Sunday, 27 April 2025
ECONBIZ NEWS

ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีที่ เจนเซน หวง ซีอีโอ Nvidia ขยายการลงทุนในเวียดนาม

(6 ธ.ค. 67) รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Aksornsri Phanishsarn ถึงกรณีที่ เจนเซน หวง ซีอีโอ Nvidia ขยายการลงทุนในเวียดนาม โดยระบุว่า ตื่นเถิดชาวไทย!! เสร็จจากภารกิจในไทยแลนด์ เจนเซน หวง ซีอีโอ Nvidia ไปทำอะไรในเวียดนาม (เอิ่ม ไม่ใช่แค่ไปร่วมงานสัมมนาขายฝัน) แต่

(1) ไปลงทุน ตั้งศูนย์ R&D ในเวียดนาม เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพและอนาคต AI ในเวียดนาม !!  จึงตัดสินใจเลือกเวียดนามเป็นที่ตั้งศูนย์ R&D ของ Nvidia แห่งแรกในอาเซียน
(2) ไปเข้าซื้อ VinBrain สตาร์ทอัปด้าน AI ของเวียดนาม (บริษัทในเครือ VinGroup) 
(3) ไปจับมือ กับ Viettel บิ๊กเทเลคอมของเวียดนาม เพื่อจัดตั้งศูนย์ Cyberspace
(4) ไปร่วมมือ กับ FPT บริษัทไอทีใหญ่สุดในเวียดนาม เพื่อพัฒนาระบบ smart Cloud
ฯลฯ

ขณะเดียวกัน เจนเซน หวงยังได้ควง นายกฯเวียดนาม ไป enjoy eating street food นั่งยอง ๆ ทานอาหารริมทางกลางกรุงฮานอย มีทั้งตีนไก่ หมูทอดหมัก เต้าหู้กับต้นหอม และจิบเบียร์ ชนแก้วแบบติดดิน เพื่อฉลองความร่วมมือ ในข้อตกลงเพื่อจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในเวียดนาม 

ดร.อักษรศรี สรุปว่า เหตุผลชัด ๆ จาก Nvidia ทำไมเลือกเวียดนาม เพราะเวียดนามมีทั้ง strong talent pool of STEM engineers มีวิศวะ มี startup และมีนักศึกษาในสถาบันศึกษาที่เอาจริงด้าน AI !!

‘นอท สลากพลัส’ ฮุบ EE นั่งประธานบอร์ดเอง พร้อมเพิ่มทุนขาย PP ทิ้งกัญชงกัญชาปรับสู่ธุรกิจ Tech

(6 ธ.ค.67) บมจ.อีเทอเนิล เอนเนอยี (EE) เปิดเผยว่า นายพันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ หรือนอท สลากพลัส ได้ทำการซื้อขายหุ้นของบริษัทผ่านระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยบนกระดานรายใหญ่ (Big Lot Board) ประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2567 จำนวน 1,607,000,000 หุ้น คิดเป็น 57.81% ของทุนชำระแล้วของบริษัท ซึ่งส่งผลให้นายพันธ์ธวัช กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท

จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นในบริษัทในครั้งนี้ การที่นายพันธ์ธวัช ถือหุ้นในบริษัทเกินกว่า 25% ของหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดและสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทนั้น มีผลทำให้นายพันธ์ธวัช มีหน้าที่ในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ที่เหลือทั้งหมดของกิจการ (Mandatory TenderOffer) โดยราคาทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ที่เหลือทั้งหมดของกิจการจะเท่ากับ 0.14 บาทต่อหุ้น

ดังนั้น บริษัทจะดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย รวมถึงการแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินอิสระเพื่อให้ความเห็นแก่ผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของนายพันธ์ธวัช ในครั้งนี้

ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.67 อนุมัติแต่งตั้งนายพันธ์ธวัช ให้ดำรงตำแหน่งประธาน กรรมการ และกรรมการใหม่แทนตำแหน่งกรรมการที่ว่างอยู่ พร้อมอนุมัติการเปลี่ยนชื่อของบริษัทจากเดิม 'บริษัท อีเทอเนิล เอนเนอยี จำกัด (มหาชน)' และชื่อภาษาอังกฤษ 'Eternal Energy Public Company Limited' เปลี่ยนเป็น 'บริษัท เทคลีด เอ็นพีเอ็น จำกัด (มหาชน)' และชื่อภาษา อังกฤษ 'TECHLEAD NPN PUBLIC COMPANY LIMITED'

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทยังมีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 2,720,000,000 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 4,970,000,000 บาท เป็นทุนจดทะเบียนจำนวน 7,690,000,000 บาท โดยการออกและจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลใน วงจำกัด (Private Placement : PP) จำนวน 2,720,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท หรือคิดเป็น 49.12% ของทุนชำระ แล้วของบริษัทภายหลังการเพิ่มทุนชำระแล้ว ในราคาเสนอขายหุ้นละ 0.19 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 516,800,000 บาท เพื่อ เสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด

รายชื่อบุคคลในวงจำกัด จำนวนหุ้นที่ได้รับ มูลค่าหุ้นที่ได้รับ สัดส่วนการถือหุ้นภายหลังการเข้าทำการจัดสรร (หุ้น) การจัดสรร(บาท) รายการ (ร้อยละ)

1.นายคีรีภัทร์ ศุภสินประภาพงศ์ 1,038,142,857 หุ้น 197,247,143 บาท  คิดเป็น 18.88%
2.นายไพบูลย์ ทรงเพ็ชรมงคล 541,181,818 หุ้น 102,824,545 บาท คิดเป็น 9.84%
3.นายวิชิต จิรัฐิติเจริญ 407,071,429 หุ้น 77,343,571 บาท คิดเป็น 7.40%
4.นายจักรวิตร ภัทรจินดา 383,603,896 หุ้น 72,884,740 บาท คิดเป็น 6.97%
5.น ส.สุกัญญา ทิพย์มณี 350,000,000 หุ้น 66,500,000 บาท คิดเป็น 6.36%
รวม 2,720,000,000 หุ้น 516,800,000 บาท คิดเป็น 49.45%

บริษัทได้ปรับเปลี่ยนธุรกิจจากที่บริษัทมีรายได้จากธุรกิจกัญชงและกัญชา แต่เนื่องจากธุรกิจนี้มีอัตราความเสี่ยงสูงจากการ เปลี่ยนแปลงนโยบายภาครัฐ และยังมีวงจรเงินสดที่ช้า จึงมีแนวทางในการขยายการลงทุนในธุรกิจอื่นที่มีศักยภาพในการเติบโต โดย สามารถสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอให้บริษัท และสร้างความแข็งแกร่งให้ฐานะการเงินของบริษัท อีกทั้งช่วยลดความเสี่ยงในการพึ่งพาธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง และเพิ่มโอกาสให้กับบริษัทในอนาคต ตลอดจนเป็นการเพิ่มศักยภาพและความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่อผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) รวมถึงเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สถาบันการเงิน

โดยบริษัทอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ธุรกิจ Tech) ซึ่งรวมถึง (1) ธุรกิจสื่อ เทคโนโลยี (Technology Media) (2) ธุรกิจให้บริการชำระเงิน (Payment Gateway Solution) และ/หรือ (3) ธุรกิจแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Marketplace Platform)

เนื่องจากเห็นว่าธุรกิจ Tech เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตจากการสร้างรายได้และความสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีต้นทุนในการดำเนินงานต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่นที่ต้องลงทุนในสินทรัพย์ และเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับทิศทางเมกะเทรนด์ (Mega Trend) ซึ่งได้แก่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation) จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันผู้คนใช้ชีวิตและใช้เวลากับอุปกรณ์สื่อสารกันมากขึ้น ทำให้สื่อออนไลน์และแพลตฟอร์มดิจิทัลมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศไทยและเศรษฐกิจโลก

โดยแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นการเชื่อมโยงระหว่างผู้บริโภคและผู้ขายหรือภาคธุรกิจผ่านอินเทอร์เน็ต บริษัทจึงมีความสนใจในการเข้าลงทุนในธุรกิจดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างกระแสเงินสดให้กับบริษัทอย่างสม่ำเสมอ มีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ไม่ น้อยกว่า 12% และมีศักยภาพการเติบโตในอนาคต (Potential Upside) จากธุรกิจที่สอดคล้องกับทิศทางเมกะเทรนด์

ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินทุนที่ได้รับจากการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนตามรายการ Private Placement ไปใช้เพื่อลงทุนในธุรกิจ Tech ประมาณ 467-517 ล้านบาท ภายในปี 2568 และใช้เงินทุนหมุนเวียนของบริษัทไม่เกิน 50 ล้านบาทภายในปี 2568

‘เอกนัฏ’ หยิบไอเดีย ‘ญี่ปุ่น’ แก้ปมลักลอบทิ้งกากพิษ เสริมร่าง กม.กากอุตสาหกรรม - ปั้นนิคมฯ Circular

‘เอกนัฏ’ หยิบไอเดีย ‘ญี่ปุ่น’ เสริมร่างกฎหมายกากอุตสาหกรรม-ปั้นนิคมฯ Circular ด้าน กนอ. ขยายใช้ระบบติดตามกากสารพิษ Real Time ใน 14 นิคมฯ ลดโอกาสการลักลอบทิ้ง 

(6 ธ.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงการเข้าพบหารือกับ นายนาคาดะ ฮิโรชิ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม (MOEJ) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากทั้งสองประเทศ ในระหว่างการเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ว่า กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น และกระทรวงอุตสาหกรรมไทย มีความร่วมมือที่ดีอย่างยาวนาน โดยเฉพาะด้านการจัดการกากอุตสาหกรรม ผ่านบันทึกความร่วมมือ (MOC) ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งรัฐบาลไทยมีความตั้งใจอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้ง และการจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบอย่างเร่งด่วน โดยเชื่อมั่นว่าความร่วมมือของทั้งสองประเทศจะสามารถทำให้ก้าวข้ามอุปสรรคนี้ไปได้

“ในการหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น ได้มีแลกเปลี่ยนข้อมูลและหาแนวทางการกำกับดูแลโรงงาน และการจัดการกากอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น มาปรับใช้ในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติกากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งกองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน ที่กระทรวงฯ กำลังดำเนินการอยู่” นายเอกนัฏ ระบุ

นายเอกนัฏ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) แห่งแรกในพื้นที่ EEC ด้วยว่า ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการรีไซเคิล และการลดของเสียจากทางญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Circular ของไทย ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการเกิดของเสีย และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน

ด้าน นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ร่วมมือกับศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมนานาชาติ (International Center for Environmental Technology Transfer : ICETT) แห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมไทย มุ่งสู่อุตสาหกรรม (Green Industry) และความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ

“ความร่วมมือกับ ICETT ตลอดจนลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOC) กับสำนักฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและวัฏจักรของวัสดุ กระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม มุ่งเน้นแลกเปลี่ยนข้อมูล นโยบาย และองค์ความรู้เพื่อจัดการกากของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด” นายณัฐพล กล่าว

ขณะที่ นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นได้พัฒนาแนวทางการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง กนอ.เองก็มีการพัฒนาระบบติดตามการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมแบบทันสถานการณ์ (Real-Time) มาตั้งแต่ปี 2562 โดยเริ่มนำร่องในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือเป็นแห่งแรก เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยระบบนี้ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามตรวจสอบเส้นทางการขนส่งกากอุตสาหกรรมได้ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ณ สถานที่รับกาก ลดโอกาสการลักลอบทิ้ง สร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชน และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมและสังคม สอดคล้องกับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับล่าสุด เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566

