Sunday, 27 April 2025
ECONBIZ NEWS

‘พลังงาน’ จับมือ ‘ซัสโก้’ ลดราคาดีเซลลิตรละ 1 บาท 1 เดือน ร่วมฉลองวันพ่อแห่งชาติ - ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน

เมื่อวานนี้ (3 ธ.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้แถลงถึงความร่วมมือระหว่างกระทรวงพลังงาน และ กลุ่มบริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) ในการลดราคาน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 1.00 บาท เป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2568 ณ สถานีบริการจำหน่ายน้ำมันของ ซัสโก้ และ ไซโนเปค ทั้ง 158 แห่ง ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคใต้ เนื่องในโอกาสวันมหามงคล วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และวันพ่อแห่งชาติ ทั้งนี้เพื่อสนองพระราชปณิธานในการสร้างประโยชน์และความสุขแก่พสกนิกรชาวไทย และเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องประชาชน

นายพีระพันธุ์ ระบุว่า กระทรวงพลังงานมีความมุ่งมั่นและดำเนินนโยบายทุกด้านในการลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะด้านพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันและก๊าซ หรือพลังงานอื่น ๆ เพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขให้ประชาชนถ้วนหน้า อย่างไรก็ตาม แม้ราคาก๊าซและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะขึ้นอยู่กับตลาดโลกซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของกระทรวงพลังงาน แต่ที่ผ่านมา ทางกระทรวงก็ไม่นิ่งนอนใจ และพยายามหาหนทางเพื่อลดภาระด้านพลังงานให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลด้านพลังงานอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง

“กระทรวงพลังงานขอขอบคุณกลุ่มบริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) และ คุณมงคล สิมะโรจน์ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทฯ เป็นอย่างยิ่ง ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของพี่น้องประชาชนชาวไทยในอีกทางหนึ่ง” 

ด้าน นายมงคล สิมะโรจน์ ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท ซัสโก้ฯ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิ 5 ธันวามหาราช และเป็นผู้ริเริ่มจัดงาน 5 ธันวามหาราช เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการร่วมมือกับกระทรวงพลังงานครั้งนี้ว่า  กลุ่มบริษัท ซัสโก้ ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจค้าน้ำมันมีความตั้งใจที่จะปรับลดราคาน้ำมันดีเซล เพื่อสนองพระราชปณิธานในการสร้างประโยชน์และความสุขแก่พสกนิกรชาวไทย และช่วยเหลือประชาชนตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ภายใต้การบริหารของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่มีนโยบายของทางกระทรวงพลังงานที่ต้องการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร อุตสาหกรรม และการขนส่ง รวมถึงประชาชนทั่วไปให้ได้เติมน้ำมันราคาถูก

'สุริยะ' ประกาศดันนโยบาย 'คมนาคมสีเขียว' เร่งเดินหน้าลงทุนเปลี่ยนอีวีบัส 5,000 คัน

'สุริยะ' ประกาศนโยบายหนุนคมนาคมสีเขียว ดันลงทุนโครงการและระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เร่งเปลี่ยนอีวีบัสกว่า 5,000 คัน พร้อมเปลี่ยนผ่านการเดินทางด้วยระบบรางครอบคลุมกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมือง

(4 ธ.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงาน งาน Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business ซึ่งจัดโดย 'กรุงเทพธุรกิจ' พร้อมกล่าวปาฐกถาในประเด็น 'Mobility Infrastructure for Sustainability 's Journey' โดยระบุว่า รัฐบาลจะเดินหน้าโครงการลงทุนทุกระบบให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเชื่อมการเดินทางแบบไร้รอยต่อ และลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ดี ตนได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เดินหน้าพัฒนาโครงข่ายด้านคมนาคม บริการประชาชน เพื่อสร้างโอกาสประเทศไทย สนองนโยบายรัฐบาล สร้างโอกาสการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้า เชื่อมประสิทธิภาพด้านการคมนาคมให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งทางบก น้ำ ราง และอากาศ ตลอดจนเชื่อมต่อการคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ในภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน

สำหรับการขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าว กระทรวงฯ กำหนดกรอบนโยบาย 9 แนวทาง ดังนี้ 1.สานต่อโครงการต่างๆ ตามแผนแม่บทของกระทรวงคมนาคม 2.ส่งเสริมโครงข่ายคมนาคมให้เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ 3.สร้างโอกาสในการลงทุน 4.ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบขนส่งได้อย่างเท่าเทียม 5.เปิดโอกาสให้โลจิสติกส์ไทย 6.สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กรีนโลจิสติกส์เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 

7. เพิ่มความปลอดภัยภาคคมนาคมขนส่งทั้งในช่วงก่อสร้างและการให้บริการ โดยมุ่งเน้นการกำกับดูแลให้ได้มาตรฐาน 8. ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย และหลักธรรมาภิบาลที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และ 9.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกมิติ

“เป้าหมายกระทรวงคมนาคม เรามุ่งเน้นปรับเปลี่ยนการขนส่งจากทางถนน เป็นการขนส่งทางรางและทางน้ำ ส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนการเดินทางมาเป็นขนส่งสาธารณะ มุ่งหวังประเทศไทยจะต้องมีคมนาคมขนส่งคนและสินค้าที่มีประสิทธิภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัด มลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ ซึ่งมีผลต่อสุขภาพของประชาชน” นายสุริยะ กล่าว

ทั้งนี้ การผลักดันภาคขนส่งให้มีประสิทธิภาพ กระทรวงฯ ได้มุ่งเน้นพัฒนาระบบขนส่งที่ตอบโจทย์การเดินทางของประชาชน เชื่อมต่อทุกการเดินทางจากบ้าน ที่ทำงาน สู่พื้นที่สำคัญต่างๆ โดยเชื่อว่าการเดินทางด้วยระบบราง รถไฟฟ้าที่ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัด มลพิษทางอากาศ

