Monday, 21 April 2025
ปตท

'ปตท.' ชวนชมนิทรรศการ 'พลังที่ส่งต่อ' ฟรี!! ตลอดเดือนตุลาคม ส่งเสริมโอกาสด้านศิลปะจากพลังไทยรุ่นใหม่ที่มีคุณค่าต่อสังคม

✨พลังที่ส่งต่อ!! ปตท. มอบรางวัลประกวดศิลปกรรม 'พลังที่ส่งต่อ' ครั้งที่ 39 ส่งเสริมเวทีแห่งโอกาสด้านศิลปะ ก้าวสู่พลังไทยรุ่นใหม่ที่มีคุณค่าต่อสังคม พร้อมชวนร่วมชื่นชมและให้กำลังใจ ผลงานของศิลปินผ่านนิทรรศการ 'พลังที่ส่งต่อ' ได้ที่ PTT Art Gallery ณ บ้านเจ้าพระยา ถ.พระอาทิตย์ กรุงเทพมหานคร ตลอดเดือนตุลาคม 2567 โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชม

ไม่นานมานี้ ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดศิลปกรรม ปตท. ครั้งที่ 39 ประจำปี 2567 ในหัวข้อ 'พลังที่ส่งต่อ' รวม 24 รางวัล และรางวัลประติมากรรมสื่อผสมจากวัสดุเหลือใช้ 'ชลวิถี นทีพัฒน์' เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จำนวน 3 รางวัล เพื่อส่งต่อพลังใจให้กับศิลปินที่รังสรรค์ผลงาน ให้เติบโตเป็นบุคลากรชั้นนำในวงการศิลปะ

ดร.คงกระพัน กล่าวว่า ตลอด 39 ปีที่ผ่านมา ปตท. ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร สนับสนุนเวทีแห่งโอกาสในการสร้างศิลปินรุ่นใหม่ผ่านโครงการประกวดศิลปกรรม เพื่อให้เยาวชนรวมถึงกลุ่มคนรักศิลปะได้สร้างสรรค์ผลงานทั้งประเภทจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และทัศนศิลป์อื่นๆ ซึ่งในปีนี้ได้กำหนดหัวข้อการประกวดคือ 'พลังที่ส่งต่อ' เพื่อให้ศิลปินได้ถ่ายทอดผลงานที่จะสร้างกำลังใจและพลังให้กับคนไทยในการขับเคลื่อนประเทศและในปีนี้เป็นปีแรกที่เปิดรับผลงานประเภทดิจิทัลอาร์ต 2 มิติ โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทุกประเภทรวมทั้งสิ้น 1,126 ชิ้น จากศิลปิน 1,065 คน แบ่งเป็นรางวัลยอดเยี่ยม (PTT Art Grand Prize Award) และรางวัลดีเด่น (PTT Art Winner Awards) รวม 24 ผลงาน 

นอกจากนี้ ปตท. ยังได้จัดการประกวดประติมากรรมสื่อผสมจากวัสดุเหลือใช้ 3 มิติ ภายใต้หัวข้อ 'ชลวิถี นทีพัฒน์' เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ที่ทรงสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชทานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแก่ราษฎร พัฒนาสายน้ำหลากหลายสายให้กลับคืนมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีศิลปินร่วมส่งผลงาน 81 ราย รวมจำนวนผลงานแบบเดี่ยวและกลุ่ม 41 ชิ้น โดยได้คัดเลือกผู้ชนะจำนวน 3 รางวัล

การประกวดศิลปกรรม ปตท. นับเป็นหนึ่งใน Soft Power ที่ผ่านทัศนคติและการตัดสินจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของวงการศิลปะไทย  ทั้งยังได้ร่วมพัฒนาวงการศิลปกรรมร่วมสมัยของประเทศ ด้วยการเผยแพร่ผลงานการประกวดต่อสาธารณชน เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนัก เข้าใจถึงความสำคัญในการร่วมสืบสาน และจรรโลงสังคมไทยให้มีวัฒนธรรมที่ดีงามและยั่งยืน โดย ปตท. ยังเชื่อมั่นว่าศิลปะจะช่วยพัฒนาศักยภาพของเยาวชนให้มีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อก้าวเป็นพลังไทยรุ่นใหม่ที่มีคุณค่าต่อสังคม 