“กนอ.ได้ขยายผลระบบติดตามการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมแบบ Real Time ใน 14 นิคมอุตสาหกรรมแล้ว ซึ่งจะช่วยลดอัตราการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอย่างผิดกฎหมาย สร้างภาพลักษณ์ใหม่ของอุตสาหกรรมที่สะอาด สอดรับแนวทางส่งเสริม BCG Economy และ Carbon Neutral ที่เป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” นายสุเมธ ระบุ

GC และ KBC ร่วมมือยกระดับการเปลี่ยนผ่าน เดินหน้าสู่ดิจิทัลอัจฉริยะในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

เมื่อวันที่ (4 ธ.ค.67) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ผู้นำในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมีของประเทศไทย และ KBC Advanced Technology Pte Ltd (KBC), a Yokogawa company บริษัทที่ปรึกษาเชิงเทคโนโลยีชั้นนำที่ให้บริการอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมี ได้ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของ GC โดยมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) The Intelligent Digital Technology Collaboration Program

ความร่วมมือครั้งนี้จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Advanced Process Simulation ที่ล้ำสมัยและความรู้ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมของ GC และ KBC เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดของ GC โดยเริ่มจากการมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และประสิทธิภาพการผลิต (production efficiency) ที่ดียิ่งขึ้น การผสานการวิเคราะห์ขั้นสูง ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ากับการจำลองกระบวนการที่ซับซ้อน (Advanced Process Simulation) จะช่วยให้ GC และ KBC สามารถมีเครื่องมือในการตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น ขับเคลื่อนการสร้างนวัตกรรม และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการดำเนินธุรกิจได้อย่างสูงสุด ความร่วมมือนี้จะช่วยให้ GC สามารถเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้เข้ากับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของตลาดปิโตรเคมีและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ตามกลยุทธ์องค์กร

นายพรศักดิ์ มงคลตรีรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจเพื่อความเป็นเลิศ  GC. กล่าวว่า “ความร่วมมือกับ KBC นี้เป็นการลงทุนตามกลยุทธ์ Holistic Optimization ของ GC ในการเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร ด้านดิจิทัลของ GC โดยการใช้ประโยชน์จาก Advanced Process Simulation ระดับโลกของ KBC เพื่อเสริมศักยภาพในการแข่งขัน เพิ่มความแข็งแกร่งในด้านเทคโนโลยี สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานได้อย่างมาก รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต และเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างนวัตกรรม 

Mr. Takayuki Matsubara, Chief Executive Officer (CEO) of KBC กล่าวว่า “KBC รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ GC ผู้นำในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ความร่วมมือนี้แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของ GC โดยการผสานซอฟต์แวร์จำลองกระบวนการ (Process Simulation) ของเรากับ AI เราตั้งเป้าที่จะยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานของ GC และสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรม

ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่าง GC และ KBC นี้เป็นตัวอย่างของความมุ่งมั่นร่วมกันในการสร้างนวัตกรรมและความเป็นผู้นำด้านดิจิทัลในอุตสาหกรรมการกลั่นและปิโตรเคมี โดยการใช้จุดแข็งร่วมกัน GC และ KBC พร้อมที่จะขับเคลื่อนความก้าวหน้านด้านประสิทธิภาพการดำเนินงาน ความยั่งยืน และประสิทธิภาพทางธุรกิจโดยรวม

‘มหัศจรรย์ไม้เมืองหนาว ทิวลิปบานที่สวนหลวง ร.๙’ จัดเต็มความงดงาม พร้อมนวัตกรรมด้านพลังงานจาก ปตท.

