Tuesday, 22 April 2025
ยุนซอกยอล

'ยุนซอกยอล' ลุแก่อำนาจ สภาผลักดันถอดถอนพ้นปธน.

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยุน ซอก-ยอล สร้างความตกตะลึงให้กับทั้งประเทศด้วยการประกาศกฎอัยการศึกครั้งแรกในรอบเกือบ 50 ปี โดยกล่าวถึง 'กองกำลังต่อต้านรัฐ' และภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ ซึ่งทำให้ประชาชนและนักการเมืองจำนวนมากพากันตื่นตัวและแสดงความไม่พอใจ

แม้ว่าการประกาศดังกล่าวจะถูกอ้างถึงเพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากภายนอก แต่ไม่นานนักก็เริ่มชัดเจนว่ากฎอัยการศึกนี้อาจมีสาเหตุมาจากความพยายามของประธานาธิบดีในการจัดการปัญหาภายในประเทศ โดยเฉพาะปัญหาทางการเมืองที่เขากำลังเผชิญหน้า

ทันทีที่กฎอัยการศึกประกาศออกมา ผู้คนหลายพันคนได้ออกมาประท้วงหน้ารัฐสภาเกาหลีใต้ โดยเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการดังกล่าว พร้อมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จากพรรคฝ่ายค้านที่เร่งรุดไปที่รัฐสภาเพื่อทำการลงมติยกเลิก

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า การประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดียุนเกิดขึ้นในช่วงที่เขาถูกกดดันจากสถานการณ์ทางการเมืองภายใน โดยเขาอ้างว่าเป็นการดำเนินการเพื่อกำจัด "กองกำลังต่อต้านรัฐ" ซึ่งเขาเชื่อว่าอยู่ภายในเกาหลีใต้เอง

ภายใต้มาตรการกฎอัยการศึกนี้ทำให้กองทัพเกาหลีใต้มีอำนาจพิเศษ โดยทหารและตำรวจเต็มเครื่องแบบถูกส่งไปยังรัฐสภา พร้อมทั้งมีเฮลิคอปเตอร์บินลงจอดบนหลังคาของอาคารรัฐสภา ขณะที่มีการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่ตำรวจหน้ารัฐสภา แต่ความตึงเครียดไม่ได้บานปลายเป็นความรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ในเวลา 1:00 น. ตามเวลาท้องถิ่น รัฐสภาเกาหลีใต้ได้ลงมติยกเลิกกฎอัยการศึกด้วยคะแนน 190 เสียง ซึ่งทำให้กฎอัยการศึกที่ประกาศออกมาในตอนแรกเป็นโมฆะ โดยสมาชิกพรรคฝ่ายค้านในเกาหลีใต้ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการประกาศกฎอัยการศึก โดยระบุว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและละเมิดรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันผู้นำพรรคประชาธิปไตย (DP) ได้เรียกร้องให้สมาชิกพรรคมารวมตัวกันที่รัฐสภาเพื่อทำการโหวตคว่ำการประกาศดังกล่าว 

ประธานาธิบดียุนได้รับความนิยมที่ลดลงเรื่อย ๆ หลังจากการเลือกตั้งเดือนเมษายน 2024 โดยพรรคฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งและสามารถยับยั้งการผ่านกฎหมายของรัฐบาล ในช่วงที่ผ่านมา เขายังต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาคอร์รัปชันหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องที่สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งรับของขวัญจากดีออร์

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ในเวลาต่อมา วันที่ 14 ธันวาคม ที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติเกาหลีใต้ในกรุงโซล มีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 204 เสียง 'ถอดถอนประธานาธิบดี ยุน ซ็อกยอล' ออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศแล้ว นับเป็นการลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง (อิมพีชเมนท์) เป็นครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลีใต้ จากปัญหาอื้อฉาวกรณีการประกาศกฎอัยการศึกกลางดึกคืนวันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา

ในการโหวต มีสมาชิกรัฐสภา 204 ต่อ 85 เสียง ลงมติเห็นชอบกับญัตติดดังกล่าว นั่นหมายความว่ายุนจะถูกพักการปฏิบัติหน้าที่ทันที และ "นายกรัฐมนตรี" จะทำหน้าที่รักษาการประธานาธิบดีแทน