ทั้งนี้ ปตท. ขอเชิญชวนร่วมชื่นชมและให้กำลังใจ ผลงานของศิลปินที่ได้รังสรรค์ผ่านนิทรรศการ 'พลังที่ส่งต่อ' ได้ที่ PTT Art Gallery ณ บ้านเจ้าพระยา ถ.พระอาทิตย์ กรุงเทพมหานคร ตลอดเดือนตุลาคม 2567 โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชม

‘มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล’ CEO ปตท.สผ. ผงาดคว้ารางวัล Best CEO กลุ่มพลังงาน ด้าน ปตท.สผ. แฮตทริกคว้ารางวัล BEST IR มา 3 ปีซ้อน

(1 ต.ค. 67) นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. รับรางวัล Best CEO ในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภค จากเวที IAA Awards for Listed Companies 2024 โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายไพบูลย์ นลินทรางกูร  นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนให้เกียรติมอบรางวัล 

นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังได้รับรางวัล Best IR ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งการมอบรางวัลดังกล่าว จัดขึ้นโดยสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

IAA Awards for Listed Companies เป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้บริหารและบริษัทจดทะเบียนที่มีศักยภาพโดดเด่น มีความเป็นเลิศด้านการบริหารธุรกิจตามบรรษัทภิบาล มีความเชี่ยวชาญ รวมถึง การดำเนินงานด้านนักลงทุนสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างยืน รวมทั้ง ยังเป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตของตลาดทุนไทย และเศรษฐกิจไทยโดยรวมอีกด้วย

‘ปตท.–ซีพีเอฟ–ไทยเบฟ’ ติดโผ นายจ้างที่ดีที่สุด จากผลสำรวจโดย ‘Forbes’ ด้าน Microsoft ครองแชมป์ ประจำปี 8 สมัยรวด ด้วยคะแนนที่ท่วมท้น

(13 ต.ค. 67) จากรายงานการศึกษาของ World Economic Forum ด้านสถานการณ์การจ้างงาน ชี้ว่า โลกการทำงานยุคนี้ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและแรงกดดันจากปัญหาสังคมและเศรษฐกิจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความไม่สงบทางการเมือง ค่าครองชีพที่สูงขึ้น การพัฒนาอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ในที่ทำงาน รวมถึงองค์กรหรือธุรกิจต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืน จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายองค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับประเด็นเหล่านี้ไม่น้อย 

สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในตลาดงาน ดังนั้น ตัวแรงงานหรือลูกจ้างหากต้องการให้ตนเองสามารถแข่งขันในตลาดงานต่อไปได้ จำเป็นต้องเพิ่มทักษะใหม่ๆ และปรับตัวให้เข้ากับลักษณะงานที่เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งฝั่งนายจ้างเองก็ย่อมต้องการทักษะใหม่ต่างๆ จากแรงงานเช่นกัน

ลูกจ้างของบางบริษัทอาจต้องขวนขวายหาความรู้หรือเพิ่มทักษะด้วยตนเอง แต่ลูกจ้างของบางบริษัทก็โชคดีกว่านั้น เพราะองค์กรของพวกเขาได้เข้ามาสนับสนุนและจัดให้มีพื้นที่ในการอบรม เพื่อฝึกฝนพัฒนาทักษะใหม่ให้พนักงานในองค์กรเท่าทันเทคโนโลยีใหม่ๆ เครื่องมือใหม่ๆ ซึ่งทำให้พนักงานเติบโตไปพร้อมกับงานนั้นได้ อีกทั้งทำให้องค์กรรับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงได้ นำไปสู่การพัฒนาองค์กรให้เติบโตก้าวหน้าต่อไป

พนักงานที่ทำงานในบริษัทที่ให้การสนับสนุนฝึกฝนทักษะดังกล่าว มักจะทำงานในบริษัทเหล่านั้นได้นานขึ้น มีความสุข และมีส่วนร่วมกับงานมากขึ้น แต่บางครั้งลูกจ้างที่จบใหม่ก็อาจไม่รู้ว่าบริษัทดีๆ แบบนี้คือที่ไหนบ้าง เพราะการค้นหาบริษัทเหล่านี้อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป

ล่าสุด Forbes ได้ร่วมกับ Statista บริษัทให้บริการข้อมูลด้านสถิติระดับโลก ได้ทำให้การค้นหานั้นง่ายขึ้นด้วยการจัดอันดับนายจ้างที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2024 ซึ่งได้ทำต่อเนื่องติดต่อกันมาเป็นครั้งที่ 8 แล้ว

