Wednesday, 30 April 2025
GoodsVoice

รถไฟความเร็วสูงสายแรก กรุงเทพ-โคราช-หนองคาย ใช้เวลาวิ่งเพียง 3 ชั่วโมงครึ่ง คาดสร้างเสร็จทั้งเส้นทางปี 72

เมื่อวันที่ (13 ม.ค. 68) เพจโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure ได้โพสต์ข้อความว่า ทำความรู้จักกับ รถไฟความเร็วสูงสายแรกของไทย กรุงเทพ-โคราช-หนองคาย ระยะทาง 607 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงครึ่ง!!! กับราคาเพียง 1,170 บาท!!!

โดยทางเพจ ระบุว่า วันนี้ขอเอาภาพรวมโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-โคราช-หนองคาย ซึ่งจะไปเชื่อมโยงกับ โครงการรถไฟ ลาว-จีน มาฝาก โดยอ้างอิงข้อมูลจากกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม 

แนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพมหานคร - หนองคาย เชื่อมต่อ ไทย ลาว จีน

โครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 250 กิโลเมตร จำนวน 6 สถานี มีจุดเริ่มต้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ผ่านสถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสิ้นสุดที่สถานีนครราชสีมา โดยจะใช้เวลาเดินทางจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ไปยังสถานีนครราชสีมาเพียง 1 ชั่วโมง 40 นาที และมีอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 530 บาท

นอกจากนี้ยังมีแผนดำเนินการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางจากไทยไปลาว และจีน โดยช่วงนครราชสีมา - หนองคาย มีระยะทางประมาณ 357 กิโลเมตร จำนวน 5 สถานี โดยจะเป็นการเดินทางต่อจากสถานีนครราชสีมา ผ่านสถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสิ้นสุดที่สถานีหนองคาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติดำเนินโครงการ

และเมื่อโครงการรถไฟความเร็วสูงก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งเส้นทางภายในปี 2572 จะทำให้ประชาชนสามารถเดินทางจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ไปยังสถานีหนองคาย โดยใช้ระยะเวลาเดินทางเพียง 3 ชั่วโมง 30 นาที และมีอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 1,170 บาท

สามารถติดตามข่าวสารระบบรางได้ที่ https://www.facebook.com/DRT.OfficialFanpage

‘สุชาติ’ เร่งเครื่อง! แพลตฟอร์ม 'ITD Expert Anywhere' ตั้งเป้าพา SMEs ไทยฝ่าอุปสรรค สู่ความสำเร็จระดับโลก

(14 ม.ค.68) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณย์ เปิดเผยว่า “กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD เตรียมจัดงานสัมมนา 'เสริมแกร่ง SMEs ในยุคดิจิทัล ผ่านแพลตฟอร์ม ITD Expert Anywhere' ภายใต้แนวคิด “เติบใหญ่ ไปไกลกว่าเดิม Grow Thrive” ในวันที่ 22 มกราคม 2568 ณ โรงแรมกราฟ โฮลเทล กรุงเทพฯ ซึ่งจะจัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยเข้าถึงคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ได้รับการพัฒนาต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งจะเป็นการขยายผลจากความสำเร็จของการให้คำปรึกษาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มุ่งเน้นการช่วยผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะในด้านการส่งออก การพัฒนา และการปรับตัวหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบออนไลน์ เพื่อให้ SMEs ไทยสามารถเติบโตและพัฒนาธุรกิจได้ในยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน”

นายสุชาติ กล่าวต่ออีกว่า “ทาง ITD ได้ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นพัฒนาเครื่องมือนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะยกระดับศักยภาพของ SMEs ไทย โดยในการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดสากล ช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ โดยสำหรับปีที่ 2 นี้ มีการพัฒนาให้ครอบคลุมความต้องการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ระบบ Metaverse เพื่อจำลองการดำเนินธุรกิจในโลกเสมือนจริง และจัดกิจกรรมออนไลน์ ให้คำปรึกษาที่เข้าถึงง่ายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการจะสามารถเข้าถึงคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆได้  โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่น่าสนใจมาก” 

“และนอกจากนี้ แพลตฟอร์ม ยังได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ การสัมมนาครั้งนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมแกร่งให้กับ SMEs ไทยให้สามารถเติบโตและแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว เพื่อเป็นการเสริมประสิทธิภาพให้กับตนเองและธุรกิจให้มีความพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายสุชาติ กล่าวทิ้งท้าย

