Tuesday, 29 April 2025
GoodsVoice

บางกอกเคเบิ้ล จับมือ HiTHIUM รุกระบบกักเก็บพลังงาน เดินหน้าลุยประมูลงานเมกะโปรเจกต์รัฐ - เอกชน

(21 ม.ค.68) 'บางกอกเคเบิ้ล' จับมือ 'HiTHIUM' ท็อป 5 โลกด้านระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ หรือ BESS ผนึกกำลังสายไฟฟ้าคุณภาพและ BESS ที่ผ่าน R&D เข้มข้น สู่โซลูชั่นด้านพลังงานครบวงจร ชูวิสัยทัศน์ร่วมเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพื้นฐานไทยสู่การใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน สอดรับเทรนด์โลก วางแผนเดินหน้าประมูลงานและเมกะโปรเจกต์ภาครัฐและเอกชนไทย ทั้งกลุ่มโครงข่ายสาธารณูปโภค-กลุ่มโครงการเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม-กลุ่มโครงการที่อยู่อาศัย พร้อมร่วมชิงเค้กงานระดับภูมิภาคจาก ASEAN Power Grid เปิดช่องหาพันธมิตรร่วมยกระดับโครงสร้างพื้นฐานไทยและภูมิภาคเพิ่มเติม

นายพงศภัค นครศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานขายและการตลาด บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด หรือ Bangkok Cable (BCC) ผู้นำด้านการผลิตและพัฒนาสายไฟฟ้าและสายเคเบิลชั้นนำของประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับ HiTHIUM บริษัทชั้นนำระดับท็อปของโลกด้านระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage Systems หรือ BESS) ณ สำนักงานใหญ่ของ HiTHIUM เมืองเซี่ยเหมิน ประเทศจีน เพื่อผสานความแข็งแกร่งระหว่างสายไฟฟ้าคุณภาพและระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างเข้มข้นจากทั้ง 2 บริษัท มาเป็นโซลูชั่นด้านพลังงานไฟฟ้าอย่างครบวงจร รองรับความต้องการของประเทศ

“ทิศทางโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานทดแทนมากขึ้น BESS คือหัวใจสำคัญของสถานีไฟฟ้า โครงการระดับเมกะโปรเจกต์ที่ใช้พลังงานสะอาด ตลอดจนโครงการที่อยู่อาศัยยุคใหม่ เราและ HiTHIUM ต่างเป็น 2 บริษัทที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการส่งเสริมพลังงานที่ยั่งยืน เชื่อถือได้ มีประสิทธิภาพสูง เพื่อเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยสู่การใช้พลังงานสะอาด เราเชื่อมั่นว่าการผลึกกำลังกันระหว่างเจ้าตลาดสายไฟของไทย และท็อป 5 ของโลกด้าน BESS จะเป็นพลังสำคัญขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความยั่งยืนได้” นายพงศภัค กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทและ HiTHIUM จะนำเสนอโซลูชั่น รวมถึงเข้าประมูลงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในไทย ภายใต้ 3 กลุ่มงาน ได้แก่ 1.กลุ่มโครงข่ายสาธารณูปโภค ที่มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน 2.กลุ่มโครงการเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ที่เน้นการขยายการติดตั้งและการจำหน่ายระบบจัดเก็บพลังงาน และ 3.กลุ่มโครงการที่อยู่อาศัย ที่ใส่ใจพลังงานสะอาดและมุ่งเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีระบบจัดเก็บพลังงานที่ทันสมัย ขณะเดียวกัน จะร่วมกันเข้าประมูลงานโครงสร้างพื้นฐานระดับภูมิภาคอย่างโครงการ ASEAN Power Grid (APG) ซึ่งเป็นโครงการสร้างความเชื่อมโยงด้านพลังงาน สนับสนุนพลังงานหมุนเวียน เพิ่มความมั่นคงทางพลังงานระหว่างประเทศสมาชิก โดยบริษัทและ HiTHIUM ยังคงเปิดกว้างการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อร่วมยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยและภูมิภาคเพิ่มเติม

ด้านนายแซม หวัง ผู้อำนวยการฝ่ายขายประจำประเทศไทย HiTHIUM กล่าวว่า HiTHIUM รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ บางกอกเคเบิ้ล ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการขยายตลาดสู่ประเทศไทย ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ครั้งนี้มุ่งเน้นการเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชันด้านการกักเก็บพลังงานที่ล้ำสมัยของ HiTHIUM โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและเจริญรุ่งเรืองในประเทศไทย

สำหรับ บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด หรือ Bangkok Cable (BCC) เป็นผู้นำด้านการผลิตและพัฒนาสายไฟฟ้าและสายเคเบิลชั้นนำของประเทศไทย ก่อตั้งในปี พ.ศ.2507 ให้บริการครอบคลุม 7 กลุ่มการใช้งาน ได้แก่ 1.ระบบผลิตและส่งพลังงานไฟฟ้า (Transmission) 2.ระบบจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า (Distribution) 3.ระบบไฟฟ้าภายในบ้านพักและอาคาร (Construction and Building) 4.ระบบขนส่งและคมนาคม (Transportation and Mobility) 5.ระบบไฟฟ้าในโรงงาน และภาคอุตสาหกรรม (Industrial) 6.พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และ 7.ระบบไฟฟ้าในรถยนต์ (Automotive) เพื่อสร้างความปลอดภัยและขับเคลื่อนเมืองสู่อนาคต ปัจจุบัน มีลูกค้าโครงการขนาดใหญ่ของทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมากที่ใช้สายไฟฟ้าของบางกอกเคเบิ้ล อาทิ โครงการวัน แบงค็อก (One Bangkok) สนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 โครงการสายไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้าสายสีชมพู โครงการรถไฟทางคู่สายตะวันออก และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ เขื่อนอุบลรัตน์ นอกจากนี้ บริษัท มีส่วนสนับสนุนโครงการ ASEAN Power Grid โดยเฉพาะโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง (Luang Prabang Hydropower Project) ในประเทศลาว

‘เอกนัฏ’ ถก สภาธุรกิจไทย-จีน ร่วมพัฒนาอุตฯ เป้าหมาย เล็งผุดนิคมอุตฯคู่แฝดนำร่อง ระยอง-มณฑลอานฮุย

รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ หารือ สภาธุรกิจไทย-จีน พัฒนาอุตฯ เป้าหมาย ดันไทยขึ้นชั้นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของโลก เตรียมผุดนิคมอุตสาหกรรมคู่แฝดนำร่อง ระยอง-มณฑลอานฮุย 

เมื่อวันที่ (20 ม.ค.68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ นายเริน หงปิน ประธานสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นำคณะผู้บริหาร สภาธุรกิจไทย-จีน (TCBC) และสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (CCPIT) เข้าพบเพื่อหารือแลกเปลี่ยนแนวทางด้านการค้าและการลงทุน โดยมี นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม ณ ห้องประชุมดอกรัก ชั้น 6 อาคารกรมดิษฐ์

รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ กล่าวว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนมีศักยภาพในการผลิต รวมถึงการวิจัยและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัทชั้นนำของจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จำนวน 7 บริษัท ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมสำคัญทั่วประเทศ เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปทั่วโลก เพื่อให้เกิดการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานและบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย จึงมีกิจกรรมความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย อาทิ 1) การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนโยบายและห่วงโซ่อุปทาน 2) การพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม 3) การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญ 4) กิจกรรมเสริมสร้างเครือข่ายระหว่างภาคเอกชน ในสาขายานยนต์ไฟฟ้า พลังงานใหม่ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG

ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกับ CCPIT ทั้งมิติด้านการค้า การลงทุน การยกระดับนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี โดยฝ่ายจีนเสนอให้ฝ่ายไทยพิจารณาจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมคู่แฝดระหว่าง นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทพาร์ค จังหวัดระยอง ร่วมกับมณฑลอานฮุย เพื่อเป็นนิคมอุตสาหกรรมคู่แฝดนำร่อง โดยจะได้มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกภายในนิคมฯ ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ครบวงจร (Complex) รวมทั้งเสนอให้มีการจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติ และโครงการพัฒนาบุคลากรด้านอาชีวศึกษารองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม โดยมีสถาบันไทย-เยอรมัน เป็นต้นแบบ ซึ่งให้บริษัทในนิคมอุตสาหกรรมมีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตรร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อให้ผู้จบการศึกษามีคุณสมบัติตรงตามที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการและสามารถเข้าทำงานได้ทันที ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ ได้เป็นประธาน MOU โครงการความร่วมมือไทย-จีน 'Two Countries, Twin Parks' ระหว่าง กนอ. และกรมพาณิชย์ มณฑลอานฮุย สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมี ผู้ว่าการ กนอ. และนายหยาง เปิ่นชิง รองอธิบดีกรมพาณิชย์ มณฑลอานฮุย เป็นผู้ลงนาม

‘อินเตอร์ลิ้งค์’ เปิดบ้านต้อนรับผู้ถือหุ้น – นักลงทุน โชว์ศักยภาพบริษัทพร้อมเจาะลึกแผนกลยุทธ์ทุกกลุ่มธุรกิจ

เมื่อวันที่ (21-22 ม.ค. 68) นายสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK พร้อมด้วยทีมผู้บริหารระดับสูง เปิดบ้านจัดกิจกรรม 'INTERLINK Communication Company Visit and Analyst Meeting' ให้การต้อนรับผู้ถือหุ้น นักลงทุน นักวิเคราะห์ และผู้จัดการกองทุน ร่วมรับฟังการนำเสนอภาพรวมผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา โดยเน้นถึงความสำเร็จที่โดดเด่นในด้านการเติบโตของรายได้ การขยายฐานลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม และการพัฒนาถึงนวัตกรรม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล รวมถึงให้ข้อมูลอย่างเด่นชัดถึงการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพที่ส่งผลให้บริษัทฯ มีผลประกอบการที่แข็งแกร่ง และมีกำไรอย่างมีเสถียรภาพในทุกมิติ 

พร้อมกันนี้ ยังได้เปิดโอกาสให้เยี่ยมชม ศูนย์กระจายสินค้า (R&D Center) ซึ่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ พร้อมรับชมระบบ Logistics และห้องปฏิบัติการวิจัย และพัฒนา ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาดใหญ่บนถนนกาญจนาภิเษก แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพฯ ศูนย์แห่งนี้ถือเป็นศูนย์กระจายสินค้าหลักขนาดใหญ่ ของกลุ่มธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Cabling Distribution Center) ที่ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และครอบคลุมทั่วประเทศ มาพร้อมบริการพิเศษ "คุณสั่ง เราส่ง" พร้อมจัดส่งฟรีทั่วไทย หนุนเสริมศักยภาพการกระจายสินค้าด้วยความรวดเร็ว และแม่นยำ ซึ่งรองรับลูกค้าทั่วประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

โดยทุกท่านยังได้เยี่ยมชม ห้องปฏิบัติการทดลอง (LAB) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัย และพัฒนาด้านโครงข่ายสายสัญญาณ ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยศูนย์แห่งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการพัฒนาโซลูชันให้ครอบคลุมครบทุกวงจร และมีคุณภาพสูง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกเทคโนโลยีทั้งในปัจจุบัน และอนาคต

นอกจากนี้ ยังได้พาเข้าไปเยี่ยมชม ศูนย์สำรองข้อมูล อินเตอร์ลิ้งค์ ดาต้า เซ็นเตอร์ (Interlink Data Center) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม และดาต้าเซ็นเตอร์ (Telecom & Data Center Business) โดยบริษัทฯ ได้นำจุดเด่นจากการมีโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) ที่ครอบคลุมทั่วประเทศไทยมาใช้เป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญ สำหรับศูนย์สำรองข้อมูลแห่งนี้ ถูกออกแบบด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย พร้อมคำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีระบบความปลอดภัยที่รัดกุมตามมาตรฐาน Tier 3 Standard โดยบริษัทฯ ได้ทำงานร่วมกับผู้ออกแบบศูนย์ข้อมูลที่มีประสบการณ์สูง พร้อมมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเป็นที่ปรึกษา เพื่อดูแลให้ศูนย์ข้อมูลแห่งนี้เหมาะสมกับการใช้งานอย่างสูงสุด นับว่า Interlink Data Center ไม่เพียงแค่เป็นศูนย์สำรองข้อมูลฯ ที่มีประสิทธิภาพ แต่ยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับความต้องการด้านเทคโนโลยีขององค์กรต่าง ๆ ได้อย่างเต็มศักยภาพ

โดยงานนี้ เป็นเวทีครั้งสำคัญที่บริษัทฯ ตั้งใจจะนำเสนอข้อมูลผลการดำเนินงานในปี 2567 ควบคู่ไปกับการเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้ซักถามข้อมูลเชิงลึก พร้อมทั้งยังได้มีการร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะผู้บริหารในประเด็นสำคัญ เช่น ความท้าทายทางธุรกิจ แนวโน้มอุตสาหกรรม และโอกาสในการเติบโตในอนาคต รวมถึงมีการเปิดเผยแนวโน้มกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจในปี 2568 อย่างละเอียด เพื่อตอกย้ำถึงความพร้อมของทั้ง 3 ธุรกิจ ในการเดินหน้าพัฒนาให้สอดรับครอบคลุมทุกมิติอย่างต่อเนื่อง

