Monday, 21 April 2025
กระทรวงพลังงาน

‘พีระพันธุ์’ เยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงต้องใช้ออกซิเจน จ.เชียงใหม่ หลังบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ‘ห้ามตัดไฟเด็ดขาด’

เมื่อวันที่ (28 พ.ย.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ใช้โอกาสก่อนการเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567  (ครม.สัญจร) ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2567 ลงพื้นที่ไปเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องใช้ไฟฟ้าในการให้ออกซิเจนตลอด 24 ชั่วโมง ที่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ พร้อมมอบอุปกรณ์และสิ่งของจำเป็นสำหรับผู้ป่วย 

โดยก่อนหน้านี้ นายพีระพันธุ์ ได้ผลักดันให้เกิดบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อให้ผู้ใช้พลังงานที่มีผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลได้รับการยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้าในทุกกรณี

‘พีระพันธุ์’ ตรึงค่าไฟฟ้ามาแล้วกว่า 1 ปี พร้อมทำทุกวิถีทางหวังช่วยลดภาระให้ประชาชน

(29 พ.ย.67) งานแรก ๆ หลังจากการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ เมื่อ 1 กันยายน พ.ศ. 2566 คือการออกมาตรการอย่างเข้มใน 6 เดือนแรกของการกำกับดูแลระบบพลังงานโดยรวมของไทยดังนี้ 

(1) พลังงานไฟฟ้า ได้ผลักดันการลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนและสามารถตรึงราคาค่าไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องไม่ให้สูงขึ้นตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ มีการเร่งรัดในการแก้ไขปัญหาราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลและเขื่อนสิรินธรที่ยืดเยื้อมาหลายทศวรรษ 

(2) น้ำมัน ทำการช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้น้ำมันโดยใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกลไกทางภาษีด้วยความร่วมมือจากกระทรวงการคลัง เร่งรัดในการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพลิงยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน และสร้างเสถียรภาพให้กับราคาเชื้อเพลิงพลังงาน 

และ (3) ก๊าซ มีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool gas) เพื่อให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติในภาพรวมลดลงและเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซ ติดตามเร่งรัดการขุดเจาะและผลิตก๊าซจากอ่าวไทยเพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า

โดยที่พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ทำให้ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้านั้นอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทั้งหมด ไม่ว่าการออกใบอนุญาตผลิตกระแสไฟฟ้า การกำหนดราคาค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะค่า FT (Fuel Adjustment Charge (at the given time)) ซึ่งใช้ในการคำนวนเพื่อปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือ ‘ค่าไฟฟ้าผันแปร’ อันเป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนหรือประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ โดย กกพ.เป็นผู้พิจารณาปรับค่า Ft ทุก 4 เดือน

นับแต่ กกพ.ชุดแรกเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่ผ่านมาต่างให้ กกพ.เป็นผู้ดำเนินการกำหนดราคาค่าไฟฟ้า ดังนั้น ‘ค่า FT’ จึงถูกกำหนดให้เป็นไปตามเหตุและปัจจัยที่ กกพ. ได้พิจารณา แต่สำหรับ ‘พีระพันธุ์’ แล้วการตรึงค่าไฟฟ้านั้นทำได้ด้วยการใช้มาตรการต่าง ๆ ภายใต้อำนาจหน้าที่ของกระทรวงพลังงานในการทำให้ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้ามีต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบต่อค่า FT ซึ่ง ‘พีระพันธุ์’ ได้ใช้ความพยายามในการแสวงหาวิธีการและมาตรการใหม่ ๆ เพื่อทำให้ค่า FT ต่ำที่สุด อาทิ มาตรการที่กำลังทำอยู่คือ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve) โดยนอกจากจะได้มีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG อันเป็นก๊าซหุงต้มที่พี่น้องประชาชนคนไทยใช้กันมากที่สุดแล้ว ยังมีการสำรองก๊าซ LNG อันเป็นก๊าซเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของบ้านเราในปัจจุบันก็จะถูกสำรองเก็บไว้ด้วยเพื่อเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงทางพลังงานที่สำคัญของประเทศ

ดังเช่น ค่าไฟฟ้าสำหรับงวดเดือนมกราคม-เมษายน พ.ศ. 2568 ตามที่ประกาศ ถ้าเป็นไปตามที่ กกพ.เสนอจะอยู่ที่หน่วยละ 5.49 บาท ซึ่ง ‘พีระพันธุ์’ ไม่เห็นด้วย กกพ. จึงเสนอให้ราคาคงที่หน่วยละ 4.18 บาทเหมือนเดิม แต่ ‘พีระพันธุ์’ ยังขอให้ลดลงอีกหน่อยจนเหลือหน่วยละ 4.15 บาท ทำให้มีการลดอัตราค่าไฟฟ้าจริงหน่วยละ 1.34 บาท ไม่ใช่  3 สตางค์ตามที่สังคมไทยโดยรวมเข้าใจเช่นนั้น ซึ่งสามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ผู้ที่ดูแลรับผิดชอบบริหารจัดการในการซื้อขายกระแสไฟฟ้าของประเทศคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดังนั้นความจริงก็คือ ภาระดังกล่าวถูกผลักให้ ‘กฟผ.’ ต้องรับผิดชอบ โดยพี่น้องประชาชนคนไทยเป็นหนี้ ‘กฟผ.’ เพราะ ‘กฟผ.’ เรียกเก็บค่าไฟฟ้าต่ำกว่าต้นทุนของตัวเองจากนโยบายของรัฐที่จะไม่ให้พี่น้องประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้ามากจนเกินไป 

ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องมีการทยอยใช้หนี้ดังกล่าวคืนให้กับ ‘กฟผ.’ เพื่อให้ ‘กฟผ.’ นำเงินที่ได้ไปใช้หนี้คืนอีกทอดหนึ่ง ทำให้เกิดสมการที่ใช้ในการเก็บ ‘ค่าไฟฟ้าผันแปร’ ว่าจะต้องเก็บเท่าไรเพื่อที่ ‘กฟผ.’ จะมีเงินเพื่อนำไปใช้หนี้ตามข้อเสนอของกกพ.ตามแนวทางที่ได้กล่าวมา 

ซึ่ง ‘พีระพันธุ์’ ตัดสินใจเสนอให้มีการยืดหนี้แล้วจ่ายบางส่วน ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยรับภาระน้อยกว่าที่กกพ.ได้เสนอมา และในขณะเดียวกัน ‘กฟผ.’ เองก็จะมีเงินเพื่อนำไปชำระหนี้จำนวนหนึ่ง โดยอัตราค่าไฟฟ้าหน่วยละ 5.49 บาท ตามแนวทางแรกที่กกพ.เสนอนั้น ‘กฟผ.’ จะได้เงินเพื่อนำไปชำระหนี้ทั้งยอดจำนวนกว่า 80,000 ล้านบาท แต่ถ้าจ่ายอัตราค่าไฟฟ้าที่หน่วยละ 4.15 บาท ‘กฟผ.’ จะได้เงินเพื่อไปชำระหนี้ 13,000ล้านบาทก่อน ซึ่งทุกวันนี้ ‘กฟผ.’ ต้องแบกรับภาระหนี้แทนพี่น้องประชาชนไทยอยู่ และผู้ใช้ไฟฟ้าจำเป็นที่จะต้องเริ่มผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวคืนให้กับกฟผ.เพื่อไม่ให้ยอดหนี้นั้นแกว่งจนเกินไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของกฟผ.ด้วย

ดังนั้น ค่าไฟฟ้าของเดือนมกราคม-เมษายน พ.ศ. 2568 มีการใช้ไฟฟ้าไป 100 หน่วย ถ้าต้องจ่ายในอัตราที่กกพ.เสนอที่หน่วยละ 5.49 บาท จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเป็นเงิน 549 บาท แต่เป็นหน่วยละ 4.15 บาทตามที่ ‘พี่ตุ๋ย’ พีระพันธุ์เสนอแล้วพี่น้องประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าจะจ่ายเพียง 415 บาท ซึ่งทำให้จ่ายน้อยลง 134 บาท การแบกรับค่า Ft ของ ‘กฟผ.’ ซึ่งประกอบด้วยต้นทุนของค่าความพร้อมเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า (AP) และต้นทุนของเชื้อเพลิง LNG ที่มีการเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งต้นทุนการผลิตไฟฟ้ารวมทุกอย่างแล้วสูงกว่าราคาที่ขายให้พี่น้องประชาชนคนไทยในปัจจุบัน เมื่อต้นทุนสูงแต่เพื่อให้พี่น้องประชาชนคนไทยจ่ายในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน ทำให้ ‘กฟผ.’ ต้องไปกู้เงินมาจ่ายค่าไฟฟ้าที่ซื้อมาจากผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าเอกชน รวมทั้งหนี้จากค่า LNG ที่ ‘กฟผ.’ ซื้อมาจากปตท.ในส่วนที่ ‘กฟผ.’ นำมาผลิตไฟฟ้าเอง และเมื่อมีโอกาสหากมีเงื่อนไขที่สามารถทำให้ต้นทุนลดลงได้อีกแล้ว ‘กฟผ.’ จึงค่อยเรียกเก็บเพิ่มจากพี่น้องประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าเพื่อมาเฉลี่ยใช้หนี้ดังกล่าวต่อไป

‘พีระพันธุ์’ กำชับ!! ‘ปตท. - กฟผ.’ ดูแลประชาชน แก้ปัญหาขาดแคลน ‘ก๊าซ - น้ำมัน’ ในพื้นที่น้ำท่วม

(1 ธ.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ ส่งผลให้มีพี่น้องประชาชนที่ประสบเหตุ และได้รับความเดือดร้อนมากถึง 130,000 กว่าครัวเรือน ซึ่งกระทรวงพลังงาน ได้รับรายงานการขาดแคลนเรื่องน้ำมัน และก๊าซ จึงได้ประสานงานให้ บมจ. ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก ซึ่งรับผิดชอบงานในส่วนนี้ เข้าไปประสานงานกับส่วนราชการในพื้นที่ โดยล่าสุด ได้รับรายงานว่าขณะนี้สามารถขนส่งน้ำมัน และก๊าซลงในพื้นที่ได้แล้ว

"ล่าสุดได้รับรายงานว่า ตอนนี้เริ่มขนส่งน้ำมัน และก๊าซไปได้แล้ว แต่ต้องเปลี่ยนเส้นทางลำเลียงขนส่งไปใช้ทางหลวงหมายเลข 42 ซึ่งดำเนินการได้ช้ากว่าปกติ เพราะระยะทางไกลขึ้น และถนนก็คดเคี้ยวมาก ทำให้เดินทางลำบาก และไม่สามารถทำเวลาได้ตามที่เคยดำเนินการอยู่ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาระยะหนึ่ง" นายพีระพันธุ์ กล่าวระบุ

