จับตา ‘ไล่ ชิงเต๋อ’ สาบานตนเป็น ‘ปธน.ไต้หวัน’  สื่อจีนเตือนสัมพันธ์ข้ามช่องแคบส่อตึงเครียดหนัก

(20 พ.ค.67) รอยเตอร์ รายงานว่า ไล่ ชิงเต๋อ (Lai Ching-te) ได้เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันอย่างเป็นทางการวันนี้ (20 พ.ค.) ท่ามกลางท่าทีข่มขู่จากจีนซึ่งมองว่า ไล่ เป็นพวกจ้อง ‘แบ่งแยกดินแดน’ ขณะที่ความแตกแยกกับกลุ่มฝ่ายค้านในสภาส่อเค้ากลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการบริหารของรัฐบาลชุดใหม่

พิธีสาบานตนถูกจัดขึ้นที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงไทเป ซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่ที่สร้างตั้งแต่สมัยที่เกาะไต้หวันตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น โดย ไล่ ก้าวขึ้นรับไม้ต่อจากประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน หลังจากที่เคยทำหน้าที่เป็นรองประธานาธิบดีตลอด 4 ปีที่ผ่านมา 

เจ้าหน้าที่อาวุโสของไต้หวันระบุว่า ไล่ เตรียมกล่าวสุนทรพจน์ที่แสดงความมีไมตรีจิตต่อจีน และเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกันแสวงหาสันติภาพ

ไล่ เดินเข้าสู่ห้องพิธีในชุดสูทผูกเนกไทสีม่วงซึ่งเป็นสีของผีเสื้อประจำถิ่นชนิดหนึ่งของไต้หวัน และติดเข็มกลัดรูปดอกมัสตาร์ดสีเหลือง ซึ่งเป็นพืชสามัญที่พบได้ทั่วไปตามท้องทุ่งบนเกาะแห่งนี้

ไล่ ได้รับมอบตราสัญลักษณ์แทนอำนาจของประธานาธิบดี จำนวน 2 ชิ้น จากประธานรัฐสภา ได้แก่ ตราแห่งสาธารณรัฐจีน (seal of the Republic of China) และตรา Seal of Honour โดยตราทั้งสองนี้ได้ถูกนำมายังไต้หวันระหว่างที่รัฐบาลสาธารณรัฐจีนหลบหนีมายังเกาะแห่งนี้ หลังพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์ของเหมา เจ๋อตง ในปี 1949

พิธีสาบานตนของ ไล่ ชิงเต๋อ มีอดีตเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ หลายคนซึ่งถูกส่งไปร่วมงานโดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน รวมถึงสมาชิกรัฐสภาจากบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี แคนาดา และยังมีผู้นำจากอีก 12 ประเทศที่ยังคงมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันอยู่ เช่น ประธานาธิบดี ซันติอาโก เปญา แห่งปารากวัย เป็นต้น

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้มีถ้อยแถลงแสดงความยินดีต่อ ไล่ ชิงเต๋อ โดยระบุว่าสหรัฐฯ รอคอยที่จะได้ทำงานร่วมกับเขา “เพื่อยกระดับผลประโยชน์และค่านิยมร่วม กระชับความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ตลอดจนร่วมกันธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพภายในช่องแคบไต้หวัน”

ล่าสุด สื่อรัฐบาลจีนยังไม่ได้มีการรายงานข่าวพิธีสาบานตนของ ไล่ ชิงเต๋อ แต่อย่างใด 

ปักกิ่งถือว่าไต้หวันซึ่งปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตนเอง และไม่เคยปฏิเสธทางเลือกใช้กำลังทหารเพื่อนำไต้หวันมาอยู่ภายใต้การควบคุม ขณะที่ ไล่ ยืนยันว่าอนาคตของไต้หวันมีเพียงประชาชนไต้หวันเท่านั้นที่จะตัดสินได้ และเคยยื่นข้อเสนอเจรจากับจีนมาแล้วหลายครั้ง แต่ถูกปฏิเสธตลอด

ไต้หวันเผชิญแรงกดดันจากจีนหนักขึ้นกว่าเก่า ทั้งการส่งเครื่องบินรุกล้ำเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) และการทำกิจกรรมทางทหารเฉียดใกล้เกาะ หลังจากที่ ไล่ วัย 64 ปี ชนะศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

กระทรวงกลาโหมไต้หวันระบุวันนี้ (20) ว่า ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาจีนได้ส่งเครื่องบิน 6 ลำข้ามเส้นมัธยฐาน (median line) ซึ่งถือกันว่าเป็นเส้นแบ่งเขตแดนจีน-ไต้หวันอย่างไม่เป็นทางการ ทว่าปักกิ่งไม่ยอมรับการมีอยู่ของเส้นที่ว่านี้ โดยมีเครื่องบินจีนอย่างน้อย 1 ลำที่เข้าไปใกล้เมืองท่าจีหลง (Keelung) ทางตอนเหนือของเกาะไต้หวันในระยะเพียง 80 กิโลเมตร

สัปดาห์ที่แล้ว สำนักงานกิจการไต้หวันของจีนระบุว่า ไล่ ซึ่งฝ่ายจีนเรียกว่าเป็น “ผู้นำคนใหม่ของภูมิภาคไต้หวัน” จำเป็นต้องเลือกให้ชัดเจนระหว่างการพัฒนาอย่างสันติ (peaceful development) หรือการเผชิญหน้า (confrontation) ขณะที่หนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์สซึ่งเป็นสื่อของทางการจีนก็รายงานเมื่อวานนี้ (19) ว่า ไล่ “อาจจะแสดงพฤติกรรมยั่วยุมากขึ้นเรื่อยๆ” หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งผู้นำไทเป

“ดังนั้นในระยะยาว ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบคงจะไม่เป็นไปในเชิงบวก” บทความของโกลบอลไทม์ส ระบุ

นอกจากภัยคุกคามจากจีนแล้ว คาดว่ารัฐบาล ไล่ ชิงเต๋อ ยังจะต้องเผชิญกับความท้าทายในประเทศอีกไม่น้อย หลังจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ของเขาสูญเสียเสียงข้างมากในสภาจากผลของศึกเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน ม.ค.

สัญญาณความวุ่นวายเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้ว (17) เมื่อ ส.ส.ไต้หวันเกิดทะเลาะวิวาทชกต่อยและตะโกนด่าทอกันไปมาในสภา สืบเนื่องมาจากกฎหมายปฏิรูปสภาที่ฝ่ายค้านพยายามผลักดัน และคาดว่าอาจจะมีศึกกลางสภาอีกรอบหลังจากที่บรรดา ส.ส.เปิดการอภิปรายอีกครั้งในวันอังคารนี้ (21)