Tuesday, 29 April 2025
GoodsVoice

ก.อุตฯ จับมือ สวทช. เปิดตัว “แจ้งอุต” ผ่าน Traffy Fondue ช่องทางร้องเรียนปัญหานำพาสู่การแก้ไขแบบทันใจประชาชน

กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ สวทช. เตรียมเปิดตัว “แจ้งอุต” ให้ประชาชนแจ้งเผาอ้อย – โรงงานเถื่อน – สินค้าไร้ มอก. ง่าย ๆ ผ่านแพลตฟอร์มร้องเรียนปัญหาอุตสาหกรรมออนไลน์ หวังเป็นช่องทางนำสู่การแก้ไขปัญหารวดเร็ว

(28 ม.ค. 68) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมเปิดตัว “แจ้งอุต” โดยใช้เทคโนโลยี Traffy Fondue ผ่านความร่วมมือระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม กับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยจะเปิดให้ประชาชน แจ้งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหากากพิษ, โรงงานเถื่อน, สินค้าไร้มาตรฐาน, เผาอ้อย รวมถึงปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อจะเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ เชื่อว่า ช่องทางดังกล่าว จะช่วยให้สามารถรับเรื่อง, แก้ไขปัญหา และติดตามสถานะให้ประชาชนได้เพิ่มมากขึ้น จากเดิม 300%

โดยได้ทำการประชุมซักซ้อมการเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 68 เพื่ออบรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ 300คน ปรากฏว่า ได้มีเคสร้องเรียนจริงจากจังหวัดนครราชสีมาเข้ามา ซึ่งได้เร่งจัดการแก้ไขได้อย่างรวดเร็วทันใจพี่น้องประชาชนในพื้น นับเป็นมิติใหม่ดี ๆ ที่ช่วยให้การแก้ปัญหากากพิษ, โรงงานเถื่อน, สินค้าไร้มาตรฐาน, เผาอ้อย รวดเร็วทันใจและโปร่งใสได้ดียิ่งขึ้น

สำหรับ “แจ้งอุต” เตรียมเปิดตัวในงานแถลงข่าวอย่างเป็นทางการวันที่ 30 มกราคม 68 ที่ ตึกกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

บริษัทมอง ‘เด็กจบใหม่’ ไม่พร้อมทำงาน -ขาดทักษะที่จำเป็น ชี้ เก่งทฤษฎีอย่างเดียวไม่พอ แถมใช้ AI ทำงานยังคุ้มทุนกว่า

เมื่อไม่กี่วันก่อน มีรายงานการศึกษาวิจัยใหม่สดๆ ร้อนๆ ของ Hult International Business School และบริษัทวิจัยอิสระ Workplace Intelligence ค้นพบว่า บริษัทหลายแห่งทั่วโลกแม้กำลังเผชิญกับการขาดแคลนบุคลากรทักษะสูงอย่างมาก แต่ก็ยังคงต้องการซื้อหรือลงทุนนำ AI มาทำงาน มากกว่าจะจ้างงานเด็กจบใหม่ 

การศึกษาครั้งนี้ได้สำรวจข้อมูลจากผู้นำหรือผู้จัดการฝ่าย HR ของบริษัทต่างๆ  800 คน ขณะเดียวกันก็สำรวจเด็กจบใหม่ที่เพิ่งจะสำเร็จการศึกษาเมื่อไม่นานนี้ 800 คนเช่นกัน (อายุ 22-27 ปี) ในตำแหน่งทางธุรกิจ รวมถึงการเงินการบัญชี, การตลาด, การขาย, การจัดการ, การดำเนินงาน-โลจิสติกส์, การวิเคราะห์-ข่าวกรองทางธุรกิจ ฯลฯ 

บริษัทไม่อยากจ้างงานเด็กจบใหม่ เพราะขาดประสบการณ์-ขาดทักษะที่จำเป็น ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างฝั่งผู้นำด้าน HR มากถึง 98% บอกว่า แม้องค์กรของตนกำลังประสบปัญหาในการหาบุคลากรทักษะสูง แต่ถึงอย่างนั้น 89% ของพวกเขาก็ระบุว่า บริษัทไม่อยากการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ โดยพวกเขามีเหตุผลคือ

- เด็กจบใหม่ขาดประสบการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริง (60%)
- ขาดแนวคิดแบบ Global mindset (57%)
- ขาดทักษะการทำงานเป็นทีม (55%)
- ขาดชุดทักษะที่เหมาะสมกับงาน (51%)
- ขาดมารยาททางธุรกิจที่เหมาะสม (50%) 

โดยผู้นำด้าน HR 37% อยากนำหุ่นยนต์หรือ AI เข้ามาทำงานแทนบัณฑิตจบใหม่ ขณะที่ 45% บอกว่าอยากจ้างคนทำงานอิสระมากกว่า อีกทั้งตามรายงานดังกล่าวยังพบด้วยว่า บริษัทที่เคยรับเด็กจบใหม่เข้าทำงานในช่วงปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ (78%) เคยไล่พนักงานเหล่านั้นบางคนออกไปแล้ว

ลูกจ้างเด็กจบใหม่ ชี้ มหาวิทยาลัยไม่ได้ช่วยให้พวกเขาพร้อมสู่โลกการทำงาน ไม่ใช่แค่ฝั่งนายจ้างที่รู้สึกว่าบัณฑิตจบใหม่ยังไม่พร้อมที่จะทำงานในโลกความจริง แต่ฝั่งของเด็กจบใหม่เอง ส่วนใหญ่ก็รู้สึกว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้เตรียมพวกเขาให้พร้อมสู่โลกการทำงานเช่นกัน จากการศึกษาชิ้นเดียวกันนี้ กลุ่มตัวอย่างของผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่ๆ ที่เข้าร่วมบริษัทต่างๆ ได้สำเร็จ พบว่า ประสบการณ์การทำงานนั้นมีค่าอย่างยิ่ง 

ลูกจ้างที่เป็นเด็กจบใหม่ 77% บอกว่าเวลาครึ่งปีในที่ทำงานพวกเขาเรียนรู้ได้มากกว่าการเรียนปริญญาตรีสี่ปี และ 87% ยอมรับว่านายจ้างของพวกเขาจัดให้มีการฝึกอบรมงานที่ดีกว่ามหาวิทยาลัย อีกทั้งกลุ่มตัวอย่าง 55% บอกว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้เตรียมพวกเขาให้พร้อมสำหรับงานที่พวกเขาทำอยู่ในปัจจุบันแต่อย่างใด

แดน ชอว์เบล (Dan Schawbel) หุ้นส่วนผู้จัดการของ Workplace Intelligence อธิบายเพิ่มเติมว่า การสำรวจนี้เผยให้เห็นว่าหลักสูตรวิทยาลัยแบบดั้งเดิมไม่ได้มอบสิ่งที่นักศึกษาต้องการ เพื่อช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จในโลกการทำงานยุคใหม่ ที่เทคโนโลยีก้าวหน้ารวดเร็วในปัจจุบัน ผู้นำฝ่าย HR ของบริษัทต่าง ๆ มีความต้องการบัณฑิตจบใหม่ ที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี การใช้ AI การวิเคราะห์ข้อมูล และด้านไอทีสูงถึง 97% แต่มีบัณฑิตจบใหม่มีเพียง 20% เท่านั้นที่มีทักษะเหล่านี้

เรียนแต่ทฤษฎีในมหาวิทยาลัย ไม่เพียงพอต่อการทำงานในโลกความจริง ขณะที่ มาร์ติน โบห์ม (Martin Boehm) รองประธานบริหารและคณบดีฝ่ายโครงการระดับปริญญาตรีของ Hult International Business School สะท้อนมุมมองว่า การเรียนแต่ทฤษฎีอย่างเดียวในมหาวิทยาลัย ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว ยุคนี้สถาบันต่างๆ ต้องเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาด้วยวิธีใหม่ๆ เน้นที่การสร้างทั้งทักษะและทัศนคติที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ต่อเนื่อง ถือเป็นอนาคตของการศึกษาเพื่อเตรียมเด็กให้พร้อมสู่โลกการทำงาน