สำหรับในเรื่องไฟฟ้า ได้กำชับให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตรวจสอบสถานการณ์เกี่ยวกับการผลิต และส่งไฟฟ้าไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย

‘พีระพันธุ์’ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ใกล้ชิด เร่งหน่วยงานในกำกับดูแล ก.พลังงาน เข้าช่วยเหลือประชาชน

(3 ธ.ค. 67) ‘พีระพันธุ์’ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ใกล้ชิด สั่งการหน่วยงานในกำกับดูแลของ ก.พลังงาน เร่งช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบเหตุอุทกภัย พร้อมจับมือ ก.อุตสาหกรรม ตั้งศูนย์บรรเทาทุกข์

จากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในหลายจังหวัดภาคใต้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้หน่วยงานในกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานเร่งดูแลช่วยเหลือประชาชน พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยนายพีระพันธุ์ ได้เปิดเผยในวันนี้ (2 ธันวาคม 2567) ว่า ที่ผ่านมาทางกระทรวงพลังงานไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ประสานงานให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในด้านต่าง ๆ กับทาง อบต. และส่วนราชการในพื้นที่มาตลอด โดยเฉพาะในเรื่องการขาดแคลนน้ำมันและก๊าซ ซึ่งทางกระทรวงพลังงานได้ประสานงานให้ทาง ปตท. และ โออาร์ ซึ่งรับผิดชอบงานในส่วนนี้ เข้าไปประสานงานให้ความช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ล่าสุด ตนได้รับรายงานว่าสถานการณ์ในภาพรวมดีขึ้น เช่น ปั๊มน้ำมันต่าง ๆ ก็กลับมาเปิดให้บริการได้จํานวนมากพอสมควรแล้ว ขณะที่การขนส่งน้ำมัน ก๊าซ ก็สามารถดำเนินการได้อย่างเรียบร้อย ไม่มีปัญหาอะไร และตนยังได้กําชับให้ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตตรวจสอบสถานการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องของการผลิต และการส่งไฟฟ้าไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ด้วย

นอกจากนั้น ในกลุ่มของ ปตท. ปตท.สผ. และ โออาร์ ยังได้ร่วมกันมอบถุงยังชีพต่าง ๆ ให้กับพี่น้องประชาชนและส่วนราชการต่าง ๆ โดยเฉพาะ โออาร์ ได้มอบแก๊สหุงต้ม 100 ถัง ให้กับโรงครัวพระราชทานที่จังหวัดสงขลาเพื่อประกอบอาหารดูแลพี่น้องประชาชน ขณะที่ โรงไฟฟ้าจะนะ จ. สงขลา ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ก็ได้จัดหาอาหารดูแลพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าเช่นกัน

นายพีระพันธุ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 กระทรวงพลังงานกับกระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมกันดำเนินการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมเขต 7 ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์พี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยจากสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้

“ทางกระทรวงพลังงานจะพยายามดูแลว่า เราจะสามารถดําเนินการอะไรได้มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม และขอเป็นกําลังใจให้กับพี่น้องประชาชนทุกท่านที่กำลังประสบเหตุอยู่ในขณะนี้ด้วย ซึ่งผมจะรายงานความก้าวหน้าให้ทราบต่อไปครับ” นายพีระพันธุ์ กล่าว

‘พล.ต.ท.เรวัช’ เผย!! ‘ท่านพีระพันธุ์’ ตั้งให้เป็นประธานสอบทุจริต ลั่น!! ใครผิดก็ต้องว่าไปตามผิด ใครถูกก็ว่าไปตามถูก ไม่มียกเว้น

(7 ธ.ค. 67) พลตำรวจโท เรวัช กลิ่นเกษร อดีตผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และ อดีตรักษาการผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ตำรวจมือปราบผู้ซื่อสัตย์และเที่ยงตรง ได้โพสต์คลิป โดยมีใจความว่า ...

ผมได้รับการติดต่อจาก ท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ติดต่อทาบทามมาขอให้ผมเป็นประธาน 

สอบสวนเกี่ยวกับการไม่ชอบมาพากลของการ จัดซื้อจัดจ้าง ของหน่วยงานในสังกัดดูแลของท่าน

สืบเนื่องมาจากในการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จะจ้างบริษัทมาขนถ่านหิน เงินงบประมาณ 7,250 ล้าน แล้วมันจัดซื้อจัดจ้างกันยังไงไม่รู้ ไปจัดวิธีพิเศษ จัดวิธีพิเศษไม่มีการประมูลแข่งขันกันอะไรกัน 

ผมก็ยินดีทําเพื่อประเทศชาติ แล้วมันจะทําให้ผลประโยชน์ตกแก่ประชาชน จะได้ประหยัดงบประมาณ อาจจะทําให้ค่าไฟฟ้าถูกลง

ผมยินดี และเต็มใจ ท่านก็บอกว่าเดี๋ยวอาทิตย์หน้าคงจะเซ็นแต่งตั้งให้ผมเป็นประธานตรวจสอบ

แต่ผมก็กราบเรียนท่านว่า ถ้าตั้งผมแล้วเนี่ยอย่าให้ใครมาขอนะ ใครผิดก็ต้องว่าไปตามผิดนะ ใครถูกก็ว่าไปตามถูกนะ

