Monday, 1 July 2024
SPECIAL

เรื่องที่คนเก่งควรรู้ ก่อนตกหลุมพราง ฝึกเข้าใจคน พื้นฐานสำคัญในการนำไปสู่ความมั่นคง ความสำเร็จ และความสุขอย่างแท้จริง

ทุกวันนี้มีแต่คน อยากเป็นคนรวย อยากเป็นคนเก่ง และอยากเป็นคนประสบความสำเร็จ แต่น้อยนักที่จะมีคน อยากเป็นคนที่เข้าใจคน แปลกไหม ทั้งๆ ที่การเข้าใจคน คือพื้นฐานสำคัญในการนำไปสู่ความมั่นคง ความสำเร็จ และความสุขอย่างแท้จริง

ศาสตร์ของการพัฒนาคนมีให้ศึกษาอยู่ทั่วไป แต่ละแนวคิดมีปรัชญาที่น่าสนใจแตกต่างกันไป สำหรับผู้เขียนไปสะดุดหูกับปรัชญา “ขงจื้อ” ซึ่งเน้นในเรื่องการเข้าใจคน โดยใช้คุณธรรมนำชีวิต มาเป็นแก่นการสร้างความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตแบบยั่งยืน

ขงจื้อ ได้กล่าวไว้ว่า วิกฤตชีวิตเกิดขั้น 4 ช่วง ถ้าใครรู้เรื่องนี้จะเข้าใจชีวิตและบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างชาญฉลาด ถ้าพร้อมแล้ว มาดูกันค่ะว่ามีอะไรบ้าง

• ช่วงแรก - ช่วงวัยรุ่น อายุ 13-25 ปี

ถ้าคนฝึกจิตมาดีแล้ว ย่อมไม่หมกมุ่นเรื่องกามารมณ์

ช่วงนี้เป็นช่วงฮอร์โมน กำลังพลุ่งพล่าน เสี่ยงต่อการหลงผิด คิดผิด พูดผิด ทำผิด ถ้ารู้ไม่เท่าทันก็อาจถูกกระแสสังคมชักจูงได้ง่าย เช่น คิดว่าการเสพยาเสพติดเป็นเรื่องเท่ การมีเพศสัมพันธ์กับหลายคนเป็นเรื่องธรรมดา หรือมีความคิดว่าการทำเรื่องผิดศีลธรรมได้เป็นเรื่องธรรมดา ใครๆ ก็ทำกัน ต้องคอยระมัดระวังในการคบเพื่อน และการเสพสื่อต่างๆ ควรคัดกรองให้ดีเสียก่อน

• ช่วงที่สอง - ช่วงวัยทำงาน อายุ 25 - 40 ปี

ถ้าคนฝึกจิตมาดีแล้ว ย่อมหลีกเลี่ยงการทะเลาะกับผู้อื่น

ช่วงนี้เป็นช่วงความคิดกำลังพลุ่งพล่าน มีความมั่นใจในตัวเองสูง ใช้ศักยภาพที่มี มุ่งสู่เป้าหมายในชีวิต มีความทะเยอทะยาน อยากได้อยากมีสูง เสี่ยงต่อการทะเลาะเบาะแว้ง ขัดแย้งกับบุคคลรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือคนในครอบครัว ทำให้มีความสัมพันธ์ไม่ดีกับผู้อื่น และอาจนำไปสู่ความหลงผิดคิดสบายทางลัด คิดกลโกง การแย่งชิงในรูปแบบต่าง ๆ ทิฐิมานะ กิเลส ตัณหา ความโกรธ เข้ามาในชีวิตได้ง่าย พยายามคิดบวก รักษาศีล ฝึกสมาธิ รักษาใจให้ดีเข้าไว้ อย่าให้ไหลไปกับอารมณ์และความคิดลบ

• ช่วงที่สาม - ช่วงวัยกลางคน อายุ 40 - 55 ปี

คนที่ฝึกจิตมาดีแล้ว ย่อมสามารถสร้างความสำเร็จในอาชีพ เพื่อความมั่นคงในชีวิต

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องพัฒนาตัวเอง ทุกมิติ ใช้สติและความรอบคอบ ใช้การบริหารจัดการเชิงระบบ ทบทวนตัวเอง เพื่อการแก้ไขข้อผิดพลาด มุ่งเรื่องการสร้างความมั่นคงแก่ครอบครัว เพื่อให้สังคมยอมรับ เมื่อทำงานหนัก ก็จะเกิดความเครียด จึงเสี่ยงต่อการใช้ชีวิตที่ขาดสมดุล เช่น อาจทำงานจนลืมสุขภาพ ทำงานจนลืมครอบครัว ทำงานจนลืมสังคมเพื่อนฝูง มีปัญหาครอบครัวแตกแยก ช่วงนี้จึงต้องใส่ใจสุขภาพร่างกายเป็นพิเศษ ในขณะเดียวกันก็ต้องบาลานซ์ เรื่องงานกับครอบครัวให้สมดุลควบคู่ไปด้วย

จากสถิติ ช่วงวัยนี้จะมีปัญหาสุขภาพจิต และนำไปสู่การนอกใจ และมีปัญหาหย่าร้างมากที่สุด ผู้หญิงเข้าสู่วัยทอง ส่วนผู้ชายก็เข้าสู่การแปรปรวนทางอารณ์ ทั้งคู่จึงตกอยู่ในสภาวะ “วิกฤตวัยกลางคน” ถ้ารู้ไม่เท่าทัน ก็หาทางออกแบบผิดๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาครอบครัวในรูปแบบต่าง ๆ

• ช่วงที่สี่ - ช่วงสูงวัย อายุ 55 ปีขึ้นไป

คนที่ฝึกจิตมาดี ย่อมเป็นที่เคารพนับถือ สามารถรักษาทรัพย์ที่หามาได้ และส่งต่อให้แก่ลูกหลาน

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ควรทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ปล่อย ๆ วาง ๆ ใช้ชีวิตให้มีความสุขโดยไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน วางตัวควรค่าต่อการเคารพนับถือ และเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตแก่ลูกหลาน ช่วยเหลือ ให้แง่คิดมุมมองที่ดี

“ขงจื้อ” ได้กล่าวไว้ว่า ไม่ต้องกังวลว่าใครจะไม่เคารพนับถือเรา แต่ให้หันมาดูในสิ่งที่เรากำลังทำ ว่าควรค่าต่อการเคารพนับถือหรือไม่ ช่วงนี้ก็พยายามทำใจ ลดละเลิก ปล่อยวาง ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย คบเพื่อนให้น้อยลง เลือกทำในสิ่งที่มีความสุข ที่สำคัญความสุขของเราต้องไม่ทำให้ใครเดือดร้อน

จะเห็นได้ว่าการฝึกจิตให้นิ่ง มีสติ จะช่วยให้เราสามารถ ใช้ความรู้คู่คุณธรรม นำชีวิตสู่ความเจริญอย่างยั่งยืนได้

แต่ให้เข้าใจตรงกันนะคะว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร การศึกษาระดับไหน ยากดีมีจนเพียงใด ฝึกจิตมาดีแค่ไหน ก็มีสิทธิทำผิดพลาดกันทุกคน “เมื่อทำผิดพลาดก็ให้แก้ไขอย่าแก้ตัว” และ เมื่อมีการทำผิดครั้งต่อไป อนุญาตให้ผิดเรื่องใหม่ได้ แต่ห้ามทำผิดซ้ำเรื่องเดิม จะถือว่าเราไม่พัฒนา

ข่าวดีก็คือ ทุกคนสามารถสร้างความสุขและความสำเร็จในชีวิตได้เท่าเทียมกัน ด้วยการฝึกจิต

3 วิธีง่ายต่อการฝึกจิต

1.) ตั้งเป้าหมายชีวิต ในการรักษาศีล 5 อย่างตั้งใจ

2.) เป็นคนดี คิดดี พูดดี ทำดี ทำ 3 สิ่งนี้ด้วยหัวใจ

3.) ฝึกนั่งสมาธิ ให้จิตตื่นรู้ ทุกวัน

เห็นไหมคะ การใช้ชีวิตให้ดีไม่ใช่เรื่องยาก แต่คนส่วนมากไม่ค่อยทำ จงเริ่มต้นจากการเข้าใจคนค่ะ

.

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์

#Talktonitima


อ้างอิงข้อมูล: http://www.ci.au.edu/th/index.php/about/2015-08-24-11-58-20

ส่อง 5 เทศกาล ‘สายสาด’ สุดมันส์ ที่ ‘ชุ่มฉ่ำ - สะใจ’ ไม่แพ้สงกรานต์ไทย

เมื่อถึงเดือนเมษายนของทุกปี ช่วงเวลาหยุดยาวในเทศกาลสุดหรรษาอย่างสงกรานต์ ก็หวนย้อนมาเยือนให้คนไทยได้อิ่มเอมกันเสมอ ๆ

เพราะเป็นช่วงวันหยุดยาว ๆ ที่หลายคนจะถือเอาช่วงวันหยุดนี้กลับภูมิลำเนา เยี่ยมญาติมิตร และท่องเที่ยวพักผ่อนให้เต็มเหนี่ยใ

ขณะเดียวกัน คนไทยส่วนใหญ่ต่างก็ตั้งตารอ ‘สาดน้ำเล่นสงกรานต์’ กันเต็มที่ แต่ปีนี้บอกก่อนว่า ‘อดชัวร์’ อะเนาะ!! ก็อย่างว่าดัน ‘การ์ดตก’ กันถ้วนหน้า จะทำไงได้ล่ะฮิ!!

พูดให้อยากทำไม? ในเมื่อสรุปแล้ว ปีนี้เรา ๆ ท่าน ๆ คงต้องนอนเบื่ออยู่บ้านกันไปยาว ๆ (^-^)

แต่เอาน่า!! กิจกรรมชุ่มฉ่ำ ๆ ยังมีวนมาให้สัมผัสได้ทุกปีนั่นแหละ ก็ลุ้น ๆ กันไปเหมือนรอถูกหวยละกัน ว่าปีหน้าสถานการณ์โรคระบาดจะจืดจางลง ให้เทศกาลแห่งสายน้ำกลับมาสู่ชีวิตพวกเราเช่นเคย

ว่าแล้ว พอพูดถึงการสาดน้ำ คุณ ๆ ท่าน ๆ ทราบกันหรือไม่ว่า...ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยเท่านั้นที่มีเทศกาลสาดน้ำ และไม่ได้มีแต่ ‘น้ำ’ เท่านั้นที่ใช้สาดเล่นกันได้

Weekly ช่วงเทศกาลกร่อยๆ แบบนี้ เลยขอพาคุณไปรู้จักเหล่า ‘เทศกาลสายสาด’ จากต่างแดน ที่น่าสนุกจนใคร ๆ ก็ต้องอยากไปลองเล่นดูสักครั้ง (ถึงแม้จะไม่ใช่เร็ววันนี้ก็ตาม) มาแก้วันเหงา เศร้า เบื่อ และเก็บกักตัวกันไปพลาง ๆ

เอาล่ะ!! มีเทศกาลสายสาดอะไรกันบ้าง เชิญชม!!

1. เทศกาลโฮลี (Holi Festival) ประเทศอินเดีย

>> จัดทั่วประเทศอินเดีย และชุมชนชาวอินเดียขนาดใหญ่ทั่วโลก

>> จัดขึ้นในช่วงแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี เป็นเวลา2 วัน (เดือนมีนาคม)

‘สาดสี’ กับเทศกาลโฮลี อีกเทศกาลสายสาดที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ด้วยความโดดเด่นอันเป็นเอกลักษณ์ของการละเล่นที่เต็มไปด้วยสีสันสดใจ ที่ผู้คนมากมายต่างพร้อมกายพร้อมใจละเลงฝุ่นสีไปทั่วทั้งถนน อันเป็นการเฉลิมฉลองให้กับการสิ้นสุดของฤดูหนาวอันเยือกเย็นไร้ชีวิตชีวา โดยฝุ่นสีที่ใช้สาดใส่กันนั้นก็ทำมาจากธรรมชาติ อาทิเช่น ดอกทองกวาว (สีส้ม) หัวบีทรูท (สีม่วง) ขมิ้น (สีเหลือง) และสีอื่น ๆ ที่จะทำให้ทุกตารางนิ้วบนตัวคุณไม่หลงเหลือสีผิวหรือสีเสื้อผ้าเดิมอยู่เลย

ประวัติความเป็นมาของเทศกาลโฮลีนั้นไม่แน่ชัดว่าเริ่มครั้งแรกเมื่อใด แต่มีการกล่าวถึงเทศกาลนี้มีตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 4 และสันนิษฐานกันว่า เทศกาลโฮลีนี้ถือเป็นต้นกำเนิดของเทศกาลสำคัญที่พื้นที่ฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับอิทธิพลมา และปรับเปลี่ยนจากการสาดสีเป็นสาดน้ำ ซึ่งก็คือเทศกาลสงกรานต์นี่เอง ดังนั้นใครไปเล่นสาดสีที่อินเดียนี่ถือได้ว่าไปเล่นเทศกาลสาดจากดินแดนต้นตำหรับกันเลยทีเดียว

2. เทศกาลไวน์ฮาโร (Haro Wine Festival) ประเทศสเปน

>> จัดที่เมืองฮาโร แคว้นลาริโอฆา ประเทศสเปน

>> จัดขึ้นในวันที่ 29 มิถุนายนของทุกปี

‘สาดไวน์’ ไปกับเทศกาลสาดไวน์ในเมืองเล็กๆ ทางตอนเหนือของประเทศสเปนที่มีชื่อว่า ฮาโร (Haro) ในแค้วนลาริโอฆา (La Rioja) ที่จะเปลี่ยนถนนทั้งเส้นและผู้คนทั้งหมดให้อาบไปด้วยไวน์สีแดงฉานรสชาติซาบซ่า ด้วยเครื่องมือที่สารพัดจะพกมาทั้งเททั้งฉีดและสเปรย์จนกลายเป็นละอองหมอกสีแดงดูน่าตื่นตาตื่นใจ หรือจะมาเป็นรถดับเพลิงฉีดไวน์เลยก็มี ถ้าคุณคิดว่าน้ำเปล่าแช่น้ำแข็งของสงกรานต์บ้านเรายังไม่สาแก่ใจพอ ก็ต้องที่นี่แหละสุดจริง

สำหรับเทศกาลไวน์ฮาโรนั้น จัดขึ้นมาอย่างยาวนานตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 13 เพื่อเฉลิมฉลองการเข้าสู่ฤดูร้อนของชาวท้องถิ่น ซึ่งแรกๆ ก็เน้นจัดเทศกาลเพื่อดื่มกันอยู่ก่อนจะเปลี่ยนเป็นการสาดใส่กันแทน โดยเทศกาลนี้มีชื่อเรียกในภาษาสเปนว่า La Batalla Del Vino De Haro หรือสงครามไวน์ฮาโร แต่ไม่ต้องกลัวว่านี่คือการสาดของราคาแพงใส่กันให้เสียดายไวน์ เพราะแคว้นนี้ถือเป็นแหล่งผลิตไวน์ที่สำคัญที่สุดของสเปน และครัวเรือนกว่า 40% ของที่นี่เขาก็มีโรงบ่มไวน์เป็นของตนเอง ของสาดจึงมีเพียบ

