Monday, 21 April 2025
สตง

‘เอกนัฏ’ สั่งตรวจสอบมาตรฐานเหล็กเส้นในตึก สตง. ถล่มหลังแผ่นดินไหว หวั่นใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐาน เตรียมขยายผลไปยังโรงงานผลิตที่เกี่ยวข้อง

(30 มี.ค. 68) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่มเนื่องจากแผ่นดินไหวที่ผ่านมา 

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ทีมงานพร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปเก็บหลักฐานที่จุดเกิดเหตุบริเวณตึก สตง. ที่ถล่ม ซึ่งหากพบว่าผู้ก่อสร้างใช้เหล็กเส้นที่ไม่ได้มาตรฐาน จะดำเนินการตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมถึงขยายผลไปยังโรงงานผลิตเหล็กที่เกี่ยวข้องด้วย

นายพงศ์พลกล่าวเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบแบบแปลนโครงสร้างตึก สตง. ที่กำลังก่อสร้างมีความสูงถึง 30 ชั้น คาดว่าต้องใช้เหล็กเส้นข้ออ้อย (เหล็กเส้นกลมมีบั้ง) ขนาด DB16, DB20, DB25 ในการเสริมแรงโครงสร้างคอนกรีต โดยเฉพาะในส่วนของเสา คานพื้น และฐานราก เพื่อรองรับน้ำหนักและแรงอัด แรงดึง และแรงเฉือน ซึ่งหากมีการใช้เหล็กเส้นที่ไม่ได้มาตรฐานไม่เป็นไปตามหลักทางวิศวกรรม จะทำให้โครงสร้างเปราะและแตกหักง่าย ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อโครงสร้างอาคารในกรณีที่มีแรงกระแทกหรือแผ่นดินไหว

การผลิตและจำหน่ายเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงและไม่สามารถปล่อยผ่านได้ เพราะอาจส่งผลเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งนี้ รัฐมนตรีเอกนัฏได้ดำเนินการอย่างจริงจังในเรื่องนี้มาโดยตลอด

โดยก่อนหน้านี้ได้ดำเนินคดีกับผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กที่เป็นบริษัทร่วมจดทะเบียนและบริษัทต่างชาติไปแล้วถึง 7 ราย ล่าสุดได้สั่งปิดโรงงานผลิตเหล็กทุนข้ามชาติยักษ์ใหญ่ที่ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย และพบเหล็กเส้นข้ออ้อย SD 40 และ SD 50 ที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มอก. 24-2559 จากการทดสอบของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุและอันตรายต่อประชาชน และเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยในทุกขั้นตอนของการก่อสร้างทั่วประเทศ

เอกอัครราชทูตจีนแสดงความเสียใจ พร้อมหนุนไทยหาสาเหตุอาคารถล่ม

(1 เม.ย. 68) นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย กล่าวแสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิต และยืนยันว่าทางการจีนจะร่วมมือกับไทยในการสืบหาสาเหตุ เนื่องจากมีบริษัทจีนเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารนี้ โดยรัฐบาลจีนได้สั่งให้บริษัทผู้ก่อสร้างให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ พร้อมทั้งให้ความเชื่อมั่นว่าการสอบสวนของทางการไทยจะเป็นไปอย่างยุติธรรม

ขณะที่ นายอนุทินกล่าวขอบคุณทางการจีนที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือประเทศไทยเมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยมาโดยตลอด โดยเฉพาะเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ซึ่งสร้างความเสียหายรุนแรงที่สุดที่อาคาร สตง. แห่งใหม่ที่พังถล่ม 

ส่วนอาคารอื่น ๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น ๆ ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยและยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ทางการไทยจึงเร่งสืบหาสาเหตุของการถล่ม เนื่องจากอาคารดังกล่าวเพิ่งสร้างเสร็จและถูกออกแบบให้ทนต่อแผ่นดินไหว กระทรวงมหาดไทยจึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง โดยให้รายงานผลภายใน 7 วัน

