Sunday, 30 June 2024
มาเลเซีย

‘ตลาดแรงงานมาเลฯ’ ให้ความสำคัญทักษะด้านภาษา มากกว่าใบปริญญา ยิ่งสื่อสาร ‘จีน-เกาหลี-ญี่ปุ่น-อารบิก’ ได้ดี ยิ่งมีโอกาสหางานได้มากกว่า

ตลาดแรงงานมาเลฯ เริ่มมองหา ‘คนทำงานรุ่นใหม่’ ที่มีทักษะ ขยันเรียนรู้ มากกว่าใบเกรด และหากยิ่งรู้ภาษาจีน ก็ยิ่งได้เปรียบ

สมัยก่อน อาจจะกล่าวได้ว่า มีใบปริญญา สามารถการันตีโอกาสในการหางานที่ดีกว่าได้ ยิ่งเป็นใบปริญญาจากสถาบันที่มีชื่อเสียง ก็ยิ่งมีโอกาสมากกว่าคนอื่น 

แต่ในยุคสมัยใหม่ที่กระแสค่านิยมและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก จนความรู้เชิงวิชาการเพียงอย่างเดียว ดูจะไม่เพียงพอเสียแล้ว เมื่อนายจ้างเริ่มพิจารณาคนทำงานที่มีคุณสมบัติอื่น ๆ มากกว่า โดยเฉพาะ ทักษะประสบการณ์ทำงานจริง, ความรู้เรื่องวัฒนธรรม รวมถึงจรรยาบรรณในการทำงาน 

วิค สิทธสนาน ผู้อำนวยการของ Jobstreet by Seek Malaysia แสดงความเห็นว่า การพัฒนาด้านอาชีพกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยได้ยกรายงานจาก Hiring Compensation and Benefits Report for 2024 ซึ่งบ่งชี้ว่ามีนายจ้างมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่เน้นคัดเลือกบุคลากรที่เคยผ่านการฝึกอบรมวิชาชีพ หรือ หลักสูตรที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ตามทักษะที่นายจ้างต้องการ มากกว่าใบปริญญาแล้ว 

แม้การพิจารณาคัดเลือกพนักงานจากวุฒิการศึกษายังคงมีอยู่ แต่ก็จะถูกลดความสำคัญลงไป เมื่อนายจ้างยุคใหม่ต้องการคนที่ผ่านการฝึกอบรมเฉพาะทางที่ตรงกับสายงานมากกว่า และจำเป็นต้องนำมาใช้งานได้จริงด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้บริหารเว็บไซท์ที่ให้บริการรับสมัคร, จัดหางานอันดับ 1 ในมาเลเซีย ยังเน้นอีกว่า ‘ภาษาอังกฤษ’ มีความสำคัญ แต่ยังไม่พอ 

เนื่องจากมาเลเซียมีเศรษฐกิจที่ผูกพันกับทางจีนอย่างมาก ความต้องการบุคลากรที่มีความสามารถในการสื่อสารภาษาจีนจึงพุ่งสูงขึ้นในตลาดแรงงานมาเลเซีย โดยเฉพาะในตำแหน่งผู้บริหารระดับกลาง ที่หลายบริษัทระบุเลยว่าต้องการผู้ที่พูดภาษาจีน หรือสามารถพูดได้หลายภาษา

ความเห็นของผู้บริหาร Jobstreet สอดคล้องกับ ดาตุ๊ก ดร.ซาอีด ฮัซเซน ซาอีด ฮัสมาน ประธานสหพันธ์นายจ้างมาเลเซีย ที่ได้กล่าวว่า ปัจจุบัน นายจ้างสนใจผู้สมัครที่จบวุฒิสายอาชีพ (TVET) มากกว่า เพราะมีทักษะหลายอย่างที่สามารถนำมาประยุกต์ในการทำงานจริงได้โดยตรง โดยนายจ้างก็มีแนวโน้มประเมินผู้สมัครแบบองค์รวมมากขึ้น

และถึงแม้ว่าภาษาอังกฤษยังอยู่ในห้าอันดับแรกของทักษะที่เป็นที่ต้องการ แต่ ดร.ซาอีด ฮัซเซนเห็นเช่นเดียวกับ วิค สิทธสนาน ว่าทักษะภาษาจีนกลางเป็นที่ต้องการอย่างมากในปัจจุบัน 

ซึ่งนอกจากภาษาจีนแล้ว ผู้ที่เชี่ยวชาญทักษะภาษาอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น, เกาหลี และ อารบิก ก็เป็นที่ต้องการสูงเช่นกัน ทั้งนี้เพราะมาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศศูนย์กลางการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ จึงมองหาบุคลากรที่สามารถสื่อสารได้หลายภาษา นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ 

จึงสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะมี ‘ความรู้’ แบบใดมาจากระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม แต่สิ่งที่เจ้าของกิจการมองหาคือ ‘ทักษะ’ ที่หมายถึง ‘ความสามารถ’ ในการใช้งานได้จริง ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา ด้านงานช่าง งานเทคนิค ฯลฯ รวมถึงเข้าใจในการทำงานในวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายด้วย ซึ่งทักษะเหล่านี้ ไม่อาจพิจารณาจากใบปริญญาได้ ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเองที่หน้างานเท่านั้น 

“ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง 
ฉันจึง มาหา ความหมาย
ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย 
สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว

แค่ปริญญา ไม่พอจริง ๆ”

‘ฮ.กองทัพเรือมาเลเซีย’ 2 ลำ ชนกันกลางอากาศ สลด!! ทหาร 10 นายเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ

(23 เม.ย.67) กองทัพเรือมาเลเซีย รายงานว่า เกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์ปฏิบัติการทางทะเลเอชโอเอ็ม (HOM) และเฮลิคอปเตอร์เฟนเน็กชนกันกลางอากาศเหนือฐานทัพในเมืองลูมุต รัฐเประ ประเทศมาเลเซีย เมื่อเวลา 9.32 น. ตามเวลาท้องถิ่น ส่งผลให้ทหารบนเฮลิคอปเตอร์เอชโอเอ็ม 7 นาย และบนเฟนเน็กอีก 3 นายเสียชีวิต

รายงานที่สำนักข่าวแชนแนลนิวส์เอเชีย ระบุว่า เฮลิคอปเตอร์ทั้งสองลำบินขึ้นเมื่อเวลา 9.03 น. หลังจากนั้นเฮลิคอปเตอร์ทั้งสองชนกัน เอชโอเอ็มตกไปที่บันไดของสนาม ขณะที่เฟนเน็กตกไปในสระน้ำ ส่งผลให้ทหารทั้ง 10 นายเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ ส่วนร่างของเหยื่อถูกนำส่งโรงพยาบาลกองทัพเรือลูมุต เพื่อระบุอัตลักษณ์ต่อไป

ทั้งนี้ การฝึกบินดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการซ้อมเดินขบวนสวนสนามเนื่องในวันครบรอบกองทัพเรือ 90 ปี

ด้านกองทัพเรือมาเลเซียเตรียมสอบสวนเพื่อหาสาเหตุของอุบัติเหตุดังกล่าวต่อไป และขอให้สาธารณชนหยุดแชร์วิดีโออุบัติเหตุดังกล่าว เพื่อรักษาความรู้สึกอ่อนไหวของครอบครัวผู้สูญเสีย และเพื่อกระบวนการสอบสวน

ภาพอุบัติเหตุที่แชร์ในโซเชียลมีเดีย เผยให้เห็นเฮลิคอปเตอร์ 7 ลำ บินขึ้นเหนือฐานทัพแบบสะเปะสะปะ จากนั้นกล้องก็จับภาพไปยังเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำทางขวามือ แล้วทั้งสองลำก็ชนกันจนเกิดเพลิงไหม้ และควันโขมง ก่อนตกลงสู่พื้น

KFC มาเลเซีย ปิดสาขาชั่วคราว อ้าง!! สภาพเศรษฐกิจไม่ดี ท่ามกลางกระแส 'แบน' แบรนด์ฝรั่งที่หนุนอิสราเอลรบปาเลสไตน์

(30 เม.ย.67) เพจ 'เดือดทะลักจุดแตก' โพสต์ข้อความรายงานกรณีการปิดสาขาชั่วคราวของ KFC ในมาเลเซียว่า...

ถึงขั้นปิดสาขาเลยเรอะ???

ไม่น่าเชื่อนะครับ เราเห็นข่าวเนืองๆ (โดยเฉพาะตอนอุบัติสงครามอิสราเอล-ฮามาสใหม่ๆ) ว่าหลายๆ ประเทศมุสลิม 'แบน' ไม่กินร้านอาหารแฟรนไชส์อเมริกา เหตุเพราะเจ้านั้นๆ มีทีท่าแสดงออก สนับสนุนอิสราเอลประหัตประหารชาวปาเลสไตน์ในกาซา (ซึ่งเพจเดือดฯ เคยโพสต์ไปแล้ว ไม่ขอลงรายละเอียดอีก * ย้ำว่าคนมองกันเองนะครับ แต่ละเจ้าไม่ได้มาประกาศสนับสนุนอะไรแบบนั้นเลย)