3. เทศกาลโคลนโพเรียง (Boryeong Mud Festival) ประเทศเกาหลีใต้

>> จัดที่หาดแดชอน เมืองโพเรียง ประเทศเกาหลีใต้

>> วันที่จัดงาน: ช่วงสุดสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกรกฎาคม

‘สาดโคลน’ ที่ไม่ใช่แค่การสาดเสียเทเสีย เทศกาลสาดโคลนนี้ จัดขึ้นบริเวณชายหาดแดชอน (Daecheon Beach) เมืองโพเรียง (Boryeong) ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเทศกาลนี้จัดขึ้นเป็นเวลานานถึง 2 สัปดาห์ในช่วงฤดูร้อน โดยคุณจะได้สนุกไปกับการชโลมตัวในบ่อโคลน ลานมวยปล้ำ เล่นชักเย่อ กิจกรรมสาดโคลนใส่กัน พร้อมเครื่องเล่นที่สนุกสนานประหนึ่งว่านี่คือสวนน้ำกลางแจ้งอย่างไรอย่างนั้น นอกจากนี้ยังมีสปาโคลน และกิจกรรมเบา ๆ สำหรับผู้สูงอายุอีกด้วย

เทศกาลโคลนโพเรียงจัดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1998 และกลายเป็นเทศกาลที่มีชื่อเสียงเนื่องจากคุณภาพของโคลน ซึ่งเต็มไปด้วยสารอาหารที่มีคุณค่าต่อผิว จนสามารถนำไปผลิตเป็นเครื่องสำอางและวางจำหน่ายได้ นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศจึงนิยมมาสนุกสนานกับเทศกาลนี้ทุกปี จนมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 2 ล้านคน! แถมยังอยู่ไม่ไกลจากกรุงโซลเท่าไหร่นัก ใครมีโอกาสไปเที่ยวเกาหลีช่วงหน้าร้อน อย่าลืมแวะไปสาดโคลนกันนะ

4. เทศกาลปามะเขือเทศ (La Tomatina) ประเทศสเปน

>> จัดที่เมืองบูญอล แคว้นบาเลนเซีย ประเทศสเปน

>> จัดช่วงวันพุธสุดท้ายของเดือนสิงหาคม

‘สาดมะเขือเทศ’ เทศกาลสาดสุดเดือดที่มีชื่อเสียงที่สุดงานหนึ่งของสเปน เพราะเทศกาลปามะเขือเทศสุดเละเทะนี้เป็นอีกงานสายสาดสุดเกินบรรยายของเมืองบูญอล (Bunol) ในแคว้นบาเลนเซีย (Valencia) ประเทศสเปน ซึ่งจะว่าตรงๆ นี่ไม่ใช่แค่เทศกาล แต่เหมือนสงครามย่อมๆ กันเลย เพราะในแต่ละปีจะมีการสูญเสียมะเขือเทศจากการปาใส่กันมากกว่า 145 ตัน ผ่านการละเลงให้เละไปทั่วทั้งถนนที่ใช้จัดกิจกรรมสุดมันส์ ใครที่เบื่อสาดน้ำก็ลองเดินทางมาปามะเขือเทศใส่กันแทนได้ คุณก็จะได้ลิ้มรสอารมณ์ความเปียกแบบเหนอะๆ ไปอีกแบบ

ส่วนความเป็นมาของเทศกาลนี้ ก็ออกจะแหวกแนวไปสักหน่อย เพราะเพิ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1945 นี่เอง โดยปีก่อนหน้านั้นเกิดเหตุละเทาะวิวาทขึ้น และมีการใช้มะเขือเทศในแผงตลาดมาปาใส่กัน ทำให้ปีต่อมาคนเลยติดใจ จึงจัดมะเขือเทศมาปากันต่อจนถึงปัจจุบัน แต่ไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะเสียของ เพราะมะเขือเทศที่นำมาใช้ละเลงในเทศกาลนั้น เป็นพันธุ์ที่มีรสชาติไม่อร่อยและมีราคาถูก โดยมีการคลึงมะเขือเทศให้ช้ำก่อนนำมาให้ผู้คนได้สนุกกันโดยไม่เป็นอันตราย

5. เทศกาลปาองุ่น (Grape Throwing Festival) ประเทศสเปน

>> จัดที่เมืองมาจอร์กา หมู่เกาะแบลิแอริก ประเทศสเปน

>> จัดทุกวันหยุดสุดสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน

‘สาดองุ่น’ อีกหนึ่งเทศกาลสายสาดของสเปนในเมืองมาจอร์กา (Mallorca) ที่ตั้งอยู่บนหมู่เกาะแบลิแอริก (Balearic Islands) บนทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ฝั่งตะวันออกของประเทศสเปน ซึ่งชาวท้องถิ่นถือว่านี่คือสุดยอดของ ‘ความบันเทิง’ ประจำปี โดยคุณต้องทำการทั้งละเลง ทั้งปาผลองุ่นดำใส่กันอย่างสนุกสนาน ซึ่งอาจจะรู้สึกแปลกสักหน่อยเพราะสาดอย่างอื่นเขามาเป็นน้ำหรือเป็นผง แต่งานนี้สาดกันมาเป็นพวงเลยทีเดียว

ที่มาที่ไปของเทศกาลปาองุ่นนั้น ก็ไม่ได้ซับซ้อนมากมาย เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่ผลผลิตองุ่นในหมู่เกาะแบลิแอริกกำลังได้ที่ และย่านนี้ ก็เป็นแหล่งเพาะปลูกองุ่นที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสเปน การฉลองช่วงเก็บองุ่นด้วยการละเลงองุ่นจึงเริ่มขึ้น ณ จุดนี้ แถมงานนี้ผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่จะเลือกนุ่งสั้นทูพีช หรือเหล่ายอดชาย ก็ถอดเสื้อละเลงใส่กัน ซึ่งนอกจากจะไม่เลอะเทอะเสื้อผ้ามากชิ้นแล้ว ยังได้บำรุงผิวทางอ้อม เพราะองุ่นมีวิตามินหลายชนิด (อ่ะนะ) ด้วย!!


ที่มา:

https://www.thansettakij.com/content/ThanDigital/471063

https://travel.thaiza.com/foreign/370778/

https://travel.trueid.net/detail/XkK0JqjpZmX

https://www.wecrafttravel.com/2019/04/29/la-tomatina-เทศกาลปามะเขือเทศ/

https://www.facebook.com/perspectivetelevision/photos/เทศกาลปาองุ่น-(throwing-/435092583495811/

https://www.skyscanner.co.th/news/songkran-alternative

มอเตอร์เวย์หมายเลข 6 ทางหลวงพิเศษเชื่อมใจ เชื่อมเมืองไทยให้ยั่งยืน

ทำไม ? ถึงต้องจั่วหัวมาขนาดนั้น หากเราย้อนมองอดีตก่อนจะมาถึงการสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน - สระบุรี - นครราชสีมานั้น ต้องเริ่มด้วยต้นสายคือ ทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ ความยาว 509 กิโลเมตร ถนนหลักที่ใช้สัญจรเชื่อมภาคกลางกับอีสาน เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2498 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี จากสระบุรีจนถึงนครราชสีมา ระยะทางประมาณ 148 กิโลเมตร เป็นทางหลวงสายแรกของประเทศไทยที่มีผิวจราจรลาดยางแบบแอสฟัลต์ - คอนกรีตก่อนจะสร้างต่อสายเส้นทางไปจนสุดถึงหนองคายในสมัยรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร อันเป็นการส่งต่อทุกความเจริญไปสู่ภาคอีสานทั้งตอนบนและตอนล่าง เปิดทางให้เกิดความเจริญทางเศรษฐกิจ เชื่อมชุมชน เชื่อมไร่นา เชื่อมตลาด

จากเพียงถนน 2 ช่องจราจรก็มากลายเป็นถนน 4 ช่องจราจรในรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และพัฒนาจนบางช่วงใหญ่ขนาด 10 ช่องจราจร แต่วันนี้มิตรภาพ ก็เริ่มจะไม่เพียงพอต่อการสัญจรเสียแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลสำคัญอย่างปีใหม่หรือวันหยุดยาวในช่วงสงกรานต์ที่เราคนไทยจะได้สัมผัสมิตรภาพอันยาวนานไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมงทุกครั้งทั้งขาไปและขากลับ จึงเกิดเป็นคำถามว่าทำอย่างไรถึงจะแบ่งเบาและแก้ไขให้แบ่งปันมิตรภาพให้ออกไปได้มากกว่านี้ ? ปลายเหตุของเรื่องนี้ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 คือคำตอบ

ทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 หรือ มอเตอร์เวย์สายอีสาน เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองขนาด 4 - 6 ช่องจราจร เชื่อมต่อจากกรุงเทพมหานครไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เริ่มต้นจากอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปสิ้นสุดที่จังหวัดหนองคาย โดยเริ่มก่อสร้างช่วงบางปะอิน - นครราชสีมาระยะทาง 196 กิโลเมตรเป็นช่วงแรก คาดว่าช่วงนี้จะแล้วเสร็จและเปิดใช้งานได้ในปี 2566 โดยในกรอบการสร้างนั้นยังรวมไปถึงการศึกษาเพื่อต่อยอดเส้นทางออกไปอีก 2 ระยะคือจาก นครราชสีมา - ขอนแก่นระยะทาง 196 กิโลเมตร และจากขอนแก่น - หนองคายระยะทาง 160 กิโลเมตร อันจะเป็นเส้นทางคู่ขนานเพื่อแบ่งเบาการจราจรบนถนนมิตรภาพให้คล่องตัวขึ้น

ทางหลวงหมายเลข 6 นี้แรกเริ่มนั้นได้รับความเห็นชอบและอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี 2540 โดยเป็นการก่อสร้างเส้นทาง 3 สายต่อเนื่องกัน แต่หลังจากปี 2540 เจอกวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งก็เลยไม่มีอะไรเดินหน้าแม้จะผ่านวิฤตแล้วก็ยังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ จนมาถึงยุคของพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา ในปี 2558 ครม.ได้อนุมัติโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์ 3 สายใหม่ เพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัดโดยเฉพาะช่วงเทศกาลหยุดยาว ประกอบด้วย 1. สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 196 กม. 2. สายบางใหญ่บ้านโป่ง-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. และ 3. สายพัทยา - มาบตาพุด ระยะทาง 32 กม.จำเพาะลงมาที่เส้น บางปะอิน - สระบุรี - นครราชสีมา ปกติหากต้องใช้เส้นทางสายมิตรภาพ ระหว่างเวลาเสาร์ - อาทิตย์ และเทศกาลวันหยุดยาวอย่างสงกรานต์ ปริมาณรถบนถนนจะมีมากกว่า 13 ล้านคัน ทำให้มิตรภาพในช่วงเวลาดังกล่าว เวลาเหมือนหยุดนิ่ง ยาวนาน ต้องมานั่งนับเวลาว่าเราจะขับรถถึงบ้านโดยใช้เวลากี่ชั่วโมง ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือบริเวณตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย ซึ่งเป็นทางขึ้นเขา และมีจุดพักรถตลอดเส้นทาง เกิดสภาพคอขวด การจราจรแออัด รถติดยาวต่อเนื่องกว่า 30 กิโลเมตร ใช้เวลาแค่ช่วงนี้ก็กินเวลาไป 4 - 5 ชั่วโมงแล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้ มอเตอร์เวย์หมายเลข 6 คือตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ฝันของคนอยากกลับบ้านเป็นจริง

สงกรานต์ปี 2564 นี้เองที่รัฐบาลจะเปิดเส้นทางมอเตอร์เวย์หมายเลข 6 ให้เราได้สัมผัสเส้นทาง ขาไปตั้งแต่วันที่ 9 - 13 เมษายน และขากลับ 14 - 19 เมษายน จากช่วงหลักกิโลเมตรที่ 65 บ้านหนองไผ่ล้อม ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ไปจนถึงจุดลงถนนมอเตอร์เวย์ที่บริเวณด่านเก็บเงินค่าผ่านทาง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา แม้จะเปิดให้วิ่งเป็นระยะทางสั้น ๆ แค่ 35 กิโลเมตร อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้ประชาชนได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นของคุณภาพชีวิตการเดินทาง แม้ว่าในปีนี้จะช่วยให้ประหยัดเวลาและลดความแออัดที่เกิดขึ้นไปได้เล็กน้อย แต่ก็ทำให้เราได้เห็นภาพของอนาคตมากขึ้น อนาคตที่เส้นทางนี้จะเป็นหนทางหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทยในยุค 5G ของชาวอีสานและภูมิภาคใกล้เคียง ทั้งยังเห็นโอกาสของการสร้างสำนึกรักบ้านเกิด การกลับสู่ชุมชนของคนอีสาน จากความเจริญทางเศรษฐกิจเมื่อพ้นวิกฤต จะเชื่อมโยงทุกรอยยิ้มให้มีมากกว่ามิตรภาพในวันวาน


ขอบคุณภาพจาก : โครงการ มอเตอร์เวย์

เชื่อหรือไม่ ศิลปะบำบัด...แก้ปวดนิ้วจากการเล่นมือถือ

มือเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายและใช้ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น จากการเล่นโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานการล้างหน้า การแปรงฟัน หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำเป็นประจำทุกวัน เป็นต้น ทุกคนใช้มือเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ไปจนถึงการประกอบอาชีพ ดังนั้นมือจึงควรได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี เมื่อมือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือการใช้งาน อาจส่งผลให้มือชาหรืออ่อนแรง เช่น อาการชาจากการกดทับของเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome) ส่งผลให้ความสามารถในการใช้งานของมือลดลง เช่น การหยิบจับสิ่งของ การฝึกทักษะของมือจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูให้มือกลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดีเช่นเดิม

กิจกรรมฝึกทักษะมือ
โดยปกติแล้วนักกิจกรรมบำบัดมีบทบาทในการตรวจประเมิน ส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟูความสามารถมือ เมื่อพบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมือ เช่น ชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อติด มีปัญหาการใช้งานของมือหรือการหยิบจับวัตถุ นักกิจกรรมบำบัดใช้กิจกรรมที่ผ่านการคิดวิเคราะห์มาเป็นสื่อในการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูให้เหมาะสมกับปัญหา โดยเริ่มปรับกิจกรรมจากง่ายไปยาก เพื่อพัฒนาความสามารถอย่างค่อยเป็นค่อยไปดังนี้

1.) การบริหารมือและนิ้วมือ
กำมือ-แบมือ-กางนิ้วมือ-หุบนิ้วมือ-นิ้วตูมเข้าหากัน-พับนิ้วมือ-จีบนิ้วมือ

2.) การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มกำลังมือและนิ้วมือ
ออกแรงบีบวัตถุต่าง ๆ เช่น ลูกบอล ดินน้ำมัน แป้งโดว์ ตัวหนีบผ้า

