Tuesday, 22 April 2025
ยุนซอกยอล

สรุปเหตุการณ์ 'ยุนซอกยอล' ชิงประกาศกฎอัยการศึก แต่สภาปัดตกโหวตคว่ำ จบ 3 ชั่วโมงแห่งวิกฤตการเมืองโสมใต้

(4 ธ.ค. 67) เปิดไทม์ไลน์ประธานาธิบดียุนซอกยอลประกาศกฎอัยการศึก โกลาหลทั้งเกาหลีใต้ สุดท้ายสภาโหวตเอกฉันท์เป็นโมฆะ จับตาอนาคตผู้นำเกาหลีถูกถอดถอน 

ช่วงคืนวันที่ 3 ธ.ค.67 เกาหลีใต้เผชิญความสั่นคลอนทางการเมืองที่ตึงเครียดที่สุดในรอบหลายสิบปี เมื่อประธานาธิบดียุนซอกยอล ประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉิน โดยอ้างว่ามี "กองกำลังต่อต้านรัฐที่ได้รับการสนับสนุนโดยเกาหลีเหนือ" ที่วางแผนก่อกบฏ เหตุการณ์นี้สร้างความตึงเครียดอย่างหนักทั่วประเทศ ก่อนที่สมาชิกรัฐสภาจะลงมติยกเลิกกฎอัยการศึกภายในเวลาเพียง 157 นาที

เวลา 22:23 น. ประธานาธิบดียุนแถลงผ่านโทรทัศน์ถึงการประกาศกฎอัยการศึกฉบับที่ 1 โดยให้เหตุผลอ้างว่าจำเป็นเพื่อปกป้องประชาธิปไตยและความปลอดภัยของประชาชนจากการโค่นล้มระบบรัฐบาล ข้อบังคับกฎอัยการจะสั่งระงับกิจกรรมทางการเมืองทุกประเภท ควบคุมสื่ออย่างเข้มงวด และกำหนดให้บุคลากรทางการแพทย์กลับมาปฏิบัติหน้าที่  

คำสั่งนี้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง โดยฝ่ายค้านนำโดยนายอี แจ-มยอง ประกาศประชุมฉุกเฉินเพื่อเพิกถอนคำสั่ง ขณะที่นายฮัน ดง-ฮุน หัวหน้าพรรคฝ่ายรัฐบาลเองก็ออกมาต่อต้านคำสั่งดังกล่าวด้วยเช่นกัน

เวลา 23:00 น. หลังกฎอัยการศึกเริ่มมีผลบังคับใช้ กองกำลังติดอาวุธเข้าควบคุมอาคารรัฐสภา สร้างความตึงเครียดสูงสุด สมาชิกรัฐสภาจำนวนมากพยายามฝ่าด่านเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าสู่อาคาร ท่ามกลางประชาชนชาวเกาหลีใต้กลุ่มใหญ่ออกมาชุมนุมหน้ารัฐสภาเพื่อปิดกั้นทหารและพยายามเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าไปภายใน

เวลา 24:00 น. การประชุมรัฐสภาเริ่มต้นขึ้นอย่างทุลักทุเล เมื่อสมาชิกเกิน 150 คน เข้าร่วมครบองค์ประชุม ท่ามกลางแรงกดดันจากกองกำลังทหารที่พยายามปิดกั้นการประชุม  

เวลา 01:01 น. ญัตติการยกเลิกกฎอัยการศึกถูกเสนอ ทั้งพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลต่างลงเสียงเป็นเอกฉันท์ ในเวลา 01:04 น. กองกำลังติดอาวุธจึงเริ่มถอนตัวออกจากอาคารรัฐสภา แม้ว่ากองทัพจะยืนยันว่ากฎอัยการศึกยังมีผลอยู่ ขณะที่ประชาชนยังคงชุมนุมอยู่บริเวณด้านนอก เช่นเดียวกับสมาชิกรัฐสภาที่เข้าประชุมอยู่ภายในตลอดทั้งคืน จนกระทั่งเวลา 04:26 น. ประธานาธิบดียุนแถลงผ่านโทรทัศน์ ยอมรับมติรัฐสภาและสัญญาจะประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อยกเลิกอย่างเป็นทางการ  

ต้นสายปลายเหตุของวิกฤตการเมืองครั้งนี้ต้องย้อนไปเมื่อ 11 เมษายน 67 ผลการเลือกตั้งในเกาหลีใต้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับรัฐบาลของ ประธานาธิบดียุน ซอคยอล โดยพรรคฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปไตย (DP) และพรรคพันธมิตร สามารถคว้าชัยชนะได้ 175 ที่นั่งในสภา เพิ่มขึ้นจากเดิม 169 ที่นั่ง ในขณะที่พรรครัฐบาล พรรคพลังประชาชน (PPP) และพันธมิตร ได้เพียง 108 ที่นั่ง ลดลงจากเดิม 131 ที่นั่ง จากจำนวนที่นั่งทั้งหมด 300 ที่นั่ง