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ อำนาจและหน้าที่ในฐานะประธานาธิบดีเกาหลีใต้ของยุน ซ็อกยอล จะถูกระงับลงชั่วคราวทันที ประธานาธิบดีต้องพักการปฏิบัติหน้าที่ทันที "นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ ฮัน ด็อกซู" จะเข้ามารักษาการแทนชั่วคราว

ขั้นตอนต่อไป รัฐสภาจะต้องส่งเรื่องมติถอดถอนในสภาไปยัง "ศาลรัฐธรรมนูญ" ต่อ โดยศาลมีเวลาไต่สวน 180 วัน เพื่อพิจารณาว่าจะให้ยุนพ้นจากตำแหน่งหรือจะคืนอำนาจให้ตามเดิม หากศาลพิจารณาเห็นชอบตามรัฐสภา จะต้องมีการประกาศจัดการเลือกตั้งใหม่ตามมาภายใน 60 วัน นับตั้งแต่มีคำตัดสินของศาล

เกาหลีใต้ออกหมายจับ 'ยุนซอกยอล' ผู้นำคนแรกที่ถูกหมายจับขณะดำรงตำแหน่ง

(30 ธ.ค. 67) หน่วยสอบสวนร่วมของเกาหลีใต้เปิดเผยการขอหมายจับกุมยุน ซอก-ยอล ประธานาธิบดีที่ถูกถอดถอน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเกาหลีใต้ที่มีการยื่นขอหมายจับกุมประธานาธิบดีที่ยังอยู่ระหว่างดำรงตำแหน่ง

หน่วยสอบสวนร่วมที่ประกอบด้วยสำนักงานสอบสวนการทุจริตของคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูง สำนักงานสอบสวนแห่งชาติ และสำนักงานใหญ่การสอบสวนของกระทรวงกลาโหม ได้ยื่นขอหมายจับกุมยุนจากศาลแขวงโซลตะวันตกตอนเที่ยงคืน

ทั้งนี้ หน่วยสอบสวนร่วมเคยส่งหมายเรียกตัวยุนเข้าสอบปากคำ จำนวน 3 รอบ แบ่งเป็นวันที่ 18 ธ.ค. 25 ธ.ค. และ 29 ธ.ค. แต่ฝ่ายยุนปฏิเสธจะรับหมายเรียกดังกล่าว รวมถึงยังไม่ยื่นเอกสารสำหรับการแต่งตั้งทนายความฝ่ายจำเลยของตัวเอง

กลุ่มหน่วยงานสอบสวนของเกาหลีใต้ระบุยุนเป็นผู้ต้องสงสัยหลักในข้อกล่าวหาก่อกบฎ เนื่องด้วยกรณีเขาประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉินเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ซึ่งถูกยกเลิกในอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมาเพราะรัฐสภาเกาหลีใต้ลงคะแนนเสียงไม่เห็นชอบด้วย

ส่งจดหมายถึงกองเชียร์ ประกาศสู้จนถึงที่สุด ก่อนศาลตัดสินถอดถอน เกาหลีใต้เร่งจับกุม

(2 ม.ค. 68) ทนายความของประธานาธิบดียุน ซอกยอลแห่งเกาหลีใต้ ซึ่งถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่หลังจากประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ได้เปิดเผยข้อความผ่านจดหมายน้อยที่ประธานาธิบดียุนซอกยอลส่งถึงบรรดากลุ่มผู้สนับสนุนในวันที่ 1 มกราคม ระบุว่าเขาจะสู้จนถึงที่สุดหลังจากศาลเกาหลีใต้อนุมัติการออกหมายจับยุนเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ซึ่งทำให้เขากลายเป็นประธานาธิบดีที่ยังคงอยู่ในตำแหน่งคนแรกที่ต้องเผชิญการจับกุมในข้อหาก่อกบฏ

ข้อความในจดมหมายระบุว่า "ผมเห็นว่าพวกคุณกำลังต่อสู้อย่างหนักผ่านไลฟ์สดในยูทูป ผมจะต่อสู้จนถึงที่สุดเพื่อปกป้องประเทศนี้ร่วมกับพวกคุณ เนื่องจากกองกำลังภายในและภายนอก ละเมิดอำนาจอธิปไตยของประเทศ รวมถึงกิจกรรมของกลุ่มต่อต้านรัฐ เกาหลีใต้จึงตกอยู่ในอันตราย ผมจะต่อสู้จนถึงที่สุดเพื่อปกป้องประเทศนี้พร้อมกับทุกคน"

