Tuesday, 22 April 2025
BCG

‘ภาครัฐ’ กระตุ้น SMEs รับมือทิศทางการค้าโลก เร่งปรับตัวเข้าสู่ทิศทางแห่งเศรษฐกิจสีเขียว 

(18 ม.ค.67) นายนที สิทธิประศาสน์ กรรมการและเลขานุการ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำกลไกการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Transition) สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ทัดเทียมกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 

ทั้งนี้ ปัจจุบันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นความท้าทายระดับโลก โดยได้มีคาดการณ์ว่า ในปีพ.ศ. 2593 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้ทั่วโลกมีมูลค่าทางเศรษฐกิจลดลง 10% ประเทศไทยจึงมีนโยบายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

โดยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC COP ในการประชุมหลายครั้งที่ผ่านมา ซึ่งมีการประกาศเป้าหมายสำคัญ คือ ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปีพ.ศ. 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีพ.ศ. 2608 

ขณะที่ในต่างประเทศได้เริ่มใช้เงื่อนไขทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Measures) เช่น สหภาพยุโรปมีมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM ในหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ ทำให้กระทบต่อการส่งออกของผู้ประกอบการ นอกสหภาพยุโรปแล้ว ประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน อาจมีการพิจารณาการใช้มาตรการในลักษณะเดียวกันในอนาคต 

ดังนั้นแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวจึงเป็นหนึ่งในแนวทางเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และจะเป็นการพัฒนาสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมโลกไปสู่ความยั่งยืน โดยที่ธุรกิจในทุกระดับจึงต้องดำเนินการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันจากนโยบายและมาตรการทางสิ่งแวดล้อมที่บังคับใช้ในปัจจุบันและมีแนวโน้มที่จะมีความเข้มข้นขึ้นในอนาคต 

"ส.อ.ท. จึงได้จัดตั้งสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเตรียมความพร้อม และยกระดับการพัฒนาคุณภาพสินค้าและการผลิตในสังคม เศรษฐกิจ อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ รวมถึงส่งเสริม และสร้างมาตรฐานการตรวจสอบ การรับประกัน และการรับรองในระดับสากล เพื่อยกระดับการประกอบการอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการทุกขนาด"

นางอภิรดี ขาวเธียร รองผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า สสว. เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว จึงร่วมกับ ส.อ.ท. โดยสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งโดยมากแล้วยังขาดองค์ความรู้และบุคลากรในการปรับตัว เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ทัดเทียมกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีความพร้อมในทุกด้านมากกว่า

โดยเริ่มต้นที่กลุ่มอุตสาหกรรม 6 กลุ่ม ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม การท่องเที่ยว พลาสติก สิ่งทอ และอาหาร ซึ่งจัดส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าให้คำปรึกษาเชิงลึกร่วมกับการจัดอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการรายกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว และพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรภาคอุตสาหกรรมให้มีความรู้และความสามารถในการจัดการ เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการยกระดับโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรมสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียวให้สามารถเชื่อมโยงไปยังอุตสาหกรรมต้นน้ำให้สอดคล้องกับนโยบายของประเทศและเศรษฐกิจระดับมหภาค 

‘นายกฯ’ หารือ อดีตนายกฯ สหราชอาณาจักร ผลักดันความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศ

เมื่อวานนี้ (18 ม.ค.67) ณ ศูนย์ประชุม Congress Centre เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบหารือกับนาย Tony Blair ประธานกรรมการบริหาร Tony Blair Institute of Global Change และอดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นาย Tony Blair อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ได้มาพบและคุยเกี่ยวกับ Tony Blair Institute of Global Change ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นโดยไม่หวังผลกำไร และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกันของโลก โดยมีความตั้งใจที่จะหาความร่วมมือกับประเทศไทย โดยเฉพาะด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human development)

โดยทางนาย Tony Blair มีความเชื่อมั่นว่า การร่วมมือระหว่างรัฐบาล และองค์กรต่าง ๆ จะช่วยทำให้ประเทศมีการพัฒนาขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้น เพื่อให้ทางสถาบัน Tony Blair Institute of Global Change ได้เข้ามาศึกษาข้อมูลในประเทศไทย เพื่อพัฒนา และต่อยอดในประเด็นต่าง ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกัน

‘ชาวนากาฬสินธุ์’ หันปลูกแตงโม-ขายเมล็ดส่งนอก โกยเงินล้าน ชี้!! ใช้น้ำน้อย ราคาดีกว่าขายข้าวเปลือก สร้างรายได้ต่อรายสูง

