Sunday, 16 June 2024
ไต้หวัน

ทึ่ง!! ‘ไทเป 101’ มี ‘ลูกต้มยักษ์’ น้ำหนัก 660 ตัน เทียบเท่าช้าง 132 ตัว ช่วยป้องกันตึกถล่ม จากเหตุแผ่นดินไหว ชี้ ถือเป็นสถานที่ปลอดภัยที่สุด

เมื่อไม่นานมานี้ จากช่องติ๊กต็อก jadeforyouofficial ได้โพสต์คลิปขณะไปเยือน Taipei 101 ตึกที่สูงที่สุดในไต้หวัน และยังมีอีกหนึ่งความพิเศษนั่นก็คือ ‘ลูกตุ้มยักษ์’ หรือ Tuned Mass Damper หัวใจหลัก ถ้าหากเกิดเหตุ ‘แผ่นดินไหว’ ที่ตรงนี้จะเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุดในไต้หวันเลยก็ว่าได้ โดยในคลิประบุว่า…

Taipei 101 คือตึกที่สูงที่สุดในไต้หวัน และเคยสูงที่สุดในเอเชีย มีทั้งหมด 101 ชั้น และมีความพิเศษอย่างนึงที่หลายตึกสูง ๆ ไม่มี นั่นก็คือ ‘การทนกับแผ่นดินไหว’ ที่ถึง 7 ริกเตอร์

แต่ก่อนจะเข้าถึงเรื่องนี้ ไต้หวันเป็นประเทศที่มีภูเขาเยอะมาก สำหรับพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ราบ มีแค่ประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่โดยรวม และคือ 2 ใน 3 นี้เป็นภูเขาหมดเลย ดังนั้น ผู้คนต้องอยู่กับธรรมชาติ ซึ่งถือว่าเป็นอะไรที่ท้าทายอย่างมาก เพราะจะทํายังไงให้ใช้พื้นที่ที่มีอยู่จํากัดให้เกิดประโยชน์ที่สุด ซึ่งคนไต้หวันเลยเป็นอีกหนึ่งชาติในโลกที่เทียบเท่ากับคนญี่ปุ่น เนื่องจากต้องสู้กับสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ

ถัดมาที่ชั้น 91 ซึ่งจะเป็นแบบเปิด และสามารถรับลมได้ 400 เมตร โดยมุมนี้จะมองเห็นเลยว่าไต้หวันถือว่าเป็นประเทศที่มีความเจริญในระยะเวลาที่ไม่นาน เนื่องจากตึกเต็มไปหมด ถือเป็นความมหัศจรรย์ของมนุษย์จริง ๆ นอกจากนี้ การจัดวางแบบลักษณะภูเขาสูงและตึกสลับกันไปมา ซึ่งเราจะไม่ค่อยเห็นกันมากนัก

อย่างไรก็ตาม ถัดมาที่ไฮต์ไลท์เด็ดภายในตึก Taipei 101 ที่มี ‘ลูกตุ้มยักษ์’ หรือ Tuned Mass Damper อยู่ด้วย ซึ่งเวลาแผ่นดินไหว เจ้าลูกบอลใบนี้ มันก็จะเคลื่อนตัว โดยมีการแกว่งไปมา ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าแผ่นดินไหวไปทางด้านไหน โดยมีน้ำหนัก 660 ตัน เท่ากับช้างประมาณ 132 ตัว ฉะนั้นถ้าเกิดแผ่นดินไหวที่ตรงนี้จะเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุดในไต้หวัน ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลักเลยทีเดียว…และถ้าหากตึกต่าง ๆ ในโลกมีแบบนี้ ก็จะสามารถช่วยรับแรงเคลื่อนไหวของ ‘แผ่นดินไหว’ ได้เช่นกัน