ความไม่พอใจของประชาชน ต่อการบริหารงานของรัฐบาลยุนสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนผ่านผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ส่งผลให้รัฐบาลกลายเป็น "รัฐบาลเสียงข้างน้อย" หรือที่หลายคนเรียกว่า "ยุนเป็ดง่อย" เพราะขาดเสียงสนับสนุนในสภา ในขณะที่รัฐบาลยุนเพิ่งครองอำนาจมาได้เพียง 1 ปีเศษ กว่าจะหมดว่าระในปี 2570 ทำให้รัฐบาลยุนแทบไม่สามารถขยับตัวทำอะไรได้มากนัก

เมื่อพรรคประชาธิปไตย (DP) และพรรคพันธมิตรสามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้ ส่งผลให้เกิดการคว่ำร่างงบประมาณประจำปี ซึ่งตามธรรมเนียมการเมืองของโสมขาว อาจนำไปสู่การยุบสภาหรือการลาออกของประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดียุนกลับเลือกใช้วิธีการที่สร้างความตกตะลึง โดยประกาศกฎอัยการศึกและกล่าวหาว่าฝ่ายค้านมีความเชื่อมโยงกับเกาหลีเหนือ

ไม่เพียงแค่นั้น รัฐบาลของยุนยังต้องเผชิญกับแรงกดดันทั้งจากการบริหารประเทศที่ไร้เสถียรภาพและปัญหาด้านภาพลักษณ์ โดยเฉพาะกรณี ภรรยาของประธานาธิบดี ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการปั่นหุ้นและการรับของขวัญเกินมูลค่าที่กฎหมายกำหนด

เหตุการณ์ในคืนวันที่ 3 ธ.ค. ครั้งนี้ทำให้หลายฝ่ายวิจารณ์การบริหารงานของประธานาธิบดียุนว่าอ่อนแอและไร้ประสิทธิภาพ ตั้งแต่เขาเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากการบริหารประเทศไม่เป็นไปตามคาด และการสูญเสียเสียงข้างมากในรัฐสภาหลังพรรคฝ่ายค้านชนะเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่ายุนใช้กฎอัยการศึกเพื่อแก้ปัญหาการเมืองที่ตึงเครียดจากการถูกคัดค้านในรัฐสภา แต่กลับสร้างแรงต้านมหาศาลทั้งในประเทศและจากนักการเมืองพรรคของเขาเอง  

คาดหมายกันว่าภายในไม่เกิน 2 วันข้างหน้าประธานาธิบดียุนอาจถูกรัฐสภายืนถอดถอนออกจากตำแหน่งก็เป็นได้ เกมการเมืองเกาหลีมีท่าว่าจะได้เปลี่ยนตัวประธานาธิบดีใหม่ในเร็วๆนี้ 

รู้จัก 'กลุ่มชุงอัม' พรรคพวก 'ยุนซอกยอล' เพื่อนร่วมรุ่นมัธยม กุมอำนาจฝ่ายความมั่นคงเกาหลีใต้

(4 ธ.ค.67) การเมืองเกาหลีใต้ร้อนระอุ หลังประธานาธิบดียุนซอกยอล ประกาศกฎอัยการศึกช่วงกลางดึกของคืนวันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยกล่าวหาว่าพรรคฝ่ายค้านที่ครองเสียงข้างมากในรัฐสภา มีพฤติการณ์ต่อต้านรัฐโดยได้รับการสนับสนุนจากเกาหลีเหนือ ส่งผลให้สมาชิกรัฐสภาเรียกประชุมฉุกเฉิน ทั้งสส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ลงมติเอกฉันท์โหวตคว่ำกฎอัยการศึก ส่งผลให้ต่อมาประธานาธิบดียุนซอกยอล ยอมยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกในที่สุด 

ในรายงานข่าวของสื่อเกาหลีใต้ระบุถึงแหล่งข่าวว่า การประกาศกฎอัยการศึกของยุนซอกยอลได้รับการวางแผนและการสนับสนุนจาก 'กลุ่มชุงอัม' (Chungam faction) ซึ่งเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมชุงอัมในกรุงโซล ซึ่งเป็นโรงเรียนเดียวกันกับที่ยุนซอกยอลเรียนจบ

สมาชิกกลุ่มชุงอัม ถูกระบุว่าเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของยุนซอกยอล โดยศิษย์เก่าโรงเรียนชุงอัมหลายคน ปัจจุบันมีบทบาทใกล้ชิดประธานาธิบดียุนซอกยอล ทั้งสิ้น หลายคนดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลยุน ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรอง หรือหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัย

คีย์แมนคนสำคัญในเหตุการณ์คืนวันที่ 3 ธ.ค. คือ คิมยองฮยอน รัฐมนตรีกลาโหม ผู้เป็นอดีตรุ่นพี่ของประธานาธิบดียุนซอกยอนในโรงเรียนมัธยมชุงอัม ได้หลีกเลี่ยงที่จะรับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีของเกาหลีใต้ แต่กลับรับคำสั่งโดยตรงจากประธานาธิบดี โดยคิมยองฮยอน ได้สั่งให้กองพลรบพิเศษทางอากาศที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยรบพิเศษ ที่ได้ฉายาว่า 'หน่วยอีเกิล' ภายใต้กองบัญชาการสงครามพิเศษของกองทัพบกเกาหลีบุกเข้าอาคารรัฐสภา

บุคคลสำคัญอีกรายคือ พลเอกปาร์กอันซู อดีตรุ่นน้องจากโรงเรียนมัธยมชุงอัน ซึ่งเมื่อเดือนตุลาคม ปี 66 ยุนซอกยอล ได้แต่งตั้งเขาให้ดำรงตำแหน่งเสนาธิการกองทัพบกเกาหลีใต้ ทั้งรับหน้าที่เป็นนายทหารผู้บังคับบัญชากฎอัยการศึกด้วย อย่างไรก็ตามมีรายงานอีกฝ่ายระบุว่า พลเอกปาร์กอันซู ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มชุงอันตามข่าว โดยว่าเขาจบจากโรงเรียนมัธยม Deokwon ในเมืองแดกู และเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยเกาหลีใต้รุ่นที่ 46 

นอกจากบรรดาสายทหารแล้ว ยุนซอกยอน ยังได้แต่ตั้งนาย อีซังมิน รุ่นน้องจากโรงเรียนมัธยิมชุงอัม อีกทั้งยังเป็นอดีตผู้พิพากษาให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในและความปลอดภัยสาธารณะ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลกองกำลังตำรวจโดยตรง ในคืนกฎอัยการศึกมีรายงานว่า นายอีซังมิน ได้สั่งการโดยตรงต่อตำรวจนครบาลกรุงโซลให้เขาควบคุมพื้นที่อาคารรัฐสภา โดยหลีกเลี่ยงที่จะสั่งการผ่านหน่วยงานตำรวจแห่งชาติเกาหลี

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พรรคฝ่ายค้านเคยออกมาเตือนเรื่องความเป็นไปได้ในการประกาศกฎอัยการศึกโดยกลุ่มชุงอัม แต่ทางสำนักประธานาธิบดีออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ในเกาหลีใต้ยังไม่มีความชัดเจน แต่นักวิเคราะห์การเมืองต่างเห็นพ้องกันว่าการประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้สะท้อนถึงความตึงเครียดภายในรัฐบาลที่แตกขั้วอย่างชัดเจนเพราะในคณะรัฐมนตรีเกาหลีบางราย ไม่ทราบถึงการเตรียมประกาศกฎอัยการศึกมาก่อน จึงมองได้ว่าความวุ่นวายเมื่อคืนวันที่ 3 ธ.ค. เป็นความพยายามรักษาอำนาจของ 'กลุ่มชุงอัม' ของประธานาธิบดียุนซอกยอลอย่างชัดเจน

ย้อนดูเส้นทางผู้นำเกาหลีใต้ จุดจบเจอยึดอำนาจ - ลอบสังหาร - ติดคุก

(4 ธ.ค. 67) จากความวุ่นวายทางการเมืองเกาหลีใต้เมื่อคืนวันที่ 3 ธ.ค. ประธานาธิบดียุนซอกยอล ประกาศกฎอัยการศึก โดยอ้างความจำเป็นเพื่อปกป้องประเทศจากกลุ่มการเมืองที่เกาหลีเหนือหนุนหลังและกลุ่มต่อต้านรัฐที่พยายามทำลายอำนาจรัฐบาล จนสุดท้ายรัฐสภาเกาหลีลงมติเอกฉันท์โหวตคว่ำกฎอัยการศึก ส่งผลให้ในเวลาต่อมาประธานาธิบดียุน ยินยอมประกาศถอนกฎอัยการศึก 

