‘มล.ชโยทิต’ ชี้!! ก.พ.67 ‘อัตราภาษีสีเขียว’ ใกล้คลอด เสริมนิเวศการลงทุนไทยยั่งยืน ที่ตอบโจทย์ทุนยุโรป

(29 ม.ค.67) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เป็นอีกกำลังหนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยข้อมูลสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า การลงทุนโดยตรงสุทธิจากสหภาพยุโรป (EU) ในไทยในปี 2565 มีมูลค่า 49,220.33 ล้านบาท และประเทศที่ลงทุนเป็นอันดับ 2 จาก EU คือ เยอรมนี มูลค่า 15,530.07 ล้านบาท

ทั้งนี้ ศักยภาพการลงทุนจากเยอรมนี ยังสามารถขยายความสัมพันธ์ทางการค้าให้มากขึ้นไปอีก แต่ในอนาคตเงื่อนไขทางการค้าของนักลงทุนจากยุโรปไม่ใช่แค่ ‘กำไร-ขาดทุน’ แต่คือโจทย์ด้านความยั่งยืน

ฉะนั้นในโอกาสที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือเต็มคณะ ร่วมกับ นายฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นาย Michael Kellner รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) และคณะผู้แทนภาคเอกชนเยอรมนีเมื่อเร็วๆ นี้ จึงมีสาระสำคัญในประเด็นดังกล่าวอยู่อย่างชัดเจน

โดย มล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย ได้เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า ผลการหารือเป็นไปได้ด้วยดี สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันดีและใกล้ชิดระหว่างภาคธุรกิจไทยเยอรมนี ที่ได้เน้นย้ำถึงกระบวนทัศน์ทางเศรษฐกิจใหม่ของไทยในประเด็นต่างๆ ได้แก่... 

1. การทำให้ประเทศไทยเป็นทางเลือกสำคัญในการลงทุนในฐานะแหล่งผลิตและภาคอุตสาหกรรมที่มีพลังงานสะอาด

2. การนำเสนอด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งไทยมีฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ซึ่งเชื่อมั่นว่าการมีส่วนร่วมของบริษัทรถยนต์เยอรมนี จะสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ภาคการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้ในประเทศไทย

3. การพัฒนาดิจิทัล ไทยมีเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค มีการปรับปรุง พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่รองรับทั้งการใช้งานส่วนบุคคลและการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม

4. การส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ซึ่งหารือร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะบริษัทด้านการผลิตไมโครชิปและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตสำหรับอุตสาหกรรม EV

5. การสนับสนุนความยั่งยืน ไทยมีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยภายในเดือน ก.พ. 2567 นี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างการสร้างอัตราภาษีสีเขียว (Green Tariff) แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมให้การดูแล ติดตามทุกบริษัทที่ลงทุนในไทย รวมไปถึงการสร้างพลังงานหมุนเวียน เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์จากเขื่อนกักเก็บน้ำ 7 แห่งในไทย ซึ่งทางบริษัทเยอรมันหลายแห่ง ให้ความสนใจด้านพลังงานหมุนเวียน โดยเห็นพ้องที่จะส่วนร่วมในแง่ของการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนในไทยต่อไป

6. ด้านการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เน้นย้ำการเจรจาร่วมกับสหภาพยุโรป ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับพลังงานสีเขียว เพื่อการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ลดคาร์บอนอื่นๆ โดยข้อหารือทั้งหมดจะมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อทั้งสองประเทศ

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ EU และของฝ่ายไทยครั้งที่ 15 (15th Senior Officials' Meeting) เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของประเทศ สมาชิก EU เห็นควรให้ EU เริ่มต้นการเจรจา FTA กับประเทศไทยอีกครั้ง พร้อมทั้งแสดงเจตจำนงยกระดับความร่วมมือทวิภาคี กับฝ่ายไทย ในการนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่ EU จะนำประเด็นเรื่องการปล่อยคาร์บอนมาเป็นเงื่อนไข อย่างหนึ่งในการเจรจาด้วย

ด้านประธานาธิบดีเยอรมนี กล่าวว่า เชื่อมั่นในการร่วมกันพัฒนาอนาคตที่สดใสร่วมกัน รวมถึงชื่นชมการมีเสถียรภาพทางการเมืองของไทย ซึ่งสะท้อนว่า ไทยพร้อมเปิดกว้างสำหรับการทำธุรกิจ โดยเยอรมนีพร้อมที่จะยกระดับทางการค้าการลงทุนร่วมกัน

ขณะที่นายกรัฐมนตรีไทย กล่าวว่า รัฐบาลจะส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมมี Roadmap ที่ชัดเจนมากที่สุดในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้

สำหรับผู้แทนเอกชนเยอรมนีมาจาก 12 บริษัท ใน 5 สาขา ได้แก่ 1.สาขานิทรรศการงานแสดงสินค้านานาชาติ 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ 3.พลังงานหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม 4.บริการ ดิจิทัลและการศึกษา และ 5.วัสดุก่อสร้าง การก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน

ในเดือน มี.ค. นี้ นายกรัฐมนตรีไทยมีกำหนดเดินทางเยือนเยอรมนี ซึ่งเป็นช่วงที่นิเวศด้านความยั่งยืนของไทยโดยเฉพาะด้านภาษีสีเขียวน่าจะแล้วเสร็จ ก็น่าจะเป็นอีกผลงานอวดโลกได้ว่า ไทยพร้อมตอบโจทย์เงื่อนไขการลงทุนที่มีความยั่งยืนเป็นหลักการสำคัญ