สำหรับตึกต่าง ๆ อาจจะรับน้ำหนัก รับแรงสั่นสะเทือนไม่ได้มาก แต่สำหรับตึก Taipei 101 นี้การสร้างของเขาคือสร้างมาเพื่อป้องกันแผ่นดินไหวโดยเฉพาะ และยังมีเคเบิ้ลทองที่เป็นตัวรองรับน้ำหนักของเจ้าลูกต้มนี้อีกที่นึง ส่วนข้างล่างก็มี Choke ซึ่งไม่ใช่ว่าจะแกว่งไปไหนก็ได้ และถ้าหากถูกแกว่งไปด้านไหน มันก็จะรับน้ำหนักแล้วก็จะกลับมาด้านเดิม

'ไต้หวัน' เตรียมรื้อถอน อนุสาวรีย์ 'เจียง ไคเชก' ทั่วประเทศ หวังล้างภาพลักษณ์เผด็จการ ยุคแห่งความน่าสะพรึงสีขาว

รัฐบาลไต้หวันประกาศที่จะรื้อถอนอนุสาวรีย์ เจียง ไคเชก ประธานาธิบดีคนแรกของไต้หวัน ที่มีอยู่ถึง 760 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงอนุสรณ์สถานใหญ่ที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงไทเปด้วย ท่ามกลางการถกเถียงกันมาอย่างยาวนานถึงภาพลักษณ์ 2 ขั้วอันย้อนแย้งว่า เจียง ไคเชก เคยเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำที่ต่อต้านกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น และ ลัทธิคอมมิวนิสต์จีน-โซเวียต จนนำไปสู่การก่อตั้งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในเวลาต่อมา 

แต่ในอีกแง่หนึ่งเขาก็เป็นผู้นำเผด็จการทหาร ที่ปกครองไต้หวันด้วยกฏอัยการศึกยาวนานถึง 38 ปี โดยที่ใช้ความรุนแรงปราบปรามกลุ่มต่อต้านอย่างโหดเหี้ยมตลอดระยะเวลาที่ครองอำนาจในไต้หวัน

แม้จะถูกยกย่องให้เป็นบิดาแห่งไต้หวัน แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ชาวไต้หวันรุ่นใหม่รู้สึกไม่สบายใจกับการมีอยู่ของอนุสาวรีย์ เจียง ไคเชก จนทำให้ไต้หวันถูกมองว่าเป็นเกาะแห่งอนุสรณ์สถานของ เจียง ไคเชก และเรียกร้องให้รื้อถอนอนุสาวรีย์ของอดีตผู้นำคนสำคัญออกไป 

จนเมื่อปี พ.ศ. 2561 รัฐบาลไต้หวันได้จัดตั้งคณะกรรมการยุติธรรมเพื่อสอบสวนเรื่องราว และหลักฐาน การปกครองในช่วงสมัยของ เจียง ไคเชก ตั้งแต่เพิ่งเข้ามามีบทบาททางการเมือง จนถึงปีที่เขาถึงแก่อสัญกรรมในปี 2518 

และหนึ่งในข้อเสนอคือ การรื้อถอนรูปปั้นนับพันของเจียง ไคเชก จากทุกพื้นที่สาธารณะของไต้หวัน และในวันที่ 22 เม.ย.67 สภาไต้หวันก็ได้ออกมายืนยันอีกครั้งว่าจะเร่งรื้อถอนอนุสาวรีย์ที่ยังเหลืออยู่อีก 760 แห่ง ออกไปให้เร็วที่สุด เพื่อตอบสนองต่อเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ของประชาชนว่าดำเนินการช้าเกินไป 

ส่วนรูปปั้นที่ใหญ่ที่สุดของ เจียง ไคเชก ตั้งอยู่ที่ อนุสรณ์สถานใจกลางกรุงไทเป ที่เป็นเหมือนจุดไฮไลต์ของนักท่องเที่ยว มีแผนที่จะย้ายไปตั้งไปรวมกันในสวนสาธารณะแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของกรุงไทเป ที่จะเก็บรวบรวมรูปปั้น เจียง ไคเชก ที่ถูกรื้อถอนไปแล้วนับพันมาไว้รวมกัน

