Tuesday, 22 April 2025
กรมสมเด็จพระเทพ

4 เมษายน ของทุกปี ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ พระราชทานให้วันนี้เป็น ’วันภาพยนตร์แห่งชาติ‘ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยร่วมตระหนักถึงคุณค่าของ 'ภาพยนตร์ไทย'

วันภาพยนตร์แห่งชาติตรงกับวันที่ 4 เมษายนของทุกปี เป็นวันที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานขึ้น เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญ และคุณค่าของภาพยนตร์ไทย เพราะภาพยนตร์ถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมบ้านเราได้ดีที่สุด

สำหรับภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกคือเรื่อง 'นางสาวสุวรรณ' เข้าฉายเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 จากนั้นก็ได้มีการพัฒนาภาพยนตร์ออกมาเรื่อย ๆ จนทำให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย จนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งก็ได้มีงานประกาศรางวัลภาพยนตร์ไทย ที่ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน จัดขึ้นมา เพื่อมอบรางวัลให้แก่ภาพยนตร์ไทยที่มีคุณภาพ และเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ผลิต เช่น รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ รางวัลพระสุรัสวดี รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง และอื่น ๆ อีกหลายรางวัล

‘หวังอี้’ เข้าเฝ้าฯ ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ ณ กรุงปักกิ่ง ยกย่อง-สานต่อ ความสัมพันธ์อันดี 2 ประเทศทุกมิติ

(9 เม.ย. 67) สำนักข่าวซินหัว เผยเมื่อวันที่ 8 เม.ย.67 หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ กรุงปักกิ่งของจีน โดยหวังนำส่งคำทักทายด้วยมิตรไมตรีจิตจากประธานาธิบดีสีจิ้นผิงถึงกรมสมเด็จพระเทพฯ เป็นลำดับแรก

หวัง ซึ่งเป็นกรรมการกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวว่า จีนนั้นเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยติดต่อกันมานานหลายปี และยังเป็นแหล่งการลงทุนจากต่างประเทศขนาดใหญ่ที่สุดของไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยความร่วมมือทวิภาคีมีความแข็งแกร่งและศักยภาพมหาศาล

หวังกล่าวว่า กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงมีคุณูปการต่อมิตรภาพจีน-ไทย มาเนิ่นนานหลายทศวรรษ และประชาชนชาวจีนเทิดทูนคุณูปการดังกล่าวอย่างยิ่ง โดยจีนยกย่องมิตรภาพอันยืนยาวกับราชวงศ์ไทย และยินดีทำงานร่วมกับไทยเพื่อดำเนินการตามฉันทามติระดับสูงระหว่างสองประเทศ และผลักดันความก้าวหน้าใหม่ในการสร้างประชาคมจีน-ไทย ที่มีอนาคตร่วมกัน

กรมสมเด็จพระเทพฯ ตรัสว่า ราชวงศ์ไทยยกย่องมิตรภาพไทย-จีน เช่นเดียวกัน และไทยยินดีใช้โอกาสวาระครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ ในปี 2025 มาเสริมสร้างความร่วมมืออันเป็นรูปธรรมกับจีนในด้านวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, การเกษตร และการศึกษา และส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างประชาชนสองประเทศ

สื่อจีนประมวลภาพ ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ เสด็จเยือน ‘ม.ปักกิ่ง’ สะท้อนความสัมพันธ์อันดีงามระหว่าง ไทย-จีน ที่มีอย่างยาวนาน

เมื่อวานนี้ (9 เม.ย. 67) รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ‘Aksornsri Phanishsarn’ กรณี กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จเยือนมหาวิทยาลัยปักกิ่ง โดยระบุว่า…

“กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จเยือนมหาวิทยาลัยปักกิ่ง Peking University, April 2024 🇨🇳 #สื่อจีน นำเสนอข้อมูลและประมวลภาพที่น่าประทับใจ 🇹🇭 #เจ้าหญิงของไทยเยือนจีน ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันไว้อย่างไรบ้าง 🥰 คลิกชมได้เลยค่ะ https://mp.weixin.qq.com/s/rshJdP0Wem9pxHWv3CTYjA