พรรคประชาธิปไตย (ดีพี) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านและมีเสียงข้างมากในสภา ได้ยื่นญัตติถอดถอนประธานาธิบดียุนเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม กล่าวว่า จดหมายของยุนไม่ช่วยให้เขาพ้นผิดแต่อย่างใด โดยนาย โจ ซึงแร โฆษกของพรรคดีพี กล่าวว่า ความพยายามในการก่อกบฏยังไม่เพียงพอสำหรับยุนและตอนนี้เขากำลังปลุกระดมให้ประชาชนลุกฮือขึ้น

สำนักงานการสอบสวนการทุจริตสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับสูง (CIO) ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการ มีเวลาที่จะดำเนินการหมายจับยุนจนถึงวันที่ 6 มกราคม และศาลมีกำหนดพิจารณาคดีถอดถอนประธานาธิบดีในวันที่ 3 มกราคม หากศาลตัดสินให้ยุนถูกถอดถอน จะมีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน

ทนายความของยุนกล่าวว่า การออกหมายจับประธานาธิบดีไม่ถูกต้องและผิดกฎหมาย เนื่องจาก CIO ไม่มีอำนาจทางกฎหมายในการดำเนินการดังกล่าว

ในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดียุนได้ส่งข้อความถึงผู้สนับสนุนที่รวมตัวกันที่หน้าบ้านพักประธานาธิบดีในกรุงโซล โดยกล่าวว่า "ผมจะต่อสู้จนถึงที่สุดเพื่อปกป้องประเทศ" และขอบคุณผู้สนับสนุนที่ต่อสู้ผ่านการถ่ายทอดสดทางยูทูบ

ปัจจุบันนายยุนกำลังเผชิญกับการสอบสวนในข้อหาก่อกบฏหลังจากการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม โดยศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินใจว่าเขาจะถูกถอดถอนหรือไม่

พรรคฝ่ายค้านวิจารณ์ข้อความล่าสุดของยุน โดยกล่าวหาว่าเขากำลังยุยงให้เกิดความวุ่นวาย ขณะที่หน่วยงานปราบปรามการทุจริตกำลังดำเนินการตามหมายจับโดยเร็วที่สุด หลังจากศาลแขวงโซลออกหมายจับนายยุนในข้อหาวางแผนการประกาศกฎอัยการศึกและการใช้อำนาจในทางมิชอบ

หากจับกุมนายยุนได้ เจ้าหน้าที่จะนำตัวเขาไปสอบสวนที่สำนักงานของ CIO ก่อนจะควบคุมตัวที่สถานที่กักขังในเมืองอึยวัง ใกล้กับสำนักงานของ CIO

นอกจากนี้ คณะที่ปรึกษาอาวุโสของประธานาธิบดียุนได้ยื่นหนังสือลาออกยกชุดเมื่อวันที่ 1 มกราคม หลังจากที่รักษาการประธานาธิบดีชเว ซังม็อก อนุมัติการแต่งตั้งผู้พิพากษาใหม่ 2 คนเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำลังพิจารณาคดีถอดถอนประธานาธิบดียุน

การลาออกเกิดขึ้นเพียง 1 วันหลังจากที่รักษาการประธานาธิบดีชเว อนุมัติการแต่งตั้งผู้พิพากษาใหม่ 2 คน ซึ่งส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญมีองค์คณะผู้พิพากษา 8 คนจากทั้งหมด 9 คน การพิจารณาคดีของประธานาธิบดียุนจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 6 เสียง

พรรคพลังประชาชนวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของรักษาการประธานาธิบดีชเว ว่าเป็นการกระทำที่ "ดันทุรัง" และขาดการปรึกษาหารืออย่างเพียงพอ