ไม่เพียงเท่านั้น ที่ปรึกษาฝ่ายทรัพยากรบุคคลอย่าง 'ไบรอัน ดริสโคลล์' (Bryan Driscoll) ให้ความเห็นที่แตกต่างออกไปว่า แน่นอนว่านายจ้างยุคนี้ต้องการใช้ AI มากกว่ามนุษย์ เพราะการลงทุน AI ราคาถูกกว่าลงทุนกับมนุษย์ เพราะไม่จำเป็นต้องมีการดูแลสุขภาพหรือสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ไม่ต้องลาพักร้อน

นี่ไม่ได้เกี่ยวกับเด็กจบใหม่ที่ขาดทักษะ แต่เกี่ยวกับนายจ้างที่พยายามหลบเลี่ยงความรับผิดชอบ พวกเขาใช้เวลาหลายสิบปีในการตัดงบประมาณโครงการฝึกอบรม และโยนภาระนั้นให้พนักงาน(เรียนเองจ่ายเอง) 

เควิน ทอมป์สัน (Kevin Thompson) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ 9i Capital Group ให้ความเห็นถึงประเด็นนี้ว่า เป็นเรื่องของเศรษฐศาสตร์และประสิทธิภาพ การฝึก AI ให้ทำงานนั้นง่ายและคุ้มต้นทุนมากกว่าการฝึกมนุษย์ โดย AI จะทำงานตามที่โปรแกรมกำหนดไว้ได้อย่างแม่นยำด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า นายจ้างจำนวนมากมองเห็นคุณค่าในการใช้ประโยชน์จาก AI ในการจัดการงานพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทบาทสนับสนุนและตำแหน่งงานระดับเริ่มต้น

ทางแก้ของสถานการณ์นี้ เด็กจบใหม่ที่เริ่มหางานอาจจะต้องพึ่งพาตนเองให้มากขึ้นในแง่ของการเพิ่มสกิล พัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีให้แก่ตนเอง เช่น ลงเรียนคอร์สเสริมทักษะต่างๆ มากขึ้น (มีใบรับรองการจบหลักสูตรต่าง ๆ แนบไปกับเรซูเม่สมัครงาน) เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยความพร้อมอย่างเต็มที่ เมื่อนายจ้างและบริษัทต่างก็คาดหวังคุณค่าและทักษะในตัวพนักงานใหม่ทันทีตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน

‘สุริยะ’ เป็นประธานเปิดใช้ ‘สะพานทศมราชัน’ เชื่อมทางด่วนพระราม 3 – ดาวคะนอง ช่วยลดแออัด

เปิดใช้แล้ว ‘สะพานทศมราชัน’ ช่วงสะพานทศมราชัน (บางโคล่) - ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษสุขสวัสดิ์ เชื่อมทางด่วนพระราม 3 – ดาวคะนอง ช่วยแก้ปัญหาจราจรเชื่อมเส้นทางสะดวกมากขึ้น

(29 ม.ค. 68) เวลา 09.09 น. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในการเปิดใช้งาน สะพานทศมราชัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก โดยมี นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. และคณะผู้บริหารเข้าร่วมงาน

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า การเปิดใช้ทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงสะพานทศมราชัน (บางโคล่) - ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษสุขสวัสดิ์ เป็นการช่วยบรรเทาปริมาณการจราจรของสะพานพระราม 9 เชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมระหว่างพื้นที่ชั้นนอกและชั้นในของกรุงเทพฯ และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ทั้งนี้ สะพานทศมราชันจะเชื่อมต่อการเดินทางในทิศทางขาเข้าและขาออกกรุงเทพฯ โดยเปิดใช้งานสะพานฯ ครบทั้ง 8 ช่องจราจร เพื่อรองรับปริมาณรถที่เพิ่มขึ้น ซึ่งรายละเอียดเส้นทางการใช้งานมี ดังนี้

- ทิศทางขาเข้ากรุงเทพฯ ประชาชนสามารถใช้ทางขึ้นที่ด่านฯ สุขสวัสดิ์ (ช่องที่ 1-3) วิ่งข้ามสะพานทศมราชัน แล้วเชื่อมต่อเข้าสู่ทางพิเศษเฉลิมมหานครมุ่งหน้าบางนา - ดินแดง หรือทางพิเศษศรีรัชมุ่งหน้าแจ้งวัฒนะและถนนพระราม 9

- ทิศทางขาออกกรุงเทพฯ ใช้ทางพิเศษเฉลิมมหานครหรือทางพิเศษศรีรัชผ่านจุดเชื่อมต่อสะพานทศมราชัน บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ และลงที่ทางลงด่านฯ สุขสวัสดิ์ เชื่อมต่อถนนประชาอุทิศและถนนสุขสวัสดิ์เพื่อไปยังถนนพระราม 2

อัตราค่าผ่านทางรถ 4 ล้อ: 50 บาท   รถ 6-10 ล้อ: 75 บาท รถมากกว่า 10 ล้อ: 110 บาท

“ทั้งนี้ สะพานทศมราชัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง -วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ปัจจุบันมีความก้าวหน้าการก่อสร้างทั้งโครงการฯ อยู่ที่ 86.28% คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการฯ พร้อมเปิดให้บริการประมาณปลายปี 2568 นับเป็นก้าวสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาการจราจร โดยเฉพาะ “สะพานทศมราชัน” ที่จะช่วยลดความแออัดบริเวณสะพานพระราม 9 และเพิ่มความสะดวกในการเดินทางระหว่างฝั่งกรุงเทพฯ กับฝั่งธนบุรีและจังหวัดรอบนอก ซึ่งคาดว่าจะช่วยประหยัดเวลาและลดปัญหารถติดในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะคาดว่าสะพานฯ นี้ จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรที่ติดขัดบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่บนสะพานพระราม 9 จนถึงบริเวณด่านฯ สุขสวัสดิ์ และบริเวณถนนพระรามที่ 2 จากปริมาณความแออัดทางจราจร 100,470 คันต่อวัน  ลดลงเหลือ 75.325 คันต่อวัน โดยประชาชนสามารถเริ่มใช้บริการสะพานทศมราชันได้ตั้งแต่วันนี้” นายสุรเชษฐ์ฯ กล่าวในท้ายที่สุด

แบรนด์รองเท้าตั้งราคาผิด เสียหายกว่า 3.58 ล้าน แต่ยัน ไม่ยกเลิกคำสั่งซื้อ ส่งให้ทุกออเดอร์

“Hello Polo" แจงหลังทางแบรนด์รองเท้าตั้งราคาผิดพลาด จากราคาปกติ 175 บาท เหลือ 3 บาท ทำออเดอร์ทะลัก 20,000 คู่ เสียหายกว่า 3.58 ล้าน แต่ยืนยันไม่ยกเลิกคำสั่งซื้อ ส่งให้ตามคำสั่งซื้อที่กำหนดไว้

เมื่อวันที่ (27 ม.ค. 68) เพจ "Hello Polo" ได้ออกมาโพสต์ชี้แจงหลังทางแบรนด์รองเท้าตั้งราคาผิดพลาด จากราคาปกติ 175 บาท เหลือ 3 บาท จนส่งให้ยอดออเดอร์ทะลัก 20,000 คู่ เสียหายกว่า 3.58 ล้าน แต่ยืนยันไม่ยกเลิกคำสั่งซื้อ

โดยมีใจความว่า “เรียน คุณลูกค้าผู้มีอุปการคุณทุกท่าน

ทางบริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงในกรณีผิดพลาดในการตั้งราคาสินค้าบางรุ่นบนช่องทาง Shopee ได้แก่ HP8009, HP8035 และ HP8037 จากราคาปกติ 175 บาท ถูกตั้งราคาเป็น 3 บาท ซึ่งส่งผลให้มีคำสั่งซื้อมากกว่า 20,000 คู่ และสร้างความเสียหายต่อบริษัทเป็นอย่างยิ่ง

