Monday, 21 April 2025
รถไฟ

ส่องแผนลงทุน ระบบรางไทย อีก 10 ปีข้างหน้า มูลค่า 1.8 ล้านล้าน

สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เปิดแผนลงทุนระบบรางของไทย ช่วง 10 ปีข้างหน้า คาดจะลงทุนอีกอย่างน้อย 1.8 ล้านล้านบาท เพิ่มเส้นทางรถไฟทั่วประเทศอีก 4,746 กม. 

รถไฟ ‘กรุงเทพฯ-หัวหิน’ ลดเวลาวิ่ง เหลือเพียง 3 ชม. ส่วน ‘กรุงเทพ-ชุมพร’ วิ่งฉิว 6 ชม. เร็วเหมือนรถยนต์

(16 ม.ค. 67) คนนั่งรถไฟเฮ!! เว็บไซต์จองตั๋วรถไฟ ได้มีการปรับปรุงเวลาเดินรถสายใต้ทุกขบวน โดยบางขบวนจะปรับเวลาออกไวขึ้น ถึงไวขึ้น ขณะที่บางขบวนออกช้ากว่าเดิม แต่ถึงปลายทางไวขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-ชุมพร ทำให้รถไม่ต้องเสียเวลาสับหลีกอีกต่อไปในการเดินรถช่วงเส้นทางดัง 

โดยจากการสังเกตในหน้าจองตั๋วพบว่า รถด่วนดีเซลรางขบวนที่ 43 จากเดิมกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึงหัวหิน จะใช้เวลาราว 4 ชั่วโมง แต่เวลาเดินรถใหม่จะใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง เทียบเท่าขับรถยนต์ นอกจากนี้ในช่วงสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์-ชุมพร จากเดิมเคยใช้ระยะเวลามากถึง 8 ชั่วโมง แต่เวลาใหม่เหลือเพียง 6 ชั่วโมง 20 นาที เท่านั้น ซึ่งใช้เวลาเท่ากับการขับรถยนต์

‘จีน’ ทดสอบ 'รถไฟในเมืองพลังงานไฮโดรเจน' ผลิตเองขบวนแรก วิ่งฉิว!! 160 กม./ชั่วโมง - เติมเชื้อเพลิงครั้งเดียววิ่งไกล 1,000 กม.

(22 มี.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รถไฟในเขตเมือง ที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนซึ่งจีนพัฒนาขึ้นขบวนแรก วิ่งทดสอบเสร็จสิ้นด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อวานนี้ 21 มี.ค. ถือเป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญในการประยุกต์ใช้พลังงานไฮโดรเจนในการขนส่งทางรถไฟ

โดยรถไฟดังกล่าวพัฒนาโดยซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ วีฮีเคิลส์ จำกัด (CRRC Changchun Railway Vehicles) ในเมืองฉางชุน มณฑลจี๋หลินทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน โดยวิ่งทดสอบบนรางทดสอบของบริษัทฯ และผ่านกระบวนการตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานแบบเต็มระบบ ครอบคลุมครบฉากสถานการณ์ และหลากหลายระดับ

เมื่อเทียบกับรถไฟแบบดั้งเดิมที่อาศัยพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือระบบจ่ายไฟฟ้าแบบสายส่งเหนือหัว รถไฟในเขตเมืองขบวนนี้มีระบบพลังงานไฮโดรเจนในตัวซึ่งสามารถให้แหล่งพลังงานที่เข้มข้นและยาวนาน โดยมีระยะการเดินทางสูงสุดแบบเติมเชื้อเพลิงครั้งเดียวมากกว่า 1,000 กิโลเมตร

ทั้งนี้ ข้อมูลจากการทดสอบยังแสดงให้เห็นว่ารถไฟพลังงานไฮโดรเจนดังกล่าว ใช้พลังงานเฉลี่ย 5 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อกิโลเมตร ซึ่งเทียบเท่ากับรถไฟชั้นนำระดับโลก

11 เมษายน พ.ศ. 2436 ‘ในหลวง ร.5’ เสด็จฯ เปิดทางเดินรถไฟสายแรกของสยาม เส้นทาง ‘กรุงเทพฯ - สมุทรปราการ’ ระยะทาง 21 กิโลเมตร