บุกบ้านยุนซอกยอล ทีมสอบสวนใช้อำนาจตามหมายจับ แต่กองเชียร์ขวางไม่ให้เข้า

ช่วงเช้าตรู่วันที่ (3 ม.ค.68) ตามเวลาท้องถิ่นในกรุงโซล คณะสอบสวนจากสำนักงานสอบสวนการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ระดับสูงทางการเมือง (ซีไอโอ) พร้อมตำรวจจำนวนหนึ่ง เข้าตรวจค้นบ้านพักของประธานาธิบดียุนซอกยอล ในกรุงโซล เพื่อใช้อำนาจตามหมายจับควบคุมตัวผู้นำเกาหลีใต้ หลังมีการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา  

ศาลได้อนุมัติหมายจับประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้นำเกาหลีใต้ซึ่งยังดำรงตำแหน่งต้องเผชิญหมายจับ โดยหมายดังกล่าวมีผลบังคับถึงวันที่ 6 มกราคมนี้  

อย่างไรก็ตาม สื่อท้องถิ่นรายงานว่ามีการขัดขวางการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่สอบสวนโดยกองกำลังทหารที่ประจำอยู่ภายในบ้านพัก นายยุนคัปกึน ทนายความของประธานาธิบดี ยืนยันว่าการควบคุมตัวตามหมายจับดังกล่าว "ผิดกฎหมายและขาดความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง" พร้อมเตือนว่าจะดำเนินการทางกฎหมายกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  

สำนักข่าวยอนฮัปรายงานว่าคณะเจ้าหน้าที่ที่ร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้มีประมาณ 150 คน ประกอบด้วยตำรวจ 120 นาย และเจ้าหน้าที่ซีไอโอ 30 คน โดยมีการแบ่งกำลังบางส่วนเข้าไปในพื้นที่บ้านพัก และอีกส่วนหนึ่งคอยตรึงกำลังอยู่ภายนอก ท่ามกลางกลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดีที่มาชุมนุมกันเพื่อคัดค้านการจับกุม  

ในกรณีที่นายยุนถูกจับ เจ้าหน้าที่สอบสวนวางแผนจะนำตัวเขาไปยังสำนักงานใหญ่ของซีไอโอในเมืองกวาชอน ชานกรุงโซล เพื่อสอบสวนก่อนส่งตัวไปยังศูนย์กักขังโซลในเมืองอึยวังซึ่งอยู่ใกล้เคียง ทางซีไอโอจะมีเวลา 48 ชั่วโมงในการตัดสินใจขอหมายจับเพิ่มเติมเพื่อควบคุมตัวอย่างเป็นทางการหรือปล่อยตัวชั่วคราว

ม็อบหนุน-ต้านยุนซอกยอล ชุมนุมกลางโซลแม้อากาศหนาวจัด

(6 ม.ค. 68) ผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านประธานาธิบดียุนซอกยอล ของเกาหลีใต้ รวมตัวชุมนุมในเช้าวันนี้ ท่ามกลางอากาศหนาวจัด หิมะตกหนัก และสภาพถนนเปียกชื้นในกรุงโซล  

ชาวเกาหลีใต้นับหมื่นคนฝ่าหิมะตกหนักในวันอาทิตย์นี้ (5 ม.ค.) เพื่อแสดงจุดยืนทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านการควบคุมตัวนายยุน ซ็อกยอล ซึ่งถูกถอดถอนจากตำแหน่งประธานาธิบดี หลังจากที่เขาประกาศกฎอัยการศึกโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ  

ผู้ชุมนุมจำนวนมากต้องใช้ผ้าห่มฟอยล์เพื่อเพิ่มความอบอุ่น โดยกลุ่มผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านได้ชุมนุมกันในจุดต่าง ๆ บนถนนใกล้เคียงในย่านฮันนัม กรุงโซล ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านพักประธานาธิบดี ที่นายยุนยังพำนักอยู่ระหว่างกระบวนการถอดถอนจากตำแหน่ง เนื่องจากกรณีประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567  

การชุมนุมบางส่วนเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อคืนในพื้นที่ดาวน์ทาวน์ของกรุงโซล ก่อนจะมีการเคลื่อนไหวต่อในเช้าวันนี้ใกล้บ้านพักประธานาธิบดี โดยสภาพอากาศในพื้นที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า -5 องศาเซลเซียส และมีหิมะหนากว่า 5 เซนติเมตรในบางเขต ทางการจึงได้ออกคำเตือนเรื่องหิมะตกหนัก  