จากเหตุการณ์ดังกล่าว Hello Polo ขอยืนยันว่าจะดำเนินการจัดส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อทั้งหมดในราคาที่กำหนดไว้ โดยไม่มีการยกเลิกคำสั่งซื้อ เพื่อแสดงความขอบคุณและตระหนักถึงความสำคัญของลูกค้าทุกท่าน

ทางแบรนด์ Hello Polo ขอขอบพระคุณสำหรับความเข้าใจและการสนับสนุนจากลูกค้าทุกท่านเสมอมา ทางบริษัทฯ จะปรับปรุงคุณภาพการบริการให้ดียิ่งขึ้น เพื่อมอบประสบการณ์การชอปปิ้งที่ดีที่สุดให้กับทุกท่าน หากท่านมีข้อสงสัยหรือคำถามใดๆ สามารถติดต่อบริษัทผ่านทางช่องแชค

ขอแสดงความนับถือ,
แบรนด์ Hello Polo”

อย่างไรก็ตาม มีลูกค้าบางกลุ่มได้กดยกเลิกสินค้าเพราะเห็นใจแบรนด์ที่ต้องขายขาดทุน โดยคอมเมนต์ว่า ถ้าเป็นเราคงกดยกเลิกคำสั่งซื้อ คงไม่สบายใจที่ต้องมารับรู้ว่าเราได้ของราคาถูกต่ำกว่าทุน แต่ต้องแลกมากับการที่คนอื่นเสียหายหรือขาดทุน, แบรนด์นี้น่าสนับสนุนมากๆ ค่ะ สินค้าคุณภาพดี และเคยมอบรองเท้าให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลรัฐด้วยค่ะ ขอบคุณนะคะ, ขอชื่นชมในนโยบายที่มีความรับผิดชอบต่อลูกค้าแม้จะไม่ใช่ความผิดของผู้บริหาร ขอให้กิจการเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไปนะคะ

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (3) : ‘ต้นทุน’ ต่าง ๆ ของ ‘ค่าไฟฟ้า’ ก่อนนำมาคำนวณตามประเภทผู้ใช้งาน

(29 ม.ค.68) ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ รายละเอียดส่วนต่าง ๆ ของการเรียกเก็บ และวิธีการคิดคำนวณ ‘ค่าไฟฟ้า’ ตามที่ได้บอกเล่าในบทความ 'รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (2)' ไปแล้วนั้น ครั้งนี้จะได้พูดถึง ‘ต้นทุน’ ต่าง ๆ ที่อยู่ใน ‘ค่าไฟฟ้า’ ซึ่งคิดเป็นหน่วยไฟฟ้า หรือ ยูนิต (Unit) หรือ kWh โดยเป็นหน่วยที่ใช้บอกขนาด หรือ ปริมาณของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้งาน พลังงานไฟฟ้า 1 ยูนิต หรือ 1 หน่วย เท่ากับ 1 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (Kilo watthour = กำลังไฟ 1 กิโลวัตต์ (1,000 วัตต์ (W)) ใช้งานนาน 1ชั่วโมง)

พลังงานไฟฟ้า 1 ยูนิต หรือ 1 หน่วย หรือ 1 kWh สามารถใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าได้นานแค่ไหน? พลังงานไฟฟ้า 1 หน่วย โดยประมาณแล้วเพียงพอต่อ การเปิดหลอดไฟ LED กำลังไฟ 10 วัตต์ 1 ดวง นาน 100 ชั่วโมง การใช้งานเครื่องซักผ้าขนาด 10 กิโลกรัม กำลังไฟ 500 วัตต์ 1 เครื่อง นาน 2 ชั่วโมง การใช้งานเครื่องปรับอากาศขนาด 18,000 BTU กำลังไฟ 1,500 วัตต์ 1 เครื่อง นาน 40 นาที และเตารีดไอน้ำกำลังไฟ 2,000 วัตต์ 1 เครื่อง นาน 30 นาที เป็นต้น

‘ค่าไฟฟ้า’ ตามบิลค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้า (ประเภทบ้านพักอาศัย) ประกอบด้วย 

1. ต้นทุนการเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า รวมค่าซื้อไฟฟ้าทั้งจากในประเทศและต่างประเทศจ่ายเข้าสู่ระบบ ค่า Adder* และค่า FiT** เป็นต้นทุนหลัก มีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ในบิลค่าไฟฟ้า คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 58-60% ของอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย

*ค่า Adder คือ ค่าส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน โดยเฉพาะจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะมีการบวกกับราคาขายไฟฟ้าของการไฟฟ้าในอัตราที่กำหนด

**ค่า FiT (Feed-in Tarif) คือค่าส่วนเพิ่มราคาตามมาตรการที่ใช้เพื่อส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยมีเป้าหมายเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเอกชนเข้ามาลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทน เป็นมาตรการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศเพื่อสนับสนุนการผลิตพลังงานจากแหล่งธรรมชาติที่ยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันใช้แทนค่า Adder แล้ว ทั้งนี้  เนื่องจากการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีขึ้นเป็นระยะ ไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน จึงไม่ได้เอาไปรวมกับค่าไฟฟ้าฐานซึ่งมีการปรับทุก ๆ 3-5 ปี  แต่นำมารวมไว้คำนวณในค่า Ft

2. ต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฯ จ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนในรูปแบบของ ‘ค่าพร้อมจ่าย (Availability Payment หรือ ค่า AP)’ เป็นค่าความพร้อมเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า เป็นแนวทางปฏิบัติตามหลักสากลสำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว เพื่อสะท้อนต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เอกชนต้องลงทุน ครอบคลุมตั้งแต่ (1)ค่าก่อสร้างโรงงานไฟฟ้า ซึ่งรวมถึงการชำระคืนเงินต้น และดอกเบี้ย เงินกู้ค่าบำรุงรักษา ค่าประกัน และค่าใช้จ่ายคงที่อื่น ๆ (2)ค่าใช้จ่ายในการบริหาร (3)ผลตอบแทนจากการลงทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นค่าเช่า ค่าอุปกรณ์อะไหล่โรงไฟฟ้า ค่าจ้างเดินเครื่อง หรือบำรุงรักษา (4)ค่าประกันภัยโรงไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนต้องจ่ายให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าทุกเดือน ไม่ว่าโรงไฟฟ้าจะผลิตหรือไม่ก็ตาม ทำให้มีต้นทุนในส่วนนี้เฉลี่ยอยู่ในบิลค่าไฟฟ้า คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15-17% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 

3. ต้นทุนระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า (ขายปลีก) ระบบที่นำไฟฟ้าไปสู่ผู้ใช้ไฟฟ้า ประกอบด้วย (1)สายจำหน่ายไฟฟ้าแบ่งเป็นตามระดับแรงดัน (2)หม้อแปลงไฟฟ้า ทำหน้าที่เพิ่มหรือลดระดับแรงดันไฟฟ้าเพื่อให้สามารถนำไปใช้กับระบบไฟฟ้าภายในบ้าน, สำนักงาน, โรงงานอุตสาหกรรม มีต้นทุนเฉลี่ย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10-12% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ย

4. ต้นทุนระบบสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5-6% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ย ระบบไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไฟฟ้าจนถึงสถานีไฟฟ้าของระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่ส่งจ่ายไฟฟ้าไปยังระบบจำหน่ายของ กฟน. และ กฟภ. ซึ่งจะปรับลดระดับแรงดันไฟฟ้าก่อนส่งไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าทุกภาคส่วนอย่างเหมาะสม ประกอบด้วย (1)สายส่งไฟฟ้าแรงสูง (Transmission Line) (2) สถานีไฟฟ้าแรงสูง (Substation) (3)ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า (National Control Center : NCC) 