ครบรอบ 131 ปี เปิดทางเดินรถไฟสายปากน้ำ ระหว่างกรุงเทพฯ - สมุทรปราการ รถไฟสายแรกในสยามประเทศ

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2429 รัฐบาลสยามได้อนุมัติสัมปทานแก่ กอมปานีรถไฟ หรือ บริษัทรถไฟปากน้ำ บริหารงานโดยพระยาชลยุทธโยธินทร์ (อองเดร ดู เปลซี เดอ ริเชอลิเออ) ชาวเดนมาร์ก และพระนิเทศชลธี (แอลเฟรด ยอนลอบเตอด เยฟอานีเอช) ได้รับสัมปทานตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2429

บริษัทชาวเดนมาร์คสร้างทางรถไฟสายแรก ขึ้นในประเทศไทย ระหว่าง กรุงเทพฯ - สมุทรปราการ ระยะทาง 21 กิโลเมตร เพราะเล็งเห็นว่าทางรถไฟสายนี้จะอำนวยคุณประโยชน์ทางเศรษฐกิจและด้านยุทธศาสตร์ แม้ว่าบริษัทชาวเดนมาร์คจะได้รับอนุมัติสัมปทาน แต่บริษัทก็ยังไม่สามารถดำเนินก่อสร้างได้เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยืมทุนทรัพย์ไปสมทบด้วยส่วนหนึ่ง นับเป็นพระปรีชาสามารถลึกซึ้งที่รัฐสนับสนุนยอมให้เป็นครั้งแรกในโครงการอุตสาหกรรมขนส่งที่เอกชนลงทุน

ต่อมาวันที่ 16 กรกฏาคม พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินแซะดินเป็นปฐมฤกษ์สร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ-สมุทรปราการ และจากนั้นวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดบริการ และเสด็จขึ้นประทับโดยสารขบวนรถไฟพระที่นั่ง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ในพิธีเปิดการเดินรถครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัส ปรากฏความตอนหนึ่งว่า

"...เรามีความยินดีที่ได้รับหน้าที่อันเป็นที่พึงใจ คือจะได้เป็นผู้เปิดรถไฟสายนี้ ซึ่งเป็นที่ชอบใจและปรารถนามาช้านานแล้วนั้น ได้สำเร็จสมดังประสงค์ลงในครั้งนี้ เพราะเหตุว่าเป็นรถไฟสายแรกที่จะได้เปิดในบ้านเมืองเรา แล้วยังจะมีสายอื่นต่อ ๆ ไปอีกจำนวนมากในเร็ว ๆ นี้ เราหวังว่าจะเป็นการเจริญแก่ราชการและการค้าขายในบ้านเมืองเรายิ่งนัก..."

อย่างไรก็ตาม แต่เดิมทางรถไฟสายปากน้ำมีทั้งหมด 10 สถานี ต่อมาจึงเพิ่มเติมเป็น 12 สถานี และหลังสิ้นสุดสัมปทานในเวลา 50 ปี เส้นทางรถไฟดังกล่าวตกอยู่ในการบริหารกิจการของกรมรถไฟต่อ ครั้นในรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยกเลิกเส้นทางรถไฟสายปากน้ำเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 โดยได้มีการสร้างถนนแทน ปัจจุบัน คือ ถนนพระราม 4 และถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ

'ชาวเน็ต' แหกหน้าหนุ่ม หลังโพสต์มั่วเรื่องรถไฟไทย ทั้งขนาดรางไม่เชื่อมจีน-มาเลย์ และ 'ทางคู่' ที่มิใช่ 'รางคู่'

(3 พ.ค. 67) จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'Chen Tai Shan' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า..."ไม่ใช่ทำไม่ได้ แต่เลือกที่จะไม่ทำ….ประเทศไทยไม่ยอมทำรางรถไฟขนาดมาตรฐานที่สามารถเชื่อมกับโครงข่ายทั้งจีนและมาเลเซีย แต่ไปเอารางคู่แทน (ใช้เงินเยอะกว่าโครงข่ายแบบรถไฟความเร็วสูงด้วยนะ FYI)"

ก็ทำให้มีผู้สันทัดกรณีเข้ามาตอบคำถามเชิงความรู้แก่ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนดังกล่าว อาทิ ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Wanwit Niampan ที่ได้โพสต์ข้อความตอบกลับไปว่า...