(19 ม.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของเกษตรกรชาว จ.กาฬสินธุ์ ทั้งพื้นที่รับน้ำชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว พบว่ามีการทำนาปรังหรือนาฤดูแล้งเต็มพื้นที่ ขณะที่พื้นที่นอกเขตชลประทาน มีการเพาะปลูกพืชอายุสั้น พืชตระกูลแตงเป็นจำนวนมาก โดยใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติที่มีอยู่อย่างเพียงพอ

นางประนอม ภูเต้านา อายุ 45 ปี เกษตรกรบ้านขมิ้น เลขที่ 95 หมู่ 5 ต.นาดี อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า พื้นที่นาอยู่นอกเขตชลประทาน แต่ก็อยู่ใกล้กับหนองเลิงไก่โอก แหล่งน้ำสาธารณะประจำตำบลนาดี ซึ่งปีนี้มีปริมาณน้ำเป็นจำนวนมาก เพียงพอต่อการสูบขึ้นมาหล่อเลี้ยงแปลงแตงโม และแปลงแตงแคนตาลูป ที่เพาะปลูกประมาณ 2 ไร่

นางประนอม กล่าวอีกว่า ที่เลือกเพาะปลูกพืชตระกูลแตง 2 ชนิด เพราะว่าอายุสั้น ใช้น้ำน้อย ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศร้อนแล้งได้ดี อายุ 4 เดือนเก็บผลผลิตจำหน่าย ที่สำคัญมีบริษัทของเอกชนเข้ามาส่งเสริม มีประกันราคาแน่นอน โดยเป็นแตงลูกผสม จำหน่ายเมล็ดส่งต่างประเทศ ก.ก.ละ 1,600-2,000 บาท ปลูกมาประมาณ 20 ปี รายได้เฉลี่ยรายละ 5 หมื่นบาท ซึ่งรายได้สูงกว่าปลูกข้าวนาปรังและพืชฤดูแล้งชนิดอื่น

นางประนอม กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อราคาขายเมล็ดแตงโมและเมล็ดแตงแคนตาลูปสูง โดยที่ผ่านมาได้กำไรทุกปี ขณะที่ราคาขายข้าวเปลือกยังตกต่ำ รายได้ไม่คุ้มทุน เพราะปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี ค่าแรง ค่าเก็บเกี่ยวสูง ดังนั้น ในปีนี้จึงพบว่าพี่น้องเกษตรกรชาวนาในหมู่บ้าน หันมาปลูกแตงโม และแตงแคนตาลูปลูกผสม เพื่อขายเมล็ดต่างประเทศกับบริษัทเอกชนถึง 20 ราย ที่หากเฉลี่ยได้กำไรไร่ละ 5 หมื่น ก็จะมีรายได้ในภาพรวมถึง 1 ล้านบาททีเดียว

‘พีระพันธุ์’ เคาะ!! ‘ค่าไฟฟ้าสีเขียว’ 4.55 บาท/หน่วย เปิดทางพลังงานสะอาด ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

‘กระทรวงพลังงาน’ คาด ก.พ. เคาะราคาค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว คาดราคาเหมาะสม 4.55 บาทต่อหน่วย ปลดเงื่อนไขทางต่างชาติต้องการพลังงานสะอาด ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งแก้กฎหมายโรงงานผลิตไฟฟ้าโซลาร์หลังคาเกิน 1,000 หน่วยไม่ต้องขออนุญาต

(20 ม.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ภายในไม่เกินเดือน ก.พ.2567 กระทรวงพลังงานจะประกาศอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว หลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศหลักเกณฑ์การให้บริการและการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวไปแล้ว นับว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีความพร้อมในการจัดหา ‘ไฟฟ้าสีเขียว’ มีทั้งกระบวนการผลิต จัดหา และการรับรองไฟฟ้าสีเขียวเพื่อรองรับความต้องการพลังงานของธุรกิจ

นอกจากนี้ ยังรวมถึงบริษัทข้ามชาติ ที่ต้องการขยายการลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ทั้งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ขจัดอุปสรรคด้านการค้า การลงทุน จากมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ได้เป็นอย่างดี มั่นใจว่าจะมีไฟฟ้าสีเขียวในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการ

ทั้งนี้ จึงมีโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผน PDP เพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดในระบบอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวจะไม่สามารถเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัญญาบริการ และแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเจาะจงแหล่งที่มาได้