การตัดสินใจของยุนซอกยอล ส่งผลให้เขาอาจถูกสภาเกาหลีใต้ลงมติถอดถอนในเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งหากสภามีมิตเป็นเอกฉันท์ ตามขั้นตอนต่อไปต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีพิจารณา หากศาลพิพากษามีมิตมากกว่า 2 ใน 3 เสียง นายยุนจะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง นอกจากนี้เขายังเสี่ยงถูกดำเนินคดีภายหลังจากพ้นตำแหน่งด้วย ซึ่งหากย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลีใต้ ส่วนใหญ่แล้วผู้นำเกาหลีใต้มักมีจุดจบที่ไม่ได้สวยนักหลังลงจากตำแหน่ง สำนักข่าวสปุตนิกพาย้อนดูจุดจบอดีตผู้นำเกาหลีใต้ในแต่ละยุคสมัยว่ามีจุดจบที่แตกต่างกันเช่นไร

อีซึงมัน ประธานาธิบดีเกาหลีคนแรก ภายหลังจากเกาหลีได้รับเอกราชในปี 1945 อีได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา รับเลือกเป็นผู้นำของรัฐบาลเกาหลี 1948 ก่อนจะถูกประชาชนโค้นล้มในปี 1960

ยุนโพซุน สืบตำแหน่งต่อจากอีซังมัน ปกครองเกาหลีได้สองป ก่อนถูกรัฐประหารในปี 1962 

ปาร์คชุงฮี ผู้ที่ยึดอำนาจจากยุนโพซุน ปกครองเกาหลีใต้นาน 17 ปี ก่อนจะถูกลอบสังหารโดย คิมแจกยู อดีตหัวหน้าฝ่ายข่าวกรองแห่งชาติเกาหลีในปี 1979

ชอยกยูฮา ผู้นำที่ดำรงตำแหน่งไม่ถึง 10 เดือน ก่อนถูกโค่นล้มในการรัฐประหารในปี 1980

ชอนดูฮวาน ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำเกาหลีใต้ที่ปกครองแบบเผด็จการ ปกครองเกาหลีต่อจากชอยกยูฮา ก่อนจะลาออกจากตำแหน่งใน 1988 หลังจากการปฏิวัติทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตยในปี 1987 ถูกตัดสินประหารชีวิตในปี 1996 จากการมีส่วนร่วมในเหตุการณ์สังหารหมู่ในกวางจูในปี 1980 แต่ได้รับอภัยโทษในปีถัดมา และเสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านในปี 2021

ต่อมาคือ โนเทอู  ทหารที่กลายมาเป็นประธานาธิบดี ปกครองประเทศระหว่างปี 1988-1993 และรับผิดชอบในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย ทว่าถูกจับในปี 1995 จากความเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารปี 1980 ถูกตัดสินจำคุก 22 ปี แต่ได้รับการอภัยโทษพร้อมกับชอนดูฮวาน

คิมยังซัม ปกครองระหว่างปี 1993-1998 ถูกจำคุกในช่วงปกครองของปาร์คจุงฮี ก่อนจะได้รับการอภัยโทษในเวลาต่อมา

คิมแดจุง ดำรงตำแหน่งในปี 1998 ปกครองประเทศจนถึงปี 2003 เคยถูกคุมขังในยุคของปาร์คจุงฮี จากการที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลปาร์กจุฮีในยุคนั้น ได้รับโทษตัดสินประหารชีวิต แต่ได้รับอภัยโทษจากชอนดูฮวาน ในสมัยทีดำรงตำแหน่งผู้นำเกาหลี เขาเคยลงนามอภัยโทษให้ทั้งโนเทอู และชอนดูฮวาน คิมแดจุงได้ชื่อว่าเป็น เนลสัน แมนเดลาแห่งเอเชีย  เขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปี 2000 

โนมูฮยอน ปกครองระหว่างปี 2003-2008 ถูกสอบสวนจากข้อหากระทำการโกงเลือกตั้งและถูกรัฐสภาถอดถอน แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ยอมรับคำถอดถอนของรัฐสภาจึงไม่ได้รับการลงโทษ พลิกคำตัดสินถอดถอนของรัฐสภาเขาอย่างไรก็ตาม เขาฆ่าตัวตายในปี 2009 ท่ามกลางการสอบสวนของกระทรวงยุติธรรมเกี่ยวกับการทุจริต

อี มยองบัก ปกครองประเทศระหว่างปี 2008-2013 ถูกจับในข้อหายักยอกทรัพย์สินและฉ้อฉลในปี 2018 ถูกตัดสินจำคุก 15 ปี และได้รับอภัยโทษจากประธานาธิบดียุนซอกยอลในปี 2022

ปาร์คกึนเฮ ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้  ปกครองระหว่างปี 2013-2017 ถูกถอดถอนในปี 2016 และถูกตัดสินจำคุก 25 ปีจากข้อหาคอร์รัปชัน

