Tuesday, 22 April 2025
BCG

'กฟผ.' เร่งเดินหน้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์  ผลิตไฟฟ้ารักษ์โลก-เสริมความมั่งคงด้านพลังงานให้ประเทศ

(18 ธ.ค. 66) ภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งเร้าให้ทั่วโลกเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยประเทศไทยตั้งเป้าเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 50% เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดโดยเฉพาะในภาคการผลิตไฟฟ้าและขนส่ง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2050

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ หรือ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด (Hydro-floating Solar Hybrid) ซึ่งถือเป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดแบบผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ทำงานร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิม ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้อย่างต่อเนื่องยาวนานขึ้น และมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำ จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาทั่วโลกผ่านโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดใหญ่ที่สุดในโลกแห่งแรกที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังผลิตไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์

สำหรับในปี 2566 กฟผ. เร่งดำเนินโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดแห่งที่ 2 ณ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กำลังผลิตไฟฟ้า 24 เมกะวัตต์ พัฒนาต่อยอดเพิ่มการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) แบบลิเธียมไอออนขนาด 6 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ช่วยให้ระบบไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำมีเสถียรภาพมากขึ้น สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ

ปัจจุบันโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์อยู่ในระหว่างดำเนินงานประกอบแผงโซลาร์เซลล์เข้ากับทุ่นลอยน้ำ โดยใช้แผงโซลาร์เซลล์ประมาณ 48,000 แผง ติดตั้งอยู่บนพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 320 ไร่ ส่วนการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า 22 กิโลโวลต์ เชื่อมต่อกับสถานีไฟฟ้าแรงสูงอุบลรัตน์ และการก่อสร้างอาคารอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) มีความล่าช้าเล็กน้อยจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ของ จ.ขอนแก่น ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในปี 2566

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดถือเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าแห่งอนาคตที่จะเข้ามาแทนโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพราะเป็นกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดจึงไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยกระบวนการทำงานของโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดจะนำพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวัน และผลิตไฟฟ้าด้วยโรงไฟฟ้าพลังน้ำเช่วงที่แสงแดดน้อยหรือไม่มีแสงแดด ส่วนระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่จะกักเก็บพลังงานส่วนที่เหลือจากโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ และช่วยจ่ายไฟฟ้าเสริมความต้องการของระบบไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านตอนหัวค่ำ จึงสามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่องและยาวนานขึ้น

ส่วนแผงโซลาร์เซลล์ที่นำมาใช้เป็นแผงโซลาร์เซลล์ชนิด Double Glass ที่มีความแข็งแรงทนทานสูง ทนความชื้นได้ดี สามารถออกแบบวางชิดผิวน้ำซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ถึงร้อยละ 10 - 15 และใช้ทุ่นลอยน้ำเป็นทุ่นพลาสติกชนิด High Density Poly Ethylene (HDPE) ซึ่งเป็นวัสดุประเภทเดียวกับท่อส่งน้ำประปาจึงเป็นมิตรต่อสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสามารถทนต่อความเสื่อมจากการกระทบของรังสี UV ได้เป็นอย่างดี จึงมีอายุการใช้งานได้นานถึงประมาณ 25 ปี

นอกจากนี้โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดยังตอบโจทย์พลังงานเพื่อทุกคน เนื่องจากเป็นการพัฒนาโครงการที่มีขนาดใหญ่ (Economy of Scale) โดยใช้ที่่ดินและอุปกรณ์โครงข่ายไฟฟ้าของเขื่อนอุบลรัตน์ที่มีอยู่เดิมให้เต็มประสิทธิภาพ จึงสามารถช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าต่ำ อีกทั้งในช่วงการก่อสร้างยังได้จ้างแรงงานท้องถิ่นทำให้เกิดการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ และเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ กฟผ. ได้เตรียมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านพลังงานหมุนเวียนแห่งใหม่ของ จ.ขอนแก่น เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่นอีกทางหนึ่งด้วย

โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดถือเป็นก้าวสำคัญของการเดินหน้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่เชื่อถือได้ และแสดงถึงความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังในการส่งเสริมพลังงานสะอาดของไทย โดยให้ความสำคัญกับชุมชนโดยรอบเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน และเดินหน้าสู่สังคมไร้คาร์บอนอย่างแท้จริง เพื่อคนไทยทุกคน

‘GULF-AIS’ ลุย ‘ติดแผงโซลาร์-ต่อเสาสื่อสาร’ ให้ชุมชนห่างไกล หวังเพิ่มโอกาส ‘ทางการศึกษา-การเข้าถึงบริการสาธารณสุข’

(21 ธ.ค. 66) นายธนญ ตันติสุนทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจระบบโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับ AIS ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ในโครงการ GULF X AIS SOLAR SYNERGY: A SPARK OF GREEN ENERGY NETWORK ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ผลิตพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ให้แสงสว่างแก่ชุมชนพร้อมติดตั้งระบบสื่อสารจากสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้แก่ชุมชนห่างไกล นำร่องที่บ้านดอกไม้สด ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ

GULF จะส่งมอบระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ ให้แก่ชุมชนแต่ละแห่งตามสภาพปัญหาของชุมชนนั้นๆ เช่น ปัญหาด้านสาธารณสุข รวมทั้งการป้องกันและรักษาโรคในเบื้องต้น ระบบไฟฟ้าเพื่อการเรียนการสอน ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบกรองน้ำดื่ม ระบบสูบน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค เป็นต้น รวมไปถึงการให้ความรู้พื้นฐานเรื่องพลังงานสะอาด การบำรุงรักษาแผงโซลาร์เซลล์ และการดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ส่วน AIS จะนำระบบสื่อสารโทรคมนาคมด้วยพลังงานโซลาร์เซลล์ เพื่อให้ชุมชนนั้นๆ ได้ใช้ประโยชน์ด้านการติดต่อสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ การเรียนรู้จากแหล่งข้อมูลความรู้ต่างๆ บนโลกออนไลน์ พร้อมเติมเต็มโอกาสในการเข้าถึงระบบการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพแบบ ‘แพทย์ทางไกล’ ผ่านเทคโนโลยี Telemedicine รวมทั้งใช้เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ชุมชนผ่านเครือข่ายออนไลน์ ซึ่งจะช่วยสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้ โดยได้เริ่มโครงการนำร่องแห่งแรกที่บ้านดอกไม้สด ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่บนภูเขา ขาดแคลนไฟฟ้า มีประชากรประมาณ 700 คน รวม 160 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรทำไร่ข้าวโพด

แม้บ้านดอกไม้สดจะอยู่ห่างจากตัวอำเภอท่าสองยางเพียง 40 กิโลเมตร แต่ด้วยสภาพเส้นทางดินลูกรังและเส้นทางภูเขาที่คดเคี้ยว ส่งผลให้การเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบาก ใช้เวลาเดินทางเข้าสู่พื้นที่กว่า 3 ชั่วโมง ยิ่งในช่วงฤดูฝน เส้นทางสัญจรแทบจะถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ประชาชนในพื้นที่จึงไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภค และระบบการสื่อสารต่างๆ ยังรวมถึงการเจ็บป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที เราจึงเลือกที่นี่เป็นพื้นที่นำร่อง ก่อนที่จะขยายผลไปในพื้นที่อื่นๆ ทุกภาคทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง

“เพราะเราทั้งสององค์กรต่างตระหนักดีว่า ระบบไฟฟ้า และระบบสื่อสาร คือ สาธารณูปโภคที่จำเป็นและสำคัญยิ่ง ดังนั้นประชาชนในทุกพื้นที่ ควรได้รับโอกาสในการเข้าถึงอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม จึงถือเป็นแรงบันดาลใจที่ส่งต่อมาสู่พนักงานทุกคนที่ต่างสนับสนุนภารกิจนี้อย่างเต็มที่ ภายใต้บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในแต่ละส่วนงาน โดยโครงการนี้ยังถือว่าสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาด้านความยั่งยืน ที่เกิดจากการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนและการพัฒนาโครงข่ายพร้อมบริการดิจิทัล ซึ่งสามารถสร้างประโยชน์ ครอบคลุมทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Economy) สังคม (Social) และการยืนหยัดเพื่อสิ่งแวดล้อม (Environment) นั่นเอง”

ด้านนางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ร่วมกันกล่าวว่า เป้าหมายสูงสุดในการทำงานของ GULF และ AIS คือ ใช้ขีดความสามารถทางธุรกิจของแต่ละบริษัท ในการยกระดับการใช้ชีวิตของคนไทย ให้เท่าเทียมและทั่วถึง พร้อมสนับสนุนภารกิจของภาครัฐในการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการประสานความร่วมมือกัน โดยใช้องค์ความรู้และประสบการณ์จาก GULF ที่เชี่ยวชาญการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจากเทคโนโลยีทันสมัย และ AIS ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสื่อสารและดิจิทัล ส่งมอบโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและสื่อสาร อย่างระบบไฟฟ้าและสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้แก่คนไทยในพื้นที่ซึ่งยากแก่การที่สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจะเข้าถึง

'รมว.ปุ้ย' ชี้!! เหตุผลปี 67 รถยนต์รุ่นใหม่ต้องมีมาตรฐาน ยูโร 5 สร้างมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม 'ลด-ควบคุม' มลภาวะทางอากาศ

(3 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โพสต์ข้อควาผ่านเฟซบุ๊ก 'พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล' เผยสาเหตุ ทำไมตั้งแต่ปีใหม่นี้ รถยนต์รุ่นใหม่ต้องมีมาตรฐานยูโร 5 ระบุว่า...

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นวันเริ่มบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 สำหรับรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลและรถยนต์ขนาดใหญ่ คือ รถยนต์กระบะ รถบัส รถบรรทุก ทั้งใช้เครื่องยนต์เบนซินและดีเซล

ส่วนมาตรฐานยูโร 5 คืออะไร? หลายคนยังสงสัยว่ายังไง ทำไมต้องยูโร 5?...