รัฐบาลไม่ได้ 'แบน' นะครับ เป็นประชาชนเองที่รณรงค์กัน 'แบน' ไม่กิน

ซึ่งดีกรีไม่รู้กี่มากน้อย และที่สำคัญคือจะนานจะเร็วเท่าไหร่ ไม่ใช่เดี๋ยวก็ซาแล้ว ... รึเปล่า

ที่ไหนได้!!! KFC มาเลเซียถึงขั้นต้องปิดสาขาเชียว แสดงว่าไม่น้อยและไม่เร็วแล้วล่ะครับ

คนเขาเอาจริงแฮะ

สอดส่องรายละเอียด เขาไม่ได้ปิดทั้งหมดนะครับ อ้างว่าสภาพเศรษฐกิจไม่สู้ดีนัก จะต้องปิดสาขาชั่วคราว เพื่อเน้นให้บริการ เฉพาะย่านที่คึกคัก ลูกค้าคับคั่ง

ก็ไม่รู้ว่าปิดเท่าไหร่ แต่สื่อท้องถิ่นของมาเลเซียรายงานว่า ปิดไปเป็นร้อย

ย้ำอีกครั้งว่าปิดชั่วคราวนะครับ ขึ้นกับสถานการณ์
ว่าเมื่อไหร่คนจะลืมเรื่องนี้? ไม่ใช่
ว่าเมื่อไหร่อิสราเอลจะเลิกรบ!
เพราะดูท่าแล้ว คงไม่ลืมกันง่ายๆ ครับ จนกว่าอิสราเอลจะรามือ

‘แอร์ฯ สาว’ แชร์อุทาหรณ์ สานสัมพันธ์รัก 3 หนุ่ม 3 เชื้อชาติในวันเดียว สุดท้ายตั้งท้อง ต้องลาออก และต้องอยู่ต่อให้ได้เพียงลำพังกับลูก

(15 พ.ค. 67) แอร์โฮสเตสสาวชาวมาเลเซียรายหนึ่ง เปิดเผยเรื่องราวของเธอบนสื่อสังคมออนไลน์และถูกนำมาเผยแพร่ต่ออย่างกว้างขวาง ถึงพฤติกรรมที่ขาดความยั้งคิดของตนเอง จนกระทั่งทำให้เธอตั้งครรภ์กับคนแปลกหน้า

โดยรายงานข่าวระบุว่า เหมย ลี่ (นามสมมุติ) เข้าทำงานที่สายการบินนานาชาติแห่งหนึ่ง ตั้งแต่อายุ 19 ปี เธอใช้ชีวิตส่วนใหญ่อย่างเต็มเหนี่ยวในขวบปีแรกของการทำงาน เติมเต็มความฝัน เดินทางไปทั่วโลกและมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายมากหน้าหลายตาจากประเทศต่าง ๆ

"ขณะหยุดพักระหว่างทาง ปกติแล้วฉันจะไปออกเดทแบบสบาย ๆ ไม่ผูกมัด ฉันชอบพบปะกับหนุ่ม ๆ ที่มีเสน่ห์ ระหว่างรอเที่ยวบินถัดไปสำหรับเดินทางกลับบ้าน" เธอกล่าว นอกจากนี้แล้ว เหมย ลี่ เผยด้วยว่าเธอยังใช้เวลาว่างเข้าแอปพลิเคชันหาคู่ ออกเดทกับหนุ่ม ๆ ที่มีเสน่ห์ และมีความสุขให้มากที่สุด เท่าที่เธอจะตักตวงจากพวกเขาได้

เหมย ลี่ ถึงขั้นบอกว่าหนึ่งในความฝันของเธอ คือการได้อยู่กับหนุ่ม ๆ จากทั่วโลก "ฉันอยากรู้ว่า มันจะเป็นอย่างไร ตอนที่ฉันเดินทางไปทั่วโลก"

แต่ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีตอนจบ และ เหมย ลี่ พบว่าตนเองตั้งครรภ์ โดยหลังจากพบว่าประจำเดือนของตนเองมาช้า เธอตัดสินใจตรวจครรภ์ ซึ่งท้ายที่สุดก็พบว่าตนเองกำลังตั้งท้อง

ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือ ในค่ำคืนที่เธอเชื่อว่าอาจเป็นวันที่ทำให้เธอตั้งครรภ์นั้น เป็นวันที่เธอมีเพศสัมพันธ์กับชายแปลกหน้า 3 คน ในคราวเดียว

"ฉันจำคืนนั้นได้ เครื่องบินของฉันเพิ่งลงจอด และฉันรู้สึกอยากผจญภัยอันเร่าร้อน ตอนที่ฉันไปถึงโรงแรม ฉันเปิดแอปพลิเคชันและเริ่มค้นหา ฉันหาทางเติมเต็มจินตนาการของการพบปะกับหนุ่ม ๆ 3 คนในคราวเดียว"

"คุณอาจคิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะได้รับความร่วมมือ แต่มันน่าประหลาดใจมาก เมื่อสามารถหาชายแปลกหน้า 3 คน ยินยอมพร้อมใจกันอย่างง่าย ๆ ระหว่างชาย 3 คนในคืนดังกล่าว ทั้งหมดเป็นคนเชื้อสายต่างกัน คนหนึ่งเป็นชาวแอฟริกาใต้ผิวขาว คนหนึ่งเป็นชาวไนจีเรียเกิดในอังกฤษ และอีกคนเป็นชายจากอาร์เจนตินา ฉันรู้ว่าตนเองทำผิดพลาดใหญ่หลวง แต่ฉันไม่อาจทำแท้งลูกได้"

"ฉันต้องการมีลูกมาตลอด แต่ไม่ใช่ในกรณีแวดล้อมเช่นนี้ ฉันอยากมีอายุมากกว่านี้ แต่งงานและมีความมั่นคงทางการเงินมากกว่าที่เป็นอยู่ ฉันต้องการมีลูกกับสามี ไม่ใช่เพียงลำพัง" เธอกล่าว

เหมย ลี่ บอกด้วยว่าการมีลูกอาจทำให้เธอต้องตัดสินใจลาออกจากงานแอร์โฮสเตส เนื่องจากวิธีชีวิตที่วุ่นวายจากอาชีพนี้ไม่เหมาะกับการเลี้ยงลูกเพียงลำพัง และด้วยที่เธอไม่มีใครนอกเหนือจากเพื่อนที่ใกล้ชิดที่สุด 2 คน ที่เธอสามารถปรับทุกข์ได้ เหมาย ลี่ จึงรู้สึกเสียใจกับการตัดสินใจที่ผ่าน ๆ มาของตนเอง

"ถ้าฉันมีลูก ฉันคงจะต้องลาออกจากงานในท้ายที่สุด และต้องหาทางหารายได้อื่นมาเลี้ยงชีพและดูแลลูก อีกด้านหนึ่งหากฉันตัดสินใจทำแท้ง ฉันเกรงว่าฉันจะต้องทุกข์ทรมาน แบกรับความรู้สึกผิดไปตลอดชีวิต"

‘มาเลเซีย’ แซง ‘ไทย’ ขึ้นแท่นเบอร์ 2 ตลาดรถยนต์ของอาเซียน หลังยอดขายไทยฮวบ ไตรมาสล่าสุดร่วง 25% สวนทางมาเลฯ

(15 พ.ค. 67) นิกเคอิเอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่า มาเลเซียแซงหน้าไทยขึ้นเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากอินโดนีเซีย เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในภูมิภาคซึ่งได้กลายเป็นสมรภูมิสำคัญที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในทวีปเอเชียใช้ห้ำหั่นกัน

นิกเคอิเอเชียรวบรวมข้อมูลยอดขายที่เผยแพร่โดยกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ในอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ไทย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม พบว่ายอดขายรถยนต์ในมาเลเซียซึ่งก่อนหน้านี้ครองอันดับ 3 ของอาเซียนมายาวนาน ได้แซงหน้ายอดขายในประเทศไทยแล้ว 3 ไตรมาสติดต่อกัน นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2023 มาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2024

จากข้อมูลของสมาคมยานยนต์แห่งมาเลเซีย (Malaysian Automotive Association) ยอดขายรถยนต์ในมาเลเซียในไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ 202,245 คัน เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) หลังจากที่มีทำยอดขายรวมในปี 2023 ได้ 799,731 คัน เพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อนหน้า

การยกเว้นภาษีรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมาเลเซีย เป็นแรงหนุนยอดขายรถยนต์ของแบรนด์ระดับชาติของมาเลเซีย อย่าง เปโรดัว (Perodua) และโปรตอน (Proton) ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันอยู่ประมาณ 60%

การยกเว้นภาษีรถยนต์ของมาเลเซียเริ่มต้นในปี 2020 และแม้ว่ามาตรการนี้จะสิ้นสุดลงในช่วงกลางปี 2022 แต่ยอดจองรถยนต์ในช่วงปลอดภาษียังคงเพิ่มตัวเลขยอดขายในปี 2023

“การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่หลายรุ่น รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าที่เปิดตัวในราคาที่แข่งขันได้สูง ช่วยกระตุ้นยอดขาย” สมาคมยานยนต์แห่งมาเลเซียระบุในแถลงการณ์