รับฟังความเห็นสาธารณะ ม.ค. นี้
เสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกกพ.กล่าวว่า ตั้งแต่การประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าพลังสะอาดภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) เข้าสู่ระบบกว่า 4,800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 ควบคู่ไปกับการออกแบบกำหนดหลักเกณฑ์การคิดอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว และแนวทางการกำกับดูแลให้กระบวนการบริหารจัดการและรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียวให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานสากล

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การคำนวณอัตราราคาเสร็จเรียบร้อยทั้งหมดแล้ว และพร้อมให้การไฟฟ้าให้บริการแล้ว และเตรียมที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในช่วงเดือนม.ค. 2567 นี้ โดยการประกาศโครงการ การจัดทำอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff: UGT) จะสามารถขยายโครงการนี้ให้ครอบคสุมความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าได้หลากหลายขึ้นและปรับปรุงข้อจำกัดต่าง ๆ

พลังงานสะอาดจากโซลาร์เซลล์สูงสุด
ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 250 ล้านตันต่อปี โดย 100 ล้านตัน มาจากภาคการไฟฟ้า มีการตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2030 การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงเหลือ 75 ล้านตัน และภายในปี 2080 จะมีการใช้พลังงานหมุนเวียน 80% โดยส่วนใหญ่มาจากโซลาร์เซลล์ ประมาณ 20,000 เมกะวัตต์

คมกฤชคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ กกพ. กล่าวว่า อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวเบื้องต้นที่คำนวณเพื่อจะนำมาเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะภายในเดือนม.ค. 2567 โดยคำนวณราคาค่าไฟไว้ที่ 4.55 บาทต่อหน่วย ที่น่าจะเป็นตัวเลขที่เหมาะสม มารับฟังความเห็นฯ โดยตัวเลขต่างๆ มีการรวบรวมจากค่าบริการของต่างประเทศที่ได้มีการประกาศใช้ไปแล้วด้วย

แก้กฎหมาย-ลดหย่อนภาษีโซลาร์หลังคา
ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเดินหน้าแก้ไขกฎหมายปลดล็อคให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจาก Solar Rooftop ไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับ ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอีกต่อไป ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขกฎกระทรวง คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี พ.ศ. 2567

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมมาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ และส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสำหรับหน่วยงานรัฐ รวมทั้งเตรียมผลักดันมาตรการลดหย่อนภาษีประจำปี ส่งเสริม Solar Rooftop ในกลุ่มบ้านอาศัย วงเงินไม่เกิน 2 แสนบาท 10 กิโลวัตต์ เพื่อสนับสนุนคนใช้โซลาร์ 9 หมื่นครัวเรือนต่อปี เพื่อลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้า สำหรับประชาชนผู้ร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน

‘ไทย’ เตรียมรับมือวิกฤตอาหาร ภายใต้สภาพอากาศสุดขั้ว ยก Food loss food waste ใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่าเป็นทางออก

การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างย่อมมี ‘ต้นทุน’ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหมายถึงต้นทุนที่เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ทุกคนบนโลกกำลังจ่ายไปทุกเวลา นาที ชั่วโมงและทุกวัน รวมเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามหาศาลในการขาดแคลนอาหารในอนาคต

ข้อมูลจาก World economic forum ระบุว่า เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว สภาพภูมิอากาศ และที่เกี่ยวข้องกับน้ำทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเกือบ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงปี 2562 มูลค่าความเสียหายนี้จะเพิ่มขึ้นมาจาก 184 พันล้านดอลลาร์ในปี 2513 อย่างไรก็ตาม หากอ้างอิงตามรายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) จะพบว่าตัวเลขที่แท้จริงของความสูญเสียดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะสูงกว่านี้อีก

เนื่องจาก ความล้มเหลวในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่สำคัญในรายงานความเสี่ยงทั่วโลก โดยแบบสำรวจ 70% ให้คะแนนมาตรการที่มีอยู่เพื่อป้องกันหรือเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า “ไม่มีประสิทธิภาพ” หรือ “ไม่มีประสิทธิภาพอย่างมาก”

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทย กล่าวว่า เรื่องน่ากังวลในอนาคตอีกอย่างที่เกี่ยวกับ 1 ในปัจจัย 4 ที่สำคัญการดำรงชีวิต คือความมั่นคงด้านอาหาร หรือ Food security โดยไทยมีการเตรียมการเรื่องของอาหารแห่งอนาคต Future food ไม่ว่าจะเกิดโรคระบาดในสัตว์หรือสภาพภูมิอากาศที่จะส่งผลทำไม่มีผลผลิตจากปศุสัตว์นั้น ก็จะมีการนำพืชเข้ามาทดแทนหรือแมลง สาหร่าย รวมถึงจุลินทรีย์เข้ามาทดแทน เมื่อมีความจำเป็น

