Tuesday, 22 April 2025
กรมสมเด็จพระเทพ

‘ไก่ มีสุข’ เคลื่อนไหว!! ถวายกำลังใจ ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ ขอ ‘เคารพ รัก ศรัทธาเหนือเกล้า’ ไม่เปลี่ยนแปลง

ทำเอาเหล่าดาราศิลปิน คนดังวงการบันเทิงเริ่มออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง หลังทนเห็นพฤติกรรมของ ‘นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์’ หรือ ‘ตะวัน’ นักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มทะลุวัง ป่วนขบวนเสด็จ ‘สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี’ ไม่ไหว จนต้องพร้อมใจกันติดแฮชแท็ก #น้อมถวายกำลังใจ

ล่าสุดอดีตผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ‘ไก่ มีสุข คุณดิลกชัยพัฒน์’ ได้ออกมาโพสต์ภาพวาดลายเส้น กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ของอาจารย์คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อราชวงศ์ของไทย พร้อมข้อความว่า

"ไม่เคยเปลี่ยนใจ ไม่เคยหวั่นไหว ไม่เคยลังเล ที่จะรัก ศรัทธา และเคารพเหนือเกล้า ไม่ได้เบาปัญญา ไม่ใช่หลงงมงาย ใช้การศึกษาหาข้อมูล ทำงานข่าวมาจะชั่วชีวิต เป็นนักข่าวผู้ประกาศสายราชสำนักมา 2 ปี รู้ดีมากกว่าที่เป็นข่าว >> ว่าชวงศ์ไทยทำอะไรบ้าง #เคารพธงชาติไทย #ชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ #ฉันเกิดในรัชกาลที่เก้า เข้าโรงหนังก็ยังยืนเคารพจนจบเพลง ค่ะ"

นอกจากนี้ ‘ไก่ มีสุข’ ยังออกมาโพสต์ภาพวาดกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พร้อมข้อความว่า "Save #เรารักสถาบันพระมหากษัตริย์" ท่ามกลางประชาชนเข้ามาถูกใจและกดอิโมจิรูปหัวใจสีม่วงให้รัว ๆ

‘ลุงซาเล้ง’ เล่าความประทับใจ ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ ทรงรถซาเล้งพ่วงข้าง เผย สุดแสนปิติ ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตเคยได้ถวายงานเป็นพลขับให้พระองค์ท่าน

(17 ก.พ. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘มูลนิธิชัยพัฒนา’ ได้โพสต์ภาพเก่าเล่าเรื่อง เป็นภาพที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรถซาเล้งพ่วงข้าง คงเป็นภาพที่อยู่ในความประทับใจของใครต่อใครหลายคน

… แต่ใครจะรู้ว่าภาพดังกล่าวเกิดขึ้นจากเมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรและทรงติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิของมูลนิธิชัยพัฒนา ณ โรงเรียนบ้านเกาะสาหร่ายชัยพัฒนา ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2552

ด้วยภูมิศาสตร์ของโรงเรียนตั้งอยู่บนเกาะ การเดินทางซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนบนเกาะสาหร่ายจึงใช้รถมอเตอร์ไซค์และรถซาเล้งพ่วงข้างในการเดินทาง เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ได้ประทับรถซาเล้งพ่วงข้างเฉกเช่นสามัญชนทั่วไป โดยมีคนท้องถิ่นนำรถของตนน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นรถพระที่นั่งขณะทรงงานบนเกาะ พร้อมทั้งถวายงานเป็นพลขับเพราะคุ้นชินและชำนาญพื้นที่

นายนาซาด หมัดตุกัง หรือ ‘คุณลุงขับซาเล้ง’ ที่เห็นในภาพ เคยถ่ายทอดความประทับใจที่ได้ถวายงานในวันนั้น ว่า…

“ขณะร่วมทาง พระองค์ได้ทรงสอบถามทุกข์สุขของชาวบ้าน พูดคุยอย่างเป็นกันเอง… ส่วนรถซาเล้ง ชาวบ้านละแวกนั้นจะเรียก ‘รถพระเทพฯ’ ...และหากถามถึงความรู้สึก ก็ตื่นเต้นมาก บอกไม่ถูก ผมเป็นมุสลิม เคยไปอยู่มาเลย์ แต่ก็กลับมาอยู่เมืองไทย เมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน ไม่มีปัญหา คนเกาะอยู่กันสุขสบาย… ที่นี่เจริญขึ้นมาก เจ้าเหยียบเมืองตรงไหนก็เจริญ”