3.) การฝึกหยิบจับวัตถุรูปแบบต่างๆ จากวัตถุขนาดใหญ่ไปจนถึงวัตถุขนาดเล็ก

นอกจากนี้สามารถผสมผสานกิจกรรมต่างๆ เช่น ศิลปะ ดนตรี กีฬา การทำอาหาร มาร่วมในการฝึกทักษะมือ โดยใช้อุปกรณ์ที่หาได้ง่าย ทั้งนี้ยังช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและเป็นการกระตุ้นให้รู้สึกอยากทำกิจกรรมมากขึ้น 

ศิลปะบำบัดกับการบริหารมือ

1.) กิจกรรมปั้นดินน้ำมัน หรือแป้งโดว์

เริ่มจากออกแรงนวดดินน้ำมันเพื่อเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อมือ

ใช้นิ้วมือกดดินน้ำมันให้แบน

ใช้ปลายนิ้วบีบดินน้ำมันให้แบน

ปั้นดินน้ำมันเป็นรูปร่างหรือรูปทรงต่าง ๆ ตามจินตนาการ

2.) กิจกรรมตัวหนีบผ้า

จับตัวหนีบผ้าด้วยปลายนิ้วโป้งและนิ้วชี้

    

ฝึกจับตัวหนีบผ้าด้วยปลายนิ้วโป้งและด้านข้างของนิ้วชี้

หนีบตัวหนีบผ้าเป็นรูปร่างหรือรูปทรงต่าง ๆ ตามจินตนาการ

3.) กิจกรรมตัวปั๊ม

เลือกตัวปั๊มที่ชอบและออกแรงกดตัวปั๊มลงบนแป้นหมึก

ออกแรงกดตัวปั๊มลงบนกระดาษ
ปั๊มเป็นรูปภาพหรือรูปทรงต่าง ๆ ตามจินตนาการ

4.) กิจกรรมเสียบหมุดให้เป็นรูปภาพ

ใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งหยิบหมุด

อาจใช้นิ้วกลางและนิ้วโป้งหรือนิ้วอื่น ๆ หยิบหมุด

เสียบหมุดเป็นรูปภาพหรือรูปทรงต่าง ๆ ตามจินตนาการ
 

5.) กิจกรรมระบายสี

เลือกรูปภาพและสีที่ชอบ ระบายสีให้สวยงามตามต้องการ 
 


ข้อมูลอ้างอิง 
นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วัฒนา. (2531). ปัญหาของมือที่พบบ่อย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/998/Hand-Exercises

'รากษสเทวี' นางสงกรานต์ 64 ผู้นำพา ‘มหันตภัย’ มาสู่กลางเมือง

นางสงกรานต์ปี 64 ทรงนาม ‘รากษสเทวี’

แม้ประเพณีสงกรานต์จะอยู่คู่กับประเทศไทยมาช้านาน แต่ช่วง 2 ปี มานี้ หลายกิจกรรมเด่น ๆ ก็ถูกระงับ โดยเฉพาะการเล่นสาดน้ำที่เป็นกิจกรรมหลัก เหตุเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังคุกรุ่น

ถึงกระนั้นกิจกรรมเข้าวัดทำบุญ สรงน้ำพระ สืบสานประเพณีอันดีงาม ก็ยังสามารถดำเนินได้ แบบมีระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)

นอกเหนือจากกิจกรรมของประเพณีดังกล่าว ช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีการพูดถึงอีกเรื่องสำคัญ นั่นก็คือ ความเชื่อเกี่ยวกับนางสงกรานต์ทั้ง 7 ซึ่งหลายคนอาจจะคงเคยได้ยินเรื่องราวกันมาบ้าง

สำหรับนางสงกรานต์ทั้ง 7 เป็นเรื่องเล่าขานตำนานเกี่ยวกับ ‘ธิดา’ ของ ‘ท้าวกบิลพรหม’ หรือ ‘ท้าวมหาสงกรานต์’ ซึ่งเป็นนางฟ้าสถิตย์อยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา หรือสวรรค์ชั้นที่ 1 จากทั้งหมด 6 ชั้น

โดยธิดาทั้ง 7 จะมีหน้าที่ในการรับ ‘เศียร’ ของท้าวกบิลพรหม ไม่ให้ตกลงบนพื้นโลก หรือพื้นน้ำ หรือบนอากาศ หลังจากที่ ‘ท้าวกบิลพรหม’ รู้ตัวว่าจะต้องตาย โดยการตัดเศียรของตนเพื่อบูชาธรรมบาลกุมาร และท่านก็ได้ตรัสเรียกธิดาทั้ง 7 องค์ อันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่า “พ่อจะตัดเศียรตัวเองเพื่อบูชาธรรมบาลกุมาร แต่เศียรของพ่อนี้หากตั้งไว้บนแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก หากโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง หากนำไปทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง”

ดังนั้นในทุก ๆ 1 ปี ธิดาของท้าวกบิลพรหมทั้ง 7 จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ แล้วประดิษฐานตามเดิมตามวันมหาสงกรานต์มิได้ขาด

และนั่นก็ทำให้มีการกำหนดเกณฑ์ว่า ‘วันสงกรานต์’ คือวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี และหากตรงกับวันใด ก็ให้นางสงกรานต์ประจำวันนั้น เป็นผู้แห่ ซึ่งนางสงกรานต์นั้นมีทั้งหมด 7 องค์ เรียกตามชื่อวันในสัปดาห์ ได้แก่...

- วันอาทิตย์ นางสงกรานต์นาม ‘ทุงษะเทวี’ ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันอาทิตย์ ชื่อ นางแพงศรี

- วันจันทร์ นางสงกรานต์นาม ‘โคราคะเทวี’ ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดา ภักษาหารเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันจันทร์ ชื่อ นางมโนรา

- วันอังคาร นางสงกรานต์นาม ‘รากษสเทวี’ ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (หมู) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันอังคาร ชื่อ นางรากษสเทวี

- วันพุธ นางสงกรานต์นาม ‘มณฑาเทวี’ ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันพุธ ชื่อ นางมันทะ

- วันพฤหัสบดี นางสงกรานต์นาม ‘กิริณีเทวี’ ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันพฤหัส ชื่อ นางัญญาเทพ

- วันศุกร์ นางสงกรานต์นาม ‘กิมิทาเทวี’ ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันศุกร์ ชื่อ นางริญโท

- วันเสาร์ นางสงกรานต์นาม ‘มโหธรเทวี’ ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทรายพระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันเสาร์ ชื่อ นางสามาเทวี

วันมหาสงกรานต์ ในปี 2564 ตรงกับวันอังคาร ดังนั้นจึงตรงกับนางสงกรานต์ที่มีชื่อว่า “รากษสเทวี” ตามตำนานเล่าว่านางเป็นธิดาองค์ที่ 3 ของท้าวกบิลพรหม โดยมีลักษณะต่าง ๆ ตามคติความเชื่อคือ ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาเหนือหลังวราหะ (หมู) เป็นพาหนะ

สำหรับ ‘คำนาย’ เกี่ยวกับนางสงกรานต์ ทั้งภักษาหาร และดวงเมือง ประจำวันวันที่ 16 เมษายน 2564 ตั้งแต่ช่วงเวลา 07 นาฬิกา 37 นาที 12 วินาที ซึ่งนับเป็นจุลศักราชใหม่ที่ 1383 จะมีวันอาทิตย์เป็นธงชัย วันจันทร์เป็นอธิบดี วันเสาร์เป็นอุบาทว์ วันพุธเป็นโลกาวินาศ

ขณะที่ ‘รากษสเทวี’ เป็นนางสงกรานต์ประจำวันอังคาร มีคำนำนายของปีนี้ว่า จะเกิดอันตรายกลางเมือง จะเกิดเพลิงภัยและโจรผู้ร้าย ผู้คนจะเจ็บไข้นักแลฯ ภายใต้เกณฑ์ต่าง ๆ ดังนี้...

- เกณฑ์พิรุณศาสตร์ ปีนี้ เสาร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 400 ห่า: ตกในเขาจักรวาล 160 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 120 ห่า ตกในมหาสมุทร 80 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 40 ห่า

- เกณฑ์ธาราธิคุณ ปีนี้ตกราศีกรกฏ ชื่ออาโป (ธาตุน้ำ): ทำนายว่า น้ำมาก น้ำท่วม

- เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีนี้นาคราชให้น้ำ 6 ตัว: ทำนายว่า ฝนดีตลอดปี

- เกณฑ์ธัญญาหาร ชื่อปาปะ: ข้าวกล้าในไร่นา จะได้ 1 ส่วน เสีย 10 ส่วน คนทั้งหลายจะตกทุกข์ได้ยากลำบากแค้น เพราะกันดารอาหารบ้าง จะฉิบหายเป็นอันมากแลฯ

นี่ก็ถือเป็นอีกเรื่องเล่าตำนานสำคัญของคนไทยต่อวันสงกรานต์ ที่คนรุ่นใหม่อาจจะมิได้คุ้นนัก แต่เชื่อเถิดว่าผู้คนในอดีตต่างยังคงความเชื่อ เพื่อนำคำพยากรณ์ที่เคียงคู่มากับนางสงกรานต์ในปีนั้นๆ มาปรับคิดรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ พอสมควร


ที่มา:

http://www.horonumber.com/news-3714

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%

http://www.prapayneethai.com/%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%

‘สงกรานต์นิวนอร์มอล’ บอกลาเมืองแห่งซอมบี้ ต้อนรับประเพณีดั้งเดิมกลับมา

ปีที่แล้ว ไม่มี ‘เทศกาลสงกรานต์’ เพราะโควิด – 19 รุกรานหนักหน่วง รัฐบาลจึงสั่ง Skip สงกรานต์กันไปยาว ๆ สายสาดน้ำ สายปาร์ตี้ ถึงกับเฉา เหมือนชีวิตขาดความเร้าใจไป มาปีนี้หมายมั่นปั้นมือ ขอกลับมา ‘สาดดด!’ กันสักหน่อย ปรากฎว่า เหมือนฉายหนังซ้ำ สถานการณ์กลับมาระบาดหนักอีกระลอก!

เล่นเอาเซ็งเศร้าเหงาเจ็บกันไป จะโทษใครไม่ได้ ต้องโทษเรากันเอง อดถือขันสาดน้ำ ต้องมาตั้งการ์ดกันต่อ แถมเจ้าโควิด – 19 ระลอกนี้ เป็นสายพันธุ์อังกฤษ ติดเร็วทันใจซะด้วย ถถถถถถ! นังโคขวิด เอ้ย! โควิด แกมาปั่นป่วนเป็นปี ๆ ยังไม่ยอมไปไหนเสียที แถมยังมีหน้ามาแยกแยะเป็นสายพันธุ์นู่นนี่เสียอีก โอ้ย...เบื่อๆ ๆ ๆ  (อยากสาดน้ำ)

สรุปง่าย ๆ สงกรานต์ปี 2564 นี้ จะมีหน้าตาคล้าย ๆ เมื่อปี 2563 กล่าวคือ อยู่บ้านกันเฉย ๆ ไงจะยังไงล่ะ! แถมทางรัฐบาลก็มอบวันหยุดยาวววววว มาให้อี๊ก! งานนี้ทำอะไรดี กิจกรรมไม่มี เวลาเหลือ ๆ ถถถถถถ!

ได้เวลาหยุดพร่ำบ่นล่ะ เอาเป็นว่า ในวิกฤติ ย่อมมีโอกาสเสมอ และในการระบาดของโควิด – 19 ก็มีข้อดีอยู่เช่นกัน อย่างที่เราทราบกันดี ช่วงเวลาการระบาดของเจ้าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ ผู้คนบนโลก หยุดการ ‘ผลาญ’ ทรัพยากรลงไปอย่างมากมาย ในมุมกลับกัน ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นอีกครั้ง

ลองจินตนาการดู จากโลกกลมๆ ที่หมุนเร็วจี๋ กลายเป็นโลกหมุนช้าลง แน่นอนว่า พออะไร ๆ มันลดความเร็ว มันก็ทำให้พวกเราเห็นอะไรได้ ‘ชัดเจน’ ขึ้น ว่าไหมล่ะ?

ยกตัวอย่าง สงกรานต์บ้านเรา พอโควิด – 19 มาเมื่อปีก่อน จากประโยคคลาสิก ‘7 วันอันตราย’ ที่มักได้ยินเป็นประจำในช่วงเทศกาล อ้าว! มันลดความอันตรายลงไปอย่างไม่น่าเชื่อ 

เครดิตที่มาภาพ: Tero Radio

รายงานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2563 ระหว่างวันที่ 10 - 16 เม.ย.2563 พบว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 1,307 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 1,260 ราย และเสียชีวิต 167 ราย โดยเมื่อเทียบกับสงกรานต์ปี 2562 ซึ่งเกิดอุบัติเหตุ 3,338 ครั้ง ลดลงไป 2,031 ครั้ง (ร้อยละ 60.84) บาดเจ็บ 3,442 ราย ลดลง 2,182 คน (ร้อยละ 63.39) และเสียชีวิต 386 ราย ลดลงจากปีที่แล้ว 219 ราย (ร้อยละ 56.74)

หากจะบอกว่า นี่เป็นผลพวงจากโควิด – 19 ระบาด ก็คงไม่ผิดไปนัก ยิ่งหากลงลึกเข้าไปในรายละเอียดของการสูญเสียจากเทศกาลสงกรานต์ สาเหตุหลักที่มีเปอร์เซนต์สูงสุดคือ เมาสุราขาดสติ 

เครดิตที่มาภาพ: Thairath.co.th

สงกรานต์ = เมาสุรา สมการนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไรไม่ทราบได้ แต่กลายเป็น ‘ค่านิยม’ ของเทศกาลนี้ไปเสียแล้ว ย้อนกลับไปจุดตั้งต้นของประเพณีนี้กันหน่อย วันสงกรานต์ คือวาระของการเริ่มต้นปีใหม่ สมัยก่อนถูกยกให้เป็นวันปีใหม่ไทย เนื่องจากตามความเชื่อทางโหราศาสตร์ เป็นช่วงเวลาของการเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์ จากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ (ซึ่งราศีเมษเป็นราศีประจำเมือง) คนไทยโบราณจึงถือเอาช่วงเวลานี้ เป็นการเริ่มต้นปี 

จากประเพณีดั้งเดิม คือการอวยพรโดยใช้ ‘น้ำ’ รดเพื่อความชุ่มชื่นให้กับชีวิต รวมทั้งรดน้ำเพื่อขอพรจากผู้หลักผู้ใหญ่ และรวมไปถึงการสรงน้ำพระ เพื่อความเป็นสิริมงคล เหล่านี้คือออริจินัลประเพณี แต่ผ่านมาถึงจุดนี้ สงกรานต์คือการย้อมสีผม คือการรวมพลชาวแว๊น คือการปะแป้งสาว ๆ คือการปาร์ตี้หัวราน้ำ เรามาไกลจนมีคนเคยนิยามเทศกาลมหาสงกรานต์ของไทยว่า เป็น ‘เมืองแห่งซอมบี้’ ที่ไม่รู้ว่ามีอะไรต่อมิอะไรมารวมตัวกัน แต่ที่รู้แน่ ๆ เรามาไกลจากวันแรกของประเพณีอย่างมาก 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า ‘ความรื่นเริง’ เป็นเรื่องไม่ดี แต่อะไรที่ ‘เกินพอดี’ มันจะตามมาด้วยปัญหามากมาย...

