Monday, 21 April 2025
กระทรวงพลังงาน

‘พีระพันธุ์’ ร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 42 ชูแนวทาง ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ หนุน ‘พลังงานไทย’ มั่นคง-ยั่งยืน

(26 ก.ย. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน คณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 42 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (The 42nd ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meetings: The 42nd AMEM) ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว 

โดยรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ร่วมรับรองถ้อยแถลงร่วมทั้งหมด 3 ฉบับซึ่งระบุผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และแนวทางการดำเนินงานในอนาคตของอาเซียนได้แก่ ถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 42 ถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนบวกสามด้านพลังงาน (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ครั้งที่ 21 และถ้อยแถลงร่วมสำหรับโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ฉบับที่ 5

ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์เพื่อแสดงถึงแนวทางการพัฒนาพลังงานของไทยซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์พลังงานในอาเซียน โดยเน้นย้ำแนวทาง ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ เพื่อปฏิรูประบบพลังงาน การผลักดันการสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน และการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ควบคู่กับการลดการใช้ถ่านหิน รวมทั้งกล่าวสนับสนุนให้อาเซียนร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนในภูมิภาค

ที่ประชุมได้รายงานถึงทิศทางอนาคตพลังงานของอาเซียน ที่คาดว่าจะมีความต้องการใช้พลังงานมากขึ้นประมาณสามเท่าเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2565 โดยภาคอุตสาหกรรมและคมนาคมมีแนวโน้มใช้พลังงานมากที่สุด ในขณะที่ ภาคครัวเรือนจะเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานแบบดั้งเดิม สู่การใช้ LPG และไฟฟ้าในการประกอบอาหารมากขึ้นในปี พ.ศ. 2050 

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงความก้าวหน้าใน 7 สาขาพลังงานของอาเซียน ได้แก่ ไฟฟ้า น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การจัดการถ่านหินและคาร์บอนประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียน นโยบายและแผนพลังงาน และพลังงานนิวเคลียร์เพื่อประชาชน และเครือข่ายความร่วมมือด้านการกำกับกิจการพลังงานโดยที่ประเทศไทยมีบทบาทนำในภูมิภาคในการดำเนินงานทางด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานซึ่งได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และได้ทำหน้าที่เป็นประธานสาขาประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงานซึ่งมีการดำเนินการสำคัญที่รายงานในปี 2567 คือการผลักดันการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงานของอาเซียน ได้ร้อยละ 24.5

นอกจากนี้ ไทยได้มีการหารือทวิภาคีกับ สปป.ลาว และมาเลเซีย ถึงแนวทางการกระชับความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ และได้ร่วมแสดงความยินดีกับคณะผู้ประกอบการจากประเทศไทยที่เข้ารับรางวัล ASEAN Energy Awards ประจำปี 2567 ซึ่งในปีนี้ไทยเป็นผู้ได้รับรางวัลมากที่สุด ด้านการอนุรักษ์พลังงาน 9 รางวัล ด้านพลังงานหมุนเวียน 10 รางวัล และได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นด้านการบริหารจัดการพลังงานอีก 5 รางวัลอีกด้วย

กองทุนน้ำมันฯ ติดลบต่ำกว่า 1 แสนลบ. ล่าสุด เหลือ - 99,087 ลบ. หลังเลิกชดเชยราคาดีเซล

(1 ต.ค. 67) สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ล่าสุดติดลบต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ครั้งแรกในรอบ 6 เดือน หลังคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) หยุดชดเชยราคาดีเซลตั้งแต่ ส.ค. 2567 และเร่งรีดเงินผู้ใช้น้ำมันทุกชนิดส่งเข้ากองทุนฯ โดยเฉพาะดีเซลถูกเรียกเก็บ 3.47 บาทต่อลิตร ขณะค่าการตลาดน้ำมันล่าสุดกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ทรงตัวระดับสูงประมาณ 4 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซลอยู่ที่  2.08 บาทต่อลิตร

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้รายงานสถานะเงินกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ณ วันที่ 29 ก.ย. 2567 พบว่า เงินกองทุนฯ ติดลบลดลง ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน  โดยเงินกองทุนฯ ติดลบทั้งสิ้นรวม -99,087 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม -51,643 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบรวม -47,444 ล้านบาท

ทั้งนี้กองทุนน้ำมันฯ เคยติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 1.3 แสนล้านบาท ในปี 2565 และในปี 2567 นี้ กองทุนน้ำมันฯ เริ่มติดลบลดลงเหลือประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ในเดือน ม.ค. 2567 และเริ่มกลับมาติดลบระดับ 1 แสนล้านบาทอีกครั้งตั้งแต่เดือน เม.ย.- ก.ย. 2567

สำหรับยอดเงินกองทุนฯ ที่ลดต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท เนื่องจากคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้เร่งเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันทุกชนิดเพื่อส่งเข้ากองทุนฯ มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา กองทุนน้ำมันฯ ได้หยุดชดเชยราคาดีเซล และหันกลับมาเรียกเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลส่งเข้ากองทุนฯ แทน ขณะเดียวกัน กบน. ก็เรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ส่งเข้ากองทุนฯ ในอัตราสูงมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 2-3 ปีแล้ว

โดยล่าสุด กบน. เรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันส่งเข้ากองทุนฯ ดังนี้  ดีเซลและดีเซล B20 ส่งเข้ากองทุนฯ 3.47 บาทต่อลิตร, ดีเซล เกรดพรีเมี่ยม ส่งเข้า 4.97 บาทต่อลิตร (ปัจจุบันยอดการใช้น้ำมันดีเซลอยู่ที่ 68.06 ล้านลิตรต่อวัน)

ส่วนกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ส่งเงินเข้ากองทุนฯ ดังนี้ ผู้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์95 และ 91 ส่งเข้า 4.60 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ส่งเข้า 2.61 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ส่งเข้า 1.16 บาทต่อลิตร และเบนซินออกเทน 95 ส่งเข้า 10.68 บาทต่อลิตร (ปัจจุบันยอดการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ อยู่ที่ 31.55 ล้านลิตรต่อวัน)