โดยการสำรวจและรวบรวมข้อมูลของปีนี้ ทีมงานวิจัยได้สำรวจพนักงานกว่า 300,000 คนในกว่า 50 ประเทศ ที่ทำงานให้กับกลุ่มบริษัทข้ามชาติที่มีพนักงานมากกว่า 1,000 คน และดำเนินงานในภูมิภาคทวีปอย่างน้อย 2 แห่งจากทั้งหมด 6 แห่งของโลก (แอฟริกา เอเชีย ยุโรป ละตินอเมริกาและแคริบเบียน อเมริกาเหนือ และโอเชียเนีย)

โดยผู้ตอบแบบสอบถามถูกถามว่า จะแนะนำบริษัทของตนให้กับครอบครัวหรือเพื่อนหรือไม่ และให้คะแนนโดยพิจารณาจากเกณฑ์ต่างๆ ได้แก่ 1.เงินเดือน 2.การพัฒนาบุคลากร และ 3.ตัวเลือกการทำงานจากระยะไกล นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมยังสามารถให้คะแนนบริษัทที่ตนรู้จักจากความรู้ในอุตสาหกรรมของตนเองและจากเพื่อนหรือครอบครัวที่ทำงานที่นั่นได้ด้วย

ผลการสำรวจได้รับการวิเคราะห์จากข้อมูลตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา โดยเน้นให้ความสำคัญกับข้อมูลล่าสุดและการประเมินจากพนักงานปัจจุบันเป็นหลัก ในที่สุดก็ได้บริษัทที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ต่างๆ ออกมา ไล่เลียงบริษัทที่ได้คะแนนตรงตามเกณฑ์มากที่สุดไปหาน้อยที่สุด โดยมีทั้งหมด 850 แห่งจาก 48 ประเทศ ซึ่งพบว่าบริษัทที่ขึ้นแท่นเป็นอันดับ 1 ได้แก่ Microsoft เนื่องจากได้รับคะแนนท่วมท้นทั้งในแง่ของ การให้พนักงานทำงานอย่างยืดหยุ่นได้ พนักงานได้รับเงินเดือนที่เหมาะสม และบริษัทมีการพัฒนาบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ

ขณะที่บริษัทจากประเทศไทยก็ติดโผในรายงานนี้ด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะไม่ได้ติดอันดับต้นๆ ก็ตาม โดยพบว่ามี 3 บริษัทใหญ่ในไทยที่ติดอันดับในรายงานชุดนี้ ได้แก่ 

- อันดับที่ 69 คือ ปตท. (PTT)
ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง แก๊ส ปิโตรเลียม โรงกลั่น เคมีภัณฑ์ การก่อสร้าง มีพนักงานจำนวน 3,574 คน

- อันดับ 246 คือ ซีพีเอฟ (CPF) 
ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเกษตรอุตสาหกรรม ปศุสัตว์ อาหารสัตว์ ผลิตเนื้อสัตว์ อาหารสด อาหารแปรรูป อาหารพร้อมทาน เครื่องดื่มต่างๆ มีพนักงาน 135,446 คน

- อันดับ 456 คือ ไทยเบฟเวอเรจ
ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับค้าปลีกและขายส่ง อาหาร เครื่องดื่มทั่วไป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีพนักงาน 60,000 คน

ทั้งนี้ สำหรับการจัดอันดับบริษัททั่วโลกที่ถือเป็น "นายจ้างที่ดีที่สุดในโลก ปี 2024" นั้น ขอยกมาเฉพาะใน 10 อันดับแรก พบว่า เป็นบริษัทชื่อดังระดับโลกที่มีสำนักงานกระจายตัวอยู่หลายภูมิภาคทั่วโลก ได้แก่ 