ทั้งนี้ การถอดถอนอนุสาวรีย์ของ เจียง ไคเชก เคยเป็นประเด็นถกเดือดในสภาไต้หวันอยู่ช่วงหนึ่ง เมื่อพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ซึ่งปัจจุบันเป็นฝ่ายรัฐบาลมีความเห็นว่า ไต้หวันควรถอยห่างจากประเพณีการไว้อาลัยอดีตผู้นำผู้ก่อตั้งไต้หวันได้แล้ว เพราะ เจียง ไคเชก มีภาพลักษณ์ผู้นำเผด็จการทหาร ที่ใช้อำนาจปกครองไต้หวันมานานถึง 46 ปี

แต่ฝ่ายพรรคก๊กมินตั๋งของอดีตผู้นำ เจียง ไคเชก ที่เป็นฝ่ายค้าน ตอบโต้ว่า ชาวไต้หวันก็ไม่ควรลืมเกียรติยศต่าง ๆ ที่ เจียง ไคเชก เคยทำไว้ในการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น เพื่อรวมชาติจีนให้กลับมาเป็นปึกแผ่น และการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ต้องการแผ่อิทธิพลเหนือเกาะไต้หวัน การรื้อถอนอนุสาวรีย์ เจียง ไคเชก จึงไม่ต่างจากความพยายามลบประวัติศาสตร์อันเป็นรากเหง้าของชาวไต้หวัน

สำหรับ เจียง ไคเชก เป็นทั้งนักการเมืองฝ่ายชาตินิยม และผู้นำทหารที่เคยร่วมคณะปฏิวัติของ ด็อกเตอร์ ซุน ยัตเซ็น ผู้มีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติซินไฮ่ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่สู่ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ และยังเป็นผู้นำทัพต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

แต่เมื่อสงครามสิ้นสุดลงหลังความพ่ายแพ้ของจักรวรรดิญี่ปุ่น เจียง ไคเชก กลับต้องเผชิญหน้ากับสงครามกลางเมือง กับกองกำลังฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่นำโดย เหมา เจ๋อตง และสุดท้ายเขาพ่ายแพ้ เจียง ไคเชก ตัดสินใจพาคณะรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง มาสถาปนาสาธารณรัฐจีนพลัดถิ่นบนเกาะไต้หวันในปี พ.ศ. 2492 

หลังจากนั้น เจียง ไคเช็ก ใช้กฏอัยการศึกปกครองไต้หวัน ที่มีการปราบปรามศัตรูทางการเมือง และผู้ที่เห็นต่างอย่างโหดเหี้ยม จนถูกยกให้เป็นยุคแห่งความน่าสะพรึงสีขาวของไต้หวัน (白色恐怖) ซึ่งช่วงเวลาของการใช้กฎอัยการศึกในไต้หวันกินเวลานานถึง 38 ปี ที่มีผู้คนมากถึง 140,000 คนถูกจำคุก และเกือบ 4,000 คนถูกประหารชีวิตจากข้อหาต่อต้านรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง ของ เจียง ไคเชก

แต่ในขณะเดียวกัน ชาวไต้หวันบางส่วนก็มองว่า เจียง ไคเชก ก็มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และความเจริญรุ่งเรืองของไต้หวัน อีกทั้งยังเป็นผู้วางรากฐานระบบการเมืองที่เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยได้อย่างสมบูรณ์ในปัจจุบัน 

ดังนั้น เกียรติยศของ เจียง ไคเชก จึงเหมือนเหรียญ 2 ด้าน ในมุมมองของกลุ่มอนุรักษ์นิยม มองว่าเรื่องราวที่ผ่านมาเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติ ที่ชาวไต้หวันไม่สามารถเลือกที่จะลบทิ้งด้านใด ด้านหนึ่งได้ แต่ในส่วนของฝ่ายเสรีนิยมก็มองว่า ไต้หวันก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์นั้นมานานแล้ว และสัญลักษณ์ของการบูชาเผด็จการอำนาจนิยม ก็ไม่ควรเป็นมรดกที่สืบทอดให้กับคนรุ่นลูก 

