Sunday, 20 April 2025
กระทรวงพลังงาน

‘พีระพันธุ์’ ควง ‘เสธหิ’ มอบบ้านพร้อมทุนการศึกษา เยาวชนชาวกรุงเก่า ‘นางสาวสรัญญา’ เรียนดีแต่ฐานะยากจน

‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ มอบบ้านและเกียรติบัตรแสดงความยินดี ให้กับนางสาวสรัญญา มาลาพัด “นักเรียนดี เยาวชนต้นแบบ” 

เมื่อวันที่ (2 มี.ค. 68) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายฝันเด่น จรรยาธนากร โครงการใจถึงใจ พร้อมคณะ ลงพื้นที่มอบบ้าน ชุดเครื่องมือช่างซ่อมรถยนต์และเกียรติบัตรแสดงความยินดีพร้อมทั้งทุนการศึกษาให้กับนางสาวสรัญญา มาลาพัด ซึ่งเป็น “นักเรียนดี เยาวชนต้นแบบ” 

พร้อมกันนี้ “มูลนิธิพระราหู” ยังได้สนับสนุนสร้างบ้านและอุปกรณ์ซ่อมรถยนต์ ตามโครงการ  “ใจถึงใจ” ให้กับ นายสรสัณฑ์ เรืองสวัสดิ์ นางสาวเรียม มาลาพัด นางสาวสรัญญา มาลาพัด เด็กหญิงสุนิสา เรืองสวัสดิ์ ซึ่งเป็นครอบครัวที่ได้รับการช่วยเหลือ โดย พ.ต.ท.เตชิต เขื่อนหมั่น นายโอภาส ศรีเจริญ พร้อมคณะ ให้การต้อนรับ 

การสนับสนุนในครั้งนี้คือกำลังใจสำคัญที่ให้นางสาวสรัญญา มาลาพัดและครอบครัวมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ในการศึกษา และใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีความสุขต่อไป

‘ก.พลังงาน’ แจง ฝายธงน้อย ไม่ใช่สาเหตุน้ำท่วมน่าน พร้อมเดินหน้าบริหารจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้งอย่างยั่งยืน

พพ.ชี้แจงข้อเท็จจริง ฝายธงน้อยไม่ใช่สาเหตุของน้ำท่วมจังหวัดน่าน พร้อมเดินหน้ามาตรการบริหารจัดการน้ำ แก้น้ำท่วมช่วยภัยแล้งอย่างยั่งยืน

ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายนันทนิษฎ์ วงศ์วัฒนา รองอธิบดี พพ., นายชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน,นายทรงยศ รามสูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน,นายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน,นายมังกร ศรีเจริญกุล สมาชิกวุฒิสภา, ผู้นำส่วนปกครองท้องถิ่น, หอการค้าจังหวัดน่าน, กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาฝายธงน้อย จังหวัดน่าน เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการต่อสถานการณ์ น้ำท่วมในพื้นที่ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2568 ณ ห้องประชุมบุญรอด-นิธิพัฒน์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

ดร.หิมาลัย เปิดเผยว่า ในที่ประชุมได้มีการนำเสนอผลการศึกษาทางอุทกวิทยา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าฝายธงน้อย ไม่มีผลกระทบต่อการเกิดน้ำท่วม โดยผลการจำลองสถานการณ์เปรียบเทียบระดับน้ำระหว่างกรณีที่มีฝายธงน้อยและไม่มีฝายธงน้อย พบว่าระดับน้ำแตกต่างกันเพียง 1-2 เซนติเมตร ซึ่งเป็นค่าที่ไม่มีนัยสำคัญต่อการเกิดน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองน่าน ถึงแม้ว่าผลการศึกษาจะยืนยันว่าฝายธงน้อยไม่มีผลกระทบต่อสถานการณ์น้ำท่วม แต่เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พพ.มีแผนดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำและสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำธงน้อยเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตพลังงานสะอาด รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการรองรับกรณีเกิดอุทกภัยในอนาคต

และจากการประชุมหารือร่วมกัน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ข้อสรุปว่า โครงการฝายธงน้อยมีความสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำและพลังงานของจังหวัดน่านและประเทศ และไม่มีผลกระทบต่อสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดน่าน พพ.จะดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ โดยจะทำการก่อสร้างประตูระบายน้ำและสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำธงน้อย ซึ่งการก่อสร้างประตูระบายน้ำเพิ่มเติม จะช่วยเพิ่มความสามารถในการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ในช่วงฤดูฝน ลดความเสี่ยงจากน้ำท่วมและสามารถ กักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง เพื่อสนับสนุนภาคการเกษตรและการอุปโภคบริโภคของประชาชนในจังหวัดน่าน และนอกจากบทบาท  ในการบริหารจัดการน้ำ โครงการดังกล่าวนี้จะช่วยในการพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ โดยสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาดได้ถึง 11.10 ล้านหน่วยต่อปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 6,438 ตัน CO2 ต่อปี และลดการใช้น้ำมันดีเซลเพื่อผลิตไฟฟ้าถึง 3.59 ล้านลิตรต่อปี คิดเป็นมูลค่าประหยัดพลังงานกว่า 98.75 ล้านบาทต่อปี 

ดร.หิมาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า "วันนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน และหาข้อสรุปร่วมกันได้อย่างเป็นเอกฉันท์ กระทรวงพลังงาน โดย พพ. พร้อมทำงานอย่างเต็มกำลังเพื่อให้โครงการฝายธงน้อยเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาน้ำท่วมและช่วยลดภัยแล้งอย่างยั่งยืนต่อไป และพร้อมเข้าช่วยเหลือทันทีหากเกิดน้ำท่วมซ้ำระหว่างก่อสร้างประตูระบายน้ำเพิ่มเติม เราไม่ได้ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ”