คุณไม่มีความเข้าใจเรื่อง Railway 101 เลย ขนาดทางรถไฟในโลกนี้มีมากกว่า 10 ขนาด แต่ขนาดที่มีจำนวน 'ต่อ กม. มากที่สุด' คือ 1.435 เพราะใช้เป็นเครือข่ายหลักในยุโรป และต่อมาประเทศที่มีการวางระบบโดยยุโรป และมีขนาดประเทศกว้างก็ถูกนำมาใช้ เช่น จีน, ออสเตรเลีย, เกาหลีใต้ ซึ่งทางกว้างขนาด 1.435 มีชื่อว่า European Standard Gauge แปลว่า 'ขนาดความกว้างมาตรฐานยุโรป' แต่ไม่ได้หมายความว่ามันคือ มาตรฐานโลก

กรณีรถไฟความเร็วสูง ทำไมไม่ใช้ 1.435?

ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ใช้รถไฟความเร็วสูงเชิงพาณิชย์ประเทศแรก ซึ่งญี่ปุ่นใช้ทางกว้าง 1.067 (ขนาดที่มีระยะทางเป็นอันดับ 3 ของโลก) และไม่สามารถทำความเร็วได้ ประกอบกับมีทางโค้งและทางภูเขาเยอะ จึงต้องตัดทางใหม่เพื่อ Shinkansen โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น จึงมีทางรถไฟทั้ง 1.067 และ 1.435

จากนั้นประเทศที่ผุดรถไฟความเร็วสูงมาใหม่ จึงยึดที่ 1.435 (รวมถึงยุโรปที่ใช้ 1.435 ไปเลย เพราะจะได้อัปเกรดทางเดิมได้โดยไม่ต้องสร้างเพิ่ม แต่รถจะวิ่งสูงสุดแค่ 210-230 บนทางเดิม)

สำหรับต้นทุน รถไฟความเร็วสูง 'สูงกว่ารถไฟทางคู่' ครับ มันคนละเทคโนโลยีกัน

ข้อต่อมา ทำไมต้องทำทางคู่

อันนี้แหละคือ โครงข่ายที่สมบูรณ์ที่สุดในการเข้าถึง 'พื้นที่เล็ก' แบบ INtercity รถไฟความเร็วสูงเป็นแค่ option ที่เสริมมาหลังจากที่โครงข่ายปกติมี capacity ที่สูง (เช่น โตเกียว-โอซาก้า ในยุคนั้นที่มี traffic สูงมาก และทางเดิมไม่พอกับปริมาณความต้องการ ประกอบกับมีการติดต่อกันระหว่างสองเมืองที่มีแบบตลอดแบบ Business ซึ่งกรณีนี้รถไฟความเร็วสูงมันได้ทำหน้าที่ 'เสมือนทางด่วน' ของรถยนต์ และทางรถไฟธรรมดามันคือ ทางหลวงระหว่างเมือง

ถ้าให้คุณเข้าใจง่ายที่สุด...
- รถไฟธรรมดา = ถนนหลวง
- รถไฟความเร็วสูง = ทางด่วน

ถนนหลวงที่มีแค่ 1 เลน มันจะขับคล่องไม่ได้ มันก็ต้องขยายเลน เพราะไม่ใช่ทุกเมืองที่ต้องใช้ทางด่วน ไม่ใช่ทุกปลายทางที่ต้องขึ้นทางด่วน

นอกจากนี้ ยังมีชาวเน็ตจำนวนมาก ที่ได้อ่านข้อความดังกล่าวของ 'Chen Tai Shan' ต่างก็คอมเมนต์ไปในทิศทางเดียวกันว่า "คนโพสต์ยังแยกไม่ออกระหว่างขนาดความกว้างของราง กับ การทำทางคู่ ไม่ใช่รางคู่ รถไฟมันใช้รางคู่อยู่แล้ว" / "เมื่อคนไม่มีความรู้ไปพูดมั่ว ๆ เรื่องรถไฟ" / "ก่อนมีความเห็นควรมีความรู้ก่อน"

ส่วนเจ้าตัว เมื่อถูกชาวเน็ตท้วงติง ก็ออกมาโพสต์ตอบว่า... "เข้าใจครับและขอบคุณสำหรับความรู้ที่ให้ทุกท่านทราบในที่นี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ผู้บริหารผมไม่ขอพูดอะไรต่อครับ"

