Saturday, 29 June 2024
WORLD

หญิงอังกฤษประกาศเลิกโคฟเวอร์เป็น ‘ควีน’ เพื่อถวายความอาลัยต่อพระองค์ หลังทำมานาน 34 ปี

หญิงชาวอังกฤษวัย 89 ปี ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการแต่งกายเลียนแบบสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ประกาศ 'ยุติบทบาท' ที่ทำมา 34 ปี เพื่อถวายความเคารพและความอาลัยต่อองค์พระประมุขที่เธอรู้สึกว่าเป็นเหมือน 'คนในครอบครัว'

แมรี เรย์โนลด์ส (Mary Reynolds) ซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองเอปปิง มณฑลเอสเซกซ์ เริ่มหัดโคฟเวอร์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถตั้งแต่ปี 1988 ทว่าอันที่จริงมีคนเคยบอกเธอตั้งแต่อายุ 17 ปีว่า “รูปร่างหน้าตาคล้ายควีนมาก”

ความเหมือนโดยบังเอิญนี้เองทำให้เธอได้รับโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในภาพยนตร์และซีรีส์หลายเรื่อง รวมถึงภาพยนตร์แอ็กชันคอมเมดี้ในปี 1990 เรื่อง Bullseye ที่มีพระเอกคนดังอย่าง 'เซอร์ โรเจอร์ มัวร์' ร่วมแสดงด้วย

เรย์โนลด์ส บอกกับสำนักข่าว PA ว่าเธอรู้สึกโชคดีที่เกิดมาหน้าตาคล้ายควีน แต่วันเวลาแห่งการรับบท 'ควีนตัวปลอม' ของเธอได้สิ้นสุดลงแล้ว

'ปูติน' พบปะหารือ 'สี จิ้นผิง' กระชับความร่วมมือต่อต้านชาติตะวันตก

'ปูติน' พบหารือ 'สี จิ้นผิง' วันพฤหัสบดี (15 ก.ย. 65) ในเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ยูเครน พร้อมกันนั้น กองทัพเรือ 2 ประเทศยังร่วมซ้อมรบทางยุทธวิธีในมหาสมุทรแปซิฟิก ทางด้าน 'เซเลนสกี' ครวญเมืองและหมู่บ้านมากมายที่ชิงกลับมาได้ถูกกองกำลังรัสเซียทำลายเสียหายหนัก ขณะที่เมืองใหญ่เมืองหนึ่งกำลังเร่งซ่อมระบบประปาและเขื่อนที่ถูกขีปนาวุธมอสโกโจมตี

ทั้งนี้ ครีวีริห์ เมืองใหญ่ที่สุดในภาคกลางของยูเครนที่มีประชากรราว 650,000 คนช่วงก่อนสงคราม รวมทั้งเป็นเมืองเกิดของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนด้วย ถูกโจมตีด้วยจรวดร่อน 8 ลูกเมื่อวันพุธ (14 ก.ย. 65)

เซเลนสกี กล่าวระหว่างปราศรัยทางวิดีโอว่า หนึ่งในเป้าหมายที่ถูกโจมตีคือเขื่อนคาราชูนอฟ ซึ่งไม่มีความสำคัญทางทหาร แต่เป็นที่พึ่งพิงในชีวิตประจำวันของพลเรือนนับแสน

ด้าน โอเลคซานดร์ วิลกุล ผู้บัญชาการคณะบริหารทางทหารเมืองครีวีริห์ โพสต์บนเทเลแกรมว่า บ้านเรือน 112 หลังถูกน้ำท่วม แต่เจ้าหน้าที่กำลังเร่งซ่อมแซมเขื่อนบนแม่น้ำอินฮูเล็ตส์ และน้ำที่ท่วมลดลงแล้ว

ในวันพุธ เซเลนสกียังเดินทางไปยังเมืองอีเซียม โดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า เมืองนี้เคยเป็นที่มั่นสำคัญของทหารรัสเซียในแตว้นคาร์คิฟ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครน จนกระทั่งเมื่อ 4 วันก่อนหน้านั้นที่กองทัพรัสเซียถูกเคียฟตอบโต้กลับสายฟ้าแลบจนต้องถอยร่นออกไป

ผู้นำยูเครนเผยว่า เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายได้รับหลักฐานการฆาตกรรม ทรมาน และลักพาตัวชาวยูเครนโดยทหารรัสเซีย รวมถึงหลักฐานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนยูเครน

ทั้งนี้ รัสเซียยืนกรานปฏิเสธมาตลอดว่า ไม่ได้พุ่งเป้าทำร้ายพลเรือน

วิดีโอการปราศรัยของเซเลนสกีเผยแพร่ออกมา หลังจากที่เจ้าตัวเดินทางกลับถึงกรุงเคียฟ และมีรายงานข่าวว่ารถยนต์ที่นั่งมาชนกับรถของพลเรือน กระนั้น เซียร์ฮี นิกิโฟรอฟ โฆษกประธานาธิบดี โพสต์บนเฟซบุ๊กว่า เซเลนสกีไม่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงแต่อย่างใด

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย พบหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ที่เมืองซามาร์กันด์ ประเทศอุซเบกิสถาน ระหว่างที่ผู้นำทั้งสองต่างเข้าร่วมการประชุมซัมมิตขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ในวันพฤหัสฯ และวันศุกร์ ทั้งนี้เครมลินระบุว่า การพบหารือระหว่าง ปูติน กับ สี ครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง

ก่อนการพบกันดังกล่าว กองทัพเรือของ 2 ประเทศ เข้าร่วมซ้อมรบทางยุทธวิธีที่มีการใช้จรวดและเฮลิคอปเตอร์ในมหาสมุทรแปซิฟิก