ในทางตรงกันข้ามยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยซึ่งครองอันดับ 2 ของภูมิภาคมาอย่างยาวนานกลับตกต่ำลง ถึงขั้นที่ยอดขายในไตรมาสแรกของปีนี้ลดลง 25% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า

ยอดขายรถยนต์รายเดือนของประเทศไทยเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) ลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2023 เนื่องจากปัญหาสินเชื่อรถยนต์ที่ไม่ก่อรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้การปล่อยสินเชื่อรถยนต์เข้มงวดขึ้น บวกกับการบริโภคที่ซบเซาลงโดยทั่วไป

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน อีวีจีน

ส่วนอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนยังขาดแรงผลักดัน ยอดขายรถยนต์ในไตรมาสแรกของปีนี้ลดลง 24% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นส่งผลให้ผู้บริโภคลังเลในการซื้อรถ

เปิดมุมมองเพื่อนบ้านในอาเซียนกับการใช้ถนนในเมืองไทย ช่วยร่นระยะทาง ประหยัดเวลา แถมลาดยางตลอดสาย

เมื่อวานนี้ (19 พ.ค.67) จากช่องติ๊กต็อก ‘sarayontbymrpaul’ หรือ ‘สาระยนต์ By Mr.Paul’ ได้โพสต์คลิปในหัวข้อ ‘ถนนประเทศไทยดีมาก จนเพื่อนบ้าน 2 ประเทศนี้ ใช้เป็นทางผ่านกลับบ้าน?!’ โดยระบุว่า… 

“อย่าง ‘ประเทศมาเลเซีย’ ที่ต้องการเดินทางกลับบ้านเกิดในประเทศมาเลเซีย จากตะวันตกของประเทศ สู่ตะวันออกของประเทศ ซึ่งถ้าหากใช้เส้นทางในประเทศตัวเองจะต้องเดินทางอ้อม ในระยะทาง 320 กิโล และมีถนนแค่ 2 เลนส์ แถมมีการเก็บค่าผ่านทางอีกด้วย แต่ถ้าใช้ทางลัดถนนในประเทศไทย สามารถไปถึงได้เร็วกว่า และมีถนน 4 เลนส์ แถมประเทศไทยไม่เก็บค่าผ่านทางอีกด้วย” พร้อมเผยภาพชายแดนฝั่งมาเลเซียที่มีรถหลายคันแห่ต่อคิวรอเข้าประเทศไทย

“ส่วนอีกหนึ่งประเทศที่ใช้ถนนไทยเป็นทางลัดกลับบ้านเหมือนกัน นั่นคือ ‘ประเทศลาว’ ที่เดินทางจากลาวเหนือสู่ลาวใต้ จากเวียงจันทน์ สู่ท่าแขก สะหวันนะเขต และปากเซ โดยถ้าใช้เส้นทางในประเทศลาว จะมีระยะทาง 340 กิโล ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 7 ชั่วโมง เนื่องจากถนนที่ประเทศลาวเละมาก มีหลุม มีบ่อเต็มไปหมด แต่ถ้าใช้ทางลัดในประเทศไทย จะมีระยะทางเพียงแค่ 300 กิโล ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางแค่ 4 ชั่วโมงเท่านั้น แถมประเทศไทยยังใช้ถนนลาดยางตลอดเส้นทาง และมีถนนถึง 4 เลนส์ นอกจากนี้ คนลาวยังถึงขั้นมีบริการรถตู้รับจ้างที่ใช้เส้นทางในไทย ในการรับส่งคนจากลาวเหนือไปลาวใต้”

'มาเลเซีย' ปรับราคาดีเซลขึ้นอีก 50% ในหลายพื้นที่ หลังยุติมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันแบบเหวี่ยงแห

เมื่อวานนี้ (10 มิ.ย. 67) สำนักข่าว Channel News Asia รายงานว่า มาเลเซียประกาศขึ้นราคาน้ำมันดีเซล 50% ในหลายพื้นที่ มีผลวันนี้ ซึ่งก็คือ 10 มิ.ย. เนื่องจากรัฐบาลเปลี่ยนแนวทางการใช้มาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันแบบเหวี่ยงแหซึ่งมีต้นทุนสูง ไปเป็นการกำหนดกลุ่มเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ โดยกระทรวงการคลังระบุในแถลงการณ์เมื่อวันอาทิตย์ (9 มิ.ย.) ว่า จะเริ่มกำหนดราคาน้ำมันดีเซลให้สอดคล้องกับราคาตลาดมากขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังระบุว่า ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.35 ริงกิตต่อลิตร ในพื้นที่รอบคาบสมุทรมาเลเซีย (Peninsular Malaysia) ตั้งแต่เที่ยงคืนเป็นต้นไป ซึ่งราคาดังกล่าวจะเป็นราคาตลาดที่ไม่มีการอุดหนุนจากรัฐบาล โดยเป็นราคาอ้างอิงจากค่าเฉลี่ยเดือนพ.ค. 2567 ตามสูตร Automatic Pricing Mechanism