รวมทั้งกระทรวงฯ จะเร่งเสริมให้เอกชน และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งทางบก พัฒนาฟีดเดอร์ที่สนับสนุนระบบราง ด้วยการเปลี่ยนผ่านอีวีบัส รถเมล์ รถโดยสารประจำทาง และรถโดยสาร บขส. ให้ปรับเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันเป็นยานยนต์ไฟฟ้า

ซึ่งตามแผนกระทรวงฯ จะส่งเสริมการเปลี่ยนอีวีบัสรวมกว่า 5,000 คัน ประกอบด้วย รถโดยสารประจำทางไฟฟ้าเขต กทม.และปริมณฑล ภายใต้สัมปทานของเอกชน ปัจจุบันให้บริการ 2,350 คัน จะเพิ่มเป็น 3,100 คันภายในปีหน้า รวมไปถึงการเปลี่ยนรถโดยสารไฟฟ้าของ ขสมก. ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเปลี่ยนรถไฟฟ้า 1,520 คัน ทดแทนรถโดยสารครีมแดง (รถร้อน) และการเปลี่ยนรถโดยสารไฟฟ้าระหว่างเมืองของ บขส. ที่มีแผนเปลี่ยน 381 คัน

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า เพื่อผลักดันให้ระบบรางเป็นการคมนาคมหลักของประเทศ กระทรวงฯ มีแผนพัฒนารถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล รวม 14 เส้นทาง ระยะทาง 554 กิโลเมตร ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 13 โครงการ ระยะทาง 276.84 กิโลเมตร อยู่ระหว่างก่อสร้าง 5 โครงการ ระยะทาง 84.30 กิโลเมตร อยู่ระหว่างขออนุมัติ 3 โครงการ ระยะทาง 29.34 กิโลเมตร เตรียมความพร้อม 12 โครงการ ระยะทาง 162.93 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ โดยเปิดให้บริการแล้ว 4,044 กิโลเมตร ก่อสร้างเสร็จ 5 เส้นทาง อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 4 เส้นทาง ขออนุมัติโครงการและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) 6 โครงการ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแล้วพร้อมประกวดราคา 1 โครงการ

ขณะที่การพัฒนารถไฟความเร็วสูง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 2 เส้นทาง ระยะทาง 473 กิโลเมตร ประกอบด้วย รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ระยะ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร อยู่ระหว่างก่อสร้าง และรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กิโลเมตร อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง ส่วน 1 เส้นทาง อยู่ระหว่างการขออนุมัติโครงการ คือ ไฮสปีดไทยจีนระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย

ด้านการพัฒนาขนส่งทางน้ำ กระทรวงมีการพัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะ จำนวน 18 ท่า ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 11 ท่า  คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2568 จำนวน 5 ท่า และภายในปี 2570 จะเปิดให้บริการได้ 13 ท่า รวมเป็น 29 ท่า นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาท่าเรือสำราญ (Cruise Terminal) ได้แก่ ชลบุรี เกาะสมุย และภูเก็ต เพื่อเป็นท่าเรือท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เพื่อเพิ่มท่าเทียบเรือและแก้ไขปัญหาการจราจรภายในท่าเรือให้เกิดความสะดวก

ส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางอากาศ ได้ผลักดันให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอยู่ใน 20 อันดับโลกภายในปี 2572 โดยในระยะเร่งด่วน จะนำเทคโนโลยีใหม่มาให้บริการและเร่งปรับปรุงอาคารสถานที่ที่ดำเนินการได้ทันที รวมถึงการตรวจ FAA เพื่อปรับระดับมาตรฐานการบินและการเตรียมพร้อมในการตรวจของ ICAO ตลอดจนการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานในภูมิภาค เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังมีแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ ซึ่งจะเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) โดยเฉพาะการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลในภูมิภาคอาเซียน โดยการศึกษาพบว่าจะช่วยลดต้นการขนส่งสินค้า  15-20% เพิ่มการจ้างงานได้ 2 แสนอัตรา และโครงการนี้คาดว่าจะทำให้ GDP ของไทยโตขึ้น 5.5%

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ ประกาศความร่วมมือ ‘ดีอี-อว.- ศธ.’ และ ‘UNESCO’ เตรียมเป็นเจ้าภาพงาน ‘UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025’ ครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิก ย้ำบทบาทประเทศไทย ผู้นำด้านจริยธรรม AI ในเวทีโลก

(4 ธ.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แสดงวิสัยทัศน์ผ่านปาฐกถาพิเศษในการแถลงข่าวการจัดงานประกาศความร่วมมืออย่างเป็นทางการของกระทรวงดีอี กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในการเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลก ‘The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025’ ภายใต้แนวคิด ‘Ethical Governance of AI in Motion’ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายน 2568 ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ว่า ความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ที่ควรต้องเป็นไปตามหลักการสำคัญ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยมีแผนและการเตรียมการในการนำ AI มาใช้ในองค์กรเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2567 สูงถึง 73.3% ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาเกือบ 20% (ข้อมูลจากรายงาน AI Readiness Measurement 2024) ที่จัดทำโดย ETDA และ สวทช. นอกจากนี้ ประเทศไทยได้มีการประกาศ แนวทางการกำกับดูแลโดยมี ‘แนวทางการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหาร’ และ ‘คู่มือแนวทางการประยุกต์ใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กร’ เพื่อประโยชน์ในการนำแนวทางและคู่มือไปประกอบการพิจารณาการนำ AI มาใช้ในระดับองค์กรเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น จากศักยภาพของประเทศในมิติต่างๆ จึงได้นำไปสู่ความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพร่วมเพื่อจัดงาน ‘UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025’ ในปีหน้านี้ จะมีทั้งเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ การส่งเสริมความร่วมมือในระดับพหุภาคี รวมไปถึงการเสริมสร้างความสามารถในการกำกับดูแล AI ในประเทศที่กำลังพัฒนา ที่ถือได้ว่าจะเป็นโอกาสในการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาคมโลก ที่ไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้และความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก และแสดงให้เห็นว่าไทยเองมีความสามารถในการเป็น ‘แหล่งเรียนรู้’ ในด้าน AI Governance ที่พร้อมร่วมมือกับ UNESCO อีกด้วย 

