Monday, 21 April 2025
แพทองธาร_ชินวัตร

‘อุ๊งอิ๊ง’ พาไทยผงาด ในเวทีประชุม ‘สุดยอดผู้นำอาเซียน’ ลั่น!! พร้อมเป็นเจ้าภาพ จัดประชุมแก้ปัญหา ในเมียนมา

(12 ต.ค. 67) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ ‘เสียงจากใจ…ไทยคู่ฟ้า’ ทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย  สรุปภาพรวมภารกิจของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการเดินทางเยือนสปป.ลาว ในช่วงระหว่างวันที่ 8-11 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่า ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และกำลังจะมีสมาชิกใหม่คือ ติมอร์เลสเต การเดินทางครั้งนี้ มีส่วนราชการ นักธุรกิจไปร่วม การประชุมเพื่อรวมประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวม700ล้านคน จะทำให้มีพลังและอำนาจต่อรอง โดยการประชุมได้พูดคุยกรอบร่วมมือด้านต่างๆ ทั้งยาเสพติด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และค้ามนุษย์ น้ำท่วม หมอกควัน PM2.5 โดยในวันแรกเป็นการเยือนสปป.ลาว ในฐานะแขกของสปป.ลาว อย่างเป็นทางการ ได้รับการต้อนรับจากนายกรัฐมนตรีลาว และผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลลาวอย่างสมเกียรติ และที่ประชุมหารือปัญหาสำคัญของประเทศไทย-ลาว ที่ได้ร่วมกันจับมือแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติ ปัญหาหมอกควันและยาเสพติดระหว่างชาติ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขงเพื่อป้องกันอุทกภัยระหว่างกันในอนาคต

จากนั้นในวันที่ 9-11 ต.ค.นายกฯได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 44-45 และการประชุมอื่น รวมทั้งการพบปะผู้นำแต่ละชาติที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้นกว่า20การประชุม อาทิ การประชุมแบบเต็มคณะ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนนอกจากนี้ยังมีการประชุมครั้งที่ 45 ซึ่งเป็นการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน ซึ่งผลของการประชุมเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาอย่างยิ่ง การประชถมอาเซียนบวกสาม

นายจิรายุ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีความหลากหลาย อาทิการประชุมสุดยอดอาเซียน - จีน ครั้งที่ 27 และการประชุมสุดยอดอาเซียน - เกาหลีใต้ ครั้งที่ 25 เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 35 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน กับเกาหลีใต้และการประชุมสุดยอดอาเซียน - ญี่ปุ่น ครั้งที่ 27 และการประชุมสุดยอดอาเซียน - อินเดีย ครั้งที่ 21 และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 19  นอกจากนี้นายกฯ ของไทย ได้หารือทวิภาคีเพื่อแนะนำตัว และสร้างความคุ้นเคยกับผู้นำ 12 ประเทศ ได้แก่ บรูไนฯ กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา รวมทั้ง  รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯและนาย Klaus Schwab ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร WEF ที่เชิญนายกรัฐมนตรีไปร่วมการประชุม WEF ที่ดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปี2568 รวมถึงพูดคุยกับนายกฯแคนาดา 

นายจิรายุ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ ถือว่าประเทศไทย ประสบความสำเร็จในการนำเสนอและผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน รวมทั้งการส่งเสริมความเชื่อมโยง ซึ่งนายกฯ ได้หยิบยกเรื่องการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างกัน และการขยายระยะเวลาการยกเว้นวีซ่า การส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน 

ส่วนในหลายเวทีการประชุมและการหารือกับประเทศต่าง ๆ ไทยและประเทศคู่เจรจา ยังตอบรับที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อรับมือปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการลักลอบค้ายาเสพติด และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การรับมือภัยพิบัติ การบริหารจัดการน้ำ และการแก้ไขปัญหาหมอกควันและ PM2.5 รวมทั้งการรับมือ การเปลี่ยนแปลง สภาพอากาศจากทั้งประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจา และจะเป็นประโยชน์การส่งเสริมการกินดีอยู่ดี และความมั่นคงปลอดภัยของประชาชน 

ขณะที่นายกฯกล่าวในเวทีอาเซียนวันสุดท้ายของการประชุมว่า จะส่งเสริมสันติภาพ ในภูมิภาคนี้ซึ่งในส่วนของเมียนมา ไทยเสนอตัวเป็นสถานที่จัดการประชุมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในเดือนธันวาคมปีนี้ เพื่อส่งเสริมความพยายามของอาเซียนในการช่วยกันแก้ไขปัญหาในเมียนมาโดยสันติด้วย 

นายจิรายุ กล่าวสรุปว่าการประชุมทั้ง 4 วันครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงามสื่อมวลชนต่างชาติ และประเทศคู่เจรจาให้ความสำคัญกับประเทศไทย และได้นำปัญหาและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน มาพูดคุยกันจนเป็นรูปธรรมเพื่อนำไปสู่ การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของแต่ละประเทศต่อไป โดย โดยในปีหน้าประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียนครั้งที่ 46 ต่อไป