‘พลังงาน’ ชี้ โรงไฟฟ้าสำรองมีความจำเป็นแม้ไม่ได้เดินเครื่อง ย้ำ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

กระทรวงพลังงาน ชี้แจง จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าสำรองเพื่อรองรับความต้องการใช้ตลอดเวลา ถึงแม้บางโรงไฟฟ้าจะไม่ได้เดินเครื่องก็ตาม ซึ่งก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รองรับการลงทุนด้าน Data Center การใช้รถยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งดัชนีคุณภาพการบริการไฟฟ้าไทยก็อยู่ในระดับต้น ๆ ของอาเซียน

(14 ม.ค.68) นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าสำรอง เนื่องจากต้องคำนึงถึงความมั่นคงและการให้บริการกับประชาชนและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งแม้ปัจจุบันจะมีตัวเลขสำรองไฟฟ้า หรือ Reserve Margin อยู่ที่ 25.5% แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากสถานการณ์โควิดที่ส่งผลให้แผนการผลิตไฟฟ้าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปีที่เกิดโควิดจนถึงปัจจุบัน สังเกตได้จากดัชนีผลผลิตมวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ก็ไม่เป็นไปตามคาด แต่ใน PDP2024 ก็ได้มีการปรับแผนโดยจะมีการใช้พลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้นและเร็วขึ้น อีกทั้งราคาต้นทุนปัจจุบันเริ่มลดลง คาดว่าราคาค่าไฟฟ้าในอนาคตก็จะปรับตัวลดลงด้วย

นอกจากนั้น ดัชนีแสดงค่าเฉลี่ยความถี่ที่ระบบเกิดไฟฟ้าขัดข้อง (SAIFI) ของประเทศไทยยังอยู่ในระดับค่อนข้างเสถียรเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในอาเซียน หรืออยู่ที่ระดับ 0.88 ครั้งต่อผู้ใช้ไฟฟ้าต่อปี ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศเวียดนามและ สปป.ลาว ซึ่งมีค่าไฟฟ้าถูกกว่าเนื่องจากมีการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำ แต่ดัชนี SAIFI สูงถึง 3.23 และ 18.35 ครั้งต่อผู้ใช้ไฟฟ้าต่อปีตามลำดับ

“ต้องชี้แจงก่อนว่า โรงไฟฟ้าเอกชนที่ไม่ได้เดินเครื่องแต่รัฐยังคงต้องจ่ายเงินให้ มีต้นทุนมาจาก 2 ส่วนสำคัญคือ 1) ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment : AP) ซึ่งเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าของเอกชน ครอบคลุมตั้งแต่ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า ค่าผลิต ค่าซ่อมบำรุง ค่าประกันภัย โดยเอกชนจะต้องเตรียมโรงไฟฟ้าให้พร้อมใช้ตลอดเวลาและสามารถผลิตไฟฟ้าตามความต้องการประชาชนและภาคอุตสาหกรรมโดยไม่สะดุด การกำหนดค่า AP เป็นแนวปฏิบัติในทางสากลสำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่สะท้อนต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เอกชนต้องจ่ายไปก่อน และเอกชนต้องยอมรับความเสี่ยงในการบริหารด้านต้นทุนเองทั้งหมด ซึ่งรัฐไม่ต้องรับความเสี่ยงใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ จริง ๆ แล้วค่าพร้อมจ่ายมีอยู่ในเกือบทุกโรงไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า แต่อาจจะจัดเก็บในรูปแบบที่แตกต่างกัน”

“และ 2) ต้นทุนเชื้อเพลิง (Energy Payment : EP) เป็นค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายผันแปรในการผลิตและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าจะได้รับค่า EP ตามปริมาณเชื้อเพลิงที่ กฟผ. สั่งการให้ทำการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเท่านั้น ที่ผ่านมา ภาพรวมในการผลิตไฟฟ้า กระทรวงพลังงานก็ได้มีการปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงตามสถานการณ์ โดยเลือกใช้เชื้อเพลิงที่มีต้นทุนที่ต่ำที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบกับค่าไฟฟ้า ดังนั้น โรงไฟฟ้าสำรองเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิด Peak และพลังงานแสงอาทิตย์ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้” นายวีรพัฒน์ กล่าว

‘อินฟินีออน’ ยกระดับไทยสู่ฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก ลุยตั้งโรงงานในสมุทรปราการ คาดเปิดเดินเครื่องได้ต้นปี 69