ใครผิดก็ต้องรับกรรมไปนะ

ผมไม่ไปสนใจทั้งนั้น ว่าใคร จะเป็นอะไรยังไง ถ้าผิดก็ต้องว่าตามผิด ถูกก็ว่าตามถูก ท่านบอกท่านตัดสินใจเลือกผมเพราะรู้ว่าผมเป็นคนไม่ยอมใคร ถูกก็ถูกผิดก็ผิด

มันก็เป็นนิสัยของผมมาตั้งแต่ผมยังเป็นดํารงตําแหน่งแค่เป็นสารวัตร

ตอนนั้นเป็นสารวัตรตลาดไร่เก่าปี 2537 มันก็มีการจัดประมูลงานของแขวงการทางที่แขวงการทางที่ชายทะเล ผู้รับเหมามากันหลายร้อยเลยต่างคนต่างขนอาวุธยุทธภัณฑ์กันมาข่มขู่กัน มาล็อกงาน ล็อกกันไม่ให้บริษัทอื่น มาซื้อซองเข้าประมูลได้

ผมเห็นคนมันมาผิดปกติ ผมก็เอากําลังตํารวจไปปิดล้อม ตรวจค้น ผมจับหมด ได้ข้าวหลามเนี่ย!! ใช้คําว่าเป็นร้อยกระบอกครับ เป็นเข่งนะครับ ผมไม่ยอม แล้วผมก็อยู่ในที่ประมูลด้วย ประมูลแข่งกันไปผลประโยชน์ตกแก่แผ่นดิน

อย่ามาล็อกกัน จับดําเนินคดีหมดนะครับ

ถือว่าพกพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาติ

หลังจากนั้น นายช่างมันรู้กัน มันไม่กล้ามาประมูลกันในเขตผมเลยนะครับ ไม่กล้ามาประกวดงาน ในเขตผมเลยนะครับ

อีกครั้งหนึ่งผมมาเป็นผู้กํากับที่บ้านโป่ง ก็มีการประมูลงานกัน ของกรมชลประทาน

ผมจับดําเนินคดีหมดครับ ผมไม่ยอมหรอกครับ 

เอาแฟร์แฟร์กัน!!

‘ดร.หิมาลัย’ โพสต์เฟซ!! เรื่องการประมูลพลังงานสะอาด ที่อภิปรายกันในสภาฯ เผย!! ‘ท่านพีระพันธุ์’ ไม่นิ่งเฉย สั่งเร่งตรวจสอบโดยละเอียด จนพบข้อมูลใหม่

(10 ธ.ค. 67) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ หรือเสธหิ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ การอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา เรื่องของการประมูลพลังงานสะอาด โดยได้ระบุว่า ...

วันนี้ ผมมีเรื่องเล่า 3 เรื่อง มาเล่าแบบภาษาชาวบ้านครับ แต่ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ ระบอบประชาธิปไตย ที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านได้มีโอกาสอภิปรายรัฐบาลและนำเสนอข้อติติงต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลได้นำไปปรับปรุงแก้ไข ปฐมบทของเรื่องนี้ เกิดมาจากการอภิปรายที่ผ่านมา ในเรื่องของการประมูลพลังงานสะอาด 

หลังจากฟังการอภิปรายแล้ว และมีการตอบข้อซักถามในสภาฯไปแล้วทาง ‘ท่านพีระพันธุ์’ ได้นำข้อสังเกต ข้อติติง ของฝ่ายค้านมาพิจารณาโดยละเอียดและตรวจสอบการดำเนินการของ หน่วยงานในกำกับ อีกครั้ง จึงได้พบข้อมูลที่น่าจะต้องพิจารณาทบทวนให้รอบคอบ ดังนี้

1. ความต้องการไฟฟ้าพลังงานสะอาด เราต้องการที่ 5,000 จึงมีการเปิดประมูล มีผู้มาประมูล ถึง 17,000 ดังนั้น เมื่อประมูลไป 5,000 แล้ว จึงเหลือที่ประมูลไม่ได้ อยู่ที่ 12,000 ต่อมาผู้ที่ประมูลไป 5,000 ไม่สามารถส่งไฟเข้าระบบได้ 3,600 จึงเกิดเป็นฟันหลอในระบบขึ้น ทาง กฟผ.จึงเปิดประมูลใหม่ โดยแยก 3,600 ออกเป็น 2 ส่วน คือ 2,100 กับ 1,500 แต่ดันไปกำหนดการประมูลว่า 2,100 ให้จัดให้ผู้ประมูลเก่าที่ไม่ได้ ที่ค้างอยู่ 12,000 ส่วน 1,500 ที่เหลือ เปิดให้ประมูลใหม่ ซึ่งตรงนี้คือสิ่งที่ฝ่ายค้านติงมาว่าเอาหลักอะไรมาแบ่ง การประมูลครั้งแรกจบไปแล้ว น่าจะเปิดใหม่ทั้งหมดหรือถ้าจะให้สิทธิ์กับ 12,000 ที่เหลือ ทำไมไม่ให้ทั้งหมด หรือมีเกณฑ์อะไร มาแย่งแยก ประกอบกับ การจัดการ 2,100 ที่จัดสรรให้กับ 12,000 ยังไม่จบขบวนการ ท่านจึงมีหนังสือให้ระงับและทบทวน เพื่อตอบปัญหาที่สังคมกับฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตุไว้ หากตอบไม่ได้ ก็ควรหาวิธีดำเนินการทั้ง3,600 ให้ถูกต้องและเหมาะสม ไม่ให้สังคมเคลือบแคลงสงสัยได้