ระหว่างการพบปะกันของ ปูติน กับ สี เมื่อตอนเดือนกุมภาพันธ์ ไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่รัสเซียจะ 'ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร' ในยูเครน ทั้งสองฝ่ายประกาศความร่วมมือกันแบบ 'ไร้ขีดจำกัด' และหลายเดือนที่ผ่านมา ต่างฝ่ายต่างแสดงความสนับสนุนกันและกันในการเผชิญหน้ากับตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ ในกรณียูเครนและไต้หวัน พร้อมคำมั่นในการยกระดับความร่วมมือเพื่อต่อต้านฝ่ายตะวันตก

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวทางการทูตคือ ในวันศุกร์ (16 ก.ย.) สมัชชาใหญ่สหประชาชาติ จะพิจารณาข้อเสนอของเซเลนสกี้ที่ต้องการร่วมปราศรัยในการประชุมสุดยอดประจำปีในสัปดาห์หน้าโดยจะส่งเป็นวิดีโอที่บันทึกล่วงหน้า ซึ่งทางฝ่ายรัสเซียไม่เห็นด้วย

'โรเจอร์ เฟเดอเรอร์' ประกาศแขวนแร็กเก็ต หลังมีอาการบาดบริเวณหัวเข่าเจ็บเรื้อรัง

โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ สุดยอดนักหวดลูกสักหลาดระดับตำนานชาวสวิส ประกาศแขวนแร็กเก็ตอย่างเป็นทางการ ปิดฉากเส้นทางเทนนิสอาชีพในวัย 41 ปี ยุติเส้นทาง 24 ปีเต็มบนสังเวียน

อดีตนักหวดหมายเลข 1 ของโลกเจ้าของแชมป์แกรนด์สแลม 20 สมัย ประสบปัญหาอาการบาดเจ็บเรื้อรังที่บริเวณหัวเข่าทำให้ไม่ได้ลงแข่งขันเลยในช่วงปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดเจ้าตัวประกาศผ่านโซเชียลมีเดียถึงการตัดสินใจเลิกเล่นกีฬาดังกล่าวอย่างเป็นทางการ

"เป็นการตัดสินใจที่อันแสนยากลำบาก เพราะผมกำลังจะพลาดการแข่งขันทุกอย่างที่ผมเคยผ่านมันมาตลอด ขณะเดียวกันยังมีอะไรอีกหลายอย่างให้เฉลิมฉลอง ผมเล่นเทนนิสมามากกว่า 1,500 แมตช์ ตลอดระยะเวลา 24 ปี ตอนนี้ถึงเวลายุติการแข่งขันในอาชีพนักแข่ง ผมรักคุณ และจะไม่มีวันทิ้งคุณ"

"ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ผมต้องต่อสู้กับปัญหาอาการบาดเจ็บ การผ่าตัด อย่างที่ทุกคนทราบ และผมพยายามอย่างมากที่จะกลับมาแข่งขันด้วยร่างกายที่สมบูรณ์ แต่ผมทราบดีถึงขีดจำกัดของร่างกาย มันส่งสัญญาณเตือนผมมาตลอดว่ามันถึงปลายทางของอาชีพนักเทนนิส"

WHO เผย 'โควิด-19' ใกล้ถึงจุดสิ้นสุดแล้ว ย้ำ!! อย่าการ์ดตก - ควรฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง 100%

(15 ก.ย. 65) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า องค์การอนามัยโลกระบุว่า ทั่วโลกไม่เคยเข้าใกล้จุดสิ้นสุดของโรคโควิด-19 เท่านี้มาก่อน ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิดมายาวนานหลายปี จนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 6 ล้านคนทั่วโลก

ดร. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการขององค์การอนามัยโลก กล่าวในงานแถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์เมื่อวันพุธตามเวลาในสวิตเซอร์แลนด์ว่า ตอนนี้การระบาดของโรคโควิดยังไม่จบสิ้น แต่เริ่มมองเห็นจุดจบของโรคโควิดแล้ว ทั่วโลกยังคงจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อคว้าโอกาสในครั้งนี้ไว้ เฉกเช่นนักวิ่งมาราธอนที่ไม่หยุดวิ่งแม้มองเห็นเส้นชัยที่ใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ แต่จะวิ่งให้เร็วขึ้นด้วยพลังทั้งหมดที่มีอยู่ ทั่วโลกก็ไม่ควรการ์ดตกแม้มองเห็นจุดจบของโรคโควิดที่ใกล้เข้ามา เพราะหากเป็นเช่นนั้น สถานการณ์ระบาดก็จะย่ำแย่ลง

พ่อแม่ชาวจีน ฟ้องศาลขอค่าเลี้ยงดูจากลูก 5 แสนหยวน ทั้งที่ทอดทิ้งไปตั้งแต่ 2 ขวบ - ไม่เคยส่งเสียเลี้ยงดู

พ่อแม่จีนยื่นฟ้องศาลบังคับให้ลูกสาวที่ตัวเองทอดทิ้งไปตั้งแต่เด็ก ๆ จ่าย 'ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา' เป็นเงิน 500,000 หยวน หลังจากเธอปฏิเสธที่จะออกเงิน 'ซื้ออพาร์ตเมนต์' ให้น้องชาย

หญิงสาวแซ่ 'จาง' วัย 29 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองกว่างโจว ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งตั้งแต่อายุ 2 ขวบ เนื่องจากไม่มีเงินเลี้ยง และได้รับการอุปการะโดยคุณป้าของเธอซึ่งเธอเคารพรักเสมือนแม่แท้ ๆ ในขณะที่พ่อแม่ตัวจริงแทบไม่เคยติดต่อหาเธอเลย

แต่เมื่อไม่นานมานี้ จาง ได้ใช้เงินเก็บของเธอซื้ออพาร์ตเมนต์ให้ลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่ง และเมื่อพอพ่อแม่ของเธอทราบข่าว พวกเขาก็รีบปรากฏตัวทันที และเรียกร้องให้เธอซื้ออพาร์ตเมนต์ให้ 'น้องชาย' แท้ ๆ ด้วยอีกคน

เมื่อ จาง ปฏิเสธ พ่อแม่ที่ไม่เคยเลี้ยงดูเธอก็โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง และไปยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อบังคับให้เธอจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาเป็นเงิน 500,000 หยวน หรือประมาณ 2.6 ล้านบาท