ด้าน นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึง ความพร้อมของประเทศไทยจากบทบาทของ กระทรวง อว. ในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยี AI ไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยไม่เพียงเน้นสร้างนวัตกรรมเท่านั้น ยังให้ความสำคัญกับจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีหน่วยงาน ภายใต้กระทรวง อว. คือ สวทช. ที่ร่วมผลักดันการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม AI ที่จะช่วยตอบโจทย์ระดับประเทศ รวมถึงการมีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนากรอบจริยธรรม AI ที่มุ่งเน้นความสอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล ประกอบกับ ประเทศไทยได้มีการส่งเสริมและพัฒนาความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ผ่านการเตรียมทำการประเมินความพร้อมด้าน AI ตามกรอบแนวทางของ UNESCO RAM ที่เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ไทยได้เข้าใจสถานการณ์ความพร้อม ซึ่งครอบคลุมในมิติต่างๆ 

อีกทั้งข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ จะพัฒนาไปเป็นข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปสนับสนุนการวางแผนสำหรับประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนการปรับปรุงในมิติที่จำเป็น ภายใต้บริบทของไทยให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การร่วมจัดงาน Global Forum on the Ethics of AI 2025 ในปีหน้านี้ จะช่วยสะท้อนถึงการผนึกกำลังที่เข้มแข็งระหว่างกระทรวง อว. พร้อมด้วยกระทรวงดีอี และกระทรวง ศธ. จากประเทศไทย ในการทำงานร่วมกับ UNESCO เพื่อร่วมสร้างอนาคตที่เท่าเทียมและยั่งยืนสำหรับทุกคน

ขณะที่ นายซิง ฉวี่ รองผู้อำนวยการใหญ่ UNESCO ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยในความเป็นผู้นำด้านการส่งเสริมธรรมาภิบาลจริยธรรม AI และการผลักดันความร่วมมือระดับนานาชาติ พร้อมเน้นย้ำว่าภารกิจของยูเนสโก ในการสร้างสันติภาพผ่านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในยุคที่ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคม เศรษฐกิจ และชีวิตของผู้คน พร้อมยังกล่าวถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มาพร้อมกับความก้าวหน้าในโครงสร้างพื้นฐาน AI ของภูมิภาค จนอาจนำมาสู่ความท้าทายที่เกิดขึ้น เช่น ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และผลกระทบต่อการจ้างงานจากระบบอัตโนมัติอย่าง AI เป็นต้น ซึ่งการที่ประเทศไทยได้มีการนำกรอบแนวทางการประเมินความพร้อมด้าน AI ของยูเนสโก (UNESCO RAM) มาใช้นั้น ถือเป็นก้าวสำคัญของกรอบการทำงานในการประเมินความพร้อมด้านการประยุกต์ใช้ AI ของไทย ที่มีความแข็งแกร่งและพร้อมส่งเสริมการใช้ AI ด้วยโปร่งใส ตามกรอบธรรมาภิบาลและจริยธรรมตามมาตรฐานสากล โดย Global Forum on the Ethics of AI 2025 จะเป็นเวทีสำคัญสำหรับการเจรจาระดับโลกในการร่วมพัฒนาจริยธรรมการประยุกต์ใช้ AI ที่เคารพสิทธิมนุษยชน โปร่งใส เป็นธรรม พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับภูมิภาคด้านธรรมาภิบาลจริยธรรม AI อย่างแท้จริง

พร้อมกันนี้ ในการแถลงข่าวความร่วมมือครั้งนี้ ประเทศไทย ยังได้ประกาศจุดยืนต่อผู้นำโลก ถึงความพร้อมของการประยุกต์ใช้งาน AI อย่างมีจริยธรรมและธรรมาภิบาล ตามกรอบ UNESCO’s AI Readiness Assessment หรือ UNESCO RAM พร้อมเปิดเวทีเสวนาเชิงลึกโดยผู้นำและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง กับการเสวนาใน 2 ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่

• "Thailand's Journey in Driving AI Ethics & Governance: Insights from Hosting the Global Forum on the Ethics of AI" เส้นทางของไทยในการขับเคลื่อนจริยธรรมและการกำกับดูแล AI: มุมมองจากการเป็นเจ้าภาพ Global Forum on the Ethics of AI โดย ดร.เวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผอ. NECTEC,
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส ETDA และ ดร.วีระ วีระกุล รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ที่จะมาร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์การใช้การประชุมระดับโลกครั้งนี้เป็นแพลตฟอร์มในการยกระดับบทบาทของไทยสู่การเป็นผู้นำด้าน AI ในระดับสากล

• “Policy and Strategic Frameworks”, in the Region Readiness Assessment Methodology (RAM)” นโยบายและกรอบยุทธศาสตร์” ในกรอบแนวทางการประเมินความพร้อมระดับภูมิภาค โดยนายอิราคลี โคเดลี หัวหน้าหน่วยจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ UNESCO ร่วมกับ ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผอ. ETDA, ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผอ. NECTEC ที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นการวางกรอบการประเมินความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ (UNESCO RAM) ที่จะเป็นเครื่องมือมาตรฐานสำหรับประเทศในภูมิภาค พร้อมแนวทางการจัดตั้งหอสังเกตการณ์จริยธรรมและการกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ระดับโลก ที่จะช่วยสร้างระบบนิเวศปัญญาประดิษฐ์ที่ยั่งยืน

จากสถานการณ์การเตรียมความพร้อมของประเทศ และกระแสการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI อย่างมีจริยธรรมและธรรมาภิบาลในเวทีระดับโลก ที่สะท้อนจากมุมมองในระดับนโยบายของประเทศ สู่ความร่วมมือจากหน่วยงานสำคัญของไทยและ UNESCO จึงได้นำสู่การร่วมดำเนินงานโครงการสำรวจความพร้อมด้านจริยธรรม AI ของประเทศไทยตามแนวทางแนะนำของ UNESCO (โดยติดตามความคืบหน้าในการจัดงานอย่างต่อเนื่อง ได้ผ่านเพจ https://www.ai.in.th/) รวมถึงการเตรียมจัดการประชุมระดับนานาชาติครั้งแรกในเอเซียแปซิฟิก “The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ในแนวคิด “Ethical Governance of AI in Motion” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายน 2568 ที่กรุงเทพฯ โดยติดตามความคืบหน้าในการจัดงานอย่างต่อเนื่อง ได้ผ่านเพจ ETDA Thailand

