Monday, 21 April 2025
ปตท

ปตท. มอบน้ำแข็งแห้ง 350,000 กก. แก่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อหนุนปฏิบัติการบินลดฝุ่น PM 2.5 ด้วยการทำฝนหลวงทั่วประเทศ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ - บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (ปตท.) มอบน้ำแข็งแห้ง ให้แก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 350,000 กิโลกรัม สนับสนุนปฏิบัติการบินลดฝุ่นและทำฝนหลวงทั่วประเทศ ปี 2568 ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก จังหวัดระยอง 

น้ำแข็งแห้งดังกล่าว เกิดจากการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติมาใช้ โดยมี นายสรไนย เลิศอักษร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่แยกก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นผู้มอบ และ นายราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับมอบ 

ทั้งนี้ ปตท. ได้สนับสนุนน้ำแข็งแห้งเพื่อทำฝนหลวงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน มากกว่า 14,275,000 กิโลกรัม เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาภัยแล้งของภาคเกษตรกรรม การขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชน รวมถึงช่วยบรรเทาสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน สิ่งแวดล้อม และประเทศต่อไป

ปตท. ทุ่ม 1.6 หมื่นลบ. ซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 470 ล้านหุ้น หวังสร้างความเชื่อมั่นและความสามารถในการทำกำไร

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ขอเรียนต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ทราบว่าที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. ครั้งที่ 3/2568 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 ได้มีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้น คืนเพื่อบริหารทางการเงิน (Treasury Stock) 

ภายในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 16,000 ล้านบาท และจำนวนหุ้นที่จะ ซื้อคืนไม่เกิน 470 ล้านหุ้น หรือ คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 1.65 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ด้วยวิธีจับคู่ อัตโนมัติผ่านระบบการซื้อขายของ ตลท. (Automatic Order Matching: AOM) และมีกำหนดระยะเวลาซื้อหุ้น คืนไม่เกิน 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2568 ถึงวันที่ 23 กันยายน 2568 

ทั้งนี้ บริษัทมีประมาณการเงินสดคงเหลือประมาณ 124,194 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีประมาณการหนี้สินที่จะถึงกำหนดชำระภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่จะเริ่มซื้อหุ้นคืนประมาณ 84,325 ล้านบาท 

โดยยังไม่รวมกับกระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงานและกระแสเงินสดรับจากการลงทุนที่บริษัทจะได้รับในอีก 6 เดือนข้างหน้าประมาณ 63,944 ล้านบาท ดังนั้นบริษัทจึงมีสภาพคล่องเพียงพอในการชำระหนี้ที่จะถึงกำหนดภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่จะซื้อหุ้นคืน และมีกระแสเงินสดส่วนเกินเพียงพอที่จะนำมาซื้อหุ้นคืนตามโครงการนี้

สำหรับ เหตุผลในการซื้อหุ้นคืนเพื่อเป็นการบริหารสภาพคล่องส่วนเกินของบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับเพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) และอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) รวมถึงเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ลงทุนและผู้ถือหุ้นถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและความสามารถในการทำกำไรของบริษัท

‘ปตท.–GPSC-Solar PPM’ สนับสนุนการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ณ วัดสระเกศฯ ส่งเสริมการใช้พลังงานจากธรรมชาติ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของทางวัด

(23 มี.ค. 68) ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) พร้อมด้วย นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) และนายกฤษณ์ พรพิไลลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลาร์ พีพีเอ็ม จำกัด (Solar PPM) ร่วมถวายระบบ Solar Rooftop ขนาด 100 กิโลวัตต์ แด่พระเดชพระคุณพระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง) เพื่อปรับปรุงระบบไฟฟ้าของวัดให้เป็นระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับใช้งานภายในอาคารบำเพ็ญกุศล 1-2 และเมรุ โดยสามารถลดค่าไฟฟ้าของวัดได้ถึงร้อยละ 50 ภายใน 1 เดือน นับเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่วัดและเป็นการสนับสนุนเพื่อสาธารณประโยชน์ให้แก่วัดและชุมชนในพื้นที่อีกด้วย

‘ปตท.’ ยืนยัน!! แผ่นดินไหวเมียนมา ไม่กระทบพลังงานไทย ตรวจสอบพื้นที่ปฏิบัติการทั้งระบบแล้ว ยังเดินเครื่องได้ตามปกติ

(29 มี.ค. 68) ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ยืนยันเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ กลุ่ม ปตท. มั่นใจสามารถรองรับความต้องการใช้พลังงานของประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำพันธกิจสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ

กลุ่ม ปตท. ได้ตรวจสอบพื้นที่ปฏิบัติการทั้งหมด ตั้งแต่แท่นผลิตก๊าซธรรมชาติ ระบบรับส่งก๊าซธรรมชาติในทุกพื้นที่ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตปิโตรเคมี โรงไฟฟ้า คลังน้ำมันและคลังปิโตรเลียมทั่วประเทศ ตลอดจนสถานีบริการน้ำมันและสถานีบริการ NGV โดยได้รับยืนยันว่าสามารถเดินเครื่องดำเนินงานและให้บริการได้ตามปกติ และไม่ได้รับความเสียหายที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตและส่งจ่ายพลังงาน

ทั้งนี้ ปตท. ให้ความสำคัญในการดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยและการบริหารความเสี่ยง มีแผนบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรักษาความเสถียรของระบบพลังงานของประเทศ ปตท. จะติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้อย่างมั่นคงต่อไป