นอกจากนี้ยังได้โพสต์ข้อความเพิ่มเติมอีกว่า “โดยปกติ ช่วงต้นเดือน เม.ย. (หลังวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เม.ย.) พระเทพฯ จะเสด็จเยือนจีนนะคะ (ยกเว้นช่วงโควิด จีนปิดประเทศ) การเสด็จเยือนจีนช่วงต้น เม.ย. พระเทพฯ ก็จะเสด็จเยือน ม.ปักกิ่งด้วย และม.ปักกิ่งจะเตรียม HBD cake ถวายพระเทพฯ แบบนี้มาโดยตลอดด้วยค่ะ 🥰 นี่คือส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ที่ดีงามอย่างยาวนานระหว่างไทย-จีน 🇹🇭🇨🇳นะคะ”

21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ เสด็จเปิด ‘อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง’ หนึ่งในปราสาทหินศิลปะแบบขอมที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของไทย

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรือ ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของประเทศไทยภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นหนึ่งในปราสาทหินในกลุ่มราชมรรคา ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 (บ้านดอนหนองแหน) ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ลงมาทางทิศใต้ประมาณ 77 กิโลเมตร โดยประกอบไปด้วยโบราณสถานสำคัญ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตรจากพื้นราบ (ประมาณ 350 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ทั้งนี้ คำว่า ‘พนมรุ้ง’ นั้น มาจากภาษาเขมร คำว่า ‘วนํรุง’ แปลว่า ‘ภูเขาใหญ่’

ทั้งนี้ อุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้ ได้ดำเนินการบูรณะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 จนเสร็จสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2531 โดยมีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธาน มีงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปี ในครั้งนั้นอีกด้วย

ปัจจุบัน ปราสาทหินพนมรุ้งกำลังอยู่ในเกณฑ์กำลังพิจารณาเป็นมรดกโลก เช่นเดียวกับ ปราสาทหินในกลุ่มราชมรรคา โดยปราสาทหินพนมรุ้งเป็นหนึ่งในปราสาทหินขอมของไทยที่มีชื่อเสียงมากที่สุด และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัดบุรีรัมย์ รวมถึงเป็นภาพพื้นหลังตราสัญลักษณ์ของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดอีกด้วย

‘คุณหญิงต้น’ เผยภาพเข้าเฝ้า ‘สมเด็จพระเทพฯ’ ขณะเสด็จฯ เยือนกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

(16 พ.ค. 67) ‘คุณหญิงต้น-ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี’ เผยภาพเฝ้าทูลละอองพระบาท ‘สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี’ และร่วมรับประทานอาหารกับพระองค์ ระหว่างที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อทรงเยี่ยมชมวิทยาลัยแฮริส แมนเชสเตอร์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และจะทรงเข้าร่วมการประชุมเชิงวิชาการ ในหัวข้อ ‘ประวัติและคติของลัทธิปศุปตะ : หลักฐานเดิมและการวิจัยใหม่’ ณ วิทยาลัยออลโซลส์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

พร้อมกันนี้คุณหญิงต้นยังลงแคปชั่น เฝ้าทูลละอองพระบาทสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กราบพระบาทในโอกาสเสด็จฯ เยือนสหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 10-14 พฤษภาคม 2567 ตามด้วยแฮชแทก #สิริมงคลชีวิต #รักที่สุด #พระบารมีปกเกล้า #ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

#CelebOnline #สมเด็จพระเทพ #พระเทพ #เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหราชอาณาจักร #ลอนดอนอังกฤษ #คุณหญิงต้น #ปิยาภัสร์ภิรมย์ภักดี #ตระกูลกฤดากร #ข่าวซุบซิบ #ข่าวไฮโซ

2 มิถุนายน ของทุกปี ‘วันส้มตำสากล’ ตอกย้ำเมนูสุดแซ่บจากแดนสยาม ที่สร้างชื่อเสียงกระฉ่อนโลก พร้อมสถานะสำคัญ ภายใต้บทเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก ใน 'กรมสมเด็จพระเทพฯ'