นักวิชาการด้านแผ่นดินไหว ชี้ เหตุอาคาร สตง.ถล่ม ไม่ได้เป็นเพราะสาเหตุทางวิศวกรรมอย่างเดียว

(2 เม.ย. 68) ดร.ไพบูลย์ นวลนิล นักวิชาการด้านแผ่นดินไหว โพสต์เฟซบุ๊ก Namom Thoongpoh ถึงกรณีอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้างถล่ม ว่า “สาเหตุอาคาร สตง. ถล่ม ไม่ได้เป็นเพราะเหตุทางวิศวกรรมอย่างเดียว แต่เป็นเพราะต้นกำเนิดแผ่นดินไหวที่มีแนวพังทลายซูเปอร์เชียด้วยนะครับ”

ชุดปฏิบัติการสุดซอยลุยตรวจโรงงานผลิตเหล็ก ‘ซิน เคอ หยวน’ หวังไขปมเหล็กล็อตไหนถูกใช้สร้างอาคาร สตง. รอเฉลยภายใน 7 วัน

(2 เม.ย. 68) นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายนนทิชัย ลิขิตาภรณ์ ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 1 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้เข้าตรวจสอบโรงงานผลิตเหล็ก บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง

โดยโรงงานผลิตเหล็ก บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ถูกสั่งให้ ปิดกิจการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2567 แต่ก็มีชาวบ้านในพื้นที่แจ้งว่า “ที่โรงงานยังมีคนเข้าออกอยู่เลย” ส่งผลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องบุกไปดูโรงงานซินเคอหยวน ให้เห็นกับตา 

การตรวจสอบดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้นำตัวอย่างเหล็กจากอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาตรวจสอบคุณภาพ และพบว่าเหล็กข้ออ้อยขนาด 20 มิลลิเมตร และ 32 มิลลิเมตร ไม่ได้มาตรฐาน จึงต้องเข้าตรวจสอบของกลางที่ถูกยึดอายัดไว้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม จำนวน 2,441 ตัน มูลค่าราว 50.1 ล้านบาท

จุดแรกที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ คือ บริเวณโกดังเก็บเหล็กเส้นของกลางที่ถูกอายัด เพื่อตรวจสอบว่ามีการนำเหล็กออกไปจากที่เก็บหรือไม่ จากนั้นจุดที่สองคือโรงงานผลิตเหล็ก เพื่อดูว่ามีการเปิดเตาหลอมเหล็กดำเนินกิจการต่อหรือไม่

ก่อนเข้าตรวจสอบภายในโรงงาน หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้พูดคุยกับตัวแทนบริษัท พร้อมทั้งตรวจสอบบิลค่าไฟของโรงงานในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยพบว่าก่อนถูกอายัด โรงงานแห่งนี้มีค่าไฟสูงถึง 130 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่ในเดือนมกราคม ค่าไฟลดลงเหลือ 1.2 ล้านบาท และในเดือนกุมภาพันธ์ ค่าไฟลดลงเหลือ 6.4 แสนบาท

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ขอเอกสารบันทึกการขายเหล็ก เพื่อตรวจสอบว่าเหล็กล็อตใดถูกนำไปใช้ในการก่อสร้างอาคาร สตง. ซึ่งตัวแทนบริษัทเปิดเผยว่า บริษัทไม่ได้ขายเหล็กให้กับ สตง. โดยตรง แต่ขายผ่านบริษัทตัวกลางก่อนส่งต่อให้กับผู้รับเหมาที่ก่อสร้างอาคารดังกล่าวอีกทอดหนึ่ง

เบื้องต้น ตัวแทนบริษัทรับปากว่าจะจัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้กับกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อตรวจสอบภายใน 7 วัน นับจากวันที่ 2 เมษายน 2568

สำหรับการเข้าตรวจสอบครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมมาตรฐานอุตสาหกรรมของภาครัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้เหล็กไม่ได้มาตรฐานถูกนำไปใช้ในงานก่อสร้างที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในอนาคต

จีนสั่งสอบเข้ม ‘ไชน่าเรลเวย์’ อาจเจอคดีหนัก หากพบความผิดพลาดโครงสร้าง สตง.