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจากเฟซบุ๊ก : มูลนิธิชัยพัฒนา
https://www.facebook.com/chaipattanafoundation/posts/801975968639531?ref=embed_post

‘อดีตบิ๊กข่าวกรอง’ ชี้!! คนสันหลังหวะออกมาดิ้นพล่าน หลังปวงชนชาวไทย พร้อมใจใส่เสื้อสีม่วงทั้งแผ่นดิน

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 67 นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Nantiwat Samart’ ระบุว่า…

“สะดุ้งเป็นแถวๆ

ปวงชนชาวไทยที่รักพระเทพฯ สวมเสื้อสีม่วงทั้งแผ่นดิน ทำเอาคนสันหลังหวะดิ้น ออกมากระแนะกระแหน

ยืนยันว่า การกดแตรไล่รถขบวนเสด็จฯ เป็นการคุกคามหาเรื่อง ไม่ใช่เสรีภาพหรือสิทธิเท่าเทียม
ขบวนเสด็จฯ ถือเป็น VVIP ไม่ใช่แค่รถนำขบวนทั่วไป ตำรวจต้องถวายอารักขาให้ปลอดภัย จากการก่อการร้าย การประทุษร้าย

พวกเดียวกันหาทางช่วย ร้องเรียกหาหลักฐานความผิด เรื่องเล็กอย่าทำให้เป็นเรื่องใหญ่ นี่คือเกมเดินสามขา เกมในสภาฯ ประสานนอกสภาฯ ด้วยความช่วยเหลือจากเอ็นจีโอ และทูตต่างชาติ ประเทศไหนไม่บอก

ยอมให้ฝรั่งปั่นหัว เพื่อประโยชน์ฝรั่ง ตกเป็นขี้ข้าต่างชาติ รับเงินต่างชาติ ความขัดแย้งในชาติที่มีฝรั่งชักใย สุดท้าย ไทยจะเป็นยูเครน ใครจะได้ประโยชน์?

คนไทยเป็นคนใจอ่อน ไม่ชอบความรุนแรง ไม่อยากให้คนในชาติเผชิญหน้ากัน ทั้งๆ ที่อีกฝ่ายเต้นก๋าๆ ท้าต่อย ท้าตี คนไทยทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ต้องกลัวการเผชิญหน้า”

1 มีนาคม พ.ศ. 2556 ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ เสด็จฯ ‘ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา’ จังหวัดน่าน ตามติดโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตคนพื้นที่ให้ ‘กินดี-อยู่ดี’

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556 ​สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จไปยังศูนย์ภูฟ้าพัฒนา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน โดยมีนายโชติ ตาชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายประยุทธ หล่อสุวรรณศิริ รองอธิบดีกรมป่าไม้ นางเปรมพิมล พิมพ์พันธุ์ ผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้ นายฐิติพันธ์ จูจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ นายนิทรรศ เวชวินิจ  ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 สาขาแพร่ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่จังหวัดน่านเฝ้าฯ รับเสด็จ

โดยมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่คณะทำงานศูนย์ภูฟ้าพัฒนาฯ ได้ถวายรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการฯ และโอกาสนี้นายประยุทธ หล่อสุวรรณศิริ รองอธิบดีกรมป่าไม้ ได้ถวายรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการปลูกป่าร่วมกับไม้เศรษฐกิจแทนการทำเกษตรเชิงเดี่ยว บริเวณพื้นที่ป่าต้นน้ำ โรงเรียน-บ้านสบปืน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และโครงการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่บ้านสบปืน การแก้ปัญหาสารพิษ และการปรับพื้นที่นาขั้นบันได บ้านห้วยกานต์ ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ณ ห้องประชุมศูนย์ภูฟ้าพัฒนา

อย่างไรก็ตาม บ่อเกลือเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดน่าน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำน่าน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าลั๊วะ มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีอาชีพหลัก คือ การปลูกข้าวไร่และการหาของป่า เนื่องด้วยพื้นที่เพาะปลูกอยู่ตามไหล่เขาลาดชัน อีกทั้งยังทําไร่หมุนเวียนต้องถางและเผาป่า ส่งผลให้ป่าไม้ ดิน และน้ำเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ผลิตข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภคและไม่มีอาชีพเสริมที่จะสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว นอกจากนี้ยังประสบปัญหาสุขภาพอนามัย มีความยากลำบากในการดำรงชีวิต