'สี จิ้นผิง' ร่วมประชุมสุดยอดผู้นำ SCO คาด!! อาจมีการหารือนอกรอบกับ 'วลาดิมีร์ ปูติน'

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน 2565 กล่าวว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เดินทางถึงเมืองซามาร์กันด์ของประเทศอุซเบกิสถานเมื่อวันพุธ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (เอสซีโอ) ครั้งที่ 22 ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว

องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (เอสซีโอ) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2544 ในฐานะองค์กรทางการเมือง, เศรษฐกิจ และความมั่นคงที่เป็นคู่แข่งกับชาติตะวันตก โดยประกอบด้วยจีน รัสเซีย, อินเดีย, ปากีสถาน และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียกลางซึ่งแยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียตเดิม

สีจิ้นผิงได้เข้าร่วมประชุมหารือกับประธานาธิบดีชัฟคัต มีร์ซีโยเยฟ และนายกรัฐมนตรีอับดุลลา โอรีพอฟ ของอุซเบกิสถาน โดยสำนักข่าวซินหัวกล่าวว่า ประเด็นหารือเกี่ยวข้องกับการเพิ่มความร่วมมือทวิภาคี เพื่อประโยชน์ร่วมกันในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ

รัฐพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ การแสดงออกถึงความนับถือจากปวงชนชาวอังกฤษ

เรื่อง: อนุดี เซียสกุล อดีต Radio Journalist, วิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย

รัฐพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ ของอังกฤษเริ่มขึ้นในวันพุธที่ ๑๔ กันยายนตามเวลาในกรุงลอนดอนคือ ๑๔.๒๒ น.

ขบวนเริ่มด้วยทหารรักษาพระองค์ที่เรียกว่า The Household Cavalry, The Grenadier และ Scots Guards ในเครื่องแบบเต็มยศงดงามนำขบวน ตามด้วยรถปืนใหญ่ที่มีแต่ล้อและรางสำหรับวางหีบพระบรมศพ หลังรถพระบรมศพ เป็นขบวนที่นำโดยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓, เจ้าหญิงแอนน์, เจ้าชายแอนดรูว์ และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เสด็จพระราชดำเนินตาม ในแถวถัดไปคือ เจ้าชายวิลเลียม, เจ้าชายแฮรี่ และพระราชวงศ์ใกล้ชิดพระองค์อื่น ๆ

นอกจากพระราชวงศ์แล้ว ในแถวถัดไปเป็นข้าราชบริพารที่สนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระราชินีนาถ และข้าราชบริพารของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นเจ้าชายมกุฎราชกุมารร่วมด้วย ขบวนพระบรมศพไม่ยาวนัก เพื่อให้ท่านเห็นภาพชัดเจน บนหีบพระบรมศพคลุมด้วยธงประจำพระองค์ คือ Royal Standard, มีพระมหามงกุฎ ชื่อ The Imperial State Crown และดอกไม้ที่สมเด็จพระราชินีทรงโปรดวางอยู่บนธงเช่นกุหลาบขาว (เมื่อพระบรมศพขึ้นตั้งในเวสต์มินสเตอร์ฮอลล์แล้วจะมีลูกโลกและคทา มาวางเพิ่ม)

ขบวนพระบรมศพเคลื่อนออกจากพระราชวังบัคกิ้งแฮมตรงตามเวลาที่กำหนด สองข้างทางของถนนที่ชื่อว่า The Mall อันเป็นถนนหน้าพระราชวังเนืองแน่นไปด้วยประชาชนหากแต่เงียบกริบ ได้ยินแต่เสียงฝีเท้าของเหล่าทหารรักษาพระองค์

การนำเสด็จพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ ไปตั้งเป็นรัฐพิธีที่ 'เวสต์มินสเตอร์ ฮอลล์' (Westminster Hall) จะผ่านเส้นทางที่เป็นใจกลางกรุงลอนดอนซึ่งนักท่องเที่ยวจะรู้จักกันดี, เช่นผ่าน ตึกขาวสองข้างทางที่เรียกว่า Whitehall, Horse Guards Arch เข้าสู่ Parliament Square

สถานที่ที่เรียกว่า Westminster Hall นี้เป็นห้องโถงที่ใหญ่มากมีเพดานที่สร้างด้วยไม้ขนาดใหญ่มาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๑ แต่รอดพ้นไฟไหม้มาถึงสองครั้งและที่นี่เคยเป็นพระราชวังมาก่อนคือ Westminster Palace

เมื่อขบวนพระบรมศพมาถึงสถานที่ที่จะตั้งแล้ว ทหารพระจำพระองค์ได้เคลื่อนพระบรมศพไปยังแท่นที่ตั้ง, อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี  ซึ่งเทียบได้กับสมเด็จพระสังฆราชได้ทำพิธีทางศาสนาและพระผู้ใหญ่คนอื่น ๆ

ภายในห้องโถงนี้มีเหล่าขุนนาง นายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้าน, นักการเมืองระดับสูงจากสกอตแลนด์, เวลส์ และแขกอีกจำนวนมากยืนเรียงรายรอบ ๆ ห้องโถงอย่างเงียบสงบ เมื่อพิธีทางศาสนาและทางทหารเสร็จสิ้นลงแล้ว พิธีสุดท้ายคือ การยืนประจำการเฝ้าพระบรมศพทั้งสี่มุมโดยทหารรักษาพระองค์ซึ่งจะยืนก้มหน้าสงบนิ่งตลอดเวลาจนกว่าจะมีการเคลื่อนพระศพไปประกอบพิธีที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ในวันจันทร์หน้า หากแต่จะมีการผลัดเปลี่ยนตัวคนตามเวลาที่กำหนด

เจ้าของร้าน Fish&Chip โดนชาวอังกฤษถล่ม เหตุจัดงานฉลอง 'ควีน เอลิซาเบธ' สิ้นพระชนม์

สำนวนที่ว่า สำเนียงส่อภาษา กริยาส่อสกุล ใช้ได้กับทุกประเทศในโลก แม้แต่ประเทศที่ขึ้นชื่อว่า "เมืองผู้ดี" อย่างอังกฤษ เรื่องมารยาทถือเป็นสิ่งสำคัญมาก มิฉันนั้นอาจเจอเหตุการณ์ดังเช่น กับ แจ็คกี พิคเคทท์ เจ้าของร้าน Jaki Fish&Chip Shops ที่ตั้งอยู่ที่เมือง Muir of Ord ในสกอตแลนด์ ที่เกิดคึกผิดเวลา ออกมาทำคลิปวิดีโอฉลอง การสวรรคตของควีน เอลิซาเบธที่ 2 และโพสต์ลงใน Facebook 

โดยเจ้าของร้านได้ออกมาเป่าปากร้องยินดี ฉีดพ่น สเปรย์ไวน์ พร้อมชูป้ายเมนู เขียนข้อความว่า "Lizard Liz is dead" และตะโกนเสียงดังว่า "สะพานลอนดอนพินาศแล้ว" ซึ่งรหัส "สะพานลอนดอน" หมายถึงการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 

แต่หลังจากที่โพสต์คลิปพิสดารไปไม่นาน ก็มีชาวบ้านบริเวณนั้นออกมาต่อว่า ปาไข่ และ ซอสมะเขือเทศใส่ที่หน้าร้าน และได้แจ้งตำรวจให้มาควบคุมตัวเจ้าของร้านไป เหตุแสดงกิริยาไม่เหมาะสมในช่วงเวลาที่อังกฤษยังอยู่ในงานไว้อาลัยจากไปของประมุขแห่งอังกฤษ

กระแสล้มเจ้า ‘กร่อยสนิท’ หลัง ‘ควีน’ สวรรคต ด้านโพลชี้ความนิยม 'กษัตริย์ชาร์ลส์ 3' พุ่ง 63%

ความโศกเศร้าอาลัยที่คนอังกฤษมีต่อการจากไปของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทำให้กระแสต่อต้านราชวงศ์อังกฤษซบเซาลงไปถนัดใจ โดยแม้แต่กลุ่ม Republic ที่ต้องการเปลี่ยนอังกฤษไปสู่ระบอบสาธารณรัฐก็ยังออกมาแสดง “ความเสียใจ” และประกาศงดรณรงค์ล้มเจ้าชั่วคราว

ตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่ทรงครองสิริราชสมบัติ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นที่รักและเคารพทั้งต่อพสกนิกรในอังกฤษและผู้คนทั่วโลก และการเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันของพระองค์ทำให้อังกฤษทั้งประเทศตกอยู่ในความโศกเศร้า

ผลสำรวจโดย YouGov พบว่า คนอังกฤษ 44% “ร้องไห้” เมื่อได้ยินข่าว breaking news ว่าสมเด็จพระราชินีนาถไม่อยู่กับพวกเขาอีกแล้ว

กลุ่มที่ต้องการล้มล้างราชวงศ์ยังคงเป็นประชากรส่วนน้อยมากในอังกฤษ โดยโพล YouGov เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ตอบคำถามแค่ 22% เท่านั้นที่อยากจะได้ประมุขรัฐที่มาจากการเลือกตั้ง เทียบกับ 62% ที่ต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ต่อไป

ฝ่ายที่กระตือรือร้นอยากให้อังกฤษเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐคาดหวังกันมานานว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านรัชสมัยจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ไปสู่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 น่าจะเป็นโอกาสดีที่สุดที่พวกเขาจะรณรงค์ให้คนอังกฤษส่วนใหญ่เห็นดีเห็นงามกับการล้มราชวงศ์

เมื่อวันจันทร์ (12 ก.ย.) นักเคลื่อนไหวสตรีคนหนึ่งได้ชูป้ายที่เขียนว่า ‘Not My King’ บริเวณอาคารรัฐสภาในกรุงลอนดอน ก่อนจะถูกตำรวจพาตัวออกไป ทว่าเจ้าตัวยังพอมีเวลาบอกกับนักข่าว AFP ว่า “เขาเป็นกษัตริย์โดยไม่ได้รับความเห็นชอบ และนั่นมันไม่ถูกต้อง”

ด้านกลุ่ม Republic หลังจากที่ “แสดงความอาลัย” แบบพอเป็นพิธีแล้ว ก็กลับมาเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์สถาบันต่อ ในระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ทรงได้รับการประกาศขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่

“การประกาศตั้งกษัตริย์องค์ใหม่สวนทางกับระบอบประชาธิปไตย” พวกเขาระบุ “อังกฤษเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วนับแต่มีการผลัดแผ่นดินครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1952 ในสังคมประชาธิปไตยยุคใหม่ ประมุขรัฐไม่ควรเข้ารับตำแหน่งโดยปราศจากการอภิปราย หรือการตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรม”

'ยูเรเนียม' ไอเทมลับพา 'เมียนมา' มั่งคั่งยั่งยืน ใต้การ 'โอบอุ้ม-ต่อยอด' จากพี่เบิ้มอย่าง 'รัสเซีย'

ต้องบอกว่า การที่เหล่าชาติตะวันตกต่างรุมบอยคอตเมียนมาในวันนี้ เหมือนยิ่งเป็นการผลักไสให้เมียนมาเดินเข้าไปหาจีนกับรัสเซียมากขึ้น และ 2 มหาอำนาจก็พร้อมเป็นพันธมิตรกับเมียนมาอย่างออกหน้าออกตาในที่สุดด้วย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยก็คือความสัมพันธ์อีกระดับของเมียนมากับรัสเซีย ซึ่งเดิมทั้งสองประเทศมีความร่วมมือกันเพียงเล็กน้อยในเรื่องของกองทัพและการลงทุนในธุรกิจพลังงาน แต่หลังจากการยึดอำนาจของกองทัพ นำมาซึ่งการขับไล่ไสส่งเมียนมาด้วยการบอยคอตหรือคว่ำบาตรใด ๆ จากชาติตะวันตกนั้น ได้เป็นแรงผลักให้เกิดความร่วมมือระหว่างเมียนมากับรัสเซียมากขึ้น ไม่ใช่เพียงความร่วมมือในแง่ของกองทัพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการร่วมมือในด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสาธารณสุขและการเข้ามาพัฒนาพัฒนาสาธารณูปโภคต่าง ๆ 