แต่เมื่อวันนี้ฝ่ายรัฐบาลไม่ใช่พรรคก๊กมินตั๋ง การรื้อถอนอนุสาวรีย์ เจียง ไคเชก จึงต้องดำเนินต่อไป เพราะเชื่อว่าไต้หวันยุคใหม่ควรก้าวไปข้างหน้าบนพื้นฐานอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องทิ้ง เจียง ไคเชก อดีตผู้นำเผด็จการทหารผู้ที่เคยสร้างชาติไว้ข้างหลัง 

'แอร์ฯ EVA AIR' สุดยอด!! เอาตัวขวางห้ามมวยผู้โดยสารก่อศึกเปลี่ยนที่นั่ง ต้นสังกัดชมรับมือเหตุการณ์ได้ดี คลี่คลายศึก-แยกคู่ก่อเหตุให้สงบลงได้

เป็นคลิปเหตุการณ์สุดชุลมุนที่เกิดขึ้นบนเที่ยวบินโดยสารเที่ยวบินที่ BR08 ของสายการบิน EVA Air ของไต้หวัน หลังเดินทางออกจากกรุงไทเปของไต้หวัน เพื่อมุ่งหน้าไปยังนครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อผู้โดยสารชาย 2 คน เกิดมีปากเสียงถึงขั้นลงไม้ลงมือชกต่อยกัน จนแอร์โฮสเตสสาวต้องเข้ามาทำหน้าที่เป็นกรรมการห้ามมวยด้วยการเอาตัวเองเข้าขวางห้ามปรามและสั่งให้ทั้งสองฝ่ายหยุดชกต่อยกัน เรียกว่าทำเอาแอร์โฮสเตสเหนื่อยหอบ ก่อนที่สถานการณ์จะสงบลง

สถานีโทรทัศน์ TVBS และ SET News รายงานอ้างการเปิดเผยของสายการบิน EVA Air ถึงเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นบนเที่ยวบินดังกล่าวว่า เหตุการณ์ชุลมุนดังกล่าวเกิดขึ้นราว 3 ชั่วโมง เมื่อผู้โดยสารชายคนหนึ่งตัดสินใจจะเปลี่ยนที่นั่ง เนื่องจากผู้โดยสารที่นั่งติดกับตนเองส่งเสียงไอ แต่ผู้โดยสารชายอีกคนคัดค้าน เนื่องจากที่นั่งที่ผู้โดยสารชายคนแรกจะเปลี่ยนไปนั่งนั้นไม่ได้ว่าง เพราะมีเจ้าของที่นั่งอยู่แล้ว จึงเกิดปากเสียงและมีการชกต่อยกันเกิดขึ้น

ในคลิปวิดีโอเหตุการณ์ดังกล่าวความยาวราว 1 นาที ที่มีการโพสต์ลงแพลตฟอร์มเอ็กซ์ จะได้ยินเสียงกรีดร้องบอกให้ “หยุด” “ขยับไป” และ “อย่าจับ” ท่ามกลางหมัดที่ถูกปล่อยออกมาซัดกันนัว ก่อนที่ผู้โดยสารชายคู่กรณีทั้งสองจะสงบลง หลังเหล่าแอร์โฮสเตสเข้าห้ามทัพและผู้โดยสารคนอื่น ๆ เข้าช่วยยื้อยุดฉุดห้ามด้วย หลังสถานการณ์คลี่คลายลงทั้งคู่ได้ถูกจับให้นั่งแยกห่างจากกัน