ปตท. เผย 3 ปี แบกภาระราคา NGV รวม 18,123 ล้านบาท ขณะ ก.พลังงาน ขอความร่วมมือตรึงราคาต่อถึงสิ้นปี 2568

(4 ธ.ค. 67) ปตท. เผย 3 ปี แบกรับภาระต้นทุนราคา NGV รวม 18,123 ล้านบาท ขณะกระทรวงพลังงานยังขอความร่วมมือให้ตรึงราคาช่วยกลุ่มรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะจนถึงสิ้นปี 2568 ส่วนเฉพาะปี 2567 ปตท. แบกภาระลดลงเหลือกว่า 1 พันล้านบาท เหตุปล่อยราคา NGV กลุ่มผู้ใช้ทั่วไปเป็นไปตามกลไกตลาด ล่าสุดราคาลดลงต่ำสุดในรอบปี เหลือ 17.46 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่กลุ่มรถแท็กซี่และรถสาธารณะยังคงตรึงราคาไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม   

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้สรุปการอุดหนุนราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 – 5 พ.ย. 2567 ว่า ปตท. ได้ช่วยเหลือราคา NGV สำหรับกลุ่มผู้ใช้ NGV ทั่วไป และกลุ่มผู้ขับขี่รถแท็กซี่สาธารณะในเขต กทม. และปริมณฑล รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 18,123 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ขอความร่วมมือ ปตท. ช่วยตรึงราคา  NGV มาตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดย ปตท. ได้จัดทำเป็น “โครงการ NGV เพื่อลมหายใจเดียวกัน” และช่วยตรึงราคา NGV ไว้ที่ 14.62 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับผู้ใช้ NGV ทุกราย โดยตลอดปี 2564-2566 ปตท. ได้แบกรับภาระค่า NGV ไว้ประมาณ 17,000 ล้านบาท  

ต่อมาเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ในปี 2567 กระทรวงพลังงานพิจารณาเห็นว่าเศรษฐกิจประเทศยังชะลอตัว จึงขอความร่วมมือ ปตท. ให้ช่วยตรึงราคา NGV ต่อไปอีก 2 ปี ตั้งแต่ปี 2567-2568 ดังนั้นทาง ปตท. จึงได้ปรับเปลี่ยนจาก “โครงการ NGV เพื่อลมหายใจเดียวกัน” มาเป็น “โครงการบัตรสิทธิประโยชน์กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ” พร้อมกับการปรับเปลี่ยนราคาใหม่

โดยแบ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้ NGV ทั่วไป จะไม่ได้รับการช่วยเหลือและต้องซื้อ NGV ในราคาที่เป็นไปตามกลไกตลาด ส่วนกลุ่มรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะจะยังได้รับการช่วยเหลือ แต่ก็มีการขยับราคาจากที่ตรึงไว้ที่ 14.62 บาทต่อกิโลกรัม ขยับขึ้นมาเป็น 15.59 บาทต่อกิโลกรัมจนถึงปัจจุบัน ทำให้ภาระค่า NGV ที่ ปตท. ต้องแบกรับไว้ลดลง เหลือประมาณปีละเกือบ 1,100 ล้านบาท จากเดิม 3 ปี (พ.ศ. 2564-2566) แบกภาระต้นทุน NGV ไว้ถึงประมาณ 17,000  ล้านบาท

สำหรับราคา NGV สำหรับผู้ใช้ NGV ทั่วไป ปตท. จะปรับราคาทุก 15 วัน โดยล่าสุดราคาอยู่ที่ 17.46 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาระหว่างวันที่ 16 พ.ย. -15 ธ.ค. 2567 และนับเป็นราคาที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2567 ที่ ปตท. กำหนดให้ราคา NGV เปลี่ยนแปลงตามกลไกตลาด ส่วนราคาที่สูงที่สุดเคยอยู่ที่ 19.59 บาทต่อกิโลกรัม ในเดือน มี.ค. 2567

ขณะที่กลุ่มผู้ใช้ NGV ที่เป็นกลุ่มรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะ (เส้นทางเดินรถเขต กทม. หมวด 1 และ 4 ไม่รวม ขสมก.) จะได้รับการช่วยเหลือตรึงราคา NGV ไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัมตามเดิม ขณะที่กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งเป็นรถบรรทุกใน “โครงการส่งเสริมความปลอดภัยใช้ NGV” ที่เติมก๊าซที่สถานีในแนวท่อ และสถานีนอกแนวท่อ จะได้รับการช่วยเหลือราคา NGV ในกรณีที่ราคาเกินกว่า 18.59 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น

‘เอกนัฏ’ ลงใต้ด่วน ร่วมปล่อยคาราวานถุงยังชีพ 5 จังหวัด พร้อมเตรียมออกมาตรการช่วยผู้ประกอบการหลังน้ำลด

(3 ธ.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากกรณีพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย ได้ประสบอุทกภัย เนื่องจากฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ 5 จังหวัดได้แก่ สงขลา พัทลุง ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และมีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SME และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ ล่าสุดจากการสำรวจความเสียหายของสถานประกอบการ พบว่า มีโรงงานอุตสาหกรรม 52 แห่ง วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 14 แห่ง เหมืองแร่ 1 แห่ง มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 23 ล้านบาท และมีวิสาหกิจชุมชน 23 แห่ง (ข้อมูลจากศูนย์ CMC สะสมตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2567) 