(14 ม.ค. 68) "บีโอไอ" ร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์โรงงาน "อินฟินีออน" ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์เบอร์ 1 เยอรมนี สำหรับอีวี ดาต้าเซ็นเตอร์ แบตเตอรี่ อุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานสะอาด เป็นแห่งที่ 3 ในโลก คาดเปิดต้นปี 2569 พร้อมตั้งศูนย์วิจัยผนึกบุคลากร ยกระดับไทยสู่ฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor Advanced Packaging) ประเภท Power Module ซึ่งเป็นเซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้ในอุปกรณ์ควบคุมระบบไฟฟ้า ที่จังหวัดสมุทรปราการ ของบริษัท อินฟินีออน เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) ในเครือ Infineon Technologies AG

ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของเยอรมนี โดยมีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ของโลก สำหรับผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่ให้กำลังไฟในงานอุตสาหกรรม (Power Electronics) อีกทั้งยังเป็นผู้ผลิต Power Module รายแรกของโลกด้วย

โรงงานผลิต Power Module ของอินฟินีออนในประเทศไทยแห่งนี้ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จและพร้อมเปิดดำเนินงานในช่วงต้นปี 2569 โดยเน้นป้อนให้กับกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า ดาต้าเซ็นเตอร์ ระบบกักเก็บพลังงาน และกลุ่มอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดเป็นหลัก

นอกจากนี้ บริษัทจะลงทุนสร้าง “ศูนย์วิจัยและพัฒนาสำหรับผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์” เพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินงานในโครงการ รวมถึงบริษัทในเครือที่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งยังมีแผนถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยทำความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทยและช่วยยกระดับประเทศไทยสู่ฐานการผลิตอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในระดับโลก

การตัดสินใจลงทุนของบริษัท อินฟินีออนในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการเข้าสู่ Supply chain ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในระดับโลก โดยเฉพาะเป็นการผลิต Advanced Packaging สำหรับผลิตภัณฑ์ Power Module เพื่อรองรับธุรกิจบริหารจัดการพลังงานสะอาดและรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อีกทั้งยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในไทย เพื่อพัฒนาบุคลากรสาขาวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงการพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถผลิตชิ้นส่วนที่ได้มาตรฐานโลก

การลงทุนครั้งนี้แสดงถึงความเชื่อมั่นของบริษัทต่อสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและศักยภาพในการเติบโตของประเทศไทย โดยการที่รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติเมื่อเดือนธันวาคม 2567 ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการผลักดันอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต

นายรุ๊ทเกอร์ วิจบูร์ก กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ จากบริษัท อินฟินีออน เทคโนโลยีส์ กล่าวว่า การก่อสร้างโรงงานเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่ของอินฟินีออนในประเทศไทยในครั้งนี้ ถือเป็นการขยายฐานผลิตครั้งใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและกระจายความหลากหลายของฐานผลิตรองรับความต้องการของตลาดในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในด้านพลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการเข้าสู่ยุคดิจิทัล เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตในเชิงโครงสร้างที่สำคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เราจึงจัดตั้งโรงงาน Back End ที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทยเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในอนาคต สร้างความยืดหยุ่นและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานของเรา การลงทุนในประเทศไทยครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการเพิ่มความหลากหลายให้กับฐานผลิตและการบริหารต้นทุน เพื่อสร้างความมั่นใจและได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าว่าเราจะสามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายรุ๊ทเกอร์ กล่าว

ทั้งนี้ นายรุ๊ทเกอร์ วิจบูร์ก และคณะผู้บริหารจาก Infineon Technologies AG ยังได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ในวันที่ 13 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา เพื่อขอบคุณรัฐบาลไทยที่ได้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการลงทุนเป็นอย่างดี และได้หารือถึงแนวทางความร่วมมือในอนาคต ทั้งด้านการพัฒนาบุคลากรทักษะสูงสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไทย รวมถึงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก

‘ทักษิณ’ วางวิสัยทัศน์ฟื้นเศรษฐกิจไทย เล็งเปิดรับคริปโท - ดึงเงินใต้ดินเข้าระบบ

(14 ม.ค. 68) ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกฯ เผยแผนฟื้นฟูตลาดทุนไทยในงานปาฐกถาพิเศษ "Chat with Tony" เสนอเปิดรับคริปโท-ลดค่าไฟ-พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พร้อมแก้ปัญหาเงินใต้ดินและ PM 2.5