‘นางแบบเวเนซุเอลา’ ถูกรถไฟดูดร่าง ดับสลดที่เม็กซิโก หลังพยายามถ่ายรูป ให้มีรถไฟแล่นผ่านเป็นฉากหลัง

เมื่อวานนี้ (27 พ.ค.67) นสพ.The Sun ของอังกฤษ รายงานข่าว Model, 30, killed after clothes became tangled in passing high-speed train during photoshoot near tracks in Mexico ซึ่งระบุว่า ที่ประเทศเม็กซิโก เกิดอุบัติเหตุรถไฟชนคนเสียชีวิต โดยผู้ตายคือ ซินเธีย นาเยลี ฮิกาเรดา เบอร์เมโฮ (Cinthya Nayeli Higareda Bermejo) อายุ 30 ปี นางแบบสาวชาวเวเนซุเอลา เหตุเกิดที่บริเวณในเมืองซาโกอัลโก เดอ ตอร์เรส ใกล้เมืองกวาดาลาฮารา ทางภาคตะวันตกของเม็กซิโก

โดยรายงานว่า ก่อนเกิดเหตุ ผู้ตายได้เข้าไปยืนใกล้กับรางรถไฟ โดยหวังจะถ่ายภาพตนเองให้มีรถไฟแล่นผ่านเป็นฉากหลัง กระทั่งเมื่อรถไฟแล่นมาด้วยความเร็วสูง ได้เกิดแรงลมดูดเสื้อผ้าพร้อมดึงร่างของผู้ตายเข้าไป ส่งผลให้ถูกรถไฟชนเสียชีวิตดังกล่าว โดยหน่วยกู้ภัยได้นำร่างของนางแบบสาวรายนี้ส่งไปชันสูตร ก่อนจะมอบให้ญาตินำไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ขณะที่ โจอาคิน เมนเดซ รุยซ์ (Joaquin Mendez Ruiz) อัยการรัฐฮาลิสโก ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองซาโกอัลโก เดอ ตอร์เรส กล่าวว่า จากคำให้การของผู้เห็นเหตุการณ์ เบื้องต้นชี้ว่าคดีนี้เป็นอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตาม ยังมีการสืบสวนเพิ่มเติม

ขณะที่ Enstarz สำนักข่าวออนไลน์ในเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเน้นเสนอข่าวบันเทิง รายงานข่าว Model Killed After Clothes Get Tangled In High-Speed Train During Photoshoot ระบุว่า เหตุสลดที่เกิดขึ้นกับนางแบบสาววัย 30 ปี ชาวเวเนซุเอลารายนี้ เกิดขึ้นเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

'รางรถไฟ' ขนส่งหลักของไทยตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 มรดกความเจริญจาก 'รัชกาลที่ 5' ส่งไทยเป็นไทยได้เท่าทุกวันนี้!!

(9 มิ.ย.67) นายยุทธยงศ์ ลิ้มเลิศวาที สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์ข้อควาผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

เส้นทางรถไฟสายใต้จากกรุงเทพไปสถานีบัตเตอร์เวิร์ทรัฐปีนังของประเทศมาเลเซีย ต้องผ่านหน้าบ้านผมคืออำเภอนาบอน 

สะพานเหล็กที่เห็นอายุมากแล้ว ก่อนที่ประเทศไทยจะมีถนนเพชรเกษมสะดวกสบายทุกวันนี้ รางรถไฟเป็นโลจิสติกส์ขนส่งหลักของประเทศตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อเชื่อมร้อยรัฐสยามให้เป็นหนึ่งเดียว 

ผู้คนคงตั้งคำถามว่า เหล็กรางรถไฟ สะพานเหล็ก ยุคนั้นรัฐสยามเอามาจากไหน? เราผลิตเองไม่ได้?

รัชกาลที่ 5 ทรงสั่งซื้อทั้งหมดมาจากอังกฤษ ล่องเรือขนมาที่ท่าเรือสิงคโปร์ และเข้ามาทางท่าเรือกันตัง จ.ตรัง ปูนซีเมนต์เหล็กรางรถไฟ สะพานเหล็กที่เห็น ต้องใช้ช้าง เรือ ขนผ่านป่าดงพงไพร เพื่อมาให้กุลีชาวจีน และวิศวกรยุโรป นำมาวางสร้างเป็นทางรถไฟตราบเท่าทุกวันนี้ 

การใช้ช้าง ใช้ม้า ใช้เรือขนเหล็กวัสดุสร้างระบบรถไฟขึ้นในรัฐสยามนั้น คิดย้อนไปมันไม่ง่ายเลยกว่าเราจะมีประเทศไทยเท่าทุกวันนี้!!!