ในปัจจุบันนั้นมีการนำมาตรการ Food loss food waste ซึ่งเป็นการนำวัตถุดิบมาใช้คุ้มค่าที่สุด โดยมี กระบวนการ 3Rs อันได้แก่ ใช้น้อยหรือลดการใช้ (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และใช้ใหม่ (Recycle)

“ภาคของธุรกิจอย่างน้อยต้องเตรียมในเรื่องพื้นฐานความยั่งยืนที่ต้องล้อไปตามเทรนด์ของโลก โดยเริ่มตั้งแต่การปรับเปลี่ยนทั้งด้านพลังงานทางเลือกเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นและให้คู่ค้าเห็นว่ามีโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนความยั่งยืน และยังต้องเตรียมความพร้อมรับมาตรการบังคับทางด้านภาษีที่ยังไม่น่าจะมีผลในเร็ว ๆ นี้ แต่ก็ต้องมีการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคต”

ประเทศไทยสามารถใช้จุดแข็งเพื่อการเตรียมรับมือกับวิกฤติที่จะเกิดขึ้น แต่ในภาพรวมจากการประเมินทางเศรษฐกิจกำลังชี้ว่าวิกฤติสภาพภูมิอากาศเริ่มเป็นความเสี่ยงที่มีความชัดเจนมากขึ้น นับเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ทุกคนต้องจ่าย

ยกตัวอย่างประเทศจีนที่ประสบความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยตรงมากกว่า 42,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 จากภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงฝนตกหนัก แผ่นดินถล่ม พายุลูกเห็บ และไต้ฝุ่น ตามข้อมูลของรัฐบาลจีนที่อ้างอิงจากข้อมูลของ WMO ระบุว่า ความเสียหายจากพายุไซโคลนเขตร้อนถือเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุด รองลงมาคือน้ำท่วม และภัยแล้งตามมาเป็นอันดับสาม

ขณะที่ในแอฟริกา ภัยพิบัติระหว่างปี 2513-2564 ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 43,000 ล้านดอลลาร์ โดยภัยแล้งคิดเป็น 95% ของสาเหตุการเสียชีวิต ส่วนที่ยุโรปตามข้อมูลของ WMO ระบุว่าความเสียหายอยู่ที่ 562 พันล้านดอลลาร์ โดย 8% ของการเสียชีวิตจากภัยพิบัติทั่วโลกที่กระทบคนยุโรป 

สำหรับอเมริกาใต้ มูลค่าขาดทุนอยู่ที่ 115.2 พันล้านดอลลาร์ และสำหรับอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และแคริบเบียน อยู่ที่ 2 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะเดียวกัน การประเมินสภาพภูมิอากาศแห่งชาติของสหรัฐฉบับล่าสุดได้สรุปว่าเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในปัจจุบันทำให้ประเทศเสียหาย 1 พันล้านดอลลาร์ทุกสามสัปดาห์ และความเสียหายเฉลี่ย 150 พันล้านดอลลาร์ในแต่ละปีระหว่างปี 2561-2565

เหตุการณ์สุดขั้วที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศถูกกำหนดให้เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงมากขึ้น 

นอกจากนี้ ตามรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในฐานะเจ้าภาพการประชุมภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 28 หรือที่เรียกว่า COP28 ที่ชี้ว่า “ต้องมีการรับมือภัยพิบัติที่มากขึ้น”

แม้ว่าทั่วโลกได้ใช้ความพยายามทั้งการสนับสนุนด้านต่าง ๆ ตลอดเวลา 30 ปีที่ผ่านไปเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแต่ก็ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน ความเสียหายยังหลอกหลอนต่อไป การเข้าใจและเตรียมความพร้อมอาจทำให้วิกฤติกลายเป็นโอกาสเหมือนที่ไทยใช้เตรียมพร้อมด้านอาหารมั่นคง

‘รทสช.’ เดินหน้าผลักดันนโยบาย Solar Rooftop เสรีในครัวเรือน หนุน ‘แก้ไขกฎ-ลดขั้นตอนติดตั้ง’ ช่วยปชช. เข้าถึงไฟฟ้าราคาถูก