อย่างที่เล่าไปตอนต้น โควิด – 19 เข้ามาทำให้โลกที่เคยหมุนเร็ว ๆ ช้าลง ฉันใดฉันนั้น โควิด – 19 ก็เข้ามาทำให้ ‘สงกรานต์ซอมบี้’ หยุดลงเช่นกัน และในเมื่อหยุดแล้ว เราลองมาตรึกตรองกันดูหน่อยไหม ว่าอะไรที่เกินพอดีมานั้น มันส่งผลเสียอย่างไรบ้าง ประการสำคัญกว่านั้น เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างกลับมาดำเนินได้ต่อไป เราจะ ‘เลือกสงกรานต์’ แบบไหนในอนาคต

มีคนเรียกวิถีหลังโควิด – 19 ว่า นิวนอร์มอล (new normal) แน่นอนว่า เทศกาลสงกรานต์ไทย ๆ ก็เข้าสู่วิถีใหม่เช่นกัน จากนี้ไป เราต้องรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ให้ยืนห่างกัน 1 เมตร ไม่รวมตัวกันหนาแน่น ไม่อยู่ในที่แออัด และต้องไม่ลืมใส่หน้ากากอนามัย จะว่าไป อาจจะไม่ได้เรียกว่าเป็น ‘สงกรานต์นิวนอร์มอล’ หรอก เราแค่กลับไปหา ‘ความพอเหมาะพอดี’ เหมือนที่เคยเป็นมามากกว่า

ถึงตรงนี้ ขอย้อนกลับไปที่ความวุ่นวายใจของใครหลายคนที่ว่า ‘สงกรานต์ทำอะไรดี กิจกรรมไม่มี เวลาเหลือ ๆ’ 

ลองเปลี่ยนมุมที่มองเสียใหม่ ที่ผ่านมา เราอาจทำอะไรต่อมิอะไรเยอะเกินไปแล้วก็ได้ ดังนั้น แค่ทำตัวเองให้ปลอดภัย ก็ดีถมไปแล้วสำหรับสงกรานต์ประจำปี 2564 นี้... 
 

คำสารภาพของ วาเอล โกนิม (Wael Ghonim) ผู้นำอาหรับสปริง ในโลกโซเชียลของอียิปต์

ในปี ค.ศ. 2011 วิศวกรคอมพิวเตอร์หนุ่มวัย 28 ปี (ในขณะนั้น) วาเอล โกนิม ยังทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือให้กับบริษัท Google แม้ว่าเขาจะเป็นชายหนุ่มที่อายุยังน้อยในความคิดของใคร ๆ แต่สิ่งที่เขาได้ทำนั้นกลับสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ได้อย่างเหลือเชื่อ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังพลังแห่งโซเชียลมีเดียที่โค่นอำนาจเผด็จการในอียิปต์และโลกอาหรับ เมื่อเขาได้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการปลุกกระแสปฏิวัติในอียิปต์ให้เกิดขึ้น จนกลายเป็นอาหรับสปริงในอียิปต์บ้านเกิดของเขา ด้วยการตั้งเพจ Facebook ง่าย ๆ โพสต์ข้อความเรียกร้องให้ประชาชนชาวอียิปต์ออกไปชุมนุมกันกว่า 1 ล้านคน ในวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 2011 จนสามารถขับไล่ประธานาธิบดีมูบารัคที่อยู่ในตำแหน่งนานกว่า 30 ปี ได้สำเร็จ

ต่อมาเขาได้เปิดเผยว่า เมื่อการปฏิวัติเกิดขึ้นบนท้องถนน มันกลับเปลี่ยนความหวังเป็นความยุ่งเหยิง จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นความน่ารังเกียจเดียรฉันท์อันแสนจะเจ็บปวด และการใช้โซเชียลมีเดียที่ตามมาทำให้โลกอินเตอร์เน็ตซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นแหล่งสำหรับ การรวบรวมข้อมูล การมีส่วนร่วม และการแบ่งปัน กลับกลายเป็นสมรภูมิที่มีการแบ่งขั้วแบ่งข้างอย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา และหลังจากนั้นแล้วในที่สุดเขาได้ออกมาพูด และสารภาพถึงความผิดหวังต่อสิ่งที่เขาได้ทำลงไป จากคลิป “วาเอล โกนิม กับความจริงที่เขาตระหนักรู้หลังจากที่ช่วงเวลาแห่งความสำเร็จนั้นผ่านไป” ดังนี้

25 มกราคม ค.ศ. 2011 ชาวอียิปต์ก็ออกมาเดินจนเต็มถนนในกรุงไคโร และเมืองอื่น ๆ เรียกร้องให้มีการปฏิรูป ทำลายกำแพงแห่งความกลัว และประกาศศักราชใหม่ และแล้วที่สุดมันก็ได้ผล

ผมเคยพูดว่า “ถ้าเราต้องการปลดปล่อยสังคม สิ่งที่เราจำเป็นต้องมีก็แค่อินเตอร์เน็ต” แต่ผมคิดผิด ผมเคยพูดประโยคนี้เมื่อ ปี ค.ศ. 2011 ตอนที่ผมสร้างเพจบน Facebook โดยไม่เปิดเผยตัวตน แล้วมันก็ช่วยจุดชนวนการปฏิวัติในอียิปต์ เหตุการณ์อาหรับสปริงไม่เพียงเผยให้เห็นถึงความสามารถสูงสุดของสื่อสังคมออนไลน์ แต่ยังแสดงให้เห็นถึงจุดที่แย่ที่สุดของมันด้วย เครื่องมือเดียวกันที่ช่วยให้เราสามารถรวบรวมกำลังเพื่อล้มล้างเหล่าผู้นำเผด็จการ แต่สุดท้ายก็ทำให้เราต้องแตกแยกกัน ผมขอแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และพูดเกี่ยวกับความยากลำบาก และความท้าทายต่าง ๆ ที่ผมเจอมาเองกับตัว และเราสามารถทำอะไรกับมันได้บ้าง 

วาเอล โกนิม ได้สร้างเพจบน Facebook และตั้งชื่อเพจว่า “เราทุกคนคือ คาเลด ซาอิส” (We are all Khaled Said) เพียงแค่ 3 วัน มีคนเข้ามาติดตามเพจนี้เกิน 100,000 คน

ในช่วงต้นปี 2000 บรรดาเว็บของชาวอาหรับกำลังปั่นป่วนเว็บ มีความรู้สึกกระหายความรู้และโอกาส และอยากติดต่อกับผู้คนทั่วโลก เราหนีความจริงเกี่ยวกับการเมืองอันหน้าผิดหวัง และไปใช้ชีวิตอยู่บนโลกเสมือนจริงซึ่งแตกต่าง ผมก็เหมือนชาวอาหรับเหล่านั้นที่ไม่เคยสนใจการเมืองจนกระทั่งปี ค.ศ. 2009 เมื่อผมได้ล็อกอินเข้าใช้สื่อสังคมออนไลน์ ผมเริ่มเห็นชาวอียิปต์มากขึ้นและมากขึ้นเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศ มันทำให้ผมรู้สึกเหมือนไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2010 อินเตอร์เน็ตเปลี่ยนของชีวิตผมไปตลอดกาล ขณะที่กำลังเล่น Facebook ผมก็เห็นรูปถ่ายถ่ายอันน่าสยดสยอง ศพที่ผ่านทารุณกรรมของชายหนุ่มอียิปต์คนหนึ่ง เขาชื่อ “คาเลด ซาอิส” (Khaled Said) ชายหนุ่มวัย 29 ปี ชาวเมืองอเล็กซานเดรียซึ่งถูกตำรวจสังหาร ผมรู้สึกว่าเหมือนเห็นตัวเองในรูปเหล่านั้น ผมคิดว่า “เราก็อาจเป็นเหมือนคาเลดได้” คืนนั้นผมนอนไม่หลับ และตัดสินใจทำบางอย่าง ผมสร้างเพจบน Facebook และตั้งชื่อเพจว่า “เราทุกคนคือ คาเลด ซาอิส” (We are all Khaled Said) เพียงแค่ 3 วัน มีคนเข้ามาติดตามเพจนี้เกิน 100,000 คน ซึ่งเป็นเหล่ามิตรสหายชาวอียิปต์ที่มีความเห็นร่วมกันเช่นเดียวกับผมในประเด็นนี้ เราต้องหยุดการกระทำอะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ 

มกราคม ค.ศ. 2011 Zine El Abidine Ben Ali อดีตประธานาธิบดีของตูนีเซียต้องหนีออกจากประเทศตัวเอง หลังจากพ่ายแพ้ต่อกลุ่มผู้ชุมนุต่อต้านรัฐบาล

ผมรับเอา อับเดล ราห์มัน แมนเซอร์ (Abdel Rahman Mansour) มาช่วยดูแลเพจนี้ ผมทำงานร่วมกับเขาตลอดเวลา เราร่วมกันสร้างสรรค์กลุ่มคน เพื่อเสาะหาแนวคิดจากผู้คน เรายอมให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วม เราได้รวมตัวกันเรียกร้องให้มีการทำอะไรสักอย่าง และแชร์ข่าวที่รัฐบาลไม่ต้องการให้ชาวอียิปต์รับรู้ จนกลายเป็นเพจที่คนติดตามมากที่สุดในโลกอาหรับ มีจำนวนลูกเพจมากกว่าองค์กรสื่อที่เคยจัดตั้งมาก่อนหน้านี้ และยังมากกว่าเพจคนดัง ๆ แถวหน้าเสียอีก ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2011 เมื่อ Zine El Abidine Ben Ali อดีตประธานาธิบดีของตูนีเซียต้องหนีออกจากประเทศตัวเอง หลังจากพ่ายแพ้ต่อกลุ่มผู้ชุมนุต่อต้านรัฐบาล ผมได้เห็นประกายแสงแห่งความหวัง ชาวอียิปต์ในสื่อสังคมออนไลน์กำลังสงสัยว่า “ถ้าตูนีเซีย ทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้?” ผมจึงโพสต์งานกิจกรรมการเคลื่อนไหวลงใน  Facebook โดยตั้งชื่อว่า “การปฏิวัติต่อต้าน การคอรัปชั่น ความไม่เป็นธรรม และอำนาจเผด็จการ” ผมตั้งคำถามกับผู้ใช้งานในเพจจำนวน 300,000 คน ณ ตอนนั้นว่า วันนี้คือ วันที่ 14 มกราคม และวันที่ 25 มกราคมเป็นวันตำรวจแห่งชาติ เป็นวันหยุดประจำชาติ ถ้าพวกเรา 100,000 คนออกไปเดินบนท้องถนนทั่วกรุงไคโร คงไม่มีใครเข้ามาหยุดเราได้ ผมอยากรู้ว่า พวกเราจะทำได้มั้ย เพียงแค่ไม่กี่วัน มีการส่งคำเชิญนี้ไปยังผู้คนกว่า 1 ล้านคน และมีผู้คนกว่า 100,000 คน ตอบยืนยันการเข้าร่วมกิจกรรม โดยสื่อสังคมออนไลน์มีความสำคัญต่อการรณรงค์ครั้งนี้เป็นอย่างมาก มันช่วยปลุกระดมการเคลื่อนไหวของผู้คนตามจุดต่าง ๆ ทำให้ผู้คนตระหนักว่า พวกเขาไม่ได้อยู่เพียงลำพัง ทำให้เห็นว่า เรามีโอกาสหยุดรัฐบาลได้ แม้ว่าเวลานั้นพวกเขายังไม่เข้าใจนักว่า มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 2011 ชาวอียิปต์ก็ออกมาเดินจนเต็มถนนในกรุงไคโร และเมืองอื่น ๆ เรียกร้องให้มีการปฏิรูป ทำลายกำแพงแห่งความกลัว และประกาศศักราชใหม่ และแล้วที่สุดมันก็ได้ผล

ประธานาธิบดี Hosni Mubarak ถูกกดดันให้ลงจากตำแหน่ง

ไม่กี่ชั่วโมงก่อนรัฐบาลจะทำการตัดสัญญาณ โทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ต ประมาณเที่ยงคืน ขณะที่ผมกำลังเดินบนถนนที่มืดมิดในกรุงไคโร ผมพึ่งจะทวิตไปว่า “ขอพระเจ้าคุ้มครองอียิปต์ รัฐบาลคงเตรียมการสังหารหมู่ในวันพรุ่งนี้แน่ ๆ” ผมก็ถูกตีเข้าที่หัวอย่างแรง ผมสูญเสียการทรงตัวและล้มลง ทำให้รู้ว่า มีชายติดอาวุธ 4 คนล้อมผมอยู่ คนหนึ่งปิดปากผม ส่วนคนอื่น ๆ จับผมไว้ ผมรู้ตัวว่า กำลังโดนอุ้มโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐบาล ผมรู้ตัวอีกทีก็อยู่ในคุกแล้ว ถูกสวมกุญแจมือ ปิดตา ผมรู้สึกกลัวมาก ครอบครัวผมก็เช่นกัน พวกเขาพยายามตามหาผม ทั้งโรงพยาบาล สถานีตำรวจ หรือแม้แต่ในห้องดับจิต เพื่อนร่วมงานผมส่วนหนึ่งที่รู้ว่า ผมเป็นแอดมินของเพจนั้น ได้บอกกับสื่อเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องของผมกับเพจนั้น และผมน่าจะถูกอุ้มโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐบาล เพื่อนร่วมงานของผมที่บริษัท Google เริ่มการรณรงค์เพื่อหาตัวผม และเพื่อน ๆ ซึ่งชุมนุมที่จัตุรัสก็เรียกร้องให้ปล่อยตัวผม หลังจาก 11 วันที่ต้องอยู่กับความมืดมิด ผมถูกปล่อยเป็นอิสระ และ 3 วันให้หลังประธานาธิบดี Hosni Mubarak ถูกกดดันจนต้องลงจากตำแหน่ง มันเป็นช่วงเวลาที่ให้แรงบันดาลใจ และทำให้ผมมีพลังมากที่สุดในชีวิต มันเป็นเวลาของความหวังอันยิ่งใหญ่ ชาวอียิปต์ใช้เวลาอันสงบสุขบนสังคมในอุดมคติเป็นเวลา 18 วันในระหว่างการปฏิวัติ พวกเขามีความเชื่อร่วมกันว่า พวกเราจะสามารถอยู่ร่วมกันได้ แม้ว่าพวกเราจะแตกต่างกัน อียิปต์หลังจากยุค Mubarak จะเป็นของทุก ๆ คน