จนเมื่อปีพ.ศ. 2542 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี) มีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ภูฟ้าพัฒนาขึ้น ณ ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน โดยมีพระราชประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอต่อการบริโภค ยกระดับรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นพร้อม ๆ กับการฟื้นฟูพื้นที่ป่าและสภาพแวดล้อมของชุมชน

‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ อัญเชิญพระราชดำรัส ‘ในหลวง ร.9’ "ปลูกป่าในใจคน" หวังคนไทยให้ความสำคัญในแหล่ง 'ดิน-น้ำ-ป่า' สืบต่อไป

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2560 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานและเปิดการสัมมนา ‘รักษ์ป่าน่าน’ ครั้งที่ 3 ณ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต.ผาสิงห์ อ.เมือง จ.น่าน โดยโครงการ ‘รักษ์ป่าน่าน’ มีสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้อำนวยการโครงการ ร่วมกับกองทัพบก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยมีธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้สนับสนุนและประสานงานโครงการ โดยได้นำเสนอผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา รวมทั้งนำเสนอแนวคิด แนวทางปฏิบัติ พร้อมทั้งหาทางฟื้นฟู จัดการให้ประชาชนชาวน่านได้ประกอบอาชีพและอยู่กินกับป่าได้โดยไม่ทำลายป่า ตลอดจนปลูกจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนได้รักษาธรรมชาติป่าไม้

ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายเรื่อง ‘พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ไทย’ โดยมีความตอนหนึ่งว่า...

"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จไปตามที่ต่างๆ ของประเทศโดยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาต่างๆ ตามไปด้วย ทั้งกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตร ชลประทาน ที่ดิน และกรมแผนที่ทหาร เพราะความผาสุกของราษฎรจะทำโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่ได้ เช่นเดียวกับป่าไม้ที่จะเจริญได้ต้องมีน้ำ มีความชุมชื้น มีดินดี มีปุ๋ย

"สมัยก่อนการทำมาหากินในป่าไม่ค่อยมีปัญหา ปัญหามาเกิดเมื่อออกลูกออกหลาน เกิดการย้ายถิ่นฐาน และโอกาสที่จะทำลายป่าไม้ก็มีมากขึ้น ในยุคต่อมามีการสัมปทานป่าไม้ มีการตัดไม้แต่ก็ปลูกทดแทน ดังนั้น 30 ปีมานี้ ป่าที่เห็นบางแห่งก็ไม่ใช่ป่าตามธรรมชาติ"

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตรัสว่า มีโอกาสฟังเรื่องราวเมื่อต้นรัชกาลในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากถ้อยคำบอกเล่าโดยนายแก้วขวัญ วัชรโรทัย อดีตเลขาธิการ สำนักพระราชวัง เรื่องจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ต้นยางนาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จยังจ.ประจวบคีรีขันธ์โดยรถไฟ ระหว่างทางผ่าน อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรีซึ่งมีต้นยางจำนวนมาก จึงมีพระกระแสรับสั่งให้นำต้นยางมาไว้ในป่าสาธิตภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ซึ่งเป็นต้นกำเนิดการอนุรักษ์พันธุ์พืชหายากที่อาจถูกทำลายในประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีศูนย์ศึกษาการพัฒนา 6 แห่ง ที่เกิดจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กระจายอยู่ตามภาคต่าง ๆ ดังนี้ 1.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา 2. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี 3. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี 4. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร 5. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ 6. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส

"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้เวลาศึกษาแต่ละโครงการอย่างจริงจัง เข้าถึงปัญหาของราษฎร เช่น ทรงประทับอยู่ จ.นราธิวาสและทรงขับรถไปทรงงานด้วยพระองค์เอง เป็นการปูพรมเรื่องการรักษาป่าและดินในทุกหมู่บ้าน ทรงให้ความสำคัญกับการปลูกป่าในใจคน คือต้องสอนตั้งแต่เด็กในเรื่องการอนุรักษ์ป่า สอนว่าป่าไม้มีประโยชน์อย่างไร เมื่อเขาเข้าใจชาวบ้านก็จะช่วยกันดูแลป่าไม้"

โดยสรุปคือ ทรงเน้นย้ำถึงความสำคัญของแหล่งดินแหล่งน้ำ พัฒนาคนในประเทศให้สุขภาพดี มีการศึกษา ประชาชนก็มีกำลังเพื่อพัฒนาประเทศชาติสืบไป