5. ต้นทุนในการทยอยชำระหนี้และดอกเบี้ยคืนให้ กฟผ. ภายใน 2-3 ปี จากกรณีที่ กฟผ. ต้องเข้าไปรับภาระค่า Ft ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นตามราคาพลังงานแทนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ทำให้มีต้นทุนเฉลี่ย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 4-5% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ปัจจุบันยอดหนี้ดังกล่าวอยู่ที่ราว 100,000 ล้านบาท)

6. ต้นทุนจากการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐ อาทิ การยกเว้น ‘ค่าไฟฟ้า’ ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ประสบภัยที่มีความรุนแรง ซึ่งทำให้มีต้นทุนเฉลี่ย คิดเป็นสัดส่วนราว 4-5% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 

ทั้งนี้ ‘ค่าไฟฟ้าฐาน’ ซึ่งคิดจากต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า มีวิธีการคำนวณตามประเภทผู้ใช้งานได้แก่ [1] บ้านอยู่อาศัย [2] กิจการขนาดเล็ก [3] กิจการขนาดกลาง [4] กิจการขนาดใหญ่ [5] กิจการเฉพาะอย่าง [6] องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร [7] กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร และ [8] ไฟฟ้าชั่วคราว (โดยอัตราค่ากระแสไฟฟ้าต่อหน่วยของแต่ละประเภทจะไม่เท่ากัน) ทำให้ ‘ค่าไฟฟ้า’ ของผู้ใช้ไฟฟ้าจึงมีความแตกต่างกันตามแต่ละประเภท ดังนั้นผู้ใช้ไฟฟ้าจึงต้องดูข้อมูลที่ปรากฏจากใบเรียกเก็บหรือใบเสร็จรับเงิน ‘ค่าไฟฟ้า’ ที่ได้รับ ซึ่ง ‘ค่าไฟฟ้า’ นี้ ประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่าย รายละเอียดได้อธิบายในบทความ 'รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (2)' ไปแล้ว โดยในตอนต่อไปจะได้เล่าถึง รายละเอียดของการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทย

บอร์ดบีโอไอ ไฟเขียวลงทุน 1.7 แสนล้านบาท เผย TikTok เตรียมสร้าง Data Center มูลค่า 126,790 ลบ.

(29 ม.ค.68) บอร์ดบีโอไอ ชิงจังหวะเร่งเครื่องต่อเนื่อง ประเดิมปี 68 อนุมัติโครงการลงทุนกว่า 1.7 แสนล้านบาท บิ๊กโปรเจกต์ TikTok และ Siam AI ทุ่มทุนปักหลักโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล – AI ในไทย พร้อมเดินหน้าส่งเสริมกิจการเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) และนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ เร่งขับเคลื่อน 5 ยุทธศาสตร์ ดึงลงทุนปี 2568 ผลักดันไทยขึ้นแท่นฐานอุตสาหกรรมชั้นนำระดับโลก

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนนัดแรกของปี 2568 ที่มี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 3 โครงการสำคัญ มูลค่าลงทุนรวมกว่า 1.7 แสนล้านบาท ประกอบด้วยกิจการโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลขนาดใหญ่ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ Data Hosting ของบริษัทในเครือ TikTok Pte. Ltd. ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มวิดีโอคอนเทนต์ยอดนิยม โดยจะลงทุนติดตั้ง Server และอุปกรณ์ต่าง ๆ ใน Data Center ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อใช้ในการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา มูลค่าลงทุนรวม 126,790 ล้านบาท และกิจการ AI Cloud Service ของบริษัท สยาม เอไอ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทไทยรายแรกที่ได้รับเลือกให้เป็น NVIDIA Cloud Partner (NCP) จะตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรีและปทุมธานี มูลค่าลงทุนรวม 3,250 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติโครงการลงทุนผลิตโพแทสเซียมคลอไรด์ ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ย ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด จะตั้งอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี มูลค่าลงทุนรวม 40,400 ล้านบาท

“ปี 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่าง Data Center และ Cloud Service โดยบริษัทชั้นนำจากทั้งสหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และไทย รวม 16 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 240,000 ล้านบาท ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ลงทุนสูงเป็นอันดับหนึ่ง สำหรับในปีนี้ คาดว่าจะมีบริษัทชั้นนำระดับโลกตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ AI รวมทั้งการจัดเก็บและประมวลผล Big Data การลงทุนของทั้งสองโครงการนี้จึงเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็น Digital Hub ของภูมิภาค” นายนฤตม์ กล่าว

ดึงศักยภาพการเกษตร - หนุนลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพ

นอกจากนี้ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจชีวภาพ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรในประเทศมากขึ้น บอร์ดบีโอไอ ได้มีมติเห็นชอบ ดังนี้

1. เปิดส่งเสริม 'กิจการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF)' ซึ่งใช้ผลผลิตทางการเกษตร เศษวัสดุหรือของเสียจากการเกษตร เป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยาน จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึงร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และกำลังจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานระหว่างประเทศ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และ 'กิจการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนแบบผสม' ซึ่งจะนำ SAF มาผสมกับเชื้อเพลิงอากาศยานทั่วไป (JET Fuel) เพื่อให้สามารถนำมาใช้กับเครื่องบินพาณิชย์ได้ทันที โดยไม่ต้องดัดแปลงเครื่องยนต์ จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี

2. ปรับปรุงกิจการนิคมหรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ให้เป็น “กิจการนิคมหรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ” เพื่อให้มีขอบข่ายธุรกิจที่กว้างขึ้น ครอบคลุมทั้งด้านเกษตร อาหาร พลังงานทดแทน และบริการสนับสนุน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรม BCG โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี

เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนปี 2568 มุ่งสู่ Hub 5 ด้าน

บอร์ดบีโอไอ ยังได้เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนปี 2568  โดยมุ่งยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคใน 5 ด้านสำคัญที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูง ได้แก่ ศูนย์กลางอุตสาหกรรมด้าน BCG (Bio-Circular-Green Industries Hub) ศูนย์กลางเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Tech Hub) ซึ่งจะครอบคลุมหลายสาขา เช่น รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล  ศูนย์รวมบุคลากรทักษะสูงจากทั่วโลก (Talent Hub) ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์และธุรกิจระหว่างประเทศ (Logistics & International Business Hub) และศูนย์กลางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Soft Power and Creative Hub)

นายนฤตม์ กล่าวว่า สถานการณ์ความผันผวนของโลก อันเนื่องมาจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ และวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของประเทศไทยในการช่วงชิงฐานการลงทุน บีโอไอจึงได้มีแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในปี 2568 เพื่อเร่งเปลี่ยนผ่านประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมชั้นนำระดับโลก และพร้อมรับกระแสการโยกย้ายเงินลงทุนระหว่างประเทศที่จะเพิ่มสูงขึ้น โดยมีแผนดำเนินงาน 5 ด้านสำคัญ ดังนี้

1) เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมุ่งดึงดูดการลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย อุตสาหกรรม BCG, ยานยนต์ไฟฟ้า (xEV), เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง, ดิจิทัล และกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ด้วยการบูรณาการผ่านคณะกรรมการระดับชาติ ทั้งบอร์ดอีวี บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ และคณะกรรมการสิทธิประโยชน์ด้านซอฟต์พาวเวอร์ รวมถึงการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อดึงดูดการลงทุน และเตรียมขยายสำนักงานบีโอไอเพิ่มอีก 2 แห่งที่นครเฉิงตู ประเทศจีน และสิงคโปร์

2) ยกระดับผู้ประกอบการไทย และสนับสนุนการเชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับโลก โดยจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs และสร้างโอกาสในการเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการสนับสนุนการใช้ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในประเทศ และการจัดกิจกรรมการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม

3) พัฒนาบุคลากรทักษะสูง โดยบีโอไอทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และภาคเอกชน เพื่อเตรียมพร้อมบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะด้าน Semiconductor, PCB, ดิจิทัล และ AI ทั้งการจัดทำ Roadmap ที่ชัดเจนและการกำหนดมาตรการสนับสนุน นอกจากนี้ จะดึงดูดบุคลากรทักษะสูงจากต่างประเทศ ผ่านมาตรการ LTR Visa และSmart Visa รวมทั้งการขยายการให้บริการของศูนย์ One Stop Service ด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน

4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศการลงทุน โดยส่งเสริมการลงทุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านกายภาพและดิจิทัลที่สำคัญเพื่อรองรับการลงทุน พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาและเตรียมพื้นที่รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการลงทุน และพัฒนาเครื่องมือเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเก็บภาษีส่วนเพิ่ม (Global Minimum Tax) ร่วมกับกระทรวงการคลัง

5) การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและอุตสาหกรรมยั่งยืน ด้วยการเดินหน้าสนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การรีไซเคิล และการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งเสริมการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อการลดการใช้พลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ บีโอไอจะทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงานและสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในการออกแบบกลไกการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งกลไก Utility Green Tariff (UGT) และการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct PPA)

กฟภ. ตั้งโต๊ะแจงยิบ ปมขายไฟฟ้าให้ ‘เมียนมา’ ลั่น ยังตัดไฟไม่ได้เหตุยังไม่พบการทำผิดที่ชัดเจน

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เตรียมหารือหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศครั้งสำคัญ ต้นเดือน ก.พ. 2568  หาแนวทางตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียนมา ใช้ไฟฟ้าไทยดำเนินการหลอกลวงเงินประชาชน ยอมรับที่ผ่านมาตัดไฟฟ้าไม่ได้ เหตุยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเป็นประจักษ์พยาน และไทยยังไม่เคยใช้เหตุผลด้านความมั่นคงเพื่อตัดไฟฟ้าประเทศเพื่อนบ้านมาก่อน คาดหลังหารือจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ ขณะที่บอร์ด PEA เตรียมออกร่างสัญญาขายไฟฟ้าฉบับใหม่ ที่รัดกุมมากขึ้นและสามารถเลิกสัญญาได้ทันทีหากพบทำผิด

เมื่อวันที่ (29 ม.ค.68) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) แถลงชี้แจงกรณียังไม่ตัดไฟฟ้าที่ส่งไปยังประเทศเมียนมา แม้จะเกิดกรณีกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์และกลุ่มธุรกิจสีเทา ใช้ไฟฟ้าจากไทยดำเนินการเป็นมิจฉาชีพหลอกลวงเงินประชาชนมานาน โดยสาระสำคัญของการแถลงข่าวระบุเกี่ยวกับการไม่มีเอกสารหลักฐานที่เป็นประจักษ์ในการกระทำผิดสัญญา และยังไม่มีหนังสือจากหน่วยงานด้านความมั่นคงสั่งการมา ทำให้ PEA ไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างประสานข้อมูลกับหน่วยงานด้านความมั่นคงเพื่อดำเนินมาตรการให้เข้มข้นขึ้นและเตรียมทำร่างสัญญาขายไฟฟ้าฉบับใหม่ที่รัดกุม ป้องกันการลักลอบใช้ไฟฟ้าผิดวัตถุประสงค์  

นายประดิษฐ์ เฟื่องฟู รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และในฐานะโฆษกประจำการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เตรียมหารือกับหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศ ช่วงวันที่ 4 หรือ 6 ก.พ. 2568 นี้ เพื่อหามาตรการจัดการปัญหาด้านไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากที่ผ่านมา PEA เคยส่งหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานด้านความมั่นคงตั้งแต่ปลายปี 2567 เกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าไม่ถูกต้องตามสัญญาหรือไม่ ซึ่งยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามการหารือที่จะถึงนี้คาดว่าจะได้ผลลัพธ์เร็วๆ นี้ เนื่องจากปัญหาธุรกิจสีเทาในประเทศเมียนมา ส่งผลกระทบต่อประชาชนคนไทยอย่างมาก

ทั้งนี้ตามกฎหมายทาง PEA ไม่สามารถตัดไฟฟ้าโดยทันทีได้ เพราะการตัดไฟฟ้าต้องมีประจักษ์พยานหรือเอกสารที่ชัดเจนต่อการตัดไฟฟ้า ใน 2 กรณี คือ 1.การทำผิดสัญญา เช่น การไม่จ่ายค่าไฟฟ้า 2.กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาไทยยังไม่เคยตัดไฟฟ้าด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงในประเทศมาก่อน ดังนั้นจึงต้องมีหนังสือเอกสารจากหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ระบุชัดเจนถึงสาเหตุการตัดไฟฟ้าส่งมายัง PEA อย่างเป็นทางการก่อนจึงจะดำเนินการได้ โดยหากมีการตัดไฟฟ้าจะต้องตัดในพื้นที่ประเทศไทยบริเวณชายแดนกับเมียนมา ซึ่งเป็นการตัดไฟฟ้าทั้งสาย

สำหรับปัจจุบัน PEA มีลูกค้าทั้งหมดในไทยและต่างประเทศ 22 ล้านราย คิดเป็นรายได้ 6 แสนล้านบาทต่อปี ขณะที่การจ่ายไฟฟ้าไปยังเมียนมา 5 จุด สร้างรายได้เพียง 800 ล้านบาทต่อปี ซึ่งที่ผ่านมา PEA จ่ายไฟฟ้าให้เมียนมา เพราะดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อรองรับในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงชายแดนเป็นหลัก  

สำหรับความเป็นมาในการจ่ายไฟฟ้าให้ประเทศเมียนมานั้น ตามมติคณะรัฐมนตรี ปี 2539 เห็นชอบหลักการให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ขายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้านในบริเวณหมู่บ้านที่ใกล้กับเขตชายแดนของประเทศไทย โดยไม่ต้องขออนุมัติในระดับนโยบายอีก ทั้งนี้ให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อทราบ ยกเว้นมีประเด็นนโยบาย  ที่สำคัญให้เสนอพิจารณา

ปัจจุบัน PEA จ่ายกระแสไฟฟ้าให้เมียนมา จำนวน 5 จุด ดังนี้

1. บ้านเจดีย์สามองค์ – เมืองพญาตองซู รัฐมอญ บริษัท Mya Pan Investment and Manufacturing Company Limited เป็นผู้ได้รับสัมปทานจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

2. บ้านเหมืองแดง – เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน บริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) เป็นผู้ได้รับสัมปทานจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

3. สะพานมิตรภาพไทย – พม่า – เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน บริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) จำกัด   เป็นผู้ได้รับสัมปทานจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

4. สะพานมิตรภาพไทย – พม่า แห่งที่ 2 อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง บริษัท Nyi Naung Oo Company Limited และ Enova Grid Enterprise (Myanmar) Company Limited เป็นผู้ได้รับสัมปทานจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

5. บ้านห้วยม่วง – อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง มีบริษัท Shwe Myint Thaung Yinn Industry & Manufacturing Company Limited (SMTY) เป็นผู้ได้รับสัมปทานจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

ทั้งนี้การจ่ายไฟฟ้าในจุดซื้อขายไฟฟ้าไปยังเมียนมา คู่สัญญาทุกจุดซื้อขายไฟฟ้าเป็นผู้ได้รับสิทธิสัมปทานการซื้อขายไฟฟ้าจากรัฐบาลของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยผ่านการรับรองความถูกต้องและความน่าเชื่อถือด้านเอกสารจากกระทรวงการต่างประเทศ และ PEA ประสานงานกับหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยในพื้นที่ก่อนจำหน่ายไฟฟ้าไปยังเมียนมา

กรณีการงดจ่ายไฟฟ้าหรือบอกเลิกสัญญา มี 2 กรณี ได้แก่ 1)  คู่สัญญาดำเนินการผิดสัญญา เช่น ไม่ชำระค่าไฟฟ้าตามกำหนด หรือไม่วางหลักประกันสัญญา และ 2)  กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ

ดังนั้น PEA จำเป็นต้องมีหนังสือเป็นทางการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานด้านความมั่นคง กระทรวงการต่างประเทศ ก่อนการดำเนินการบังคับใช้ข้อสัญญาดังกล่าว ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวกันกับการเริ่มทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หากเป็นในเรื่องนโยบาย PEA จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

สำหรับในปี 2566 สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ขอให้กระทรวงการต่างประเทศของไทยแจ้ง PEA ดำเนินการระงับการจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ 2 จุดที่บ้านวังผา อ.แม่ระมาด – บ.ก๊กโก๋ อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง และบ้านแม่กุใหม่ท่าซุง – อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง

ส่วนอีก 1 จุด ปี 2567 ในพื้นที่ อ.เชียงแสน – เมืองพงษ์ จ.ท่าขี้เหล็ก คู่สัญญาผิดนัดชำระค่าไฟฟ้า ทำให้ PEA ยกเลิกจุดซื้อขายไฟฟ้าทั้ง 3 จุดดังกล่าวแล้ว

“การตรวจสอบว่ามีการกระทำใดที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของประเทศไทยนั้น PEA ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบกรณีดังกล่าวในประเทศของคู่สัญญาได้ จึงต้องอาศัยหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจประสานงานในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และแจ้ง PEA เพื่อดำเนินการต่อไป”

นอกจากนี้ PEA ยังได้จัดทำหนังสือเป็นทางการผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปยังหน่วยงานของเมียนมา เพื่อขอให้กำกับดูแลและควบคุมการจ่ายไฟฟ้าให้เป็นไปตามสิทธิสัมปทาน ณ จุดซื้อขายไฟฟ้า หากหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศไทยตรวจสอบและพิจารณาแล้วเห็นว่าการจ่ายไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทย และ แจ้งให้ PEA ทราบ ก็จะดำเนินการงดจำหน่ายไฟฟ้าตามขั้นตอนต่อไป

นายประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) กล่าวว่า ที่ผ่านมา PEA เคยส่งหนังสือผ่านกระทรวงการต่างประเทศในไทยไปยังสถานทูตในเมียนมา เพื่อให้ช่วยตรวจสอบว่ามีธุรกิจสีเทามาใช้ไฟฟ้าหรือไม่ และได้ขายไฟฟ้าต่อในธุรกิจที่ตกลงตามสัญญาถูกต้องหรือไม่ ซึ่ง PEA จะเข้มข้นในการติดตามเรื่องนี้ต่อไป

นอกจากนี้คณะกรรมการ (บอร์ด) PEA เห็นควรให้มีการแก้ไขรายละเอียดในสัญญาขายไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ได้ทำร่างสัญญาขายไฟฟ้าฉบับใหม่แล้ว และอยู่ระหว่างรออัยการสูงสุดตรวจสอบ โดยร่างสัญญาฉบับใหม่จะรัดกุมมากขึ้น โดยต้องยืนยันว่าซื้อไฟฟ้าไปแล้วจะนำไปขายให้กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าด้านใดได้บ้าง เช่น ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา เป็นต้น ซึ่งหากใช้ผิดวัตถุประสงค์ก็สามารถยกเลิกสัญญาได้ง่ายขึ้น ส่วนด้านความมั่นคงของประเทศนั้น สัญญาขายไฟฟ้าจะต้องระบุให้ละเอียดมากขึ้น เพื่อให้สามารถงดจ่ายไฟฟ้าได้เร็วขึ้นด้วย

ทั้งนี้หากอัยการสูงสุดเห็นชอบร่างสัญญาขายไฟฟ้าฉบับใหม่แล้ว ก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด PEA และจัดทำเป็นสัญญาฉบับใหม่ ที่จะใช้เป็นการทั่วไปทันที

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (4) : ไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทย…มาจากไหน? ‘กระทรวงพลังงาน’ บริหารอย่างไร? ไม่ให้ค่าไฟแพงเกินไป

(30 ม.ค. 68) เมื่อเล่าถึง ‘ค่าไฟฟ้า’ แล้ว เรื่องหนึ่งที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งเป็นผู้ที่ใช้ไฟฟ้าและจ่าย ‘ค่าไฟฟ้า’ ควรรู้ก็คือ “รายละเอียดของการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทย” อันเป็นที่มาที่ไปของบริบทโดยรวมที่เกี่ยวข้องกับ ‘ค่าไฟฟ้า’ จากที่ได้เล่าไว้ใน “รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (1) : ความเป็นมาของกิจการพลังงานไฟฟ้า หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ‘ค่าไฟฟ้า’” แล้วนั้น ด้วยแรกเริ่มเดิมทีการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยเป็นภารกิจของ “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ EGAT” ซึ่งทำหน้าที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าเองทั้ง 100% เพื่อส่งต่อให้กับ กฟน. กฟภ. 

แต่ต่อมา รัฐบาลในขณะนั้นต้องการเพิ่มการแข่งขันในกิจการพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและผู้บริโภคมีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในราคาที่เหมาะสม ทั้งยังเป็นการลดภาระการลงทุนของรัฐและลดภาระหนี้สินของประเทศ และส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการส่งเสริมเอกชนได้เข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้า ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าเอกชนจึงเข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่นั้นมา

ทั้งนี้ กฟผ. ทำหน้าที่เป็นทั้ง ผู้ผลิต และผู้รับซื้อไฟฟ้า เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟน. และ กฟภ. โดยปัจจุบัน กฟผ. ผลิตไฟฟ้าได้เอง ราว 34% ส่วนที่เหลือก็จะรับมาจาก (1)ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือ ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer : IPP) เป็นโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดมากกว่า 90 เมกะวัตต์ (MW) 34% (2)ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (Small Power Producer : SPP)’ เป็นโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดน้อยกว่า 90 เมกะวัตต์ (MW) 19% และ (3)นำเข้าจากต่างประเทศอีก 13% โดย กฟผ. ผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งตั้งอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศรวมจำนวนทั้งสิ้น 53 แห่ง มีกำลังผลิตรวมทั้งสิ้น 16,237.02 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังความร้อน 3 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 6 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (พลังน้ำ) 30 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (ลม แสงอาทิตย์ ความร้อนใต้พิภพ) 9 แห่ง โรงไฟฟ้าดีเซล 4 แห่ง และโรงไฟฟ้าอื่น ๆ (โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ) อีก 1 แห่ง 

ข้อมูลต่อไปนี้เป็นข้อมูลกำลังผลิตโรงไฟฟ้าเอกชน ณ เดือนพฤศจิกายน 2567 โดย ‘ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 13 โรง โดยมีกำลังการผลิตตามสัญญารวมทั้งสิ้น 19,598.50 เมกะวัตต์ และ ‘ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก ซึ่งแบ่งเป็น (1)ประเภทสัญญา Firm [1.1]ระบบ Cogeneration (การผลิตพลังงาน 2 รูปแบบได้แก่พลังงานไฟฟ้า (กระแสไฟฟ้าและพลังงานความร้อน (ไอน้ำ, อากาศร้อน) จากแหล่งเชื้อเพลิงชนิดเดียวในระบบ Cogeneration ประกอบด้วย Gas Turbine, Generator และ Heat Recovery) จำนวน 73 โรง มีกำลังการผลิตตามสัญญารวม 5,772 เมกะวัตต์ และ [1.2]พลังงานหมุนเวียน (Renewable) อีก 26 โรง มีกำลังการผลิตตามสัญญารวม 493.53 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังการผลิตตามสัญญา Firm รวมทั้งสิ้น 6,265.53 เมกะวัตต์ และ (2)ประเภทสัญญา Non-Firm [2.1]ระบบ Cogeneration จำนวน 6 โรง กำลังการผลิตตามสัญญารวม 278 เมกะวัตต์ และ [2.2]พลังงานหมุนเวียน (Renewable) อีก 56 โรง มีกำลังการผลิตตามสัญญารวม 2,522.35 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังการผลิตตามสัญญา Non-Firm รวมทั้งสิ้น 2,800.35 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ กฟผ. ยังนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศ (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) จำนวน 9 โรง และ (สหพันธรัฐมาเลเซีย) อีก 1 โครงการ (โครงการสายส่งเชื่อมโยง ไทย-มาเลเซีย (HVDC) 300 เมกะวัตต์) โดยมีกำลังการผลิตตามสัญญารวมทั้งสิ้น 6,234.90 เมกะวัตต์ ดังนั้น จากกำลังการผลิตไฟฟ้า เพียง 34% หรือเพียง 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตทั้งหมด ทำให้บทบาทของ กฟผ. กลายเป็นผู้รับซื้อ-ขายไฟฟ้า และให้บริการการจัดส่งไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าของ กฟผ. และที่รับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่นผ่านระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ให้กับ กฟน. และ กฟภ.