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ให้วิสัยทัศน์การฟื้นฟูเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยในงานปาฐกถาพิเศษ "Chat with Tony: Bull Rally of Thai Capital Market" โดยชี้ว่าปัญหาหลักของตลาดหุ้นไทยคือขาดความเชื่อมั่น (Trust), ความไว้วางใจ (Confidence) และบรรยากาศการลงทุน (Sentiment) ที่ไม่เอื้ออำนวย ซึ่งต้องเร่งแก้ไขและนำกลับคืนมาให้ได้

อดีตนายกฯ เสนอให้ปฏิรูประบบกำกับดูแลตลาดทุนที่ทำงานช้าเกินไป โดยเฉพาะการเพิ่มอำนาจให้ ก.ล.ต. ให้สามารถจัดการปัญหาได้ทันที ไม่ต้องรอ DSI หรืออัยการ แม้ต้องออกเป็น พ.ร.ก. ก็ควรทำ นอกจากนี้ยังเน้นย้ำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้มงวดในการตรวจสอบธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียน และติดตามพฤติกรรมฝ่ายบริหารอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการใช้เงินผิดประเภทที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาด

ประเด็นสำคัญที่ทักษิณหยิบยกคือเรื่อง High Frequency Trade ที่เขามองว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร เป็นเพียงการทำกำไรเล็กๆ แต่ถี่ ๆ แม้ตลาดหุ้นจะชอบเพราะสร้างวอลุ่ม แต่จำเป็นต้องเข้มงวดเรื่องการได้เปรียบเสียเปรียบ โดยเสนอให้ทุกคนต้องมีความเร็วในการส่งคำสั่งซื้อขายที่ใกล้เคียงกัน

ด้านการพัฒนาตลาดทุน อดีตนายกฯ ชี้ว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเก่า ขาดบริษัทใหม่ๆ ขนาดใหญ่ จึงเสนอให้ BOI ชักชวนบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงให้เข้าตลาดหุ้นไทย รวมถึง Entertainment Complex เพื่อเพิ่มซัพพลาย พร้อมสนับสนุนโครงการซื้อหุ้นคืนสำหรับหุ้นที่มี P/B และ P/E ต่ำ และนำระบบของตลาดหุ้นญี่ปุ่นมาใช้ ให้บริษัทจดทะเบียนต้องทำแผนปรับปรุงราคาหุ้นให้ใกล้เคียงกับมูลค่าทางบัญชี

ทักษิณยังผลักดันให้ ก.ล.ต. เปิดรับนวัตกรรมการเงินดิจิทัล โดยเฉพาะคริปโทเคอร์เรนซีและ Stable Coin เนื่องจากเห็นว่าสหรัฐฯ กำลังเคลื่อนไหวในทิศทางนี้ โดยว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐประกาศจะชำระหนี้ด้วยบิตคอยน์ รัฐบาลไทยเองก็เตรียมทำ sandbox ที่ภูเก็ต เริ่มจากการรับบิตคอยน์ในการซื้อสินค้าและบริการ โดยมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนและตัวกลางชัดเจน เพราะมองว่าผู้ถือบิตคอยน์มีกำลังซื้อสูงและมีแนวโน้มใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ ก.ล.ต. กำลังดำเนินการ โดยปัจจุบันไทยซื้อขายที่ 7 ดอลลาร์/ตัน เทียบกับสิงคโปร์ 14 ดอลลาร์ และยุโรป 35 ดอลลาร์ การมีศูนย์กลางในไทยจะช่วยให้ได้ราคาดีขึ้นและได้ประโยชน์จากการส่งออก

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน อดีตนายกฯ เน้นการลงทุนในดาต้าเซ็นเตอร์และเอไอ โดยเปรียบเทียบตามแนวคิดของ UAE ที่มองดาต้าเซ็นเตอร์เป็นเหมือนน้ำมันดิบ และเอไอเป็นน้ำมันสำเร็จรูป เผยว่าการสร้างเอไอฮับขนาด 1 กิ๊กกะวัตต์ ต้องใช้เงินลงทุนถึง 1.6 ล้านล้านบาท 