เปิดหวูด!! รถไฟ 'กรุงเทพฯ-เวียงจันทน์' วันละ 2 ขบวน เชื่อม 'ไทย-สปป.ลาว' 'เพิ่มทางเลือกท่องเที่ยว-ขนส่งโลจิสติกส์' ดีเดย์ขบวนแรก 19 ก.ค.นี้

เมื่อวานนี้ (10 ก.ค.67) นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย บูรณาการความร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว เพื่อขยายการให้บริการขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศ เส้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ - เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) - สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชน และขนส่งสินค้าระหว่างกัน

ล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย มีความพร้อมแล้วในการเปิดเดินขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศไทย - สปป.ลาว เส้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ - เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) - สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

โดยขบวนแรก ในวันที่ 19 ก.ค.นี้ พร้อมกับเปิดให้ผู้โดยสารจองตั๋วโดยสารได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซึ่งเปิดให้บริการไป-กลับ จำนวน 2 ขบวน ประกอบด้วย รถธรรมดา ชั้น 3 (พัดลม) 152 ที่นั่ง, รถนั่งปรับอากาศ ชั้น 2 จำนวน 64 ที่นั่ง และรถนั่งและนอนปรับอากาศ ชั้น 2 จำนวน 30 ที่นั่ง พ่วงไปกับขบวนรถเร็วที่ 133 นอกจากนี้ ยังได้เปิดให้บริการเส้นทางอุดรธานี - เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) - อุดรธานี ไป - กลับ อีก 2 ขบวน รวมเป็น 4 ขบวน/วัน

ทั้งนี้ ผู้ที่ประสงค์เดินทาง สามารถติดต่อซื้อตั๋วโดยสารและสำรองที่นั่งล่วงหน้า (สูงสุด 180 วัน) ที่สถานีรถไฟทุกแห่งทั่วประเทศ ซึ่งผู้โดยสารจะต้องมีหนังสือเดินทาง (Passport) หรือ หนังสือผ่านแดน (Border Pass) เพื่อใช้ในการทำพิธีการทางศุลกากร และตรวจคนเข้าเมืองที่สถานีหนองคาย และเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ก่อนการเดินทางข้ามประเทศ ขณะเดียวกันการรถไฟฯ ยังได้รับความร่วมมือจาก สมาคมผู้ประกอบการขนส่งที่เวียงจันทน์ ในการจัดรถโดยสารรับ-ส่ง อำนวยความสะดวกในการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ อีกด้วย

นายเอกรัช กล่าวว่า การเปิดเดินขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศ ไทย - สปป.ลาว ครั้งนี้ นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนทั้งสองประเทศแล้ว ยังช่วยยกระดับระบบขนส่งโลจิสติกส์ไทย ให้กลายเป็นศูนย์กลางภูมิภาคตามนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาล ซึ่งสอดรับกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการให้การรถไฟฯ เป็นกำลังหลักในการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศ โดยให้เตรียมความพร้อมขั้นสูงสุดในทุกด้าน ๆ ก่อนที่จะมีเปิดให้บริการเดินรถเต็มรูปแบบ

นอกจากนี้ ยังช่วยสนับสนุนการค้าชายแดนระหว่างไทย - สปป.ลาว ให้มีการขยายตัวมากขึ้น พร้อมกับขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว Tourism Hub ที่สำคัญของโลก ตามยุทธศาสตร์ เมืองหลักและเมืองน่าเที่ยวของรัฐบาล โดยขบวนรถสามารถรับส่งผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบิน มาลงยังสนามบินอุดรธานี เพื่อเดินทางต่อเข้าไปนครหลวงเวียงจันทน์ได้ โดยไม่ต้องต่อรถโดยสารอื่นอีก ซึ่งจะก่อให้ประโยชน์ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวในอนาคตอีกด้วย

ผู้ผลิตรถไฟจีนสุดเจ๋ง เปิดตัวรถไฟพลังงานไฮโดรเจน ทำความเร็ว 200 กม./ชม. ปล่อยมลพาเป็นศูนย์