ด้านสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกล่าสุด ณ วันที่ 1 ต.ค. 2567 เวลาประมาณ 15.00 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 73.45 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น  0.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 67.72 เหรียญหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.45 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 71.28 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.42 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ส่วนค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมัน ที่รายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ณ วันที่ 1 ต.ค. 2567 พบว่าค่าการตลาดกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ยังคงทรงตัวระดับสูง โดยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ถูกเรียกเก็บค่าการตลาดถึง 5.39 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 มีค่าการตลาดที่ 4.06 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์91 อยู่ที่ 4.11 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 3.96 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 อยู่ที่ 2.93 บาทต่อลิตร, ดีเซล อยู่ที่ 2.08 บาทต่อลิตร และ ดีเซล B20 อยู่ที่ 0.57 บาทต่อลิตร โดยเฉลี่ยค่าการตลาดอยู่ที่ 2.71 บาทต่อลิตร (จากค่าการตลาดที่เหมาะสม 1.5-2 บาทต่อลิตร)

สกนช. ปรับลดเงินชดเชยราคา LPG ลงเหลือ 3.6842 บาท/กก. ขณะที่ภาพรวมบัญชี LPG ยังติดลบ 47,444 ล้านบาท

(3 ต.ค. 67) สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ประกาศปรับลดเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ บัญชี LPG สำหรับโรงแยกก๊าซฯ เหลือ 6.9943 บาทต่อกิโลกรัม พร้อมปรับลดเงินชดเชยราคา LPG เหลือ 3.6842 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคา LPG โลกอยู่ที่ระดับ 622.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ขณะที่บัญชี LPG มีเงินไหลเข้า 43.39 ล้านบาทต่อวัน แต่ภาพรวมบัญชี LPG ยังติดลบรวม 47,444 ล้านบาท

รายงานข่าวจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ว่า นางไพลิน ฟุ้งเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักการเงินและบัญชี และในฐานะรักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ลงนามในประกาศ “การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุน อัตราเงินชดเชย อัตราเงินคืนจากกองทุน และอัตราเงินชดเชยคืนกองทุนสำหรับก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)” เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2567 โดยกำหนดเปลี่ยนแปลงอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในบัญชี LPG ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2567 เป็นต้นไป

สำหรับประกาศดังกล่าวได้กำหนดให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ส่งเงินเข้ากองทุนฯ สำหรับ LPG ที่ผลิตในประเทศเพื่อจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิง ในอัตรา 6.9943 บาทต่อกิโลกรัม โดยปรับลดลงจากเดิมที่กำหนดไว้ 7.1798 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ไม่รวมถึง LPG ที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซฯของ บริษัท ปตท. สผ. สยาม จำกัด อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร และ LPG ที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซฯ ของ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) อ.กงไกรลาศ จ. สุโขทัย

อย่างไรก็ตามให้ บริษัท ยูเอซี โกลบอลฯ ส่งเงินเข้ากองทุนฯ ในอัตรา 3.1490 บาทต่อกิโลกรัม ลดลงจากเดิมที่กำหนดให้ส่งเข้า 3.3345 บาทต่อกิโลกรัม

พร้อมกันนี้ได้ปรับลดเงินชดเชยราคา LPG ลงเหลือ 3.6842 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมชดเชยอยู่ 3.8697 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ไม่รวม LPG จากการแยกก๊าซฯ ที่ซื้อหรือได้จากรัฐ ผู้รับสัมปทาน หรือผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) โดยโรงแยกก๊าซฯ ของ บริษัท ปตท. สผ.สยาม จำกัด

รวมทั้งกำหนดเงินส่งเข้ากองทุนฯ สำหรับ LPG ที่ซื้อหรือได้มาจากโรงแยกก๊าซฯ ของ บริษัท ปตท. สผ. สยาม จำกัด ในอัตรา 1.8518 บาทต่อกิโลกรัม

ส่วนกรณี LPG ที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปต่างประเทศ ตาม พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 และได้รับเงินชดเชยจากกองทุนฯ แล้ว ให้ส่งเงินชดเชยคืนกองทุนฯ 3.6842 บาทต่อกิโลกรัม

สำหรับปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ บัญชี LPG โดยภาพรวมติดลบอยู่ -47,444 ล้านบาท โดย กบน. กำหนดกรอบวงเงินสำหรับอุดหนุนราคา LPG ได้ไม่เกิน 50,000 ล้านบาท ปัจจุบันกองทุนฯ มีเงินไหลเข้าจาก LPG 43.39 ล้านบาทต่อวัน และใช้ชดเชยราคา LPG อยู่ 37.50 ล้านบาทต่อวัน ขณะที่ราคา LPG โลกเดือน ต.ค. 2567 อยู่ที่ระดับ 622.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน  

สำหรับประกาศดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่กำหนดนโยบายให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) บริหารกองทุนฯ อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความเสี่ยงกรณีเกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงดังนี้

1.มีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้นทุนการจัดหาจากโรงแยกก๊าซฯ ต้นทุนโรงแยกก๊าซฯ ของ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และต้นทุนโรงแยกก๊าซฯ ของบริษัท ยูเอซี โกลบอลฯ มีราคาสูงกว่านำเข้า 2.มีเหตุการณ์ที่ทำให้ราคา LPG ของตลาดโลกเปลี่ยนแปลงใน 2 สัปดาห์ เฉลี่ยมากกว่า 35 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน 3. มีเหตุการณ์ที่ทำให้ราคา LPG  ในประเทศเปลี่ยนแปลงใน 2 สัปดาห์ รวมกันมากกว่า 1 บาทต่อกิโลกรัม  และ 4. มีเหตุการณ์ที่ทำให้ราคาขายปลีก LPG ในประเทศสูงขึ้นในระดับเกินกว่า 363 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ทั้งนี้เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนหรือชะลอการขาดแคลนภายในประเทศ และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและเศรษฐกิจของประเทศ

‘พีระพันธุ์’ ให้การต้อนรับพร้อมรายงานต่อ ‘องคมนตรี’ โครงการสนับสนุนการดำเนินงาน รพ.สมเด็จพระยุพราช

รองนายกฯ ‘พีระพันธุ์’ รายงานความก้าวหน้าโครงการสนับสนุนการดำเนินงานโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เฉลิมพระเกียรติฯ ภายใต้การดำเนินงานของ ก.พลังงาน และ กฟผ. ต่อ องคมนตรี ในโอกาสเยี่ยมชมโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี จ.ปัตตานี

(3 ต.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวรายงานความก้าวหน้าของโครงการสนับสนุนการดำเนินงานโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต่อ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี รองประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช คนที่ 2 ในโอกาสเยี่ยมชมโครงการดังกล่าว ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี จังหวัดปัตตานี โดยมี นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายแพทย์ศักดา อัลภาชน์ รองปลัด กระทรวงสาธารณสุข น.ส.อรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร หน่วยงานราชการ ในพื้นที่ ผู้ปฏิบัติงาน และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงาน

ทั้งนี้ นายพีระพันธุ์ได้รายงานถึงความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการนี้ว่า โครงการสนับสนุนการดำเนินงานโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จำนวน 21 แห่ง ทั่วประเทศ เป็น 1 ใน 10 โครงการสืบสานพระราชปณิธานองค์ราชัน ที่กระทรวงพลังงานและ กฟผ. จัดทำขึ้นในโอกาสเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยเริ่มดำเนินการและส่งมอบโครงการฯ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา

ปัจจุบัน การดำเนินโครงการได้มีความคืบหน้าภายใต้กิจกรรมส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและคุณภาพอากาศ กิจกรรมส่งเสริมงานด้านสาธารณสุข และกิจกรรมส่งเสริมด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยมีการล้างเครื่องปรับอากาศไปแล้ว 3,357 เครื่อง มีการติดตั้งนวัตกรรมระบบหมุนเวียนและบำบัดอากาศ หรือ City Tree ครบจำนวน 21 เครื่อง มีการสนับสนุนเลนส์เทียมสำหรับผู้ป่วยต้อกระจกและผู้สูงอายุ ไปแล้ว 1,200 คู่  และออกหน่วยให้บริการแว่นตาในโรงพยาบาล ไปแล้ว 11 แห่ง จำนวน 16,500 แว่นตา รวมทั้งการปลูกต้นรวงผึ้งในโรงพยาบาล ซึ่งจากการดำเนินโครงการฯ คาดว่าจะสามารถลดการใช้พลังงานได้ 2.75 ล้านหน่วยต่อปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1,420 ตันต่อปี รวมถึงก่อให้เกิดคุณภาพอากาศที่ดีภายในโรงพยาบาล และเพิ่มคุณภาพชีวิตด้านการมองเห็นให้กับผู้สูงอายุและผู้เข้ารับบริการด้วย

ในโอกาสนี้ องคมนตรีและคณะได้เยี่ยมชมหน่วยให้บริการตรวจวัดสายตา แก้ปัญหาสุขภาพตา และประกอบแว่นโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน  ร่วมปลูกต้นรวงผึ้ง พรรณไม้ประจำสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมเยี่ยมชมการสาธิตล้างเครื่องปรับอากาศ และ นวัตกรรม City Tree ซึ่งนำไปติดตั้งที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่ง เป็นนวัตกรรมลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และกำจัดเชื้อโรค ไวรัส แบคทีเรีย สามารถกรองฝุ่นได้ถึง 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ช่วยสร้างอากาศให้มีความสดชื่นเหมือนอยู่ในธรรมชาติ อีกทั้งเป็นที่พักผ่อนให้แก่ผู้ใช้บริการโรงพยาบาล

นอกจากนี้ องคมนตรียังได้มอบถุงของขวัญพระราชทานแก่ผู้ป่วย ประกอบด้วยเครื่องบริโภค จำนวน 100 ชุด และมอบโล่เกียรติยศให้แก่กระทรวงพลังงานในการสนับสนุนการดำเนินงานแก่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นผู้รับมอบ

ปลัดกระทรวงพลังงาน เผย การประหยัดไฟคือภูมิคุ้มกันจากราคาพลังงานผันผวน กฟผ. เตรียมติดฉลากเบอร์ 5 เพิ่ม 3 ผลิตภัณฑ์ 'ตู้อบผ้า-ตู้แช่แข็ง-โคมไฟโซลาร์เซลล์'

(4 ต.ค. 67) ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาพื้นฐาน และหน่วยงานพันธมิตร ร่วมลงนามความร่วมมือโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 พร้อมอบโล่โครงการที่ปรึกษาพลังงาน และโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ณ สำนักงานใหญ่ กฟผ. จ.นนทบุรี เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้เพิ่มประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มุ่งสู่พลังงานสะอาดและความเป็นกลางทางคาร์บอน ตามเป้าหมายของประเทศ

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โครงการฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 เป็นโครงการที่ทั้งกระทรวงพลังงาน และ กฟผ. ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมา 29 ปีแล้ว เป็นหนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะด้านการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนและสังคม  และมีชื่อเสียงในระดับโลก 

ท่ามกลางสถานการณ์ Geopolitic ที่ผันผวน ซึ่งทำให้ราคาพลังงานไม่ว่าจะเป็นก๊าซและน้ำมันทั้งระดับโลกและประเทศไทยมีความผันผวน สิ่งที่เป็นภูมิคุ้มกันในการลดผลกระทบจากความผันผวนดังกล่าวได้ดีที่สุด คือการประหยัดพลังงาน 

ซึ่งมีมาตรฐานฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 จะสามารถสร้างหรือเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมไทยได้ในอนาคต 