‘พีระพันธุ์’ ยันทำตามหน้าที่ ปมเบรกประมูลขุด-ขนถ่านหินแม่เมาะ ชี้ชัด เพิกเฉยไม่ได้หลังมีผู้ร้องให้ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างที่หละหลวม

‘พีระพันธุ์’ สั่ง กฟผ.เคลียร์ประมูลขนถ่านหินเหมืองแม่เมาะให้ถูกต้อง ชี้จัดซื้อจัดจ้างหละหลวม ไม่มีความจำเป็นต้องประมูลด้วยวิธีการพิเศษ 

(13 มี.ค. 68) นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ทำหนังสือถึงผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ้ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงวันที่ 7 มี.ค.2568 เรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีงานจ้างเหมาชุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะของ กฟผ.พร้อมกับส่งสรุปรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ ของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีงานจ้างเหมาชุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะของ กฟผ.เพื่อให้พิจารณาดำเนินการตามความถูกต้องเหมาะสมและตามอำนาจหน้าที่ต่อไป 

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะกำกับดูแลการไฟฟ้าฝ้ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีงานจ้างเหมาชุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะของ กฟผ.เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2567 นั้น บัดนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว 

รวมทั้งในหนังสือดังกล่าวได้ขอให้ผู้ว่า กฟผ.พิจารณาดำเนินการตามความถูกต้องเหมาะสมและตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ตรวจสอบรายงานของคณะกรรมการฯ ประกอบข้อเท็จจริงต่างๆ แล้ว เห็นว่ามีประเด็นที่เป็นข้อสังเกตโดยสรุป ดังนี้

1.กรณีความจำเป็นเร่งด่วนของการจัดจ้าง ปรากฏสาเหตุที่ กฟผ.อ้างว่าต้องดำเนินการจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะตามสัญญาโดยเร่งด่วน เพราะมติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2567 ซึ่งเมื่อตรวจสอบมติ กพช.ดังกล่าว พบว่ามีสาเหตุมาจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2565 พิจารณาการเลื่อนแผนการปลดเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8-11 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2568 เนื่องจากคาดการณ์ราคาก๊าชธรรมชาติเหลว (LNG) มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงจนถึงปี 2568 หรือปี 2569 เพราะเหตุสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยังไม่ข้อยุติ รวมทั้งหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย โดยอุปทานเพิ่มเติมจากโครงการผลิต LNG ยังคงจำกัด เพราะการลงทุนก่อสร้างโครงการผลิตใหม่ลดลง 

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามมติ กพช.ดังกล่าวจะส่งผลให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น 2 ล้านตัน ซึ่งไม่เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 จากเหตุดังกล่าวเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของ กฟผ.จึงเสนอให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างชุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะโดยวิธีพิเศษ เป็นสัญญาที่ 8/1 แต่มีข้อขัดข้องหลายประการจึงทำให้ล่าช้า

โดยเฉพาะประเด็นใช้วิธีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาเดิม (สัญญาที่ 4 และสัญญาที่ 9) หรือต้องดำเนินการจัดจ้างใหม่ รวมทั้งหากต้องจัดจ้างใหม่จะดำเนินการโดยวิธีใด และเป็นกรณีเช่นใด 

อย่างไรก็ตามจากความล่าช้าในการดำเนินการดังกล่าวทำให้ปรากฎข้อเท็จจริงว่าสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับราคาและการขาดแคลนก๊าซที่จะนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าตามการคาดการณ์ของ กบง.ในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๕ มิ.ย.2565 ที่ให้เสนอต่อ กพช.เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2565 นั้น ไม่เกิดขึ้นจริง

ดังนั้น เหตุฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนตามข้อเสนอของ กบง.จึงผ่านพ้นไปแล้ว เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะโดยวิธีพิเศษจึงหมดสิ้นไปแล้ว ซึ่งควรเสนอ กพช.ให้ทราบสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อที่ กพช.จะพิจารณามีมตีในเรื่องนี้ใหม่ แต่กลับไม่มีการดำเนินการเช่นนั้น

อีกทั้งมีข้อมูลน่าเชื่อได้ว่า กฟผ.ยังคงมีสต๊อกสำรองถ่านหินปริมาณมากพอสมควร

นอกจากกรณีข้างต้นแล้วปรากฏว่า ในการประชุม กพช.เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2565 มีมติเห็นชอบให้ กฟผ.นำโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 4 กลับมาผลิตไฟฟ้าในช่วงปี 2565-2568 ซึ่งหากนับระยะเวลาที่คณะกรรมการ กฟผ.จะอนุมัติให้ว่าจ้างชุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะเมื่อปลายปี 2567 แล้ว ก็เหลือเวลาเพียง 1 ปี ต้องยกเลิกการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าว

รวมทั้งหากพิจารณาตาม PDP 2018 Revision 1 กำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญามีอัตราสูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของระบบอยู่แล้ว ดังนั้น ปริมาณงานที่จะว่าจ้างให้ชุด-ขนถ่านหินตามสัญญาที่ 8/1 ดังกล่าว ย่อมมีปริมาณที่มากเกินความจำเป็นอีกด้วย ดังนั้น จึงไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการว่าจ้างโดยวิธีพิเศษอีกต่อไป

2.การว่าจ้างชุด-ขนถ่านหินแม่เมาะสามารถดำเนินการได้ โดยการเปิดประมูลตามปกติ กฟผ.มีสายงานที่รับผิดชอบในส่วนเหมืองแม่เมาะเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว จึงอยู่ในวิสัยที่ กฟผ.จะทราบความจำเป็นที่จะต้องว่าจ้างชุด-ขนถ่านหินได้ล่วงหน้า ซึ่งทำให้วางแผนและเตรียมการเปิดประมูลขุด-ขนถ่านหินแบบกรณีปกติได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีพิเศษ เพราะตามเงื่อนไขสัญญาที่ 4 จะสิ้นลงช่วงสิ้นปี  2568 