สำหรับรัฐอื่น ๆ และดินแดนของมาเลเซียบนพื้นที่เกาะบอร์เนียว ราคาน้ำมันจะยังคงอยู่ที่ลิตรละ 2.15 ริงกิต โดยรัฐบาลจะยังตรึงราคานี้สำหรับกลุ่มขนส่งโลจิสติกส์ที่เข้าเกณฑ์การอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลของรัฐบาล นอกจากนี้ ยังตรึงราคาน้ำมันสำหรับกลุ่มประมงและกลุ่มขนส่งสาธารณะบางส่วน อาทิ รถโรงเรียนและรถพยาบาล

ทั้งนี้ ตามมาตรการพยุงราคาน้ำมัน ราคาดีเซลในมาเลเซียจะจำหน่ายในราคาที่ต่างกัน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม สำหรับกลุ่มประมง อยู่ที่ลิตรละ 1.65 ริงกิต, กลุ่มขนส่งสาธารณะทางบก ลิตรละ 1.88 ริงกิต, กลุ่มยานพาหนะเชิงพาณิชย์และส่วนบุคคล ลิตรละ  2.15 ริงกิต และกลุ่มภาคการพาณิชย์ที่จำหน่ายตามราคาตลาดซึ่งไม่ได้รับการอุดหนุนราคา อยู่ที่ลิตรละ 3.60 ริงกิต

รัฐบาลมาเลเซียกล่าวเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า แผนลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลในปีนี้ คาดว่าจะช่วยประหยัดงบประมาณได้ปีละประมาณ 4 พันล้านริงกิต (853.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และคาดว่า จะนำงบส่วนดังกล่าวไปช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มาเลเซียใช้งบประมาณจำนวนมากในการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง น้ำมันปรุงอาหาร และราคาข้าว รวมถึงสินค้าพื้นฐานอื่น ๆ โดยงบดังกล่าวพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้การคลังของรัฐบาลตึงเครียด เฉพาะน้ำมันดีเซลอย่างเดียว รัฐบาลมาเลเซียใช้งบในการพยุงราคาไปถึง 1.43 หมื่นล้านริงกิต ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ 1.4 พันล้านริงกิตถึง 10 เท่า 

'ชาวมาเลเซีย' โอด!! 'เบนซิน-ดีเซล' เตรียมขึ้นราคาแบบไร้ปรานี คาด!! ต้องใช้ SPR เป็นคำตอบสุดท้าย แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันพุ่ง

ตั้งแต่จันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2024 ที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซียได้ตัดสินใจลดการอุดหนุนน้ำมันดีเซล ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันลอยตัวเป็นอัตราตลาดที่ 3.35 ริงกิต (26.50 บาท) ต่อลิตร จากราคาเดิม 2.15 ริงกิต (17 บาท) ต่อลิตร หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 55 

ในวันที่ 9 มิถุนายน รัฐบาลมาเลเซียได้การประกาศเหตุผลในการตัดสินใจลดการอุดหนุนน้ำมันดีเซล โดย ‘ดาโต๊ะ เสรี อามีร์ ฮัมซาห์ อาซิซาน’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “มาเลเซียจะไม่ยอมสูญเสียเงินปีละหลายพันล้านริงกิตจากการลักลอบขายน้ำมันออกนอกประเทศต่อไปอีก และจะเป็นการดีกว่าถ้าเงินจำนวนนี้จะถูกนำไปใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวมาเลเซียและเพื่อการพัฒนาประเทศมาเลเซียของเรา”

โดยวันที่ 24 พฤษภาคม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังผู้นี้กล่าวว่าการอุดหนุนน้ำมันดีเซลทำให้ประเทศต้องเสียเงินกว่า 1 พันล้านริงกิต (7.9 พันล้านบาท) ต่อเดือน ในขณะที่ความสูญเสียจากการรั่วไหลจากการลักลอบส่งออกอยู่ที่ราววันละ 4.5 ล้านริงกิต ในปี 2023 มีการใช้เงินอุดหนุนน้ำมันดีเซลถึง 1.45 หมื่นล้านริงกิต (1.15แสนล้านบาท) ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียคาดว่าจะสามารถประหยัดเงินงบประมาณได้ประมาณปีละ 4 พันล้านริงกิต