กระทรวงอุตสาหกรรม จึงใช้พื้นที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จังหวัดสงขลา จัดตั้งเป็น “ศูนย์อุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยพี่น้องชาวไทยประสบภัยน้ำท่วม“ รวบรวมสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค ของใช้จำเป็น และยารักษาโรค เพื่อระดมและลำเลียงไปช่วยพื้นที่ประสบภัยในจังหวัดใกล้เคียง และเป็นศูนย์ประสานหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ติดตามความเสียหาย เตรียมพร้อมมาตรการต่าง ๆ รองรับสถานการณ์หลังน้ำลด กำหนดแผนป้องกันหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวอีกครั้งทั้งในระยะฉับพลัน ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ ในการสนับสนุนสิ่งของอุปโภค บริโภค เพื่อส่งมอบเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัด บรรเทาความเดือนร้อนเป็นการเร่งด่วน

ด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า มอบหมายให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมบูรณาการกับภาคเอกชน จัดตั้งศูนย์ประสานหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐมนตรีฯ เอกนัฏ ผ่าน 3 มาตรการ ได้แก่ 1) มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัยเร่งช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ 2) มาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลดผ่านการให้คำปรึกษาปัญหาธุรกิจอุตสาหกรรม และช่วยเหลือในการปรับปรุงกระบวนการผลิต ฟื้นฟูเครื่องจักร ระบบไฟฟ้า เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้กลับมาดำเนินการได้ อีกทั้ง ยังมีการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม 3) มาตรการเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ผ่านการจัดทำแผนรองรับการเกิดอุทกภัยเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยจัดทำ Check list เมื่อเกิดเหตุอุทกภัย การสร้างผนังกั้นน้ำ สอนวิธีการป้องกันอุปกรณ์เครื่องจักร เป็นต้น 

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้เร่งให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู และเยียวยา ผ่านการจัดตั้ง “ศูนย์อุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยพี่น้องชาวไทยประสบภัยน้ำท่วม” โดยใช้พื้นที่บริเวณศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 จังหวัดสงขลา เป็นจุดรวบรวมสิ่งของอุปโภค บริโภค ของใช้จำเป็น และยารักษาโรค บรรจุลง “ถุงอุตสาหกรรมรวมใจ MIND ไม่ทิ้งกัน” เพื่อกระจายไปยังประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อน เบื้องต้นได้จัดเตรียมถุงยังชีพ จำนวน 2,500 ชุด โดยในวันนี้ (3 ธันวาคม 2567) จะมีการปล่อยคาราวานรถบรรทุกสำหรับการส่งมอบถุงอุตสาหกรรมรวมใจฯ ให้แก่ประชาชนใน 5 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยจะส่งมอบให้จังหวัดละ 500 ชุด ได้แก่ สงขลา พัทลุง นราธิวาส ยะลา และปัตตานี 

“กระทรวงอุตสาหกรรมและภาคีเครือข่าย ขอรวมใจส่งมอบรอยยิ้ม เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ให้สามารถก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้” นายเอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย

สวนสยามลดค่าเข้า จาก 1,000 เหลือ 240 หวังกระตุ้นนทท. มองเศรษฐกิจยังซบเซาถึงกลางปี 68

(3 ธ.ค.67) นายวุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทสยามพาร์คซิตี้ ซึ่งดำเนินธุรกิจสวนสยาม (Siam Amazing Park) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธุรกิจสวนสนุกและสวนน้ำยังคงมีความต้องการ แต่ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาและภาระหนี้สินที่สูง ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง 40% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 และคาดว่าจะยังคงซบเซาต่อไปจนถึงกลางปี 2568 เนื่องจากผู้คนยังไม่มั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจ จึงมีการประหยัดการใช้จ่ายมากขึ้น

ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการหลายรายประสบปัญหาด้านสภาพคล่องและต้องใช้เงินทุนส่วนตัวเพื่อประคับประคองธุรกิจ ซึ่งนายวุฒิชัยได้เรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดกลางสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน เพื่อนำไปพัฒนาธุรกิจเพิ่มเติม นอกจากมาตรการช่วยเหลือหนี้สินที่รัฐบาลกำหนดให้กับกลุ่มเปราะบางและธุรกิจเอสเอ็มอีรายย่อยแล้ว

"รัฐบาลควรพิจารณาช่วยเหลือธุรกิจหรือบริษัทที่ดำเนินการมาเป็นเวลานาน มีการจ้างงานจำนวนมาก และมีศักยภาพในการกลับมาฟื้นฟูกิจการ เพราะการที่ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินงานได้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น" นายวุฒิชัยกล่าว พร้อมเสริมว่าในปัจจุบันหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ภาครัฐไม่สามารถช่วยเหลือได้ทุกคนและทุกธุรกิจ

สำหรับสวนสยาม บริษัทได้ปรับตัวโดยลดค่าใช้จ่ายและจัดโปรโมชั่นเพื่อรองรับกำลังซื้อที่ลดลง โดยลดราคาค่าบริการจาก 1,000 บาท เหลือ 240 บาทสำหรับผู้ใหญ่ และเปิดให้ซื้อตั๋วผ่านช่องทางออนไลน์ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 ธันวาคม 2567 ซึ่งจะสามารถใช้ได้จนถึง 1 มกราคม 2568 โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า มีผู้เข้าใช้บริการในวันเสาร์-อาทิตย์เฉลี่ยอยู่ที่ 4,000-5,000 คนต่อวัน ทำให้สวนสยามยังสามารถสร้างรายได้เพื่อหมุนเวียนธุรกิจได้บ้าง

'พิชัย' เปิดงาน GCNT Forum 2567 ประกาศความสำเร็จ FTA ไทย-เอฟตา ดันเศรษฐกิจ เชื่อมั่น ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมใหม่ PCB และ AI โลก หนุนสร้าง SME รุ่นใหม่ ส่งออกสินค้าทั่วโลก