ทั้งนี้ หาก กฟผ.จำเป็นต้องใช้ถ่านหินเพิ่มเติม กฟผ.ก็เตรียมการล่วงหน้าที่จะเปิดประมูลขุด-ขนถ่านหินเพิ่มเติมได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีพิเศษ แต่กรณีที่ กฟผ.กล่าวอ้างมติ กพช.เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2565 ว่ามีกรณีจำเป็นเร่งด่วนจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน จึงเป็นเหตุที่นำมาใช้ดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ แต่เมื่อสถานการณ์ที่คาดการณ์ไว้ไม่เกิดขึ้นก็อยู่ในวิสัยที่ กฟผ.จะปรับแก้การดำเนินการดังกล่าวให้เหมาะสมและถูกต้องตาม PDP 2018 Revision 1 ได้

3.การพิจารณาการดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ กรณีนี้แม้มีข้อโต้แย้งจากผู้เกี่ยวข้องก็ตาม แต่โดยรูปคณะกรรมการฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเห็นว่าเป็นข้อโต้แย้งในด้านการดำเนินการในการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งอยู่ในถ้อยความรู้ของคู่กรณีที่ไม่อาจหาข้อยุติได้สืบเนื่องจากกฎระเบียบของ กฟผ.ในกรณีการจัดซื้อจัดจ้างมีความหละหลวมหลายประการ จึงเป็นเรื่องที่คู่กรณีพึงใช้สิทธิตามกฎหมายดำเนินการต่อไปเอง

‘เสธ.หิ’ ออกโรงแจง 3 ประเด็น ปมตรวจสอบจ้างขุด-ขนถ่านหินแม่เมาะ ชี้ เป็นสิ่งควรทำเพื่อให้การประมูลโปร่งใส และเป็นประโยชน์ต่อ กฟผ.

(13 มี.ค. 68) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้อำนวยการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...การตรวจสอบอย่างยุติธรรม เป็นสิ่งที่ควรกระทำ

วันนี้ผมได้ฟังสื่อใหญ่พร้อมพิธีกรผู้มีชื่อเสียงในวงการสื่อมวลชน ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผลการตรวจสอบ การจ้างขุดถ่านหินเมืองแม่เมาะ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งผลการออกตรวจสอบ ก็ออกมาทันเวลา ไม่ได้เกิดความเสียหายต่อกระบวนการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแต่อย่างใด ปฐมบทในเรื่องนี้ เกิดจากการร้องเรียนของผู้เข้าร่วมประมูลถึงความโปร่งใสของขั้นตอนต่างๆ ดังนั้นการที่ท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สั่งตรวจสอบความถูกต้อง จึงเป็นเรื่องที่พึงควรจะทำ หลังจากการตรวจสอบแล้ว เมื่อไม่พบการกระทำที่ผิดระเบียบและกฎหมาย ก็แจ้งให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งสามารถตอบคำถามให้ผู้ร้องเรียนเข้าใจในข้อสงสัยต่าง ๆ ได้

การตรวจสอบดังกล่าวจึงเป็นไปอย่างบริสุทธิ์และยุติธรรม ไม่ได้มีเจตนาจะทำให้ผู้ใดหรือผลประโยชน์ของส่วนรวมต้องเสียหาย ทั้ง 3 ข้อสังเกต ที่ส่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตไปพิจารณานั้น ก็เป็นหน้าที่ของกรรมการผู้บริหารของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จะเป็นผู้พิจารณาปรับปรุงแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยต่อการประมูลครั้งต่อไป ว่าได้คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของรัฐและส่วนรวมแล้วหรือยัง

ผมขออาศัยพื้นที่ตรงนี้ ชี้แจงข้อสังเกต 3 ข้อ ที่ได้ส่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ได้พิจารณาเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติได้

1.การขุด-ขนถ่านหิน ไม่จำเป็นต้องเร่งด่วน เรื่องนี้มีการกล่าวหาว่าท่านพีระพันธุ์ฯ จะเป็นต้นเหตุของค่าไฟแพง เนื่องจากหากไม่รีบดำเนินการจะต้องไปใช้ก๊าซ ซึ่งมีราคาแพงกว่าถ่านหินมาก 
มุมมองที่ว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนนั้น ผมคงไม่ต้องชี้แจงมาก เพราะทาง กฟผ.ได้โหมสื่อประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้ไปอย่างมากแล้ว แต่มาดูมุมมองที่ว่าไม่เร่งด่วนนั้น เป็นเพราะวิกฤตการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่ได้ขยายตัวและส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างที่วิตกกังวลในตอนแรกแต่อย่างใด รวมทั้งการขุด-ขน ตามสัญญาที่ผ่านมาก็สามารถทำได้เกินเป้า ทำให้มีปริมาณถ่านหินสำรองไว้ใช้สำหรับการผลิตได้ถึงประมาณ 3-4 เดือน 

ข้อสังเกตที่ 2.ควรเปิดประมูลตามปกติ และ 

3.ไม่จำเป็นต้องจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ อันนี้เป็นเหตุผลต่อเนื่องมาจากข้อสังเกตที่ 1 ซึ่งตรงไปตรงมาอยู่แล้ว แต่ผมอยากชี้แจงมุมความคิดอีกด้านซึ่งอาจตรงกันข้ามกับท่านพิธีกรดังนี้นะครับ 

ปัจจุบันเหมืองแม่เมาะมีผู้รับเหมาที่รับจ้าง ขุด-ขนดินและถ่าน อยู่จำนวน 2 รายใหญ่ 2 สัญญา คือ 