ด้านนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ. ได้ดำเนินงานจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า หรือ DSM ผ่านกลยุทธ์ 3 อ. เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกลยุทธ์ 3 อ. ได้แก่ 

อ. ที่ 1 อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ซึ่งปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่ติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 แล้ว ทั้งหมด 26 ผลิตภัณฑ์ รวมมากกว่า 502 ฉลาก

อ. ที่ 2 อาคารและอุตสาหกรรมประสิทธิภาพพลังงานสูง

อ. ที่ 3 อุปนิสัยการใช้พลังงานคุ้มค่าและปลอดภัย เพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา และภาคที่อยู่อาศัย ใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยมาตรการที่เหมาะสมและคุ้มค่า 

จากกลยุทธ์ในการดำเนินการดังกล่าวของ กฟผ. ส่งผลให้ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้กว่า 38,000 ล้านหน่วย คิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 21 ล้านตัน

นอกจากนี้ยังมีการลงนามความร่วมมือ 2 โครงการ คือ 

โครงการที่ 1 คือ โครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ปี 2567 ระหว่าง กฟผ. กับผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาและยกระดับอุปกรณ์สู่มาตรฐานประสิทธิภาพสูง ช่วยลดค่าไฟฟ้า และตอบสนองนโยบายด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ ทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 รวม 40 ราย 3 ผลิตภัณฑ์ คือ 

เครื่องอบผ้า สำหรับอบเพื่อให้เสื้อผ้าแห้งสนิทด้วยความร้อน 

ตู้แช่แข็งฝาทึบ ตู้ที่ทำความเย็นทำให้วัตถุที่แช่แข็งมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง โดยทั่วไปจะทำอุณหภูมิได้ตั้งแต่ -15 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่า สำหรับเก็บรักษาอาหารที่ต้องการเก็บเป็นระยะเวลานาน เช่นไอศกรีม เนื้อสัตว์ หรืออาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง เป็นต้น 

และโคมไฟถนนแอลอีดีเซลล์แสงอาทิตย์ อุปกรณ์ส่องสว่างประสิทธิภาพสูงที่ใช้แหล่งพลังงานจากแสงอาทิตย์สะสมพลังงานด้วยแบตเตอรี่ สำหรับส่องสว่างถนนหรือสถานที่ต่าง ๆ ในช่วงกลางคืน

และโครงการที่ 2 คือ โครงการความร่วมมือด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา (โครงการห้องเรียนสีเขียว) ระหว่าง กฟผ. กับ สพฐ. เพื่อขยายเครือข่ายความร่วมมือในการส่งต่อองค์ความรู้ ความเข้าใจด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ แก่นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียน มุ่งสู่สังคมแห่งการเรียนรู้สีเขียว (Green Learning Society) ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนในโครงการกว่า 1,300 แห่งทั่วประเทศ 

ภายในงาน กฟผ. ได้มอบโล่แสดงความขอบคุณหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมโครงการกับ กฟผ.ในปี 2566 ที่ผ่านมา อาทิ องค์กรที่เข้าร่วมโครงการที่ปรึกษาพลังงาน ผู้เข้าร่วมโครงการบ้านและอาคารเบอร์ 5 ผู้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนเบอร์ 5 และผู้ประกอบการที่ติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ใน 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย แผงเซลล์แสงอาทิตย์ โคมไฟถนน อินเวอร์เตอร์ที่ใช้กับระบบเซลล์แสงอาทิตย์ที่เชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า และเครื่องปรับอากาศแบบหลายชุด แฟนคอยล์ (VRF)

ก.พลังงานเผย ปริมาณน้ำมันในสต็อกพอใช้นานกว่า 60 วัน ใช้กองทุนน้ำมันลดความผันผวนราคาน้ำมัน พร้อมหากจำเป็นต้องใช้แผนฉุกเฉิน

(7 ต.ค. 67) กระทรวงพลังงานเผยปริมาณสำรองน้ำมันในสต็อกยังมีเพียงพอใช้นานกว่า 60 วัน ขอคนไทยไม่ต้องกังวล กระทรวงพลังงานจะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมหากจำเป็นต้องใช้แผนบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน เพื่อช่วยลดผลกระทบในทุกมิติหากสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น 

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางที่ขยายวงกว้าง โดยเฉพาะสถานการณ์สู้รบระหว่างประเทศอิสราเอลและอิหร่าน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกน้ำมันจากพื้นที่ตะวันออกกลาง ทางกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินและเตรียมความพร้อมหากสถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น 

โดยขณะนี้ในด้านปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงยังมีเพียงพอใช้ในประเทศอย่างแน่นอน ปัจจุบัน มีน้ำมันดิบคงเหลือประมาณ 3,365 ล้านลิตร เพียงพอต่อความต้องการใช้ได้ 26 วัน น้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่ง 2,055 ล้านลิตร เพียงพอต่อความต้องการใช้ 16 วัน และน้ำมันสำเร็จรูป 2,414 ล้านลิตร เพียงพอต่อความต้องการใช้ 20 วัน รวมจำนวนมีปริมาณน้ำมันคงเหลือและปริมาณสำรองที่สามารถใช้ได้ 62 วัน 

นอกจากนี้ ในด้านราคา กระทรวงพลังงานจะบริหารดูแลราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวนมากนัก โดยใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก ซึ่งสถานภาพกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มมีสภาพคล่องมากขึ้น มีการติดลบลดลง จึงขอให้ประชาชนอย่าวิตกต่อสถานการณ์ และสามารถมั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะไม่ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาก็จะรักษาเสถียรภาพไม่ให้ผันผวนมากนัก

“จากข่าวสงครามในตะวันออกกลางที่เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น และสร้างความกังวลให้นานาประเทศ จนส่งผลให้ราคาพลังงานโดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบผันผวนและปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่นราคาน้ำมันดิบ WTI ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 อยู่ที่ 68 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่วันนี้ (7 ตุลาคม 2567) หลังสถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้น ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 74 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นกว่า 8% ใน 1 สัปดาห์ 

กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งในด้านความมั่นคง กระทรวงพลังงานมีปริมาณน้ำมันสำรองสำหรับใช้ภายในประเทศมากกว่า 60 วัน ส่วนในด้านราคา กระทรวงพลังงานก็จะติดตามและใช้กลไกที่มีเพื่อให้เกิดผลกระทบด้านราคากับประชาชนให้น้อยที่สุด 

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานได้มีการซ้อมแผนการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้แก่ กรมธุรกิจพลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อวางมาตรการต่างๆ และบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์วิกฤตพลังงาน อาทิ การปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า การบริหารจัดหาก๊าซในประเทศให้ได้มากที่สุด  การลดความต้องการใช้ เป็นต้น 

ขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวล และขอให้ติดตามข่าวสารที่เป็นทางการของทางราชการ กระทรวงพลังงานจะบริหารจัดการอย่างเต็มความสามารถให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สงครามที่เกิดขึ้นให้น้อยที่สุด” นายวีรพัฒน์ กล่าว

กองทุนน้ำมันฯ มั่นใจตรึงเสถียรภาพราคาดีเซลตลอดปี 67 ใช้เงินคืนกองทุนกว่า 1 หมื่นล้านต่อเดือน ไม่หวั่นสงครามตะวันออกกลาง

(8 ต.ค. 67) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มั่นใจยังรักษาเสถียรภาพราคาดีเซลได้ตลอดปี 2567 แม้เกิดปัญหาสงครามในตะวันออกกลางจนราคาน้ำมันโลกพุ่งสูง ระบุปัจจุบันมีเงินไหลเข้ากองทุนฯ กว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อเดือน แม้ภาพรวมยังติดลบ 9.9 หมื่นล้านบาท เผยแนวทางดูแลราคาดีเซลในภาวะสงครามขั้นแรก ต้องลดเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลที่ส่งเข้ากองทุนฯ ก่อน แต่หากสถานการณ์รุนแรงขึ้นจนราคาน้ำมันดีเซลในตลาดสิงคโปร์เกิน 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อาจต้องพิจารณาขยับราคาดีเซลขึ้นบ้างเล็กน้อย

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานสถานการณ์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า ปัจจุบันสถานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด (ณ วันที่ 29 ก.ย. 2567) ที่รายงานโดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) พบว่าเงินกองทุนฯ ยังคงติดลบรวม -99,087 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม -51,643 ล้านบาท และมาจากบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบรวม -47,444 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ก็ได้เตรียมพร้อมกรณีราคาน้ำมันโลกขยับขึ้นสูงจากการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน โดยเบื้องต้นวางแผนจะลดการเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันดีเซลที่ส่งเข้ากองทุนฯ ลงจากปัจจุบันเรียกเก็บอยู่ 2.84 บาทต่อลิตร โดยลดได้ต่ำสุดเพียง 2.34 บาทต่อลิตร และผู้ใช้ดีเซลยังคงต้องจ่ายเข้ากองทุนฯ อย่างน้อย 50 สตางค์ต่อลิตร เพื่อให้เหลือเงินไว้สำหรับชำระหนี้เงินต้นสถาบันการเงินในเดือน พ.ย. 2567 นี้

แต่หากสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกยังพุ่งสูงต่อเนื่องจนทำให้ราคาดีเซลในตลาดสิงคโปร์เกิน 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากปัจจุบันที่อยู่ประมาณ 90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล กบน. อาจจะต้องพิจารณาทยอยปรับขึ้นราคาดีเซลบ้างเล็กน้อย

ทั้งนี้มั่นใจว่ากองทุนน้ำมันฯ จะดูแลเสถียรภาพราคาดีเซลได้ตลอดจนถึงสิ้นปี 2567 นี้  เนื่องจากปัจจุบันกองทุนฯ ยังมีเงินไหลเข้าวันละ 337 ล้านบาท หรือ 10,447 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนปี 2568 จะต้องรอดูสถานการณ์การสู้รบในตะวันออกกลางอีกครั้ง

โดย กบน. จะเน้นดูแลราคาดีเซลและ LPG เป็นหลัก เนื่องจากมีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง โดยปัจจุบัน กบน. ได้เรียกเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลส่งเข้ากองทุนฯ 2.84 บาทต่อลิตร ส่วนผู้ใช้ดีเซลเกรดพรีเมียมส่งเข้ากองทุนฯ 4.34 บาทต่อลิตร (ปัจจุบันยอดการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล อยู่ที่ 67.48 ล้านลิตรต่อวัน)

ขณะนี้ผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯ ดังนี้ เบนซิน ออกเทน 95 ส่งเข้ากองทุนฯ 10.68 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ส่งเข้า 4.60 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ส่งเข้า 2.61 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ส่งเข้า 1.16 บาทต่อลิตร (ปัจจุบันยอดการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ อยู่ที่ 31.65 ล้านลิตรต่อวัน)

ส่วนค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมัน ที่รายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ณ วันที่ 7 ต.ค. 2567 พบว่าค่าการตลาดกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ยังคงทรงตัวระดับสูง โดยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ถูกเรียกเก็บค่าการตลาด 4.04 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 มีค่าการตลาดที่ 3.17 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 3.24 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 3.21 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 อยู่ที่ 2.89 บาทต่อลิตร, ดีเซล อยู่ที่ 1.31 บาทต่อลิตร และ ดีเซล B20 อยู่ที่ -0.11 บาทต่อลิตร โดยเฉลี่ยค่าการตลาดอยู่ที่ 2.29 บาทต่อลิตร (จากค่าการตลาดที่เหมาะสมที่ 1.5-2 บาทต่อลิตร)

ด้านสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกล่าสุด ณ วันที่ 7 ต.ค. 2567 เวลาประมาณ 15.00 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 76.67 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น  3.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 74.22 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.16 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 77.82 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.23 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