หลักใหญ่ใจความของมาตรฐาน ยูโร 5 คือกฎเกณฑ์มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อลดหรือควบคุมมลภาวะทางอากาศ ส่งผลให้การปล่อยมลภาวะออกมาต้องไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยเดิมประเทศไทยใช้มาตรฐานยูโร 4 แต่พอเข้าสู่ปีใหม่นี้ ก็คือยูโร 5 แล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วจะประกาศใช้ตั้งแต่ 2564 แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาด จึงมีการเลื่อนมาเป็น 2567 นั่นเอง

รมว.ปุ้ย กล่าวอีกว่า สำหรับรถยนต์ใหม่ที่ออกมาตามเกณฑ์ยูโร 5 จะต้องมีมาตรฐานที่กำหนดและจะต้องติดตั้งตัวควบคุมหรือตัวกรองฝุ่นละอองจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ นั่นหมายความว่าจะสามารถควบคุมฝุ่นจากการเผาไหม้ลงได้อีกระดับตามมาตรฐานค่ะ โดยมีเกณฑ์ที่จะต้องตรวจวัดและควบคุมเช่น คาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) สารไฮโดรคาร์บอน (HC) สารไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) สารมลพิษอนุภาคและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM) ซึ่งจะมีค่าเกณฑ์ตัวเลขของการตรวจวัด

โดยทาง สมอ.ได้แจ้งปุ้ยมาแล้ว และได้มีการเปิดรับยื่นคำขอตรวจประเมินมาแล้ว มีผู้ผลิตได้ยื่นผ่านระบบ E-License มาตั้งแต่กุมภาพันธ์ ปีที่ผ่านมาแล้วค่ะ และมาจนถึงธันวาคม 2566 มี 50 คำขอจาก 25 ราย สมอ.พร้อมออกใบอนุญาต

รมว.ปุ้ย กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรฐานยูโร 6 มีแผนจะบังคับใช้มาตรฐานนี้กับรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินในวันที่ 1 มกราคม 2568 โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง

กรมควบคุมมลพิษ หนุนใช้ ‘น้ำมันยูโร 5’ เชื่อช่วยลดฝุ่น PM2.5 ได้กว่า 20-24%

(9 ม.ค. 67) นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า พล ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ติดตามการดำเนินงานตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (พื้นที่ที่มีปัญหา/พื้นที่เสี่ยงต่อปัญหาฝุ่นละออง) รวมถึงการควบคุมฝุ่นในเมือง สนับสนุนเร่งรัดการจำหน่ายน้ำมันคุณภาพมาตรฐานยูโร 5 ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ 

ทั้งนี้ เพื่อลดมลพิษจากไอเสียรถยนต์โดยเฉพาะฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันในกลุ่มน้ำมันเบนซิน –แก๊สโซฮอล์ และกลุ่มดีเซล ให้เป็นมาตรฐาน ยูโร 5 โดยโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ไทยออยล์ บางจาก พีทีทีจีซี บางจากศรีราชา ไออาร์พีซี  และเอสพีอาร์ซี พร้อมจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567

สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 5 ทั้งกลุ่มน้ำมันเบนซิน – แก๊สโซฮอล์ และกลุ่มดีเซล จะมีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm (10 ส่วนในล้านส่วนโดยน้ำหนัก) ขณะที่มาตรฐานยูโร 4 จะมีกำมะถันไม่เกิน 50 ppm 

โดยน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร5 สามารถใช้ได้กับรถยนต์ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ และไม่ก่อเกิดปัญหาต่อเครื่องยนต์ จากการทดสอบการปล่อยมลพิษโดยห้องปฏิบัติการตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากยานพาหนะของกรมควบคุมมลพิษ  รถยนต์มาตรฐานยูโร

และรถยนต์มาตรฐานยูโร 4 ซึ่งมีการใช้งานมากที่สุด เมื่อมาใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 5 จะทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 ลดลงถึง 20 – 24%

ในช่วงนี้มีความกดอากาศสูง สภาพอากาศปิด อัตราการระบายอากาศไม่ดี ทำให้ฝุ่นละอองเกิดการสะสมในบรรยากาศจนอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ซึ่งยานพาหนะเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 หลักในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

‘TCMA’ ชู!! ต้นแบบนิเวศนวัตกรรม บรรลุ Net Zero 2050  พร้อมดัน ‘สระบุรี’ ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกในไทย

เมื่อวานนี้ (10 ม.ค.67) ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยว่า TCMA ได้ดำเนินการร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าดำเนินงานของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ที่ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ มุ่งสู่การลดการปล่อยคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ 2050 Net Zero Cement and Concrete Roadmap การนำโรดแมปสู่การปฏิบัติการเปลี่ยนผ่าน

อีกทั้งยังได้แลกเปลี่ยนการดำเนินงานภายใต้แนวคิด Climate Partnership Determination นอกจากนี้ TCMA ได้ร่วมกับ Global Cement and Concrete Association (GCCA) องค์กรด้านซีเมนต์และคอนกรีตระดับโลก นำเสนอความก้าวหน้าดำเนินงาน Decarbonization Action และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกในระดับโลก

ดร.ชนะ กล่าวอีกว่า TCMA นำ 2050 Net Zero Cement and Concrete Roadmap มาสู่การปฏิบัติการเปลี่ยนผ่าน เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero 2050 มีการจัดทำแผนการดำเนินงานที่ลงรายละเอียด และพัฒนานิเวศนวัตกรรมดำเนินงานบูรณาการความร่วมมือเชิงพื้นที่ในจังหวัดสระบุรี ภายใต้ Public-Private-People Partnership (PPP)-Saraburi Sandbox: A Low Carbon City สร้างสระบุรีเป็นต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกในไทย 

PPP-Saraburi Sandbox เป็นการพัฒนารูปแบบความร่วมมือทำงานในเชิงพื้นที่ (Area Base) โดยใช้แนวทาง 3C คือ Communication - Collaboration - Conclusion step-by-step และ 3P คือ Public - Private - People Partnership นำโดยจังหวัดสระบุรี บูรณาการความร่วมมือและร่วมกันกำกับดูแล ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกระดับ ทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ทำงานเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ผ่านโครงการต้นแบบที่สอดคล้องกับ Thailand NDC แผนลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ครอบคลุมมิติด้านนโยบาย กฎหมาย กฎระเบียบ (Policy/ Law/ Regulation) 