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นการเปิดหน้าอย่างชัดเจนด้วยว่า ขุมทรัพย์ของเมียนมาที่แท้จริงนอกจาก อัญมณีและน้ำมันแล้ว ยังมีแร่ปฏิกรณ์นิวเคลียร์อยู่ด้วย

ว่ากันว่าคนงานเหมืองทราบดีอยู่แล้วว่ามีแร่ปฏิกรณ์นิวเคลียร์อยู่ในการทำเหมืองหลาย ๆ ที่โดยเฉพาะเหมืองทองหลายแห่ง ซึ่งเคยมีรายงานถึงการค้นพบแร่ยูเรเนียม (Uranium) จากเหมืองทองกันอยู่แล้วเป็นระยะ ๆ เพียงแต่ก็ไม่เคยมีใครพูดถึงการนำแร่ยูเรเนียมมาใช้ในประเทศแต่อย่างใดก็เท่านั้นเอง

ดังนั้นการที่รัสเซียก้าวเข้ามาลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ให้นั้น จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของเมียนมา เพราะหากสร้างเสร็จจริง ประเทศเมียนมาจะมีเสถียรภาพด้านสาธารณูปโภคไฟฟ้าเพราะวัตถุดิบหาซื้อง่าย ส่วนรัสเซียก็อาจจะได้ส่วนแบ่งแร่กัมมันตภาพรังสีเหล่านี้มาใช้ในการพัฒนาอาวุธต่อก็เป็นได้

คงต้องยอมรับว่าเป็นการเดินเกมที่ผิดพลาดของชาติตะวันตก ซึ่งแทนที่จะทำให้เมียนมาอ่อนแรง แต่กลับทำให้เมียนมาแข็งแกร่งขึ้นและในวันหนึ่งอาจจะยืนได้บนขาของตนเองโดยไม่ต้องพึ่งใคร และก็ไม่มีประเทศไหนกล้าแหยมกับประเทศเล็ก ๆ นี้ เพราะแร่กัมมันตภาพรังสีในครอบครองมันพร้อมจะนำไปต่อรองกับใครก็ได้ทั้งหมด

เลือกตั้งปี 2020 ช่องโหว่ของประชาธิปไตยในสหรัฐฯ เมื่อ 'ทรัมป์' ปลุกระดมกองเชียร์ ด้วยคำอ้างว่า 'ถูกโกง'

ชาวไทยบางกลุ่มชื่นชมประชาธิปไตยแบบสหรัฐอเมริกามาก ถึงกับเอ่ยปากว่าอยากให้ประเทศไทยมีหลักการปกครองแบบเขา มาลองดูกันว่าประชาธิปไตยแบบสหรัฐฯ นี่ไปถึงไหนกันแล้ว

สหรัฐอเมริกาได้มีการปกครองในระบบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1787 (พ.ศ. 2330) โดยเลือกตั้งประธานาธิบดีเข้ารับตำแหน่งบริหารประเทศสมัยละ 4 ปี และมีสิทธิ์ปกครอง 2 สมัยหรือ 8 ปี ถ้าได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาอีก คะแนนเสียงประชาชนไม่ใช่เป็นปัจจัยที่ตัดสินผลเลือกตั้งโดยตรง เนื่องจากสมัยที่ก่อตั้งระบบการปกครองการคมนาคมและการสื่อสารยังไม่เจริญ จึงมีการแต่งตั้งกลุ่มผู้แทน (Electoral College) มาลงคะแนนเสียงแทนประชาชน จำนวนของผู้แทนคะแนนเสียง (electors) แต่ละรัฐจะขึ้นกับจำนวนประชากร รัฐไหนมีประชากรมาก จำนวนผู้แทนก็จะมากตาม รวมแล้วทั้งประเทศมีผู้แทนเสียง 570 คน พรรคเดโมแครตและพรรคริพับลิกันแบ่งกันคนละครึ่งในแต่ละรัฐ ถ้าจำนวนของผู้แทนเสียงของพรรคไหนถึง 270 ก่อน พรรคนั้นก็มีเสียงส่วนมากที่จะมีสิทธิ์เลือกประธานาธิบดี

ตั้งแต่ 'จอร์จ วอร์ชิงตัน' เข้ามารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกในปีค.ศ. 1787 (พ.ศ. 2330) การเลือกตั้งได้ถูกปฎิบัติมาอย่างราบรื่น เนื่องจากเหล่าผู้แทนเสียงทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์และผู้เข้าชิงตำแหน่งยอมรับผลโดยสดุดี การผลัดเปลี่ยนประธานาธิบดีมีแต่ความสงบและเคารพซึ่งกันและกัน แต่แล้วการเลือกตั้งในปี 2020 (พ.ศ. 2563) ก็เผยช่องโหว่ของประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา

ตั้งแต่ 'โดนัลด์ ทรัมป์' ลงสมัครประธานาธิบดีในปี 2016 (พ.ศ. 2559) เขาได้ประกาศเป็นศัตรูกับเหล่าสื่อใหญ่ของประเทศ โดยกล่าวหาว่าพวกสื่อเสนอข่าวเท็จ (fake news) เกี่ยวกับเขา และโปรโมตสื่อที่สนับสนุนเขาว่าเป็นสื่อที่น่าเชื่อถือ ประชาชนที่ชอบทรัมป์จึงไม่เชื่อสื่อที่เคยเป็นหน่วยข้อมูลของประเทศ แต่ไปเสพสื่อที่เสนอข่าวเอาใจผู้นำของตนโดยไม่ใช้วิจารณญานแยกแยะข้อเท็จจริง จนกระทั่งถึงขั้นป่วยหรือตายเพราะไปดื่มน้ำยาซักผ้าขาวป้องกันโควิด เพราะในขณะที่ทรัมป์แถลงข่าวเกี่ยวกับโรคระบาด เขาเอ่ยว่าน้ำยาซักผ้าขาวมีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อไวรัสได้ 

พระราชพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร หลังเสด็จสวรรคต

พระราชพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร หลังเสด็จสวรรคต

เรื่อง: อนุดี เซียสกุล อดีต Radio Journalist, วิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย

พระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ ของอังกฤษได้มีหมายกำหนดการที่คาดว่าจะดำเนินการตามที่บีบีซีได้รายงาน โดยเริ่มจากวันอาทิตย์ที่ ๑๑ กันยายนไปจนถึงวันที่ ๑๙ กันยายน ซึ่งจะเป็นวันฝังพระบรมศพที่โบสถ์เซนต์จอร์จในพระราชวังวินด์เซอร์

เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบในพระราชพิธีทั้งหมด ผู้เขียนขอเริ่มจากปราสาทบัลมอรัลอันเป็นสถานที่สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๘ กันยายน โดยในวันอาทิตย์ที่ ๑๑ กันยายนเวลา ๑๐ โมงเช้าจะมีการเคลื่อนพระศพโดยรถยนต์จากบัลมอรัลไปตามเส้นทางผ่านเมืองอาเบอดีน, ดันดี และเพิร์ธ เมื่อถึงเมืองปลายทางคือเอดินบะระแล้ว หีบพระบรมศพจะถูกอัญเชิญไปยังท้องพระโรงในพระราชวังฮอลีรูดเฮ้าส์ (The Palace of Holyroodhouse  ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางราว ๖ ชั่วโมง มีประชาชนมายืนไว้อาลัยตามสองข้างทางของเมืองที่ขบวนพระศพผ่านอย่างเป็นระเบียบ เจ้าฟ้าหญิงแอนน์และพระสวามีได้เสด็จมากับขบวนรถพระศพด้วย

พระราชพิธีที่เอดินบะระ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓, พระราชินีและพระราชวงศ์จะเสด็จพระราชดำเนินตามขบวนพระศพจากพระราชวังฮอลีรูดเฮ้าส์ไปยังมหาวิหาร St. Gile (เซนต์ จิลล์) เพื่อพิธีทางศาสนา หลังจากนั้นจะเปิดให้ประชาชนเข้าถวายความเคารพพระบรมศพเป็นเวลา ๒๔ ชั่วโมง

หมายกำหนดการจากนั้นในวันอังคารที่ ๑๓ เจ้าฟ้าหญิงแอนน์จะเสด็จพร้อมหีบพระศพทางเครื่องบินจากเอดินเบอระกลับสู่พระราชวังบัคกิ้งแฮมในกรุงลอนดอน

พระราชพิธีพระบรมศพอย่างเป็นทางการจะเริ่มขึ้นในวันพุธที่ ๑๔ กันยายนโดยพระราชวงศ์จะเสด็จพระราชดำเนินตามขบวนพระศพจากพระราชวังบัคกิ้งแฮมไปยัง Westminster Hall เพื่อตั้งพระบรมศพเป็นเวลาสี่วันเพื่อเปิดให้ประชาชนเข้าไว้อาลัย

หีบพระบรมศพจะตั้งอยู่บนแท่นคลุมด้วยธงประจำพระมหากษัตริย์ที่เรียกว่า Royal Standard บนหีบพระศพจะมีเครื่องราชกกุธภัณฑ์ อันได้แก่ มงกุฎ ที่เรียกว่า Imperial State Crown, คทา และลูกโลกวางอยู่

'สภาภาคยานุวัติ' ประกาศรับรองพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ 'พระเจ้าชาร์ลสที่ ๓' เป็นกษัตริย์อย่างเป็นทางการ

พระราชพิธีประกาศตั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่

พระราชวังเซนต์เจมส์เวลา ๑๐ นาฬิกาตรงตามเวลาในท้องถิ่นวันนี้ ๑๐ กันยายนจะมีพิธีสำคัญเกิดขึ้น ณ ที่นั่นคือการประกาศแต่งตั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ของประเทศอังกฤษหรือสหราชอาณาจักร

พระราชพิธีนี้มีขั้นตอนอย่างไร ขอเริ่มจากจุดที่อาจจะเล็กแต่ก็น่าสนใจ คือ ก่อนพิธีจะเริ่มขึ้น จะมีการเปลี่ยนการลดธงครึ่งเสาในการไว้อาลัยการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เก่ามาเป็นการชักธงขึ้นเสาเต็มตามปกติและจะทำเช่นนี้ไปจนถึงวันอาทิตย์จึงจะลดลงครึ่งเสาตามเดิมจนกว่าพระราชพิธีพระศพจะผ่านพ้นไป

ก่อนอื่นขออธิบายว่าพระราชพิธีประกาศแต่งตั้ง Accession Council ในวันนี้ แตกต่างจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก Coronation ซึ่งจะมีขึ้นอีกในเวลาต่อมาเพราะต้องใช้เวลาในการเตรียมการระยะหนึ่งและพิธีการนี้จะจัดขึ้นในวิหารเวสต์มินสเตอร์ ในกรุงลอนดอน

สำหรับพิธีการประกาศตั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ของอังกฤษในวันนี้เป็นเพียงพิธีประกาศพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่อย่างเป็นทางการเท่านั้น โดยคณะบุคคลที่เรียกว่า Accession Council หรือภาษาไทยเรียกว่า สภาภาคยานุวัติ กำหนดเดิมคือ ต้องทำภายใน ๒๔ ชั่วโมงหลังการสิ้นพระชนม์ แต่ในกรณีนี้เวลาได้ล่วงผ่านมาแล้ว ตามความเป็นจริงเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมาร ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ทันทีหลังการสิ้นพระชนม์ของพระมารดาแล้ว

