รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (3) : ‘ต้นทุน’ ต่าง ๆ ของ ‘ค่าไฟฟ้า’ ก่อนนำมาคำนวณตามประเภทผู้ใช้งาน

(29 ม.ค.68) ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ รายละเอียดส่วนต่าง ๆ ของการเรียกเก็บ และวิธีการคิดคำนวณ ‘ค่าไฟฟ้า’ ตามที่ได้บอกเล่าในบทความ 'รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (2)' ไปแล้วนั้น ครั้งนี้จะได้พูดถึง ‘ต้นทุน’ ต่าง ๆ ที่อยู่ใน ‘ค่าไฟฟ้า’ ซึ่งคิดเป็นหน่วยไฟฟ้า หรือ ยูนิต (Unit) หรือ kWh โดยเป็นหน่วยที่ใช้บอกขนาด หรือ ปริมาณของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้งาน พลังงานไฟฟ้า 1 ยูนิต หรือ 1 หน่วย เท่ากับ 1 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (Kilo watthour = กำลังไฟ 1 กิโลวัตต์ (1,000 วัตต์ (W)) ใช้งานนาน 1ชั่วโมง)

พลังงานไฟฟ้า 1 ยูนิต หรือ 1 หน่วย หรือ 1 kWh สามารถใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าได้นานแค่ไหน? พลังงานไฟฟ้า 1 หน่วย โดยประมาณแล้วเพียงพอต่อ การเปิดหลอดไฟ LED กำลังไฟ 10 วัตต์ 1 ดวง นาน 100 ชั่วโมง การใช้งานเครื่องซักผ้าขนาด 10 กิโลกรัม กำลังไฟ 500 วัตต์ 1 เครื่อง นาน 2 ชั่วโมง การใช้งานเครื่องปรับอากาศขนาด 18,000 BTU กำลังไฟ 1,500 วัตต์ 1 เครื่อง นาน 40 นาที และเตารีดไอน้ำกำลังไฟ 2,000 วัตต์ 1 เครื่อง นาน 30 นาที เป็นต้น

‘ค่าไฟฟ้า’ ตามบิลค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้า (ประเภทบ้านพักอาศัย) ประกอบด้วย 

1. ต้นทุนการเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า รวมค่าซื้อไฟฟ้าทั้งจากในประเทศและต่างประเทศจ่ายเข้าสู่ระบบ ค่า Adder* และค่า FiT** เป็นต้นทุนหลัก มีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ในบิลค่าไฟฟ้า คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 58-60% ของอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย

*ค่า Adder คือ ค่าส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน โดยเฉพาะจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะมีการบวกกับราคาขายไฟฟ้าของการไฟฟ้าในอัตราที่กำหนด

**ค่า FiT (Feed-in Tarif) คือค่าส่วนเพิ่มราคาตามมาตรการที่ใช้เพื่อส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยมีเป้าหมายเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเอกชนเข้ามาลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทน เป็นมาตรการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศเพื่อสนับสนุนการผลิตพลังงานจากแหล่งธรรมชาติที่ยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันใช้แทนค่า Adder แล้ว ทั้งนี้  เนื่องจากการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีขึ้นเป็นระยะ ไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน จึงไม่ได้เอาไปรวมกับค่าไฟฟ้าฐานซึ่งมีการปรับทุก ๆ 3-5 ปี  แต่นำมารวมไว้คำนวณในค่า Ft