1.สัญญา 8 ผู้ได้สัญญาคือ บ.สหกล อิควิปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) SQ เริ่มสัญญา 1 ม.ค. 2559 ครบ สัญญา เม.ย.2569

2.สัญญา 9 ผู้ได้รับสัญญา บ.อิตาเลียนไทย ดีเวลเมนท์ จำกัด (มหาชน) ITD เริ่ม สัญญา 1 ม.ค.2562 ครบ สัญญา 31 ธ.ค.2571

ผมอยากให้ท่านดูเวลาที่ประมูลนะครับ สัญญาที่ 8 เริ่มสัญญา 1 ม.ค.2559 แสดงว่าขั้นตอนการประมูลอยู่ในปี 2558 ปีนี้ 2568 ก็คือ 10 ปี มาแล้วนะครับ สัญญาที่ 9 เริ่มสัญญา 1 ม.ค.2562 แสดงว่าขั้นตอนการประมูลอยู่ในปี 2561 ปีนี้ 2568 ก็คือ 7 ปี มาแล้วครับ ผมคิดแบบโง่ๆนะครับ เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีก้าวหน้าเร็วมาก ในปี 2558 กับปี 2561 อาจจะมีบริษัทที่มีเทคโนโลยี สามารถรับงานนี้ได้อยู่จำนวนหนึ่ง หากเราเปิดกว้างให้ประมูลตามปกติไม่เฉพาะเจาะจง ผมเชื่อว่าจะมีบริษัทที่มีเทคโนโลยีสามารถรับงานนี้ได้มากกว่าปี 2558 กับปี 2561 อย่างแน่นอน อีกข้อหนึ่งในเรื่องของเงินทุน เวลาที่ต่างกันมาถึง 10 ปี เนื่องจากความก้าวหน้าทางการเคลื่อนย้ายทุนของโลก ผมเชื่อว่าบริษัทที่มีเงินทุนที่สามารถจะทำงานนี้ได้ก็มีจำนวนมากกว่าในปี 2558 กับปี 2561 เช่นกัน

เนื่องจากระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นระเบียบของตัวเอง ไม่ได้ใช้ระเบียบของทางราชการซึ่งมีความรัดกุมและโปร่งใส จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ถึงเวลาแล้วหรือยังครับ ที่คณะผู้บริหารของ กฟผ. จะพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างให้โปร่งใสและเป็นธรรมมากขึ้น อาจจะใช้ระเบียบของทางราชการมาใช้เลยก็ได้ เพื่อลดดุลย์พินิจของเจ้าหน้าที่และมีมาตรฐานมากขึ้น เช่นในการประมูลลักษณะนี้ ควรแยกซองเทคนิคกับซองราคา ออกจากกันหรือไม่ ควรประกาศผลซองเทคนิคก่อนหรือไม่ เพื่อให้ผู้ร่วมประมูลสามารถอุทธรณ์ โต้แย้ง และชี้แจงกับคณะกรรมการได้ เมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ว่าบริษัทใดผ่านทางด้านเทคนิค และสามารถทำงานได้ จึงค่อยเปิดซองราคาต่อไป เหมือนที่หน่วยราชการทั่วไปเขาทำ ก็น่าจะลดข้อกังวลสงสัยของบริษัทผู้ร่วมประมูลได้

มุมมองของผมที่นำเสนอมานี้ อาจจะแตกต่างจากความคิดของท่านพิธีกรทั้ง 2 ท่าน ตามที่กล่าวมานะครับ ผมมีความเห็นว่า การตรวจสอบของท่านพีรพันธุ์สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการทรงพลังงาน ในกรณีนี้เป็นสิ่งที่พึงกระทำ และเมื่อไม่พบความผิดตามระเบียบและกฎหมายก็รีบแจ้งให้ทาง กฟผ.ทราบ เพื่อรีบดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งผมยังไม่เห็นว่าการตรวจสอบนี้จะทำให้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม น่าจะเป็นประโยชน์ ต่อผู้บริหาร กฟผ. ได้ไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไข ระเบียบปฏิบัติต่างๆให้ดียิ่งๆขึ้นไป เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

ก.พลังงาน เผยข้อพิพาทรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม ‘เอราวัณ-บงกช’ ได้ข้อยุติ หลังผู้รับสัมปทานยอมคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการและจะไม่ฟ้องร้องอีก

ตามมติจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 ได้รับทราบตามที่กระทรวงพลังงาน เสนอรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานเกี่ยวกับกระบวนการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ กรณีบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และมิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น คัมปะนี ลิมิเต็ด ซึ่งปรากฏว่ากระบวนการเจรจาเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านกฎหมายการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและกรณีบริษัท โททาล เอนเนอร์ยี่ส์ อีพี ไทยแลนด์ ได้ข้อยุติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้กรณีข้อพิพาทด้านกฎหมายการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมทั้งของแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ได้ข้อยุติทั้ง 2 กรณี หลังจากที่มีการหารือและดำเนินกระบวนการทางกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง

โดยรายละเอียดของการรื้อถอนสิ่งติดตั้งฯ ของแหล่งเอราวัณ คือตามสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2515/5 และเลขที่ 2/2515/6 แหล่งเอราวัณ เมื่อสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565 ผู้รับสัมปทานต้องส่งมอบสิ่งติดตั้งให้แก่รัฐเพื่อใช้ประโยชน์ต่อในกิจการปิโตรเลียม จำนวน 159 รายการ และต้องดำเนินการรื้อถอนสิ่งติดตั้ง ที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ จำนวน 52 รายการ และตามสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 5/2515/9 และเลขที่ 3/2515/7แหล่งบงกช เมื่อสิ้นสุดสัมปทานในปี 2565 และปี 2566 ผู้รับสัมปทานต้องส่งมอบสิ่งติดตั้งให้แก่รัฐ จำนวน 66 รายการ และต้องดำเนินการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ จำนวน 4 รายการ