สำหรับกิจกรรมดังกล่าว เป็นการสะท้อนถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของบริษัทฯ ที่ไม่หยุดยั้งในการพัฒนาศักยภาพอย่างมีคุณภาพ ทั้งยังเป็นการตอกย้ำถึงจุดยืนที่แข็งแกร่งของทุกกลุ่มธุรกิจ ภายใต้วิสัยทัศน์ “เติบโต ต่อเนื่อง อย่างยั่งยืน” ที่บริษัทฯ ยึดมั่นมาตลอดระยะเวลากว่า 38 ปี สำหรับแผนกลยุทธ์แห่งปี 2568 นี้ ILINK ยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรตามวิสัยทัศน์ สู่การเป็นผู้นำด้านระบบโครงข่ายสายสัญญาณและนวัตกรรมดิจิทัล โดยเฉพาะธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Cabling Distribution Business) จะเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในยุคดิจิทัล พร้อมทั้งยกระดับการให้บริการแบบครบโซลูชันของระบบโครงข่ายพื้นฐานอย่างครบวงจร โดยมี การวางเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการในยุคเทคโนโลยีที่ทันสมัย ภายใต้แนวคิด “NEW INNOVATION” และ“NEXT INNOVATION” ร่วมกับตอกย้ำแบรนด์ LINK AMERICAN CABLING ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาพร้อมกับโซลูชันที่ครบวงจร จากสินค้า และอุปกรณ์ LINK AMERICAN & GERMAN RACK EVERYWHERE นอกจากนี้ ในปี 2568 ยังถือเป็นปีแห่งการต้อนรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลเชิงบวก เพื่อทุกธุรกิจจะสามารถสร้างรายได้ที่เติบโตแบบทวีคูณ พร้อมกับขยายฐานลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ เสริมศักยภาพธุรกิจให้แข็งแกร่งต่อไปในอนาคต เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุด และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ถือหุ้น ลูกค้า และพันธมิตรทุกภาคส่วนอีกด้วย

“จากความสำเร็จที่โดดเด่นของทั้ง 3 ธุรกิจ ที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่องนั้น มาจากการขับเคลื่อนธุรกิจทุกกลุ่มในเครืออย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่เพียงแต่สามารถสร้างยอดขาย และทำกำไรเติบโตได้ในทุกไตรมาสเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดีเสมอมา เป็นผลมาจากการตั้งใจ และศักยภาพที่มุ่งเน้นพัฒนานวัตกรรมใหม่อย่างไม่หยุดยั้ง ให้สอดรับกับความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงส่งผลสร้างรายได้มูลค่าเพิ่มให้กับทุกกลุ่มธุรกิจในเครือ จนสามารถครองตลาดในด้านเทคโนโลยี ขึ้นแท่นเป็นผู้นำอันดับ 1 ที่กล้าการันตีมีคุณภาพสูง นอกจากนี้ ทั้ง 3 ธุรกิจ ยังมีการเตรียมความพร้อมที่ดี เพื่อสามารถดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ที่ได้กำหนดแบบแผนไว้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างผลตอบแทนที่ดี และเป็นประโยชน์สูงสุดให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาว และยังถือเป็นโอกาสอันดี ในการพบปะ เพื่อเป็นพันธมิตรที่ดีร่วมกันในอนาคต ต่อยอดให้องค์กรได้ก้าวไปสู่การเติบโตที่แข็งแกร่ง และมั่นคงในปี 2568 อย่างยั่งยืนแบบมีคุณภาพต่อไป" นายสมบัติ กล่าวเสริมตอนท้าย

กกพ. แจงเสร็จสิ้นหน้าที่รับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 แล้ว พร้อมเห็นชอบตาม กพช. เบรกลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

(22 ม.ค. 68) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เห็นควรปฏิบัติตามมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เบรกทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 แม้จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก 72 ราย รวม 2,145.40 เมกะวัตต์ ไปแล้วก็ตาม พร้อมแจ้งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ว่าได้ปฏิบัติการเปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 ตามหน้าที่เสร็จสิ้นแล้ว หลังจากนี้ 3 การไฟฟ้าต้องรอนโยบายภาครัฐสั่งการลงนามสัญญา PPA ถึงจะเดินหน้าต่อได้  

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกรณีเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2567 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติให้ชะลอโครงการไฟฟ้าสีเขียว เฟส 2 หรือ “โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด สำหรับปี 2565 – 2573” ปริมาณรวม 3,668.5 เมกะวัตต์ โดยเป็นการชะลอการลงนามสัญญากับ 3 การไฟฟ้าไว้ก่อน เพื่อดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง พร้อมทั้งมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ไปหารือกับ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณาด้านข้อกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของ กพช. รวมทั้งให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพช. พิจารณาแต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว และให้ฝ่ายเลขานุการฯ แจ้งให้ กกพ. และ 3 การไฟฟ้า ทราบมติ กพช. ต่อไป

โดยล่าสุดทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประชุมพิจารณาเห็นควรให้ปฏิบัติตามมติ กพช. โดยให้ชะลอการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์เข้าร่วมโครงการฯ กับการไฟฟ้าออกไปก่อนจนกว่าทางภาครัฐจะสั่งการลงมาใหม่

อย่างไรก็ตาม กกพ. ได้แจ้งไปยังสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะเลขานุการ กพช. ว่า ทาง กกพ. ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการเปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 เสร็จสิ้นกระบวนการตาม มติ กพช. ที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว ส่วนกระบวนการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เป็นกระบวนการที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.),การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จะไปดำเนินการต่อตามมติ กพช. และนโยบายภาครัฐต่อไป

สำหรับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว รอบ 2 จำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ ได้แบ่งเป็น รอบรับซื้อไฟฟ้า 2,180 เมกะวัตต์ สำหรับผู้ที่ผ่านคุณสมบัติการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวแล้ว แต่ไม่ผ่านเข้าร่วมโครงการในรอบแรก ซึ่งจะได้รับการพิจารณาก่อน (ในส่วนนี้กระทรวงพลังงานให้ชะลอไว้ก่อน เพื่อทำการตรวจสอบให้ถูกต้องตามกฎหมาย) ส่วนรอบรับซื้อไฟฟ้าที่เหลืออีก 1,488.5 เมกะวัตต์ ขณะนี้ยังไม่ได้ประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้าในส่วนนี้แต่อย่างใด

ทั้งนี้ย้อนไปในวันที่ 25 พ.ย. 2567 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ออกมาแถลงข่าวถึงการให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว รอบ 2 ว่า กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบด้านกฎหมายในการเปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว รอบ 2 จำนวน 2,180 เมกะวัตต์ ว่าจะดำเนินการได้หรือไม่ เนื่องจากตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ผ่านมา ได้เปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวรอบแรกประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ ไปแล้ว แต่ต่อมาพบว่ายังมีผู้ผลิตที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการอีกหลายราย จึงทำการเปิดรับซื้อรอบ 2 ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่ตัวเองจะเข้ามาบริหารงาน 

