พล.ต.ท ไตรรงค์ ผิวพรรณ พูดถึง ‘ผู้กองอุ้ม’

“ผมได้ฟังน้องพนักงานสอบสวน ‘ผู้กองอุ้ม’ พูดถึงปัญหาของพนักงานสอบสวนแล้ว ผมเข้าใจเลย น้องไม่ต้องกังวลนะครับ ว่าสิ่งที่น้องพูดจะเป็นปัญหากับความเจริญก้าวหน้าของการรับราชการ เพราะน้องนำเสนอความจริงที่เป็นปัญหามาอย่างยาวนานในวงการตำรวจเรา และกิริยาท่าทางตลอดจนเนื้อหาที่น้องพูด มีความสุภาพอ่อนน้อม สมกับเป็น ผู้กองหญิง ที่มีวุฒิภาวะ เป็นที่พึ่งของประชาชน สะท้อนปัญหาให้ผู้บังคับบัญชาได้รับทราบ ยิ่งทราบว่าน้องเคยได้รับรางวัลตำรวจต้นแบบมาแล้ว ผมเชื่อว่าน้องอุ้ม จะต้องเติบโตและจะมีส่วนในการพัฒนาสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เป็นที่พึ่งของประชาชนต่อไป

ปัญหาพนักงานสอบสวนขาดแคลนนั้น นอกจากการที่ต้องปรับอัตรากำลังพล ให้เหมาะสมกับปริมาณงานแล้ว ปัญหาพนักงานสอบสวนหนีไปช่วยราชการหรือไม่ยอมรับคดี โดยอ้างว่าไม่ได้ทำสำนวนมานานแล้ว (ในกรณีถูกแต่งตั้งกลับมาในสายงานสอบสวน) โดยการทำให้พนักงานสอบสวนกลุ่มนี้ กลับมารับคดี ทำสำนวนการสอบสวน จะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนได้เร็วที่สุด ซึ่งตามคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว พนักงานสอบสวนทุกคน จะต้องรับคดี มีสำนวนการสอบสวนในความรับผิดชอบ จึงจะสามารถเบิกเงินประจำตำแหน่ง และรับรองผลการปฏิบัติงานการสอบสวนประจำปีได้ (เพื่อใช้ในการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งสูงขึ้น ในสถานีตำรวจหรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน)

ในเรื่องนี้ผู้บังคับบัญชาในระดับ กองบัญชาการ และกองบังคับการ ที่กำกับดูแลสถานีตำรวจ จะต้องจริงจังกับคำสั่งดังกล่าวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในช่วงที่ผมเคยดำรงตำแหน่ง รอง ผบช.น. (สอบสวน) ได้พยายามดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว สามารถพาน้องๆ พนักงานสอบสวนกลับบ้าน (มารับคดี ทำสำนวน) กว่า 80 คน โดยเฉพาะของ บก.น.4 พ.ต.อ.สุพล ค้ำชู รอง ผบก.น.4 ได้ดำเนินการอย่างเข้มข้น พาน้อง ๆ กลับมาได้ถึง 30 คน

สำหรับกลุ่มที่ทำสำนวนการสอบสวนไม่คล่องแล้ว เนื่องจากทิ้งมานาน หัวหน้างานฯ/หัวหน้าสถานี จะต้องจัดพี่เลี้ยงให้ เข้าเวรคู่กัน และให้ช่วยฝึกทำสำนวน โดยให้เริ่มทำสำนวนคดีที่ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน เช่น คดีศาลแขวงฯ คดีไม่รู้ตัว คดีเสพฯ หรือครอบครองยาเสพติด เป็นต้น โดยไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง รอง ผกก. (สอบสวน) หรือ สว. (สอบสวน) ก็ตาม ต้องมีสำนวนในความรับผิดชอบ แต่ผู้บังคับบัญชา ก็ต้องให้ความเห็นใจ/ใส่ใจ/ให้โอกาส กลุ่มนี้ด้วยนะครับ อย่าคิดว่าเขาไม่อยากทำงาน

และอีกหนึ่งประเด็น ในปัจจุบันคดีความต่างๆ มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถทำการสอบสวนได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย ท่าน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้ทราบปัญหา ซึ่งอยู่ในระหว่างการแก้ไข คำสั่งต่าง ๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

สำหรับแนวคิดในเรื่องการเจริญเติบโตในสายงานสอบสวน ถ้ามีโอกาสจะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันต่อไปครับ”

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ
10 ก.พ. 2567