ทั้งนี้ กรณีเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านกฎหมายการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม ของแหล่งเอราวัณและบงกชเกิดขึ้นเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2562-2563 จากการที่บริษัทผู้รับสัมปทาน ได้แก่ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และมิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น คัมปะนี ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ และบริษัท โททาล เอนเนอร์ยี่ส์ อีพี ไทยแลนด์ ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งบงกช ได้ยื่นข้อเรียกร้องและนำคดี เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ในประเด็นที่เห็นต่างกรณีกระทรวงพลังงานออกกฎหมายเกี่ยวกับการรื้อถอน สิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม ซึ่งกำหนดหน้าที่ให้ผู้รับสัมปทานต้องวางหลักประกันการรื้อถอนและร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนบางส่วนของสิ่งติดตั้งภายหลังสัมปทานปิโตรเลียมสิ้นสุดลง ในปี 2565 - 2566 

โดยตลอดระยะเวลาการพิจารณาคดีนั้น ฝ่ายไทยได้มีการแต่งตั้งที่ปรึกษาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อดำเนินกระบวนการอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งคู่กรณีมีการเจรจาเพื่อหาข้อยุติอย่างฉันท์มิตร จนสามารถยุติข้อพิพาทได้ โดยในกรณีของบริษัท โททาล เอนเนอร์ยี่ส์ อีพี ไทยแลนด์ ได้มีการเพิกถอนข้อพิพาทเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 และกระทรวงพลังงานได้นำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2567 

สำหรับกรณีของบริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด และมิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น คัมปะนี ลิมิเต็ด คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดตามยอมเป็นที่พอใจและยอมรับของทุกฝ่าย และจำหน่ายคดีออกจากสารบบ โดยผู้รับสัมปทานได้ยอมรับปฏิบัติตามคำชี้ขาดตามยอมและไม่นำข้อเรียกร้องกลับมาฟ้องร้องอีก ผลของคำชี้ขาดตามยอมดังกล่าวเป็นไปตามหลักการของกฎหมายและภาครัฐไม่เสียประโยชน์ พร้อมทั้งผู้รับสัมปทานได้รับผิดชอบดำเนินการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่รัฐไม่ได้รับมอบภายใต้การกำกับดูแลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติตามกฎหมายเกี่ยวกับการรื้อถอนมาอย่างต่อเนื่อง 

ผลของการยุติข้อพิพาทในครั้งนี้ส่งผลให้ข้อเรียกร้องทั้งสองคดีถูกเพิกถอนโดยถาวร โดยที่รัฐไม่เสียประโยชน์ และเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับภาคเอกชนสำหรับการลงทุนในประเทศไทย พร้อมทั้งเดินหน้าประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศอย่างต่อเนื่อง  นับว่าเป็นการบรรลุข้อตกลงซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย รวมทั้งการดำเนินงานรื้อถอนของผู้รับสัมปทาน จะไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตปิโตรเลียมของผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตปัจจุบันด้วย

‘พีระพันธุ์’ ผงาด!! ขึ้นเบอร์หนึ่ง 3 เดือนติด จากการโหวตใน Line Todayหลังทำงานหนัก!! ตรึงราคาค่าไฟ พลังงาน เดินหน้า ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’

(23 มี.ค. 68) LINE TODAY ได้ทำการสำรวจคะแนนความนิยม ของบุคคลทางการเมือง ที่ประชาชนชื่นชอบ ประจำเดือนมีนาคม 2568 ผลปรากฏว่า ...

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จากพรรครวมไทยสร้างชาติ มีคะแนนนำคู่แข่ง ทิ้งห่างอย่างขาดลอย ขึ้นที่ 1 ด้วยคะแนน 1,913 คะแนน คิดเป็น 30.34% ทิ้งห่างที่ 2 นางสาวรักชนก ศรีนอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคประชาชน ซึ่งมีคะแนน 1,302 คะแนน คิดเป็น 20.65%

นอกจากนี้ ก็ยังมีนักการเมืองที่น่าสนใจ ท่านอื่นๆ อาทิ

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อยู่อันดับที่ 4 มีคะแนน 461 คะแนน คิดเป็น 7.31%

นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคประชาชน อยู่อันดับที่ 5 มีคะแนน 317 คะแนน คิดเป็น 5.03%

ซึ่งการเป็นนักการเมืองที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุดนั้น นายพีระพันธุ์ ได้รับความนิยมเป็นอันดับที่ 1 มาถึง 3 เดือนติดกันแล้ว

โดยเดือนมกราคม นายพีระพันธุ์ ขึ้นอันดับที่ 1 ด้วยคะแนน 2,493 คะแนน หรือคิดเป็น 30.04%

และในเดือนกุมภาพันธุ์ ก็ได้ขึ้นมาอันดับที่ 1 อีกครั้ง ด้วยคะแนน 1,810 คะแนน หรือคิดเป็น 29.69%

พพ. แจงภารกิจคืนพื้นที่เกาะร้อยไร่สำเร็จ – ไร้ผู้บุกรุกแล้ว เร่งเดินหน้าฟื้นฟู พร้อมปิดพื้นที่ทางเข้าถาวรกันบุกรุกซ้ำ