‘ทริสเรทติ้ง’ คงอันดับเครดิต ‘OR’ ระดับ AA+ แนวโน้มคงที่ 3 ปีติด สะท้อนความแข็งแกร่งบริษัทในฐานะผู้นำตลาดค้าปลีกน้ำมัน

(3 เม.ย. 68) บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ได้รับการคงอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ "AA+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" จากทริสเรทติ้ง (TRIS Rating) สถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นนำของประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของบริษัทในฐานะผู้นำตลาดค้าปลีกน้ำมันของประเทศ

หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR เปิดเผยว่า OR ได้รับการจัดอันดับเครดิตองค์กรจาก TRIS ที่ระดับ AA+ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ต่อเนื่องเป็นปีที 3 ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจ และตอกย้ำความเป็นผู้นำของ OR ในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันและการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในประเทศไทย และเป็นหลักสำคัญในการกระจายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของกลุ่ม ปตท. ควบคู่ไปกับนโยบายบริหารการเงินที่มีความรอบคอบและมีประสิทธิภาพ

TRIS ให้ความเชื่อมั่นสูงใน OR โดยพิจารณาจากจุดแข็งหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเป็นองค์กรที่เป็นผู้นำด้านธุรกิจค้าปลีกน้ำมันและความสามารถในการจัดหาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รวมทั้งเครือข่ายสถานีบริการและช่องทางกระจายสินค้า รวมไปถึงความแข็งแกร่งของแบรนด์ PTT Station ที่มีสถานีบริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ด้วยกลยุทธ์ที่มุ่งให้ PTT Station เป็นศูนย์กลางในการเติมเต็มทุกความสุขและเติบโตไปพร้อมกับชุมชนอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและการขยายธุรกิจไลฟ์สไตล์ของ OR ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เสริมความแข็งแกร่งให้กับองค์กร ทำให้ OR สามารถรักษาตำแหน่งผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดค้าปลีกน้ำมันและตลาดปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ส่วนใหญ่เอาไว้ได้

ในช่วงที่ผ่านมา OR ได้เพิ่มความหลากหลายของสินค้าและบริการ ขยายพื้นที่ และเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่บริษัท การจัดอันดับของ TRIS ครั้งนี้แสดงถึงความเชื่อมั่นต่อการดำเนินธุรกิจ กระแสเงินสด และสภาพคล่องที่แข็งแกร่งของ OR แม้จะเผชิญกับความท้าทายจากความผันผวนของราคาน้ำมัน และสภาวะการแข่งขันระหว่างผู้ค้าปลีกน้ำมันที่เข้มข้นยิ่งขึ้น ทั้งนี้ OR ยังคงมุ่งมั่นสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งบริหารสถานะทางการเงินให้มีความเข้มแข็งและพร้อมรับมือกับความท้าทาย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียอย่างยั่งยืน

‘สรส.-สสรท.’ 2 สมาพันธ์แรงงาน เข้าพบ ‘รองนายกฯ พีระพันธุ์’ ยื่น ตรวจสอบคุณสมบัติบอร์ด ปตท. หวั่นเอื้อกลุ่มทุนพลังงาน

สรส.-สสรท. ยื่น ตรวจสอบคุณสมบัติบอร์ด ปตท. หวั่นเอื้อกลุ่มทุนพลังงาน ‘พีระพันธุ์’ ชี้ภาครัฐมีข้อจำกัดในการควบคุมแทรกแซงแม้เห็นความเคลื่อนไหวผิดปกติ แนะผลักดันกฎหมายเพิ่มอำนาจ สคร.ปกป้องประโยชน์ชาติและประชาชน

เมื่อวันที่ (3 เม.ย.68) ที่ผ่านมา นายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เปิดเผยว่า สรส.ร่วมกับสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) ได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของคณะกรรมการบริษัทในกลุ่ม ปตท. โดยอ้างอิงจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าบุคคลบางรายที่ดำรงตำแหน่งกรรมการ อาจมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และบางรายมีประวัติเกี่ยวข้องกับบริษัทด้านพลังงาน ซึ่งอาจขัดกันแห่งผลประโยชน์

นายมานพระบุว่า ในฐานะที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มีหน้าที่ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่าการแต่งตั้งกรรมการเหล่านี้มีความโปร่งใสหรือไม่ พร้อมยืนยันว่า สรส.จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

ขณะที่นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน สสรท. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเข้าพบนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยตั้งคำถามถึงเหตุผลที่รัฐบาลไม่สามารถลดราคาไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซได้ ทั้งที่มีความพยายามจากกระทรวงพลังงานในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว

นายสาวิทย์เปิดเผยว่า จากการหารือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยอมรับถึงข้อจำกัดตามกฎหมายในปัจจุบัน ที่ทำให้รัฐไม่สามารถควบคุมหรือแทรกแซงการบริหารจัดการของบริษัทในเครือ ปตท. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะเห็นความเคลื่อนไหวด้านการโอนทรัพย์สินจากบริษัทแม่ไปยังบริษัทลูก แต่รัฐมนตรีก็ไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบโดยตรง

ด้วยเหตุนี้ นายพีระพันธุ์จึงแนะให้ทั้ง สรส. และ สสรท. ร่วมกันผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สามารถปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนได้อย่างแท้จริง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top