12 มีนาคม พ.ศ. 2558 ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ ทรงพระราชทานพระราโชวาทแก่บัณฑิต ม.พะเยา “การงานใดจะสำเร็จลุล่วงได้ ต่อเมื่อทุกคนรู้รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน”

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยพะเยา ประจำปีการศึกษา 2556 ณ หอประชุมพญางำเมือง มหาวิทยาลัยพะเยา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา 

ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราโชวาทความว่า…

“การจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ เพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้มีความรู้ทางวิชาการขั้นสูง และสามารถใช้ความรู้นั้นประกอบอาชีพการงานสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่ตน แก่ส่วนรวมได้ บัณฑิตในฐานะที่ได้สำเร็จการศึกษาในระดับสูง จึงต้องตั้งใจนำความรู้ที่เล่าเรียนมาไปใช้ประกอบกิจการงานให้บังเกิดผล แต่การที่จะทำงานให้บรรลุถึงความสำเร็จได้จริงนั้น สำคัญที่แต่ละคนจะต้องรู้หน้าที่ของตนและรับผิดชอบต่อหน้าที่นั้นอย่างจริงจังหนักแน่น กล่าวคือ ในการปฏิบัติกิจการงาน บัณฑิตจะต้องทำความเข้าใจให้ทราบชัดว่า ตนมีหน้าที่อะไรแล้วตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ทั้งปวงจนสำเร็จลุล่วงด้วยความเอาใจใส่ พร้อมทั้งพยายามปรับปรุงพัฒนางานในหน้าที่ให้ดีขึ้นเจริญขึ้นอยู่เสมอ เมื่อทุกคนรู้หน้าที่และรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน การงานทุกอย่างที่ทำก็จะสำเร็จผลอย่างมีประสิทธิภาพ และผลสำเร็จอันเกิดจากการปฏิบัติงานของแต่ละคนนั้น นอกจากจะอำนวยประโยชน์ให้แก่ตนเองแล้ว ยังประกอบเกื้อกูลกันเป็นความเจริญก้าวหน้าของส่วนรวมด้วย จึงขอให้บัณฑิตทุกคนรู้หน้าที่ของตนและรับผิดชอบต่อหน้าที่อย่างเคร่งครัดจะได้สามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ที่แท้จริงและยั่งยืนให้แก่ตนเองและส่วนรวมได้สืบไป”

ต่อจากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงหล่อพระเกศพระพุทธรูปนาคปรก ส.ธ. ประจำมหาวิทยาลัยพะเยา ณ มหาวิทยาลัยพะเยา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา

14 มีนาคม พ.ศ. 2565 ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ ทรงแสดงปาฐกถาในการประชุมวิชาการฯ ด้านสิ่งแวดล้อม “การพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องใส่ใจระยะยาว เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน”

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 65 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา เสด็จออก ณ วังสระปทุม ทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านสิ่งแวดล้อม ‘The 3rd International Conference on Environment, Livelihood, and Services 2022’ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์ ตามที่ได้พระราชทานพระราชานุมัติ ให้มูลนิธิชัยพัฒนา

โดยโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, หน่วยงานราชการ และภาคเอกชน จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 14 - 16 มีนาคม 2565 เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการจัดการน้ำเสียด้วยวิธีทางธรรมชาติตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเปิดโอกาสให้นักวิจัยและนักศึกษา ได้แสดงผลงานวิจัย และสร้างเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม

ในการนี้ ทรงแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง ‘การเปลี่ยนแปลงของโลก และการช่วยเหลือให้ประชาชนพึ่งพาตนเอง ผ่านโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของมูลนิธิชัยพัฒนา’ โดยทรงเน้นย้ำว่าถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ทั่วโลกหยุดชะงักลงชั่วคราว แต่ช่วยให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดน้อยลง การพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องให้ความใส่ใจระยะยาว เพื่อเป้าหมายที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้จากการที่ทรงก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา และโครงการด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่มูลนิธิฯ ดูแลอยู่ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ, โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ล้วนเป็นโครงการที่ดำเนินการในระดับท้องถิ่น แต่ส่งผลระดับนานาชาติ

ในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มูลนิธิชัยพัฒนา ยังจัดตั้ง ‘กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด-19 (และโรคระบาดต่าง ๆ)’ ขึ้น เพื่อจัดซื้อและจัดหาอุปกรณ์รวมทั้งนวัตกรรมทางการแพทย์ ช่วยเหลือโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ รวม 122 แห่งใน 56 จังหวัด รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนปลูกพืชอาหารเพื่อการบริโภค นับว่าเป็นการพึ่งพาตนเองได้อีกทางหนึ่ง”