อีกทั้ง ด้านแหล่งทุน (Climate Funding) ด้านเทคโนโลยี (Technology) และด้านการกำกับดูแล (Governance) การดำเนินงานด้วยวิธีนี้ จะทำให้โครงการที่ทำด้านลดก๊าซเรือนกระจกมีความชัดเจนและวัดผลได้

สำหรับโครงการภายใต้ PPP-Saraburi Sandbox จะประกอบด้วย 

- การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด (Accelerating Energy Transition) เช่น การจัดหาพื้นที่ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ (Solar Floating) และระบบผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจน การพัฒนาสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Grid Modernization) และการส่งเสริมปลูกพืชพลังงาน เช่น หญ้าเนเปียร์

- การยกระดับเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (Fostering Green Industry & Green Product) ด้วยการศึกษาเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน และส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ หรือปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก รวมถึงการพัฒนาปูนซีเมนต์ที่ผลิตจากนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

- การจัดการวัสดุเหลือใช้ (Turning Waste to Value) ด้วยการนำวัสดุเหลือใช้มาเป็นวัตถุดิบทดแทน หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy: CE)

- การทำเกษตรกรรมคาร์บอนต่ำ (Promoting Green Agriculture) ด้วยการปลูกพืชพลังงานตามโมเดล BCG เช่น การทำนาเปียกสลับแห้ง ลดการใช้น้ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

- การเพิ่มพื้นที่สีเขียว (Increasing Green Space) สนับสนุนการปลูกป่าชุมชนเพิ่ม 38 แห่งทั่วจังหวัด ช่วยดูดซับคาร์บอน ต่อยอดสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิต และสร้างรายได้ให้ชุมชน

"การนำเสนอดังกล่าวอยู่ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (COP28) ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์" 

‘บางจาก’ จับมือ ‘บีทีเอส’ เปิดตัว 'PINTO' เสิร์ฟตลาดเช่าซื้อสองล้อพลังงานสะอาด

(12 ม.ค. 67) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงานเปิดตัวรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Pinto (ปิ่นโต) โดยบริษัท สมาร์ท อีวี ไบค์ จำกัด (Smart EV Bike) บริษัทร่วมทุนของบริษัท วินโนหนี้ จำกัด (Winnonie) บริษัทสตาร์ทอัพในกลุ่มบริษัทบางจาก และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง (วินมอเตอร์ไซค์) ในบริเวณใกล้เคียงสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส

เพื่อสร้างบริการขนส่งสาธารณะระบบรอง หรือ Feeder ที่สะดวก ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ

โดยมีนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และนายกวิน กาญจนพาสน์ และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ผู้บริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมงาน ณ ลานจอดแล้วจร สถานีบีทีเอสหมอชิต อีกทั้งยังมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มาเยี่ยมชมการสาธิตการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ในภายหลัง

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วินโนหนี้เป็นสตาร์ทอัพภายในองค์กรของบางจากเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2563

ด้วยการนำนวัตกรรมพลังงานสีเขียวรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มายกระดับคุณภาพชีวิตของจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ ให้เช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ตอบโจทย์การเข้าสู่ธุรกิจรถไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทบางจาก และเป็นการสร้าง Net Zero Ecosystem หรือระบบนิเวศเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของบริษัทในปี 2593

วินโนหนี้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากวันเริ่มต้นดำเนินงานจนถึงปัจจุบัน โดยมีผู้ใช้งานกว่า 1,000 ราย ผ่านเครือข่ายสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อัตโนมัติจำนวน 120 สถานี ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งถือเป็น Win-Win Solution ใน 3 ด้าน คือ

ช่วยให้ชีวิตผู้ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์ดีขึ้น ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย จากการเช่าใช้จักรยานยนต์ ประมาณเดือนละ 4,000 บาท หรือ 48,000 บาทต่อคนต่อปี รวม 48 ล้านบาทต่อปี

โลกดีขึ้น จากการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด วินโนหนี้วิ่งใช้งานแล้วมากกว่า 42 ล้านกิโลเมตร ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปประมาณ 2 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า อีกทั้งยังช่วยลดมลภาวะทางอากาศ ลดการเกิดฝุ่น PM2.5 และมลภาวะทางเสียง

ประเทศดีขึ้น จากการที่วินโนหนี้ พัฒนาโดยคนไทยในประเทศไทย ทำให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรม การพัฒนาคนและการสร้างงานในประเทศ

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า “ในวันนี้ นับเป็นอีกความก้าวหน้าทางธุรกิจที่สำคัญของวินโนหนี้ ในการร่วมเริ่มต้นธุรกิจให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Pinto กับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส พร้อมบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ผ่านเครือข่ายสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อัตโนมัติของวินโนหนี้ที่ครอบคลุมทั่วทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยเฉพาะสถานีที่จะตั้งเพิ่มเติมตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอสเพื่อให้เกิดความสะดวกและเพียงพอต่อการใช้งานมากขึ้น

