จีนสั่งสอบเข้ม ‘ไชน่าเรลเวย์’ อาจเจอคดีหนัก หากพบความผิดพลาดโครงสร้าง สตง.
(3 เม.ย 68) เหตุการณ์อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม กลายเป็นประเด็นร้อนระดับนานาชาติ หลังจาก นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ออกมาโพสต์แสดงความเสียใจ พร้อมให้คำมั่นว่า รัฐบาลจีนจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการตรวจสอบ
ล่าสุด ทางการจีน สั่งสอบสวนด่วน บริษัทก่อสร้างจีนที่รับผิดชอบโครงการนี้ โดยเฉพาะ บริษัท ไชน่าเรลเวย์นัมเบอร์ 10 ซึ่งเป็นซับคอนแทรคเตอร์ของโครงการ และอยู่ภายใต้การกำกับของ บริษัทแม่ ไชน่าเรลเวย์
โดยมีการรายงานว่า รัฐบาลจีนเรียกตัวผู้บริหารระดับสูงของไชน่าเรลเวย์ ทั้งหมดเข้ารับการสอบสวน และยืนยันว่า หากพบหลักฐานว่ามีความผิดพลาดในการออกแบบ การก่อสร้าง หรือการตรวจสอบโครงสร้าง บริษัทจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนออกคำสั่งด่วนถึงทุกบริษัทจีนที่ดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานของประเทศเจ้าบ้านอย่างเคร่งครัด โดยระบุชัดว่า หากพบการละเมิดกฎระเบียบหรือมาตรฐานความปลอดภัย อาจต้องเผชิญบทลงโทษจากทั้งรัฐบาลจีนและรัฐบาลของประเทศที่ดำเนินธุรกิจ
การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของจีนสะท้อนถึงความโปร่งใสและมาตรการที่เข้มงวด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบุคคลสำคัญในประเทศไทย ที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติโครงการก่อสร้างดังกล่าว ขณะเดียวกัน สังคมยังจับตาว่า รัฐบาลไทยจะมีท่าทีอย่างไรต่อเหตุการณ์นี้ และจะมีมาตรการใดในการดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องในประเทศต่อไป
สำหรับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (China Railway No. 10 Engineering Group) ได้ร่วมเป็นกิจการร่วมค้าและชนะการประมูลโครงการภาครัฐในประเทศไทยอย่างน้อย 13 โครงการ ระหว่างปี พ.ศ. 2562 ถึง พ.ศ. 2565 รวมมูลค่ากว่า 7,232 ล้านบาท โครงการที่สำคัญ ได้แก่
1. ท่าอากาศยานนราธิวาส อาคารที่พักผู้โดยสารและสิ่งก่อสร้างประกอบ มูลค่า 639 ล้านบาท
2. เคหะชุมชนภูเก็ต เป็นทาวน์โฮมจำนวน 354 หน่วย มูลค่า 343 ล้านบาท
3. อาคารคลังสินค้าที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ มูลค่า 146 ล้านบาท
4. หอพักนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มูลค่า 132 ล้านบาท
5. ศูนย์ฝึกอบรมมวยสากลมาตรฐานนานาชาติ ที่สนามกีฬาหัวหมาก มูลค่า 608 ล้านบาท
6. อาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 9 มูลค่า 386 ล้านบาท
7. โครงการพัฒนาที่ดินและก่อสร้างศูนย์บริการลูกค้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จังหวัดภูเก็ต มูลค่า 210 ล้านบาท
8. อาคารที่ทำการกองทัพเรือ มูลค่า 179 ล้านบาท
9. อาคารสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มูลค่า 716 ล้านบาท
10. สถาบันฝึกอบรมการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นครชัยศรี มูลค่า 606 ล้านบาท
11. อาคารผู้ป่วยนอกและฉุกเฉิน โรงพยาบาลสงขลา มูลค่า 426 ล้านบาท
12. อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มูลค่า 2,136 ล้านบาท
13. อาคารเรียนและปฏิบัติการ โรงเรียนวัดอมรินทราราม มูลค่า 160 ล้านบาท
ทั้งนี้ การที่บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ได้รับงานก่อสร้างภาครัฐหลายโครงการในประเทศไทย แสดงถึงบทบาทที่สำคัญของบริษัทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดเหตุการณ์อาคาร สตง. ถล่ม ความน่าเชื่อถือของบริษัทอยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างเข้มงวด