การประชุมครั้งนี้ มีหัวข้อสำคัญ ได้แก่ การปรับตัวและจัดเตรียมทรัพยากรธรรมชาติ, การเตรียมความพร้อมรับภัยธรรมชาติและมลภาวะแวดล้อม , เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม และด้านสังคม มีวิทยากรพิเศษ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง จากต่างประเทศ ร่วมบรรยาย อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

16 มีนาคม พ.ศ. 2564 ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ ทรงพระราชทานพระราโชวาทหัวข้อ ‘นักวิทยาศาสตร์ตัวน้อย’ “การฝึกให้เด็กมีอุปนิสัยช่างสังเกต-ค้นคว้า จะทำให้เด็กเจริญเติบโตด้วยความเข้าใจ”

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2564 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ ห้องประชุม อาคารหอพระสมุดส่วนพระองค์ วังสระปทุม ทรงเปิดงานสัมมนาวิชาการ ‘ครบรอบ 10 ปี โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทยกับการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ โดยถ่ายทอดสดผ่านสื่อออนไลน์อิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ โดยเป็นการปรับรูปแบบในการจัดงานช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิค-19

เนื่องในโอกาสนี้ พระองค์ทรงพระราชทานพระราชดำรัสเปิดการสัมมนาและทรงปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ ‘บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยกับการศึกษาเพื่อความยั่งยืน’ ความตอนหนึ่งว่า “การฝึกให้เด็กมีอุปนิสัยช่างสังเกต เฝ้าค้นคว้าหาคำตอบของปัญหาด้วยตนเอง ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เด็กเจริญเติบโตด้วยความเข้าใจสิ่งที่พบเห็นรอบตัวอย่างมีเหตุผล และมีวิจารณญาณ ทั้งอนุบาลและประถม

“บางทีการที่จะไปเรียนในโรงเรียนไกลๆ พ่อแม่ก็จะเป็นห่วง ไม่สามารถกลับได้ก็ต้องอยู่โรงเรียนประจำ ทำให้ กศน.ก็จะขยายและไปสอนที่นั่น ก็จะเอาโครงการคล้ายๆ บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ไปสอนในระดับประถม เด็กมีวุฒิภาวะดีมาก และก็ช่างสังเกตเกี่ยวกับเรื่องป่าไม้ เกี่ยวกับเรื่องสิ่งรอบตัวเราดีมาก”

“เรามองเห็นว่าเราจะสามารถขยายไปในระดับประถมได้ แต่การศึกษาในระดับประถมศึกษาที่เราอยากจะขยายนั้นมิใช่ของง่าย เยอรมันเองเค้าก็มองว่าทำได้ แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย ของไทยก็มีปัญหา ระดับประถมนี้จะมีหลักสูตรแน่นอน เพราะฉะนั้นก็จะสอนตามหลักสูตรเหมือนกันทั่วประเทศ

“ส่วนอนุบาลมีหลักสูตรแน่นอน จะสอนอะไรก็ได้ มันก็เข้ากับโครงการนี้ แต่ระดับประถมยากตรงนี้ ตรงที่มีหลักสูตรตายตัว แต่ว่ามาในยุคนี้ หลักการของการสอนก็ต้องมีชั่วโมงที่เหมือนกันว่า ไม่ต้องทำตามหลักสูตร เพราะว่ามันแข็งเกินไป อาจจะนำมาใช้สอนอะไรชนิดที่สร้างสรรค์ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปได้ตามบริบทของท้องที่”

จากนั้นทรงทอดพระเนตรการบรรยายผ่านโปรแกรมออนไลน์ จาก ดร.ไมเคิล ฟริซ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศเยอรมนี และ นางซิบลี ไซเดอร์ ผู้อำนวยการโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศออสเตรเลีย พร้อมกันนี้ รองศาสตราจารย์คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย กราบบังคมทูลเบิกผู้แทน 8 ภาคี เข้ารับพระราชทานบันทึกข้อตกลง (MOA) ประกอบด้วยผู้แทนจากมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด และบี.กริม (B.Grimm) ซึ่งเป็นบันทึกข้อตกลงที่ทำต่อเนื่องมาเป็นฉบับที่ 3 ที่ทำร่วมกับมูลนิธิบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศเยอรมนี (Haus der Kleinen Forscher) โดยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒดำเนินการในการรับและส่งสัญญาณออนไลน์จากที่ต่างๆ ถ่ายทอดให้ผู้ที่เข้าร่วมงานได้รับชม โดยมีผู้นำเครือข่ายท้องถิ่นและคณะทำงานของโครงการกว่า 3,500 คน จาก 238 เครือข่ายทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรม

รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา กล่าวว่า โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2553 ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อปลูกฝังนิสัยรักวิทยาศาสตร์และทักษะทางวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กปฐมวัย โดยเริ่มต้นมีโรงเรียนเข้าร่วมเพียง 221 โรงเรียน ปัจจุบันขยายผลสู่ 29,129 โรงเรียน ใน 238 ผู้นำเครือข่ายท้องถิ่นแล้ว ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ได้ขยายโครงการไปทั่วประเทศ อีกทั้งมีองค์ความรู้ด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ปฐมวัยเพิ่มขึ้นมากมาย

ทั้งนี้ จากความสำเร็จในการวางรากฐานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้กับโรงเรียนอนุบาลไปทั่วประเทศแล้ว ยังมีการเผยแพร่โครงการสู่ระบบครอบครัวโดยได้จัดทำรายการโทรทัศน์ ‘บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย’ เป็นรายการวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย นำเสนอในรูปแบบการ์ตูนแอนิเมชั่น ที่สอดแทรกการทดลองวิทยาศาสตร์ที่เข้าใจง่าย และมีการทดลองวิทยาศาสตร์ในหลายรูปแบบ เพื่อสร้างฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้ลงลึกสู่ครอบครัวมากขึ้น ผู้ปกครองได้ร่วมทดลองไปกับเด็กๆ ซึ่งเป็นการปลูกฝังให้เด็กรุ่นใหม่รักและเห็นว่าวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องที่น่าเบื่อ และยังสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กกล้าคิด กล้าทำ กล้าพูด

โดยออนแอร์ทุกวันอาทิตย์ทางสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย รวมถึงได้มีการจัดงานเทศกาลวันบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ร่วมงานครบรอบ 107 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 26 มี.ค.67 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ร่วมงานครบรอบ 107 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ในช่วงหนึ่งนั้นพระองค์ทรงพระราชทานพระราชดำรัสว่า…

"ขอขอบคุณทุกท่าน ที่นอกจากจะมาร่วมงานในวันนี้แล้ว ยังมาร่วมอวยพรวันเกิด เรื่องสุขภาพสำคัญที่สุด ซึ่งเป็นไปตามวัย ขณะนี้ยังเดินไหว แต่เดินเร็วไม่ค่อยดี หมอบอกห้ามล้ม ต้องค่อย ๆ เดิน ทุกคนเป็นกำลังใจให้พยายามรักษาสุขภาพให้ดี เวลานี้มีกิจการงานต่าง ๆ มากขึ้น แต่ความจำไม่ค่อยดี ต้องบันทึกไว้เข้าใจช้า แม้ถึงอายุจะเยอะกันแล้ว แต่ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ รวมทั้งได้ทำสิ่งที่มีประโยชน์ ช่วยเหลือผู้อื่นและตนเอง มีอะไรก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน"

๒ เมษายน วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา ก่อนจะทรงเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาทรงสำเร็จการศึกษาและได้รับปริญญามหาบัณฑิตจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2529

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระปรีชาสามารถในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอักษรศาสตร์และดนตรีไทย พระองค์ทรงอนุรักษ์ ส่งเสริม และให้การอุปถัมภ์ในด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศ จนได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระสมัญญาว่า ‘เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย’ และ ‘วิศิษฏศิลปิน’ ซึ่งต่อมา คณะรัฐมนตรียังมีมติให้วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี เป็น ‘วันอนุรักษ์มรดกของชาติ’ เพื่อเทิดพระเกียรติที่พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในด้านการอนุรักษ์มรดกของชาติในสาขาต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการศึกษา การพัฒนาสังคม โดยทรงมีโครงการในพระราชดำริส่วนพระองค์หลายหลากโครงการ อาทิ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2523 ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ในจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ก่อนจะขยายออกไปยัง 44 จังหวัดในพื้นที่ทุรกันดาร

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้น ในวาระวันคล้ายวันพระราชสมภพ ประชาชนชาวไทยจึงขอน้อมถวายพระพร ขอทรงมีพลานามัยแข็งแรงยิ่งยืนนาน ทรงพระเจริญ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top