ดังนั้นจึงต้องดำเนินการตรวจสอบทางกฎหมายก่อนว่า การเปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว 2,180 เมกะวัตต์ ที่กำหนดให้เฉพาะกลุ่มผู้ที่ผ่านคุณสมบัติแล้วแต่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการไฟฟ้าสีเขียวในรอบแรก จะได้รับการพิจารณาก่อนนั้น จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่

ต่อมาในวันที่ 16 ธ.ค. 2567 ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ยังคงดำเนินการตามมติ กพช. เดิม โดยออกประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบ กกพ. ว่าด้วย “การจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ Feed-in Tariff (FIT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567” โดยมีผู้ผ่านเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 72 ราย

โดยแบ่งเป็น 1. ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม 8 ราย รวมกำลังผลิต 565.40 เมกะวัตต์  2.ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จำนวน 64 ราย รวม 1,580 เมกะวัตต์  หรือรวมปริมาณทั้งสิ้น 2,145.40 เมกะวัตต์

ดังนั้นล่าสุดเมื่อ 25 ธ.ค. 2567 ที่ กพช. ได้มีมติให้ชะลอการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไว้ก่อน จึงส่งผลให้กระบวนการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว เฟส 2 ต้องถูกระงับไว้ก่อนด้วย เพื่อรอการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าจะถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ต่อไป

รร.ไอแอท รีเจนซี่ ชวนดื่มด่ำกับผลงานศิลปินระดับโลก ‘มาริโอ อวาติ’ จากคอลเล็กชันส่วนตัวของ ‘มิเชล โบบอต’ อดีตทูตประจำยูเนสโก

กลับมาอีกครั้งกับประสบการณ์ศิลปะระดับโลก “มาริโอ อวาติ” กับนิทรรศการ “Mario Avati : Peaceful Beauty” ที่จะชวนสัมผัสการเดินทางสู่โลกแห่งความสงบและความงาม ณ โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ กรุงเทพฯ สุขุมวิท 

เมื่อวันที่ (15 ม.ค. 68) โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ กรุงเทพฯ สุขุมวิท ได้จัดงานเปิดประสบการณ์ศิลปะระดับโลกอีกครั้งกับนิทรรศการ "Mario Avati: Peaceful Beauty" นำเสนอผลงานต้นฉบับอันทรงคุณค่าของศิลปินชาวฝรั่งเศสชื่อดัง มาริโอ อวาติ(Mario Avati) จากคอลเล็กชันส่วนตัวของท่านทูตมิเชล โบบอต (Ambassador Michel Bohbot) อดีตนักการทูตประจำองค์การยูเนสโกและนักสะสมชาวฝรั่งเศส นับเป็นนิทรรศการครั้งที่สามที่โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ กรุงเทพฯ สุขุมวิท จัดแสดงผลงานศิลปะร่วมกับท่านทูตโบบอต เพื่อส่งเสริมวงการ ศิลปะและสร้างพื้นที่แสดงผลงานอันทรงคุณค่า นิทรรศการแห่งนี้จึงมอบประสบการณ์ทางศิลปะที่ลึกซึ้งและใกล้ชิดกับผลงานต้นฉบับของ ศิลปินอย่างไม่เคยมีมาก่อน

มาริโอ อวาติ ศิลปินชาวฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียงระดับโลก เป็นที่รู้จักในฐานะปรมาจารย์ด้านเทคนิคเมซโซทินท์ (Mezzotint) เทคนิคการพิมพ์ภาพในกลุ่มภาพพิมพ์ลึก (Intaglio) ที่มีจุดเด่นคือการสร้างแสงและเงาอย่างละเอียด ทำให้ได้ภาพที่มีความนุ่มนวลและสมจริง ซึ่งเขาได้นำเทคนิคนี้มาพัฒนาให้โดดเด่นยิ่งขึ้นผ่านการเพิ่มสีสันและอารมณ์ลึกซึ้ง ผลงานของอวาติมีเอกลักษณ์ในการเปลี่ยนวัตถุธรรมดา เช่น ผลไม้ หรือสัตว์ ให้กลายเป็นศิลปะที่ทรงคุณค่าผ่านการใช้แสง เงา และรูปทรงที่งดงาม ผลงานของเขาจึงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศญี่ปุ่น ในฐานะศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนถึงความสงบ ความงาม และการครุ่นคิดผ่านมุมมองที่ลึกซึ้ง อย่างมีเอกลักษณ์ 

นิทรรศการ Mario Avati : Peaceful Beauty แห่งนี้จึงจัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงศิลปินผู้ล่วงลับ ผ่านการนำผลงานศิลปะของอวาติมาจัดแสดง ไม่ว่าจะเป็น ผลงานภาพพิมพ์ ภาพวาด งานแกะสลัก รูปปั้น จดหมาย และหนังสือชีวประวัติและผลงานของเขา โดยผลงานทุกชิ้นเป็น ผลงานต้นฉบับจริงจากคอลเลกชันสะสมส่วนตัวของท่านทูตมิเชล โบบอต นักสะสมชาวฝรั่งเศสผู้มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ผลงานของ Avati และเป็นเพื่อนสนิทของศิลปินมายาวนานกว่า 45 ปีผลงานบางชิ้นที่นำมาจัดแสดงภายในนิทรรศการจึงเป็นผลงานที่ทำขึ้นเป็นพิเศษ สำหรับมอบให้เพื่อนสนิทเป็นที่ระลึก มีเพียงชิ้นเดียว และไม่สามารถหาดูที่ไหนได้ สะท้อนให้เห็นถึงมิตรภาพและความไว้วางใจอันลึกซึ้ง ระหว่างทั้งสอง 

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้นำผลงานอันทรงคุณค่าของศิลปิน มาริโอ อวาติมาจัดแสดง ณ โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ กรุงเทพฯ สุขุมวิท ผลงานของเขาน าเสนอมุมมองอันละเอียดอ่อน เชื้อเชิญผู้ชมให้ดื่มด่ำกับจักรวาลแห่งบทกวีภาพอันงดงามและบริสุทธิ์ ซึ่งถ่ายทอดความงาม จากสิ่งธรรมดาในชีวิตประจำวัน ด้วยการเล่นแสงเงา สีสัน รูปทรง และการเคลื่อนไหวอย่างประณีต จนกลายเป็นงานศิลปะที่ทรงคุณค่า เหนือกาลเวลา ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลงานเหล่านี้จะสร้างแรงบันดาลใจและนำความสงบสุขมาสู่ผู้ชมทุกท่านที่ได้มีโอกาสเข้ามาเยี่ยมชม” กล่าวโดยท่านทูตมิเชล โบบอต เจ้าของคอลเลกชันที่ถูกน ามาจัดแสดงในครั้งนี้ 