ขั้นตอนของพิธีที่พระราชวังเซนต์เจมส์ในวันนี้จะแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ในส่วนแรก พระเจ้าชาร์ลส์ จะยังไม่เสด็จเข้าร่วม แต่จะเป็นการชุมนุมของสมาชิกสภาองคมนตรีที่มีจำนวนถึง ๗๐๐ คน แต่พิธีวันนี้อาจเชิญมาได้เพียง ๒๐๐ คน ประธานในพิธีหรือ Lord President ประธานสภาองคมนตรีคือนางเพนนี มอร์ด้อน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะอ่านประกาศการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าแผ่นดิน หลังจากนั้นเธอจะให้เจ้าหน้าที่อ่านประกาศการขึ้นครองราชย์ที่ยืนยันพระนามของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่อย่างเป็นทางการที่พระองค์ทรงเลือกก็คือ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓

หลังจากนั้นจะเป็นการลงพระนามและลงนามในคำประกาศตั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ประกอบด้วยพระราชินี, เจ้าชายมกุฎราชกุมาร, พระสังฆราชแห่งแคนเทอเบอรี่, ประธานสภาขุนนาง, อ้าทบิช็อปแห่งยอร์ก และนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

เมื่อเสร็จสิ้นการลงนามแล้ว ประธานเพนนี มอร์ด้อนจะบอกให้ที่ชุมนุมเงียบฟังคำประกาศในสาระรายละเอียดของการแต่งตั้งพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อคำประกาศสิ้นสุดลง ประธานเพนนีจะสั่งให้มีการยิงสลุตปืนใหญ่ที่สวนไฮด์ปาร์ก กลางกรุงลอนดอน และหอคอยลอนดอน พิธีการในช่วงแรกนี้ครบถ้วนแล้ว

อย่างไรก็ดียังมีพิธีการที่ต้องทำอีกอย่างคือ การอ่านคำประกาศตั้งพระเจ้าแผ่นดินที่ระเบียงที่เรียกว่า Friary Court ของพระราชวังเซนต์เจมส์อีกดัวยและจะมีการอ่านคำประกาศนี้ในเมืองเบลฟาส, คาร์ดีฟ, เอดินเบอเรอะ และสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป

ในช่วงที่สอง พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ จะเสด็จเข้ามาในห้องซึ่งจะมีเพียงคณะองคมนตรีที่พระองค์ทรงแต่งตั้งเข้าเฝ้าและพระองค์จะประกาศการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีและกล่าวระลึกถึงพระมารดาเป็นการส่วนพระองค์ ต่อจากนั้นให้คำมั่นสัญญาว่าจะซื่อสัตย์ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ พร้อมกับแสดงความหวังว่าพระองค์จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในการทรงงานเพื่อประเทศชาติ 

นอกจากนี้จะตรัสสาบานว่าจะปกปักรักษา Church of Scotland อีกด้วยเพราะการปกครองของสก็อตแลนด์ได้แยกศาสนาและการปกครองออกจากกัน และทรงลงพระปรมาภิไธยในเอกสารสองฉบับ โดยมีพระราชินีและเจ้าชายมกุฎราชกุมารเป็นพยานพร้อมกับบุคคลอื่นที่อยู่ ณ ที่นั้น คณะที่ปรึกษาจะลงนามด้วยในระหว่างที่ทูลลาจากพิธี เป็นการเสร็จสิ้นพิธีการประกาศตั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ของอังกฤษอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ดีตามรายงานข่าวพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ได้ทรงพระกรุณาพระราชอนุญาตให้มีการถ่ายทอดสดพิธีนี้ทางโทรทัศน์ด้วยเป็นครั้งแรก

เลือกบทไหน? 'ผู้สนับสนุน' หรือ 'ผู้ต่อต้านการก่อการร้าย' บทบาทไทยต่อเมียนมาที่ต้องเลือกชั่งน้ำหนักให้ดี

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2547 ในตอนนั้นมีข่าวดังข่าวหนึ่งระบุว่า หน่วยงานความมั่นคงของไทยโชว์หลักฐานเด็ด ซึ่งเป็นวีซีดีการประชุม 'พรรคปาส' จากฝ่ายค้านมาเลย์ โจมตีว่าไทยอยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่กรือเซะ-ตากใบ อีกทั้งในแผ่นซีดีดังกล่าว ยังมีหลักฐานชัดเจนว่า พรรคปาสเป็นผู้สนับสนุนโจรใต้ให้ทำการแบ่งแยกดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยอีกด้วย  

เหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้รัฐบาลมาเลย์ถึงกับต้องรีบออกมาปฏิเสธเป็นพัลวันว่าไม่เคยสนับสนุนกองกำลังแบ่งแยกดินแดนในประเทศไทย

ตัดภาพกลับมาที่ปัจจุบัน ล่าสุดเมื่อวานนี้ (9 ก.ย.) มีข่าวจากสำนักข่าว Chindwin News Agency ของเมียนมาลงว่า กองกำลังต่อต้านทหารเมียนมาได้รับอาวุธสนับสนุนอาวุธมาจากไทย  

โดยอาวุธดังกล่าวทางกองกำลังต่อต้านทหารเมียนมา จะนำมาเพิ่มศักยภาพในการสู้รบกับกองทัพเมียนมา ซึ่งเอย่ามองว่า จากข่าวนี้หากชาวโลกมองไทยว่าเป็นผู้สนับสนุนการก่อการร้าย อย่างที่เคยเกิดเหตุกับไทย-มาเลย์มาก่อนในอดีต ก็คงไม่จะผิดนัก

ดังนั้น จากข่าวนี้ คงต้องขอฝากให้ฝ่ายความมั่นคงของไทยทำงานให้หนักแล้ว เพราะถึงแม้การข่าวจากฝ่ายความมั่นคงที่ไปตรวจสอบเรื่องการรับสมัครทหารของกลุ่ม Burma Ranger Force และพบว่าเรื่องทั้งหมดไม่ได้เป็นเรื่องจริง รวมถึงกรณีการประกาศรับสมัครกองกำลังติดอาวุธ ซึ่งได้ตรวจสอบจากเพจของกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา ก็ไม่พบว่ามีการเผยแพร่เกี่ยวกับประกาศดังกล่าวแต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่ชัดเจนว่ากลุ่ม FBR (Free Burma Rangers) เป็นผู้จัดทำด้วยหรือไม่