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สำนักงานสอบสวนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ระดับสูง (CIO) ต้องระงับความพยายามในการจับกุมตัวนายยุน หลังเกิดการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่สอบสวนกับหน่วยรักษาความปลอดภัยประธานาธิบดี ซึ่งยืดเยื้อหลายชั่วโมง  

อย่างไรก็ตาม ทีมสอบสวนระบุว่าจะพิจารณาขั้นตอนดำเนินการต่อไป โดยหมายจับที่ออกให้มีกำหนดหมดอายุในวันจันทร์นี้  

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังศาลอนุมัติหมายจับนายยุนเมื่อวันที่ 31 ธันวาคมที่ผ่านมา เนื่องจากเขาปฏิเสธหมายเรียกสอบปากคำถึงสามครั้ง ซึ่งทำให้ยุนซอกยอล มีแนวโน้มเป็นประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลีใต้ที่ถูกจับกุมในระหว่างดำรงตำแหน่ง  

เมื่อช่วงบ่ายของเมื่อวานนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านนายยุนได้ปิดถนน 8 เลน ส่งผลให้การจราจรติดขัดทั้งสองฝั่ง ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนเรียงแถวเพื่อควบคุมสถานการณ์ ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมที่สนับสนุนนายยุนได้จัดการชุมนุมใกล้เคียงในจุดอื่น ๆ ของพื้นที่เดียวกัน

ยุนซอกยอล มาจากการเลือกตั้ง มีสิทธิ์ได้รับการอารักขาตามกฎหมาย จึงไม่อนุญาตให้หน่วยงานสอบสวนเข้ามาค้นทำเนียบได้

เมื่อวันที่ (5 ม.ค. 68) หน่วยอารักขาประธานาธิบดียืนยัน ‘ยุนซอกยอล’ ยังได้รับสิทธิอารักขาในฐานะประมุขที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่อนุญาตให้สำนักงานสอบสวนฯ เข้ามาในเขตทำเนียบ

พัคชองจุน หัวหน้าหน่วยอารักขาประธานาธิบดี ยุนซอกยอล แถลงข่าวภายหลังศาลยกคำร้องของทนายความประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่กล่าวหาว่าหมายจับนั้นมิชอบด้วยกฎหมาย

พัคชองจุน กล่าวว่า หน่วยอารักขาประธานาธิบดีไม่ได้อนุญาตให้สำนักงานสอบสวนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้ามาในเขตทำเนียบประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 3 มกราคม เพื่อดำเนินการตามหมายจับที่ออกให้กับประธานาธิบดียุน ซ็อก-ย็อล

พัคชองจุน กล่าวเพิ่มเติมว่า หน่วยอารักขาประธานาธิบดีไม่มีเจตนาขัดขวางการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานสอบสวน แต่การถอดถอนประธานาธิบดียุน ซ็อก-ย็อลได้ผ่านมติของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

พัคชองจุน ยืนยันว่า ยุนซอกยอล ยังคงเป็นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนผู้ทรงอำนาจอธิปไตยของเกาหลีใต้ และยุนยังคงได้รับการอารักขาความปลอดภัยที่เหมาะสมตามบทบัญญัติของกฎหมาย

ยุนซอกยอล ได้ขึ้นเงินเดือน 3% แม้กำลังจะถูกถอดถอน อ้างปรับตามระเบียบ

ชาวเกาหลีใต้ไม่พอใจ หลังประธานาธิบดี 'ยุน ซอกยอล' ได้รับการขึ้นเงินเดือน แม้ถูกถอดถอนจากตำแหน่ง

(14 ม.ค.68) รัฐบาลเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ประธานาธิบดี ยุนซอกยอล ซึ่งถูกสั่งพักงานจากการประกาศกฎอัยการศึกโดยมิชอบ ยังคงได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี 3% เป็น 262.6 ล้านวอน (ประมาณ 6.2 ล้านบาท) ตามเกณฑ์เงินเดือนของเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากยุนยังดำรงตำแหน่งจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำตัดสินขั้นสุดท้าย

ข่าวการขึ้นเงินเดือนของยุนสร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงในสังคมเกาหลีใต้ หลายคนแสดงความเห็นว่าการเพิ่มเงินเดือนให้แก่ผู้ถูกพักงานถือว่าไม่เหมาะสม บางคนบนโซเชียลมีเดียตั้งข้อสังเกตว่า การเพิ่มเงินเดือนของยุน 3% สูงกว่าอัตราการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศที่เพิ่มเพียง 1.7% ชาวเน็ตรายหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นน้อยมาก แต่ยุนกลับได้เพิ่มถึง 3% นี่คือความยุติธรรมแบบไหน?”