2. เรื่องของคณะกรรมการสรรหาบอร์ด กกพ. ที่ท่านให้ทบทวนเอาเรื่องกลับมา ก็เพราะประเด็นจากการอภิปราย ในเรื่องนี้ กฎหมายเขียนไว้ว่าต้องตั้งกรรมการสรรหา 9 คน หนึ่งในนั้น ต้องมาจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่เนื่องจาก สภาฯดังกล่าว ได้โดนยุบไปแล้ว ทาง กกพ.จึงส่งเรื่องมาให้ตั้ง แค่ 8 คน เมื่อท่านสอบถามว่าใครให้ความเห็นข้อกฎหมายในเรื่องนี้ ปรากฏว่าเป็นฝ่ายกฎหมายของ กกพ.เอง ท่านจึงให้ชะลอเรื่องแล้วให้รีบส่งเรื่องสอบถามความเห็นไปที่กฤษฎีกาก่อน เพื่อความรอบคอบครับ

3. เรื่องเหมืองแม่เมาะ เป็นการประมูลโครงการ 7,250 ล้านบาท ในครั้งแรกจะใช้วิธีพิเศษ ท่านก็ให้ทักท้วงไป จึงเปลี่ยนมาเป็นเปิดประมูล แต่มีข้อสังเกตุหลายอย่าง คือในการพิจารณาโครงการประมูลโครงการใหญ่ขนาดนี้ กลับใช้วิธีประชุมลับ ไม่ลงบันทึกประชุม เมื่อได้ผลประมูลแล้วต้องแจ้งให้ผู้เข้าประมูลทุกรายทราบ เพื่อให้ผู้ร่วมประมูลสามารถทักท้วงผลได้ในระยะเวลาที่กำหนด และหากมีการตกสเปค จะต้องแจ้งให้ทราบว่าตกเพราะเหตุใด ในเรื่องนี้บริษัทฯผู้ร้องได้รับแจ้งผลประมูลและเหตุผลหลังจากเลยระยะเวลาอุธรณ์หรือทักท้วงแล้ว ตลอดจนเหตุผลในการตกคุณสมบัติ ทางบริษัทก็โต้แย้ง ว่าสิ่งที่บริษัทได้เสนอให้มากกว่า ถ้าผมจำไม่ผิด น่าจะเป็นเรื่องเครื่องจักรอะไรสักอย่าง ที่กำหนดให้ต้องมีตัวใหญ่ 2 ตัวเล็ก 2 ทางผู้ร้องแจ้งว่า เขาเสนอให้ตัวใหญ่ 3 ตัวเล็ก 1 ซึ่งทางหน่วยงานจะได้ประโยชน์มากกว่า และตัวใหญ่ก็มีคุณสมบัติที่เหนือเกณฑ์มาตราฐานที่ตั้งไว้ แต่ประเด็นสำคัญ เขาไม่มีโอกาสโต้แย้ง ชี้แจง หรืออุทธรณ์ ร้องเรียนใดๆเลยเพราะการแจ้งผลให้เขาทราบ เป็นการแจ้งหลังจากผ่านระยะเวลาอุทธรณ์ไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติและไม่เป็นธรรม ประกอบกับในเรื่องดังกล่าวมีบอร์ดท่านหนึ่ง ได้ทำบันทึกตั้งข้อสังเกตุไว้ก่อนเกิดเรื่องร้องเรียนแล้ว พอมีการร้องเรียนมาท่านก็สั่งตรวจสอบ เพื่อให้ความเป็นธรรมและถูกต้อง 

เรื่องเล่าชาวบ้านของผมวันนี้ คงมีแค่ 3 เรื่องนี้ ช่วยกันรักษาคนดีและให้กำลังใจ คนที่ตั้งใจทำงานเพื่อความถูกต้องและประเทศชาติกันครับ ขอขอบคุณระบบรัฐสภาฯของเรา ที่เปิดให้มีการอภิปรายและตรวจสอบ ขอบคุณท่านพีระพันธุ์ฯ ที่ไม่ละเลยต่อคำทักท้วงตามระบอบประชาธิปไตยครับ

‘พลังงาน’ จับมือ ‘อุตสาหกรรม’ เพิ่มศักยภาพประเทศ เร่งปลดล็อกอนุมัติด้านไฟฟ้าเร็วขึ้น - หนุนใช้พลังงานสะอาด

(17 ธ.ค. 67) ‘พลังงาน’ เดินเกมรุกจับมือ ‘อุตสาหกรรม’ เร่งปลดล็อกการอนุมัติด้านไฟฟ้าให้เร็วขึ้น หนุนใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในอุตสาหกรรม S-Curve พร้อมผลักดันการใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน มุ่งลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และเพิ่มศักยภาพธุรกิจไทยอย่างเป็นรูปธรรม

เปิดมิติใหม่ของการบูรณาการงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งปลดล็อกลดขั้นตอนขออนุญาตด้านไฟฟ้ายกระดับสู่ One Stop Service ชูแนวทางผลักดันเชื้อเพลิงชีวภาพไปสู่อุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่ารองรับการยกเลิกอุดหนุน และร่วมผลักดันกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน คิดไกลดูแลเทคโนโลยีพลังงานตั้งแต่ผลิตถึงการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่ที่หมดอายุ นำระบบ Big Data ยกระดับการอนุรักษ์พลังงาน พร้อมประสานพลังพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมรองรับพลังงานไฮโดรเจนและการลงทุนจากต่างประเทศ