อันดับ 1 Microsoft จากสหรัฐ มีพนักงาน  221,000 คน 
อันดับ 2 Alphabet  จากสหรัฐ มีพนักงาน  182,502 คน
อันดับ 3 Samsung จากเกาหลีใต้ มีพนักงาน  270,372 คน
อันดับ 4 Adobe จากสหรัฐอเมริกา มีพนักงาน 29,000  คน
อันดับ 5 BMW Group จากเยอรมนี มีพนักงาน 154,950 คน
อันดับ 6 Delta Air Lines จากสหรัฐ มีพนักงาน  90,000 คน
อันดับ 7 AIRBUS จากเนเธอร์แลนด์ มีพนักงาน  147,893 คน
อันดับ 8 IKEA จากเนเธอร์แลนด์ มีพนักงาน  208,000 คน
อันดับ 9 Lego Group จากเดนมาร์ก มีพนักงาน  27,000 คน
อันดับ 10 IBM จากสหรัฐ มีพนักงาน 187,000 คน

หมายเหตุ: ลิสต์รายชื่อบริษัทต่างๆ ตามรายงานของ Forbes ชิ้นนี้บริษัทต่างๆ ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใดๆ เพื่อเข้าร่วมหรือได้รับเลือก 

ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี สถาบันปลูกป่า และระบบนิเวศ ปตท. ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม

ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี สถาบันปลูกป่า และระบบนิเวศ ปตท. รับประกาศเกียรติคุณ 'โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme: LESS)' จาก การจัดการของเสีย 2 กิจกรรม

1. การขยายผลองค์ความรู้การใช้ชุดอุปกรณ์ย่อยสลายขยะอินทรีย์แบบใช้อากาศ (Biodegradation Bin) นวัตกรรมที่คิดค้น และพัฒนาโดยศูนย์ฯ สิรินาถราชินี
2. การคัดแยกขยะรีไซเคิล ภายในร้านอาหารชิกเก้น แอนด์ บี (Chicken and Bee) ซึ่งเป็นร้านอาหารเครือข่ายชุมชนโดยรอบ

ผลลัพธ์
➢ ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้จำนวน 6.878 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
(ช่วงการประเมินระหว่าง 1 ม.ค. 65 – 31 ก.ค. 66)

CLICK ON CLEAR
โครงการดังกล่าวจัดโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นการขยายผลองค์ความรู้ของศูนย์เรียนรู้ ปตท. ต่อยอดในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริง พร้อมร่วมขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม

ปตท. คว้าคะแนน CGR ระดับ 'ดีเลิศ' ต่อเนื่อง 16 ปีซ้อน

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รับผลการประเมินการกำกับดูแลกิจการในระดับดีเลิศ (Excellent CG Scoring) หรือ 5 ตราสัญลักษณ์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 และติดหนึ่งใน TOP QUARTILE ของบริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าทางการตลาดไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ในโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies: CGR) ประจำปี 2567 จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ภายใต้การสนับสนุนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

นับเป็นอีกหนึ่งปีของความภาคภูมิใจ ที่ ปตท. ได้รับการประเมินในระดับดีเลิศ ซึ่งได้สะท้อนถึงมาตรฐานและการยึดมั่นในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายอย่างสมดุล รวมถึงครอบคลุมในด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กร ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน

OR ปฏิรูปสู่องค์กรดิจิทัล สร้าง Business Intelligence ทุกมิติ ยกระดับธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก

(12 พ.ย.67) OR เปิดตัวแผนปฏิรูปดิจิทัล หรือ Digital Transformation Journey ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล มุ่งยกระดับธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกสู่อนาคต พร้อมสร้างโอกาสใหม่และเสริมความแข็งแกร่งให้กับพอร์ตโฟลิโอธุรกิจ และการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนในทุกมิติ

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า OR ในฐานะผู้นำธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกชั้นนำของประเทศประกาศความพร้อมเพื่อก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านองค์กรครั้งสำคัญ ผ่านเส้นทางการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล หรือ 'Digital Transformation Journey' ที่จะครอบคลุมในทุกมิติของการดำเนินธุรกิจ โดยมีเป้าหมายที่การเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรและการส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารต้นทุนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งกลุ่มธุรกิจ Mobility และ Lifestyle เพื่อส่งเสริมการตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ ตลอดจนเพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ 

สร้างประสบการณ์ที่ดีสำหรับผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การบริหารสินค้าคงคลังแบบเรียลไทม์ (Real Time) การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (Advanced Data Analytics) เพื่อการตัดสินใจ ไปจนถึงการพัฒนาบริการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค 

นายภากร สุริยาภิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจดิจิทัลและโซลูชัน OR เปิดเผยว่า การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ครั้งนี้จะเป็นมากกว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยเป็นการปรับวัฒนธรรมองค์กรให้พร้อมรับมือกับอนาคต ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยธุรกิจต่าง ๆ และเพิ่มความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด 