พพ.แจงภารกิจคืนพื้นที่เกาะร้อยไร่สำเร็จ! ไม่มีผู้บุกรุกเหลืออยู่ในพื้นที่อีกต่อไป  ประกาศปิดพื้นที่เด็ดขาด ห้ามบุกรุกซ้ำ เดินหน้าฟื้นฟูเขื่อนคิรีธารสู่การจัดการน้ำและพลังงานอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ (3 เม.ย. 68) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะทำงานติดตามการบุกรุกพื้นที่โครงการไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร ณ ห้องประชุมตากสิน ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อหารือสถานการณ์การคืนพื้นที่ 'เกาะร้อยไร่' และแนวทางควบคุมการใช้พื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำอย่างเข้มงวด และภายหลังการประชุม ดร.หิมาลัยพร้อมคณะได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพจริงทั้งทางบกและทางน้ำ ณ เขื่อนคิรีธารและเกาะร้อยไร่ พร้อมดำเนินการ 'ปิดพื้นที่ทางเข้าเกาะร้อยไร่ถาวร' เพื่อไม่ให้มีการกลับเข้าบุกรุกซ้ำ

ดร.หิมาลัยให้สัมภาษณ์ว่า ภายหลังครบกำหนด 30 วันที่ให้โอกาสแก่ผู้บุกรุกตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะนี้ไม่มีผู้บุกรุกหลงเหลืออยู่ในพื้นที่เกาะร้อยไร่อีกต่อไป โดยราษฎรที่เคยใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้ดำเนินการรื้อถอนระบบน้ำและสิ่งปลูกสร้างออกทั้งหมด เหลือเพียงต้นทุเรียนและต้นกล้วยบางส่วนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการต่อ “เราให้โอกาสแล้ว ให้เวลาแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาต้องเดินหน้า หากใครยังฝ่าฝืน จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด และเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำซาก ขอประกาศว่า พื้นที่เกาะร้อยไร่ถือเป็นเขตควบคุม ห้ามเข้ายึดครองหรือใช้ประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาตอีกต่อไป” 

พร้อมกันนี้ยังขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้อยู่ภายใต้กฎหมาย และเคารพพื้นที่ของทางราชการ “เราต้องการให้การจัดการทรัพยากรน้ำและพลังงานของประเทศดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ ขอความกรุณาอย่าบุกรุกพื้นที่ของรัฐ เพราะหากยังมีผู้ฝ่าฝืน พพ. ก็จำเป็นต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย เพื่อปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ”

ด้าน นายนันทนิษฎ์ วงศ์วัฒนา รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ.ได้ติดตั้งป้ายห้ามเข้าพื้นที่ในบริเวณที่ยึดคืนอย่างชัดเจน พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบร่วมกับชุมชนทั้งทางบกและทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงเตรียมใช้โดรนบินสำรวจและกำหนดมาตรการตรวจการประจำเดือนเพื่อเฝ้าระวังการบุกรุกซ้ำอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนพื้นที่อื่นภายในเขตโครงการ พบว่ายังมีการบุกรุกบนเกาะต่าง ๆ จำนวน 7 เกาะ รวมพื้นที่กว่า 164 ไร่ และบริเวณป่าสงวนอื่น ๆ อีกกว่า 225 ไร่ โดยได้ติดประกาศขอคืนพื้นที่ใหม่เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 20 เมษายน 2568 หากยังไม่มีการออกจากพื้นที่ พพ. จะดำเนินการแจ้งกรมป่าไม้เพื่อดำเนินการตามระเบียบอย่างเคร่งครัด  

สำหรับกรณีพื้นที่ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) จำนวน 48 ไร่ 31 ตารางวา ครอบคลุม 54 แปลง พพ.ได้ส่งหนังสือถึง ส.ป.ก. เพื่อขอให้เพิกถอนสิทธิในแปลงที่ทับซ้อน และจัดทำแนวเขตใหม่โดยเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการรังวัดกันเขตแล้ว 44 แปลง

นอกจากนี้ พพ. ยังอยู่ระหว่างแผนพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่เขื่อนคิรีธาร อาทิ การปรับปรุงสวนสาธารณะพื้นที่ 27 ไร่ การออกแบบภูมิทัศน์บริเวณพลับพลาที่ประทับ พร้อมขอจัดงบประมาณปี 2570 จัดทำรั้วรอบเขื่อน เสริมคันดิน และถนนภายในพื้นที่โครงการ ระยะปี 2571–2574 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำและการผลิตไฟฟ้า

‘พีระพันธุ์’ มอบ ‘เลขา รมต.’ ตรวจสอบเครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะ ส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์จากชาวบ้าน พร้อมแนะพัฒนาด้านคุณภาพ-ความปลอดภัย

เมื่อวานนี้ (5 เม.ย. 68) นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้รับมอบหมายจากนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบเครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะ หลังกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติขยะยโสธร ขอรับงบประมาณสนับสนุนในการซื้อเครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะมาใช้ในพื้นที่

ก่อนการลงพื้นที่ในวันนี้ (5 เม.ย. 68) ได้มีการสั่งการให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมธุรกิจพลังงาน พร้อมพลังงานจังหวัดลพบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบเครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะ ซึ่งใช้กระบวนการไพโรไลซิส (Pyrolysis) เป็นกระบวนการสลายตัวด้วยความร้อนที่ไม่สมบูรณ์ในสภาวะปราศจากออกซิเจนหรือมีออกซิเจนน้อยที่สุด อุณหภูมิที่เหมาะสมสําหรับพลาสติกอยู่ในช่วง 300-500 องศาเซลเซียส โดยความร้อนจะทําให้พันธะเคมีสลายตัว 

ส่วนที่เป็นองค์ประกอบคาร์บอนที่ระเหยได้จะกลายเป็นก๊าซเชื้อเพลิงและบางส่วนที่ถูกควบแน่นจะกลายเป็นของเหลวที่มีลักษณะคล้ายนํ้ามันเตา ซึ่งนํ้ามันดังกล่าวสามารถนําไปใช้ประโยซน์และต่อยอดในการใช้งานได้ เนื่องจากมีค่าความร้อนสูง จึงสามารถใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเพี่อผลิตความร้อนสำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้ อีกทั้ง หากมีการปรับปรุงคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐาน ก็จะมีคุณสมบัติเทียบเท่านํ้ามันเชื้อเพลิงสามารถใช้งานกับเครื่องยนต์ทางการเกษตรได้