เมื่อวันที่ (16 ธันวาคม 2567) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งนำโดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมผู้บริหารระดับสูงทั้ง 2 กระทรวง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายสำคัญระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ได้แก่

ประเด็นการดำเนินการ One Stop Service การอนุมัติ/อนุญาตด้านไฟฟ้า เพื่อลดขั้นตอนกระบวนการและระยะเวลาการอนุมัติ/อนุญาตด้านไฟฟ้าให้ผู้ประกอบการมีความคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้น ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการยกเลิกขั้นตอนขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4 ลำดับที่ 88) จาก พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 แล้ว โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างยกร่างกฎหมายว่าด้วยการยกเลิกใบอนุญาต รง.4 ดังกล่าว รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สำหรับภาคประชาชนที่กระทรวงพลังงานเตรียมส่งเสริมในปีหน้า เพื่อลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น

ที่ประชุมยังมีการหารือประเด็นการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เชื้อเพลิงชีวภาพในอุตสาหกรรม S-Curve เพื่อเพิ่มมูลค่า เนื่องจากมาตรการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2569 ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นต้นทางของเอทานอลจะได้รับผลกระทบ กระทรวงพลังงานจึงเตรียมมาตรการเพื่อส่งเสริมการใช้ทดแทนเอทานอลในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง การสกัดสมุนไพร สุราสามทับ พลาสติกชีวภาพ หรือการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง คาดว่าจะสามารถผลักดันให้สามารถจำหน่ายเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นเพื่อชดเชยบางส่วนได้ในทันที ส่วนปริมาณที่เหลือจะหารือเพื่อลดผลกระทบต่อเกษตรกรและเป็นการเพิ่มมูลค่าให้เอทานอลมากขึ้นต่อไป

ในส่วนของไบโอดีเซล จะร่วมกันผลักดันกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน เพื่อสร้างกรอบในการกำหนดทิศทางการใช้ประโยชน์ของปาล์มน้ำมัน พร้อมไปกับการเพิ่มโอกาสนำเชื้อเพลิงชีวภาพให้สามารถผ่านเกณฑ์ความยั่งยืนของสากลเพื่อนำไปผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) รองรับความต้องการที่สูงขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือแนวทางการรับซื้อใบอ้อย/ยอดอ้อยเพื่อผลิตไฟฟ้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นหนึ่งในการแก้ปัญหาที่ประชาชนต้องเผชิญอย่างต่อเนื่องในฤดูเก็บเกี่ยวอ้อย โดยข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) พบว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลสามารถรองรับการใช้ใบอ้อย/ยอดอ้อยในสัดส่วน 10 - 30% พร้อมร่วมพิจารณาการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมโดยไม่กระทบค่าไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ ซึ่งกระทรวงพลังงานประเมินอัตรารับซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวลจากใบอ้อย/ยอดอ้อยอยู่ในระดับ 2.67 บาท/หน่วย ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมรับข้อเสนอและคาดว่าในปีหน้าจะสามารถเพิ่มปริมาณการใช้ใบอ้อยในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นหลังจากดำเนินนโยบายการรับซื้อในราคาที่จูงใจ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ลดการเผาแล้วก็เป็นส่วนหนึ่งในการลดฝุ่น PM2.5 ได้อีกด้วย

รวมทั้งประเด็นหารือความร่วมมือแนวทางการจัดการแผงโซลาร์เซลล์ และแบตเตอรี่ที่หมดอายุใช้งาน ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วจากการใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนผ่านพลังงาน ซึ่งทั้งสองกระทรวงเล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงขอความร่วมมือจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำกับคุณภาพและความปลอดภัยของแผงโซลาร์เซลล์ และให้ทบทวนมาตรฐานแผงโซลาร์เซลล์ โดยเพิ่มเติมแนวทางการบริหารจัดการแผงโซลาร์เซลล์ให้ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจัดการแผงที่หมดอายุใช้งานทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีการร่างกฎหมายและจัดตั้งกองทุนเพื่อบริหารจัดการสำหรับแก้ไขปัญหาและชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากแผงโซลาร์เซลล์ ทั้งนี้กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงาน กกพ. มีฐานข้อมูล ปริมาณการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ผลิตไฟฟ้าทั้งในระบบและนอกระบบที่สามารถนำไปประเมินปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จากแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุในอนาคตได้ รวมทั้งจะร่วมมือพัฒนาส่งเสริมการนำแบตเตอรี่จากยานยนต์ไฟฟ้า (BEV) มาใช้งานเป็น 2nd Life Battery คือนำไปใช้งานร่วมกับแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน หรือเป็นระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) สำหรับบ้าน อาคาร โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