แต่ขณะเดียวกันทางสำนักข่าว Chiangmai News ก็ลงพื้นที่ไปยังบ้านดังกล่าวแล้วพบว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นอาคารพาณิชย์เป็นที่ทำการของ 'มูลนิธิฟรี เดอะ โอเพรซท' (Free the Oppressed Foundation) หรือ FTO ซึ่งสนับสนุนงานของ FBR และทางมูลนิธิฟรี เดอะ โอเพรซท อ้างว่า FBR เป็นขบวนการเพื่อมนุษยธรรมจากหลายเชื้อชาติ ที่ทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือ ความหวัง และความรักแก่ผู้คนในเขตความขัดแย้งของพม่า อิรัก และซูดาน รวมไปถึงยังทำงานร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่สนับสนุนประชาธิปไตยในท้องถิ่น และประสานงานกับทีมบรรเทาทุกข์เอนกประสงค์ที่เคลื่อนที่ การรักษาพยาบาลฉุกเฉินที่สำคัญ ที่พักพิง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และเอกสารด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 

>> หากแต่ก็มีภาพที่เป็นกองกำลังของ Free Burma Ranger ซึ่งมีสัญลักษณ์ที่แขนถืออาวุธปรากฏลงในภาพข่าวที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2014 ใน The Daily Beast ด้วย

ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า Free Burma Ranger คือ กองกำลังติดอาวุธที่ได้รับการช่วยเหลือจากเงินทุนของอเมริกาและเงินจากกลุ่มคริสต์จักรในไทย โดยอ้างว่าเงินดังกล่าวนำมาใช้เพื่อสันติภาพ แต่ความเป็นจริงมีการดำเนินกิจกรรมการฝึกกองทัพต่อต้านรับบาลมานานแล้วนั่นเอง

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงเสด็จสวรรคตอย่างสงบ

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ แห่งราชวงศ์อังกฤษ เสด็จสวรรคตอย่างสงบที่ปราสาทบัลมอรัลในสก๊อตแลนด์ เมื่อตอนบ่ายของวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๕ พระชนม์พรรษา ๙๖ ปี ทรงครองราชย์สมบัตินานที่สุดของราชวงศ์อังกฤษ

บีบีซีได้ประกาศข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ ตามเวลาในประเทศไทยเมื่อ หนึ่งนาฬิกา ๑๘ นาที ในคำแถลงของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ที่ตรัสว่า...

"การสวรรคตของสมเด็จพระมารดาอันเป็นที่รักยิ่งของข้าพเจ้าเป็นเวลาที่เศร้าโศกที่สุดสำหรับข้าพเจ้าและพระราชวงศ์ทุกพระองค์ เราไว้อาลัยกับการจากไปของพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและพระมารดาอันเป็นที่รักยิ่ง ข้าพเจ้ารู้ดีว่าการสวรรคตของพระองค์คงเป็นความรู้สึกของคนทั้งประเทศ ตลอดจนประเทศในเครือจักรภพและคนทั่วโลก"

ในคำแถลงของสำนักพระราชวังบัคกิ้งแฮมกล่าวว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ และพระราชินีจะประทับที่ปราสาทบัลมอรัลในตอนเย็นวันที่ ๘ กันยายนและจะเสด็จกลับกรุงลอนดอนในวันรุ่งขึ้น

ก่อนที่จะมีการแถลงข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ ๒ นั้น ได้มีรายงานข่าวของบีบีซีภาคภาษาอังกฤษออกมาตามเวลาในอังกฤษประมาณบ่าย ห้าโมงเย็นของวันที่ ๘ กันยายน โดยคำแถลงของสำนักพระราชวังบัคกิ่งแฮมได้อ้างถึงความกังวลของคณะแพทย์ในพระพลานามัยของสมเด็จพระราชินีหลังจากการประเมินผลการตรวจในตอนเช้า จึงขอพระราชทานให้อยู่ภายใต้การดูแลของคณะแพทย์

อย่างไรก็ดีในคำแถลงของสำนักพระราชวังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า The Queen is “confortable”. หรือสมเด็จพระราชินีทรงสบายดี

แม้ว่าในคำแถลงเพิ่มเติมอาจจะทำให้เห็นว่าสมเด็จพระราชินีไม่ได้ประชวรหนัก แต่ปรากฏการที่พระโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์เสด็จไปเฝ้าที่ปราสาทบัลมอรัลในสก๊อตแลนด์เมื่อเย็นวานนี้ก็ทำให้เกิดความห่วงใยในพระพลานามัยของประมุขของประเทศอังกฤษเช่นกัน

เจ้าชายชาร์ลส์และพระชายาและเจ้าหญิงแอนน์ได้ประทับอยู่ที่บัลมอรัลอยู่แล้ว แต่การเสด็จของเจ้าชายแอนดรูและเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดพระราชโอรสอีกสองพระองค์รวมทั้งพระนัดดาอีกสองพระองค์คือเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮรี่ ทำให้เห็นว่าการที่คณะแพทย์ขอให้สมเด็จพระราชินีอยู่ภายใต้การถวายการรักษานั้นอาจหมายถึงการเฝ้าระวังพระพลานามัยอย่างใกล้ชิด

รายงานข่าวของบีบีซีได้ตั้งข้อสังเกตในคำแถลงของสำนักพระราชวังบัคกิ้งแฮมครั้งนี้ว่า ค่อนข้างจะผิดแผกแตกต่างกับที่ผ่านมาเพราะมักจะเลี่ยงการพูดถึงพระสุขภาพของสมเด็จพระราชินีด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นเรื่องส่วนพระองค์ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top