(24 ม.ค. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เปิดเผยภายหลังประชุมพรรคว่า พรรคมีมติในการสนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินนโยบายโซลาร์รูฟท็อป (Solar rooftop) เสรีในส่วนของครัวเรือน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจะมีปัญหา และอุปสรรคในการขออนุญาตติดตั้ง Solar rooftop บนหลังคาบ้านเรือน เนื่องจากต้องขอใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และขออนุญาตติดตั้งได้ยากมาก

ดังนั้น ทางสส.ของพรรค จึงมีมติให้นายเกรียงยศ สุดลาภา สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นผู้ยื่นกระทู้ถามสดในสภาฯ ในวันที่ 25 มกราคม 2567 ที่จะถึงนี้ ถามนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงความคืบหน้าในโครงการ Solar rooftop เสรีซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญของพรรครวมไทยสร้างชาติ

เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงในการเข้าถึงโครงการ Solar rooftop เสรี เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในครัวเรือน และเสริมในสิ่งที่กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการไปแล้ว คือการลดค่าไฟให้กับประชาชน 

โดยโครงการติดตั้ง Solar rooftop เสรีมีส่วนสำคัญในการลดค่าไฟให้กับประชาชน ถ้าประชาชนต้องการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเรือน สามารถทำได้โดยง่ายไม่ต้องติดกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ยุ่งยากเหมือนในอดีต ถือเป็นการใช้พลังงานราคาถูก

นายอัครเดช กล่าวต่ออีกว่า เดิมทีการขออนุญาตติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้านเรือน มีขั้นตอนยุ่งยาก เพราะต้องมีการเขียนแบบ มีการตรวจสอบ มีการติดตั้ง ซึ่งต้องเป็นไปตามนโยบายของกรมโรงงานอุตสาหกรรม จากนี้ไปจะง่ายขึ้น ส่วนเรื่องความปลอดภัย ยังเหมือนเดิม เพียงแต่จะลดขั้นตอนการอนุญาตติดตั้งในระดับครัวเรือนได้เร็วขึ้น

“รายละเอียดเรื่องนี้ ขอให้ประชาชนรอฟังการชี้แจงของน.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ที่จะมาตอบกระทู้สดในสภาฯ ถือเป็นนโยบายสำคัญของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ตั้งใจทำงานให้กับประชาชน” โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติกล่าว

‘คาร์บอนเครดิตป่าไม้’ อีกหนึ่งทางเลือกน่าลงทุน ช่วยสร้างเม็ดเงิน แถมได้ปลูกป่า ลดก๊าซเรือนกระจก

ปัจจุบัน ‘คาร์บอนเครดิต’ เข้ามามีบทบาทมากขึ้นทั้งการซื้อขายจากที่ต่าง ๆ เพื่อข้อมูลการชดเชยการปล่อยคาร์บอน แต่มีอีกหนึ่งส่วนที่เป็นแหล่งลดคาร์บอนได้ไม่แพ้กันคือ การส่งเสริมคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้

(25 ม.ค. 67) พฤฒิภา โรจน์กิตติคุณ ผู้อำนวยการสำนักรับรองคาร์บอนเครดิต กล่าวงานฟอรั่มไม่มีค่า ภายใต้ Theme ‘สร้างเสน่ห์ ชุมชนสีเขียว: Enchanting Green Community’ ช่วง เสวนา ‘ชวนคุยชวนคิด ปลูก ไม้มีค่าจากต้นกล้า สู่ Carbon Neutrality คาร์บอนเครดิต’ จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่า…

แนวทางภาพรวมการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทยนั้น ต้องมีการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้า อย่างน้อย 68% ในปี พ.ศ. 2583 และ 74% ในปี พ.ศ. 2593 รวมถึงการ ยุติการใช้ถ่านหิน ในปี พ.ศ. 2593 และใช้เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน (CCUS) และการดักจับ และกักเก็บคาร์บอนเป็นกระบวนการสกัดพลังงานชีวภาพ (BECCS) รวมถึงการใช้พลังงานที่สะอาดทั้งในภาคขนส่ง และอุตสาหกรรม ในปี พ.ศ. 2588

ทั้งนี้ ไม่ได้มีแค่การปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานแต่เพียงอย่างเดียว การปลูกต้นไม้ ตามแผนการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากสาขาป่าไม้ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน 120 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2580 - 2608

นอกจากนี้ทาง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) ได้มีสนับสนุนคาร์บอนเครดิต (Carbon Credits) ในภาคป่าไม้ โดยดูดซับปริมาณก๊าซเรือนกระจก ที่ลดและกักเก็บได้ จากการดำเนินโครงการ T-VER หรือการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ (Thailand Voluntary Emission Reduction Project :T-VER) และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ อบก. และถูกบันทึกในระบบทะเบียนของ อบก. ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ Standard และ Premium โดยมีเงื่อนไขการดำเนินโครงการดังนี้ 