13 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 ทหารก็เข้ายึดอำนาจจากประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งโดยระบอบประชาธิปไตย หลังจากสามวันที่มีการชุมนุมประท้วงอันดุเดือด และเรียกร้องให้เขาลงจากตำแหน่ง

แต่โชคร้าย เหตุการณ์หลังการปฏิวัติเหมือนกับการถูกตุ้ยท้อง ความสงบได้หายไป เราไม่สามารถทำประชามติกันได้ และความขัดข้องทางการเมืองนำไปสู่การแบ่งขั้วอำนาจ สื่อสังคมออนไลน์ก็แค่ทำให้สถานการณ์ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยใช้เป็นที่เผยแพร่ ข้อมูลเท็จ ข่าวลือ การรับข้อมูลด้านเดียว และการใช้คำในการสร้างความเกลียดชัง สภาพแวดล้อมตอนนั้นเป็นพิษอย่างรุนแรง โลกออนไลน์ของผมกลายเป็นสนามรบ เต็มไปด้วย พวกเกรียน คำโกหก และการใช้คำในการสร้างความเกลียดชัง ผมเริ่มกังวลในความปลอดภัยของครอบครัวของผม แต่ที่แน่ ๆ มันไม่ได้เป็นเรื่องของผมคนเดียว การแบ่งขั้วอำนาจเดินไปจนถึงขีดสุดระหว่างสองขั้วอำนาจหลัก คือ ผู้สนับสนุนทหาร กับกลุ่มมุสลิม คนที่อยู่ตรงกลางเช่นผม เริ่มรู้สึกไร้ที่พึ่ง ทั้งสองกลุ่มต้องการให้เราเลือกข้าง ไม่อยู่ฝั่งเดียวกับพวกเขาก็ต้องอยู่ฝั่งตรงข้าม และวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 ทหารก็เข้ายึดอำนาจจากประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งโดยระบอบประชาธิปไตย หลังจากสามวันที่มีการชุมนุมประท้วงอันดุเดือด และเรียกร้องให้เขาลงจากตำแหน่ง 

วันนั้นผมต้องตัดสินใจเรื่องที่ยากอย่างหนึ่ง ผมตัดสินใจที่จะเงียบ เงียบสนิท มันเป็นช่วงเวลาแห่งความพ่ายแพ้ ผมอยู่เงียบ ๆ เป็นเวลานานกว่า 2 ปี และผมได้ใช้เวลานั้นครุ่นคิดเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด พยายามทำความเข้าใจว่า มันเกิดขึ้นได้ยังไง มันทำให้ผมได้เข้าใจว่า ขณะที่มันเป็นเรื่องจริงที่หลัก ๆ แล้วการขับเคลื่อนจนเกิดการแบ่งขั้วอำนาจนั้น มาจากพฤติกรรมของมนุษย์ สื่อสังคมออนไลน์นั้นทำให้พฤติกรรมดังกล่าวกลายเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น และขยายผลกระทบเป็นวงกว้าง สมมติว่า คุณอยากพูดบางอย่างซึ่งไม่ได้มาจากข้อเท็จจริง การรับคำท้าหรือเมินเฉยต่อคนบางคนที่คุณไม่ชอบ เหล่านี้คือ แรงกระตุ้นโดยธรรมชาติของมนุษย์ แต่เพราะด้วยเทคโนโลยี การสนองตอบต่อแรงกระตุ้นนี้ก็แค่ใช้เพียงคลิกเดียวเท่านั้น 

ผมมองว่า มีความท้าทายที่เข้าขั้นวิกฤตอยู่ 5 เรื่อง ในการเผชิญต่อสื่อสังคมออนไลน์เช่นทุกวันนี้ 

เรื่องแรก พวกเราไม่รู้ว่า จะจัดการพวกข่าวลือยังไง ข่าวลือที่ออกมาสนองตอบต่ออคติของผู้เสพ กลายเป็นข่าวที่คนเชื่อและแพร่กระจายไปยังผู้คนนับล้าน 

เรื่องที่สอง เราสร้างการรับข่าวสารข้างเดียวของเราเอง เรามักเลือกที่จะสื่อสารเฉพาะกับกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับเรา และต้องขอบคุณสื่อสังคมออนไลน์ เพราะ เราสามารถ ปิดการแจ้งเตือน ยกเลิกการติดตาม และปิดกั้นใครก็ได้ 

เรื่องที่สาม การสนทนาออนไลน์ลุกลามรวดเร็วจนกลายเป็นกลุ่มผู้ประท้วงที่เกี้ยวกราด เราทุกคนน่าจะรู้อยู่แก่ใจว่า มันเหมือนราวกับ พวกเราลืมไปแล้วว่า คนที่อยู่เบื้องหลังจอนั้น ก็คือคนจริง ๆ นั่นแหละ ไม่ใช่แค่รูปตัวแทน 

เรื่องที่สี่ มันยากมากมากที่จะเปลี่ยนความคิดเห็นของพวกเรา เพราะว่า ความรวดเร็วและกระชับของสื่อสังคมออนไลน์ เราถูกบังคับให้พุ่งประเด็นไปที่ข้อสรุป และเขียนความเห็นสั้น ๆ ไม่เกิน 140 ตัวอักษร เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ซับซ้อนบนโลก และเมื่อเราเขียนมันแล้ว มันจะปรากฏอยู่บนอินเตอร์เน็ตตลอดกาล และเรามีแรงน้อยมากในการเปลี่ยนแปลงมุมมองเหล่านี้ แม้ว่าจะมีการค้นพบหลักฐานใหม่ ๆ ก็ตาม 

เรื่องที่ห้า และในมุมมองของผมนี่คือ เรื่องที่วิกฤตที่สุด ทุกวันนี้ประสบการณ์ในการใช้สังคมออนไลน์ถูกออกแบบด้วยแนวทางที่เน้นการแพร่กระจายข่าวสารมากกว่าการมีส่วนร่วมกับผู้ชม ชอบการโพสต์มากกว่าการถกประเด็น ชอบความเห็นอันตื้นเขินมากกว่าการสนทนาที่ลึกซึ้ง เหมือนกับเรายอมรับว่า เราอยู่ตรงนี้เพื่อพูดจาใส่กัน แทนที่จะพูดคุยร่วมกัน ผมได้เห็นเป็นพยานแล้วว่า เรื่องท้าทายนี้ส่งผลอย่างไรต่อสังคมอียิปต์ที่แตกแยกไปเรียบร้อยแล้ว แต่นี่ไม่ใช่เรื่องของอียิปต์เพียงประเทศเดียว การแบ่งขั้วอำนาจ แบ่งข้าง แบ่งฝ่าย กำลังเกิดขึ้นในทั่วทุกมุมโลก 

ในปี ค.ศ. 2011 นิตยสารไทม์ได้ใส่ วาเอล โกนิม ไว้ในรายชื่อ 100 บุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดประจำปี ค.ศ. 2011

เราต้องทำงานอย่างหนักเพื่อหาวิธีว่า จะนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร มากกว่าที่จะให้เทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ทุกวันนี้มีการโต้กันมากมายว่า จะทำอย่างไรจึงจะสามารถต่อสู้กับการคุกคามทางออนไลน์ และต่อกรกับพวกเกรียนได้ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่มีใครไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่เราจำเป็นต้องคิดด้วยว่า จะออกแบบประสบการณ์ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างไร จึงจะส่งเสริมความเป็นพลเมืองดี และให้รางวัลแก่ความมีวิจารณญาณ ผมทราบความจริงอย่างหนึ่งว่า ถ้าหากผมเขียนโพสต์ที่กระทบความรู้สึกมากขึ้น เขียนในมุมมองด้านเดียวมากขึ้น และในบางครั้งโกรธและก้าวร้าวมากขึ้น ผมต้องได้คนมาเห็นโพสต์นั้นเป็นแน่ ผมจะได้รับความสนใจมากขึ้น แต่จะเป็นอย่างไรถ้าเราเน้นคุณภาพมากขึ้น อะไรสำคัญกว่า : จำนวนคนอ่านโพสต์ที่คุณเขียน หรือ ใครคือคนที่ได้รับผลกระทบหลังจากอ่านที่คุณเขียน ทำไมเราไม่ทำเพียงแค่กระตุ้นให้ผู้คนเข้าร่วมในบทสนทนามากขึ้น แทนที่จะเอาแต่เผยแพร่ความคิดเห็นอยู่ตลอด หรือให้รางวัลกับคนที่อ่าน และตอบกลับในมุมมองที่พวกเขาก็ไม่เห็นด้วย และทำให้มันเป็นที่ยอมรับของสังคมด้วยว่า เราเปลี่ยนความคิดเขา หรืออาจแม้แต่จะให้รางวัล ถ้าเรามีเงื่อนไขที่วัดได้ว่า มีคนจำนวนกี่คนที่เปลี่ยนความคิด และกลายเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การใช้สื่อสังคมออนไลน์ของเรา ถ้าผมสามารถติดตามว่า มีจำนวนคนกี่คนที่กำลังจะเปลี่ยนความคิด ผมอาจจะเขียนโพสต์บนสื่อโซเชียลอย่างมีวิจารณญาณมากขึ้น ผมจะพยายามทำอย่างนั้นแทนที่จะดึงดูดกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับผมอยู่แล้ว “กดไลค์” จะกลายเป็นด้วยว่า ผมไปสนองอคติของเขา

เราจำเป็นต้องคิดกลไกการร่วมสร้างกลุ่มคนที่มีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างในโลกออนไลน์ และให้รางวัลแก่ผู้คนเหล่านั้นที่เข้ามามีส่วนร่วม สิ่งสำคัญคือ เราต้องคิดเรื่องระบบนิเวศน์ของสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบันใหม่ และออกแบบประสบการณ์การใช้งานใหม่ด้วย  เพื่อให้รางวัลแก่ความมีวิจารณญาณ ความเป็นพลเมืองดี และความเข้าใจร่วมกัน ในฐานะที่ผมเชื่อในอินเตอร์เน็ต ผมรวบรวมทีมจากกลุ่มเพื่อนไม่กี่คน เพื่อพยายามหาคำตอบและสำรวจความเป็นไปได้ ผลิตภัณฑ์แรกของเราคือ แพลตฟอร์มของสื่อแบบใหม่เพื่อการสนทนา เรากำลังให้บริการการสนทนาที่ส่งเสริมความเข้าใจร่วมกัน และหวังว่า จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแนวคิด เราไม่อวดอ้างว่า เราได้พบคำตอบ แต่เราได้เริ่มทดลองกับการสนทนาที่แตกต่างกันเกี่ยวกับปัญหาการแตกแยกที่รุนแรงต่าง ๆ เช่น การโต้วาทีในเรื่อง ชาติพันธุ์ การควบคุมอาวุธปืน ผู้ลี้ภัย ความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมและการก่อการร้าย เหล่านี้คือ บทสนทนาที่สำคัญ ทุกวันนี้อย่างน้อยหนึ่งในสามของคนบนโลกสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ แต่ส่วนหนึ่งของอินเตอร์เน็ตกำลังถูกจองจำโดยด้านที่มืดบอดของคุณธรรมด้วยพฤติกรรมของมนุษย์เรา เมื่อก่อนผมเคยพูดว่า “ถ้าคุณต้องการปลดปล่อยสังคม สิ่งที่คุณจำเป็นต้องมีก็แค่อินเตอร์เน็ต” แต่วันนี้ผมเชื่อว่า “ถ้าเราต้องการปลดปล่อยสังคม เราต้องเริ่มจากการปลดปล่อยอินเตอร์เน็ตก่อน” ขอบคุณมากครับ

ตอนนี้เราทำอะไรได้บ้างเกี่ยวกับพฤติกรรมออนไลน์ เราจะใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียเพื่อสร้างความสุภาพ และการโต้แย้งอย่างมีเหตุผลได้อย่างไร URL คลิปที่วาเอล โกนิมพูดเรื่องนี้ (พร้อม Sub Title ไทย) ได้ที่ http://https://youtu.be/HiwJ0hNl1Fw

Revolution 2.0: The Power of the People Is Greater Than the People in Power: A Memoir แต่งโดย วาเอล โกนิม

วาเอล โกนิม ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่สามารถอธิบายข้อสงสัยเกี่ยวกับที่มาของ Facebook "We are all Khalid Said" ซึ่งเชื่อกันว่า มีผู้ริเริ่มสร้างเพจนี้มากกว่าหนึ่งคน ยิ่งไปกว่านั้นมีผู้คนมากกว่า 360,000 คนเข้าร่วม Facebook ส่วนตัวของเขา และอีกกว่า 3,000,000 คนเข้าร่วมเพจ Facebook "We are all Khaled Said" ซึ่งดำเนินการโดยเขา และผู้ดูแลระบบอีกคนคือ อับเดล ราห์มัน แมนเซอร์ (Abdel Rahman Mansour) และ Facebook "We are Khaled Said" มีส่วนอย่างสำคัญในการจุดประกายการปฏิวัติอียิปต์ ในปี ค.ศ. 2011 นิตยสารไทม์ได้ใส่ วาเอล โกนิม ไว้ในรายชื่อ 100 บุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดประจำปี ค.ศ. 2011 และ World Economic Forum ได้เลือกให้ วาเอล โกนิม เป็นหนึ่งใน Young Global Leaders ในปี ค.ศ. 2012 ด้วย

ด้วย “คำสารภาพของ วาเอล โกนิม” สังคมไทยจะต้องไม่ยอมให้อินเตอร์เน็ตกลายเป็นเครื่องมือสร้างความเกลียดชังและโกรธแค้น แต่ต้องใช้เพื่อการสร้างสรรค์ ประเทืองปัญญา และจรรโลงสังคม ด้วยการแยกแยะ ผิด ชอบ ชั่ว ดี ในการแปลง “ข้อมูล” ให้เป็น “ข่าวสาร” พิจารณาใคร่ครวญให้ “ข่าวสาร” กลายเป็น “ความรู้” ใช้สติและศีลธรรมกำกับ “ความรู้” ให้เกิด “ปัญญา” เพื่อทำให้ สังคมไทย ประเทศชาติบ้านเมือง และโลก ได้มีความสงบสุข สวยสดและงดงาม เจริญรุ่งเรือง ด้วยความดีตลอดไป

ดอกประดู่กับสงกรานต์ในเมียนมาร์

โควิด-19 ได้พรากเทศกาลสงกรานต์ในเมียนมาร์หรือในภาษาพม่าเรียกว่า ตะจ่าน (Thingyan ภาษาเขียนออกเสียงว่าติงจ่าน) เทศกาลตะจ่าน เป็นวัฒนธรรมของชาวพม่าที่มีมาไม่ต่ำกว่า 3,000 ปีแล้ว และถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อกำหนดวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน โดยทั่วไปแล้วจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน ถึง 16 เมษายน ช่วงนี้จะเป็นช่วงสิ้นปีมีการเล่นสาดน้ำต้อนรับปีใหม่ และในวันที่ 17 เมษายน จะถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ คนเมียนมาร์จะทำความสะอาดบ้าน และนิมนต์พระมาฉันที่บ้าน อีกทั้งมีการบริจาคอาหารหรือขนมให้เพื่อนบ้าน รวมถึงบางครอบครัวมีการผู้เฒ่าผู้แก่ที่บ้านก็จะทำการสระผม ตัดเล็บให้ผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัว ยามเย็นจะมีการนิมนต์พระมาสวดขับไล่สิ่งไม่ดี โชคร้าย โรคภัยไข้เจ็บให้ออกไปจากสถานที่แห่งนี้