ข้อมูลเกี่ยวกับไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทยมาจากไหนนั้นมีผลอย่างสำคัญต่อ ‘ราคาค่าไฟฟ้า’ ด้วยเพราะระบบและเทคโนโลยี ตลอดจนพลังงานที่นำมาใช้ ทำให้เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างของ ‘ราคาไฟฟ้า’ โดยเฉพาะ ‘ค่าไฟฟ้าฐาน’ และ ‘ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft)’ จากการที่ประเทศไทยผลิตไฟฟ้าใช้ ‘ก๊าซธรรมชาติ’ ผลิตไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้สัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ ณ เดือนตุลาคม 2567 ลำดับ 1 คือ ‘ก๊าซธรรมชาติ’ 53.441% ลำดับ 2 เป็น ‘ไฟฟ้านำเข้า’ 20.602% ลำดับ 3 มาจาก ‘ถ่านหินนำเข้าและลิกไนต์’ 16.025% ลำดับ 4 คือ ‘พลังงานหมุนเวียน’ 8.379% ลำดับ 5 ได้แก่ ‘พลังงานน้ำ’ 1.529% และลำดับ 6 เป็น ‘น้ำมันดีเซล/น้ำมันเตา’ 0.022%

โดยที่ ‘ค่า Ft’ เป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนหรือประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่ กฟผ. ไม่สามารถควบคุมได้ และ ‘คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)’ จะเป็นผู้พิจารณาจากข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการคำนวณเพื่อปรับค่า Ft ทุก ๆ 4 เดือน ซึ่งในส่วนนี้ ‘กระทรวงพลังงาน’ ทำได้เพียงใช้มาตรการต่าง ๆ ภายใต้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ทำให้ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้ามีต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบต่อค่า Ft เพื่อไม่ให้สร้างผลกระทบด้านค่าใช้จ่ายแก่พี่น้องประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าได้ ในตอนต่อไปจะได้บอกเล่าถึงเรื่องของ ‘ก๊าซธรรมชาติ’ อันเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของไทย ทำให้มีผลอย่างสำคัญต่อ ‘ค่า Ft’ 

กฟผ. ยันไม่ใช่ต้นตอก่อปัญหาฝุ่น PM2.5 ย้ำ คุมเข้มปล่อยฝุ่น โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ - ใต้

กฟผ. ตระหนักถึงความสำคัญการดูแลคุณภาพอากาศ เผยควบคุมการปล่อยมลสารจากโรงไฟฟ้า กฟผ. ค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้ พร้อมร่วมมือกับชุมชนบรรเทาปัญหาลดฝุ่น ย้ำมีมาตรการลดฝุ่น โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ - ใต้

(30 ม.ค.68) นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ในช่วงนี้สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 โดยรวมของประเทศสะสมเกินค่ามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ในส่วนของการดำเนินงานของ กฟผ. ควบคุมดูแลคุณภาพอากาศอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นน้ำของการผลิตไฟฟ้า โดยเลือกใช้เทคโนโลยีในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง ควบคุมการเผาไหม้ของโรงไฟฟ้าให้สมบูรณ์เพื่อลดการเกิดฝุ่น โดยใช้ระบบควบคุมปริมาณการระบายก๊าซออกไซด์ไนโตรเจน (Dry Low NOx Burner) ร่วมกับการฉีดน้ำเข้าไปยังห้องเผาไหม้ (Water Injection) เพื่อควบคุมอุณหภูมิในการเผาไหม้ ลดปริมาณการเกิดออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ติดตั้งอุปกรณ์ชุดกรองฝุ่น (Inlet Air Filter System) เพื่อกรองฝุ่นที่ปนมากับอากาศที่ใช้ในการเผาไหม้ และติดตั้งระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศแบบต่อเนื่อง (Continuous Emission Monitoring System) ที่ปล่องของโรงไฟฟ้า เพื่อตรวจวัดอัตราการระบายอย่างต่อเนื่อง 

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของ กฟผ. ดังเช่นโรงไฟฟ้าพระนครเหนือและโรงไฟฟ้าพระนครใต้ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งถือเป็นเชื้อเพลิงที่ปล่อยมลสารน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิลประเภทอื่น โดยพบว่าโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ทุกแห่งควบคุมการปล่อยมลสารได้ดีกว่าค่าควบคุมตามที่กำหนดไว้ในรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ก่อนการพัฒนาโครงการ ซึ่งเป็นค่าที่เข้มงวดกว่าค่ามาตรฐานตามประกาศของกรมโรงงานอุตสาหกรรม 

อีกทั้ง กฟผ. ยังใส่ใจในเรื่องวิกฤต PM2.5 ได้ศึกษาวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำรวจมลสารทางอากาศ และจำแนกแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ 

ผศ.ดร.สุดจิต ครุจิต อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่ปรึกษาของโครงการวิจัยเผยผลวิจัยว่า ฝุ่นจากปล่องของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณฝุ่นในบรรยากาศทั่วไปของชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงโรงไฟฟ้าพระนครเหนือที่พุ่งสูงขึ้น โดยพบว่า สัดส่วนขององค์ประกอบทางเคมีของฝุ่น (DNA) จากปล่องโรงไฟฟ้าพระนครเหนือแตกต่างจาก DNA ของฝุ่นในบรรยากาศในพื้นที่ชุมชน นอกจากนี้ ผลการศึกษาการปล่อยฝุ่น PM2.5 จากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าพระนครเหนือในรัศมี 5 กิโลเมตร พบว่าฝุ่น PM2.5 มาจากการสัญจรบนถนนสายหลักและถนนสายรองมากถึง 73.5% รองลงมาเป็นโรงงานอุตสาหกรรม 13.4% และที่พักอาศัย 5.4% โดยเป็นฝุ่นจากโรงไฟฟ้าพระนครเหนือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.8% เท่านั้น ส่วนการปล่อยสาร NOx คิดเป็นเพียง 11% ของแหล่งกำเนิดทุกประเภท

นอกจากนี้โรงไฟฟ้า กฟผ. กำลังพิจารณาแนวทางเพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่นในพื้นที่ โดยการเพิ่มอุณหภูมิปากปล่องโรงไฟฟ้า (Stack Temperature) ให้สูงขึ้นในบางช่วงเวลา เพื่อช่วยระบายฝุ่นในชั้นบรรยากาศออกไปด้วย 

ในขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าและเขื่อน ของ กฟผ. ทั่วประเทศยังดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาฝุ่นให้กับชุมชนโดยรอบพื้นที่ กฟผ. อาทิ ผลักดันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ภายในประเทศ ติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบ Real Time ผ่านแอปพลิเคชัน Sensor for All กว่า 1,250 จุดทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนเฝ้าระวังและสามารถวางแผน การใช้ชีวิตประจำวันได้ รวมถึงสนับสนุนภารกิจป้องกันไฟป่าและหมอกควันตามที่ได้รับการร้องขอจากหน่วยงานต่าง ๆ