1.เป็นไม้ยืนต้น (ชนิดใดก็ได้) ที่มีเนื้อไม้ และอายุยืนยาว 
2.มีหลักฐานเอกสารแสดงสิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือเอกสารที่ยืนยันได้ว่าเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่นั้น ๆ ยินยอมให้ดำเนินการ

โดยสถิติโครงการ T-VER ภาคป่าไม้ โครงการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งหมด 51 โครงการ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะกักเก็บได้ 361,966 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/ปี โครงการที่ได้รับรองคาร์บอนเครดิต 8 โครงการ ปริมาณคาร์บอนเครดิต 123,708 ตันคาร์บอนไดออกไซด์

มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ เป็นพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่ง ประมวลรัษฎาภรให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่เกิดจากการขายคาร์บอนเครดิตในประเทศตามโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อบก. ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค.2570

ผลึก อาจหาญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาลูกค้าและชุมชน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ได้มีการตั้งธนาคารต้นไม้ โดยเริ่มจากครอบครัวละ 9 ต้น ทำให้ชุมชนเกิดความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้นในชุมชนทั่วประเทศ สร้างรายได้ไปกว่าปีละ 100 ล้านบาท และได้มีการร่วมกับ อบก. ในการให้ความรู้เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตมากขึ้น และได้มีการตั้งงบสนับสนุนชุมชน 100 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ในชุมชนไม่เกินชุมชนละ 50,000 บาท ซึ่งสามารถใช้ต้นไม้เป็นหลักประกันได้อีกด้วย โดยปัจจุบันมีต้นไม้ไม่ต่ำกว่า 200 ชนิดที่รับเป็นหลักประกันซึ่งมีราคากลางในการประเมินต้นไม้ได้ โดยปัจจุบันนั้นมีผู้รับสินเชื่อเป็นวงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาทแล้ว

ประสิทธิ์ เกิดโต รองผู้อำนวยการกรรมการผู้จัดการ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กล่าวว่า บทบาทของป่าไม้สามารถเพิ่มเป็นพื้นที่เศรษฐกิจได้ ต้องปลูกแล้วสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ อย่าง ยางพารา ไม้สัก ยูคาลิปตัส ในส่วนคาร์บอนเครดิตนั้นเป็นรายได้เสริมโดยมีค่าเฉลี่ยคือ 259 บาท และมีการประมาณรายได้ 120 ล้านบาท ในพื้นที่ 2 แสนไร่ ยิ่งมีพื้นที่มากยิ่งได้ต้นทุนการตรวจที่ลดลงอีกด้วย

จิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ กล่าวว่า ธุรกิจปลูกป่าทำรายได้ 18% ต่อปี ถือเป็นธุรกิจที่น่าลงทุน ซึ่งมีการให้คาร์บอนเครดิตที่สูง โดย 70% ของคาร์บอนเครดิตมาจาก ยางพารามากถึง 120 ล้านตันคาร์บอนซึ่งเป็นการส่งเสริมการปลูกต้นไม้เพื่อความยั่งยืนในการดูดซับคาร์บอนและสร้างรายได้เสริมให้กับประชาชนที่มีส่วนร่วมอีกด้วย

เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมเป็นสองสิ่งนี้อาจสวนทางกันแต่ปัจจุบัน ‘คาร์บอนเครดิตจากป่าไม้’ อาจเป็นคำตอบของสองสิ่งให้อยู่ร่วมกันได้อย่างดีด้วย

‘รมว.ปุ้ย’ เร่งศึกษากม. ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม-น้ำ ในครัวเรือน เตรียมชงเข้า ครม. พร้อม ‘โซลาร์รูฟท็อปเสรี’ หวังลดค่าไฟ ปชช.