และในเทศกาลตะจ่านนี้เอง มีดอกไม้ชนิดหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลนี้นั่นคือ ดอกปะเด้าก์ (Padauk) หรือดอกประดู่นั่นเอง ชาวเมียนมาร์จะมีการนำดอกประดู่มาประดับประดาตามอาคารบ้านเรือน สำนักงาน รถโดยสาร และบางคนจะทัดช่อดอกประดู่ไว้ที่ผมดูน่าชม   

สาเหตุที่ดอกประดู่ถือเป็นดอกไม้ประจำเทศกาลตะจ่านก็เพราะว่า ก่อนเทศกาลตะจ่านในเมียนมาร์ทุกปีจะมีฝนโปรยปราย ในเวลานั้นเอง ต้นประดู่จะแทงดอกออกรับน้ำฝนซึ่งจะบานเต็มที่ในช่วงเดือนเมษายน ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ของปีใหม่ ดั่งดอกประดู่ที่เกิดใหม่อีกครั้งโดยการแทงดอกจนเหลืองอร่ามไปทั่วทั้งเมือง

และในช่วงเวลานี้คนพม่าจะนิยมทำขนมที่เรียกว่า โมน โลน เหย่บอว์ เป็นขนมที่ทำมาจากแป้งข้าวเจ้าผสมกับแป้งข้าวเหนียวโดยใส่น้ำตาลโตนดไว้เป็นไส้ โดยทุกคนในบ้านหรือในชุมชนนนั้นจะช่วยกันในการปั้นขนมแล้วโยนลงไปในน้ำเดือดแต่สำหรับใครที่อยากจะแกล้งใครก็อาจจะใส่พริกเป็นไส้แทนน้ำตาลโตนดที่คนพม่าเรียกว่า ทันเนี่ยะ ก็ได้

และแม้ปีนี้ในเมียนมาร์ไม่ว่าจะมีการจัดเทศกาลตะจ่านหรือไม่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ผมก็หวังว่าคนเมียนมาร์คงยังไม่สิ้นหวังและกลับมายืนขึ้นใหม่ได้อีกครั้งเหมือนดั่งดอกประดู่ที่กลับมาบานใหม่ทุกปี

สีจิ้นผิง ส่วนผสมที่ลงตัวระหว่าง ‘เติ้ง’ และ ‘เหมา’

“มหาอำนาจ” คือคำที่ใช้เรียกรัฐที่ถูกยอมรับว่ามีความสามารถในการแผ่ขยายอิทธิพลได้ในระดับโลก ไม่มีหลักเกณฑ์หรือลักษณะจำกัดความของคำว่ามหาอำนาจ หากแต่เป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัด ขาดรอย ซึ่งตัดสินได้จากลักษณะเชิงประสบการณ์ในตัวผู้ประเมิน อันคุณสมบัติร่วมของประเทศมหาอำนาจทั่วโลก คือการครอบครองอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจ ตลอดจนอิทธิพลทางวัฒนธรรมและการทูต

หากจะพูดถึงรัฐมหาอำนาจในปัจจุบันนอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว ก็มีจีนในยุค ‘สี จิ้นผิง’ นี่แหละครับ ที่กำลังมาแรงและมีโอกาสลุ้นแซงสหรัฐฯ ขึ้นเป็นรัฐมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลกในอนาคต

ขอบคุณรูปภาพจาก : www.macroviewblog.com

ต้องเกริ่นก่อนครับ ว่าสิ่งที่ทำให้รัฐใดรัฐหนึ่งก้าวขึ้นไปสู่การเป็นมหาอำนาจได้นั้นประกอบด้วยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากร รวมถึงจำนวนและคุณภาพประชากร หากรัฐใดมีสิ่งเหล่านี้ครบถ้วน รัฐนั้นย่อมมีโอกาสในการก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจ แต่อีกปัจจัยใจที่สำคัญไม่แพ้กันเลยคือ “ผู้นำที่ดี” หากรัฐใดอุดมไปด้วยทรัพยากรตามที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่อยู่ภายใต้การบริหารของผู้นำที่ไร้วิสัยทัศน์ ทรัพยากรที่มีมากไปก็ไร้ความหมาย

หากพูดถึงการเป็นผู้นำ (ทางการเมือง) ตามหลักการของ  Niccolo Machiavelli (ค.ศ. 1469-1527) ซึ่งเขียนตำราว่าด้วยผู้ปกครองที่ดี “The Prince” ผู้นำที่ดีจะต้องมีคุณลักษณะ 3 ข้อ ได้แก่ ปัญญาที่ฉลาดเฉียบแหลม กระบวนการคิดที่เป็นระบบ และความกล้าหาญ 

ขอบคุณรูปภาพจาก : www.amazon.com

“ผู้นำที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติของสิงโต และหมาป่าในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ ก้าวร้าว ห้าวหาญ และสง่างามเหมือนสิงโต แต่ชาญฉลาดและแยบยล เหมือนหมาป่า”

สำหรับประเทศจีน มีตัวอย่างผู้นำทางการเมืองมากมายที่น่ายกย่อง ตั้งแต่จักรพรรดิเฉียนหลง เจียชิ่ง จิ๋นซีฮ่องเต้ ซุนยัดเซ็น ประธานเหมา ตลอดจนเติ้งเสี่ยวผิง แต่ในวันนี้ เราจะมาพูดถึง ‘สีจิ้นผิง’ ผู้นำคนปัจจุบันของจีน ในแง่ของความเป็นผู้นำที่มีส่วนผสมของทั้ง ‘เหมาเจ๋อตง’ และ ‘เติ้งเสี่ยวผิง’

หากจะพูดถึงระบบการปกครองของจีนในปัจจุบัน ก็ต้องพูดถึงบุคคลที่เปรียบดั่งบิดาผู้ให้กำเนิดจีนยุคคอมมิวนิสต์หรือยุค “จีนใหม่” อย่างประธานเหมา หรือเหมาเจ๋อตง หนึ่งในสมาชิกยุคก่อตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์ และประธานาธิบดีคนแรกในยุคสาธารณะรัฐประชาชนจีน

ประธานเหมาเป็นผู้นำที่ทั้งห้าวหาญและสง่างาม ทั้งยังมีความคิดเฉียบแหลม โดยเฉพาะความสามารถในด้านของการบริหารอำนาจอันแสดงออกผ่านการตัดสินใจที่เด็ดขาด และให้แนวทางที่ชัดเจนต่อคนในชาติตั้งแต่ช่วงแรกของยุคจีนใหม่ ด้วยการเรียกร้องให้คนในชาติ “站起来 – จ้านฉี่หลาย” แปลว่า “จงลุกขึ้นยืน” หมายถึงการให้คนจีนร่วมกันยืนบนลำแข้งของตัวเองหลังจากถูกต่างชาติข่มเหงรังแกมาตลอดหลายร้อยปี

แต่กระนั้นการบริหารเศรษฐกิจของประธานเหมายังมีข้อบกพร่องอยู่มาก อีกทั้งยังก่อความผิดพลาดอย่างมหันต์ในการริเริ่มการปฏิวัติวัฒนธรรมอันทำให้การพัฒนาของประเทศต้องหยุดชะงักไปนานถึง 10 ปี

คาแรคเตอร์ของประธานเหมานั้นอยู่คนละขั้วกับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์รุ่นที่สองอย่างเติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำและนักปฏิบัตินิยมผู้มีความคิดเปิดกว้างพอที่จะลดความเข้มงวดในวิถีการปกครองด้วยอุดมการณ์สังคมนิยม และใจกล้าพอที่จะปฏิรูปเปิดประเทศ รับระบบตลาดเสรีจากตะวันตกเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจ เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติจนทำให้จีนกลายเป็น “โรงงานของโลก” ในเวลาต่อมา

“富起来 - ฟู่ฉี่หลาย” มีความหมายประมาณว่า “สร้างเนื้อสร้างตัว” หลังจากคนจีนยืนบนลำแข้งตัวเองได้ตั้งแต่ในยุคของประธานเหมา ก็ถึงเวลาที่ประชาชนชาวจีนจะต้องลืมตาอ้าปาก หลุดพ้นจากความจน และกอบโกยความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

ซึ่งนโยบายของเติ้งเสี่ยวผิงก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขึ้นมามีบทบาทบนเวทีการค้าโลก แต่หากจะพูดถึงข้อเสียของเติ้งนั้น ก็เห็นจะเป็นการที่เขาเลือกที่จะอะลุ่มอล่วยต่อพฤติกรรมคดโกงและการคอรัปชั่นของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ในพรรค

สำหรับ ‘สีจิ้นผิง’ ผู้นำจีนในปัจจุบัน มีนักวิเคราะห์หลายคนมองว่ากลยุทธ์การบริหารประเทศของสีจิ้นผิงมีความคล้ายคลึงกับเติ้งเสี่ยวผิง คือการยอมรับระบบตลาดแบบทุนนิยม แต่ยึดมั่นในอุดมการณ์หลักของความเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นการผสมผสานที่ถูกนิยามว่า “สังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์ของจีน”

ในส่วนของการดำเนินนโยบายต่างประเทศ หลังจากประธานสีขึ้นรับตำแหน่ง ก็ยึดเอายุทธศาสตร์ One Belt One Road เส้นทางสายไหมทางทะเล และใช้กลยุทธ์การเผยแพร่วัฒนธรรมด้วยการให้ทุนเรียนฟรีกับนักเรียนต่างชาติปีละหลักล้านคนจนเกิดเป็นกระแส “汉语热 - ฮั่นหยวี่เร่อ” ซึ่งเป็นกระแสที่นักเรียนทั่วโลกมีความต้องการมาศึกษาภาษาจีนที่ประเทศจีน โดยมีเป้าหมายในการใช้ภาษาจีนดำรงวิชาชีพหรือทำการค้าขายกับประเทศจีน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการอัดฉีดเงินในการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี โดยเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร และยังประกาศชัดเจนว่าจะนำประเทศจีนให้เป็นผู้นำ 5G และกลายเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี AI ปัญญาประดิษฐ์ของโลกในอนาคต

นั่นทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าวิธีการบริหารของสีจิ้นผิงนั้นเป็นไปในทิศทางใกล้เคียงกับในยุคของผู้นำเติ้ง..

แต่ก็มิพักจะสงสัยว่า ตัวตนของสีจิ้นผิง แท้จริงแล้วมีความเป็นอนุรักษ์นิยมมากกว่าผู้นำเติ้ง สังเกตได้จากการที่เขาบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับทฤษฎีสังคมนิยม Marxist - Leninist ลงไปในหลักสูตรการศึกษาของเยาวชน และปลูกฝังอุดมการณ์รักชาติให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการมีปัญหาข้อพิพาทเรื่องเขตแดนทางทะเลต่าง ๆ กับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ฟิลิปินส์ เวียดนาม และบรูไน รวมถึงการขัดขวางความพยายามของฮ่องกงและไต้หวันในการแบ่งแยกดินแดน เรียกได้ว่าแม้เพียงแค่ตารางนิ้วเดียวก็จะไม่ยอมให้สูญเสียไป

นอกจากนี้ สีจิ้นผิงมองว่าพฤติกรรมการคอรัปชั่นของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่พรรคนั้นถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งสิ่งที่อภัยไม่ได้ เขาใช้มาตรการในการกวาดล้างการคอรัปชั่นอย่างจริงจัง มีข่าวการจับกุมและลงโทษขั้นเด็ดขาดต่อผู้กระทำผิดฐานคดโกงนับร้อยคดี จนการคอรัปชั่นกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นยากมากในจีนปัจจุบัน

ทั้งหมดนี้ทำให้สีจิ้นผิงสามารถรวมศูนย์อำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ และผ่านการลงมติรับรองจากสภาประชาชนแห่งชาติให้เป็น "ประธานาธิบดีตลอดชีวิต" และกลายเป็นหนึ่งในผู้นำทางการเมืองที่ทรงอำนาจและมีอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์จีน ทำเอานักวิเคราะห์จากหลายสำนักเห็นตรงกันว่าสถานภาพของสีจิ้นผิง นับวันจะใกล้เคียงกับคำว่า “จักรพรรดิ” ขึ้นไปทุกที 

ในแง่ของการบริหารอำนาจ สีจิ้นผิงมีความคล้ายคลึงกับประธานเหมามากกว่าผู้นำเติ้ง....

อย่างไรก็ตามแต่ ไม่ว่าจะเป็นเหมาเจ๋อตงหรือเติ้งเสี่ยวผิง ทั้งคู่ต่างเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ที่หากไม่มีพวกเขา ก็คงจะไม่มีจีนวันนี้ ซึ่งตามทรรศนะของผู้เขียนเอง ผู้นำจีนคนปัจจุบันอย่างสีจิ้นผิงนั้นคือการนำจุดเด่นของทั้งประธานเหมาและผู้นำเติ้งมารวมเป็นคนเดียวกัน กล่าวคือเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่าง “หยิน” กับ “หยาง” เป็นผู้นำแห่งแดนมังกรที่มีความเป็นสิงโต และหมาป่าในเวลาเดียวกัน

“强起来 – เฉียงฉี่หลาย” 
แปลว่า “จงแข็งแกร่ง” เป็นเป้าหมายและปรัชญาในการบริหารบ้านเมืองของสีจิ้นผิง ในขณะเดียวกันก็เป็นวลีที่ใช้ปลุกระดมให้คนในชาติให้ร่วมมือกันสร้างความแข็งแกร่งในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง การทูต และแสนยานุภาพทางทหาร อันเป็นสิ่งตอกย้ำชัดเจนในเป้าหมายละความทะเยอทยานของจีนภายใต้การนำของสีจิ้นผิง หลังจากที่ยืนบนลำแข้งตัวเองได้ และค่อย ๆ สร้างเนื้อสร้างตัวจนมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ก้าวต่อไป จีนจะต้องเดินเกมเพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างแน่นอน

หากพิจารณาจากคุณสมบัติความเป็นผู้นำของสีจิ้นผิงแล้ว ท่านผู้อ่านคิดว่าเขาจะสามารถพาประเทศจีนขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจได้จริงหรือไม่ 


ข้อมูลอ้างอิง 
ขอบคุณรูปภาพจาก : th.wikipedia.org
 

เหตุการณ์เรือ Ever Given กับการประกันภัยทางทะเล

ช่วงเดือนที่ผ่านมามีข่าวใหญ่เกี่ยวกับอุบัติเหตุการขนส่งทางทะเล นั้นคือการที่เรือคอนเทนเนอร์ขนาดยักษ์ Ever Given เกยตื้นแล้วขวางเส้นทางเดินเรือของคลองสุเอซ วันนี้จะขอมาเล่าเกี่ยวกับการประกันภัยทางทะเลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ เพราะการประกันภัยทางทะเลจัดได้ว่าเป็นการประกันวินาศภัยที่เก่าแก่ที่สุดและมีประเด็นที่น่าสนใจหลายเรื่อง