ทั้งยังเสริมสร้างพอร์ตโฟลิโอธุรกิจด้วยนวัตกรรมดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการกระจายสินค้าและการสร้างประสบการณ์เชิงดิจิทัลให้แก่ลูกค้า รวมถึงการเปิดโอกาสธุรกิจใหม่ ๆ ผ่านการร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับผู้พัฒนานวัตกรรม เช่น ธุรกิจ Virtual Bank และธุรกิจกาแฟ เป็นต้น

OR ยังมุ่งมั่นในการพัฒนาบุคลากร และปลูกฝังวัฒนธรรมดิจิทัลให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร หรือ OR DNA ตลอดจนสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม เพื่อให้การปฏิรูประบบดิจิทัลในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกของไทย และช่วยสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมต่อไป

สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา - ปตท. ขยายความร่วมมือ ต่อยอดพัฒนานวัตกรรม - สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่สู่สังคม

(12 พ.ย. 67) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ณ อาคารรัตนเกษตร สำนักวิชาเกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันทนีย์ ผาสุข รองอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. พร้อมด้วยข้าราชการ ผู้บริหาร และพนักงานเฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จฯ

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง เปิดเผยว่า สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และ ปตท. มีความร่วมมือในการส่งเสริมการเรียนการสอนและงานวิจัย เพื่อพัฒนานวัตกรรมการเกษตร มุ่งสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ พร้อมขยายผลสู่ชุมชน ผ่านบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ฉบับที่ 1 มาตั้งแต่ พ.ศ. 2563 – 2566 ตลอดระยะเวลา 3 ปี ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ทำให้เกิดการพัฒนาที่เด่นชัดเป็นรูปธรรม อาทิ การพัฒนาหลักสูตรฝึกประสบการณ์วิชาชีพ “นักเพาะกล้า” การพัฒนาเครื่องมือการประเมินคาร์บอนไดออกไซด์ของพื้นที่สวนยางพาราด้วยเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล การวิจัยติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์การเจริญเติบโตและความหลากหลายทางชีวภาพของป่านิเวศป้องกัน การพัฒนาพื้นที่สวนสมรมเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ รวมถึงการจัดทำระบบฐานข้อมูลสำหรับศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต 

ในการนี้ เพื่อต่อยอดความร่วมมือดังกล่าว สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และ ปตท. จึงเห็นชอบร่วมกันในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ฉบับที่ 2 โดยมีระยะเวลาการดำเนินงาน 3 ปี เพื่อร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญระหว่างองค์กรและชุมชนที่เกี่ยวข้อง ด้วยกรอบการดำเนินงาน 4 ด้าน ได้แก่ สนับสนุนเชิงวิชาการเพื่อพัฒนาการศึกษา พัฒนาศักยภาพบุคลากร ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ และจัดหาที่ปรึกษาด้านวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อร่วมเป็นเครือข่ายในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านนวัตกรรมการเกษตร เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ต่อยอดสู่การสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ ปตท. “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน”

ปตท. ประกาศผล การประกวด Spark the Local 2024 by PTT ทีม นิสิตจุฬาฯ ‘Samui Sigma’ คว้าแชมป์จากไอศกรีมกะทิพรีเมียม แห่งเกาะสมุย

กว่า 5 เดือนกับการเฟ้นหาคนรุ่นใหม่ ที่มีใจรักในการพัฒนาสินค้าชุมชน ประเภทอาหารแปรรูป กับการประกวด Spark the Local 2024 by PTT ปั้นให้ปัง...จุดพลังให้สินค้าชุมชน ภายใต้ธีม 'ปรับปรุง แปลงโฉม ปั้นแบรนด์' มีผลงานส่งเข้าร่วมการประกวดกว่า 300 ผลงาน และได้มีการคัดเลือกอย่างเข้มข้นจนเหลือ 5 ทีมสุดท้าย ที่ได้มาจัดแสดงผลิตภัณฑ์และนำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการในงานร้านเด็ดแฟร์ 6 ณ สยามสแควร์ เมื่อวันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567  