แซมมี่ คาโรลุส ผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ กรุงเทพฯ สุขุมวิท ยังได้กล่าวความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดนิทรรศการในครั้ง นี้ว่า “ทางโรงแรมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งและขอขอบพระคุณท่านทูต มิเชล โบบอต อย่างสุดซึ้งอีกครั้งที่เลือกโรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ กรุงเทพฯ สุขุมวิท เป็นสถานที่จัดนิทรรศการสุดพิเศษนี้ ด้วยความมุ่งมั่นในการสนับสนุนงานศิลปะและการแบ่งปันผลงานระดับโลก นิทรรศการครั้งนี้ไม่เพียงเป็นเฉลิมฉลองผลงานของศิลปิน มาริโอ อวาติแต่ยังสะท้อนผลกระทบอันยั่งยืนที่เขามีต่อโลกศิลปะและภาพพิมพ์” สำหรับท่านที่สนใจมาร่วมสัมผัสผลงานศิลปะอันทรงคุณค่าจากศิลปินระดับโลก สามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 เมษายน 2568 บริเวณล็อบบี้ของโรงแรมไฮแอท รีเจนซี่กรุงเทพฯ สุขุมวิท โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

สาหรับผู้ที่สนใจมาร่วมสัมผัสผลงานศิลปะอันทรงคุณค่าจากศิลปินระดับโลก สามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 เมษายน 2568 บริเวณล็อบบี้ของโรงแรมไฮแอท รีเจนซี่กรุงเทพฯ สุขุมวิท โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

กกพ. เตรียมส่งหนังสือถึงภาครัฐภายใน ม.ค. 2568 นี้ หวังให้ทบทวนโครงการ Adder กดค่าไฟฟ้าลงได้ 17 สต./หน่วย

(24 ม.ค.68) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยืนยัน จะส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีพลังงานและ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายในเดือน ม.ค. 2568 นี้ เสนอให้ทบทวนเงื่อนไขสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าของกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า SPP และ VSPP ที่ได้รับเงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT) เหตุกลุ่มนี้คุ้มทุนและได้ค่าตอบแทนนานพอสมควรแล้ว ปัจจุบันต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกลง แต่รัฐยังสนับสนุนในอัตราสูง ส่งผลกระทบค่าไฟฟ้าโดยรวม ชี้หากปรับเงื่อนไขได้ จะช่วยลดค่าไฟฟ้าประชาชนลงได้ 17 สตางค์ต่อหน่วย หรือประหยัดได้ 33,150 ล้านบาท

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายในเดือน ม.ค. 2568 นี้ เพื่อเสนอทางเลือกให้ภาครัฐทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไข การสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าทั้งในรูปแบบ 'การให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder)' และ 'การสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT)' ของกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เพื่อให้การอุดหนุนสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และทำให้ค่าไฟฟ้าสามารถปรับลดลงได้ทันทีประมาณ 17 สตางค์ต่อหน่วย จากค่าไฟฟ้าในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย

“นโยบายเกี่ยวกับการลดค่าไฟฟ้านั้น ทาง กกพ. เห็นว่าควรหารือกับทุกฝ่าย ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ใครเสียเปรียบใคร แต่เวลานี้ต้องหยิบเรื่องทั้งหมดขึ้นมามอง กกพ. เป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งที่พยายามนำเสนอมุมมองเพื่อให้ภาครัฐได้คิดทบทวนในเรื่องนี้ แต่เรื่องการตัดสินใจและนำไปสู่การปฏิบัติ เป็นเรื่องของฝ่ายนโยบายที่ต้องหารือให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย”

อย่างไรก็ตามหากมีการเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเกิดขึ้น มองว่าควรเจรจากันบนความเข้าใจที่ตรงกันและเห็นถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง ไม่ได้เห็นถึงผลประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และหากการเจรจาสามารถตกลงกันได้ถือเป็นเรื่องที่ดีกับประเทศ ไม่ได้เป็นการไปทำลายบรรยากาศความเชื่อมั่นด้านการลงทุนที่ทำกับภาครัฐแต่อย่างใด

ทั้งนี้ นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีประกาศนโยบายจะลดค่าไฟฟ้าของประเทศลงให้เหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย เมื่อ 7 ม.ค. 2568 ส่งผลให้ กกพ. ในฐานะผู้กำกับดูแลราคาพลังงาน ได้ตรวจสอบต้นทุนค่าไฟฟ้าที่จะสามารถลดลงได้ และพบว่า มาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าแบบให้ Adder และ FiT ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นภาระค่าไฟฟ้าประชาชนอยู่ 17 สตางค์ต่อหน่วย

โดย เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2568 กกพ.ได้ออกมาแถลงรายละเอียดว่า หากมีการปรับปรุงราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ FiT ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รับซื้อในอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งหน่วยละ 3.1617 บาท บวกกับค่าส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) หน่วยละ 8 บาท (10 ปี) รวมแล้วเป็นค่าไฟฟ้าหน่วยละ 11.1617 บาท ซึ่งแพงกว่าอัตรารับซื้อที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คำนวณไว้ในโครงการการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 และในส่วนเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 หน่วยละ 2.1679 บาท หลายเท่าตัวหรือมีส่วนต่างหน่วยละ 8.9938 บาท หากนำส่วนต่างนี้ออกไปจากสูตรคำนวณค่าไฟฟ้า ก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงทันที และไม่กระทบต่อผู้ประกอบการด้วย 2 เหตุผลคือ

1. ผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าผ่านจุดคุ้มทุนแบบ Adder และได้รับค่าตอบแทนจากโครงการพอสมควร จึงควรปรับค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงได้

2. การรับซื้อไฟฟ้าในอดีตหน่วยละ 11.1617 บาท เนื่องจากอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ยังมีต้นทุนสูง แต่ในปัจจุบันราคาอุปกรณ์ดังกล่าวลดลงมาก ราคาไฟฟ้าที่รัฐรับซื้อควรลดลงตามมาด้วยเช่นกัน หรือแม้โครงการผ่าน 10 ปีและเงินอุดหนุน 8 บาทหมดไปแล้ว แต่ราคารับซื้อก็ยังอยู่ที่ 3.1617 บาท ซึ่งแพงกว่าราคาที่ สนพ. คำนวณในปี 2565 ไว้ที่หน่วยละ 2.1679 บาท ซึ่งมีส่วนต่างเป็นเงินหน่วยละ 0.9938 บาท ถือเป็นกำไรที่ผู้ประกอบการไม่ควรได้รับ ประการสำคัญสัญญารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มนี้ระบุว่าให้ต่อสัญญาโดยอัตโนมัติ หมายความว่า ไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา หากไม่มีการปรับปรุงอัตราการรับซื้อไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ผู้ประกอบกิจการก็จะได้กำไรเกินควร อันเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนโดยไม่มีวันสิ้นสุด

จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกรณีค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2568 ได้ระบุถึงค่าใช้จ่ายภาครัฐ (Policy Expense) จากการรับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ FiT รวมอยู่ในค่าไฟฟ้าหน่วยละ 17 สตางค์ หากคณะรัฐมนตรี หรือ กพช. กำหนดนโยบายปรับค่าไฟฟ้ารับซื้อในส่วนนี้ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงได้ ก็จะลดค่าไฟฟ้าลงได้ทันที 17 สตางค์ หากค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.15 บาท ก็จะลดลงเหลือหน่วยละ 3.89 บาท

จากประมาณการตลอดทั้งปี 2568 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้า 195,000 ล้านหน่วย หากลดได้หน่วยละ 17 สตางค์ ก็จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้ถึง 33,150 ล้านบาท

PEA แจงขายไฟฟ้าให้เมียนมาทำถูกขั้นตอน ลั่น งดจ่ายไฟฟ้าทันทีหากพบกระทำความผิดจริง

(24 ม.ค.68) PEA ชี้แจงการจำหน่ายไฟฟ้าให้ประเทศใกล้เคียง ทำถูกขั้นตอนตามความร่วมมือไทย-เมียนมา พร้อมงดจ่ายไฟฟ้าแนวตะเข็บชายแดน หากพบกระทำความผิดจริง

นายประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ชี้แจงว่า ปัจจุบันจ่ายกระแสไฟฟ้าให้สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จำนวน 5 จุด ในพื้นที่

1. บ้านเจดีย์สามองค์ - เมืองพญาตองซู รัฐมอญ
2. บ้านเหมืองแดง - เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน
3. สะพานมิตรภาพไทย – พม่า - เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน
4. สะพานมิตรภาพไทย – พม่า แห่งที่ 2 อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง
5. บ้านห้วยม่วง - อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง

ในปี 2566 สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ขอให้กระทรวงการต่างประเทศของไทยแจ้ง PEA ดำเนินการระงับการจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ 2 จุดที่บ้านวังผา อ.แม่ระมาด - บ.ก๊กโก๋ อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง และบ้านแม่กุใหม่ท่าซุง - อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง สำหรับอีก 1 จุด ปี 2567 ในพื้นที่ อ.เชียงแสน - เมืองพงษ์ จ.ท่าขี้เหล็ก คู่สัญญาผิดนัดชำระค่าไฟฟ้า ทำให้ PEA ยกเลิกจุดซื้อขายไฟฟ้า ทั้ง 3 จุดดังกล่าวแล้ว

PEA มิได้นิ่งนอนใจในเรื่องดังกล่าว โดยดำเนินการประสานกับหน่วยงานความมั่นคงในไทยและเมียนมาอย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินการงดจ่ายกระแสไฟฟ้า เพื่อมิให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และมิจฉาชีพ นำสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่จากผู้ให้บริการของไทยไปใช้ในการกระทำความผิดหรือสนับสนุนการกระทำผิดกฎหมาย ป้องกันมิให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ก่อให้เกิดความไม่สงบและอาชญากรรมข้ามชาติ ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ การพิจารณางดจ่ายกระแสไฟฟ้าของ PEA จะไม่กระทบกับผู้ใช้ไฟฟ้า และผู้ใช้บริการระบบสื่อสารทั่วไปภายในประเทศ

สำนักข่าวอิศรา ผ่าธุรกิจ ท่ามกลางความไม่สงบ!! 437 ล้าน ‘อนุศาสน์ สุวรรณมงคล’ อดีตสว.ปัตตานี เจ้าของโรงแรมดัง อสังหาฯ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

(25 ม.ค. 68) สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า นักธุรกิจจากปัตตานีหนึ่งเดียวที่ได้รับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล เจ้าของโรงแรม ซี เอส ปัตตานี ซึ่งเพิ่งเกิดคาร์บอมบ์ด้านหลังโรงแรมเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2555 ล่าสุดกลุ่มคนร้ายบุกเผารถยนต์ใหม่ป้ายแดงวอด 15 คันในบริษัท ปัตตานี ฮอนด้า คาร์ส จำกัด เหตุเกิดเมื่อ 22 สิงหาคม 2555

แจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตอนรับตำแหน่งมีพี่น้อง 4 คน ชื่อ นายสุเชฎฐ์ สุวรรณมงคล นางทิพย์วดี สุวรรณมงคล นายอนุพาสน์ สุวรรณมงคล และนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล

ไม่มีคู่สมรส มีทรัพย์สิน 437.1 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินลงทุน 303.7 ล้านบาท ที่ดิน 52 แปลง มูลค่า 35.2 ล้านบาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 54.3 ล้านบาท เงินฝาก 27.3 ล้านบาท รถยนต์ 5 คัน 11 ล้านบาท ประกันชีวิต 3.3 ล้านบาท นาฬิกา 15 เรือน  2 ล้านบาท หนี้สิน 19.1 ล้านบาท

เป็นเจ้าของธุรกิจ 6 บริษัทได้แก่

1. บริษัท ปัตตานี ฮอนด้า คาร์ส จำกัด ดีลเลอร์ ดีลเลอร์รถยนต์ฮอนด้า ที่.อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จดทะเบียนวันที่ 7 ธันวาคม 2538 ทุน 10 ล้านบาท  นายอนุศาสน์ถือหุ้น 59,896 หุ้น มูลค่า 5,989,600 บาท นาย นพดล อรรจนโรจน์ 40,000 หุ้น ปี 2553 รายได้ 549,566,623 บาท  กำไรสุทธิ 2,672,783 บาท ปี 2554 รายได้ 380,513,313  บาท กำไรสุทธิ 2,704,262 บาท สินทรัพย์ 70,780,754 บาท หนี้สิน 67,194,603 บาท

2. บริษัท นราธิวาส ฮอนด้าคาร์ส จำกัด ดีลเลอร์ ฮฮนด้าที่ อ.สุไหง-โกลก จ.นราธิวาส จดทะเบียนวันที่ วันที่ 26 มีนาคม 2539 ทุน 10 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 37/17 หมู่ที่ 2 ตำบลปาเสมัส อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาสนายอนุศาสน์ถือหุ้น 59,896 หุ้น มูลค่า 5,989,600 บาท นาย นพดล อรรจนโรจน์ 40,000 หุ้น ปี 2553 รายได้ 266,994,255 บาท ขาดทุนสุทธิ 659,752 บาท ปี 2554 รายได้ 225,458,954 บาท กำไรสุทธิ 182,709 บาท สินทรัพย์ 43,429,638 บาท หนี้สิน 34,285,628 บาท