เมื่อวานนี้ (2 ธ.ค.67) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายจาก นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในงาน UN Global Compact Network Thailand Forum (GCNT Forum) 2567 และกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Inclusive Business – A Catalyst for Change to an Equitable Society : ธุรกิจแบบมีส่วนร่วม – เร่งสร้างสังคมไทยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งภายในงานมีนายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย นางสาวมิเกลล่า ฟิลแบรย์-สตอเร่ ผู้ประสานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (Ms. Michaela Friberg-Storey, UN Resident Coordinator, Thailand) และสมาชิกจาก UN Global Compact Network Thailand ร่วมด้วยที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ESCAP Hall ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ โดยนายพิชัยได้ถือโอกาสนี้ประกาศความสำเร็จของการเจรจา FTA ไทย-เอฟตา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย พร้อมเน้นย้ำถึงทิศทางของการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของไทย อาทิ PCB Data Center และการสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยให้มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น 

นายพิชัย กล่าวว่า ท่านนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ตนมาเปิดงาน UN Global Compact Network Thailand Forum  (GCNT Forum) 2567 ในวันนี้ ซึ่งเป็นเครือข่ายของภาคธุรกิจที่ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน วันนี้จีดีพีของประเทศเริ่มดีขึ้น เมื่อไตรมาสที่แล้วจีดีพีไทยโต 3% และการส่งออกของไทยตัวเลขล่าสุด (ต.ค.67) ขยายตัว 14.6% ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี แต่จะทำอย่างไรให้ดีขึ้นอีก ให้เกิดการค้าการลงทุนเพิ่มขึ้น เรื่องหนึ่งที่กระทรวงพาณิชย์ทำสำเร็จแล้วคือการเจรจา FTA ไทยกับเอฟตา หรือ สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป ที่ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ซึ่งกำลังจะลงนามกันที่ดาวอส โดยมีผู้นำหลายประเทศเข้าร่วม ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาเขตการค้าเสรีฉบับต่อไป ขณะนี้มีหลายประเทศที่มาเร่งเรื่องการเจรจา FTA ทั้งกับ EU และ UAE และทางภาคเอกชน อย่างหอการค้าแห่งประเทศไทย แสดงความยินดีต่อความสำเร็จของรัฐบาลไทยและกระทรวงพาณิชย์ ในการเจรจา FTA ไทย-เอฟตา ที่จะช่วยเปิดโอกาส ทางการค้า ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้

“FTA มีความสำคัญมากเพราะจะทำให้มีการลงทุนเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้นอีกมาก เมื่อไม่กี่วันก่อนนักลงทุนจาก USABC (สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน) ก็สอบถามถึงความคืบหน้าการเจรจา FTA ฉบับต่างๆ ของไทย วันนี้ ต้องเรียนว่า รัฐบาล และกระทรวงพาณิชย์จะพยายามเจรจาให้สำเร็จให้มากที่สุด ไม่เช่นนั้นศักยภาพทางการแข่งขันของไทยจะสู้กับเวียดนามได้ยาก เพราะเวียดนามมี FTA ครอบคลุมแล้วถึง 56 ประเทศ ในขณะที่ไทยเพิ่งมี 19 ประเทศ เราต้องเร่งเจรจาเพิ่มขึ้น ไม่เช่นนั้นต้นทุนการผลิตสินค้าของเราจะสู้เวียดนามไม่ได้ เนื่องจากต้นทุนเวียดนามถูกกว่าของเราอยู่แล้ว 10% แต่ถ้าเราไม่มีเขตการค้าเสรีจะต้องเสียภาษีเพิ่มอีก 20% ทำให้ต้นทุนต่างกันถึง 40% ทำให้เราต้องเร่งเจรจา FTA เพิ่มขึ้น ดังนั้น การเดินหน้าเจรจา FTA จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ” รมว. พาณิชย์กล่าว

นายพิชัยกล่าวต่อว่า ตอนนี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยกำลังไปได้ดี มีการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ PCB (แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์) ที่หลายประเทศบอกว่าในอนาคตไทยจะเป็นศูนย์กลาง PCB ของโลก และเราจะเป็นศูนย์กลางของ Data Center และ AI ซึ่งเป็นทิศทางของโลก ที่เราต้องเร่งส่งเสริมในเรื่องนี้ ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ก็พยายามส่งเสริมให้มีเอสเอ็มอีรุ่นใหม่ให้เกิดขึ้น เมื่อวันก่อนตนไปที่เชียงใหม่ได้พบกับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้เข้าไปให้การสนับสนุน พาไปออกบูธในต่างประเทศ พาไปขายของ และสำหรับบริษัทหรือแบรนด์ที่มีศักยภาพ ทางกระทรวงพาณิชย์มีแนวคิดที่จะสร้าง Thailand Brand เพื่อการันตีคุณภาพ ให้ผู้ประกอบการสามารถขายสินค้าและพัฒนาต่อยอดได้ ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อว่าเป็นสินค้าชั้นเยี่ยม

“กระทรวงพาณิชย์ พยายามส่งเสริมให้มีเอสเอ็มอีรุ่นใหม่ให้เกิดขึ้น เน้นการขับเคลื่อนทุกภาคธุรกิจแบบมีส่วนร่วม ตามแนวทางของรัฐบาลในการส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าสู่ความยั่งยืน ผ่านนโยบายสำคัญ อาทิ 1.สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพเพิ่มช่องทางการค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ให้เอสเอ็มอีเข้าถึงตลาดทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น 2.การบริหารให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้บริโภค เกษตรกรและผู้ประกอบการ สามารถเติบโตไปพร้อมกัน สร้างผลประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย 3.การขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และ 4.ส่งเสริมผู้ประกอบการให้เข้าถึงตลาดสินค้าสิ่งแวดล้อม ตอบสนองความต้องการของตลาดที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งขณะนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เราต้องเร่งพัฒนาให้ทันต่อต่อตลาด ใช้จุดแข็งต่างๆ ชูซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้สามารถขายสินค้าให้มากขึ้นได้ วันนี้โลกเปลี่ยนแล้วต้องกลับมาคิดใหม่ทำใหม่ คิดเหมือนเดิมไม่ได้แล้วเพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว” นายพิชัยกล่าว