ในการแข่งขันรอบ Final ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสินค้าชุมชน ได้แก่ คุณวรุตม์สุรางค์ ธรรมอารี ผู้จัดการฝ่ายกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อาจารย์ขาบ - สุทธิพงษ์ สุริยะ Food Stylist ผู้ออกแบบแนวคิด “นำ Local สู่ เลอค่า” คุณตั้ม -  นิพนธ์ พิลา เกษตรกรดีไซเนอร์ ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนพิลาฟาร์มสตูดิโอ คุณมยุรา ปรารถนาเปลี่ยน ผู้จัดการแผนกออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ สถาบันอาหาร และ คุณซ้อบรีม - ศิริพร มัจฉิม ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดใน TikTok ที่มีผู้ติดตามกว่า 1.2 ล้าน  

ผลการประกวด ปรากฏว่า ทีม Samui Sigma นิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลชนะเลิศ รับเงินรางวัล 100,000 บาท โดยได้เลือกเอาผลิตภัณฑ์ไอศกรีมกะทิ จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์มะพร้าวสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาปรับปรุงเป็นไอศกรีมกะทิพรีเมียมแบบถ้วย ภายใต้ชื่อแบรนด์ Creamui ที่สะท้อนเอกลักษณ์ของเกาะสมุย หรือ อัญมณีอ่าวไทย  

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 - ทีม KOS นักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังรับเงินรางวัล 70,000 บาท โดยได้เลือกพัฒนาผลิตภัณฑ์ คอมบูชาจากใบขลู่ จากวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ควนเนียงสวนลุงจิม จังหวัดสงขลา  

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 - ทีม NAGOYASH นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น รับเงินรางวัล 50,000 บาท โดยได้เลือกพัฒนาผลิตภัณฑ์ POP RICE ขนมข้าวพองอบกรอบ แบรนด์ นาโกย๊าช จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวอินทรีย์เป็นสุขนาโก จังหวัดกาฬสินธุ์  

รางวัลชมเชย รับเงินรางวัลทีมละ 10,000 บาท  ได้แก่ ทีม สาธุ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ชาหน่อกะลาปรุงสำเร็จ แบรนด์ Koh Chá จากวิสาหกิจชุมชนชาวเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และ ทีม หมายจันทร์ นิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ กัมมี่มะปี๊ด แบรนด์ CHAMY จาก วิสาหกิจชุมชนสภากาแฟฅนจันทบูร จังหวัดจันทบุรี (แบรนด์ Rabbit Chan)  

ขอแสดงความยินดีกับทุกทีมอีกครั้ง ทั้งหมดนี้คือพลังของคนรุ่นใหม่ ที่จะช่วยขับเคลื่อนและเป็นพลังใหักับชุมชน โดย ปตท. พร้อมที่จะเป็นอีกแรงสนับสนุนเพื่อร่วมสร้างสังคมไทยที่แข็งแรงและยั่งยืนตลอดไป  

‘คงกระพัน’ เผยผลประกอบการ ปตท. 9 เดือน ยังแข็งแกร่ง เดินหน้ารุกธุรกิจคาร์บอนต่ำ หนุนเติบโตรับกระแสพลังงานโลก

(19 พ.ย. 67) ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2567 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 80,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,502 ล้านบาท หรือ 2 % เมื่อเทียบกับ 9 เดือนแรกของปี 2566 โดยหลักจากผลการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นตามปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากโครงการ G1/61 ที่เพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ ในเดือนมีนาคม2567 มีกำไรจากการขายเงินลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และ Life Science รวมทั้งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น 

แม้ว่าผลการดำเนินงานโดยรวมของ ปตท. และบริษัทย่อยลดลง เช่น ธุรกิจการกลั่นที่มี Market GRM ที่ปรับลดลง รวมทั้งมีผลขาดทุนสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลง โดยหลักจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ที่มีกำไรขั้นต้นลดลงจากต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้น จากผลกระทบของนโยบาย Single Pool ในปีนี้ รวมถึงจากการด้อยค่าสินทรัพย์ธุรกิจปิโตรเคมี ทั้งนี้ กำไรที่มาจากผลการดำเนินงานของบริษัทในเครือ ปตท. คิดเป็น 78% และมาจากผลการดำเนินงานของ ปตท. คิดเป็น 22% แบ่งเป็นกำไรที่มาจากธุรกิจ Hydrocarbon 94% และธุรกิจ Non-Hydrocarbon 6% โดย 9 เดือนแรกของปี 2567 ปตท. และบริษัทในเครือ นำเงินส่งรัฐรวม 42,669 ล้านบาท เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยยั่งยืนอย่างสมดุล