เรื่องค่าไฟฟ้า ทักษิณยืนยันว่าสามารถลดลงเหลือ 3.70 บาท/หน่วยได้ ผ่านการ "รีดไขมัน" หลายส่วน เช่น การจำหน่าย loss ของการไฟฟ้า 3 แห่ง การยกเลิกไฟฟ้าฟรีสำหรับองค์กรท้องถิ่น การลดค่าผ่านท่อของ ปตท. และการปรับลดเงินนำส่งรัฐ โดยชี้ว่าปัจจุบันค่าไฟจากโซลาร์ลงมาถึง 1.80-2 บาท การลดค่าไฟฟ้าจึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

อดีตนายกฯ ยังแสดงความกังวลต่อผลกระทบของรถ EV จีนที่เข้ามาตีตลาดไทย ซึ่งอาจกระทบระบบนิเวศอุตสาหกรรมยานยนต์ดั้งเดิม รวมถึงผลกระทบจากสงครามการค้าต่อการส่งออก อย่างไรก็ตาม มองว่ามีโอกาสดึงการลงทุนจากทั้งจีนและสหรัฐที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดอื่น โดยต้องกำหนดเงื่อนไขการใช้วัตถุดิบในประเทศให้ชัดเจนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ประเด็นสำคัญอีกเรื่องคือการแก้ปัญหา "เงินใต้ดิน" ที่สะสมมา 10 ปี ทักษิณเสนอให้อนุญาตนำเงินเข้าระบบธนาคารโดยไม่ต้องผ่าน KYC แต่ต้องเสียภาษี โดยหากพบภายหลังว่าเป็นเงินผิดกฎหมายก็จะถูกดำเนินคดี เชื่อว่าจะช่วยนำเงินกลับมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้น

ท้ายที่สุด อดีตนายกฯ เรียกร้องความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สภาพัฒน์ และ ธปท. ที่ปัจจุบัน "ไม่ยอมคุยกัน" พร้อมตั้งเป้าผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโต 4% ในปีนี้ และ 5% ในปีหน้า เทียบกับมาเลเซียที่โต 5.6% ขณะที่ไทยโตเพียง 2-3% ปิดท้ายด้วยมุกว่า "ถ้าพรุ่งนี้หุ้นไม่ขึ้นผมจะไปอยู่ไหนดี"

คำถามสำคัญที่ต้องติดตามคือ: นโยบายและมาตรการที่นำเสนอเหล่านี้จะสามารถฟื้นความเชื่อมั่นและกระตุ้นการลงทุนในตลาดทุนไทยได้จริงหรือไม่? และการผสานนวัตกรรมการเงินยุคใหม่เข้ากับระบบเดิมจะทำได้ราบรื่นเพียงใด?

ITEL รีแบรนด์ Interlink Health Technology ยกระดับต่อยอดเทคโนโลยีทางการแพทย์

(15 ม.ค.68) ดร.ณัฐนัย อนันตรัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL ขยายอาณาจักรยิ่งใหญ่ในตลาด Health Tech รีแบรนด์ บริษัท โกลบอล ลิโธทริปซี่ย์ เซอร์วิสเซส จำกัด (Global Lithotripsy Services Company Limited) หรือ GLS เป็น บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เฮลธ์ เทคโนโลยี จำกัด (Interlink Health Technology Company Limited) หรือ IHT เพื่อขยายธุรกิจ พัฒนาเทคโนโลยีทางสาธารณสุขในประเทศไทย ยกระดับเทคโนโลยีทางการแพทย์และสุขภาพ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

บริษัทฯ มุ่งมั่นให้บริการลูกค้าอย่างเต็มที่ พร้อมต่อยอดความสำเร็จในการขยายบริการทางด้านสุขภาพอย่างครบวงจรด้วยเทคโนโลยีที่นำสมัยตามแผนกลยุทธ์ New S-Curve ทำให้เพิ่มศักยภาพการแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาด สร้างความเชื่อมั่นต่อลูกค้า สร้างรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยตั้งเป้ารายได้ในปีนี้ 200 ล้านบาท

GC เดินเครื่องผลิต ‘เชื้อเพลิง SAF’ เป็นรายแรกของไทย เฟสแรก 6 ล้านลิตร/ปี หนุนไทยสู่ศูนย์กลางการบินคาร์บอนต่ำ

GC ผลิต SAF เชิงพาณิชย์สำเร็จเป็นรายแรกของไทย วางแผนเฟสแรกผลิต 6 ล้านลิตรต่อปี ใช้น้ำมันพืชใช้แล้วเป็นวัตถุดิบหลัก พร้อมกางแผนจ่อขยายการผลิต 24 ล้านลิตรต่อปีในอนาคตรับความต้องการพลังงานทดแทนอุตสาหกรรมการบินพาณิชย์