ตั้งแต่ถูกถอดถอนในเดือนธันวาคม 2024 ยุนได้หลีกเลี่ยงการสอบสวนและการจับกุมในข้อกล่าวหาก่อกบฏและใช้อำนาจโดยมิชอบ เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อารักขาของยุนได้ขัดขวางการเข้าจับกุมภายในบ้านพักประธานาธิบดี ทำให้หมายจับหมดอายุลงในคืนวันที่ 7 มกราคม

อย่างไรก็ตาม ศาลท้องถิ่นได้อนุมัติการขยายหมายจับใหม่ ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังเตรียมแผนการจับกุมอีกครั้ง พร้อมขอความร่วมมือจากตำรวจ โดยระบุว่าการดำเนินการต้องหลีกเลี่ยงการสูญเสียหรือการนองเลือด

สำหรับการเปรียบเทียบ ผู้นำสหรัฐฯ มีเงินเดือนปีละ 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 14 ล้านบาท) นายกรัฐมนตรีอังกฤษมีเงินเดือนประมาณ 172,000 ปอนด์ (ประมาณ 7.25 ล้านบาท) ในขณะที่นายกรัฐมนตรีไทยมีเงินเดือนประมาณ 120,000 บาท

การเพิ่มเงินเดือนของยุนท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงความเหมาะสม และยิ่งสร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจ

ศาลฟัน ‘ยุน ซอกยอล’ พ้นตำแหน่งปธน.เกาหลีใต้ จากปมกฎอัยการศึกสายฟ้าแลบ สั่งเลือกตั้งใหม่ใน 60 วัน

(4 เม.ย. 68) ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ อ่านคำตัดสินในคดีถอดถอน ปธน.ยุน ซอกยอล โดยผู้พิพากษาทั้ง 8 คน นำโดยผู้พิพากษา มุน ฮยองแบ รักษาการประธานศาล ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ 8-0 เสียง ให้ถอดถอนยุนออกจากตำแหน่ง หลังการไต่สวนที่ยืดเยื้อมานาน นับตั้งแต่รัฐสภาลงมติถอดถอนเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2567 ด้วยคะแนน 204 ต่อ 85 เสียง

ศาลรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้มีคำวินิจฉัยในวันนี้ เพื่อสนับสนุนญัตติของรัฐสภาที่ถอดถอน ประธานาธิบดียุน ซอกยอล ออกจากตำแหน่ง หลังจากมีกรณีวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับการประกาศใช้ กฎอัยการศึกชั่วคราว ซึ่งถูกมองว่าเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต

มุน ฮยองแบ รักษาการประธานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า คณะผู้พิพากษาทั้ง 8 คน มีมติ 'เป็นเอกฉันท์' ให้ถอดถอนผู้นำสูงสุดของประเทศ พร้อมระบุว่า คำตัดสินมีผลบังคับใช้ในทันทีตามกฎหมาย

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองครั้งสำคัญของเกาหลีใต้ โดยทันทีที่คำตัดสินมีผล รัฐบาลรักษาการจะเข้ามาดำเนินหน้าที่บริหารประเทศชั่วคราว และจะต้องจัดการ เลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ภายใน 60 วัน

การประกาศใช้กฎอัยการศึกโดยประธานาธิบดียุน แม้จะเป็นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ แต่ถูกฝ่ายค้านและนักสิทธิมนุษยชนโจมตีอย่างรุนแรงว่า ละเมิดหลักนิติธรรมและรัฐธรรมนูญ อีกทั้งสร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองภายในประเทศ

ทั้งนี้ การถอดถอนประธานาธิบดีโดยศาลรัฐธรรมนูญนับเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ ต่อจากกรณีของอดีตประธานาธิบดีพัค กึนฮเย ในปี 2017 โดยการตัดสินครั้งนี้จะเปิดทางสู่กระบวนการเลือกตั้งครั้งใหม่ ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ตึงเครียดและเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปอำนาจบริหารอย่างเร่งด่วน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top