ทั้งนี้ ซีอีโอ ปตท. ยังได้เน้นย้ำเจตนารมณ์การดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนอย่างสมดุล มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) สอดรับกับทิศทางการเติบโตของธุรกิจพลังงานโลก  ผ่านแนวทาง C3 ได้แก่ Climate Resilience Business ปรับ Portfolio ธุรกิจให้เติบโต ควบคู่กับการลดการปล่อยคาร์บอน Carbon-Conscious Asset ปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด Coalition, Co-Creation, and Collective Efforts for All 

พร้อมทั้ง ประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจก ใช้เทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) รวมถึงเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีทางธรรมชาติ ผ่านการปลูกและบำรุงรักษาป่า ซึ่งสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. โดยศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ได้รับประกาศเกียรติคุณจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากการจัดการขยะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 4.848 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า อีกทั้งศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินีได้ขยายผลองค์ความรู้ในการจัดการของเสีย ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 6.848 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สะท้อนการบูรณาการทุกภาคส่วน พร้อมส่งต่อองค์ความรู้ในการร่วมลดการปลดปล่อยคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม 

นอกจากนี้ ปตท. ยังเร่งผลักดันธุรกิจใหม่ด้านการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) และธุรกิจไฮโดรเจน เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการกักเก็บคาร์บอนจากกระบวนการผลิตของบริษัทในกลุ่ม อีกทั้งยังมีการลงทุนในธุรกิจไฮโดรเจนต่างประเทศ รองรับการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มเติม และมีเป้าหมายนำไฮโดรเจนเข้ามาผสมกับเชื้อเพลิงหลักเพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในอนาคต

อย่างไรก็ดี นอกจากพันธกิจหลักในการรักษาเสถียรภาพทางพลังงานแล้ว ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ได้ร่วมช่วยเหลือและดูแลสังคม เร่งบรรเทาทุกข์ในสถานการณ์วิกฤต โดยได้ส่งมอบความช่วยเหลือแก่พี่น้องผู้ประสบเหตุอุทกภัยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม ประกอบด้วย ถุงยังชีพ 25,170 ถุง น้ำดื่ม 81,740 ขวด ยารักษาโรค ผ้าห่ม เรือพาย และก๊าซหุงต้มเพื่อใช้ในการประกอบอาหาร รวมมูลค่ากว่า 15.73 ล้านบาท อีกทั้งได้ส่งทีมปฏิบัติการ PTT Group SEALs ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ยากแก่การเข้าถึง พร้อมสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการมอบถุงยังชีพ อพยพประชาชน และน้ำมันเชื้อเพลิงในการฟื้นฟูพื้นที่และบ้านเรือนในจังหวัดสุโขทัย เชียงราย และเชียงใหม่อีกด้วย

“ปตท.ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ มุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต ควบคู่กับการดูแลสังคมชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย พร้อมสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติและดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล มุ่งสู่การเติบโตขององค์กรในระดับโลกอย่างยั่งยืน” ดร.คงกระพัน กล่าว

พร้อมกันนี้ ดร.คงกระพัน ยังได้กล่าวถึงธุรกิจผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งบริษัทได้ร่วมมือกับ ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn Group)  ผู้นำการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก สัญชาติไต้หวัน เพื่อดำเนินการจัดตั้งโรงงานผลิต EV ในประเทศไทย ด้วยว่า ปัจจุบันโรงงานได้หยุดดำเนินการไปก่อน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตร เนื่องจากมีความต้องการให้พันมิตรดังกล่าว เป็นผู้ดำเนินการหลัก เพราะมีความเชี่ยวชาญ โดยหากมีความคืบหน้าจะรายงานให้ทราบอีกครั้งในภายหลัง

ก่อนหน้านี้ PTT ลงนามความร่วมมือกับ ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn Group) โดยอนุมัติให้ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (Arun Plus) บริษัทย่อย PTT จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัท ลี่ยี่ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเมนท์ จำกัด (Lin Yin) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Foxconn)ภายใต้บริษัท JV ชื่อ บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (Horizon Plus) โดย Arun Plus ถือหุ้น 60% และ Lin Yin ถือหุ้น 40%