‘รองนายกฯพีระพันธุ์’ ผลักดันนวัตกรรมด้านพลังงาน หนุนใช้ ‘ยางพารา – พลาสติก’ สกัดเป็น ‘เบนซิน – ดีเซล’

นวัตกรรมด้านเชื้อเพลิงพลังงานเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี หลังจากโลกต้องประสบกับวิกฤตการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงในทศวรรษ 1970 ในบ้านเราเอง ด้วยพระวิสัยทัศน์และพระปรีชาญาณของล้นเกล้าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษาพลังงานทดแทน การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเชื้อเพลิงชีวภาพโดยโครงการส่วนพระองค์จิตรลดา เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2528 จากพระราชดำริว่า ในอนาคตอาจเกิดการขาดแคลนน้ำมัน จึงมีพระราชประสงค์ให้นำอ้อยมาผลิตแอลกอฮอล์เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง 

โครงการฯ ได้ทำการศึกษาวิจัยการผลิตและกลั่นแอลกอฮอล์จากพืชผลทางเกษตรหลายอย่าง เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง มันสำปะหลัง อ้อย มีการปรับปรุงการกลั่นเรื่อยมา จนสามารถผลิตแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95%หรือที่เรียกว่า 'เอทานอล' ไปกลั่นแยกน้ำ และใช้เป็นวัตถุดิบผสมน้ำมันเบนซินผลิตแก๊สโซฮอล์ โดยศึกษาทดลองสูตรการผสม และผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ใช้กับรถยนต์ทุกคันของโครงการส่วนพระองค์ฯ

ต่อมา บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ได้นำผลการศึกษาของโครงการส่วนพระองค์จิตรลดามาต่อยอด ผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ เริ่มจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ปัจจุบันประชาชนชาวไทยได้มีน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่ผสม 'เอทานอล' ซึ่งสามารถผลิตได้เองในประเทศ ช่วยลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้เป็นจำนวนมาก

การค้นคว้า ศึกษา วิจัย และพัฒนา นวัตกรรมด้านพลังงานในส่วนของหน่วยราชการ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชนทั่วไปนั้นมีมาโดยตลอดเช่นกัน หากแต่ผลการศึกษาส่วนใหญ่มักจะถูกนำ ‘ขึ้นหิ้ง’ เก็บเอาไว้อันเนื่องมาจาก ต้นทุนสูง มีความยุ่งยาก และไม่คุ้มค่า ฯลฯ ทำให้นวัตกรรมด้านพลังงานเหล่านั้นไม่ถูกนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ทั้ง ๆ ที่ปัญหาด้านพลังงานยังคงเป็นปัญหาใหญ่ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่เป็นของทั้งโลกใบนี้ด้วย

จากวิธีคิด วิสัยทัศน์ ของรัฐบาลที่ผ่านมา ยังคงจมปลักอยู่กับการใช้เชื้อเพลิงพลังงานแบบเก่า ซึ่งต้องนำเข้าเกือบทั้งหมด ผลการศึกษานวัตกรรมด้านพลังงานส่วนใหญ่ที่ปรากฏเหมือนกับไฟไหม้ฟางเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นข่าวเพียงไม่นานแล้วก็เงียบหายไป แต่สำหรับ ‘รองพีร์’ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบัน ได้ให้ความสำคัญและ ติดตามผลการดำเนินงานนวัตกรรมด้านพลังงานซึ่งจะนำมาซึ่งประโยชน์โภคผลอันมากมายและมีความยั่งยืนมาสู้พี่น้องประชาชนคนไทย อยู่เสมอ

ดังเช่น นวัตกรรมด้านพลังงาน ‘ครูน้อย’ นายทวีชัย ไกรดวง (เอ็ม) อายุ 32 ปี ชาวบ้านทุ่งสวรรค์ หมู่ 13 ตำบลท่าศิลา อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ซึ่งได้ทำการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานขึ้นมาจำนวน 3 ชิ้นงาน ได้แก่ เครื่องกลั่นยางพารา และกลั่นพลาสติกเป็นน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลได้ในเครื่องเดียว ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 2 กิโลวัตต์ แบบระบบหมุนตามแสงอาทิตย์อัตโนมัติ และรถไถนาเดินตามบังคับวิทยุควบคุมระยะไกล ผ่านระบบ GPS 

‘ครูน้อย’ ได้เล่าว่า ตนเรียนมาทางด้านนวัตกรรมคอมพิวเตอร์ อีกทั้งครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่นาและสวนยาง แต่ตนเล็งเห็นว่า สามารถต่อยอดการเพิ่มมูลค่ายางให้สูงขึ้นด้วยการแปรรูป ประดิษฐ์เครื่องกลั่นยางพาราและกลั่นพลาสติกเป็นน้ำมันขนาดเล็ก และปัจจุบันสามารถกลั่นเป็นน้ำมันเบนซินและดีเซลได้ในเครื่องเดียว โดยใช้งบประมาณ 370,000 บาท สามารถกลั่นได้ 40 ลิตร/ชั่วโมง โดยได้ทดสอบการใช้น้ำมันกับเครื่องสูบน้ำรถไถนา และเครื่องมือทำการเกษตรอื่น ๆ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบมาตรฐานเครื่องและประสิทธิภาพของน้ำมันด้วยตนเอง โดยส่วนตัว อยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุน เพื่อให้เป็นนวัตกรรมของคนไทย ขยายผล สร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นในชุมชนและจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป

เมื่อ ‘รองพีร์’ นำคณะลงพื้นที่ตรวจราชการ ที่ จังหวัดสกลนคร ได้เดินทางไปยังบ้านของ ‘ครูน้อย’ เพื่อเยี่ยมชมผลงานนวัตกรรมด้านพลังงานดังกล่าว ซึ่ง ‘ครูน้อย’ ได้นำเสนอแบบการสร้างหอกลั่นน้ำมันที่สามารถผลิตน้ำมันจากยางพาราและขยะพลาสติกได้ถึงชั่วโมงละ 500 ลิตร และอยากจะให้เป็นเครื่องมืออุปกรณ์ประจำแต่ละอำเภอเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันให้แก่ประชาชนและเกษตรกร ซึ่ง ‘รองพีร์’ ได้ให้การสนับสนุนและมอบให้ดร.ณอคุณ สิทธิพงษ์ ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีพลังงานเป็นผู้สนับสนุนการพัฒนาในเรื่องความปลอดภัยของอุปกรณ์ และคุณภาพน้ำมันให้ดียิ่งขึ้น พร้อมยังมอบหมายให้นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต ที่ปรึกษารัฐมนตรีพลังงานทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานให้เกิดความคล่องตัวและความรวดเร็วในการดำเนินการ

นอกจากนี้ ‘รองพีร์’ ได้มอบให้ ‘ครูน้อย’ ไปคิดประดิษฐ์แผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่ที่จะผลิตขึ้นเองในประเทศ เพื่อทำให้ราคาระบบผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์มีราคาถูกลงอีกด้วย โดย ‘รองพีร์’ เห็นว่าคนไทยจำนวนมากที่มีความสามารถด้านนวัตกรรม แต่ขาดโอกาสและการสนับสนุน หากคนเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง จะสามารถมีสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์และเป็นฝีมือของคนไทยที่น่าภาคภูมิใจ และสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นชาวนา เกษตรกร ชาวประมง หรือประชาชนทั่วไปให้มีทางเลือกในการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน โดย ‘รองพีร์’ ได้กล่าวชื่นชมนวัตกรรมด้านพลังงานของ ‘ครูน้อย’ พร้อมให้การสนับสนุนต่อยอดขยายผลนวัตกรรมไปยังชุมชนอื่น ตลอดจน การจัดทำและทดสอบมาตรฐานเครื่องและผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มีประสิทธิภาพ นำไปพัฒนาและต่อยอดด้านอื่น ๆ ได้ รวมไปถึงผลงานนวัตกรรม ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบระบบหมุนตามแสงอัตโนมัติ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนสำหรับพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีไฟฟ้าใช้หรือไม่ทั่วถึงต่อไป

ความสนใจ ใส่ใจ และสนับสนุนผลงานนวัตกรรมด้านพลังงานเช่นนี้ของ ‘รองพีร์’ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะมีส่วนอย่างสำคัญที่จะทำให้นวัตกรชาวไทยมีความหวังและเกิดพลังใจในการพัฒนานวัตกรรมในด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดทั้งในด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจที่มีความมั่นคงและยั่งยืนให้กับประเทศชาติและพี่น้องประชาชนคนไทยโดยรวมทั้งหมดทั้งมวลตลอดไป

ส่อง! ความเห็น ‘สภาพัฒน์’ ต่อโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าฯ แนะ เร่งปรับปรุงกฎ รับยุคประชาชนผลิตไฟฟ้าได้เองที่บ้าน

เมื่อวานนี้ (13 ต.ค. 67) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ มีความเห็นต่อ โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร วงเงินลงทุน 38,500 ล้านบาท

เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า (โครงการ TIEC) ระยะที่ 3.1 (ภายใต้โครงการ TIEC ระยะที่ 3) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประกอบความเห็นต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 8 ต.ค. 2567 ซึ่งได้เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน เสนอ

ทั้งนี้ เดิมสภาพัฒน์ ได้เห็นชอบต่อโครงการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า กรอบวงเงินลงทุน 44,040 ล้านบาท ตามมติครม. 14 ก.ค. 2558

เพื่อปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ในการรองรับการรับซื้อไฟฟ้า จากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกรายพื้นที่ตามแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1

และการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศตามมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อ 5 พ.ค. 2565 และ 8 มี.ค. 2566 รวมทั้งเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าให้สามารถส่งพลังงานไฟฟ้าไปยังภาคกลาง และเขตนครหลวง ซึ่งเป็นศูนย์กลางความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศในปัจจุบันได้อย่างมีเสถียรภาพ

สภาพัฒน์ เห็นว่า สําหรับการดําเนินโครงการในส่วนที่เหลือภายใต้โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า ระยะที่ 3

ได้แก่ การก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้า 500 kV อุบลราชธานี 3 - นครราชสีมา 3 วงจรคู่ ระยะทาง ประมาณ 355 กิโลเมตร ซึ่งมีกรอบวงเงินคงเหลือตามมติคณะรัฐมนตรีประมาณ 16,850 ล้านบาท เห็นควรให้ กฟผ. พิจารณาดําเนินการตามหลักการตามมติครม. 14 ก.ค. 2558

โดยพิจารณาปรับแผนการลงทุนให้เป็นปัจจุบันให้สอดคล้องกับปริมาณ การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร

และการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ เพื่อนําเสนอคณะกรรมการ กฟภ. (บอร์ด กฟผ.) พิจารณาอนุมัติ และนำเสนอกระทรวงพลังงานเพื่อพิจารณา ให้ความเห็นชอบ พร้อมทั้งรายงานให้ สภาพัฒน์ และคณะรัฐมนตรีทราบ

ทั้งนี้ กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลง ในสาระสําคัญของโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า

อาทิ กรอบวงเงินลงทุนเพิ่มขึ้น เห็นควรให้ กฟผ.เสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอน

ทั้งนี้ ปัจจุบันภาครัฐมีนโยบายและเปิดรับการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือกและการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับกระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างจัดทําแผนพลังงานชาติ

ซึ่งรวมถึงแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan: PDP) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ (Alternative Energy Development Plan: AEDP) ฉบับใหม่

ที่ให้ความสําคัญกับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประเทศตามข้อตกลงของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (COP 28)

ดังนั้น เมื่อแผนดังกล่าวมีความชัดเจนแล้ว เห็นควรมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและ กฟผ. เร่งศึกษาแนวทางการลงทุนพัฒนาศักยภาพของระบบส่งไฟฟ้าของประเทศในระยะต่อไป