มุนแจอิน เป็นเพียงประธานาธิบดีเกาหลีใต้ไม่กี่คนที่ลงตำแหน่งโดยปราศจากข้อครหา ไม่มีคดีความใดๆ มุนแจอิน ปกครองเกาหลีระหว่าง  2017-2022 ถือว่าเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จได้รับคะแนนนิยมอย่างสูง อีกทั้งยังเป็นผู้นำเกาหลีใต้คนแรกที่เปิดการเจรจากับเกาหลีเหนือผ่านการทูตแบบตัวต่อตัวกับนายคิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ 

และปัจจุบันคือประธานาธิบดียุนซอกยอล ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤศภาคม 2022 และเป็นที่น่าจับตาว่าอาจจะถูกถอดถอนและถูกดำเนินคดีจากกรณีประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าว

รัฐสภาเตรียมถอดถอน-ครม.จ่อลาออกยกชุด เกาหลีลงถนนประท้วง "ยุนซอกยอล" ประกาศกฎอัยการศึก

(4 ธ.ค. 67) ประธานาธิบดียุนซอกยอล ของเกาหลีใต้ กำลังเผชิญแรงกดดันให้ถูกถอดถอนจากตำแหน่ง หลังจากการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อคืนที่ผ่านมา แม้ว่าเขาจะยกเลิกคำสั่งในเช้าวันนี้ แต่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ยังคงรุนแรง  

ขณะที่ 4 ธ.ค. พรรคประชาธิปไตยและพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ในเกาหลีใต้ได้ยื่นญัตติถอดถอนประธานาธิบดียุนซอกยอล โดยมีสาเหตุมาจากการประกาศใช้กฎอัยการศึกอย่างกะทันหันในคืนวันที่ 3 ตุลาคม ซึ่งสร้างความตกตะลึงทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ  

แม้กฎอัยการศึกดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เพียง 6 ชั่วโมงก่อนจะถูกรัฐสภาลงมติยกเลิกในเช้าวันถัดมา แต่เหตุการณ์นี้ทำให้ยุนเผชิญกับกระแสกดดันอย่างหนักจากทั้งประชาชนและสมาชิกสภา อย่างไรก็ตาม ยุนยังคงปฏิเสธที่จะลาออกและเลือกที่จะเก็บตัวเงียบ โดยในช่วงเช้าวันที่ 4 ธันวาคม เขาได้ยกเลิกภารกิจทางการทั้งหมด  

สำนักงานประธานาธิบดีเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ที่ปรึกษาอาวุโสและเลขานุการส่วนตัวของยุนหลายคนได้เสนอขอลาออก ขณะที่รัฐมนตรีหลายคน รวมถึงนายคิมยองฮยุน รัฐมนตรีกลาโหม ก็กำลังเผชิญเสียงเรียกร้องให้ลาออกจากกรณีสนับสนุนการใช้กฎอัยการศึก ซึ่งถูกมองว่าเป็นความผิดพลาดทางการเมืองครั้งใหญ่

สื่อเกาหลีใต้รายงานว่าคณะรัฐมนตรีของเกาหลีใต้แสดงความตั้งใจจะลาออกจากตำแหน่งยกชุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลในการดำเนินมาตรการเพื่อตอบโต้วิกฤตการเมืองของประเทศ

รายงานข่าวเผยว่าฮัน ด็อก-ซู นายกรัฐมนตรีของเกาหลีใต้ แสดงความพร้อมที่จะ "รับใช้ประชาชนจนวินาทีสุดท้าย" โดยฮันมีกำหนดพบปะกับหัวหน้าพรรคพลังประชาชน (People Power Party) และผู้ช่วยอาวุโสของประธานาธิบดียุน ซ็อก-ย็อลช่วงบ่ายวันพุธ (4 ธ.ค.)

ขณะที่สมาพันธ์สหภาพแรงงานเกาหลี (KCTU) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ได้ออกมาเคลื่อนไหว โดยการโพสต์ข้อความผ่านโลกออนไลน์ ระบุว่า การประกาศกฎอัยการศึกระยะสั้นของยุนว่าเป็น "อาชญากรรมแห่งการก่อกบฏ" พร้อมทั้งเรียกร้องให้สมาชิกมากกว่า 1 ล้านคนมารวมตัวกันที่กรุงโซลและสถานที่อื่นๆ ในเช้าวันพุธ เพื่อต่อต้านการเคลื่อนไหวดังกล่าว

ตามรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ รัฐสภามีอำนาจยื่นญัตติถอดถอนประธานาธิบดีหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงได้ หากพบว่ามีการกระทำผิดรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย โดยกระบวนการนี้ต้องได้รับเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภาซึ่งมีทั้งหมด 300 คน  