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ซีอาร์อาร์ซี คอร์เปอเรชัน ลิมิเต็ด (CRRC) ผู้ผลิตรถไฟของจีน ได้เปิดตัวรถไฟพลังงานไฮโดรเจน 'ซิโนวา เอช2' (CINOVA H2) ที่งานมหกรรมการค้าเทคโนโลยีการขนส่งนานาชาติ หรืออินโนทรานส์ (InnoTrans) ปี 2024 ในกรุงเบอร์ลินของเยอรมนี เมื่อไม่นานนี้

รถไฟพลังงานไฮโดรเจน ซิโนวา เอช2 สามารถทำความเร็วสูงถึง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ และวิ่งไกลถึง 1,200 กิโลเมตร ณ ความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมบรรทุกผู้โดยสาร 1,000 คน ด้วยเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเต็มถัง

ทั้งนี้ รถไฟพลังงานไฮโดรเจน ซิโนวา เอช2 ซึ่งใช้ไฮโดรเจนน้อยกว่า 0.3 กรัมต่อผู้โดยสารต่อกิโลเมตร จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอน 730 ตันต่อปี เมื่ออ้างอิงระยะทางการเดินรถราว 3 แสนกิโลเมตรต่อปี

ขนส่งแบตเตอรี่ลิเธียมทางรถไฟ สร้างตู้ขนส่งโดยเฉพาะ มั่นใจปลอดภัยไม่ระเบิด

(20 พ.ย.67) บริษัท การรถไฟแห่งประเทศจีน จำกัด ได้ดำเนินการทดลองขนส่งแบตเตอรี่ลิเธียมสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าปริมาณมากครั้งแรกของประเทศเมื่อวันอังคาร (19 พ.ย.) โดยรถไฟบรรทุกแบตเตอรี่ลิเธียม จำนวน 3 ขบวน เดินทางออกจากเทศบาลนครฉงชิ่ง มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) และมณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

รายงานระบุว่าจีนเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมรายใหญ่ที่สุดของโลก และนี่เป็นก้าวสำคัญของการขนส่งแบตเตอรี่ยานยนต์ ซึ่งจัดเป็นสินค้าอันตรายและเดิมทีขนส่งทางทะเลหรือทางถนนเท่านั้น โดยการขนส่งแบตเตอรี่ลิเธียมมีความเสี่ยงตรงที่อาจเกิดไฟลุกไหม้หรือระเบิดหากถูกเขย่ากระแทก

เจี่ยผิง รองผู้จัดการทั่วไปของบริษัท การรถไฟแห่งประเทศจีน สาขาเฉิงตู จำกัด กล่าวว่าการทดลองเดินรถครั้งนี้ใช้ตู้คอนเทนเนอร์แบบใหม่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อขนส่งแบตเตอรี่ลิเธียมโดยเฉพาะ โดยตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวผลิตจากวัสดุไม่ติดไฟ พร้อมติดตั้งเครื่องตรวจจับควัน อุณหภูมิ และอุปกรณ์ระบายอากาศไว้ด้วย

เจี่ยชี้ว่าการขนส่งทางรางจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่การส่งออกแบตเตอรี่ลิเธียมของจีน เนื่องจากสามารถขนส่งได้มากกว่าการขนส่งทางบกและรวดเร็วกว่าการขนส่งทางทะเล

บริษัท คอนเทมโพรารี แอมเพอเร็กซ์ เทคโนโลยี จำกัด (CATL) ผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำของจีน แสดงความยินดีกับการทดลองเดินรถครั้งนี้ โดยหลิวเจี๋ย ฝ่ายห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ของบริษัทฯ กล่าวว่าการทดลองขนส่งทางรางถือเป็นการรับรองประสิทธิภาพความปลอดภัยของแบตเตอรี่ลิเธียมภายในประเทศเพิ่มเติม

หลิวทิ้งท้ายว่าการขนส่งทางรางเปิดช่องทางใหม่อันมีประสิทธิภาพในการขนส่งแบตเตอรี่ลิเธียม และจะกระตุ้นการส่งออกด้วยต้นทุนโลจิสติกส์ที่ลดลงและประสิทธิภาพทางโลจิสติกส์ที่พัฒนาดีขึ้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top