เพื่อให้ผู้โดยสารบีทีเอสมีประสบการณ์การเดินทางแบบ First Mile to Last Mile ด้วยพลังงานสะอาด คือสามารถเดินทางออกจากบ้านจนถึงกลับเข้าบ้านด้วยการบริการขนส่งสาธารณะที่ใช้ไฟฟ้าตลอดเส้นทาง”

“การใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีโอกาสเติบโตอีกมาก หากได้รับการสนับสนุนและผลักดันจากหน่วยงานภาครัฐในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การสนับสนุนค่าพลังงานไฟฟ้าในราคาพิเศษสำหรับสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ การจัดตั้งหน่วยงานกลางแบบ One Stop Service ในการขออนุมัติการติดตั้งมิเตอร์ หรือ การพิจารณากฎหมาย เช่น กฎหมายขนส่ง การจดทะเบียนป้ายเหลือง การจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า กฎหมายเกี่ยวกับวินเพื่อรองรับการขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้า”

“รวมถึงการสนับสนุนการขึ้นทะเบียนและการทำ Carbon Credit Certificate และมาตรการสนับสนุนอื่นๆ อาทิ การทำประกันภัยสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า การให้ใช้พื้นที่หน่วยงานภาครัฐหรือกรุงเทพมหานคร เพื่อทำจุดติดตั้งสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ โดยไม่คิดค่าเช่าพื้นที่หรือในอัตราพิเศษ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และทุนวิจัยและพัฒนา”

สำหรับ วินโนหนี้ ที่มุ่งมั่นเป็นผู้นำการให้บริการแพลตฟอร์มการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ Battery as a Service (BaaS) สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานจากกว่า 1,000 รายและสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ 120 แห่ง ณ สิ้นปี 2566 เป็นผู้ใช้งาน 60,000 ราย และสถานี 3,000 แห่งในปี 2573

เดินหน้าส่งเสริมการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ สนับสนุนการยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคม รวมถึงรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของประเทศและของโลก ผ่านประสบการณ์การขับขี่ที่ดีต่อเราและต่อโลก

‘มอริส ลาครัวซ์’ เปิดตัว ‘นาฬิการักษ์โลก’ ผลิตจากขวดพลาสติก ลวดลายไม่ซ้ำ-ฟังก์ชันครบครัน มั่นใจ!! ยอดขายหมดใน 1 เดือน

(14 ม.ค.67) นายรวิศ เหตานุรักษ์ Manager Area Sales Indochina of Maurice Lacroix เปิดเผยว่า มอริส ลาครัวซ์ เปิดตัวนาฬิกา AIKON #tide Camo (ไอคอน ไทด์ คาโม) ปี 2567 ซึ่งเป็นคอลเลกชันใหม่ล่าสุดเพื่อจัดจำหน่ายทั่วโลก โดยผลิตออกมาเพียงรุ่นละ 1,000 เรือน จำนวน 4 สี ได้แก่ สีฟ้า storm blue, สีเขียว green park, สีน้ำตาลอ่อน frappucino beige และ ชมพู arctic pink ในประเทศไทยนำเข้ามาจัดจำหน่ายเพียงรุ่นล่ะ 30 เรือน ราคาเรือนละ 29,900 บาท

สำหรับนาฬิการุ่นดังกล่าวอยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่ต้องการให้โลกยั่งยืน มีคุณสมบัติเดียวกันกับนาฬิการุ่นอื่นๆ ในตระกูล AIKON โดยเฉพาะคุณภาพแบบสวิส มีความเที่ยงตรง สะดวกสบาย และให้ความคุณค่าแก่ผู้สวมใส่สูงสุด สะท้อนผ่านการเปิดตัวเป็นนาฬิการักษ์โลกมาแล้ว 2 ปี นับตั้งแต่ปี 2565-2566 เมื่อครั้งประกาศความร่วมมือกับ #tide ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการใช้ประโยชน์ของขยะพลาสติกในทะเล ทั้งได้เข้าร่วมกับ #tide ในโครงการระยะยาวเพื่อเก็บขยะพลาสติกจากท้องทะเลรอบหมู่เกาะต่าง ๆ ในประเทศไทย รวมถึงในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ทำให้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2565 อัตราการเติบโตเฉพาะในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 400% ถือว่าประสบความสำเร็จสูงสุด

สำหรับนาฬิกา AIKON #tide Camo ต้องใช้ขวดพลาสติกจำนวน 17 ขวดในการผลิตนาฬิกาไอคอน ไทด์ คาโม หนึ่งเรือนพร้อมบรรจุภัณฑ์ จะใช้เทคนิคทำพิเศษด้วยการอัดเม็ดวัสดุ #tide แยกแต่ละสีในการสร้างลวดลายบนสายนาฬิกา ฉะนั้นลายคาโมในแต่ละเรือนจึงไม่ซ้ำกัน ที่สำคัญสุดคือ สีสันและลวดลายไม่ลบเลือนหายไป แม้ผ่านการใช้งานไปตามกาลเวลา บนตัวเรือนมีขนาด 40 มม. หน้าปัดของทุกเรือนมีรายละเอียดบนพื้นผิวเป็นเอกลักษณ์ ที่เรียกกันว่า ‘vagues du Jura’ (วากส์ ดู ฌูรา) เพื่อระลึกถึงที่มาจาก Franches Montagne ส่วนเข็มชั่วโมงและนาทีพร้อมหลักชั่วโมง เคลือบสารเรืองแสง Super-LumiNova ช่วยอ่านค่าในที่แสงน้อยได้ พร้อมแสดงช่องวันที่ในตำแหน่ง 3 นาฬิกา ถือเป็นฟังก์ชันการใช้งานอย่างครบครัน