‘ส้มตำไทย’ อร่อยไม่แพ้ชาติใดในโลกจริง ๆ อร่อยจนนานาชาติยกย่องให้เป็นอาหารสากล และให้วันที่ 2 มิถุนายน กำหนดเป็น ‘วันส้มตำสากล’ หรือ International Somtum Day อีกด้วย

ทั้งนี้ ‘ส้มตำ’ เป็นอาหารปรุงมาจากการทำตำส้ม คือการทำให้เปรี้ยว ในลาวเรียกว่า ’ตำหมากหุ่ง‘ โดยนำมะละกอดิบที่สับแล้วฝานหรือขูดเป็นเส้นมาตำในครกเป็นหลัก พร้อมด้วยวัตถุดิบอื่น ๆ เช่น มะเขือเทศลูกเล็ก, มะเขือสีดา, มะเขือเปราะ, พริกสดหรือพริกแห้ง, ถั่วฝักยาว กระเทียม และปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ น้ำปลา และมะนาว

โดยส่วนผสมและเครื่องปรุงต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ส้มตำมีรสเผ็ด เค็ม และเปรี้ยว โดยในภาคอีสานนิยมส้มตำรสเผ็ดเค็ม ส่วนไทยภาคกลางนิยมรสเปรี้ยวหวาน ซึ่งนิยมรับประทานกับข้าวเหนียวและไก่ย่าง โดยในบางครั้งรับประทานกับขนมจีน เส้นเล็กลวก เส้นหมี่ และแคบหมู

ซึ่งร้านส้มตำส่วนใหญ่มักขายอาหารอีสานอื่นด้วย เช่น ซุบหน่อไม้, อ่อม, ลาบ, ก้อย, แจ่ว, ปลาแดกบอง, น้ำตก, ซกเล็ก, ตับหวาน, ไก่ย่าง, คอหมูย่าง, พวงนม, กุ้งเต้น (ก้อยกุ้ง) และข้าวเหนียว

นอกจากนี้ ‘ส้มตำ’ ยังเป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ทั้งเนื้อร้องและทำนองขึ้นใน ปี พ.ศ. 2513 โดยมี ‘อ.ประยงค์ ชื่นเย็น’ เป็นผู้เรียบเรียงดนตรี

ต่อมาเพลงพระราชนิพนธ์ส้มตำได้ถูกอัญเชิญมาขับร้องโดย ‘พุ่มพวง ดวงจันทร์’ ราชินีเพลงลูกทุ่งไทยในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 ซึ่งก็ทำให้เพลงนี้เป็นที่รู้จักกว้างขวาง ก่อนที่จะถูกนำมาขับร้องบันทึกเสียงโดย ‘สุนารี ราชสีมา’ ที่เป็นอีกหนึ่งเวอร์ชันอมตะของบทเพลงพระราชนิพนธ์ส้มตำเพลงนี้ นอกจากนี้ทางวงคาราบาวก็เคยอัญเชิญเพลงส้มตำไปร้องในคอนเสิร์ตอยู่บ่อยครั้ง รวมถึง ‘ต่าย อรทัย’ ที่ก็มีการอัญเชิญเพลงนี้มาขับร้องด้วย

สำหรับบทเพลงพระราชนิพนธ์ส้มตำใน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีเนื้อร้องดังนี้

ต่อไปนี้จะเล่า            ถึงอาหารอร่อย
คือส้มตำกินบ่อย        รสชาติแซ่บจัง
วิธีการก็ง่าย            จะกล่าวได้ดังนี้
มันเป็นวิธี            วิเศษเหลือหลาย

ไปซื้อมะละกอ            ขนาดพอเหมาะเหมาะ
สับสับเฉาะเฉาะ        ไม่ต้องมากมาย
ตำพริกกับกระเทียม        ยอดเยี่ยมกลิ่นอาย
มะนาวน้ำปลาน้ำตาลทราย    น้ำตาลปีปถ้ามี

ปรุงรสให้เยี่ยมหนอ        ใส่มะละกอลงไป
อ้อ อย่าลืมใส่            กุ้งแห้งป่นของดี
มะเขือเทศเร็วเข้า        ถั่วฝักยาวเร็วรี่
เสร็จสรรพแล้วซี        ยกออกจากครัว

กินกับข้าวเหนียว        เที่ยวแจกให้ทั่ว
กลิ่นหอมยวนยั่ว        น่าน้ำลายไหล
จดตำราจำ            ส้มตำลาวเอาตำรามา
ใครหม่ำเกินอัตรา        ระวังท้องจะพัง

ขอแถมอีกนิด            แล้วจะติดใจใหญ่
ไก่ย่างด้วยเป็นไร        อร่อยแน่จริงเอย...

‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ พระราชทานพระราชวโรกาส ‘ครู-นักเรียน’ เข้าเฝ้า ก่อนเดินทางร่วมแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ ประจำปี 2567

เมื่อวานนี้ (20 มิ.ย. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘สืบสาน รักษา ต่อยอด’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

“วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๗ เวลา ๐๙.๐๐ น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา รองประธานมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ นำนักเรียนที่จะเดินทางไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ ประจำปี ๒๕๖๗ พร้อมด้วยคณาจารย์และผู้เกี่ยวข้อง เฝ้าฯ กราบถวายบังคมลา”

“ต่อจากนั้น ทรงเป็นองค์ประธานการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๖๗ ของคณะกรรมการมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์”

กฟผ. น้อมสำนึกพระมหากรุณาธิคุณ กรมสมเด็จพระเทพฯ เตรียมจัด '70 พรรษา 7 โครงการเฉลิมพระเกียรติ'

(3 ม.ค.68) กฟผ. น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดทำโครงการ '70 พรรษา 7 โครงการเฉลิมพระเกียรติ' มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ในปี 2568 ถือเป็นปีมหามงคลที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน 2568 กฟผ. จึงจัดทำโครงการ '70 พรรษา 7 โครงการเฉลิมพระเกียรติ' เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ดังนี้

1) โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยจัดหาและปลูกรักษาพืชหายากสมุนไพรท้องถิ่น รวมถึงเพาะขยายพันธุ์แจกจ่ายกล้าไม้และเมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่น เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพรอบเขื่อนและโรงไฟฟ้าของ กฟผ. 17 แห่ง 

2) โครงการแว่นแก้วเฉลิมพระเกียรติ ออกหน่วยให้บริการตรวจวัดสายตา ประกอบแว่นตารวม 35,000 อัน 

3) โครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เบอร์ 5 กำลังผลิตรวม 70 กิโลวัตต์ ให้แก่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ในพื้นที่ห่างไกล 

4) โครงการเพิ่มคุณภาพอากาศในโรงพยาบาล โดยติดตั้งนวัตกรรมระบบหมุนเวียนและบำบัดอากาศ (City Tree) ภายในโรงพยาบาล 7 แห่ง เพื่อลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และกำจัดเชื้อโรค ไวรัส แบคทีเรีย 

5) โครงการส่งเสริมประสิทธิภาพพลังงาน โดย กฟผ. จะดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานใน 3 ระบบ ได้แก่ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบปรับอากาศ และระบบทำความร้อนของมูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และโรงพยาบาลภายใต้มูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล รวม 3 แห่ง 

6) โครงการสนับสนุนชุดนักเรียนเบอร์ 5 ให้แก่โรงเรียนในพระราชูปถัมภ์ฯ โรงเรียน ตชด. และโรงเรียนในโครงการด้วยรักและห่วงใย จำนวนทั้งสิ้น 7,000 ชุด 

7) กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ณ เขื่อนสิรินธร ระหว่างวันที่ 28 – 30 มีนาคม 2568 

โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้ง 7 โครงการ มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ส่งเสริมการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสนองพระราชปณิธานและถวายความจงรักภักดี 'เจ้าฟ้านักพัฒนา' ของปวงชนชาวไทย

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงรับทูลเกล้าฯ ถวาย ปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก ม. เเห่งชาติสิงคโปร์

ทรงพระเจริญ

มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่กรมสมเด็จพระเทพฯ  

เมื่อวันที่ (8 ม.ค. 68) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายทาร์มัน ชันมูการัตนัม (Tharman Shanmugaratnam) ประธานาธิบดีสิงคโปร์ และนาย Tan Eng Chye อธิการบดีมหาวิทยาลัยเเห่งชาติสิงคโปร์ เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ณ ทำเนียบประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐสิงคโปร์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top