3. หจก.เซาเทิร์น อิควิปเม้นท์ แอนด์ แมชีนเนอรี่ มูลค่า 2.5 ล้านบาท จดทะเบียนวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2529 ทุน 5 ล้านบาท ที่ตั้ง 23 ถนนหนองจิก ตำบลสะบารัง อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ปี 2554 รายได้ 2,411,111 บาท  ขาดทุนสุทธิ 863,182 บาท สินทรัพย์ 2,062,029 บาท หนี้สิน 23,536,118 บาท

4. บริษัท ปัตตานีสปอร์ตคลับ จำกัด จัดสรรที่ดิน ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ จดทะเบียนวันที่ 18 ตุลาคม 2536 ทุน 315.3 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่  99/9 หมู่ที่ 4 ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี นายอนุศาสน์ ถือหุ้น 2,570,000 หุ้น มูลค่า 257 ล้านบาท หรือ 81.5% ปี 2554 รายได้ 2,530,551บาท ขาดทุนสุทธิ 598,876บาท สินทรัพย์ 247,833,656 บาท หนี้สิน 266,044,583 บาท

5. บริษัท ศรีวัฒนมงคล จำกัด ประกอบธุรกิจโรงแรม จดทะเบียนวันที่ 11 มีนาคม 2545 ทุน 30 ล้านบาท  ที่ตั้งเลขที่99/9 หมู่ที่ 4 ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี นายอนุศาสน์ถือหุ้น 180,000 หุ้น มูลค่า 18 ล้านบาท หรือ 60%  ปี 2554 รายได้ 60,883,163 บาท ขาดทุนสุทธิ 13,840,375 บาท สินทรัพย์ 105,852,677 บาท หนี้สิน 147,186,338 บาท

6.บริษัท ซี .เอส. พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้ง จำกัด ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ก่อตั้งวันที่ 15 เมษายน 2537 ทุน 252,114,200 บาท ที่ตั้งเลขที่ 10 ถนนพิพิธ ต.อาเนาะรู อ.เมือง จ.ปัตตานี นายอนุศาสน์ถือหุ้น  92,490 หุ้น มูลค่า 9,249,000 บาท ปี 2553 รายได้ 7,282,776 บาท กำไรสุทธิ 6,051,244 บาท  ปี 2554 รายได้ 5,920,697 บาท กำไรสุทธิ 4,749,777 บาท สินทรัพย์ 172,381,237 หนี้สิน 60,308,850 บาท

น่าสังเกตว่า บริษัท ปัตตานี ฮอนด้า คาร์ส จำกัด บริษัท นราธิวาส ฮอนด้าคาร์ส จำกัด และ บริษัท ซี .เอส. พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้ง จำกัด ผลประกอบการยังพอมีกำไรบ้าง

นอกจากนี้ถือหุ้น บริษัท ปัตตานีเจริญเทรดดิ้ง (1972) จำกัด 23 หุ้น มูลค่า 230 บาท ขายรถยนต์ ศูนย์บริการ ก่อตั้งวันที่ 15 มิถุนายน 2525 ทุน 520,100 บาท, บริษัท อีซูซุ นครมอเตอร์เซลล์ (1991) จำกัด 500 หุ้น , บริษัท อีซูซุหาดใหญ่ จำกัด 7 หุ้น มูลค่า 70 บาท ,บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ 12,049 หุ้น มูลค่า 12,049 บาท และกองทุน 2 รายการ

ที่ดินของนายอนุศาสน์อยู่ใน อ.หาดใหญ่ และ อ.นาทวี จ.สงขลา 13 แปลง ,เขตบึ่งกุ่ม กรุงเทพฯ 2 แปลง ,อ.เมือง จ.พัทลุง 2 แปลง ที่เหลืออีก 35 แปลง อยู่ใน จ.ปัตตานี รวมเนื้อที่ 55 ไร่

มีบ้านและอาคารพาณิชย์ทั้งหมด 22 แห่ง อยู่ในจ.ปัตตานี 17 แห่ง ได้แก่ เลขที่ 17/1-8 ถนนมายอ ต.อาเนาะรู อ.เมือง ,เลขที่ 80 ,82  ถนนยะรัง ต.อาเนาะรู อ.เมือง ,เลขที่ 146/10-11 ถนนนาเกลือ ต.อาเนาะรู อ.เมือง ,เลขที่ 18/1-5 ถนนหน้าวัง ต.จะบังติกอ อ.เมือง ,เลขที่  11,11/1 ถนนมะกรูด  ซอย 11 ต.สะบางรัง อ.เมือง , เลขที่ 64-78  ถนนนาเกลือ ต.อาเนาะรู อ.เมือง, เลขที่ 249-251 ถนนปัตตานีภิรมย์ อ.เมือง  ,เลขที่ 14-16 ต.อาเนาะรู อ.เมือง ,เลขที่ 161-165 ถนนปัตตานีภิรมย์  อ.เมือง ,เลขที่ 177 ถนนปัตตานีภิรมย์ อ.เมือง , เลขที่ 9 ถนนมะกรูด ซอย 9 ต.สะบางรัง ,เลขที่ 1 , เลขที่ 1/1-2 ถนนปากน้ำซอย 1 อ.เมือง ,ถนนนาเกลือ ต.บานา อ.เมือง , เลขที่ 4-6 ถนนยะรัง ซอย1 ต.จะบังติกอ อ.เมือง และเลขที่ 99/10-11 ถนนหนองจิก ต.รูสะมิแล อ.เมือง ,  จ.พัทลุง 1 หลังเลขที่ 35 ถนนตำนานนิเวศน์ ต.ตำนาน อ.เมือง ,กรุงเทพฯ 3 หลัง เลขที่ 48/190 ,48/191 หมู่ 10 ซอยนวมินทร์ 143 แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม ,เลขที่ 138/9 ชั้น 4 อาคารเลขที่ 138 บ้านกาญจนาคม สามเสนใน เขตดุสิน (บางซื่อ) และบ้านในสหรัฐ 1 หลัง เลขที่ 503,555 PIERCE STREET ALBANY CA 94760 ราคา 7.8 ล้านบาท

ทั้ง 6 บริษัทคือฐานธุรกิจของนายอนุศาสน์ที่ยังคงปักหลักท่ามกลางวิกฤตความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มานานหลายปี

‘วิชัย ทองแตง’ บรรยายพิเศษ ผลักดัน!! นวัตกรรมงานวิจัย เน้น!! ต่อยอดเศรษฐกิจให้เกษตรกร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

เมื่อวานนี้ (24 ม.ค. 68) คุณวิชัย ทองแตง  The Godfather Of  Startup ร่วมบรรยายพิเศษกับ สวก. ในกิจกรรม ‘ปั้นงานวิจัย ให้โตไวเชิงพาณิชย์’ 

โดยมี ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร พร้อมด้วย นางสาวศิริกร วิวรวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร คณะอนุกรรมการการพัฒนาธุรกิจและการลงทุน และคณะผู้บริหารจาก ARDA เข้าร่วมกิจกรรมฯ ณ ห้องประชุม 904 อาคารวิทยบริการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

กิจกรรมนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง ARDA กับ บริษัท ทีวีดี โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TV Direct เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ ARDA ที่ต้องการการส่งเสริม การเชื่อมโยง และการเข้าถึงคู่ค้าที่สำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการขยายตลาดที่มีผู้บริโภคเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ง่ายและสามารถเชื่อมโยงได้ทุกมิติของการตลาด โดยได้รับโอกาสเติบโตทางธุรกิจ ไปกับ TV Direct 

กิจกรรมในงานประกอบด้วย ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ‘ปั้นงานวิจัย ให้โตไวเชิงพาณิชย์’ โดยได้รับเกียรติจาก คุณวิชัย ทองแตง ประธานมูลนิธิหนึ่งน้ำใจ และการบรรยายพิเศษ เรื่อง ‘LOCAL TO GLOBAL’ จากหิ้งสู่ห้าง โดย คุณวรสิทธิ์ ลีลาบูรณพงศ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ทีวีดี โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยน ‘แนวคิดทางธุรกิจ ประสบการณ์ตรงจากกูรูเชิงลึกการตลาด’ และ ‘การนำเสนอผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ ARDA กับ TV Direct’ จำนวน 28 บริษัท อาทิ เครื่องดื่มข้าวสินเหล็ก ตรา วีไลท์ นมเม็ดมะม่วงหิมพานต์เผา ตรา แคซเซียส ผลิตภัณฑ์สำหรับลดการหลุดร่วงของเส้นผม ตรา หยดสังข์ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปูนา ตรา crabhouse ระบบฟาร์มปลูกผักปลอดภัยด้วยระบบ LED ของบริษัท ซีวิค อะโกรเทค จำกัด เป็นต้น

การจัดกิจกรรมนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ ARDA ในการร่วมผลักดันนวัตกรรมงานวิจัยจาก ARDA สู่การต่อยอดใช้ประโยชน์เพื่อสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นับเป็นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตรให้กับประเทศไทยเกิดเป็นผลกระทบที่ดีให้กับกลไกตลอดห่วงโซ่ของการวิจัยได้อย่างเป็นรูปธรรม

กองทุนดีอี BDE ลงพื้นที่อุบล สร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์ โครงการระบบบริหารจัดการท้องถิ่นชุมชน แบบมีส่วนร่วม

เมื่อวานนี้ (24 ม.ค. 68) นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) พร้อมด้วยนางสาววรรณศิริ พัวศิริ ผู้อำนวยการกองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม BDE ตลอดจนข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ สดช. ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์โครงการระบบบริหารจัดการท้องถิ่นชุมชนแบบมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนด้วยระบบดิจิทัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ณ สำนักงานเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา นายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ร่วมให้การต้อนรับ

นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา สำนักงานคณะกรรมการ ดีอี กล่าวว่า การลงพื้นที่มาเยี่ยมชม โครงการระบบบริหารจัดการท้องถิ่นชุมชนแบบมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนด้วยระบบดิจิทัล ประจำปี 2566 ของเทศบาลพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์ โครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สืบเนื่องจาก โครงการต่าง ๆ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนดีอี ล้วนเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนจำนวนมาก แต่ยังขาดการสร้างการรับรู้และการเข้าถึงของหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่อยู่ไม่น้อย โดยการลงพื้นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนดีอี ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบบริหารจัดการท้องถิ่นชุมชนแบบมีส่วนร่วมของเทศบาลพิบูลมังสาหาร อันเป็นเทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยบริหารจัดการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในอนาคตได้เป็นอย่างดี

“ผมขอชื่นชมในความมุ่งมั่นและความสำเร็จของ โครงการระบบบริหารจัดการท้องถิ่นชุมชนแบบมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนด้วยระบบดิจิทัล ประจำปี 2566 ของเทศบาลพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ ความเชี่ยวชาญ ความคิด สร้างสรรค์ของหน่วยงาน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ ครั้งนี้จะทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนทั่วไปได้รับรู้ และสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ได้มากยิ่งขึ้น”

สำหรับโครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการพัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อบูรณาการ
การบริหารจัดการท้องถิ่นผ่านแพลตฟอร์มในรูปแบบ 'Application Phibun' โดยมีฟังก์ชันการทำงาน 5 ระบบ ประกอบด้วย ระบบบริหารจัดการเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ระบบฝึกอบรมพัฒนามืออาชีพ ระบบจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ระบบบริการสาธารณสุขชุมชน และระบบพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ (New Normal Life) ของประชาชนในยุคสังคมดิจิทัล

ทั้งนี้ เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ได้รับทุนงบประมาณ 36 ล้านบาท จากกองทุนดีอี ดำเนินโครงการระบบบริหารจัดการท้องถิ่น ชุมชนแบบมีส่วนร่วม สร้างความยั่งยืนด้วยระบบดิจิทัล ประจำปี 2566 เพื่อการยกระดับระบบบริหารจัดการท้องถิ่นและสร้างความยั่งยืนในชุมชน พร้อมทั้งบูรณาการการบริหารจัดการท้องถิ่นด้วยเทคโนโลยีมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสร้างความยั่งยืน โดยระบบนี้จะขับเคลื่อนผ่านแพลตฟอร์มในรูปแบบของแอปพลิเคชัน(ApplicationPhibun) ซึ่งมีฟังก์ชันการทำงานหลัก 5 ระบบ ได้แก่ 1.  ระบบบริหารจัดการเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร (E - management) 2. ระบบฝึกอบรมพัฒนาอาชีพ (E - Service)  3. ระบบจำหน่ายสินค้าออนไลน์ (E - market) 4.ระบบบริการสาธารณสุขชุมชน (E - Sata) และ 5. ระบบพัฒนาชุมชน (E - Community)

โดยผลชี้วัดของโครงการดังกล่าว ส่งผลให้เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหารบริหารจัดการระบบงานต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของเทศบาลแหล่งข้อมูลของท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชน และผู้ที่ต้องการใช้ข้อมูลนำไปใช้งานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ทันสมัย ทั้งยังเป็นการสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารและพัฒนาของผู้นำท้องถิ่นเป็นเครื่องมือในการช่วยประเมินระยะเวลา และประเมินผลการจัดทำงบประมาณรายจ่ายให้เกิดความคุ้มค่าในการทำโครงการใหม่ ๆ

ของหน่วยงานได้มากขึ้น ลดขั้นตอนที่ซับซ้อนและยุ่งยาก ต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่และอำนวยความสะดวกต่อการให้บริการประชาชน เป็นองค์กรต้นแบบให้กับหลาย ๆ หน่วยงานในการสร้างสรรค์ และพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ สามารถนำไปใช้ในชุมชนอย่างยั่งยืน พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหารให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการเสริมสร้าง การมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน และวิถีการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ (New Normal Life) มากขึ้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top