สำหรับมาตรการช่วยเหลือโดยกระทรวงการคลังจะแจกเงินสด 200 ริงกิต สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ตลอดจนเกษตรกร ขณะเดียวกันยังคงให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ค้าที่ใช้รถเพื่อการพาณิชย์ที่ใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งประกอบด้วยรถขนส่งสาธารณะ 10 ประเภท และรถขนส่งสินค้า 23 ประเภท ธุรกิจเหล่านี้รวมถึงผู้ให้บริการรถโดยสารและรถแท็กซี่ภายใต้ระบบควบคุมดีเซลแบบอุดหนุน (the Subsidised Diesel Control System) : SKDS 1.0 และ SKDS 2.0

ภายใต้ SKDS 2.0 ผู้ใช้ยานพาหนะเพื่อการขนส่งที่มีสิทธิ์ได้รับบัตรฟลีทการ์ด ซึ่งเป็นบัตรสำหรับน้ำมันดีเซลที่ได้รับการอุดหนุนเพื่อใช้ที่ปั๊มน้ำมัน แทนที่จะจ่ายเงินสดหรือใช้บัตรเครดิต/เดบิต และต้องจ่าย 2.15 ริงกิตมาเลเซีย (17 บาท)ต่อลิตร ในขณะที่ SKDS 1.0 ซึ่งมุ่งเป้าไปที่รถโรงเรียน, รถด่วน, รถพยาบาล และรถดับเพลิง มีราคาต่ำกว่าอยู่ที่ 1.88 ริงกิต (14.85 บาท) ต่อลิตร และมาตรการต่อไปคือการเลิกอุดหนุนน้ำเบนซิน (RON95) ซึ่งราคาอยู่ที่ 2.05 ริงกิต (15.97 บาท) ต่อลิตร เทียบกับน้ำมันเบนซิน 95 ในประเทศไทยที่ราคาลิตรละ 37.35 บาท

แต่ราคาน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงยังคงอยู่ที่ 1.65 ริงกิต (13 บาท) ต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซลในรัฐซาบาห์และรัฐซาราวักยังคงอยู่ที่ 2.15 ริงกิต (17 บาท) ต่อลิตร เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ที่นั่นใช้น้ำมันดีเซล ไม่เหมือนในฝั่งที่เป็นคาบสมุทรมาเลเซีย ด้วยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล จึงทำให้มีการลักลอบส่งน้ำมันออกเป็นจำนวนมาก ทั้งด้านไทย, สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย โดยรัฐบาลมาเลเซียใช้งบในการอุดหนุนราคาน้ำมันปีละหลายหมื่นล้านบาท แต่ในขณะที่ไทยเราใช้เงินจากกองทุนน้ำมันในการอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นเงินที่คิดจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินไปอุดหนุนราคาน้ำมันเช่นเดียวกับที่รัฐบาลมาเลเซียเคยปฏิบัติมาจนพึ่งจะมายกเลิก

กองทุนน้ำมันจะมีเงินกองทุนมากหรือน้อยหรือติดลบนั้นขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกสูงขึ้น เงินกองทุนน้ำมันก็จะถูกใช้เพื่ออุดหนุนราคาน้ำมันไม่ให้สูงขึ้นตามไปด้วย 

ปัจจุบันกองทุนน้ำมันถูกใช้อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลโดยเก็บจากน้ำมันเบนซิน เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกสูง จึงต้องชดเชยราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซ LPG ด้วยเป็นน้ำมันและก๊าซเชื้อเพลิงเศรษฐกิจ หากไม่ได้รับการอุดหนุนก็จะมีราคาแพงส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ และเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงกองทุนน้ำมันก็จะไม่มีภาระที่จะต้องอุดหนุนชดเชย เงินที่ถูกเก็บเข้ากองทุนน้ำมันก็จะกลับมาเพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้หลาย ๆ ประเทศในอาเซียนต่างก็พยายามที่จะยกเลิกการอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยตั้งกองทุนน้ำมันเพื่อทำหน้าที่แทนเพื่อไม่ให้กระทบต่อเงินงบประมาณแผ่นดินเพื่อนำไปใช้ในกิจการอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติแทน

แต่การใช้กองทุนน้ำมันจะสามารถแก้ปัญหาได้ในเวลาที่จำกัด หากปัญหาที่เกิดขึ้นต้องยืดเยื้อต่อเนื่องยาวนานเกินไป กองทุนน้ำมันก็จะตกอยู่ในสภาพต้องจ่ายเงินออกเรื่อย ๆ จนต้องติดลบมหาศาลเช่นที่ไทยเราเป็นอยู่ในขณะนี้ 

