมอย่างผิดหลักการและขั้นตอนสากล มีการใช้กำลังอย่างไม่ได้สัดส่วนกับการชุมนุม มีการขู่คุกคามผู้ชุมนุมทั้งในสถานศึกษาและที่พักอาศัย รวมถึงมีการตั้งข้อหาและดำเนินคดีแกนนำและผู้ชุมนุมด้วยกฎหมายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ฯลฯ

เนื้อหาในจดหมายยังระบุอีกว่า ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงกลางเดือนมีนาคม 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 อย่างน้อย 73 คน ใน 63 คดี โดยในจำนวนของผู้ถูกจับกุม 18 คน มีเพียง 6 คนที่ได้รับสิทธิประกันตัว ส่วนที่เหลืออีก 12 คนไม่ได้รับสิทธิประกันตัว แม้บางคนจะเป็นนักศึกษาและอยู่ระหว่างการศึกษาเล่าเรียน เช่น นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ไม่นับรวมผู้ต้องหาคนอื่นที่ไม่มีแนวโน้มว่าจะหลบหนีหรือก่อความยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นนายอานนท์ นำภา นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข หรือนายภาณุพงศ์ จาดนอก

นอกจากนี้ ยังมีการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น การพาตัวผู้ต้องหาจากศาลไปยังเรือนจำก่อนที่ผู้ต้องหาจะลงนามรับทราบคำสั่งศาลในคำขออนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ขณะที่มีแนวโน้มว่านักศึกษาและประชาชนในส่วนที่เหลือจะถูกจับกุมตามหมายแล้วไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวในลักษณะเดียวกัน

การปฏิเสธคำขอปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาโดยอ้างเหตุผลว่าผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันถือว่าขัดหลักการพื้นฐานทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทั้งในระดับสากลและที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด เพราะเป็นการตัดสินล่วงหน้าว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดทั้งที่กระบวนการไต่สวนพิจารณาคดียังไม่ได้เริ่ม

เครือข่ายนักวิชาการ นักศึกษา ประชาชน รวมถึงผู้ต้องหาและญาติ จึงเดินทางมายังสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเพื่อให้ประเทศสหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศที่ส่งเสริมประชาธิปไตย ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมถึงผดุงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐและนิติธรรม ได้ตระหนักในสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยเฉพาะที่เกิดขึ้นภายใต้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และสื่อสารไปยังรัฐบาลไทยให้ยุติการกระทำดังกล่าวในทันที

ขณะที่ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เมื่อได้รับทราบข้อความ ก็ได้ออกแถลงการณ์ ความว่า...

"ในวันศุกร์ที่ 19 มีนาคม อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต ไมเคิล ฮีธ พบกับมารดาของนักเคลื่อนไหว 3 คนที่กำลังถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้ โดยเป็นการพบปะกันตามคำขอของพวกเธอ ซึ่งได้แสดงความเป็นกังวลเกี่ยวกับบุตรของพวกเธอ

อุปทูตฮีธ และเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ คนอื่นๆ ได้พบปะกับชาวไทยในหลากหลายภาคส่วนอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาล เจ้าหน้าที่ทหาร นักธุรกิจ นักวิชาการ หรือผู้นำเยาวชน ทั้งนี้เพื่อให้ทราบถึงเป้าหมาย ความกังวล และประเด็นที่ชาวไทยให้ความสำคัญ การพบปะกันเช่นนี้สะท้อนถึงงานหลักของเจ้าหน้าที่การทูต อันได้แก่ การแสวงหาความเข้าใจเกี่ยวกับมุมมองที่กว้างขวางในด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง และอื่นๆ ของพลเมืองในประเทศที่ประจำการอยู่


ที่มา: https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87/144038?utm_campaign=%E0%B9%81%E0%B8%96%E0%B8%A5%E0%B8%87&utm_source=line&utm_medium=oa


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top