(15 ม.ค. 68) นายทศพร บุณยพิพัฒน์ ผู้จัดการใหญ่ GC กล่าวว่า “การผลิต SAF เชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการในวันนี้ พร้อมรองรับความต้องการพลังงานทดแทนของอุตสาหกรรมการบินพาณิชย์ไทยที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และให้ความสำคัญกับการนำแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง SAF ของ GC ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISCC CORSIA (International Sustainability and Carbon Certification – Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ยอมรับในอุตสาหกรรมการบินสำหรับการรับรองความยั่งยืน และสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 80%* เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานทั่วไป (*อ้างอิงตามมาตรฐานการรับรอง ISCC CORSIA) นอกจากนี้ GC ยังได้รับรองมาตรฐาน ISCC Plus (International Sustainability and Carbon Certification Plus) ซึ่งมุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบชีวภาพและวัสดุหมุนเวียนใน การพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน โดย GC ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงอีกกว่า 10 ชนิด เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมสิ่งทอ ถือเป็นการยืนยันถึง ความมุ่งมั่นในการดำเนินงานภายใต้กรอบความยั่งยืนสูงสุด”

ความท้าทายของตลาด
ความต้องการของตลาด SAF กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลจากความตระหนัก ด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมการบินเชิงพาณิชย์และการกำหนดกรอบกฎหมายที่สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  

GC ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายและโอกาสนี้ ด้วยจุดแข็งสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการกลั่นน้ำมัน และการบริหารจัดการวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการนำน้ำมันพืชใช้แล้วภายในประเทศมาผลิตเป็น SAF เชิงพาณิชย์

นอกจากนี้ GC ยังได้สร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับพันธมิตรสำคัญในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งจะช่วยให้ GC สามารถรักษาส่วนแบ่งตลาด SAF ได้อย่างมั่นคง และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมการบินพาณิชย์และพลังงานในอนาคต
 
จุดเด่นที่สำคัญโรงกลั่นชีวภาพ (Biorefinery) 
• นวัตกรรมการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง : ในเฟสแรก GC วางแผนผลิต SAF 6 ล้านลิตรต่อปี โดยใช้น้ำมันพืชใช้แล้วเป็นวัตถุดิบหลัก และมีแผนขยายการผลิตเป็น 24 ล้านลิตรต่อปีในอนาคต ด้วยการใช้เทคโนโลยีการปรับปรุงโรงกลั่นที่มีอยู่เดิม ทำให้สามารถประหยัดการลงทุนเมื่อเทียบกับการสร้างโรงงานใหม่ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการขยายขีดความสามารถการผลิตพลังงานชีวภาพเพื่อรองรับการเติบโตที่ยั่งยืน (ให้เพิ่มเรื่องการลงทุนต่ำไปด้วย)

• พันธมิตรเชิงกลยุทธ์: ความร่วมมือระหว่าง GC กับพันธมิตรสำคัญอย่าง OR และการบินไทยในการนำ SAF ไปใช้กับเที่ยวบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ นับเป็นก้าวสำคัญของ การพัฒนาเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมทั่วภูมิภาค พร้อมสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมการบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

• ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง: GC ได้พัฒนาเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมสำคัญหลากหลายประเภท ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ รวมถึงยาและเวชสำอาง โดยมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรในประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม  

• ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม: การลงทุนในโครงการนี้ไม่เพียงช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานของประเทศและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการบิน แต่ยังเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ในอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ พร้อมสนับสนุนเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร ตอกย้ำบทบาทของ GC ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของประเทศ  

แผนการเติบโตในอนาคต:
• ขยายกำลังการผลิตเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ใช้พลังงานทดแทน และการลงทุนในเทคโนโลยีที่ยั่งยืน เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ชีวภาพในอนาคต ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในระยะยาว

• เสริมสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและขยายฐานการตลาด รวมถึงการทำงานร่วมกับองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพและพลังงานทดแทน เพื่อผลักดันการพัฒนาและขยายตลาดผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน

• พัฒนาและส่งเสริมความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การคัดเลือกแหล่งวัตถุดิบทางชีวภาพที่ยั่งยืนไปจนถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เพื่อให้กระบวนการผลิตเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ชีวภาพมีความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

• ส่งมอบโซลูชันอย่างครบวงจรสำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทาน 