(3 เม.ย 68) เหตุการณ์อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม กลายเป็นประเด็นร้อนระดับนานาชาติ หลังจาก นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ออกมาโพสต์แสดงความเสียใจ พร้อมให้คำมั่นว่า รัฐบาลจีนจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการตรวจสอบ

ล่าสุด ทางการจีน สั่งสอบสวนด่วน บริษัทก่อสร้างจีนที่รับผิดชอบโครงการนี้ โดยเฉพาะ บริษัท ไชน่าเรลเวย์นัมเบอร์ 10 ซึ่งเป็นซับคอนแทรคเตอร์ของโครงการ และอยู่ภายใต้การกำกับของ บริษัทแม่ ไชน่าเรลเวย์

โดยมีการรายงานว่า รัฐบาลจีนเรียกตัวผู้บริหารระดับสูงของไชน่าเรลเวย์ ทั้งหมดเข้ารับการสอบสวน และยืนยันว่า หากพบหลักฐานว่ามีความผิดพลาดในการออกแบบ การก่อสร้าง หรือการตรวจสอบโครงสร้าง บริษัทจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนออกคำสั่งด่วนถึงทุกบริษัทจีนที่ดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานของประเทศเจ้าบ้านอย่างเคร่งครัด โดยระบุชัดว่า หากพบการละเมิดกฎระเบียบหรือมาตรฐานความปลอดภัย อาจต้องเผชิญบทลงโทษจากทั้งรัฐบาลจีนและรัฐบาลของประเทศที่ดำเนินธุรกิจ

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของจีนสะท้อนถึงความโปร่งใสและมาตรการที่เข้มงวด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบุคคลสำคัญในประเทศไทย ที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติโครงการก่อสร้างดังกล่าว ขณะเดียวกัน สังคมยังจับตาว่า รัฐบาลไทยจะมีท่าทีอย่างไรต่อเหตุการณ์นี้ และจะมีมาตรการใดในการดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องในประเทศต่อไป

สำหรับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (China Railway No. 10 Engineering Group) ได้ร่วมเป็นกิจการร่วมค้าและชนะการประมูลโครงการภาครัฐในประเทศไทยอย่างน้อย 13 โครงการ ระหว่างปี พ.ศ. 2562 ถึง พ.ศ. 2565 รวมมูลค่ากว่า 7,232 ล้านบาท โครงการที่สำคัญ ได้แก่

1. ท่าอากาศยานนราธิวาส อาคารที่พักผู้โดยสารและสิ่งก่อสร้างประกอบ มูลค่า 639 ล้านบาท
2. เคหะชุมชนภูเก็ต เป็นทาวน์โฮมจำนวน 354 หน่วย มูลค่า 343 ล้านบาท
3. อาคารคลังสินค้าที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ มูลค่า 146 ล้านบาท
4. หอพักนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มูลค่า 132 ล้านบาท
5. ศูนย์ฝึกอบรมมวยสากลมาตรฐานนานาชาติ ที่สนามกีฬาหัวหมาก มูลค่า 608 ล้านบาท
6. อาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 9 มูลค่า 386 ล้านบาท
7. โครงการพัฒนาที่ดินและก่อสร้างศูนย์บริการลูกค้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จังหวัดภูเก็ต มูลค่า 210 ล้านบาท
8. อาคารที่ทำการกองทัพเรือ มูลค่า 179 ล้านบาท
9. อาคารสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มูลค่า 716 ล้านบาท
10. สถาบันฝึกอบรมการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นครชัยศรี มูลค่า 606 ล้านบาท
11. อาคารผู้ป่วยนอกและฉุกเฉิน โรงพยาบาลสงขลา มูลค่า 426 ล้านบาท
12. อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มูลค่า 2,136 ล้านบาท
13. อาคารเรียนและปฏิบัติการ โรงเรียนวัดอมรินทราราม มูลค่า 160 ล้านบาท