“กระแสการตอบรับของนาฬิการุ่นนี้ค่อนข้างเป็นไปในทิศทางที่ดี คาดว่าทั้ง 30 เรือนในแต่ละรุ่นในประเทศไทยน่าจะขายหมดโดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน และปีนี้จะได้เห็น มอริส ลาครัวซ์ ผลิตนาฬิกาโดยใช้วัสดุพิเศษมากขึ้น โดย AIKON ยังเป็นตัวหลักที่จะทำการตลาดให้เติบโตต่อไปได้อีก” นายรวิศ กล่าว

นายรวิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า นาฬิกาไอคอน ไทด์ คาโม มาพร้อมกับสายนาฬิกายางประทับตัว M มีลวดลายไม่ซ้ำกันในแต่ละสาย ทำให้นาฬิกาแต่ละเรือนมีความโดดเด่นในตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้นยังมีระบบ Easy Strap Exchange ของมอริส ลาครัวซ์ ทำให้สามารถสลับสายนาฬิกาได้ง่ายโดยไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์

นายสเตฟาน วาเซอร์ (Stéphane Waser) กรรมการผู้จัดการบริษัทมอริส ลาครัวซ์ กล่าวว่า AIKON #tide Camo เป็นนาฬิกาธีมคาโมที่มีสไตล์อย่างมาก เมื่อได้รวมเอาเทคโนโลยีการผลิต #tide ที่แปลกใหม่เข้าไว้ด้วยกันทั้งหมด และลวดลายผ้าในแบบลายพรางหรือคาโมมักจะนำมาใช้บนแคทวอล์คทั่วโลกเป็นประจำ เป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยในเมืองใหญ่หลายเมือง เมื่อได้เห็นลายคาโมแพร่กระจายไปทั่วรู้สึกได้ว่านาฬิกาไอคอน ไทด์ คาโม จะสามารถเสริมลุคผู้สวมใส่ได้อย่างโดดเด่น ยิ่งไปกว่านั้นในการเปิดตัวนาฬิการุ่นนี้ ยังสามารถแสดงถึงวิถีแห่งความยั่งยืนในการผลิตนาฬิกา และความเชี่ยวชาญในการผลิตนาฬิกาแบบสวิสของมอริส ลาครัวซ์

‘รัฐ’ เร่งปลดล็อก ‘โซลาร์รูฟท็อป’ ไม่ต้องขอใบอนุญาตโรงงาน ตอบรับความต้องการใช้พลังงานสะอาด แทนพลังงานฟอสซิล

(15 ม.ค. 67) นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการประสานข้อมูลกับภาคเอกชน อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคศูนย์การค้า ภาคโรงแรม และภาคบริการ พบว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 

ขณะที่ต้นทุนการติดตั้งโซล่าเซลล์มีราคาที่ถูกลง ทำให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจที่ประสงค์จะติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท๊อป (Solar Rooftop) เป็นจำนวนมาก เช่น อาคารโรงงาน ศูนย์การค้า โรงแรม มหาวิทยาลัย เป็นต้น 

ซึ่งตามกฎหมายโรงงานเดิมกำหนดว่าการติดตั้ง Solar Rooftop ที่มีกำลังผลิตเกินกว่า 1,000 กิโลวัตต์ หรือ 1 เมกะวัตต์ เข้าข่ายเป็นโรงงานต้องขอรับใบอนุญาต

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการผลิตโซล่าเซลล์มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณมากโดยใช้จำนวนแผงเซลล์แสงอาทิตย์หรือพื้นที่ติดตั้งลดลงกว่าเดิมถึง 2.7 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2557 อีกทั้งยังมีมาตรฐานควบคุมด้านความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

"การปลดล็อคดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจจากการติดตั้ง Solar Rooftop ได้ง่ายขึ้น ยังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 500 tCO2/เมกะวัตต์/ปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 62,500 ต้น นับเป็นการผลักดันให้ผู้ประกอบการเกิดการขับเคลื่อนทางธุรกิจอย่างสมดุลและยั่งยืนใน 4 มิติ ทั้งด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจต่าง ๆ ส่งเสริมการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) การได้รับการยอมรับจากสังคม ความลงตัวกับกติกาสากล ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อโอกาสทางธุรกิจตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก และการกระจายรายได้สู่ชุมชนจากการขยายตัวของธุรกิจติดตั้งโซล่าเซลล์"

นอกจากนี้ การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดดังกล่าว จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 ของประเทศไทยต่อไป

'กระทรวงพลังงาน' ลุย!! 'ไฟฟ้าสีเขียว' แพงกว่าแต่รักษ์โลก เตรียมเปิดขายให้โรงงานอุตฯ ขนาดใหญ่ช่วง ก.พ. 2567

​’พีระพันธุ์’ เดินหน้า ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ ต่อเนื่อง ล่าสุดสร้างมาตรฐาน ‘ไฟฟ้าสีเขียว’ เป็นครั้งแรกในไทย หนุนนโยบายรัฐบาลต้อนรับการลงทุนข้ามชาติขยายฐานเข้าไทย ลดอุปสรรคข้อกีดกันภาษีคาร์บอนข้ามแดนให้ผู้ประกอบการไทย