หลังนักบินประเมินสถานการณ์ว่าไม่ได้อยู่ในภาวะอันตรายแล้ว จึงนำเที่ยวบินมุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทางเดิมที่นครซานฟรานซิสโกต่อไป โดยไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้นอีก

เมื่อเครื่องบินลงจอดถึงสนามบินในนครซานฟรานซิสโก ผู้โดยสารที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาทกันทั้งคู่ถูกส่งมอบตัวให้กับตำรวจสหรัฐและการสอบสวนได้ดำเนินต่อไป จากการเปิดเผยของสายการบิน EVA Air ที่บอกกับสื่อไต้หวันในภายหลังด้วยว่า ทางบริษัทไม่มีนโยบายอดกลั้นต่อเหตุการณ์ในลักษณะนี้ พร้อมกับชื่นชมการปฏิบัติหน้าที่ของเหล่าแอร์โฮสเตสสาวบนเที่ยวที่ทำได้อย่างดีในการเข้าแทรกแซงสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดนี้ได้อย่างทันท่วงที โดยทางบริษัทยังจะพิจารณามอบรางวัลให้อีกด้วย

จับตา ‘ไล่ ชิงเต๋อ’ สาบานตนเป็น ‘ปธน.ไต้หวัน’  สื่อจีนเตือนสัมพันธ์ข้ามช่องแคบส่อตึงเครียดหนัก

(20 พ.ค.67) รอยเตอร์ รายงานว่า ไล่ ชิงเต๋อ (Lai Ching-te) ได้เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันอย่างเป็นทางการวันนี้ (20 พ.ค.) ท่ามกลางท่าทีข่มขู่จากจีนซึ่งมองว่า ไล่ เป็นพวกจ้อง ‘แบ่งแยกดินแดน’ ขณะที่ความแตกแยกกับกลุ่มฝ่ายค้านในสภาส่อเค้ากลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการบริหารของรัฐบาลชุดใหม่

พิธีสาบานตนถูกจัดขึ้นที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงไทเป ซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่ที่สร้างตั้งแต่สมัยที่เกาะไต้หวันตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น โดย ไล่ ก้าวขึ้นรับไม้ต่อจากประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน หลังจากที่เคยทำหน้าที่เป็นรองประธานาธิบดีตลอด 4 ปีที่ผ่านมา 

เจ้าหน้าที่อาวุโสของไต้หวันระบุว่า ไล่ เตรียมกล่าวสุนทรพจน์ที่แสดงความมีไมตรีจิตต่อจีน และเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกันแสวงหาสันติภาพ

ไล่ เดินเข้าสู่ห้องพิธีในชุดสูทผูกเนกไทสีม่วงซึ่งเป็นสีของผีเสื้อประจำถิ่นชนิดหนึ่งของไต้หวัน และติดเข็มกลัดรูปดอกมัสตาร์ดสีเหลือง ซึ่งเป็นพืชสามัญที่พบได้ทั่วไปตามท้องทุ่งบนเกาะแห่งนี้

ไล่ ได้รับมอบตราสัญลักษณ์แทนอำนาจของประธานาธิบดี จำนวน 2 ชิ้น จากประธานรัฐสภา ได้แก่ ตราแห่งสาธารณรัฐจีน (seal of the Republic of China) และตรา Seal of Honour โดยตราทั้งสองนี้ได้ถูกนำมายังไต้หวันระหว่างที่รัฐบาลสาธารณรัฐจีนหลบหนีมายังเกาะแห่งนี้ หลังพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์ของเหมา เจ๋อตง ในปี 1949

พิธีสาบานตนของ ไล่ ชิงเต๋อ มีอดีตเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ หลายคนซึ่งถูกส่งไปร่วมงานโดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน รวมถึงสมาชิกรัฐสภาจากบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี แคนาดา และยังมีผู้นำจากอีก 12 ประเทศที่ยังคงมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันอยู่ เช่น ประธานาธิบดี ซันติอาโก เปญา แห่งปารากวัย เป็นต้น