‘นายกฯแพทองธาร’ คิกออฟแคมเปญ “ฟื้นฟูเศรษฐกิจ” ทั่วไทย ดึง “รายใหญ่” ช่วย “รายเล็ก” ลดต้นทุนผู้ค้า ลดค่าครองชีพประชาชน คาดกระตุ้นเม็ดเงินหมุนเวียนกว่าแสนล้าน

(16 ต.ค. 67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” บูรณาการหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนรายใหญ่ กว่า 130 ราย ช่วยลดรายจ่ายให้ผู้ประกอบการรายเล็ก และลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชน ต่อเนื่องตลอด 5 เดือนเต็ม รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะโครงการ “เงินหมื่น ฟื้นเศรษฐกิจ” ที่ได้เติมเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไปแล้วกว่า 145,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการสร้างพายุหมุนเศรษฐกิจลูกใหญ่ เป็นการต่อลมหายใจและเพิ่มกำลังซื้อให้กับพี่น้องประชาชน รายเล็กที่กำลังเดือดร้อน ทำให้หลายคนได้ตั้งตัวใหม่จากโครงการนี้

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดมาตรการดังกล่าว และกระจายเม็ดเงินไปสู่ทุกภาคส่วนของประเทศ รัฐบาลจึงมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เร่งเดินหน้า “โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ” ต่อเนื่องทันที เพื่อช่วยเหลือประชาชนในทุกมิติ ทั้งด้านการดำรงชีวิตและการประกอบธุรกิจ โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน ลดต้นทุนทางธุรกิจและเพิ่มช่องทางค้าขายให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก อาทิ การลดค่าเช่าร้านค้า ค่าเช่าแผงตลาด ค่าขนส่งไปรษณีย์ การสนับสนุนพื้นที่จำหน่ายสินค้าบริเวณศาลากลางจังหวัด นิคมอุตสาหกรรม สถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น รวมทั้งจับมือกับผู้ผลิตผู้ค้าส่งรายใหญ่ จัดโปรโมชันสินค้าอุปโภคบริโภคราคาพิเศษผ่านร้านค้าธงฟ้า ร้านค้าชุมชน และห้างท้องถิ่นกว่า 140,000 ร้านค้า และจัดมหกรรมลดราคาสินค้าในห้างค้าปลีก-ค้าส่ง ลดกระหน่ำทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถกระตุ้นเม็ดเงินหมุนเวียนได้มากกว่า 110,000 ล้านบาท

ด้าน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า วันนี้การฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นแนวทางของท่านนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร อยากเห็นเศรษฐกิจไทยฟื้น ขอขอบคุณผู้ประกอบการรายใหญ่ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและประชาชนที่ด้อยโอกาสและที่ยังลำบาก รัฐบาลจะดูแลทุกภาคส่วน ที่ผ่านมามีการลงทุนใหญ่ๆเข้ามาเยอะ ปีที่แล้วมี PCB (แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์) เข้ามาถึง 150,000 ล้านบาท ปีนี้มีศูนย์ข้อมูล หรือ Data Center เข้ามาแล้วถึง 160,000 ล้านบาท ยังไม่รวม Google อีก 30,000 ล้านบาท และ UAE อีก 30,000 ล้านบาท รวมเป็นกว่า 200,000 ล้านบาท และมีเรื่อง Food Security (ความมั่นคงทางอาหาร) กับประเทศต่างๆ ซึ่งการขับเคลื่อนเป็นไปได้ดี การที่ท่านนายกฯไปเยือนทั้งกาตาร์และลาว ได้หารือทวิภาคีกับหลายประเทศ ซึ่งทุกประเทศให้ความสนใจ ไทยกำลังเป็นประเทศที่รุ่ง มีสัญญาณการลงทุนต่างๆเข้ามา และเราก็ต้องดูแลประชาชนที่กำลังลำบาก ขอขอบคุณผู้ประกอบการทั้งหลายที่มาดูแลประชาชน ขายสินค้าให้ในราคาถูก และในประเทศจะมีโครงการอื่นๆเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนต่อไป“ นายพิชัยกล่าว

โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ได้นำร่องกิจกรรมภายใต้โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆไปแล้วตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา อาทิ ตลาดพาณิชย์ทั่วประเทศ เทศกาลกินเจ งาน International Live Commerce Expo 2024 เป็นต้น สำหรับเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่า 110,000 ล้านบาท คาดการณ์มาจากกิจกรรมฟื้นฟูเศรษฐกิจ 3 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน ส่วนแรกประมาณ 78,700 ล้านบาท มาจากการกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มเปราะบางที่ได้รับเงินไปคนละ 10,000 บาท คาดว่ากลุ่มนี้จะนำเงินมาซื้อของที่จัดโปรโมชันลดราคา ภายใต้โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจประมาณ 54.1% ของเงินที่ได้รับไป โดยสัดส่วนนี้คิดมาจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ระบุว่า “ครัวเรือนรายได้ต่ำ จะนำเงินมาซื้ออาหารเครื่องดื่ม เครื่องใช้ภายในบ้าน และเครื่องแต่งกายคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 54.1% ของรายได้” 