(25 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันกำลังเร่งดำเนินการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม และน้ำภาคครัวเรือน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนเป็นหลักเกี่ยวกับเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือน และไม่ให้มีปัญหาเรื่องของไฟฟ้า เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาพร้อมกับนโยบายโซลาร์รูฟท็อป (Solar rooftop) เสรีในส่วนครัวเรือนของพรรคครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

ขณะที่ความคืบหน้านโยบายโซลาร์รูฟท็อปเสรีในส่วนครัวเรือนนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยปัจจุบันได้ปลดล็อกเรื่องการขอใบอนุญาตแล้วทั้งระบบ 

"กระทรวงฯ อำนวยความสะดวกให้แล้ว ด้วยการปลดล็อกการขอใบอนุญาต รง.4 ได้สบายมากขึ้น ไม่ต้องมาขอ ในภาคครัวเรือนด้วยเช่นเดียวกัน"

อย่างไรก็ดี ต้องเรียนว่าการติดตั้งโซลาร์ของครัวเรือนส่วนใหญ่จะมีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 10 เมกกะวัตต์ จะไม่ต้องขอใบอนุญาต รง.4 อยู่แล้ว 

ดังนั้น การดำเนินการดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนเป็นการปลดล็อกทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่ และขนาดเล็กในครั้งเดียว

‘ไทย สมายล์ กรุ๊ป’ เดินแผนปลดระวางรถเมล์ NGV 350 คัน แล้วเสร็จ ผันตัวเป็น ‘ขนส่งไร้มลพิษ’ ให้บริการ ‘รถโดยสารไฟฟ้า’ เต็มรูปแบบ 

(29 ม.ค. 67) นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทย สมายล์ กรุ๊ป เปิดเผยว่า ปัญหาฝุ่นควันพิษที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิตของผู้คนซึ่งบริษัทได้ตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ทำให้ก่อนหน้านี้ได้ทำการประกาศนโยบายพัฒนาระบบขนส่งของไทยให้ก้าวสู่ยุคพลังงานไฟฟ้า 100% ด้วยการปลดประจำการรถเมล์ NGV ทั้งหมด 350 คัน จะต้องถูกยกเลิกการใช้งานทั้งหมดภายในเดือน ม.ค.นี้

โดยปัจจุบันบริษัทฯ ได้ยกเลิกการใช้งานรถ NGV คันสุดท้ายไปเมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นส่วนสำคัญในภาคการขนส่งที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษสู่อากาศ ทั้งยังเตรียมตัวสู่ยุค Net Zero Carbon ที่สอดคล้องกับแนวคิดขององค์กร “เดินทางด้วยรอยยิ้ม ใส่ใจสิ่งแวดล้อม”

ขณะเดียวกัน TSB ได้ประกาศเป็นนโยบายให้รถทุกคันเปิดรับชำระค่าโดยสารทั้ง 2 ระบบ ผู้เดินทางสามารถใช้ ‘เงินสด’  จ่ายผ่านบัสโฮสเตส (พนักงานเก็บค่าโดยสาร) เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีทางเลือกที่มากขึ้น ด้วยอัตราค่าโดยสารเริ่มเพียง 15-20-25 บาท ตามระยะทาง

นอกจากนี้ ยังมีบริการรองรับสำหรับคนใช้งานประจำ ในการใช้บัตร HOP Card เพื่อรับสิทธิประโยชน์ ‘เดลิ แมกซ์ แฟร์’ Daily Max Fare เดินทางกี่ต่อ กี่สาย กี่ครั้งก็ได้ไม่จำกัดจำนวนภายในหนึ่งวัน ด้วยการชำระค่าโดยสารสูงสุดเพียง 40 บาทต่อวันเท่านั้น หรือจะนั่งรถต่อเรือ เรือต่อรถ ชำระค่าโดยสารสูงสุดเพียง 50 บาทต่อวัน ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถหาซื้อบัตรได้ง่าย ๆ ผ่านทางแอปพลิเคชัน Shopee

‘มล.ชโยทิต’ ชี้!! ก.พ.67 ‘อัตราภาษีสีเขียว’ ใกล้คลอด เสริมนิเวศการลงทุนไทยยั่งยืน ที่ตอบโจทย์ทุนยุโรป

(29 ม.ค.67) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เป็นอีกกำลังหนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยข้อมูลสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า การลงทุนโดยตรงสุทธิจากสหภาพยุโรป (EU) ในไทยในปี 2565 มีมูลค่า 49,220.33 ล้านบาท และประเทศที่ลงทุนเป็นอันดับ 2 จาก EU คือ เยอรมนี มูลค่า 15,530.07 ล้านบาท

ทั้งนี้ ศักยภาพการลงทุนจากเยอรมนี ยังสามารถขยายความสัมพันธ์ทางการค้าให้มากขึ้นไปอีก แต่ในอนาคตเงื่อนไขทางการค้าของนักลงทุนจากยุโรปไม่ใช่แค่ ‘กำไร-ขาดทุน’ แต่คือโจทย์ด้านความยั่งยืน