ในปัจจุบัน พรรคฝ่ายค้าน รวมกับพรรคเล็ก มีเสียงรวม 192 เสียง เสียงเกินครึ่งนึง ขณะที่ขณะที่พรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นรัฐบาล มี 108 เสียง แม้สมาชิกของพรรครัฐบาลจะลงมติไม่เห็นด้วยต่อการประกาศกฎอัยการศึก แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะสนับสนุนการถอดถอนหรือไม่

หากรัฐสภามีมติถอดถอน ประธานาธิบดีจะถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ทันที โดยนายกรัฐมนตรีจะขึ้นรักษาการแทน ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาสูงสุด 6 เดือนในการพิจารณาคำร้อง พร้อมตัดสินด้วยคะแนนเสียง 6 ใน 9 เสียง  

ปัจจุบัน ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้มีผู้พิพากษาไม่ครบองค์คณะ เนื่องจากว่างอยู่ 3 ตำแหน่ง ยังไม่ชัดเจนว่าจะดำเนินการพิจารณาได้หรือไม่  

ที่ผ่านมา มีการถอดถอนประธานาธิบดีเกาหลีใต้แล้วหลายครั้ง ตัวอย่างสำคัญคือ นางปาร์กกึนฮเย ประธานาธิบดีหญิงคนแรก ถูกถอดถอนเมื่อปี 2017 ในข้อหาคบคิดกับคนสนิทและใช้อำนาจโดยมิชอบ ในขณะที่นายโนห์มูฮยอน ถูกยื่นญัตติถอดถอนเมื่อปี 2004 แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินไม่รับญัตติ ทำให้เขาดำรงตำแหน่งจนครบวาระ  

หากยุนซอกยอนถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง หรือหากเขาลาออกเอง การเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่จะต้องเกิดขึ้นภายใน 60 วัน โดยในระหว่างนั้นนายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรักษาการ  

‘ปธน.เกาหลีใต้’ รอด!! ถอดถอน ปม ‘ประกาศกฎอัยการศึก’ หลังสมาชิกสภาพรรครัฐบาล คว่ำบาตร!! การลงมติ

(8 ธ.ค. 67) สมาชิกรัฐสภาของพรรครัฐบาล คว่ำบาตรการลงมติถอดถอน นาย ยุน ซอกยอล จากตำแหน่งประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ หลังจากตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึกเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

รายงานข่าว ระบุว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติของเกาหลีใต้ ล้มเหลวในการถอดถอนประธานาธิบดีของประเทศจากกรณีที่เขาพยายามประกาศกฎอัยการศึกในช่วงเวลาสั้น ๆ

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายเพื่อลงมติถอดถอนประธานาธิบดียุน ซุกยอล ล้มเหลว โดยขาดไปเพียงสามคะแนน จากเสียงทั้งหมดที่ต้องการ 200 คะแนนเพื่อขับเขาออกจากตำแหน่ง ในการลงมติครั้งนี้ สมาชิกของพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นพรรคของฝ่ายรัฐบาลจำนวนมากไม่เข้าร่วมการลงมติ

กระทั่ง เวลาประมาณ 19.30 น. ของวันที่ 7 ธ.ค.67 (ตามเวลาประเทศไทย) นาย วู วอนชิก ประธานสภาฯ เกาหลีใต้ ประกาศยุติการลงมติถอดถอน ‘ยุน ซอกยอล’ พ้นตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งเป็นเวลากว่า 3 ชม. หลังการลงมติเริ่มต้นขึ้น

โสมใต้สั่งตำรวจ-ทหารระดับสูง ห้ามเดินทางนอกประเทศ ปมพัวพันอัยการศึก

สำนักงานสอบสวนแห่งชาติ (NOI) ของเกาหลีใต้เปิดเผยเมื่อวันที่ 10 ธันวาคมว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารระดับสูง 5 นาย รวมถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถูกสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ท่ามกลางการสืบสวนกรณีประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดียุน ซุกยอล  

ทีมสืบสวนพิเศษของ NOI ระบุว่า บุคคลที่ถูกห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ได้แก่ โจ จีโฮ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, คิม บงซิก ผู้บัญชาการตำรวจนครหลวงกรุงโซล และมก ฮยอนแท หัวหน้ากองกำลังตำรวจประจำรัฐสภา  

คำสั่งดังกล่าวถูกกระทรวงยุติธรรมบังคับใช้เมื่อเวลา 20.00 น. ของวันที่ 9 ธันวาคม ตามเวลาท้องถิ่น โดยทั้งสามคนถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการควบคุมการเข้าสู่รัฐสภาระหว่างการบังคับใช้กฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม  