• สร้างภาพลักษณ์องค์กรในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน ด้วยการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาล พร้อมสร้าง ความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและผู้ถือหุ้นในระยะยาว

ททท. เร่งกู้สร้างภาพลักษณ์บนโลกออนไลน์ สร้างความมั่นใจ นทท.จีน หลังเกิดกรณี ‘ซิงซิง’

(15 ม.ค. 68) น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวจีน หลังมีรายงานว่าจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงรวมถึงมีการยกเลิกคอนเสิร์ตสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ดาราจีน “ซิง ซิง” จะสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์กลับมาอย่างไร ว่า หลังเกิดสถานการณ์ ททท.รับมือเรื่องของวิกฤติบนโลกออนไลน์ ซึ่งการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์มีหลากหลายมากบางคนไม่เคยมาเมืองไทย   แต่คิดไปโน่นไปนี่ ดังนั้น ททท.จึงต้องมีการบริหารภาพลักษณ์บนโลกออนไลน์  เพราะขณะนี้มีความตื่นตระหนกของนักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่เคยเดินทางมาเมืองไทย ในกลุ่มนี้เราพยายามทำในเรื่องชาร์เตอร์ไฟลท์ หรือ เครื่องบินแบบเช่าเหมาลำเข้ามาในเมืองไทย ซึ่งยอมรับว่ามีการยกเลิกไฟลท์บินบ้าง แต่ในส่วนของนักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางมาเมืองไทยรับรู้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่สงบสุขและเป็นประเทศที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนก็ยังมาอยู่ 

น.ส.ฐาปนีย์ กล่าวว่า ในส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาด้วยตนเองสายการบินแบบปกติยังไม่กระทบ เพราะ 90 ถึง 95% ยังเดินทางมาอยู่ อย่างไรก็ตามเราต้องบริหารจัดการเรื่องภาพลักษณ์บนโลกออนไลน์และสื่อสารให้เห็นถึงมุมที่แท้จริงของประเทศไทยเพื่อไปยังกลุ่มชุมชนออนไลน์ของจีนให้มากกว่านี้ 

น.ส.ฐาปนีย์ กล่าวอีกว่า ทาง ททท. 5 สำนักงานในประเทศจีนได้พูดคุยกับเอเจ้นต์ (Agent) บริษัททัวร์ และสายการบินในประเทศจีน เตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวในช่วงตรุษจีน โดยมีการเตรียม 3 เรื่องหลักคือความปลอดภัย สินค้า และบริการ รวมถึงการได้ประสบการณ์ที่ดีในการมาเมืองไทย ซึ่งนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับตำรวจท่องเที่ยวเป็นอย่างมากเพื่อความปลอดภัยของการท่องเที่ยว รวมถึงเหตุการณ์ต่างๆฝ่ายความมั่นคงก็มาเข้ามาช่วยดูแล

กกพ. เสนอรื้อสัญญาทาสคืนความเป็นธรรมให้ประชาชน ชี้ ลดค่าไฟได้ทันที 17 สตางค์/หน่วย ช่วยประหยัด 3.3 หมื่นลบ.

เมื่อวันที่ (16 ม.ค.68) นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ. มีมตินำเสนอทางเลือกให้ภาคนโยบายทบทวนและปรับปรุง เงื่อนไขการสนับสนุนทั้งในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และอัตรารับซื้อไฟฟ้าคงที่ตลอดอายุโครงการ (Feed in Tariff:FiT) ผ่านการอุดหนุนราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เพื่อให้การอุดหนุน Adder และ FiT สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงทำให้ค่าไฟสามารถปรับลดลงได้ทันทีประมาณหน่วยละ 17 สตางค์ จากค่าไฟฟ้าในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท เหลือหน่วยละ 3.98 บาท โดยคาดหวังว่าจะสามารถลดภาระค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชนอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ จากประมาณการตลอดทั้งปี 2568 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้า 195,000 ล้านหน่วย หากลดได้หน่วยละ 17 สตางค์ จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้ 33,150 ล้านบาท

นายพูลพัฒน์ กล่าวต่อว่า หากมีการปรับปรุงราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ FiT ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รับซื้อในอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งหน่วยละ 3.1617 บาท บวกกับค่า Adder หน่วยละ 8 บาท ตลอดอายุโครงการ 10 ปี รวมแล้วเป็นค่าไฟฟ้าหน่วยละ 11.1617 บาท ซึ่งแพงกว่าอัตรารับซื้อที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คำนวณไว้ในโครงการการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ปี 2565-2573