ฉะนั้นในโอกาสที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือเต็มคณะ ร่วมกับ นายฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นาย Michael Kellner รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) และคณะผู้แทนภาคเอกชนเยอรมนีเมื่อเร็วๆ นี้ จึงมีสาระสำคัญในประเด็นดังกล่าวอยู่อย่างชัดเจน

โดย มล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย ได้เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า ผลการหารือเป็นไปได้ด้วยดี สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันดีและใกล้ชิดระหว่างภาคธุรกิจไทยเยอรมนี ที่ได้เน้นย้ำถึงกระบวนทัศน์ทางเศรษฐกิจใหม่ของไทยในประเด็นต่างๆ ได้แก่... 

1. การทำให้ประเทศไทยเป็นทางเลือกสำคัญในการลงทุนในฐานะแหล่งผลิตและภาคอุตสาหกรรมที่มีพลังงานสะอาด

2. การนำเสนอด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งไทยมีฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ซึ่งเชื่อมั่นว่าการมีส่วนร่วมของบริษัทรถยนต์เยอรมนี จะสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ภาคการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้ในประเทศไทย

3. การพัฒนาดิจิทัล ไทยมีเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค มีการปรับปรุง พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่รองรับทั้งการใช้งานส่วนบุคคลและการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม

4. การส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ซึ่งหารือร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะบริษัทด้านการผลิตไมโครชิปและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตสำหรับอุตสาหกรรม EV

5. การสนับสนุนความยั่งยืน ไทยมีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยภายในเดือน ก.พ. 2567 นี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างการสร้างอัตราภาษีสีเขียว (Green Tariff) แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมให้การดูแล ติดตามทุกบริษัทที่ลงทุนในไทย รวมไปถึงการสร้างพลังงานหมุนเวียน เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์จากเขื่อนกักเก็บน้ำ 7 แห่งในไทย ซึ่งทางบริษัทเยอรมันหลายแห่ง ให้ความสนใจด้านพลังงานหมุนเวียน โดยเห็นพ้องที่จะส่วนร่วมในแง่ของการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนในไทยต่อไป

6. ด้านการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เน้นย้ำการเจรจาร่วมกับสหภาพยุโรป ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับพลังงานสีเขียว เพื่อการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ลดคาร์บอนอื่นๆ โดยข้อหารือทั้งหมดจะมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อทั้งสองประเทศ

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ EU และของฝ่ายไทยครั้งที่ 15 (15th Senior Officials' Meeting) เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของประเทศ สมาชิก EU เห็นควรให้ EU เริ่มต้นการเจรจา FTA กับประเทศไทยอีกครั้ง พร้อมทั้งแสดงเจตจำนงยกระดับความร่วมมือทวิภาคี กับฝ่ายไทย ในการนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่ EU จะนำประเด็นเรื่องการปล่อยคาร์บอนมาเป็นเงื่อนไข อย่างหนึ่งในการเจรจาด้วย

ด้านประธานาธิบดีเยอรมนี กล่าวว่า เชื่อมั่นในการร่วมกันพัฒนาอนาคตที่สดใสร่วมกัน รวมถึงชื่นชมการมีเสถียรภาพทางการเมืองของไทย ซึ่งสะท้อนว่า ไทยพร้อมเปิดกว้างสำหรับการทำธุรกิจ โดยเยอรมนีพร้อมที่จะยกระดับทางการค้าการลงทุนร่วมกัน

ขณะที่นายกรัฐมนตรีไทย กล่าวว่า รัฐบาลจะส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมมี Roadmap ที่ชัดเจนมากที่สุดในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้

สำหรับผู้แทนเอกชนเยอรมนีมาจาก 12 บริษัท ใน 5 สาขา ได้แก่ 1.สาขานิทรรศการงานแสดงสินค้านานาชาติ 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ 3.พลังงานหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม 4.บริการ ดิจิทัลและการศึกษา และ 5.วัสดุก่อสร้าง การก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน

ในเดือน มี.ค. นี้ นายกรัฐมนตรีไทยมีกำหนดเดินทางเยือนเยอรมนี ซึ่งเป็นช่วงที่นิเวศด้านความยั่งยืนของไทยโดยเฉพาะด้านภาษีสีเขียวน่าจะแล้วเสร็จ ก็น่าจะเป็นอีกผลงานอวดโลกได้ว่า ไทยพร้อมตอบโจทย์เงื่อนไขการลงทุนที่มีความยั่งยืนเป็นหลักการสำคัญ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top