ทั้งนี้ เครื่องดังกล่าวมีราคาประมาณ 25,000 บาท แต่เนื่องจากกระบวนการผลิตอาจจะเกิดสารปนเปื้อนซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของผู้ปฎิบัติงานในระยะยาว อีกทั้งตำแหน่งการจัดวางเครื่องมีความเสี่ยงที่อาจจจะเกิดการลุกไหม้ได้ รวมทั้งวัสดุที่ใช้ไม่เหมาะสม 

นอกจากนั้น น้ำมันที่ผลิตได้มีลักษณะเป็นยางเหนียวที่สามารถเกาะเคลือบบริเวณที่สัมผัสกับเครื่องยนต์ ถึงแม้จะมีการกลั่นเบื้องต้นแล้ว น้ำมันสามารถใช้ได้เฉพาะกับเครื่องยนต์การเกษตร กระทรวงพลังงานจึงเห็นควรให้มีการปรับปรุงคุณภาพเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยกับเครื่องยนต์และผู้ใช้งาน

“หลังจากได้รับหนังสือจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติขยะยโสธร นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งปกติท่านให้ความสำคัญกับประชาชนทุกคน และคิดว่าเครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะดังกล่าวน่าจะเป็นประโยชน์ จึงไม่อยากให้สิ่งประดิษฐ์นี้เป็นเรื่องเล็ก ๆ แค่ในอำเภอชัยบาดาล เพราะถ้าเครื่องกลั่นน้ำมันมีคุณภาพ นำไปใช้งานได้จริง ก็จะสามารถขยายผลไปสู่ระดับประเทศและระดับโลกได้ เพราะการนำขยะมาสร้างมูลค่า ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้อีกทาง ซึ่งการผลิตน้ำมันได้เองนี้ก็เป็นเป้าหมายสำคัญในการทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน…

“แต่ทั้งนี้ เพื่อให้เครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะ มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐาน และที่สำคัญต้องมีความปลอดภัย จึงได้มอบหมายให้ดิฉันฯ ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เจ้าหน้าที่กรมธุรกิจพลังงาน และพลังงานจังหวัดลพบุรี ซึ่งผลการตรวจสอบเบื้องต้น เครื่องกลั่นน้ำมันดังกล่าวยังมีจุดที่ต้องปรับปรุงเพื่อความปลอดภัย จึงได้มอบหมายให้ผู้แทน พพ. พิจารณาตรวจสอบเครื่องกลั่นน้ำมัน และให้ ธพ. ตรวจสอบคุณภาพน้ำมันที่ได้จากเครื่อง คาดว่าจะใช้เวลา 2 สัปดาห์ และจะนำเรื่องเสนอท่านรัฐมนตรีต่อไป” นางสาวอรพินทร์ฯ กล่าว 

15 เมษายน พ.ศ. 2567 ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ‘พลังงานไทย’ กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุน 'นำเข้า-ส่งออก'

ครบรอบ 1 ปี กับนโยบายกำกับควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ราคาจำหน่ายเป็นไปตามต้นทุนจริงและให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชนคนไทย ภายหลัง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ออกประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย!!

โดยประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 ต้องรายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายในวันที่ 15 ของเดือน ถัดจากเดือนที่มีการบันทึกบัญชีรายวัน โดยราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าวเมื่อ 13 มีนาคม 2567 และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

หมายความว่า ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ต้องแจ้งราคาต้นทุนเฉลี่ยและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกไตรมาส และในกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันมีการปรับปรุงการบันทึกบัญชี หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลจะต้องแจ้งให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายใน 7 วัน โดยข้อมูลที่ได้รับมาจะถือเป็นข้อมูลลับของทางราชการและจะมีการเก็บรักษาเป็นความลับอย่างที่สุด

สำหรับต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งถือเป็นข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดนโยบายด้านการพลังงานที่เหมาะสมนั้น ประกอบด้วย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหมายความรวมถึงน้ำมันดิบ, ก๊าซธรรมชาติ, ก๊าซปิโตรเลียมเหลว, น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล และต้นทุนอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ค่าขนส่ง, ค่าประกันภัย, ค่าตอบแทนนายหน้า, ค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนและโอนเงิน, ค่าภาษี, อากร หรือค่าธรรมเนียมอื่นใด ซึ่งผู้ประกอบการได้บันทึกบัญชีและมีหน้าที่ต้องชำระ โดยคำนวณเฉลี่ยเป็นหน่วยต่อลิตรในแต่ละรายไตรมาสของปีบัญชี

ทั้งนี้ ด้วยเพราะน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนหลักของภาคธุรกิจในการประกอบกิจการ หากน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายภายในประเทศนั้น มีการค้ากำไรเกินสมควร มีปริมาณการจัดจำหน่ายที่ไม่เพียงพอ หรือไม่ได้คุณภาพแล้ว ย่อมจะส่งผลกระทบในทางลบและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งต่อประชาชน และระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม 