นอกจากนี้ ลี จินวู ผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันเมืองหลวง และควัก จองกึน อดีตผู้บัญชาการกองกำลังปฏิบัติการพิเศษกองทัพบก ก็ถูกสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศด้วย เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสืบสวนในคดีนี้เช่นกัน

ทั้งนี้ นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงในแวดวงตำรวจและทหารแล้ว ก่อนหน้านั้นทางการเกาหลีใต้ได้มีคำสั่งห้ามประธานาธิบดียุนซอกยอลเดินทางออกนอกประเทศเช่นกัน

ตร.โสมใต้ค้นทำเนียบประธานาธิบดี หาหลักฐาน 'ยุนซอกยอล' ปมกฎอัยการศึก

(11 ธ.ค.67) สำนักข่าวยอนฮับรายงานว่า ตำรวจเกาหลีใต้ได้บุกเข้าตรวจค้นทำเนียบประธานาธิบดี เพื่อสืบสวนข้อกล่าวหาว่า ประธานาธิบดียุน ซอกยอล ได้ก่อการกบฏด้วยการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ตามรายงานจากสำนักงานสืบสวนแห่งชาติ ซึ่งสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะเจ้าหน้าที่สืบสวนจำนวน 18 นาย ได้เข้าค้นหาหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการประกาศกฎอัยการศึก รวมถึงบันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรีที่จัดขึ้นไม่นานก่อนที่ประธานาธิบดียุนจะประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม

หมายค้นระบุว่า ประธานาธิบดียุนเป็นผู้ต้องสงสัย โดยมีสถานที่เป้าหมายในการตรวจค้น ได้แก่ ทำเนียบประธานาธิบดี ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี และหน่วยรักษาความปลอดภัยประธานาธิบดี

รายงานก่อนหน้านี้ระบุว่า ประธานาธิบดียุนไม่ได้อยู่ในอาคารขณะที่มีการตรวจค้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ

ประธานาธิบดียุนถูกระบุเป็นผู้ต้องสงสัยในข้อหาก่อการกบฏ และถูกสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งนับเป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนแรกที่ถูกห้ามเดินทางขณะยังดำรงตำแหน่ง

ตำรวจสงสัยว่าประธานาธิบดียุนอาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการวางแผนก่อการกบฏ ซึ่งขณะนี้การสืบสวนยังคงดำเนินต่อไป

หัวหน้าพรรครัฐบาลเกาหลีใต้ลาออก สวนทางฝ่ายค้านคะแนนนิยมพุ่ง

(16 ธ.ค. 67) ฮันดงฮุน หัวหน้าพรรคพลังประชาชน (PPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของเกาหลีใต้ ประกาศลาออกเมื่อวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม หลังจากที่รัฐสภาเกาหลีใต้ลงมติถอดถอนประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล การลาออกเกิดขึ้นไม่ถึงห้าเดือนหลังจากฮันได้รับเลือกให้เป็นผู้นำพรรค

ฮันเปิดเผยเหตุผลการลาออกว่า เนื่องจากสภาสูงสุดของพรรคฯ ได้ยุบตัวลงหลังจากสมาชิกพรรคลาออก ทำให้เขาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้นำพรรคได้ต่อไป พร้อมทั้งขอโทษประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่ยุนประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉินในคืนวันที่ 3 ธันวาคม แม้ว่าภายหลังจะมีการยกเลิกในอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมา

ก่อนหน้านี้ ฮันเคยผลักดันให้ยุน “ลาออกตามระเบียบ” และกล่าวว่าเขาพยายามอย่างเต็มที่เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ โดยไม่ต้องใช้มาตรการถอดถอนประธานาธิบดี

ในวันเดียวกัน รัฐสภาเกาหลีใต้ผ่านญัตติถอดถอนประธานาธิบดียุนเป็นครั้งที่สอง และส่งต่อเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อการพิจารณาภายใน 180 วัน ซึ่งระหว่างนั้นยุนจะถูกระงับอำนาจประธานาธิบดี

การลาออกของฮันทำให้ควอน ซอง-ดอง ผู้นำสมาชิกพรรคในรัฐสภา กลายเป็นรักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชนแทน

ในขณะเดียวกัน ผลสำรวจจากบริษัทเรียลมิเตอร์ (Realmeter) เผยว่า คะแนนสนับสนุนพรรคประชาธิปไตยเกาหลี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักของเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก่อนการพิจารณาถอดถอนประธานาธิบดีในครั้งที่สอง ผลการสำรวจระบุว่า คะแนนความนิยมของพรรคประชาธิปไตยเกาหลีเพิ่มขึ้นเป็น 52.4% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 4.8% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