แต่ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เร่งผลักดันเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดระบบ SPR : Strategic Petroleum Reserve หรือ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ เพื่อเข้ามามีบทบาททำหน้าแทนที่กองทุนน้ำมันมากขึ้น ด้วยในอนาคตเมื่อรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานเป็นผู้ถือครองปริมาณน้ำมันมากที่สุดในประเทศจนเพียงพอสำหรับการใช้งานในประเทศได้ถึง 50-90 วันแล้ว รัฐบาลย่อมสามารถนำปริมาณสำรองเข้าไปมีส่วนในการบริหารจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศได้ 

เพราะที่ผ่านมาปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจากวิกฤตเชื้อเพลิงมีการใช้ ‘เงิน’ จาก ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ เพื่อแก้ไขปัญหา แต่ความเป็นจริงแล้วในยามเกิดวิกฤตน้ำมัน ‘เงิน’ ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องหรือเหมาะสมที่สุดในการแก้ไขปัญหา เพราะต้องใช้ ‘เงิน’ มากขึ้นในการซื้อน้ำมัน หรือบางสถานการณ์แม้จะมี ‘เงิน’ แต่อาจไม่สามารถหาซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง หรือซื้อแล้วก็ไม่สามารถขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงมายังประเทศไทยได้ 

ดังนั้นการมีระบบ SPR ด้วยการถือครอง ‘น้ำเชื้อเพลิงสำรอง’ โดยรัฐที่มากพอสำหรับการใช้งาน 50-90 วัน ซึ่งนานพอจนกระทั่งวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงได้เบาคลายลดลงต่างหากจึงจะเป็นการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด

'มาเลเซีย' ยุติหนุนดีเซล ประคองการเงินประเทศ ทำราคาน้ำมันจ่อพุ่ง 50% ด้าน 'นายกฯ อันวาร์' ยัน!! ช่วยประหยัดเงินรัฐได้ถึงปีละ 4 พันล้านริงกิต

(21 มิ.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาเลเซีย ได้เปลี่ยนทิศทาง ยุติการอุดหนุนดีเซลแบบถ้วนหน้า เพื่อหวังพลิกวิกฤตการเงินของประเทศ หลังจากเมื่อวันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2567 นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ประกาศมาตรการสุดกล้าในการปรับเปลี่ยนนโยบายการอุดหนุนดีเซล จากแบบครอบคลุมไปสู่การอุดหนุนแบบมุ่งเป้า เพื่อช่วยประเทศฝ่าวิกฤตทางการเงินที่กำลังเผชิญอยู่ 

สำหรับตัวเลขค่าใช้จ่ายในการอุดหนุนดีเซลของมาเลเซียพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ จาก 1.4 พันล้านริงกิตในปี 2019 เป็น 1.43 หมื่นล้านริงกิตในปี 2023 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสถานะการเงินของรัฐบาล

แม้จะเป็นมาตรการที่ไม่เป็นที่นิยม แต่นายกฯ อันวาร์ยืนยันว่าจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อความอยู่รอดของประเทศ โดยคาดว่าการปรับเปลี่ยนครั้งนี้จะช่วยประหยัดเงินในกระเป๋ารัฐบาลได้ถึงปีละ 4 พันล้านริงกิต 

ผลกระทบที่จะเห็นได้ชัดตามมาคือ ราคาดีเซลในมาเลเซียตะวันตกจะพุ่งขึ้นกว่า 50% เป็น 3.35 ริงกิตต่อลิตรในขณะที่ซาบาห์และซาราวักจะยังคงราคาเดิมที่ 2.15 ริงกิตต่อลิตร อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงให้การอุดหนุนแก่กลุ่มรายได้ต่ำ เช่น ชาวประมง เกษตรกร รวมถึงการใช้ในรถโรงเรียนและรถพยาบาล

ด้านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อามีร์ ฮัมซะห์ อาซิซาน ชี้แจงว่านโยบายใหม่นี้จะช่วยป้องกันการลักลอบนำดีเซลราคาถูกข้ามพรมแดน และยืนยันว่าจะไม่ส่งผลให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น 

ขณะที่นักวิเคราะห์ โอ้ อี้ ซุน จากศูนย์วิจัยแปซิฟิกแห่งมาเลเซียให้ความเห็นว่า การที่รัฐบาลกล้าใช้มาตรการที่ไม่เป็นที่นิยมเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงความเร่งด่วนของสถานการณ์ทางการเงินของประเทศ 

ทั้งนี้ มาเลเซียคาดว่าจะใช้จ่ายเงิน 5.28 หมื่นล้านริงกิตในการอุดหนุนและการช่วยเหลือทางสังคมในปีนี้ ซึ่งลดลงจาก 6.42 หมื่นล้านริงกิตในปี 2023 ตามงบประมาณปี 2024


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top