ดังนั้นประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าว จึงมีความจำเป็นต่อการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ภาครัฐโดยกระทรวงพลังงานมีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับกำหนดนโยบายด้านพลังงานให้เกิดความถูกต้องเหมาะสม อันจะทำให้ราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศนั้นมีความยุติธรรม ด้วยมีการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเป็นการคุ้มครองไม่ให้มีการค้ากำไรเกินสมควรในการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อมิให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันที่ไม่ถูกต้องและเป็นธรรม เป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจทุกประเภทและทุกระดับให้มีขีดความสามารถอย่างเท่าเทียมสำหรับการแข่งขันทางการค้าในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ดังนั้น ในวันที่ 15 เมษายน 2567 จึงเป็นวันแรกและครั้งแรกของประเทศไทยที่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ต้องแจ้งข้อมูลต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทุกเดือน โดยประกาศฉบับนี้จะช่วยดำเนินการจัดการให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของราคาจำหน่ายของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องอิงกับราคาตลาดโลกนั่นเอง

‘วินท์ สุธีรชัย‘ ชี้ สัญญารับซื้อไฟสีเขียวบางส่วนทำก่อน ’พีระพันธุ์‘ คุมพลังงาน เชื่อมั่น ปัญหาพลังงานจะถูกแก้ไขอย่างเต็มที่ตามกฎหมายให้อำนาจ

(18 เม.ย. 68) จากกรณีที่นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน จึงตั้งกระทู้ถามสดถึงแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำนวน 5,200 เมกะวัตต์ ที่กำลังจะเซ็นสัญญาเร็วๆ นี้ ว่าเหตุใดจึงไม่ยกเลิกโครงการเหมือนกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบสองจำนวน 3,600 เมกะวัตต์ที่ถูกเบรกโครงการไว้ เนื่องจากมองว่ามีปัญหาเรื่องความโปร่งใสและไม่คุ้มค่าเหมือน ๆ กัน  

ล่าสุดนายวินท์ สุธีรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ สตีล จำกัด (มหาชน) และกรรมการปรับปรุงและยกร่างกฎหมาย กระทรวงพลังงาน ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าว ว่า นั่งฟังที่ พี่ตุ๋ย (ท่าน พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) ตอบกระทู้สดในสภาเรื่องเกี่ยวกับสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด เข้าใจได้ว่า: 

กฎหมายที่เกี่ยวกับประชาชน (เช่น กฎหมายอาญา) และ กฎหมายที่เกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐ (เช่น กฎหมายมหาชน) จะมีความแตกต่างกัน โดยกฎหมายที่เกี่ยวกับประชาชนจะระบุสิ่งที่ห้ามทำ เช่น ทิ้งขยะผิดกฎหมาย ดังนั้นอะไรที่ไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับประชาชน ประชาชนสามารถทำได้ แต่กฎหมายที่เกี่ยวกับหน่วยงานรัฐ หากไม่ได้ให้อำนาจไว้ หน่วยงานรัฐไม่สามารถใช้อำนาจเกินที่กฎหมายระบุไว้ได้เพราะถือว่ามีความผิด 

ดังนั้นการที่กฎหมายให้อำนาจองค์กรอิสระในการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานสะอาด แต่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในการกำกับพลังงานไฟฟ้าไว้เพียงน้อยนิด จึงทำให้การแก้ปัญหาพลังงานไฟฟ้าเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก (อาจจะเป็นเพราะในอดีตเคยมีแผนจะทำให้ กฟผ. กฟภ. และ กฟน. กลายเป็นเอกชนและเข้าตลาดหลักทรัพย์ จึงมีการลดอำนาจการกำกับพลังงานไฟฟ้าของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลง) 

อย่างไรก็ดี พี่ตุ๋ย รู้ถึงความน่าสงสัยในการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานสะอาดที่เกิดขึ้นโดยการเซ็นสัญญาจากองค์กรอิสระซึ่งเกิดก่อนท่านจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และได้พยายามแก้ปัญหาอย่างเต็มที่เท่าที่ทำได้ตามที่กฎหมายมอบอำนาจไว้ให้: 

1. แก้ปัญหาระยะสั้น ได้ระงับการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานสะอาด 2,100 เมกะวัตต์ ที่ัยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญา ผ่านการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)  

2. แก้ปัญหาระยะกลาง ทางกฤษฎีกามีความเห็นไม่ให้ระงับการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานสะอาด 5,203 เมกะวัตต์ เนื่องจากในส่วนที่ไม่ใช่ชีวมวลเซ็นต์สัญญาเสร็จสิ้นไปแล้ว 83 สัญญา เหลือเพียง 19 สัญญา ที่ยังไม่ได้เซ็น ดังนั้น รมว.พลังงาน จึงต้องหาทางระงับสัญญาด้วยวิธีอื่นโดยใช้วิธีตรวจสอบหาข้อผิดกฎหมายในสัญญาซึ่งจะทำให้สัญญาทั้งหมด ทั้งที่เซ็นไปแล้วและยังไม่ได้เซ็นเป็นโมฆะไปตามกฎหมาย 

3. แก้ปัญหาระยะยาว ปัญหาหลักๆ อยู่ที่กฎหมายซึ่งเขียนในช่วงที่มีแผนจะนำ สามการไฟฟ้า(กฟผ. กฟภ. และ กฟน.) เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์กลายเป็นเอกชน ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องมีการแก้กฎหมายใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบันที่ หน่วยงานต่างๆยังเป็นของรัฐไทย เพื่อให้รัฐบาลสามารถเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าจากธุรกิจของเอกชนกลายมาเป็นความมั่นคงของรัฐไทยและให้ประชาชนมีพลังงานในราคาต่ำที่สุดใช้ ไม่ใช่เพื่อให้เอกชนไม่กี่รายสร้างกำไรให้กับตนเอง 

ขอเป็นกำลังใจให้พี่ตุ๋ยในการทลายทุนผูกขาดพลังงานไฟฟ้า(ซึ่งทำให้ท่านถูกโจมตีจากทุกทิศทาง) และเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าจากธุรกิจเอกชนให้กลับมาเป็นความมั่นคงของรัฐไทยและประชาชนให้ได้นะครับ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top