‘เอกนัฏ’ คิกออฟ 'แจ้งอุต' แจ้งปัญหาอุตสาหกรรมง่ายๆ ผ่านไลน์ ดึงปชช. ร่วมปราบ โรงงานเถื่อน – สินค้าไร้มาตรฐาน - ฝุ่นพิษ

กระทรวงอุตสาหกรรม คิกออฟ 'แจ้งอุต' แพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนปัญหาอุตสาหกรรมผ่าน ทางไลน์ โดยเทคโนโลยี 'ทราฟฟี่ ฟองดูว์' ซึ่งผู้ร้องสามารถติดตามสถานการณ์แก้ปัญหาจนแล้วเสร็จ ทราบผลรวดเร็วทันใจ สร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมไทย

(31 ม.ค.68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีความเอาจริงเอาจังกับการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปฏิรูปอุตสาหกรรมทั้งการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการให้การประกอบกิจการเป็นเรื่องง่าย (Ease of Doing Business) และเพิ่มความคล่องตัวสำหรับประชาชนทั่วไปในการติดต่อกับกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้มอบหมายให้ “คณะกรรมการเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม” นำโดย นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมหาแนวทางขับเคลื่อนร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหา 'ทราฟฟี่ฟองดูว์' (Traffy Fondue) จัดทำช่องทางร้องเรียนออนไลน์ของกระทรวงอุตสาหกรรม ในชื่อ 'แจ้งอุต' ที่จะเป็นตัวกลางระหว่างประชาชนกับกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นการเพิ่มช่องทางแจ้งเรื่องและตามติดสถานะของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการอุตสาหกรรมแบบทันใจยกระดับการมีส่วนร่วมภาคประชาชนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้สะอาด โปร่งใส และเพิ่มประสิทธิภาพให้ภาครัฐโดยการใช้เทคโนโลยีที่อำนวยให้ข้าราชการทำงานง่ายขึ้น อย่างเทคโนโลยีประมวลผลอัจฉริยะ (AI) ที่ช่วยเจ้าหน้าที่ประเมินสถานการณ์ แนะนำแนวทางการแก้ปัญหาอัตโนมัติ เพื่อลดระยะเวลาทำงาน

“ช่วงที่ผ่านมา เราเข้มงวดบังคับใช้กฎหมายกับการจัดระเบียบอุตสาหกรรมไทย กับโรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎกติกา ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 สินค้าไม่ได้มาตรฐานมากมายยังแทรกซึมในตลาด ลำพังกำลังพลของข้าราชการอุตสาหกรรม เราทำได้ไม่เพียงพอเป็นแน่ ผมจึงอยากให้ 'แจ้งอุต' ซึ่งเป็นเหมือนเครื่องมือที่ช่วยรับฟังเสียงจากประชาชนที่เดือดร้อน เพื่อแก้ปัญหา ในขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับประชาชน ในการต่อสู้เพื่อพังวงจรอุตสาหกรรมสีเทา โรงงานเถื่อน เอาผิดผู้ประกอบการไร้ความรับผิดชอบ ลักลอบฝังขยะอันตราย ปิดตายสินค้าข้ามชาติราคาถูกที่ไร้มาตรฐาน ช่วยกันพลิกฟื้นอุตสาหกรรมไทยให้สะอาด โปร่งใส ไม่ให้มีอะไรซุกใต้พรมอีกต่อไป แจ้งอุตมา เราสุดซอยให้แน่ครับ” นายเอกนัฏกล่าว

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การทำงานของแพลตฟอร์ม 'แจ้งอุต' นั้น สามารถเข้าใช้งานโดยผ่านระบบของทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) และเลือกไปยัง แจ้งอุต รวมทั้งการสแกนผ่าน QR Code และ Link ซึ่งสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนในเรื่องต่าง ๆ แบ่งออกเป็น 6 ด้าน คือ 1. โรงงาน (ปัญหาเกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงงานกลิ่นเหม็น/เสียงดัง/ฝุ่นละออง/ถนนและระบบสาธารณูปโภคภายในนิคมอุตสาหกรรม) 2. อ้อย (ปัญหาเผาอ้อย/รถบรรทุกอ้อยน้ำหนักเกิน) 3. เหมือง (ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ) 4. มาตรฐานสินค้า 5. บริการอุตสาหกรรม (ร้องเรียนการให้บริการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) และ 6. ด้านอื่นๆ นอกจากนี้ยังสามารถร้องเรียนการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย 

ในระยะแรก กระทรวงอุตสาหกรรมจะรับแจ้งจัดการเรื่องการร้องเรียนของทุกหน่วยงานในสังกัด จำนวน 8 แห่ง ส่วนระยะต่อไปจะพัฒนาการติดตามสถานะการขอรับบริการ เช่น การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน การขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสถานะการสมัครเข้าร่วมโครงการของผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี สถานะการขอสินเชื่อของผู้ประกอบการ เป็นต้น ทั้งนี้ ระบบใน Traffy Fondue ได้พัฒนาการแสดงผลภาพรวม (dashboard) และฐานข้อมูลการใช้บริการ เช่น สถิติการร้องเรียน พื้นที่ที่ถูกร้องเรียน ประวัติการส่งเรื่องร้องเรียน และจำนวนที่ได้รับการแก้ไข เพื่อให้ผู้รับผิดชอบสามารถนำไปวางแผนการจัดการปัญหาในพื้นที่นั้น ๆ และในอนาคต กระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนที่จะเชื่อมโยงแจ้งอุตกับระบบต่าง ๆ ที่มีอยู่ของกรม เช่น I-Dee Pro และระบบอื่น ๆ ต่อไป เพื่อให้ข้อมูลและการจัดการต่าง ๆ เชื่อมโยงถึงกัน 

โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการจัดฝึกอบรมการใช้งาน 'แจ้งอุต' เมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมา ให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกว่า 500 คน ทั้งที่ห้องประชุมและทางออนไลน์ เพื่อนำแนวทางและเทคนิคของการจัดการเรื่องร้องเรียนมาฝึกปฏิบัติให้สามารถนำระบบ 'แจ้งอุต' ไปปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วและพร้อมให้บริการประชาชน ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมีเรื่องร้องเรียนเฉลี่ยปีละ 500-550 เรื่อง โดยเรื่องร้องเรียนมากที่สุด 11 อันดับ ได้แก่ 1. กลิ่นเหม็นและไอสารเคมี (ร้อยละ 29) 2. ฝุ่นละอองและเขม่าควัน (ร้อยละ 21) 3. เสียงดังและแรงสั่นสะเทือน (ร้อยละ 15) 4. น้ำเสีย (ร้อยละ 8) 5. อื่น ๆ (ร้อยละ 6) 6. ประกอบการในเวลากลางคืน (ร้อยละ 6) 7. กากอุตสาหกรรมและวัตถุอันตราย (ร้อยละ 5) 8. ประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาต (ร้อยละ 5) 9. ความปลอดภัยในการทำงานและสุขภาพ (ร้อยละ 3) 10. คัดค้านการประกอบการ (ร้อยละ 2) 11. เหมืองแร่ (ร้อยละ 0.3) นอกจากนี้ยังมีการร้องเรียนจากเหตุภาวะฉุกเฉิน เฉลี่ยจำนวน 15 เรื่องต่อเดือน อาทิ เหตุเพลิงไหม้ สารเคมีรั่วไหล การชุมนุมคัดค้าน อุบัติเหตุจากการทำงานหรือเครื่องจักรกล เหตุระเบิด เป็นต้น 

การพัฒนาแพลตฟอร์ม 'แจ้งอุต' เป็นการยกระดับการให้บริการของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้ในการแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการข้อร้องเรียน นำร่อง รับแจ้งเรื่อง 6 ประเภทเรื่องสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งประชาชนสามารถแจ้งเรื่องผ่านคิวอาร์โค้ด หรือไลน์ไอดี 'traffyfondue' โดยเริ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2568 เป็นต้นไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top