ส่วนที่สองประมาณ 18,700 ล้านบาท มาจากการลดต้นทุนทางธุรกิจและสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก รวมทั้งการจัดกิจกรรมกระตุ้นเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์ อาทิ International Live Commerce Expo 2024 เทศกาลกินเจ เทศกาลลอยกระทง เทศกาลปีใหม่ ธงฟ้า และตลาดพาณิชย์ทั่วประเทศ เป็นต้น 

และส่วนที่สาม เป็นการจัดมหกรรมลดราคาสินค้าของห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง และการที่ผู้ผลิตรายใหญ่ลดราคาเพื่อช่วยลดค่าครองชีพและกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกประมาณ 14,400 ล้านบาท โดยคาดว่าเมื่อจบโครงการ จะสามารถกระตุ้นเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจได้ตามเป้า เป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มในทุกมิติและ ช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง

สินค้าเกษตร ‘เมดอินไทยแลนด์’ ขึ้นแท่นที่ 1 ในอาเซียน ติดอันดับ 8 ของโลก ยอด 8 เดือน ส่งออกพุ่ง 4.3 แสนล้านบาท นายกฯ เล็งดันติด Top 5 โลกในปีหน้า

(27 ต.ค. 67) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ข้อมูลการส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาดโลก ช่วง 8 เดือน (มกราคม-สิงหาคม 2567) นั้น พบว่าประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาดโลก มีมูลค่ามากถึง 19,826 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเป็นการส่งออกไปกลุ่มประเทศคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วย มูลค่า 13,774 ล้านดอลลาร์ หรือ 4.3 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 69% ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด

ซึ่งประเทศไทยสามารถครองแชมป์เป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับที่ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 8 ของโลก โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ จีน สัดส่วนกว่า 31% ของการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยทั้งหมด อาเซียน สัดส่วน 15% ญี่ปุ่น สัดส่วน 11% และเกาหลีใต้ สัดส่วน 3% ตลาดที่เติบโตได้ดี ได้แก่ อาเซียน ขยายตัว 39% อินเดีย ขยายตัว 34% ออสเตรเลีย ขยายตัว 23% สิงคโปร์ ขยายตัว 10% เกาหลีใต้ ขยายตัว 9% และญี่ปุ่น ขยายตัว 7% ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเจออุปสรรคการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ และความท้าทายจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีความผันผวน แต่แนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยยังมีทิศทางที่ดี และขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

นายจิรายุ ยังกล่าวต่ออีกว่า จากรายงานถึงสถิติการส่งออกรายเดือน พบว่าความต้องการสินค้าเกษตรไทยเพิ่มขึ้น โดยในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปประเทศคู่ FTA มูลค่า 1,651 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 9% จากเดือนก่อนหน้า และภาพรวมของไทยกับคู่ค้าในตลาด FTA เติบโตเพิ่มขึ้น อาทิ จีน และญี่ปุ่น ขยายตัว 11%  อินเดีย ขยายตัว 24%  นิวซีแลนด์ ขยายตัว 34%  อาเซียน ขยายตัว 4% ฮ่องกง ขยายตัว 2%  ชิลี ขยายตัว 42.8%  อีกทั้ง ในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ 5 อันดับต้นของไทย ขยายตัวเป็นที่น่าพอใจทุกรายการ โดยสินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกเป็นอันดับที่หนึ่ง คือ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง มูลค่า 604 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 21% ข้าว มูลค่า 562 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 41% ยางพารา มูลค่า 497 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 9% ไก่ มูลค่า 392 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 6%  ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มูลค่า 260 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 2%  

“แม้ว่าแนวโน้มสถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรไทยในอนาคตมีโอกาสขยายตัวมากขึ้น ถือเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทยที่จะขยายการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีนางสาวแพทองธาร ชินวัตรได้ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งลดอุปสรรคและเงื่อนไขต่างๆในข้อติดขัดเพื่อสนับสนุนให้ผู้ส่งออกของไทย ทำธุรกิจได้ง่ายขึ้นซึ่งจะมีโอกาสส่งผลให้ไทยติดอันดับหนึ่งใน 5 ของโลกได้ในปีหน้า โดยใช้ประโยชน์จากการดำเนินการของรัฐบาลที่เปิดโอกาส ในการสร้างข้อตกลง FTA อย่างเต็มที่ โดยปัจจุบันไทยได้เจรจาจัดทำ FTA สำเร็จเป็นที่เรียบร้อยทั้งสิ้น 14 ฉบับกับคู่ค้า 18 ประเทศคู่ค้า อีกทั้ง มีการลดและยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่แล้ว อาทิ  ยางพารา 16 ประเทศ ไม่เก็บภาษีนำเข้าจากไทยแล้ว ยกเว้นจีนและอินเดีย  ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 15 ประเทศ ไม่เก็บภาษีนำเข้าจากไทย ยกเว้นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย  ไก่แปรรูป 14 ประเทศ ไม่เก็บภาษีนำเข้าไก่แปรรูปจากไทย ยกเว้นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ชิลี และเปรู ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง 12 ประเทศ ไม่เก็บภาษีนำเข้าแล้ว ยกเว้นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย เวียดนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวระบุทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top