KEX ไร้แผนถอนหุ้น ปิด-ขายกิจการ ยันเดินหน้าขยายธุรกิจในไทยและอาเซียนต่อเนื่อง

(2 ธ.ค. 67) บริษัท เคอีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX ออกแถลงการณ์ตอบโต้ข่าวลือเรื่องการปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน โดยยืนยันว่า บริษัทไม่มีแผนหยุดดำเนินธุรกิจหรือถอนหุ้นจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมเน้นความมุ่งมั่นในการเติบโตระยะยาวในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  

เคอีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส  ระบุว่าการรีแบรนด์จาก Kerry เป็น “KEX” เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการส่งพัสดุด่วน โดยได้รับการสนับสนุนจาก SF Express ทั้งในด้านการดำเนินงานและการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย เพื่อนำเสนอบริการที่รวดเร็ว น่าเชื่อถือ และเปี่ยมด้วยนวัตกรรม  

โดยในปี 2567-2568 บริษัทวางแผนกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ ลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และขยายฐานลูกค้ากลุ่มกลางถึงสูง ทั้งรูปแบบ C2C และ B2B พร้อมปรับปรุงบริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า  

KEX ดำเนินการปรับปรุงทรัพยากรในเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง เช่น การเปิด-ปิด ย้ายที่ตั้ง หรือรวมศูนย์กระจายสินค้า (DCs) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดความสูญเสีย การเพิ่มทุนล่าสุดมูลค่า 5.6 พันล้านบาท ตอกย้ำถึงการสนับสนุนจาก SF Express เพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินและเพิ่มความสามารถในการทำกำไร   KEX เป็นส่วนสำคัญในกลยุทธ์ของ SF Group ในภูมิภาคนี้ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาบริการที่ยั่งยืนและตอบสนองความต้องการของลูกค้าในระยะยาว  

‘เอกนัฏ’ เล็งใช้ AI ตรวจจับสินค้าออนไลน์ไม่ได้มาตรฐาน ย้ำชัด! ความปลอดภัยต่อผู้บริโภคสำคัญที่สุด

เมื่อวันที่ (27 พ.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีมาตรฐานก่อนจำหน่ายไปยังผู้บริโภค โดยพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน มักนิยมสั่งซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มออนไลน์กันมากขึ้น ซึ่งบางครั้งเกิดการร้องเรียนเรื่องสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ไม่คุ้มค่า คุ้มราคา โดยจากสถิติเรื่องร้องเรียนสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 -2567 เกิดการร้องเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2566 ได้รับการร้องเรียนจำนวน 209 เรื่อง และในปี 2567 ได้รับการร้องเรียนแล้ว 216 เรื่อง ซึ่งสินค้าที่มีการร้องเรียนเข้ามา ได้แก่ ปลั๊กไฟ สายไฟ พาวแบงก์ หม้อสแตนเลส ภาชนะพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ทำให้หน่วยงานภาครัฐวางมาตรการในการควบคุมดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์ ป้องกันสินค้านำเข้าไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศ 

โดย กระทรวงอุตสาหกรรม มีหน่วยงานในสังกัดที่ดูแลเรื่องร้องเรียนในด้านต่างๆ ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนโรงงาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดูแลเรื่องการจดแจ้ง การขออนุญาตมาตรฐานต่างๆ และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ดูแลผู้ประกอบการจึงต้องมีการกำกับ ดูแล เกี่ยวกับการจัดการข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้น และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 282/2567 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 แต่งตั้งคณะกรรมการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรมขึ้น โดยมีนายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานคณะ ทำหน้าที่ ศึกษา และรวบรวม ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีศักยภาพในการสนับสนุนการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ จัดทำระบบ ฐานข้อมูล พร้อมเสนอแนวทางจัดทำแผนปฏิบัติการของหน่วยงานในกระทรวง ประสานงานกับหน่วยงานภายนอก เพื่อศึกษา พิจารณา กลั่นกรอง และนำเสนอแนวทางในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของทุกภาคส่วน เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปอุตสาหกรรม 

“การแต่งตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อให้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญร่วมกันเสนอมุมมอง และวิธีการจัดการที่เหมาะสม ควบคุมดูแลร้านค้าบนแฟลตฟอร์มออนไลน์อย่างจริงจัง ขอย้ำว่ากระทรวงอุตสาหกรรม เอาจริง ปรับจริง และจับจริงกับผู้ค้าที่จำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ผ่านมาตรฐานตามข้อกฎหมายกำหนด เพราะความปลอดภัยของประชาชนผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก” นายเอกนัฏ กล่าว

ด้านนายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า คณะกรรมการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม เป็นการดำเนินการตามแนวตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” โดยให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยและสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

ซึ่งที่ประชุมได้นำเสนอ 2 เทคโนโลยี ได้แก่ 1) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ที่ใช้ใน Platform e-Commerce เพื่อแก้ปัญหาสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือการแอบอ้างนำเครื่องหมาย มอก. มาแสดงบนผลิตภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาตบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และ 2) เทคโนโลยี Traffy Fondue มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์แจ้งเรื่องร้องเรียนรายงานสินค้าปลอมหรือผิดกฎหมาย โดยที่ประชุมได้ยังลงความเห็นให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นอีก 2 คณะ คือ

1. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐานเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม โดยมีนายวีรพงษ์ เอี่ยมเจริญชัย รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นประธานอนุกรรมการ มีหน้าที่ส่งเสริมการขับเคลื่อนการดำเนินงานการตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ สนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) มาประยุกต์ใช้ในการตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และบูรณาการความร่วมมือเพื่อเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่ร่วมดำเนินการ

และ 2. คณะอนุกรรมการพัฒนาแพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ โดยมี
นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่ ส่งเสริมการขับเคลื่อนการดำเนินงานการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์แจ้งเรื่องร้องเรียน สนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยี Traffy Fondue มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์แจ้งเรื่องร้องเรียนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม ให้การรับเรื่องร้องเรียนจากภาคประชาชนเป็นเรื่องง่ายผ่านช่องทางแอปพลิเคชันไลน์ 

 “การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 2 คณะดังกล่าว เรามุ่งดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายในการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ของกระทรวงอุตสาหกรรมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ร่วมกันหารือการจัดทำระบบที่เป็นมาตรฐาน มีฐานข้อมูลของผู้ขายและสินค้าที่ขายมีการใช้เทคโนโลยี  AI ในการตรวจสอบตัวตน สามารถตัดระบบผู้ที่ทำผิดกฎได้ในทันที เพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าบนแฟลตฟอร์มออนไลน์ มีความปลอดภัย ได้รับสินค้าที่มีมาตรฐาน ทั้งนี้คณะกรรมการฯ แต่ละชุดจะเร่งจัดหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป” นายพงศ์พล กล่าว

‘การบินไทย’ หวังผงาด!! ครองมาร์เกตแชร์ภูมิภาค 35% ขยายฝูงบิน 150 ลำ พร้อมปรับแผน เพื่อลดต้นทุนการซ่อม

(1 ธ.ค. 67) สถานการณ์อุตสาหกรรมการบินโลก IATA ประมาณการณ์รายได้รวมของสายการบินในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 119% ของรายได้รวมก่อนโควิด-19 โดยจะมีรายได้สูงถึง 996,000 ล้านดอลลาร์ เติบโตขึ้น 9.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งมีปัจจัยมาจากการเพิ่มขึ้นของผู้โดยสาร และการรักษาเสถียรภาพของผลตอบแทนต่อผู้โดยสาร

ขณะเดียวกัน IATA ยังคาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารทางอากาศทั่วโลกจะเติบโตถึง 2.1 เท่าภายในปี 2586 โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะมีอัตราการเติบโตสูงสุดคิดเป็น 2 ใน 3 โดยประเมินว่าในช่วงปีดังกล่าวจะมีจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางทางอากาศสูงถึง 8,600 ล้านคน และสัดส่วน 46% เดินทางในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

จากแนวโน้มการขยายตัวของปริมาณการเดินทางดังกล่าว บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) วางแผนช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เกตแชร์) ในฐานะสายการบินแห่งชาติที่ครองฐานการบินในประเทศไทย ซึ่งเป็นเดสติเนชั่นยอดฮิตของการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

‘ชาย เอี่ยมศิริ’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การบินไทยมุ่งมั่นจะเป็นสายการบินที่ให้บริการแบบเครือข่าย (Network Airline) เพื่อสร้างเป็นจุดแข็งในการขยายเครือข่ายเส้นทางบินในภูมิภาค โดยการขยายเครือข่ายเส้นทางบินระยะสั้นจะช่วยสร้างความได้เปรียบของบริษัท และเพิ่มความถี่และเวลาของเที่ยวบิน เพื่อเชื่อมต่อจุดบินเมืองใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกับฐานการบินสำคัญอย่างกรุงเทพฯ

โดยภายใต้แผนขยายบริการแบบเครือข่ายนั้น การบินไทยจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนฝูงบินรองรับ พร้อมทั้งปรับปรุงฝูงบินครั้งใหญ่ เพื่อให้การบินไทยสามารถบริหารจัดการต้นทุนด้านการบินอย่างมีประสิทธิภาพ 

ซึ่งปัจจุบันวางเป้าหมาย ‘ลดแบบเครื่องบินเหลือ 4 แบบ’ จากช่วงก่อนเกิดโควิด-19 การบินไทยมีฝูงบิน 8 แบบรวม103 ลำ ส่งผลให้ต้องแบกรับต้นทุนค่าซ่อมและอะไหล่ที่หลากหลาย โดยขณะนี้ได้ทำการปรับลดฝูงบินเหลือ 6 แบบรวม 79 ลำ และจะทยอยปรับลดต่อเนื่องในปี 2572 คาดเหลือ 5 แบบรวม 143 ลำ และท้ายที่สุดในปี 2576 จะเหลือ 4 แบบรวม 150 ลำ

สำหรับปลายทางของการปรับปรุงฝูงบิน ‘การบินไทย’ ในปี 2576 จะมีฝูงบินรวม 150 ลำ แบ่งเป็น เครื่องบินลำตัวกว้าง 98 ลำ และลำตัวแคบ 52 ลำ โดยมีประเภทเครื่องบิน ประกอบด้วย

• โบอิ้ง B777-300ER จำนวน 15 ลำ
• แอร์บัส A350 จำนวน 17 ลำ
• โบอิ้งตระกูล B787 จำนวน 66 ลำ
• แอร์บัส A320/A321 NEO จำนวน 52 ลำ

ทั้งนี้ การผลักดันแผนปรับปรุงฝูงบินดังกล่าว ปัจจุบันการบินไทยได้เจรจาและเข้าทำข้อตกลงกับ Boeing และ GE Aerospace เพื่อจัดหาเครืองบินลำใหม่จำนวน 45 ลำ พร้อมกับสิทธิในการจัดหาเพิ่มอีก 35 ลำ นอกจากนี้การจัดหาเครื่องบินลำตัวแคบ ปัจจุบันได้ทำการเจรจาและเข้าทำข้อตกลงกับ Lessor เพื่อจัดหาเครื่องบินลำใหม่รุ่นแอร์บัสA321 จำนวน 32 ลำ ซึ่งคาดว่าฝูงบินใหม่นี้จะทยอยรับมอบเข้ามาในปี 2570 – 2576

สูตรสำเร็จของการบินจากการวางแผนธุรกิจและปรับปรุงฝูงบินครั้งนี้ มีเป้าหมายจะครองมาร์เกตแชร์สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกลับมาในระดับ 35% ภายในปี 2572 เป็นต้นไป เพิ่มขึ้นหลังการปรับลดเครื่องบินและปรับปรุงฝูงบินในปี 2566 ที่การบินไทยมีจำนวนฝูงบิน 70 ลำ ครองมาร์เกตแชร์ 28% และจะเป็นผลบวกระยะยาวที่ทำให้การบินไทยสามารถบริหารต้นทุนทางการบิน ค่าซ่อมและอะไหล่เครื่องบินที่ลดลง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top