ทั้งนี้ ผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า SPP และ VSPP ผ่านจุดคุ้มทุนแบบ Adder และ FIT ได้รับค่าตอบแทนจากโครงการพอสมควร จึงควรปรับค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 533 รายจำนวน 3,400 เมกะวัตต์

การรับซื้อไฟฟ้าในอดีตหน่วยละ 11.1617 บาท เนื่องจากอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงาน แสงอาทิตย์มีต้นทุนสูง แต่ในปัจจุบันราคาอุปกรณ์ดังกล่าวลดลงมาก ราคาไฟฟ้าที่รัฐรับซื้อควรลดลงตามมาด้วย เช่นกัน หรือแม้โครงการผ่าน 10 ปีและเงินอุดหนุน 8 บาทหมดไปแล้ว แต่ราคารับซื้อก็ยังอยู่ที่ 3.1617 บาท ซึ่งแพง กว่าราคาที่ สนพ. คำนวณในปี 2565 หน่วยละ 2.1679 บาท ซึ่งมีส่วนต่างเป็นเงินหน่วยละ 0.9938 บาท ถือเป็น กำไรที่ผู้ประกอบการไม่ควรได้รับ หมายความว่า ไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา ประการสำคัญสัญญารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มนี้ระบุว่าให้ต่อสัญญาโดยอัตโนมัติ หากไม่มีการปรับปรุงอัตราการรับซื้อไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ผู้ประกอบ กิจการก็จะได้กำไรเกินควร อันเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนโดยไม่มีวันสิ้นสุด

‘เอกนัฏ’ เยือน ซาอุดีอาระเบีย ร่วมเสวนาโต๊ะกลม รับการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมแร่สู่พลังงานสะอาด

เมื่อวันที่ (14 ม.ค.68) กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย - นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมการเสวนาโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีในงาน Future Minerals Forum 2025 (FMF 2025) เพื่อร่วมกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมแร่พลังงานสะอาด พร้อมด้วยรัฐมนตรีและผู้แทนรัฐบาลจากประเทศต่าง ๆ กว่า 86 ประเทศ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการเสวนาโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีในงาน Future Minerals Forum 2025 (FMF 2025) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย ในระหว่างวันที่ 14-16 มกราคม 2568 ว่า การจัดประชุมโต๊ะกลม FMF 2025 ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือถึงทิศทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมแร่และโลหะเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด โดยการขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำและการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดมีความจำเป็นต้องใช้แร่เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน รถยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ โดยผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าความต้องการใช้แร่ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก (Critical minerals) มีแนวโน้มเพิ่มสูงอย่างน้อย 2 เท่าในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ในขณะที่ประเทศไทยมีเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค (Regional Hub) และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเช่นกัน ไทยจึงมีบทบาทในฐานะผู้ใช้ผลิตภัณฑ์จากแร่ ในการจัดหาแร่ที่ผลิตอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงการสร้างกลไกรองรับการหมุนเวียนวัสดุกลับมาใช้ใหม่ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยสิ่งที่ประเทศไทยสนับสนุนและยืนยันมาตลอดคือการนำทรัพยากรแร่มาใช้ประโยชน์ โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชนในพื้นที่และการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน

ด้าน ดร.อดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีเรื่องแร่แห่งอนาคต หรือ Future Minerals Forum 2025 ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 โดยมีซาอุดีอาระเบียเป็นเจ้าภาพ โดยมีรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลจากกว่า 86 ประเทศทั่วโลก อาทิ บราซิล แอฟริกาใต้ คองโก อินเดีย อียิปต์ อิตาลี ไนจีเรีย กาตาร์ ปากีสถาน คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน มาเลเซีย ไทย โมร็อกโก อินโดนีเซีย ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร เข้าร่วม ทั้งนี้ การประชุมมีการหารือในประเด็นหลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1) การพัฒนาแนวทางการทำเหมืองแร่อย่างยั่งยืนของภูมิภาค 2) การสร้างเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Excellence) เพื่อรองรับการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ด้านแร่ และ 3) การสร้างกรอบการพัฒนาด้านแร่กลุ่ม Critical minerals และพัฒนาโซ่มูลค่าในพหุภูมิภาค เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางดำเนินความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดเกิดขึ้นได้ตามเป้าหมายการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทำให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่ซึ่งนับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวมีความราบรื่น และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top