เพื่อให้สามารถลงทุนพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า ให้มีศักยภาพรองรับปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก และการรับซื้อไฟฟ้า จากต่างประเทศที่จะเข้าสู่ระบบไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สภาพัฒน์ ยังเสนอให้คณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดําเนินการจัดทําข้อกําหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Code: TPA Code) และปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ

รวมถึงพิจารณากําหนดอัตราค่าบริการใช้ หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Wheeling Charge) ที่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง โดยคํานึงถึงผลตอบแทน ที่เหมาะสมของการลงทุนในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ และไม่เป็นภาระแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนรวม

เพื่อเป็นหลักเกณฑ์และแนวทางในการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้ากับโครงข่ายไฟฟ้าของ 3 การไฟฟ้า ( กฟผ. กฟน. และ กฟภ.) ซึ่งจะมีส่วนสําคัญในการรองรับ ทิศทางตลาดพลังงานที่เอกชนและประชาชนหันมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกใช้เอง

รวมถึงซื้อ/ขายไฟฟ้าโดยตรงกับผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจน ดึงดูดให้บริษัทอุตสาหกรรมต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้มากขึ้นต่อไป

‘พีระพันธุ์’ ย้ำชัดภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัว ใช้พลังงานสะอาด สอดรับเทรนด์ของโลก

(17 ต.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมให้สอคคล้องกับแผนพลังงานใหม่เพื่อมุ่งสู่ Carbon Neutrality” ในการจัดสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2024 โดยสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม ความตอนหนึ่งว่า 

ในเรื่องการปรับตัวไม่ใช่แต่ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัว ภาครัฐก็ต้องปรับตัว โดยการปรับตัวไม่ได้แค่ให้สอดคล้องกับแผนพลังงานใหม่เท่านั้น แต่ต้องปรับให้เข้ากับเทรนด์โลกด้วย เพราะทุกภาคมีส่วนในการปล่อยมลภาวะนำสู่ภาวะโลกร้อน เห็นได้จากภัยน้ำท่วมในไทย พายุเฮอริเคน ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ

สิ่งที่ต้องทำให้เราปรับตัวเข้ากับเทรนด์โลกคือ การลดคาร์บอนที่เกิดจากการใช้พลังงาน เพื่อสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 และNet Zero 2065 ซึ่งภาคอุตสหากรรมยังต้องใช้พลังงานฟอสซิล เพราะฉะนั้นในแผนพลังงานใหม่จึงวางไว้ให้การผลิตไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งไทยเน้นที่พลังงานจากแสงแดด แผน PDP ใหม่จึงต้องเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น 

อย่างไรก็ดี การปรับตัวดังกล่าวทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนที่ต้องจ่าย ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายสำหรับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในความเป็นจริงต้นทุนการผลิตเชื้อเพลิงนั้นถูก แต่ระบบการผลิตแพง และมีกฎระเบียบเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดข้อยุ่งยากเป็นอุปสรรค 

ในฐานะเข้ามารับผิดชอบกระทรวงพลังงานจึงกำลังศึกษาร่างกฎหมาย เพื่อทำอย่างไรให้เอกชนหรือภาคอุตสาหกรรมสามารถติดตั้งระบบไฟฟ้าได้เอง ได้ง่าย เน้นให้สามารถผลิตในประเทศทำให้ต้นทุนต่ำ เพื่อลดต้นทุนให้กับทั้งภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรมด้วย

โดยภาคอุตสาหกรรมจะต้องเหนื่อยมากหน่อย เพราะต้องเผชิญอุปสรรคทางการค้า หากสินค้าไม่ผลิตจากพลังงานสะอาดก็จะถูกข้อกีดกันจากประเทศนำเข้า อาจไม่รับซื้อ ผมถึงบอกว่าภาคอุตสาหกรรมไม่ใช่แค่ปรับตัวให้เข้ากับแผนพลังงานใหม่ แต่ต้องปรับตัวเข้ากับโลกด้วย ซึ่งในภาคปฏิบัติ ภาคอุตสาหกรรมต้องช่วยคิดวิธีแก้ไขและนำเสนอมากับทางภาครัฐ

ภารกิจของแผนพลังงานฉบับใหม่จะต้องไม่ใช่เป็นภาระ แต่เพื่อประเทศเดินหน้าสอดคล้องโลก อย่างไรก็ดี ทั้งหมดของแผนต่างๆ ไม่ได้สำคัญไปกว่าความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของชีวิตมนุษย์ ซึ่งภาครัฐพยายามดำเนินการให้มั่นใจได้ว่ากระทรวงพลังงานดำเนินการแผนพลังงานเพื่อประโยชน์ของประเทศ เพื่ออุตสาหกรรม เพื่อประชาชน ซึ่งขณะนี้แผน PDP อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น หวังว่าท่านที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมจะได้ช่วยระดมความคิดช่วยมองให้สอดคล้องกัน

หรือพูดง่ายๆว่า ทำอย่างไรให้คาร์บอนลดลงจากภาคการผลิตและการใช้พลังงานก่อนจะเดินทางไปสู่ Net Zero ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่รู้ว่าเราจะทำได้หรือเปล่า แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำ และการจะเกิดขึ้นได้ก็อยู่ที่ความร่วมมือร่วมใจทุกฝ่าย เช่น ภาคอุตสาหกรรมทำอย่างไรให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้เอง เพราะค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสำคัญต่อทุกภาคส่วน

ภาระหน้าที่ของผมคือต้องสร้างความคล่องตัว ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ควบคุมไม่ได้จากการพึ่งพาเชื้อเพลิงในการผลิคจากก๊าซในอ่าวไทย นำเข้าจากเมียนมา และมั่นใจว่าวันนี้วิทยากรที่มาร่วมสัมมนามีองค์ความรู้เพื่อจะเตรียมความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมรับมือกับเทรนด์โลกได้อย่างทันท่วงที


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top