(16 ม.ค.67) ​นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน มีความพร้อมในการจัดหา ‘ไฟฟ้าสีเขียว’ หรือไฟฟ้าที่มีกระบวนการผลิตจากพลังงานสะอาด อย่างมีมาตรฐาน พร้อมด้วยกลไกการรับรองมาตรฐานแหล่งที่มาซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมั่นใจว่าจะมี ‘ไฟฟ้าสีเขียว’ ในปริมาณเพียงพอสนองตอบต่อความต้องการ และรองรับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเร่งรัดและเพิ่มปริมาณการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

​“เป็นครั้งแรกที่ไทยจะมีกระบวนการผลิต จัดหา และรับรองไฟฟ้าสีเขียวใช้ และผมมั่นใจว่าประเทศไทย มีความพร้อมด้านการให้บริการไฟฟ้าสีเขียวเพื่อรองรับความต้องการพลังงานของธุรกิจ หรือบริษัทข้ามชาติที่ต้องการขยายการลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ทั้งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ขจัดอุปสรรคด้านการค้า การลงทุน จากภาษีคาร์บอนข้ามแดน (CBAM) ได้เป็นอย่างดี” นายพีระพันธุ์ กล่าวระหว่างการแถลงข่าว ‘เดินหน้าพลังงานสะอาด Utility Green Tariff ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และการลงทุน’

​นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า รัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ตระหนักดีถึงความต้องการใช้พลังงานสีเขียวของภาคธุรกิจ รวมถึงพันธกิจของรัฐบาลในการขับเคลื่อนภาคพลังงานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงมีโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผน PDP เพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดในระบบอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในขณะนี้สามารถจัดให้มีการให้บริการสองรูปแบบ ทั้งแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวจะไม่สามารถเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัญญาบริการ และแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเจาะจงแหล่งที่มาได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การให้บริการไฟฟ้าสีเขียว โดยเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถรับรู้แหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัญญาบริการได้ พร้อมระบบใบรับรองการผลิตไฟฟ้าสีเขียวที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวทุกกลุ่ม ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการ กกพ. ที่สนับสนุนและร่วมกันทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนอย่างต่อเนื่อง

​นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การจัดหาไฟฟ้าสีเขียวด้วยกระบวนการรับรองอย่างมีมาตรฐาน และมีปริมาณเพียงพอรองรับแนวโน้มความต้องการพลังงานสะอาดของภาคอุตสาหกรรมไทยและต่างชาติ นอกจากจะเป็นการยกระดับภาคการผลิตของอุตสาหกรรมไทยให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว ยังจะเป็นการสร้างความได้เปรียบและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ สร้างโอกาสให้กับประเทศในการเป็นฐานการผลิตรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่จากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

​“กระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 รวมถึงส่งเสริมการประกอบกิจการอุตสาหกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) และโครงการ UGT ของภาครัฐจะเป็นการต่อยอดและยกระดับอุตสาหกรรมให้สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้มากยิ่งขึ้น” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

​นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กกพ. ได้ประกาศหลักเกณฑ์การให้บริการและการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแล้ว และอยู่ระหว่างนำ (ร่าง) ข้อเสนออัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวซึ่งกำหนดภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งจะเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่จะเปิดบริการไฟฟ้าสีเขียวให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนได้อย่างเป็นทางการ

​“ในการเตรียมความพร้อมในการจัดหาไฟฟ้าสีเขียว อัตราค่าบริการ และมาตรฐานกระบวนการรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียว กกพ. ได้ทยอยดำเนินการมาเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าพลังสะอาดภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) กว่า 4,800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573  ควบคู่ไปกับการออกแบบกำหนดหลักเกณฑ์การคิดอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว และแนวทางการกำกับดูแลให้กระบวนการบริหารจัดการและรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียวให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานสากล ซึ่งขณะนี้เสร็จเรียบร้อยทั้งหมด และพร้อมให้การไฟฟ้าให้บริการแล้ว” นายเสมอใจ กล่าว

​สำหรับขั้นตอนสำหรับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวนั้น การไฟฟ้าซึ่งเป็น
ผู้ให้บริการในแต่ละพื้นที่จะประกาศให้ทราบต่อไป

​อย่างไรก็ตาม การประกาศโครงการ UGT นับเป็นจุดเริ่มต้นโดยภาครัฐ เพื่อให้ผู้ให้บริการพลังงานทุกภาคส่วนเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน ในระยะเริ่มต้นอาจยังมีข้อจำกัด โดย กกพ. เล็งเห็นว่าจะสามารถขยายโครงการนี้ให้ครอบคลุมความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าได้หลากหลายขึ้นและปรับปรุงข้อจำกัดต่างๆ ในระยะถัดไปได้ โดยอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงต้องได้รับความเห็นและเสียงสะท้อนจากผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวด้วย

จับตาเทรนด์ ‘ซื้อ-ขาย’ น้ำมันใช้แล้ว สู่การผลิต SAF ลดปล่อยคาร์บอนฯ สูงถึง 80% เมื่อเทียบเชื้อเพลิงปกติ

น้ำมันพืชใช้แล้ว ไม่ว่าจะทอดหรือผัด อาจเป็นสิ่งของที่ต้องนำไปทิ้งเพราะการใช้ซ้ำอาจหมายถึงอันตรายต่อสุขภาพ แต่จากนี้ไปสิ่งเหลือทิ้งอย่างน้ำมันใช้แล้วกำลังจะมีมูลค่า จากการกำหนดราคารับซื้อในตลาดทั่วไป