เริ่มจากเรือที่มักจะทำประกันภัยตัวเรือและเครื่องจักร (Hull and machinery insurance) ที่ให้ความคุ้มครองทั้งตัวเรือ เครื่องจักร ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก และค่าใช้จ่ายในการกู้ภัย แต่มีข้อแม้ว่าเจ้าของเรือต้องร่วมจ่ายค่าเสียหายด้วยบางส่วนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความประมาทในการดำเนินงาน 

ในบรรดาเจ้าของเรือก็มองว่าค่าใช้จ่ายบางส่วนที่ต้องออกเองเมื่อเกิดความเสียหายนั้นจำนวนก็ไม่ใช่น้อย หากต้องชดใช้ด้วยตนเองทั้งหมดอาจส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของตน จึงรวมกลุ่มกันเพื่อก่อตั้งเป็นการประกันภัยแบบสหการ (Mutual insurance) เพื่อรับประกันภัยจากสมาชิกซึ่งเป็นเจ้าของเรือด้วยกัน และการรวมกลุ่มดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในชื่อ P&I Club มาจากคำว่า Protection and indemnity insurance club ที่มีอยู่ทั้งหมด 13 แห่งทั่วโลก และในกรณีของ Ever Given นั้นเป็นสมาชิกอยู่ใน UK P&I Club และให้ความคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกในวงเงินสูงถึง 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

มีการคาดการณ์กันว่าน่าจะมีการเรียกร้องค่าเสียหายจากเรือ Ever Given เป็นมูลค่าที่สูงมาก ทั้งจากความเสียหายของคลองสุเอซ การสูญเสียรายได้จากค่าผ่านคลอง หรือค่าใช้จ่ายของเรือลำอื่นที่ล่าช้า

จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งหากมีการตกลงชดเชยค่าเสียหายกันได้แล้วทาง UK P&I Club ก็ไม่ได้ควักเงินจ่ายค่าเสียหายอยู่ฝ่ายเดียว เพราะมีการประกันภัยต่อไปยัง P&I Club อีก 12 แห่ง แห่งละไม่เกิน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนที่เหลือก็ส่งต่อให้บริษัทรับประกันภัยต่อระดับโลกอีก 20 บริษัท สาเหตุที่ต้องมีการรับประกันภัยต่อหลายรายเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในกรณีที่มีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนมาก

ในส่วนของสินค้าที่ขนมาบนเรือนั้นก็มักจะทำประกันภัยสินค้าโดยรูปแบบความคุ้มครองส่วนใหญ่อ้างอิงจากประกันภัย ICC (Institute cargo clauses) ที่จัดทำโดยกลุ่มผู้รับประกันภัยในประเทศอังกฤษ มีความคุ้มครอง 3 แบบ คุ้มครองมากที่สุดคือ ICC(A) รองลงมาคือ ICC(B) และน้อยสุดคือ ICC(C)  ถ้าหากสินค้าเสียหายจากเหตุการณ์นี้ก็สามารถได้รับเงินชดจากทั้งสามแบบ เพราะทุกแบบให้ความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากเรือเกยตื้น

ถึงแม้สินค้าจะไม่ได้เสียหายจากเหตุการณ์นี้ เจ้าของสินค้าก็อาจต้องมีส่วนร่วมออกค่าใช้จ่ายในการกู้ภัยตามหลัก General average หรือความเสียหายทั่วไป โดยหลักการนี้มีมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรโรมัน นั้นคือหากเรือเกิดอุบัติเหตุแล้วกัปตันตัดสินใจต้องทิ้งสินค้าบางส่วนลงน้ำเพื่อรักษาทรัพย์สินส่วนรวมให้รอดปลอดภัย ทรัพย์สินส่วนนั้นจะได้รับการชดใช้คืน โดยยึดถือปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบันตามที่ได้มีการปรับปรุงตามกฎ York-Antwerp Rules และในไทยเองก็มีกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องนี้ คือ พ.ร.บ.การเฉลี่ยความเสียหายทั่วไปจากภยันตรายในการเดินเรือ พ.ศ. 2547 และให้ความหมายของความเสียหายทั่วไป คือ “ความสูญเสีย หรือความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดที่เป็นผลโดยตรงจากการเสียสละทรัพย์สิน หรือค่าใช้จ่ายเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งจงใจกระทำขึ้นตามสมควรเพื่อปกป้องรักษาเรือและทรัพย์สินที่เผชิญภัยอันตรายร่วมกัน” ดังนั้นค่าใช้ในการกู้ภัยเรือจึงถือว่าเป็นความเสียหายทั่วไปด้วย หากเจ้าของเรือ Ever Given ประกาศว่ามีความเสียหายทั่วไปแล้ว จะมีการแบ่งส่วนเฉลี่ยคิดตามมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น และคาดการณ์ว่าน่าจะใช้เวลาเป็นปีในการสรุปค่าใช้จ่ายเพราะด้วยขนาดเรือที่ขนสินค้ามาจำนวนมากและมีเจ้าของสินค้าหลายราย

ขอยกตัวอย่างกรณีของเรือ Maersk Honam ที่เกิดเหตุไฟไหม้บนเรือในปี 2018 จากเหตุการณ์ครั้งนี้ได้มีการเรียกเฉลี่ยความเสียหายทั่วไปมากถึง 54% ของมูลค่าทรัพย์สิน นั้นคือหากเป็นเจ้าของสินค้ามูลค่า 1 ล้านบาท จะต้องร่วมเฉลี่ยความเสียหายทั่วไป 540,000 บาท สินค้าของใครที่ทำประกันภัย ICC ก็สบายใจได้เพราะให้ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ แต่ใครที่ไม่ได้ทำก็คงต้องออกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เอง และทางสายเรือจะกักสินค้าเอาไว้จนกว่ากว่าจะนำเงินส่วนนี้มาจ่าย

จากที่เล่ามาข้างต้นจะเห็นได้ว่าธรรมเนียมปฏิบัติของการขนส่งสินค้าทางทะเลมีมาอย่างยาวนานและมีรูปแบบเฉพาะที่มีความแตกต่างจากการขนส่งด้วยวิธีอื่น ผู้นำเข้าส่งออกควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองสินค้า เพราะถึงแม้สินค้าของตนจะไม่เกิดความเสียหาย แต่อาจมีการเรียกเก็บส่วนเฉลี่ยค่าเสียหายทั่วไปที่มียอดเงินไม่น้อยเลยทีเดียว


ข้อมูลอ้างอิง

https://www.agcs.allianz.com/news-and-insights/expert-risk-articles/suez-canal-marine-insurance-claims.html

https://www.hellenicshippingnews.com/suez-canal-insurance-claims-loom-as-ever-given-blocks-shipping/

https://theloadstar.com/lengthy-wait-for-cargo-as-ever-given-owner-declares-general-average/

คติประจำใจจาก "Arthur Ashe" นักเทนนิสผิวสีแชมป์แกรนด์สแลมคนแรก

“Start where you are. Use what you have. Do what you can.”

"จงเริ่มจากจุดที่คุณยืนอยู่ จงใช้ในสิ่งที่คุณมี และจงทำในสิ่งที่คุณสามารถทำได้"


Arthur Ashe (นักเทนนิสผิวสีแชมป์แกรนด์สแลมคนแรก)

เสียง (เพรียก) แห่งสายน้ำปัตตานี... ตอนที่ 3

เช้าแสนอ้อยอิ่งผ่านไปพร้อมกับมื้อเช้าง่าย ๆ คือขนมและกาแฟ รอบนี้เอากาแฟคั่วจากสวนตัวเองลงมาด้วย ตั้งเตาต้มน้ำ พลางบดกาแฟ เทลงในหม้อ เติมน้ำเดือดลงไป รอราวสามนาทีก็นำช้อนเขี่ยผงกาแฟที่ลอยอยู่ให้จมลง ตักเอาฟองและเศษที่เหลือออก แค่นี้ก็พร้อมเสิร์ฟแล้ว นี่ถือว่าเป็นการชงกาแฟที่เรียบง่ายที่สุดและเป็นการเลียนแบบวิธีการทำคัปปิ้ง (อธิบายง่ายสั้นก็คือการดมชิมกาแฟ) นั่นเอง

“เอาเชือกรัดสัมภาระต่าง ๆ ในเรือ “แล้วก็อย่าลืมใส่ชูชีพด้วยนะพี่” บังบิ๊บบอกเช่นนั้น เสียงค้านในใจบอกไม่เห็นจะจำเป็นสักหน่อย น้ำไหลเอื่อยแบบนี้ไม่ต้องแน่นหนาขนาดนั้นก็ได้ แต่เอาน่ะ คนเขาอยู่ในพื้นที่ น่าจะมีเหตุผลมากพอหากเขาแนะนำเช่นนั้น ผมจึงหยิบเชือกออกมามัดกระเป๋าสองสามใบไว้

การพายคายักในวันนี้เริ่มต้นแบบไม่ต้องออกแรงจ้วงไม้พายมากนัก เพราะน้ำไหลเรื่อย สองฝั่งร่มรื่นไปด้วยแมกไม้เขียวขจี อากาศยามเช้าแสนจะเป็นใจ บางครั้งผ่านบ้านเรือนผู้คน เด็กน้อยโบกมือและวิ่งลงมาทักทายคนแปลกถิ่น เป็นภาพที่สวยงาม แต่มีสิ่งที่เห็นแล้วรกสายตามาก คือขยะทั้งหลายโดยเฉพาะพลาสติกที่ลอยไปติดอยู่ตามกิ่งก้านไม้ในช่วงน้ำหลาก เมื่อน้ำลดจึงค้างอยู่เป็นจำนวนมาก เห็นแล้วรู้สึกขัดหูขัดตา สำหรับเผ่าพันธุ์มนุษย์แล้วขยะย่อยสลายยากอาจแค่ทำให้รู้สึกไม่สบายตา ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว ขยะเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในระบบนิเวศค่อนข้างมาก และถ้าเพียงแค่เราต่างตระหนักว่าการกระทำของเราสามารถทำลายอีกหลายชีวิตโดยไม่ตั้งใจ เราอาจจะระมัดระวังการใช้ชีวิตในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้ก็เป็นได้ เราอาจจะลดการสร้างขยะหรืออย่างน้อยก็พยายามรับผิดชอบด้วยการจัดการขยะที่เราสร้างขึ้นอย่างถูกต้องเหมาะสม

เอาเถอะถือว่าเป็นการสะท้อนมุมมองและความรู้สึกบางด้านจากการพายเรือผ่านแม่น้ำปัตตานีละกัน 

กลับมาที่ไฮไลต์ประจำวันกันอีกครั้ง ซึ่งก็คือดีกรีความตื่นเต้นที่สายน้ำนี้มอบให้ มันค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามช่วงเวลาของวัน ยิ่งพายยิ่งเจอสิ่งที่ทำให้อะดรีนาลีนหลั่งมากขึ้น ก็แก่งทั้งหลายไงล่ะครับ ค่าที่ยังนับว่าเป็นมือใหม่หัดพาย จึงยังคงต้องสะสมชั่วโมงพายเรือ เพื่อสั่งสมความชำนาญและความมั่นใจในการอ่านสายน้ำไปทีละเล็กละน้อย การได้มาเจอโจทย์ประเภทแก่งน้ำเชี่ยวจึงเป็นทั้งเรื่องสนุกและในขณะเดียวกันก็สร้างความกังวลด้วย ยิ่งไปก็ยิ่งเจอแก่งถี่ขึ้น ต้องคอยคัดซ้ายคัดขวาเพื่อให้เรือไหลไปตามร่องน้ำตามที่วางแผนไว้ในใจ พวกเราร้องตะโกนด้วยความดีใจเวลาที่สามารถผ่านแต่ละความท้าทายเล็ก ๆ เหล่านั้นได้ รู้สึกเหมือนได้กลับไปเป็นเด็กชายซน ๆ กันอีกครั้ง เชื่อว่าผู้ใหญ่จำนวนมากคงไม่ต่างจากผม ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งเคร่งขรึมเกินเหตุ หลงลืมการหัวเราะร่าเริงและการไม่ต้องจริงจังไปเสียทุกเรื่อง เป็นเหตุให้กลายเป็นพวกแบกโลกอยู่บ่อย ๆ จนกระทั่งเด็กน้อยถูกปลุกให้ตื่นอีกครั้งเมื่อได้กลับมาทำกิจกรรมกลางแจ้งหัวหกก้นขวิดแบบนี้

อย่างที่บอกว่าดีกรีความตื่นเต้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นเพราะลำธารสาขาไหลมาสมทบมากขึ้น ผมไม่แน่ใจนักว่าเขาจัดระดับความแรงหรือความเสี่ยงของแก่งกันอย่างไร จึงขอแบ่งแบบระดับตามความเผ็ดของพริกที่ใส่ลงไปในอาหารละกัน จากแก่งประเภทพริกเม็ดสองเม็ด พอคล้อยบ่ายจำนวนพริกขี้หนูหลายเม็ดเริ่มมากจนเผ็ดจัดจ้านแสบร้อนมากขึ้น น้ำลึกมากขึ้น สายน้ำแคบลง เพราะถูกบีบให้ไหลเข้าไปในโตรกหินผา รู้สึกได้ถึงพลังมหาศาลของมวลน้ำที่ทวีการไหลดุดันมากขึ้นตามลำดับ ผมไม่แน่ใจนัก ว่าการยอมปล่อยตัวเองและคายักผ่านลงไปในแก่งเชี่ยวกรากน้ำกระจายแตกฟองสีขาวโดยไม่ได้ตรวจสอบเสียก่อนนั้นเป็นเรื่องดีและสมควรหรือไม่ รู้แค่ว่าการไม่รู้อะไรล่วงหน้าส่งผลให้ยอมเสี่ยงกระโจนลงไปหาความท้าทายเหล่านั้น กระเด้งกระดอนคลอนแคลนเพราะเรือถูกน้ำซัดต่างระดับจนน้ำกระฉอกเข้าเรือแทบครึ่งค่อนลำ ต่อเมื่อพ้นแก่งพวกนั้นมาได้จึงยิ้มกริ่มด้วยความสะใจ ไม่ใช่เพราะชะล่าใจว่าสามารถเอาชนะหรือต่อกรกับธรรมชาติได้ ทว่าเป็นความภูมิใจลึก ๆ ที่สามารถสะสมทักษะการพายเรือได้มากขึ้นอีกระดับหนึ่งแล้วนั่นเอง แต่สิ่งที่ตรงกันข้าม คือมีอย่างน้อยหนึ่งแก่งในวันนี้ที่ผมยอมเสียเวลากับการไปสำรวจโดยเทียบเรือแล้วเดินเลียบตลิ่งชันด้านข้าง เมื่อมองดูแก่งนั่นแล้วเกิดภาพน่ากลัวขึ้นในหัว กลายเป็นใจฝ่อไปเสียนั่น รำพึงในใจว่าถ้าไม่รู้เห็นก็สิ้นเรื่อง สู้ให้เรือพลิกคว่ำยังจะดีเสียกว่าไหม สรุปก็คือเมื่อภาพในหัวน่ากลัวกว่าความเป็นจริงผมก็เลยต้องยกสัมภาระทุกอย่างเลาะตลิ่งสูงดังกล่าว ลงไปยังท้ายแก่ง ในขณะที่บังบิ๊บอาจอาญกว่าผมหลายเท่า เขาอ่านทางน้ำแล้วตัดสินใจลุยและเขาก็ทำได้!