ในด้านประเด็นการส่งเสริมการใช้ไฮโดรเจนในภาคอุตสาหกรรมนั้น ตามแผนการพัฒนาการผลิตและการใช้ไฮโดรเจนในภาคพลังงาน ซึ่งเชื่อมโยงกับร่างแผน PDP2024 มีการกำหนดสัดส่วนผสมไฮโดรเจนกับก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนร้อยละ 5 ภายในปี 2573 เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในภาคพลังงาน โดยขอความร่วมมือจากกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกันเตรียมการให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงพิจารณาแนวทางการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์และเครื่องจักร รองรับการใช้เชื้อเพลิงผสมดังกล่าว โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมตามแนวท่อก๊าซธรรมชาติ โดยทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้นี้ เพื่อประเมินความคุ้มค่าทางการเงินและเศรษฐศาสตร์สำหรับการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือถึงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) อยู่ระหว่างผลักดันการใช้ Factory Energy Code ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก ผ่านการดำเนินนโยบาย BCG พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลโรงงาน เครื่องจักรของอุตสาหกรรม และข้อมูลการใช้พลังงานในโรงงานควบคุมและนอกข่ายควบคุม

“ผมถือว่าเป็นโอกาสดีที่ได้กำกับดูแลทั้งกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งโดยเนื้อหาของงานทั้งในภาคนโยบายและภาคปฏิบัติมีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันอย่างมาก การได้หารือร่วมกับหน่วยงานกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้การนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมท่าน เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ครั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นมิติใหม่ที่จะสร้างความร่วมมือให้ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญคือการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานทั้งภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรมที่ส่งผลโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน รวมทั้งสร้างความชัดเจนในการพลิกโฉมการบริหารจัดการพลังงานสะอาดและการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรมด้วยมาตรการที่เป็นรูปธรรม ช่วยนำประเทศเข้าใกล้เป้าหมายที่ประกาศจะสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065” นายพีระพันธุ์ กล่าว

ด้านนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ กล่าวว่า “รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่กระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรมได้ทำงานกันอย่างใกล้ชิด โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งเป้าที่จะให้ภาคอุตสาหกรรมดัน GDP ของไทยให้เพิ่มขึ้น 1% โดยที่ไม่ต้องใช้งบประมาณ เน้นการเพิ่มมูลค่าในด้านการผลิต ด้านการเกษตร และผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อในการเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ที่สำคัญจะต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการดำเนินงานด้านอุตสาหกรรมแบบมีความรับผิดชอบ และพร้อมที่จะส่งเสริมธุรกิจใหม่อย่างการนำขยะมาสร้างมูลค่า ซึ่งก็ต้องใช้กฎหมายเข้ามาเป็นตัวช่วยผู้ประกอบการไทย ซึ่งจะพยายามดำเนินการให้เสร็จให้เร็วที่สุด”

‘พีระพันธุ์’ แจ้งข่าวดี! กบง. ตรึงราคา LPG อีก 3 เดือน ที่ราคา 423 บาทต่อถัง มีผล 1 ม.ค. ถึง 31 มี.ค. 68

(17 ธ.ค. 67) ข่าวดี!! ‘พีระพันธุ์’ เผยที่ประชุม กบง. มีมติ คงราคาขายส่งก๊าซ LPG นาน 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. 2568

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า ที่ประชุมได้มีมติให้คงราคาขายส่งก๊าซ LPG หน้าโรงกลั่นที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีกรอบเป้าหมายให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. 68

ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) พิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG ต่อไป

‘พีระพันธุ์’ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมวันเดียว 9 จุด สั่งเร่งฟื้นฟูความเป็นอยู่ประชาชนให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

เมื่อวันที่ (18 ธ.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดทางภาคใต้ซึ่งส่งผลให้ประชาชนในหลายพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน  ตนในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้รับผิดชอบดูแลเขตตรวจราชการที่ 5 ซึ่งประกอบด้วย จ.ชุมพร  จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช จ.พัทลุง และ จ. สงขลา จึงลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและรับฟังปัญหาจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.ชุมพร  จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ในเขตตรวจราชการที่ได้รับมอบหมาย

ทั้งนี้  นายพีระพันธุ์ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่าง ๆ ของทั้ง 3 จังหวัด รวม 9 แห่ง ได้แก่  1.โรงเรียนวัดปากด่าน ต. สะพลี อ.ปะทิว จ.ชุมพร 2.โรงเรียนครนพิทยาคม ต.ครน อ.สวี จ.ชุมพร 3. เทศบาลบ้านนาโพธิ์ ต.นาโพธิ์ อ.สวี จ.ชุมพร  4.โรงเรียนทุ่งตะโก ต.ทุ่งตะไคร อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร 5.ศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยชั่วคราว บ้านบ่อน้ำร้อน ม.5 ต.กรูด อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี 6.วัดปากคู ต.ช้างซ้าย จ.สุราษฎร์ธานี 7.โรงครัวชั่วคราว สี่แยกกาญจนดิษฐ์ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี 8.โรงเรียนบ้านเผียน ต.เทพราช อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช 9.วัดคงคาเลียบ ต.ฉลอง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช  โดยได้สั่งการให้หน่วยงานราชการต่าง ๆ รวมทั้งหน่วยงานในกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน เร่งประสานงานให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า  นอกจากการทำหน้าที่รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแล้ว  ตนยังได้รับมอบหมายให้ดูแลเขตตรวจราชการที่ 5 ซึ่งประกอบด้วย 5 จังหวัด และขณะนี้ทุกจังหวัดกําลังประสบเหตุน้ำท่วมใหญ่จากฝนที่ตกกระหน่ำอย่างหนัก โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนก็ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัด พัทลุง และสงขลา และได้พบปะเยี่ยมเยียนประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

