'ไต้หวัน' เตรียมรื้อถอน อนุสาวรีย์ 'เจียง ไคเชก' ทั่วประเทศ หวังล้างภาพลักษณ์เผด็จการ ยุคแห่งความน่าสะพรึงสีขาว

รัฐบาลไต้หวันประกาศที่จะรื้อถอนอนุสาวรีย์ เจียง ไคเชก ประธานาธิบดีคนแรกของไต้หวัน ที่มีอยู่ถึง 760 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงอนุสรณ์สถานใหญ่ที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงไทเปด้วย ท่ามกลางการถกเถียงกันมาอย่างยาวนานถึงภาพลักษณ์ 2 ขั้วอันย้อนแย้งว่า เจียง ไคเชก เคยเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำที่ต่อต้านกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น และ ลัทธิคอมมิวนิสต์จีน-โซเวียต จนนำไปสู่การก่อตั้งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในเวลาต่อมา 

แต่ในอีกแง่หนึ่งเขาก็เป็นผู้นำเผด็จการทหาร ที่ปกครองไต้หวันด้วยกฏอัยการศึกยาวนานถึง 38 ปี โดยที่ใช้ความรุนแรงปราบปรามกลุ่มต่อต้านอย่างโหดเหี้ยมตลอดระยะเวลาที่ครองอำนาจในไต้หวัน

แม้จะถูกยกย่องให้เป็นบิดาแห่งไต้หวัน แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ชาวไต้หวันรุ่นใหม่รู้สึกไม่สบายใจกับการมีอยู่ของอนุสาวรีย์ เจียง ไคเชก จนทำให้ไต้หวันถูกมองว่าเป็นเกาะแห่งอนุสรณ์สถานของ เจียง ไคเชก และเรียกร้องให้รื้อถอนอนุสาวรีย์ของอดีตผู้นำคนสำคัญออกไป 

จนเมื่อปี พ.ศ. 2561 รัฐบาลไต้หวันได้จัดตั้งคณะกรรมการยุติธรรมเพื่อสอบสวนเรื่องราว และหลักฐาน การปกครองในช่วงสมัยของ เจียง ไคเชก ตั้งแต่เพิ่งเข้ามามีบทบาททางการเมือง จนถึงปีที่เขาถึงแก่อสัญกรรมในปี 2518 

และหนึ่งในข้อเสนอคือ การรื้อถอนรูปปั้นนับพันของเจียง ไคเชก จากทุกพื้นที่สาธารณะของไต้หวัน และในวันที่ 22 เม.ย.67 สภาไต้หวันก็ได้ออกมายืนยันอีกครั้งว่าจะเร่งรื้อถอนอนุสาวรีย์ที่ยังเหลืออยู่อีก 760 แห่ง ออกไปให้เร็วที่สุด เพื่อตอบสนองต่อเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ของประชาชนว่าดำเนินการช้าเกินไป 

ส่วนรูปปั้นที่ใหญ่ที่สุดของ เจียง ไคเชก ตั้งอยู่ที่ อนุสรณ์สถานใจกลางกรุงไทเป ที่เป็นเหมือนจุดไฮไลต์ของนักท่องเที่ยว มีแผนที่จะย้ายไปตั้งไปรวมกันในสวนสาธารณะแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของกรุงไทเป ที่จะเก็บรวบรวมรูปปั้น เจียง ไคเชก ที่ถูกรื้อถอนไปแล้วนับพันมาไว้รวมกัน

ทั้งนี้ การถอดถอนอนุสาวรีย์ของ เจียง ไคเชก เคยเป็นประเด็นถกเดือดในสภาไต้หวันอยู่ช่วงหนึ่ง เมื่อพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ซึ่งปัจจุบันเป็นฝ่ายรัฐบาลมีความเห็นว่า ไต้หวันควรถอยห่างจากประเพณีการไว้อาลัยอดีตผู้นำผู้ก่อตั้งไต้หวันได้แล้ว เพราะ เจียง ไคเชก มีภาพลักษณ์ผู้นำเผด็จการทหาร ที่ใช้อำนาจปกครองไต้หวันมานานถึง 46 ปี