แล้วก็มาถึงจุดที่ผมได้รับประสบการณ์เรือคว่ำจนได้ ซึ่งก็ไม่ใช่แก่งใหญ่น่ากลัวแต่ประการใด ความท้าทายคือมันเป็นโค้งน้ำแคบหักศอก ต้องประคองตัวและวางตำแหน่งตัวเองให้ถูกต้องเพื่อให้สมดุล แต่ผมไม่รู้เทคนิค แค่แม่น้ำตบเบา ๆ ทำเอาเรือพลิก ทุกอย่างรวมทั้งตัวผมลอยตุ๊บป่อง ดีที่ใส่ชูชีพไว้ตามคำแนะนำของเพื่อน จึงลอยตัวได้สบาย พยายามคว้าเรือไว้ ส่วนรองเท้าแตะจำปล่อยให้ลอยหายไป บังบิ๊บตามมาช่วยด้วยอีกแรง เพราะถ้าเลยไปอีกหน่อยก็จะเจออีกแก่งหนึ่งแล้วนั่นเอง

โหดสุดของวันนี้คือมหาแก่ง แค่ระยะสั้น ๆ ราวยี่สิบเมตร แต่ต่างระดับราวห้าเมตรในแนวดิ่ง มันคือน้ำตกดี ๆ นี่เอง ที่สำคัญแก่งนี้ยังอยู่ในโตรกแคบ หมายถึงระดับความเผ็ดน่าจะถึงขั้นอุจจาระราดกันได้เลยทีเดียวหากริจะเล่นกับมัน ผมน่ะยอมศิโรราบแต่โดยดีอยู่แล้ว ในขณะที่บังบิ๊บเห็นว่าหากอุปกรณ์และทีมพร้อมเขาอยากวัดใจกับแก่งนี้ดูสักครั้ง ที่แน่ ๆ ไม่ใช่รอบนี้แน่นอน พวกเราจึงแบกเรือและสัมภาระลงไปยังท้ายแก่งกัน จากนั้นจึงประกอบทุกอย่างเข้าด้วยกันแล้วออกพายต่อ ผ่านจุดนี้มาแล้วแม่น้ำปัตตานีก็เปิดกว้าง โตรกผาค่อย ๆ หายไป กลายเป็นตลิ่งที่เห็นไกลออกไป แม่น้ำก็เปิดกว้างขึ้น ทว่าก็ยังคงมีแก่งให้ผ่านกันอีกหลายแก่ง อากาศเริ่มเย็น อาทิตย์ลับขอบฟ้า ความมืดเริ่มปกคลุมทั่วบริเวณ พวกเรายังคงไม่

ขอนแก่น - ประกาศยกเลิกการจัดงานสงกรานต์ทั้งหมดจากเดิมที่จะจัดถึงวันที่ 13 เม.ย. ขณะที่ บขส.ขอนแก่น เสริมเที่ยวรถรับรองประชาชนที่จะเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คาดคนเดินทางลดลง

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 9 เม.ย.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งล่าสุดขณะนี้ตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 11 ราย ยังพักรักษาตัวอยู่ที่ในโรงพยาบาล รวมผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 25 ราย ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวทางเทศบาลนครขอนแก่นได้ประกาศงดจัดงานประเพณีสุดยอดสงกรานต์อีสาน เทศกาลดอกคูนเสียงแคนและถนนข้าวเหนียวทั้งหมด ซึ่งจากเดิมได้มีการประกาศงดจัดเฉพาะถนนข้าวเหนียวและขบวนแห่นางสงกรานต์ ยังคงเหลือจัดกิจกรรมสืบสานประเพณี ในวันที่ 8-13 เม.ย.2564 ทำให้ล่าสุดทางเทศบาลนครขอนแก่นได้มีการประกาศยกเลิกการจัดงานทั้งหมด พร้อมทั้งยกเลิกการจัดถนนคนเดินออกไปอย่างไม่มีกำหนดจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น โดยจะได้นำเข้ามติที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดขอนแก่นในช่วงบ่ายวันนี้และจะมีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

ขณะที่บรรยากาศภายใน บขส.แห่งที่ 3 ถ.มิตรภาพ ในเขตเทศบาลนครอขอนแก่น พบว่ามีประชาชนยังคงทยอยเดินทางมาซื้อตั๋วขึ้นรถเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆอย่างต่อเนื่อง โดยเจ้าหน้าที่ได้ตั้งจุดตรวจคัดกรองผู้โดยสารทุกคนที่มาใช้บริการบริเวณหน้าทางเข้าอย่างเข้มงวด ตั้งแต่การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ทุกคนจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และสแกนคิวอาร์โค้ดไทยชนะหรือลงทะเบียนในแบบฟอร์มสำหรับผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ขณะที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานขนส่งได้มีการตั้งจุดคัดกรองพนักงานขับรถทุกคนให้ปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันโรคและตามกฎระเบียบของทางขนส่ง ทั้งการตรวจหาสารเสพติด การตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ การตรวจสุขภาพเบื้องต้นเพื่อให้พนักงานขับรถทุกคนให้บริการประชาชนได้อย่างปลอดภัย พร้อมทั้งตรวจเช็คสภาพรถทุกคันให้มีสภาพที่พร้อมให้บริการด้วย

นายชาญชัย แซ่ลั้ง ผู้ช่วยนายสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 3 จ.ขอนแก่น  กล่าสว่า ในช่วงนี้พบว่าจำนวนผู้มาใช้บริการยังเงียบอยู่ เพราะยังไม่ใกล้วันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่ทาง บขส.เอง ก็ได้เตรียมสำรองเที่ยวรถไว้รองรับประชาชนที่จะเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ไว้เพียงพอ เพื่อป้องกันปัญหาผู้โดยสารตกค้าง แต่คาดว่า สงกรานต์ปีนี้ ผู้คนคงจะเดินทางกลับมาเล่นสงกรานต์ที่บ้านลดลง และขอความร่วมมือให้ผู้โดยสารทุกคนปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด

นนทบุรี - แม่ค้าซื้อของเก่าพบลูกปืนคอ 82 ขณะกำแยกของ แจ้งชุดเก็บกู้ระเบิดตรวจสอบ

เมื่อเวลา 10.00น.วันที่ 9 เม.ย.64 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.รัตนาธิเบศร์ พร้อมเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ระเบิด (อีโอดี) เข้าตรวจสอบที่บริเวณบ้านเช่าติดกัน 6 หลัง ประขานิเวศน์ 3 ซอย 10/1 ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี พบลูกปืนคอจำนวน 1ลูกลักษณะเก่าสนิมจับวางอยู่ข้างเสาไฟฟ้าหน้าบ้านเช่าดังกล่าว 

นาง เมธาวี  ธาราธรรมรัตน์ กล่าว่าตนมีอาชีพรับซื้อของเก่าไปซื้อแถวแจ้งวัฒนะมากองหน้าบ้านที่ตนเช่าอยู่ระหว่างกำลังแยกของเมื่อช่วงเช้าพบระเบิดอยู่ในกล่องกระดาษตกใจมากจึงนำไปวางไว้ตรงเสาไฟฟ้าหน้าบ้านและรีบโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มาตรวจสอบ

หลังจากเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ระเบิด(อีโอดี) มาถึงและตรวจสอบอย่างละเอียดจึงพบว่า วัตถุดังกล่าวเป็นเป็นลูกกระสุนปืนคอ 82 อานุภาพการทำลายล้างสูงหากใช้การได้  และจากการตรวจสอบพบว่าลูกปืนคอดังกล่าวยังอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ และไม่สามารถระเบิดขึ้นได้ ล่าสุดเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถูระเบิด (EOD) ได้ทำการเก็บกู้เพื่อนำไปทำลายต่อ


ภาพ/ข่าว กำพลศิลป์ วงษ์เดือน

เชียงราย - สสส. ผนึก 5 หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน-ประชาสังคม MOU ขยายผลห้องเรียนสู้ฝุ่น 41 โรงเรียนใน จ.เชียงราย พร้อมมอบรางวัลโรงเรียนต้นแบบห้องเรียนสู้ฝุ่น

ด้านผู้ว่าฯ เชียงราย ชื่นชม นวัตกรรม “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” สสส. ทำให้เด็กรู้ภัยอันตราย PM2.5 สู่การเป็น “พลเมืองใหม่” ส่งต่อความรู้สู่ชุมชน ลดวิกฤตฝุ่นควันปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพอย่างยั่งยืน เตรียมขยายครอบคลุมทุกจังหวัดในภาคเหนือ

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 เวลา 10.30 น. ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ 5 หน่วยงาน ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม สภาลมหายใจจังหวัดเชียงราย สมาคมยักษ์ขาว และสมาคมสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงราย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาต่อยอดและขยายผล “ห้องเรียนสู้ฝุ่นในบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาสังคม จังหวัดเชียงราย” พร้อมมอบรางวัลและเกียรติบัตรแก่โรงเรียนในโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น 10 โรงใน จ.เชียงราย ต้นแบบการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดความร่วมมือและเปลี่ยนแปลงค่านิยมในชุมชน

นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในปี 2562 จ.เชียงรายเป็นจังหวัดที่พบจุดความร้อนและพื้นที่เผาไหม้น้อยที่สุดใน 9 จังหวัดภาคเหนือ จึงไม่ใช้สาเหตุหลักของค่าฝุ่นในพื้นที่ แต่ด้วยทิศทางลมที่พัดฝุ่นควันจากการเผาในพื้นที่โล่งของประเทศข้างเคียง อย่างเช่น เมียนมา ลาวเข้ามา พร้อมกับสภาพอากาศที่นิ่งและความกดอากาศสูงทำให้เกิดการขังตัวของฝุ่น PM2.5 ช่วงเดือนมกราคม-เดือนเมษายนของทุกปี เป็นช่วงที่วิกฤตที่สุดของจังหวัดเชียงราย เพราะมีฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน ทำให้มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และอาการระคายเคืองตาที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เฉลี่ย 2,200 คนต่อวัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก และเยาวชนในพื้นที่ จ.เชียงราย ร่วมกับ สสส. ดำเนินโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 มีโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาเข้าร่วม 10 โรง “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ถือเป็นนวัตกรรมองค์ความรู้ ที่ทำให้เด็ก และคนในชุมชนรับมือกับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการเผาในพื้นที่โล่งได้ และทางเชียงรายมุ่งสร้าง “พลเมืองใหม่” ที่สามารถสื่อสารสร้างความตระหนักรู้แก่คนในชุมชนถึงผลกระทบต่อสุขภาวะจากฝุ่น PM2.5 จนเกิดเป็นการเปลี่ยนค่านิยมลดการเผานา-ไร่ในพื้นที่ได้

นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้ เป็นการพัฒนาต่อยอดและขยายผลห้องเรียนสู้ฝุ่นในโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาในสังกัด อบจ.เชียงรายทั้งหมด 41 โรง รวม จ.เชียงรายมี 51 โรง โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม ร่วมกันสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ “มลพิษทางอากาศ ฝุ่นควัน และมลพิษข้ามแดน” โดยการเสริมสร้างทรัพยากรด้านความรู้ พัฒนากลไกการมีส่วนร่วม พัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีศักยภาพในการสร้างกิจกรรมเสริมหลักสูตร การเรียนรู้ในโรงเรียน รวมถึงพัฒนาเยาวชน และประชาชนทั่วไปให้สามารถรู้เท่าทันภัยฝุ่น PM2.5 และสื่อสารส่งต่อองค์ความรู้สู้ภัยฝุ่น เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาวะเด็กและประชากรในจังหวัดเชียงรายได้

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน สสส. จึงร่วมสานพลังกับภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม ขับเคลื่อนการทำงานตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับนโยบายเพื่อเร่งแก้ไขปัญหา มุ่งเน้นสร้างความตระหนักและให้ความรู้แก่กลุ่มเด็กและเยาวชน ผ่านการเรียนการสอนในโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น ที่ผ่านมา สสส. และภาคีเครือข่ายนำหลักสูตรห้องเรียนสู้ฝุ่นไปใช้ในจังหวัดแพร่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน จำนวน 30 โรง และเตรียมขยายผลไปยังโรงเรียนจังหวัดอื่น ๆ ภาคเหนือ เพื่อให้เด็กมีค่านิยมและจิตสำนึกไม่เผานา เผาไร่ จนเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ พร้อมทำหน้าที่ส่งต่อข้อมูลให้กับผู้ปกครอง ครอบครัว และชุมชน เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นอกจากนี้กลุ่มผู้นำชุมชนรวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ให้ความสำคัญขับเคลื่อนนโยบายเพื่อเอื้อต่อการลดปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน

ต่อมาเวลา 14.00 น. คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. นำโดยนายชาญเชาวน์     ไชยานุกิจ รองประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. พร้อมด้วยนายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ลงพื้นที่ศึกษาการดำเนินงาน “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” สนับสนุนโดย สสส. ที่โรงเรียนบ้านป่าแฝ-หนองอ้อ-สันทรายมูล อ.แม่สาย จ.เชียงราย 1 ใน 10 โรงเรียนต้นแบบห้องเรียนสู้ฝุ่น จ.เชียงราย 

โดย ดร.พัชรินทร์ จันทาพูน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่าแฝ-หนองอ้อ-สันทรายมูล กล่าวว่า โรงเรียนบ้านป่าแฝฯ เคยประสบกับปัญหาฝุ่นควันจนต้องหยุดทำการเรียนการสอน แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นในเดือนตุลาคม 2563 ทางโรงเรียนได้เพิ่มกิจกรรม “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เสริมหลักสูตรการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา เด็ก ๆ มีความรู้สามารถอ่านค่าจากเครื่องวัดค่าฝุ่น และติดธงสีต่าง ๆ เพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์ 2 ครั้งต่อวัน คือ ในช่วงเช้าและเที่ยง หากแกนนำนักเรียนปักธงสีแดง หมายถึง มีค่าฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ 91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป เด็กนักเรียนจะงดกิจกรรมกลางแจ้ง พร้อมกันนี้ยังได้นำความรู้เรื่องการไม่เผานา-ไร่ ส่งต่อยังผู้ปกครอง แนะนำการกำจัดฟางข้าวด้วยการหมักทำปุ๋ยทดแทนการเผา เพื่อป้องกันการเกิดฝุ่นควันในพื้นที่


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top