“มาลงพื้นที่ครั้งนี้ ผมก็ได้เห็นสถานการณ์อย่างที่ได้รับรายงานมา  น้ำท่วมคราวนี้หนักมากนะครับ แม้จะเป็นลักษณะมาเร็วไปเร็ว แต่ก็มาหนัก มาแรง มาเยอะ  และมีปริมาณน้ำมากกว่าทุก ๆ ปี  ไล่ตั้งแต่ชุมพรลงไป  พื้นที่บางแห่งแม้วันนี้จะไม่มีน้ำท่วมแล้ว แต่ก็ทิ้งความเสียหายไว้มาก ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง บ้านเรือนที่อยู่อาศัย  รวมทั้งโรงเรียนของเด็กๆ  ที่ไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ และที่สำคัญคือมีผู้เสียชีวิต ซึ่งต้องขอแสดงความเสียใจกับพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบและสูญเสียในครั้งนี้ด้วย” นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์กล่าวอีกว่า สิ่งที่เราต้องช่วยกันวันนี้ก็คือ การฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน  และขอขอบคุณทุก ๆ ฝ่ายที่ให้ความช่วยเหลือ ทั้งทางด้านกองทัพที่ส่งทหารมาช่วยฟื้นฟู และ ทาง อบต. ที่พยายามจัดงบประมาณเร่งด่วนมาทําความสะอาดโรงเรียน ตลอดจน สส.ในพื้นที่และผู้ประกอบการหลายรายที่ได้จัดหาเครื่องอุปโภคบริโภค รวมไปถึงวัตถุดิบในการทําอาหารมาดูแลประชาชน

“ ในส่วนของกระทรวงพลังงานที่ผมรับผิดชอบอยู่ ก็ต้องขอบคุณทาง ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่ได้กรุณาจัดถุงยังชีพไปช่วยพี่น้องประชาชน น้ำท่วมครั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่าหนักมาก ในหลายพื้นที่ก็เคยรุนแรง แต่ก็ไม่รุนแรงเท่านี้ ถึงแม้จะไปเร็ว แต่สร้างความเสียหายทิ้งไว้เยอะ เหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกันคนละไม้ละมือ และขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่บริจาคสิ่งของมา  รวมทั้งหน่วยราชการทุกภาคส่วนที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือ อย่างน้อยก็ทำให้พี่น้องชาวภาคใต้ก็รู้สึกมีขวัญกําลังใจ  ซึ่งก็ต้องช่วยดูแลกันต่อไปครับ” นายพีระพันธุ์กล่าว

‘พีระพันธุ์’ ผุดไอเดียแปลงพลังน้ำเป็นพลังงานไฟฟ้า ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอย่างยั่งยืน แถมชาวบ้านได้ใช้ไฟราคาถูก

‘พีระพันธุ์’ ผุดไอเดียแปลงพลังน้ำเป็นพลังงานไฟฟ้า แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอย่างยั่งยืน แถมประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก

จากการลงพื้นที่ภาคใต้ของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ได้เปิดเผยถึงวิธีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนอีกแนวทางหนึ่ง นั่นคือ การแปลงพลังงานน้ำให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งนอกจากจะช่วยชะลอกระแสน้ำไม่ให้สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ประชาชนแล้ว ความแรงของกระแสน้ำยังสามารถนำไปผลิตไฟฟ้าในต้นทุนต่ำเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าของครัวเรือน และยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับใช้ในการเกษตรได้ด้วย

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า จากการไปตรวจเยี่ยมและพบปะประชาชนครั้งนี้ ตนเห็นว่าในบางพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำมากและไหลแรงสามารถนำกระแสน้ำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางในการแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอย่างยั่งยืน และสามารถช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำใช้ในการเพาะปลูก อีกทั้งยังช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำมีต้นทุนถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติหลายเท่า โดยตนได้มอบหมายให้ทางพลังงานจังหวัดศึกษาข้อมูลรายละเอียดและประสานงานกับส่วนกลางเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ต่อไป 

“จากการที่ผมได้ไปตรวจเยี่ยมติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่ บ้านห้วยน้ำเน่า อ.สิชล ผมก็ได้แนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมอีกวิธีหนึ่ง พื้นที่ตรงนั้นมีปริมาณน้ำเยอะและไหลแรง แต่ผมไม่ได้เห็นเป็นแค่น้ำ ผมเห็นเป็นไฟฟ้า ผมเลยคิดว่าตรงนี้น่าจะทำเป็นแหล่งเก็บน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กให้ชาวบ้าน ซึ่งจะช่วยชะลอน้ำเวลาถึงฤดูน้ำหลาก และยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร ขณะเดียวกัน แรงของน้ำที่ไหลผ่านยังสามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างน้อย 2 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถดูแลพี่น้องประชาชนได้ประมาณ 400 ครัวเรือน และจะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าหลัก ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยเพราะผลิตจากก๊าซ ขณะที่ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำอยู่ที่ประมาณ 1 บาทกว่า ๆ เท่านั้น ผมกำลังให้กระทรวงพลังงานรวบรวมข้อมูลและศึกษาความเป็นไปได้เพื่อจัดทำเป็นโครงการต้นแบบในการแก้ปัญหาน้ำท่วมอีกแนวทางหนึ่ง” นายพีระพันธุ์กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top