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้มีถ้อยแถลงแสดงความยินดีต่อ ไล่ ชิงเต๋อ โดยระบุว่าสหรัฐฯ รอคอยที่จะได้ทำงานร่วมกับเขา “เพื่อยกระดับผลประโยชน์และค่านิยมร่วม กระชับความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ตลอดจนร่วมกันธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพภายในช่องแคบไต้หวัน”

ล่าสุด สื่อรัฐบาลจีนยังไม่ได้มีการรายงานข่าวพิธีสาบานตนของ ไล่ ชิงเต๋อ แต่อย่างใด 

ปักกิ่งถือว่าไต้หวันซึ่งปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตนเอง และไม่เคยปฏิเสธทางเลือกใช้กำลังทหารเพื่อนำไต้หวันมาอยู่ภายใต้การควบคุม ขณะที่ ไล่ ยืนยันว่าอนาคตของไต้หวันมีเพียงประชาชนไต้หวันเท่านั้นที่จะตัดสินได้ และเคยยื่นข้อเสนอเจรจากับจีนมาแล้วหลายครั้ง แต่ถูกปฏิเสธตลอด

ไต้หวันเผชิญแรงกดดันจากจีนหนักขึ้นกว่าเก่า ทั้งการส่งเครื่องบินรุกล้ำเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) และการทำกิจกรรมทางทหารเฉียดใกล้เกาะ หลังจากที่ ไล่ วัย 64 ปี ชนะศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

กระทรวงกลาโหมไต้หวันระบุวันนี้ (20) ว่า ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาจีนได้ส่งเครื่องบิน 6 ลำข้ามเส้นมัธยฐาน (median line) ซึ่งถือกันว่าเป็นเส้นแบ่งเขตแดนจีน-ไต้หวันอย่างไม่เป็นทางการ ทว่าปักกิ่งไม่ยอมรับการมีอยู่ของเส้นที่ว่านี้ โดยมีเครื่องบินจีนอย่างน้อย 1 ลำที่เข้าไปใกล้เมืองท่าจีหลง (Keelung) ทางตอนเหนือของเกาะไต้หวันในระยะเพียง 80 กิโลเมตร

สัปดาห์ที่แล้ว สำนักงานกิจการไต้หวันของจีนระบุว่า ไล่ ซึ่งฝ่ายจีนเรียกว่าเป็น “ผู้นำคนใหม่ของภูมิภาคไต้หวัน” จำเป็นต้องเลือกให้ชัดเจนระหว่างการพัฒนาอย่างสันติ (peaceful development) หรือการเผชิญหน้า (confrontation) ขณะที่หนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์สซึ่งเป็นสื่อของทางการจีนก็รายงานเมื่อวานนี้ (19) ว่า ไล่ “อาจจะแสดงพฤติกรรมยั่วยุมากขึ้นเรื่อยๆ” หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งผู้นำไทเป

“ดังนั้นในระยะยาว ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบคงจะไม่เป็นไปในเชิงบวก” บทความของโกลบอลไทม์ส ระบุ

นอกจากภัยคุกคามจากจีนแล้ว คาดว่ารัฐบาล ไล่ ชิงเต๋อ ยังจะต้องเผชิญกับความท้าทายในประเทศอีกไม่น้อย หลังจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ของเขาสูญเสียเสียงข้างมากในสภาจากผลของศึกเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน ม.ค.

สัญญาณความวุ่นวายเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้ว (17) เมื่อ ส.ส.ไต้หวันเกิดทะเลาะวิวาทชกต่อยและตะโกนด่าทอกันไปมาในสภา สืบเนื่องมาจากกฎหมายปฏิรูปสภาที่ฝ่ายค้านพยายามผลักดัน และคาดว่าอาจจะมีศึกกลางสภาอีกรอบหลังจากที่บรรดา ส.ส.เปิดการอภิปรายอีกครั้งในวันอังคารนี้ (21)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top