แต่ฝ่ายพรรคก๊กมินตั๋งของอดีตผู้นำ เจียง ไคเชก ที่เป็นฝ่ายค้าน ตอบโต้ว่า ชาวไต้หวันก็ไม่ควรลืมเกียรติยศต่าง ๆ ที่ เจียง ไคเชก เคยทำไว้ในการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น เพื่อรวมชาติจีนให้กลับมาเป็นปึกแผ่น และการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ต้องการแผ่อิทธิพลเหนือเกาะไต้หวัน การรื้อถอนอนุสาวรีย์ เจียง ไคเชก จึงไม่ต่างจากความพยายามลบประวัติศาสตร์อันเป็นรากเหง้าของชาวไต้หวัน

สำหรับ เจียง ไคเชก เป็นทั้งนักการเมืองฝ่ายชาตินิยม และผู้นำทหารที่เคยร่วมคณะปฏิวัติของ ด็อกเตอร์ ซุน ยัตเซ็น ผู้มีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติซินไฮ่ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่สู่ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ และยังเป็นผู้นำทัพต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

แต่เมื่อสงครามสิ้นสุดลงหลังความพ่ายแพ้ของจักรวรรดิญี่ปุ่น เจียง ไคเชก กลับต้องเผชิญหน้ากับสงครามกลางเมือง กับกองกำลังฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่นำโดย เหมา เจ๋อตง และสุดท้ายเขาพ่ายแพ้ เจียง ไคเชก ตัดสินใจพาคณะรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง มาสถาปนาสาธารณรัฐจีนพลัดถิ่นบนเกาะไต้หวันในปี พ.ศ. 2492 

หลังจากนั้น เจียง ไคเช็ก ใช้กฏอัยการศึกปกครองไต้หวัน ที่มีการปราบปรามศัตรูทางการเมือง และผู้ที่เห็นต่างอย่างโหดเหี้ยม จนถูกยกให้เป็นยุคแห่งความน่าสะพรึงสีขาวของไต้หวัน (白色恐怖) ซึ่งช่วงเวลาของการใช้กฎอัยการศึกในไต้หวันกินเวลานานถึง 38 ปี ที่มีผู้คนมากถึง 140,000 คนถูกจำคุก และเกือบ 4,000 คนถูกประหารชีวิตจากข้อหาต่อต้านรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง ของ เจียง ไคเชก

แต่ในขณะเดียวกัน ชาวไต้หวันบางส่วนก็มองว่า เจียง ไคเชก ก็มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และความเจริญรุ่งเรืองของไต้หวัน อีกทั้งยังเป็นผู้วางรากฐานระบบการเมืองที่เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยได้อย่างสมบูรณ์ในปัจจุบัน 

ดังนั้น เกียรติยศของ เจียง ไคเชก จึงเหมือนเหรียญ 2 ด้าน ในมุมมองของกลุ่มอนุรักษ์นิยม มองว่าเรื่องราวที่ผ่านมาเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติ ที่ชาวไต้หวันไม่สามารถเลือกที่จะลบทิ้งด้านใด ด้านหนึ่งได้ แต่ในส่วนของฝ่ายเสรีนิยมก็มองว่า ไต้หวันก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์นั้นมานานแล้ว และสัญลักษณ์ของการบูชาเผด็จการอำนาจนิยม ก็ไม่ควรเป็นมรดกที่สืบทอดให้กับคนรุ่นลูก 

แต่เมื่อวันนี้ฝ่ายรัฐบาลไม่ใช่พรรคก๊กมินตั๋ง การรื้อถอนอนุสาวรีย์ เจียง ไคเชก จึงต้องดำเนินต่อไป เพราะเชื่อว่าไต้หวันยุคใหม่ควรก้าวไปข้างหน้าบนพื้นฐานอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องทิ้ง เจียง ไคเชก อดีตผู้นำเผด็จการทหารผู้ที่เคยสร้างชาติไว้ข้างหลัง 


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

อ้างอิง: The Guardian