ปตท. เร่งปรับโครงสร้างธุรกิจ - หาพันธมิตรที่เหมาะสม เสริมความแข็งแกร่งบริษัทในเครือทั้งธุรกิจต้นน้ำ - ปลายน้ำ

ปตท. เร่งปรับโครงสร้างรับมือการเปลี่ยนแปลงธุรกิจในยุคปัจจุบัน จ้างที่ปรึกษาทางการเงินศึกษาความเหมาะสมในการเลือกพันธมิตรเข้าร่วมลงทุนในบริษัทลูกเกี่ยวกับปิโตรเคมีและโรงกลั่น รวมทั้งหาพันธมิตรในธุรกิจ Life Science เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคต คาดแนวทางปรับโครงสร้างจะเสร็จในเดือน ธ.ค. 2567 นี้

เมื่อวันที่ (19 พ.ย. 67) นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยว่า ปตท. ได้ ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน เข้ามาช่วยศึกษาความเหมาะสมในการเลือกพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุนในบริษัทลูกของ ปตท. โดยเฉพาะธุรกิจหลักคือ ธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น รวมถึงการหาพันธมิตรในธุรกิจ Life Science ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้คาดว่าแนวทางการปรับโครงสร้างจะเสร็จประมาณกลางเดือน ธ.ค. 2567 นี้ และมีความชัดเจนเกิดขึ้นในปี 2568 ส่วนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปี 2568 ปตท. จะกลับมาเน้นในธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) และ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจต้นน้ำที่ยังมีการเติบโตได้ดี และเป็นจุดแข็งในการดำเนินธุรกิจของ ปตท. ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการลดคาร์บอน (Decarbonization)

สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2568 คาดว่าในส่วนของธุรกิจต้นน้ำ (Upstream) มีแนวโน้มดีขึ้นจากปี 2567 โดยธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ภายใต้การดำเนินงานของ ปตท.สผ. คาดปริมาณการขายจะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อผลประกอบการ ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมี คาดว่าจะยังทรงตัว โดยได้ผ่านจุดต่ำสุดของธุรกิจขาลงในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2567 ไปแล้ว ส่วนธุรกิจโรงกลั่นฯ จะยังคงมีกำไรต่ำอยู่ ส่วนราคาผลิตภัณฑ์ต่างๆนั้น ยังต้องติดตามสถานการณ์ในระยะต่อไป

“ปี 2568 ปตท.จะยังมุ่งลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง หลังจากปีนี้ ทำได้ราว 8% สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 5% ขณะเดียวกับจะรักษาการทำกำไรให้เติบโตอย่างยั่งยืน”

ส่วนแผนลงทุน 5 ปี ของ ปตท.(ปี 2568-2572) ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการจัดทำแผน ซึ่งจะสอดคล้องไปกับการปรับพอร์ตธุรกิจใหม่ของปตท. คาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด ปตท.ได้ในช่วงเดือน ธ.ค. 2567 จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับวงเงินลงทุน 5 ปี  ได้ภายในกลางเดือน ธ.ค. 2567 นี้ โดยเบื้องต้นงบลงทุนจะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจต้นน้ำ (Upstream) อย่างธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่ ปตท.สผ. จะต้องเร่งขยายการลงทุนหาแหล่งผลิตปิโตรเลียมเพิ่มเติม และธุรกิจก๊าซฯ ที่จะต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับปริมาณก๊าซฯในอนาคต เป็นต้น

ด้านการขับเคลื่อนโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ที่มีปัญหาเกี่ยวกับผู้รับเหมาช่วงของโครงการฯ นั้น บริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้ส่งทีมงานเข้าไปให้คำแนะนำ รวมถึงศึกษาข้อกฎหมายให้รอบคอบ และ ไทยออยล์ ปัจจุบันก็ยังประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลกำไรที่ดี มีสถานะการเงินที่พร้อมจะเดินหน้าการลงทุนต่อ ซึ่งโครงการ CFP ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะเกิดประโยชน์ในอนาคต ดังนั้นโครงการนี้จะต้องเดินหน้าก่อสร้างให้แล้วเสร็จ แต่จะขับเคลื่อนอย่างไรต่อไปนั้น ทางไทยออยล์ จะเป็นผู้ดูแลในเรื่องนี้ต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top