2. ต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฯ จ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนในรูปแบบของ ‘ค่าพร้อมจ่าย (Availability Payment หรือ ค่า AP)’ เป็นค่าความพร้อมเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า เป็นแนวทางปฏิบัติตามหลักสากลสำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว เพื่อสะท้อนต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เอกชนต้องลงทุน ครอบคลุมตั้งแต่ (1)ค่าก่อสร้างโรงงานไฟฟ้า ซึ่งรวมถึงการชำระคืนเงินต้น และดอกเบี้ย เงินกู้ค่าบำรุงรักษา ค่าประกัน และค่าใช้จ่ายคงที่อื่น ๆ (2)ค่าใช้จ่ายในการบริหาร (3)ผลตอบแทนจากการลงทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นค่าเช่า ค่าอุปกรณ์อะไหล่โรงไฟฟ้า ค่าจ้างเดินเครื่อง หรือบำรุงรักษา (4)ค่าประกันภัยโรงไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนต้องจ่ายให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าทุกเดือน ไม่ว่าโรงไฟฟ้าจะผลิตหรือไม่ก็ตาม ทำให้มีต้นทุนในส่วนนี้เฉลี่ยอยู่ในบิลค่าไฟฟ้า คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15-17% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 

3. ต้นทุนระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า (ขายปลีก) ระบบที่นำไฟฟ้าไปสู่ผู้ใช้ไฟฟ้า ประกอบด้วย (1)สายจำหน่ายไฟฟ้าแบ่งเป็นตามระดับแรงดัน (2)หม้อแปลงไฟฟ้า ทำหน้าที่เพิ่มหรือลดระดับแรงดันไฟฟ้าเพื่อให้สามารถนำไปใช้กับระบบไฟฟ้าภายในบ้าน, สำนักงาน, โรงงานอุตสาหกรรม มีต้นทุนเฉลี่ย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10-12% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ย

4. ต้นทุนระบบสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5-6% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ย ระบบไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไฟฟ้าจนถึงสถานีไฟฟ้าของระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่ส่งจ่ายไฟฟ้าไปยังระบบจำหน่ายของ กฟน. และ กฟภ. ซึ่งจะปรับลดระดับแรงดันไฟฟ้าก่อนส่งไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าทุกภาคส่วนอย่างเหมาะสม ประกอบด้วย (1)สายส่งไฟฟ้าแรงสูง (Transmission Line) (2) สถานีไฟฟ้าแรงสูง (Substation) (3)ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า (National Control Center : NCC) 

5. ต้นทุนในการทยอยชำระหนี้และดอกเบี้ยคืนให้ กฟผ. ภายใน 2-3 ปี จากกรณีที่ กฟผ. ต้องเข้าไปรับภาระค่า Ft ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นตามราคาพลังงานแทนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ทำให้มีต้นทุนเฉลี่ย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 4-5% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ปัจจุบันยอดหนี้ดังกล่าวอยู่ที่ราว 100,000 ล้านบาท)

6. ต้นทุนจากการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐ อาทิ การยกเว้น ‘ค่าไฟฟ้า’ ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ประสบภัยที่มีความรุนแรง ซึ่งทำให้มีต้นทุนเฉลี่ย คิดเป็นสัดส่วนราว 4-5% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 

ทั้งนี้ ‘ค่าไฟฟ้าฐาน’ ซึ่งคิดจากต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า มีวิธีการคำนวณตามประเภทผู้ใช้งานได้แก่ [1] บ้านอยู่อาศัย [2] กิจการขนาดเล็ก [3] กิจการขนาดกลาง [4] กิจการขนาดใหญ่ [5] กิจการเฉพาะอย่าง [6] องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร [7] กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร และ [8] ไฟฟ้าชั่วคราว (โดยอัตราค่ากระแสไฟฟ้าต่อหน่วยของแต่ละประเภทจะไม่เท่ากัน) ทำให้ ‘ค่าไฟฟ้า’ ของผู้ใช้ไฟฟ้าจึงมีความแตกต่างกันตามแต่ละประเภท ดังนั้นผู้ใช้ไฟฟ้าจึงต้องดูข้อมูลที่ปรากฏจากใบเรียกเก็บหรือใบเสร็จรับเงิน ‘ค่าไฟฟ้า’ ที่ได้รับ ซึ่ง ‘ค่าไฟฟ้า’ นี้ ประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่าย รายละเอียดได้อธิบายในบทความ 'รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (2)' ไปแล้ว โดยในตอนต่อไปจะได้เล่าถึง รายละเอียดของการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทย