Monday, 21 April 2025
ปตท

‘ดีเอสไอ’ แจงภาพข่าว ‘ดีเอสไอสอบผู้บริหารปตท. ทุจริต’ เป็นข่าวเท็จ ชี้! หากมีการตรวจสอบและออกข่าวจริง ต้องทำอย่างเป็นทางการ

(28 พ.ย.67) โฆษกดีเอสไอ เผยภาพข่าว ‘ดีเอสไออยู่ระหว่างสอบสวนข้อกล่าวหาผู้บริหาร ปตท. และ โออาร์ ทำธุรกรรมการซื้อขายไบโอดีเซล B100 กับบริษัทในเครืออย่างผิดปกติ’ จากการตรวจสอบพบเป็น ‘ข่าวเท็จ’ ขณะที่ ตลท.ขอให้ PTT-OR-DSI แจงข่าวเข้าตรวจสอบกรณีบังคับขายบี 100 จาก GGC ในราคาต่ำ

พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า จากที่มีภาพข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ ระบุว่า ดีเอสไออยู่ระหว่างสอบสวนข้อกล่าวหาผู้บริหาร บมจ.ปตท. (PTT) และ บมจ. ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ว่าได้ทำธุรกรรมการซื้อขายไบโอดีเซล B100 กับบริษัทในเครืออย่างผิดปกตินั้น ทางดีเอสไอได้ตรวจสอบภาพข่าวดังกล่าว ภาพที่ปรากฏไม่ใช่ภาพประชาสัมพันธ์ของดีเอสไอ เพราะหากมีการตรวจสอบและออกข่าวจริง จะต้องเป็นภาพที่เป็นทางการจากดีเอสไอเพราะเป็นหน่วยงานราชการ ซึ่งเรื่องการตรวจสอบ บจ.ต่างๆ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน การจะดำเนินการจะต้องรอบคอบ จะต้องมีการนำเสนอเชิงลึกก่อนเปิดเผยประชาสัมพันธ์ ซึ่งกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะมีการสอบถามเข้ามา ทางดีเอสไอพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

นางสาวปวีณา ศรีโพธิ์ทอง รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกำกับตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท.ได้ประสานและสอบถามไปยัง PTT และ OR รวมถึงดีเอสไอขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าดีเอสไออยู่ระหว่างสอบสวนข้อกล่าวหาผู้บริหาร PTT และ OR ว่าได้ทำธุรกรรมการซื้อขายไบโอดีเซล B100 กับบริษัทในเครืออย่างผิดปกติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพข่าวที่ออกมาตามสื่อออนไลน์ระบุว่า การสอบสวนสืบเนื่องจากนายสยามราช ผ่องสกุล อ้างว่าเป็นผู้ถือหุ้นของ PTT บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) และ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ยื่นคำร้องต่อดีเอสไอตั้งแต่ปี 66 ขอให้สืบสวนว่า OR ได้สั่งให้ GGC ขาย B100 ราคาต่ำกว่าราคาแนะนำให้รับซื้อ ของสำนักงานนโยบายบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ทำให้ GGC ขายในราคาขาดทุน เป็นการผ่องถ่ายกำไรของ GGC มายัง OR ผู้ยื่นคำร้องระบุการกระทำนี้เข้าข่ายการกระทำความผิดในลักษณะการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน หรือการถ่ายโอนกำไรระหว่างกันของบริษัทในเครือ อันเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 281/2 มาครา 307 และ มาตรา 311 และเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343

ปตท. ชวนสัมผัส ‘งานมหัศจรรย์ไม้เมืองหนาว’ ชมทิวลิปบานกลางกรุง ที่สวนหลวง ร.๙ ตั้งแต่ 1 - 10 ธ.ค.นี้

กลับมาอีกครั้ง กับทุก ๆ ช่วงต้นเดือนธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ชื่นชอบความสวยงามของดอกไม้นานาชนิดไม่ควรพลาด กับงาน “มหัศจรรย์ไม้เมืองหนาว ทิวลิปบานที่สวนหลวง ร.๙” ประจำปี 2567 ระหว่าง 1 – 10 ธันวาคม 2567 โดยในปีนี้ทาง ปตท. เชิญชวนให้มาสัมผัสความงดงามของพรรณไม้เมืองหนาว ที่จะขึ้นภายใต้แนวคิด 'The Charming of Colorful Town'

โดยได้จำลองบรรยากาศเมืองแห่งสีสันในยุโรป มาไว้ภายใน อาคารถกลพระเกียรติ สวนหลวง ร.๙ เพื่อให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมได้เพลิดเพลินไปกับดอกไม้เมืองหนาวสุดพิเศษอย่างดอกทิวลิปหลากสี ไฮเดรนเยีย และไม้เมืองหนาวนานาพรรณ 

ไม่เพียงเท่านั้น ภายในงานยังจะมี สตรอว์เบอร์รีเกรดพรีเมียม ที่ปลูกโดยใช้พลังงานความเย็นจากกระบวนการแปรสภาพ LNG นวัตกรรมสุดล้ำที่สะท้อนถึงความยั่งยืน พร้อมอิ่มอร่อยกับเมนูสร้างสรรค์ทั้งขนมและเครื่องดื่มจากสตรอว์เบอร์รีคุณภาพโดยแบรนด์ Harumiki ที่ใช้สตรอว์เบอร์รีญี่ปุ่นพรีเมียมเป็นวัตถุดิบ ยกขบวนมาเสิร์ฟแบบจัดเต็มในงานนี้อีกด้วย

มาร่วมเก็บภาพความทรงจำสุดประทับใจในมุมถ่ายภาพสวย ๆ เหมือนเดินอยู่ในเมืองยุโรป พร้อมเลือกซื้อของฝากสุดพิเศษ ได้ตั้งแต่วัน วันที่ 1 - 10 ธันวาคม 2567 เวลาเข้าชม: 09.00-19.00 น. ค่าผ่านประตูสวนหลวง ร.๙ คนละ 10 บาท และ ค่าจอดรถคันละ 50 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานมูลนิธิสวนหลวง ร.๙ โทร. 0 2328 1385

‘3 Account อวตาร’ รับงานปล่อยข่าวปลอม ตั้งป้อมโจมตีกล่าวหา ‘ผู้บริหาร ปตท.’ ด้วยข้อมูลเท็จ

(29 พ.ย.67) จับตาตำรวจไซเบอร์ พุ่งเป้า ‘3 Account อวตาร’ รับงานปล่อยข่าวโจมตี-กล่าวหา ‘กลุ่มผู้บริหารปตท.’ ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ เตรียมเอาผิดข้อหาหนัก เผยผู้อยู่เบื้องหลังคือ 'กลุ่มที่ทุจริตปาล์มน้ำมันอินโดฯ-สต๊อกลม' ที่ดิ้นพล่าน ต้องการดิสเครดิตผู้บริหารในปัจจุบัน

จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จทางโลกออนไลน์ เกี่ยวกับประเด็นที่แอบอ้างว่า “DSI สรุปสำนวน เชื่อว่าผู้ว่าฯปตท.และ CEO OR เข้าข่ายทุจริต ผิดพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ, ฟอกเงิน และฉ้อโกงประชาชน” ซึ่งเนื้อหาของข่าวดังกล่าว เป็นการระบุแบบคลุมเครือ ไม่ได้มีการระบุชื่อตัวบุคคลอย่างเป็นทางการ แต่เป็นการอ้างตำแหน่ง เพื่อสร้างความเข้าใจผิดให้กับบุคคลทั่วไปที่รับข่าวสารทางโลกสังคมออนไลน์ อีกทั้งยังมีการรวบรวมหลายประเด็นที่เกิดขึ้นใน 'อดีต' แล้วนำมาร้อยเรียงรวมกันแบบเหวี่ยงแห โดยมีเป้าหมายเพื่อมุ่งทำลายตัวบุคคลที่ยังอยู่ในตำแหน่งปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริต อื้อฉาวใน 'อดีต' แต่อย่างใด

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ (ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ : ศปอส.ตร.) ถึงกรณีการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จดังกล่าวนี้ ทำให้ทราบว่า เบื้องต้นได้ตรวจสอบ Account ที่มีการโพสต์ประเด็นดังกล่าว ไปยังกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งมีจำนวนการโพสต์ ดังนี้

-ราชสมัคร xxx จำนวน 4 โพสต์
-ออสติน พระxxxxxx จำนวน 2 โพสต์
-Tom Srixxx จำนวน 1 โพสต์

และเมื่อได้ตรวจสอบพฤติกรรมของ Account ทั้งหมด พบว่า 3 Account ดังกล่าว ได้มีการทิ้งระยะห่างเวลาในการโพสต์ไม่เกิน 2 ชั่วโมง เน้นไปที่ 'กลุ่มการเมือง' ที่เปิดเป็นสาธารณะ อีกทั้งยังมีการใช้รูปภาพเเละเนื้อหาเดียวกันทั้งหมด ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า

1.Account : ราชสมัคร xxx โพสต์ประเด็นดังกล่าวในลักษณะเดียวกันนี้ จำนวนทั้งสิ้น 4 กลุ่ม ซึ่งที่ผ่านมา หน้าโปรไฟล์มักเเชร์ข่าวเกี่ยวกับ 'การออม/การเงิน/การลงทุน'

2.Account : ออสติน พระxxxxxx และ Tom Srixxxx มีการเข้าร่วมกลุ่ม เเละโพสต์ประเด็นดังกล่าวร่วมกัน

3.ทั้ง 3 Account ไม่ใช้รูปตนเอง เเละตั้งรูปโปรไฟล์เป็นรูปรถ, รูปการ์ตูน เเละรูปสัตว์ทะเล

ข้อมูลเท็จ-บิดเบือน
ทั้งนี้จากการตรวจสอบในเชิงลึกพบว่า กลุ่มบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการปล่อยข่าวเท็จ-ข่าวปลอมในเรื่องนี้ คือกลุ่มบุคคลกลุ่มที่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับกรณีทุจริตปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว และ บุคคลกลุ่มเดียวกันนี้ ยังเกี่ยวข้องกับกรณี 'สต๊อกลม' ของ GGC มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท บางคดียังคงอยู่ในกระบวนการสอบสวน ซึ่งดำเนินไปอย่างล่าช้าในหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ขณะที่บางคดี ศาลได้มีคำพิพากษาแล้วว่า อดีตผู้บริหารของ GGC และผู้ค้า “ร่วมกันกระทำความผิด” ในกรณีดังกล่าว

ที่ผ่านมา ยังพบว่า บุคคลกลุ่มดังกล่าว ยังมีพฤติกรรมแสวงหาผลประโยชน์จากการขายไบโอดีเซลให้กับกลุ่ม ปตท. ในราคาที่สูงกว่าปกติ แต่ผู้บริหาร ปตท.ในปัจจุบัน ได้ดำเนินมาตรการป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวอีก เช่น การปฏิเสธการฮั้วประมูลไบโอดีเซล รวมถึงการเร่งรัดกระบวนการพิจารณาคดีในกรณี “สต๊อกลม” ทำให้บุคคลกลุ่มดังกล่าว ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีทุจริตปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย ได้ดำเนินการตอบโต้ มีการใช้ 'ทนายความ' ดำเนินการในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการเข้าซื้อหุ้นในกลุ่ม ปตท. จำนวน 100 หุ้น โดยที่ไม่มีประวัติการลงทุนในตลาดหุ้นมาก่อน จากนั้นได้มีการยื่นข้อร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ โดยพุ่งเป้ามาที่ 'ผู้บริหาร ปตท.ในปัจจุบัน' ที่มีบทบาทในการดำเนินมาตรการป้องกันดังกล่าว ประกอบกับข้อร้องเรียนที่ได้มีการยื่นมา โดยอ้างสถานะการเป็นผู้ถือหุ้น แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่งได้ดำเนินการตรวจสอบแล้ว และ 'ไม่พบข้อบกพร่อง' หรือ 'ประเด็นที่มีมูลความผิด' ตามที่มีการร้องเรียนแต่อย่างใด

ในเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ ได้แจ้งว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 นั้น ระบุไว้ชัดเจนว่า

1.การกด Like ฐานข้อมูลหรือข้อมูลที่มีผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงเสี่ยง เข้าข่ายความผิดมาตรา 112 หรือมีความผิดร่วม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี

2.การกด Share ข้อมูลที่มีความผิดโดยไม่ไตร่ตรองก่อน ถือเป็นการเผยแพร่ หากข้อมูลที่แชร์มีผลกระทบต่อผู้อื่น อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมฯ โดยเฉพาะที่กระทบต่อบุคคลที่ 3 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี

3.การเป็นแอดมินเพจ ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จดังกล่าว มีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯอย่างชัดเจน ถือเป็นความผิดมาตรา 14 โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท

4.การโพสต์ด่าว่าผู้อื่น โดยเฉพาะการใส่ข้อความ รูปภาพ อันเป็นเท็จ ไม่เป็นความจริง ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ถือเป็นความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท

พิษณุโลก กองทัพภาคที่ 3 รับมอบผ้าห่มกันหนาว จาก บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

(3 ธ.ค.67) พลตรี สมบัติ บุญกอแก้ว เสธนาธิการกองทัพภาคที่ 3 ให้การต้อนรับคณะผู้บริหาร จาก บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในโอกาสมอบผ้าห่มกันหนาว ให้กับกองทัพภาคที่ 3 ณ บริเวณหน้าห้องรับรอง กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อ.เมือง จ.พิษณุโลก 

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) โดย คุณ ศรายุทธ เนียมฤทธิ์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการผลิต โครงการเอส 1 และคณะ ได้เข้ามอบผ้าห่มกันหนาว จำนวน 3,000 ผืน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 3 ซึ่งที่ผ่านมากองทัพภาคที่ 3 ได้รับความอนุเคราะห์จาก บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มาด้วยดีโดยตลอด พร้อมกันนี้ เสธนาธิการกองทัพภาคที่ 3 ได้มอบหนังสือขอบคุณและมอบของที่ระลึกให้กับ คณะผู้บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นการขอบคุณอีกด้วย

กองทัพภาคที่ 3 เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางภูมิประเทศ และสภาพอากาศ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากจากการเกิดภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในทุกฤดู ทางกองทัพภาคที่ 3 จะได้นำผ้าห่มกันหนาวที่ได้รับมอบนี้ ไปมอบให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและประสบภัยในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 3 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนต่อไป

ปตท. เผย 3 ปี แบกภาระราคา NGV รวม 18,123 ล้านบาท ขณะ ก.พลังงาน ขอความร่วมมือตรึงราคาต่อถึงสิ้นปี 2568

(4 ธ.ค. 67) ปตท. เผย 3 ปี แบกรับภาระต้นทุนราคา NGV รวม 18,123 ล้านบาท ขณะกระทรวงพลังงานยังขอความร่วมมือให้ตรึงราคาช่วยกลุ่มรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะจนถึงสิ้นปี 2568 ส่วนเฉพาะปี 2567 ปตท. แบกภาระลดลงเหลือกว่า 1 พันล้านบาท เหตุปล่อยราคา NGV กลุ่มผู้ใช้ทั่วไปเป็นไปตามกลไกตลาด ล่าสุดราคาลดลงต่ำสุดในรอบปี เหลือ 17.46 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่กลุ่มรถแท็กซี่และรถสาธารณะยังคงตรึงราคาไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม   

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้สรุปการอุดหนุนราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 – 5 พ.ย. 2567 ว่า ปตท. ได้ช่วยเหลือราคา NGV สำหรับกลุ่มผู้ใช้ NGV ทั่วไป และกลุ่มผู้ขับขี่รถแท็กซี่สาธารณะในเขต กทม. และปริมณฑล รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 18,123 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ขอความร่วมมือ ปตท. ช่วยตรึงราคา  NGV มาตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดย ปตท. ได้จัดทำเป็น “โครงการ NGV เพื่อลมหายใจเดียวกัน” และช่วยตรึงราคา NGV ไว้ที่ 14.62 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับผู้ใช้ NGV ทุกราย โดยตลอดปี 2564-2566 ปตท. ได้แบกรับภาระค่า NGV ไว้ประมาณ 17,000 ล้านบาท  

ต่อมาเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ในปี 2567 กระทรวงพลังงานพิจารณาเห็นว่าเศรษฐกิจประเทศยังชะลอตัว จึงขอความร่วมมือ ปตท. ให้ช่วยตรึงราคา NGV ต่อไปอีก 2 ปี ตั้งแต่ปี 2567-2568 ดังนั้นทาง ปตท. จึงได้ปรับเปลี่ยนจาก “โครงการ NGV เพื่อลมหายใจเดียวกัน” มาเป็น “โครงการบัตรสิทธิประโยชน์กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ” พร้อมกับการปรับเปลี่ยนราคาใหม่

โดยแบ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้ NGV ทั่วไป จะไม่ได้รับการช่วยเหลือและต้องซื้อ NGV ในราคาที่เป็นไปตามกลไกตลาด ส่วนกลุ่มรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะจะยังได้รับการช่วยเหลือ แต่ก็มีการขยับราคาจากที่ตรึงไว้ที่ 14.62 บาทต่อกิโลกรัม ขยับขึ้นมาเป็น 15.59 บาทต่อกิโลกรัมจนถึงปัจจุบัน ทำให้ภาระค่า NGV ที่ ปตท. ต้องแบกรับไว้ลดลง เหลือประมาณปีละเกือบ 1,100 ล้านบาท จากเดิม 3 ปี (พ.ศ. 2564-2566) แบกภาระต้นทุน NGV ไว้ถึงประมาณ 17,000  ล้านบาท

สำหรับราคา NGV สำหรับผู้ใช้ NGV ทั่วไป ปตท. จะปรับราคาทุก 15 วัน โดยล่าสุดราคาอยู่ที่ 17.46 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาระหว่างวันที่ 16 พ.ย. -15 ธ.ค. 2567 และนับเป็นราคาที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2567 ที่ ปตท. กำหนดให้ราคา NGV เปลี่ยนแปลงตามกลไกตลาด ส่วนราคาที่สูงที่สุดเคยอยู่ที่ 19.59 บาทต่อกิโลกรัม ในเดือน มี.ค. 2567

ขณะที่กลุ่มผู้ใช้ NGV ที่เป็นกลุ่มรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะ (เส้นทางเดินรถเขต กทม. หมวด 1 และ 4 ไม่รวม ขสมก.) จะได้รับการช่วยเหลือตรึงราคา NGV ไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัมตามเดิม ขณะที่กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งเป็นรถบรรทุกใน “โครงการส่งเสริมความปลอดภัยใช้ NGV” ที่เติมก๊าซที่สถานีในแนวท่อ และสถานีนอกแนวท่อ จะได้รับการช่วยเหลือราคา NGV ในกรณีที่ราคาเกินกว่า 18.59 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น

แลนด์มาร์กสีเขียวแห่งใหม่ 'ปตท.' สานต่อพระราชปณิธาน พัฒนา 'สวนเปรมประชาวนารักษ์' เพื่อสังคมยั่งยืน

เมื่อวันที่ (10 ธ.ค. 67) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปเปิดสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ “เปรมประชาวนารักษ์” ที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดสร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “ชลวิถีธีรพัฒน์” ที่ถนนกำแพงเพชร 6 แนวขนานคลองเปรมประชากร โดยมี คณะองคมนตรี  ผู้บัญชาการเหล่าทัพ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. พร้อมคณะผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงาน หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ผู้บริหารและพนักงานกลุ่ม ปตท. และประชาชนทุกหมู่เหล่า เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท. กล่าวว่า ปตท. ร่วมกับหน่วยราชการในพระองค์ ภาครัฐ เอกชน และประชาชนได้ร่วมกันพัฒนาโครงการคลองเปรมประชากรตามพระราชดำริ เพื่อพัฒนาเมืองและสิ่งแวดล้อม โดยใช้พื้นที่ 10 ไร่ที่เคยเป็นพื้นที่รกร้าง มาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะพร้อมบอกเล่าถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ต่อประชาชน ใช้เวลาสร้างจนแล้วเสร็จประมาณ 5 เดือน ตั้งแต่ มีนาคม - กรกฎาคม 2567  ก่อนจะเปิดให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ พร้อมเชื่อมโยงระบบคมนาคมทั้งทางล้อ (ถนนวิภาวดีรังสิต) ราง (สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง-ทุ่งสองห้อง) และเรือ (คลองเปรมประชากร)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานชื่อสวนสาธารณะแห่งใหม่นี้ว่า “เปรมประชาวนารักษ์” ซึ่งหมายถึงสวนที่นำความสุขและความเบิกบานมาสู่ประชาชน โดยทรงปลูกต้นประดู่ป่าจำนวน 1 ต้น และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงปลูกต้นพิกุล 1 ต้น เพื่อความเป็นสิริมงคล

หลังจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “ชลวิถีธีรพัฒน์” การพัฒนาสายน้ำของผู้เป็นปราชญ์แห่งแผ่นดิน ที่เผยแพร่โครงการในการสืบสาน รักษา ต่อยอด การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต บรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร ผ่านการนำเสนอโครงการพระราชดำริตามพระบรมราโชบาย โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 10 โครงการทั่วประเทศ ได้แก่ โครงการพัฒนาคลองเปรมประชากร  โครงการพัฒนาถนนวิภาวดีรังสิต โครงการพัฒนาคูคลองในเกาะรัตนโกสินทร์และคลองรอบกรุง โครงการพัฒนาสระบ่อดินขาว จังหวัดนครสวรรค์  โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการพัฒนาบึงสีไฟ จังหวัดพิจิตร โครงการพัฒนาบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์  โครงการพัฒนาหุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี โครงการพัฒนาคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่  และ โครงการพัฒนาเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี 

ต่อจากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการกลางแจ้ง “สายธารพระบารมีจักรีวงศ์” ร้อยเรียงเรื่องราวของ ปตท. บนเส้นทางการสนองแนวพระราชดำริ เพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน และการแสดงละครเพลง “สายนทีแห่งราชัน เดอะ มิวสิคัล” ละครเพลงชีวิตริมสายน้ำที่ดีขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณ โดยความร่วมมือของ ศิลปินแห่งชาติ และ ศิลปินศิลปาธร ผสมผสานด้วยการบรรเลงจากวงดนตรี รอยัล แบงก์คอก ซิมโฟนี ออร์เคสตรา (RBSO) และนักแสดงกว่า 60 ชีวิต พร้อมด้วยมัลติมีเดียพิเศษ 3D Mapping เต็มรูปแบบ 

ปตท. ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตามแนวพระราชดำริ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

‘คงกระพัน’ ชูวิชั่นปี 68 มุ่งผลักดัน ปตท. ยั่งยืนทุกมิติ ปักหมุดต่อยอดพลังงานสะอาด - ไม่เน้นกำไรระยะสั้น

'คงกระพัน' ชูวิชั่นปี 2568 ดันปตท.ยืนในทุกมิติ ต่อยอดธุรกิจที่มีโอกาส ไม่เน้นกำไรระยะสั้น ตัดใจเลิกธุรกิจที่ไม่ perform มั่นใจก๊าซธรรมชาติ ยังเป็นพลังงานสำคัญ เน้นทำในสิ่งที่ ปตท.ถนัด 

ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ของนายคงกระพัน อินทรแจ้ง ได้ขับเคลื่อน ปตท.ด้วยวิสัยทัศน์ 'ปตท.แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน' หรือ 'TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD'

กลุ่ม ปตท.ได้พลิกโฉมธุรกิจครั้งใหญ่อีกครั้ง จากการบริหารงาน 7 เดือนของ CEO ปตท.ที่มีการตั้งเป้าหมายการทำงานทั้งกลุ่ม ปตท. เพื่อสร้างความแข็งแรงร่วมกับสังคมไทย สร้างการเติบโตทางธุรกิจ ต้องอยู่บนพื้นฐานหลักการของความยั่งยืนอย่างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ทั้งนี้ ปตท.ถือเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ ที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล บริหารองค์กรด้วยความโปร่งใส มีการกำกับดูแลที่ดีมีธรรมาภิบาลตาม Vision ปี 2568 สู่เป้าหมายเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน

นายคงกระพัน ได้ให้แนวคิดการบริหารธุรกิจ ประกอบด้วย "บริหารธุรกิจแบบยั่งยืนในทุกมิติ” ดังนั้น การที่องค์กรจะดำเนินไปได้ ธุรกิจจึงต้องมีกำไร ซึ่งจะต้องเป็นกำไรที่เหมาะสมและยั่งยืน ไม่เน้นกำไรระยะสั้น รวมถึงธุรกิจต้องเป็นประโยชน์กับประเทศไทย ช่วยสังคมไทย ผู้ประกอบการ SME และเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

ส่วนการลงทุนต้องเกิดประโยชน์ทั้งกับองค์กรและประเทศ จากสถานการณ์โลกที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ปตท. จะต้องมีความคล่องตัว มี Agility ธุรกิจใดที่ดี ต้องเร่งต่อยอดขยายผล แต่หากธุรกิจใดที่เคยดี หรือไม่ perform แล้ว ก็ต้องมีความกล้าที่ออกจากธุรกิจอย่างชาญฉลาดและรวดเร็ว

นอกจากนี้ อีกสิ่งสำคัญคือ การสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกภาคส่วน การทำธุรกิจและการบริหารจัดการต้องโปร่งใส ทำเรื่องบรรษัทภิบาลอย่างจริงจัง สิ่งสำคัญมาก ๆ คือ “บุคลากร” ซึ่ง ปตท.มีบุคลากรที่เก่ง มีความรู้ความสามารถ ต้องสร้างพลังให้เกิดความร่วมมือร่วมใจพาองค์กรก้าวผ่านทุกความท้าทาย สร้างโอกาสที่ดียิ่งขึ้นเพื่อส่งต่อให้ "ปตท.แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน”

อย่างไรก็ตาม จากภารกิจ ปตท.ยังคงมุ่งมั่นสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน บริหารต้นทุนราคาที่เป็นธรรมตามนโยบายการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน พร้อมเดินหน้าในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่องเพื่อรับกับเมกะเทรนด์โลก

'คงกระพัน' เปิดวิชั่น 2568
นายคงกระพัน กล่าวว่า Vision for Opportunity 2025 ของกลุ่ม ปตท. (PTT Group Direction and Strategy) โดยจะเน้นการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน สร้างการเติบโตทางธุรกิจ ควบคู่กับการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสมดุล เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ.2593

ดังนั้น ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศถือเป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการเตรียมความพร้อม และพัฒนาด้วยการนำนวัตกรรม และองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาปรับใช้เพื่อให้ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทยมีความมั่นคงยิ่งขึ้นไป รองรับการเติบโตเศรษฐกิจประเทศ

“ปตท.ถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่ดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานคนไทย ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่พลังงานที่สะอาดมากขึ้น สิ่งสำคัญจะต้องสมดุลระหว่างด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพราะประเทศไทยยังต้องสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่ราบรื่นจะต้องบาลานซ์ทั้ง 3 องคาพยพ”

จากการที่กลุ่มประเทศอาเซียนมีจำนวนประชากรเกือบ 700 ล้านคน ถือเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม โดยผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) ของอาเซียนมีขนาดใหญ่ถึง 6% ของโลก สามารถดึงดูดการลงทุนได้ดีเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าโลกต้องมุ่งไปสู่พลังงานสะอาด

ชี้ก๊าซยังเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบัน ดังนั้น เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ยังคงเป็นพลังงานที่สำคัญ ส่วนถ่านหินและน้ำมันจะต้องค่อย ๆ ลดปริมาณลงเพราะมีการปล่อยคาร์บอนสูงกว่าก๊าซฯ 

อีกทั้ง แหล่งก๊าซฯ ที่มีมูลค่ามหาศาลที่สำคัญล้วนมีจำนวนมากในบริเวณอ่าวไทย ดังนั้น กลุ่มอาเซียน ทั้งประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเมียนมา ต่างล้วนได้รับประโยชน์ในสินทรัพย์ใต้ท้องทะเลนี้

นอกจากนี้ พลังงานหมุนเวียนในอนาคตที่จะมีมากขึ้นทั้งโซลาร์ ลม และน้ำ ยังคงต้องใช้เวลา โดยประเทศในอาเซียน ยังคงพึ่งพาก๊าซฯ ซึ่งในเอเชียแปซิฟิกยังเป็นแหล่งที่การผลิตยังต่ำกว่าความต้องการ จึงต้องนำเข้าก๊าซฯ ปริมาณมาก ทั้ง ๆ ที่ในอ่าวไทยยังมีใช้เพราะเป็นพลังงานที่ใช้ได้สะดวก โดยประเทศไทยพึ่งพาก๊าซฯ ในอ่าวไทย 50% และนำเข้า LNG และก๊าซฯ ประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉลี่ยอีก 50%

“รัฐบาลได้พยายามผลักดันเจรจาการนำทรัพยากรจากพื้นที่ไหล่ทวีปคาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา หรือ OCA (Overlapping Claims Area) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการเจรจาและใช้มาแล้วกับมาเลเซีย ซึ่งตอนร่วมผลิตไม่สามารถตกลงในเรื่องเขตแดน จึงใช้วิธีร่วมใช้ทรัพยากรมาพัฒนาสร้างเศรษฐกิจความเจริญให้ประเทศได้”

เดินหน้ากักเก็บคาร์บอน-ไฮโดรเจน
ทั้งนี้ จากการนำก๊าซฯ มาผลิตไฟฟ้าจะถือเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาดที่สุดตัวหนึ่งแต่ยังก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกอยู่ จึงต้องทำในเรื่องของการลดการปลดปล่อยคาร์บอน ซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน กลุ่ม ปตท. จะดำเนินควบคู่ใน 2 วิธี คือ การพัฒนาโครงการการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน (CCS) และการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเป็นส่วนผสมในกลุ่มอุตสาหกรรมตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) สัดส่วน 5% รวมถึงการปลูกป่า เป็นต้น

“เทคโนโลยี CCS เป็นการเอาคาร์บอนในอากาศมาเปลี่ยนสภาพเป็นของเหลวเพื่อเก็บไว้ใต้ดินหรือใต้ทะเลจะช่วยลดโลกร้อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้ง สหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชียล้วนแล้วแต่ใช้เทคโนโลยี CCS มานานแล้ว ส่วนไฮโดรเจนทั่วโลกตื่นตัวมากระยะ 5-10 ปีที่ผ่านมา ได้พัฒนามาใช้มากมายประเทศไทยจึงหลีกเลี่ยงใน 2 เรื่องนี้ไม่ได้หากจะมุ่งไปสู่เป้าหมาย Net Zero ปี 2065"

การที่ประเทศไทยต้องนำเข้าทั้งก๊าซฯ 50% และน้ำมันกว่า 90% และด้วยสภาวะเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนต่าง ๆ ปตท. จึงมีวิชั่น “แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” อีกทั้ง ปตท.เป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จึงต้องสร้างความแข็งแรงและผลกำไร สร้างสมดุลทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน

ยึดกลยุทธ์ทำในสิ่งที่ ปตท.ถนัด
ทั้งนี้ จากการเติบโตของ ปตท.จะทำในสิ่งที่ตนเองถนัดเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน สร้างการเติบโตควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งกลุ่ม ปตท.ได้ตั้งเป้าหมาย Net Zero ปี 2050 ผ่าน C3 คือ 

1. ธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศ Climate-Reilience Business 2. ธุรกิจที่ใส่ใจเรื่องคาร์บอน Carbon Conscious Business 3. การร่วมมือ การสร้างสรรค์ เพื่อทุกคน Coalition, Co-creation & collective Efforts for All

“เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ เนื่องจากมีปัจจัยภายนอกที่กระทบต่อธุรกิจจึงต้องสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน โดยการยกระดับ Operation & Efficiency ด้วยการนำเทคโนโลยี ดิจิทัล และ AI มาประยุกต์ใช้" 

อีกทั้งต้องทำ Lean Organization ร่วมกับ Digital Transformation ซึ่งต้องเริ่มในวันที่องค์กรยังแข็งแรง เพื่อให้เกิดการยอมรับในทุกระดับ และต้องสร้างความเข้มแข็งด้านวัฒนธรรมองค์กร (Culture) สร้างความตระหนัก ปลูกฝังให้พนักงานกล้าที่จะปรับ และพร้อมที่จะเปลี่ยนเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

“ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปตท.ต้องปรับตัว มีความคล่องตัว และมุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย พร้อมมุ่งสู่การเติบโตขององค์กรในระดับโลกอย่างยั่งยืนต่อไป”

ปตท. คว้า 6 รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2567 สะท้อนศักยภาพการบริหารธุรกิจแบบยั่งยืนทุกมิติ

(10 ก.พ. 68) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลัง เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น (SOE Awards) ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด "รัฐวิสาหกิจไทย มากกว่าความภูมิใจ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน" หรือ Beyond Pride, Towards Sustainability ให้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) โดย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการ พร้อมด้วย ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ และคณะผู้บริหารร่วมรับรางวัล รวม 6 รางวัล ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

ดร.คงกระพัน กล่าวว่า “นับเป็นความภาคภูมิใจยิ่งของ ปตท. ที่ได้รับรางวัลแห่งเกียรติยศในวันนี้ สะท้อนศักยภาพการบริหารธุรกิจแบบยั่งยืนในทุกมิติ ตามวิสัยทัศน์ “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” โดยมีภารกิจหลักในการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

ในครั้งนี้ ปตท. ได้รับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น จำนวน 6 รางวัล ประกอบด้วย
1. รางวัลคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจดีเด่น (เกียรติยศ) มอบให้คณะกรรมการ ปตท. ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร ภายใต้การกำกับดูแลที่ดี มีธรรมาภิบาลและโปร่งใส พร้อมบูรณาการความยั่งยืนเข้าไปในการดำเนินธุรกิจ 

2. รางวัลการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น (เกียรติยศ)  โดย ปตท. ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการดำเนินงานที่เป็นเลิศ (Operational Excellence) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ และสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน (Strengthen Core Business) พร้อมพัฒนาบุคลากรและปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความคล่องตัวและสอดคล้องกับกลยุทธ์เพื่อการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

3. รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจยั่งยืน จากการที่ ปตท. ดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิดยั่งยืนอย่างสมดุลในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การกำกับดูแลที่ดี พร้อมพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทย 

4. รางวัลการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น “โครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม” กลุ่ม ปตท. ได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการบริหารจัดการชุมชนใน 45 พื้นที่ 29 จังหวัด ผ่านการดำเนินงาน 3 ด้าน คือ Smart Farming ส่งเสริมการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการเพาะปลูกอย่างเหมาะสม เช่น โรงเรือนอัจฉริยะและระบบ IoT โซลาร์เซลล์ลอยน้ำ Smart Marketing ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยสามารถพัฒนาสินค้าได้ 45 รายการ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ Community-Based Tourism ส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งมีชุมชนที่สามารถพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว มีทักษะในการบริหารจัดการธุรกิจ และช่องทางการตลาดได้ด้วยตนเองถึง 6 พื้นที่

5. รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านความคิดสร้างสรรค์ “โครงการนวัตกรรมท่อนาโนคาร์บอนจากก๊าซธรรมชาติ ของเสียไฮโดรคาร์บอน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” ท่อคาร์บอนระดับนาโนเมตร (Carbon nanotubes; CNTs) มีคุณสมบัติเด่นที่นำไฟฟ้าและนำความร้อนได้ดี มีความแข็งแรงแต่น้ำหนักเบา และสามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย ซึ่งการผลิตวัสดุ CNTs เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของ Conductive materials, Polymer composite materials, EV value chain และ Smart electronic ที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศด้านนวัตกรรมให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน และส่งออกไปทั่วโลกได้ในอนาคต 

6. รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านนวัตกรรม “โครงการยีสต์ทนร้อนที่มีความสามารถ ในการผลิตเอนไซม์ย่อยแป้งที่ผิวเซลล์ (InnoTherm-380 GA)” เป็นนวัตกรรมที่คิดค้นภายในประเทศทั้งหมด ซึ่งได้จดอนุสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยสามารถพัฒนาให้ยีสต์มีความสามารถผลิตเอนไซม์ย่อยแป้งได้เองที่ผิวเซลล์ ด้วยการใช้โปรตีนฐานยึดเกาะเอนไซม์ชนิดใหม่ของโลก สามารถแข่งขันได้กับยีสต์แห้งทางการค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ลดการนำเข้าและการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ รวมถึงใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางชีวภาพของประเทศไทย

“ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ ยังคงมุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพทางพลังงานให้กับประเทศ ดำเนินธุรกิจบนหลักยั่งยืนอย่างสมดุล รวมทั้งดูแลสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย” ดร.คงกระพัน กล่าวในตอนท้าย

ปตท. ติด TOP 5 บริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานมากที่สุด สะท้อนความเชื่อมั่นการบริหารบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ

(11 ก.พ. 68) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ติดอันดับท๊อป 5 จากการจัดอันดับ 50 บริษัทชั้นนำที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานมากที่สุด (Top50 Companies in Thailand 2025) มาอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจของบริษัท WorkVenture สะท้อนความเชื่อมั่นและความทุ่มเทในการบริหารบุคลากรภายใต้แนวคิด TripleEX ได้แก่ การสนับสนุนให้พนักงานค้นพบและพัฒนาศักยภาพของตนเอง (EXplore your potential) การมอบโอกาสและประสบการณ์ที่หลากหลาย (EXperience diverse opportunities) และการส่งต่อคุณค่าและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม (EXpand positive impact) ผ่านการพัฒนารูปแบบสวัสดิการที่เหมาะสมกับความต้องการของพนักงาน อาทิ Flexi Benefit ที่พนักงานสามารถเลือกสิทธิประโยชน์ตามไลฟ์สไตล์ของตนเอง การทำงานในรูปแบบ Work from Anywhere และเวลาทำงานแบบ Flexi-Time 

นอกจากนี้  ปตท. ยังสนับสนุนเรื่องการสมรสเท่าเทียมตามนโยบายภาครัฐ  เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคและสิทธิของพนักงานทุกคน เป็นต้น

‘คงกระพัน’ ติดท็อป 100 ซีอีโอชั้นนำของโลก ด้าน ปตท.ครองอันดับแบรนด์มูลค่าสูงสุดไทย

‘คงกระพัน’ ติดอันดับ 1 ใน 100 ซีอีโอชั้นนำของโลก และ ปตท. เป็นบริษัทเดียวในไทยที่ติดอันดับมูลค่าแบรนด์สูงสุดใน Brand Finance Global 500 ปี 2568

(17 ก.พ. 68) ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.)  ได้รับการจัดอันดับที่ 66 จาก 100 CEO ชั้นนำของโลก และอยู่ในอันดับที่ 4 ของผู้นำในกลุ่มธุรกิจน้ำมันและก๊าซ ที่ส่งเสริมการสร้างมูลค่าแบรนด์องค์กรจาก Brand Guardianship Index 2025 โดย Brand Finance ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการประเมินมูลค่าแบรนด์ชั้นนำของโลก โดยได้รับคะแนน 76.4 จาก 100 คะแนน ในดัชนี Brand Guardianship Index  ผลการจัดอันดับสะท้อนถึงคุณลักษณะที่สำคัญของ CEO ในด้านต่างๆ ได้แก่ 1) ใส่ใจพนักงานอย่างแท้จริง 2) เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก 3) มีความน่าเชื่อถือ 4) เข้าใจความต้องการของลูกค้า 5) เป็นผู้นำด้านความยั่งยืน 6) มุ่งเน้นคุณค่าในระยะยาว 7) มีกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน 8) เข้าใจความสำคัญของแบรนด์และชื่อเสียงองค์กร และ 9) มีไหวพริบทางธุรกิจ

นอกจากนี้ CEO ปตท.  ยังได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 2 ของโลกด้านการรับรู้เรื่องความยั่งยืน ตามผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างประมาณ 5,000 คน ในกว่า 30 ประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำที่บริหารธุรกิจอย่างยั่งยืนในระดับโลก  

โดยในปีนี้ ปตท. ยังคงได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยที่ติดหนึ่งใน 500 แบรนด์แรกของโลกที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุด โดยอยู่ในอันดับที่ 249 สูงขึ้นจากอันดับ 267  ในปี 2567 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังได้รับการประเมินมูลค่าแบรนด์สูงกว่าเก้าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตกว่าร้อยละ 11 ซึ่งมีเกณฑ์ในการพิจารณา อาทิ ผลการดำเนินงาน ความแข็งแกร่งของแบรนด์ และความยึดมั่นในแบรนด์ที่ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในทุกมิติ 

Mr. Alex Haigh, Managing Director – Asia Pacific of Brand Finance กล่าวว่า ดร.คงกระพัน แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ และการขับเคลื่อนแบรนด์ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน โดยความมุ่งมั่นในการสร้างคุณค่าระยะยาว การพัฒนาอย่างยั่งยืน และความเป็นเลิศทางธุรกิจ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้ ปตท. เป็นแบรนด์ไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ติดอันดับ Brand Finance Global 500 และมีชื่อเสียงระดับสากลในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคพลังงาน

ดร.คงกระพัน กล่าวเพิ่มเติมว่า การได้รับการจัดอันดับบริษัทที่มีมูลค่าแบรนด์สูงสุดของโลกเป็นผลเนื่องมาจากพันธกิจขององค์กรที่ชัดเจนในการมุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องบนหลัก “ความยั่งยืนอย่างสมดุล” ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี ภายใต้วิสัยทัศน์ “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” ตลอดจนการสนับสนุนจากคนไทยทุกภาคส่วนที่ให้ความเชื่อมั่นในการดำเนินงานของ ปตท.

นอกเหนือไปจากการดูแลรักษาเสถียรภาพทางด้านพลังงานแล้ว ปตท. ยังคงดูแลสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย และพร้อมช่วยเหลือประเทศชาติในยามที่เกิดภาวะวิกฤติ และดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล ทั้งนี้ เพื่อเติบโตและมุ่งสู่การเป็นขององค์กรในระดับโลกอย่างยั่งยืน และสร้างมูลค่าแบรนด์ที่แข็งแกร่งยกระดับขีดความสามารถขององค์กรสู่ระดับสากล


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top