ทั้งนี้ การที่บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ได้รับงานก่อสร้างภาครัฐหลายโครงการในประเทศไทย แสดงถึงบทบาทที่สำคัญของบริษัทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดเหตุการณ์อาคาร สตง. ถล่ม ความน่าเชื่อถือของบริษัทอยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างเข้มงวด

‘อนุทิน’ รับสนิทผู้ว่าฯ สตง. กว่า 10 ปี ยันไม่เคยช่วยเหลือกรณีตึกถล่ม ซัดเพจดังสร้างข่าวเท็จ

(6 เม.ย. 68) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าร่วมงานครบรอบการก่อตั้งพรรคภูมิใจไทย ที่สำนักงานใหญ่พรรค กรณีเพจ CSI LA เผยแพร่ภาพความสนิทสนมระหว่างตนกับนายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พร้อมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการสอบสวนเหตุอาคารสำนักงาน สตง. ถล่ม

นายอนุทินยอมรับว่า ตนสนิทกับนายมณเฑียรจริง และเป็นเพื่อนรักกันมานานกว่า 10 ปี ตั้งแต่เรียนหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ร่วมกัน โดยตนเป็นประธานรุ่น ส่วนนายมณเฑียรเป็นเลขารุ่น ซึ่งถือเป็นความสัมพันธ์ในเชิงส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ พร้อมย้ำว่า ข้อมูลที่อ้างว่ามีการช่วยเหลือกันในกรณีอาคารถล่มนั้น “เป็นเรื่องเท็จ และเป็นการกุข่าวโดยไร้หลักฐาน”

“เรื่องความเป็นเพื่อนกัน เราไม่ได้ปฏิเสธ แต่จะบอกว่าเราช่วยเหลือกันในเรื่องไม่ถูกต้อง แบบนั้นมันไม่จริง และไม่สามารถทำได้ด้วยซ้ำ” นายอนุทินกล่าว

พร้อมกันนี้ นายอนุทินยังระบุว่า อาคารดังกล่าวไม่ได้มีการลงนามในสัญญาก่อสร้างโดยนายมณเฑียร เพราะเจ้าตัวเพิ่งเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง. ได้ไม่นาน และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อช่วงปลายปี 2567 ในขณะที่อาคารก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ

“รูปที่เขาเอาไปโพสต์กัน บางรูปก็เก่ามาก ตั้งแต่สมัยยังไม่มีรอยตีนกาเลยด้วยซ้ำ ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนจะนำเสนอข้อมูล เพราะกรณีนี้มีแต่ความสูญเสีย ไม่มีใครจะไปช่วยใครให้รอดพ้นความผิดได้” นายอนุทินกล่าว

รองนายกรัฐมนตรี ยังย้ำว่า การสอบสวนเหตุอาคารถล่ม เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีใครแทรกแซงหรือชี้นำได้ โดยคณะกรรมการสอบสวนประกอบด้วยตัวแทนจากสภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และจากหลายมหาวิทยาลัย เพื่อความโปร่งใส

“ถึงแม้จะสามารถแทรกแซงได้ ผมก็จะไม่ทำ เพราะมันไม่ถูกต้อง และไม่มีใครควรช่วยคนผิดให้รอดจากความผิดกรณีแบบนี้เด็ดขาด” นายอนุทินกล่าวหนักแน่น

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการดำเนินการทางกฎหมายกับเพจที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือไม่ นายอนุทินตอบว่า “ถ้าไม่จริง จะไปฟ้องทำไม เรื่องมันไม่ใช่ก็ไม่ต้องทำอะไร แค่ยืนยันว่าไม่มีการช่วยเหลือใด ๆ ทั้งสิ้น”

ทั้งนี้ นายอนุทินยังเปิดเผยว่า ได้พูดคุยกับนายมณเฑียรเมื่อวานนี้ (5 เม.ย.) ผ่านกลุ่มไลน์ร่วมกัน ยอมรับว่าอีกฝ่ายมีความเครียดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเพิ่งเข้ารับตำแหน่งก็ต้องมาเจอปัญหาใหญ่

ท้ายที่สุด นายอนุทินย้ำว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง มีหน้าที่ตรวจสอบข้อผิดพลาดด้านวิศวกรรมและโครงสร้างอาคาร ส่วนประเด็นการทุจริตหรือฮั้วประมูล เป็นหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ซึ่งกำลังดำเนินการควบคู่กันไป

“นี่คือเรื่องเศร้า และเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ ต้องหาคำตอบให้ได้ว่าทำไมถึงเกิดขึ้น และไม่มีทางที่ผมจะช่วยใครให้ผิดเป็นถูกได้เด็ดขาด” นายอนุทินกล่าวทิ้งท้าย

'สุทธิพงษ์' เผยข้อบกพร่องของโครงการก่อสร้าง สตง. จากลิฟต์ถึงทางเดิน ยันเตรียมเปลี่ยนแผนสร้างสำนักงานใหม่

(10 เม.ย. 68) ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณประชุมเพื่อสอบถามการก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว โดย สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ประธานการประชุม ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง รวมถึง สุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าสำนักงาน สตง.

สุทธิพงษ์ เปิดเผยว่าเกิดความเข้าใจผิดในโครงการก่อสร้างที่มีบริษัท อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้ชนะการประมูลแท้จริง แต่ผู้ดำเนินการคือ ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 และมีการปรับแก้แบบการก่อสร้างในส่วนลิฟต์และทางเดินที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย

โดยจุดแกนกลางของลิฟต์ (Core Lift) มีการปรับแก้แบบ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีทั้งทางเดินหลักและทางเดินรอง การออกแบบทางเดินหลักต้องมีความกว้าง 2 เมตรตามกฎหมาย

แต่การก่อสร้างและปูกำแพงหินอ่อนเสร็จแล้วจะทำให้พื้นที่ทางเดินหายไปข้างละ 5 เซนติเมตร เหลือความกว้างเพียง 1.90 เมตร ส่วนทางเดินรองเหลือความกว้างเพียง 1.40 เมตร ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายการก่อสร้าง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร จึงได้ทำเรื่องให้มีการปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามแบบ โดยมีวุฒิวิศวกรเป็นผู้เซ็นรับรองแบบ

สุทธิพงษ์ ยืนยันว่า “ไม่ว่าจะเป็นคณะของตนเองหรือคณะตรวจรับผู้ควบคุมงาน เราจะทำมากกว่าที่เราตรวจ เพราะถ้าผิดเมื่อไหร่ ทัวร์มันจะลงมากกว่าปกติ มันผิดจรรยาบรรณ” เขายังเสริมด้วยว่า “ถ้าผมจะสร้างบ้านเพื่อให้บ้านล้มทับคนของผม 2,400 คน ผมต้องเอาอำมหิตเบอร์ไหน ถ้าการออกแบบครั้งนี้เกิดจากความเผอเรอ หรือประมาทท่านกำลังจะฆ่าคนนะครับ วิศวกรท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า แผ่นดินไหวไม่เคยฆ่าคน คนออกแบบนี่แหละเป็นคนฆ่าคน”

ทั้งนี้ สตง. ได้จัดทีมตรวจสอบโครงสร้างอาคาร พร้อมขอความร่วมมือจาก องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT) เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการบริหารโครงการ นอกจากนี้ยังรายงานการแจ้งประกันภัยวงเงิน 2,136 ล้านบาท เพื่อเยียวยาผู้ประสบภัย พร้อมกับการปรับแผนสร้างสำนักงานใหม่จากตึกสูงเป็นตึกแนวราบที่ดินเช่าจากการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top