สาเหตุที่ของเหลือทิ้งนี้กลายเป็นสินค้ามีราคาเพราะน้ำมันพืชใช้แล้วเหล่านี้จะนำไปผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน : Sustainable Aviation Fuel (SAF) ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงถึง 80%เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงโดยปกติ อีกทั้ง สามารถใช้ผสมในน้ำมันเครื่องบินในปัจจุบัน (Jet A1) ได้ทันทีและมีความปลอดภัย และสอดคล้องกับเป้าหมายองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)และสมาคมการบินระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) รวมถึงสหภาพยุโรป (อียู) สู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซโลกร้อนเป็นศูนย์ (net zero goal) ในอุตสาหกรรมการบินพลเรือนภายในปี ค.ศ. 2050

สำหรับกลไกการซื้อน้ำมันพืชใช้แล้ว มีความพยายามสร้างเครือข่ายที่ชัดเจนและน่าสนใจมาก

(17 ม.ค. 67) ธรรมรัตน์ ประยูรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและค้าน้ำมัน บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามสัญญาร่วมทุนโดยการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัท ธนโชคน้ำมันพืช (2012)จำกัด จนมีทุนจดทะเบียน60ล้านบาท โดยบางจากฯ ถือหุ้นในสัดส่วน45%ซึ่งการร่วมทุนนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการบริหารจัดการน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (Used Cooking Oil, UCO)วัตถุดิบในการผลิตน้ำมันอากาศยานSAFของ บริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ธนโชค ออยล์ ไลท์ จำกัด 

“ล่าสุดได้ร่วมมือกับบริษัท สปาเก็ตตี้แฟคทอรี่ จำกัดผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารSpaghetti Factoryและร้านอาหารในเครือ10สาขา รวบรวมน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว เพื่อนำไปผลิตน้ำมันอากาศยานยั่งยืน”

ด้านผู้ใช้น้ำมันอย่างสายการบินแห่งชาติอย่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)ร่วมมือกับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) นำเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน ใช้นำร่องกับเที่ยวบินของการบินไทยในเส้นทางภูเก็ต-กรุงเทพฯ 

อย่างไรก็ตาม แม้สัญญาณการผลิตและใช้น้ำมันSAF จะมีการตื่นตัวอย่างเห็นได้ชัดแต่ในทางปฏิบัติจริงถนนแห่งความยั่งยืนก็ยังไม่ราบรื่นสดใสนักแม้จะปูด้วยก้อนเมฆบนท้องฟ้าก็ตาม

กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่าเป้าหมายของ ทอท.ต้องการเป็น Net Zero ภายใน 10 ปี  กลยุทธ์ที่หนึ่ง คือการส่งเสริมและผลักดันน้ำมันเชื้อเพลิงยั่งยืน ซึ่ง ปัจจุบันยังไม่มีผลิตในไทยปัจจุบัน จึงมีราคาแพงกว่าเชื้อเพลิงปกติประมาณ 8 เท่า 

ดังนั้น ทอท.จะมองหาพันธมิตรในการพัฒนา SAF ในไทย เพื่อให้ต้นทุนลดลงเหลือ 2.2 เท่า เป็นโอกาสให้สายการบินได้ใช้ และไม่ถูกกีดกันการค้าจากยุโรปที่ให้ความสำคัญในเรื่องการใช้น้ำมัน SAF

“ปัจจุบันหลายประเทศในยุโรปมีเงื่อนไขกำหนดว่าภายในปี 2025 สายการบินต้องมีน้ำมัน SAF ผสมอยู่ในกระบวนการผลิตน้ำมันเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการบินราว 2% และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกปี ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของไทยที่จะพัฒนาน้ำมันนี้ ทำให้การลงทุนและสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ แต่ส่วนสำคัญจะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน”

ด้านชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมัน SAF ในฝูงบินของการบินไทย โดยได้เริ่มต้นใช้น้ำมัน SAF ในปีนี้ปริมาณ 1.6 ล้านตัน และจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2025 ปริมาณ 2.2 ล้านตัน ซึ่งผลแตกต่างของการใช้น้ำมัน SAF และน้ำมันเชื้อเพลิงปกติ หากใช้น้ำมัน SAF 1% จะมีส่วนต่างต้นทุนเพิ่มขึ้น 1.5 พันล้านบาท ดังนั้นหากการบินไทยเพิ่มปริมาณน้ำมัน SAF 10% ก็ต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 1.5 หมื่นล้านบาท

“โรดแมปของการบินไทย 2025 จะต้องใช้ SAF 2% ของปริมาณน้ำมันที่ใช้การบินทั้งหมด และเพิ่มต่อเนื่องเพื่อผลักดันเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 โดยอาจจะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 60% แต่เป้าหมายเหล่านี้ปัจจุบันยังไม่มีการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐ โดย SAF ราคาต้นทุนในสิงคโปร์สูงกว่าน้ำมันปกติ 3 เท่ากว่า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของสายการบินเพิ่มขึ้น”

ถึงเวลานี้ทุกฝ่ายต้องทำความเข้าใจว่าน้ำมัน SAF และช่วยกันทำให้ต้นทุนจับต้องได้เพื่อร่วมกันใช้และผลักดันสู่เป้าหมายความยั่งยืนให้ได้ ไม่ใช่เพื่อใครแต่เพื่อเราทุกคน อย่างน้อยก็รู้ว่าน้ำมันใช้แล้วอย่าทิ้งขายได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top