ในขณะที่พรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นพรรครัฐบาลได้รับคะแนนลดลงเหลือ 25.7% ความแตกต่างของคะแนนระหว่างพรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นเป็น 26.7% นับตั้งแต่ยุนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนพฤษภาคม 2022

ก่อนหน้านี้ การลงมติถอดถอนครั้งแรกของรัฐสภาถูกยกเลิกไปเมื่อสัปดาห์ก่อน เนื่องจากสมาชิกพรรคพลังประชาชนส่วนใหญ่ปฏิเสธการลงคะแนนเสียง

ทั้งนี้ ยุนได้ประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉินในคืนวันที่ 3 ธันวาคม แต่ถูกเพิกถอนโดยรัฐสภาภายในไม่กี่ชั่วโมง หลังจากนั้นเขากลายเป็นผู้ต้องสงสัยในข้อหาก่อกบฏ และกลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลีใต้ที่ถูกห้ามออกนอกประเทศระหว่างดำรงตำแหน่ง

'ยุนซอกยอล' ปฏิเสธสอบปากคำ ปมประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉิน

(25 ธ.ค. 67) ยุน ซอก-ยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ผู้เผชิญการถอดถอนออกจากตำแหน่ง ได้ปฏิเสธหมายเรียกตัวสอบปากคำกรณีประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉินของหน่วยสอบสวนร่วมเป็นครั้งที่ 2 ในวันพุธ (25 ธ.ค.) หลังจากเขาไม่ได้ปฏิบัติตามหมายเรียกครั้งที่ 1 ในสัปดาห์ก่อนหน้านี้

หน่วยสอบสวนร่วมข้างต้นที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำนักงานใหญ่การสอบสวนของกระทรวงกลาโหม และสำนักงานสอบสวนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ระดับสูง (CIO) ได้ส่งหมายเรียกตัวครั้งที่ 2 แก่ยุนเมื่อวันศุกร์ (20 ธ.ค.) ซึ่งกำหนดการสอบปากคำยุน ตอน 10.00 น. ของวันพุธ (25 ธ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น

ปัจจุบันสำนักงานสอบสวนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ระดับสูง ซึ่งเป็นผู้ส่งหมายเรียกตัวครั้งแรก กำลังวางแผนรอยุนเข้ามาสอบปากคำภายในเวลาที่เหลือของวันพุธ (25 ธ.ค.) และจะตัดสินใจอีกครั้งภายในวันพฤหัสบดี (26 ธ.ค.) ว่าจะส่งหมายเรียกตัวครั้งที่ 3 หรือไม่ หากยุนไม่มาปรากฏตัวในวันพุธ (25 ธ.ค.)

ทั้งนี้ กลุ่มหน่วยงานสอบสวนของเกาหลีใต้ระบุยุนเป็นผู้ต้องสงสัยในข้อกล่าวหาก่อกบฏ หลังจากเขาประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ซึงถูกยกเลิกในอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมาเพราะรัฐสภาเกาหลีใต้ลงคะแนนเสียงไม่เห็นชอบด้วย

สภาเกาหลีใต้ลงมติ 192 เสียง ถอด 'ฮันด็อกซู' พ้นรักษาการปธน.

(27 ธ.ค. 67) นายฮันด็อกซู นายกรัฐมนตรีและในฐานะรักษาการประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ถูกลงมติถอดถอนจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียง 192 เสียง หลังจากที่เขารับหน้าที่แทน นายยุนซอกยอล ซึ่งถูกถอดถอนเมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา เนื่องจากการประกาศกฎอัยการศึก  

พรรคฝ่ายค้านที่ควบคุมเสียงข้างมากในสภา เป็นผู้ยื่นญัตติถอดถอนนายฮันเมื่อวันพฤหัสบดี โดยกล่าวหาว่าเขา “กระทำการเพื่อก่อการกบฏ” ข้อกล่าวหานี้เกิดขึ้นหลังนายฮันปฏิเสธการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ 3 คนทันที ซึ่งฝ่ายค้านมองว่าเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต  

ก่อนการลงมติ ประธานรัฐสภา นายอูวอนชิก ชี้แจงว่า การถอดถอนนายฮันครั้งนี้ต้องการเสียงข้างมาก 151 เสียง ซึ่งเป็นการปรับความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับเกณฑ์ที่ใช้ หลังมีความสับสนในประเด็นนี้ โดยปกติการถอดถอนประธานาธิบดีต้องการเสียง 200 เสียง  

หลังจากนายฮันถูกถอดถอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายชอยซังม็อก จะเข้ารับตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีตามกฎหมาย สถานการณ์นี้สะท้อนถึงวิกฤตการเมืองในเกาหลีใต้ที่มีแนวโน้มทวีความตึงเครียดขึ้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top