งาน 'มหัศจรรย์ไม้เมืองหนาว ทิวลิปบานที่สวนหลวง ร.๙' ประจำปี 2567 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงาน 'พรรณไม้งาม อร่ามสวนหลวง ร.๙' ที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มูลนิธิสวนหลวง ร.๙ และกรุงเทพมหานคร จัดขึ้นภายใต้แนวคิด 'The Charming of Colorful Town' ระหว่าง 1-10 ธันวาคม 2567 ณ อาคารถกลพระเกียรติ สวนหลวง ร.๙ เป็นอีกหนึ่งงานที่ไม่ควรพลาด เพราะถ้าพลาดปีนี้อาจจะต้องรออีกทีใน 1 ปีข้างหน้า

โดยในส่วนของการจัดแสดงดอกไม้เมืองหนาวนั้น ได้จำลองบรรยากาศเมืองในยุโรป สร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าชมได้เพลิดเพลินไปกับความงดงามของดอกไม้เมืองหนาวหลากชนิด ไม่ว่าจะเป็นทิวลิปหลากสี ไฮเดรนเยีย และไม้เมืองหนาวนานาพรรณ

ซึ่งงานนี้ไม่เพียงแต่มีความงดงามของพรรณไม้เมืองหนาวนานาชนิดเท่านั้น แต่ยังได้จัดแสดงเทคโนโลยีการปลูกไม้เมืองหนาวให้เติบโตในเมืองร้อนอย่างประเทศไทยได้อย่างน่าทึ่ง ด้วยนวัตกรรมการใช้พลังงานความเย็นที่ได้จากการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากพลังงานความเย็นเหลือทิ้งให้เกิดประโยชน์สูงสุด  

และนอกจากโซนดอกไม้เมืองหนาวแล้ว ยังมีไฮไลต์สำคัญที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ด้วย นั่นก็คือ โรงเรือนปลูกสตรอว์เบอร์รี่อัจฉริยะขนาดเล็ก ที่นำระบบควบคุมอัจฉริยะมาใช้ติดตามและควบคุมปัจจัยต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น และแสงสว่าง เพื่อให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นสตรอว์เบอร์รี โรงเรือนนี้พัฒนาจากความสำเร็จของโครงการทดลองปลูกสตรอว์เบอร์รีในโรงเรือนอัจฉริยะที่ จ.ระยอง เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนใจด้านการเกษตรสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี
กว่าที่จะประสบความสำเร็จสามารถเพาะพันธุ์และปลูกไม้เมืองหนาวได้ดังเช่นปัจจุบัน ได้ผ่านการคิดค้นและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือของกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ ปตท.

เริ่มจากการจัดตั้งโครงการวิจัย พืชเมืองหนาวในปี 2553 ซึ่งเป็นการศึกษา วิจัย การนำพลังงานความเย็นที่เหลือใช้จากการเปลี่ยนแปลงสถานะของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาใช้ประโยชน์ โดยได้ผนวกนำความรู้ทางด้านวิศวกรรมและเกษตรกรรม  มาพัฒนาและยกระดับองค์ความรู้ทางด้านการเกษตรของประเทศ  เริ่มจากการวิจัยเพาะปลูกดอกทิวลิป ลิลลี่ แดฟโฟดิล จนประสบความสำเร็จ และต่อยอดสู่การจัด 'งานมหัศจรรย์ไม้เมืองหนาว' ซึ่งเป็นการนำพืชเมืองหนาวนานาพันธุ์มาจัดแสดงนิทรรศการ ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในองค์รวม

หลังจากความสำเร็จในการเพาะปลูกพืชเมืองหนาว จึงต่อยอดจากไม้ดอกสู่ไม้ผลตระกูลเบอร์รี่ต่าง ๆ อาทิ สตรอว์เบอร์รี่ ในปี 2555 โดยเพาะปลูกในโรงเรือนอัจฉริยะ ซึ่งเป็นระบบปิดที่ทันสมัย ควบคุมอุณหภูมิและความชื้น ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ปลอดภัยไร้สารเคมี และสามารถให้ผลผลิตต่อเนื่องตลอดปี  จึงทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และมีปริมาณเพียงพอต่อการพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์

จากนั้นในปี 2560 ได้นำผลผลิตสตรอว์เบอร์รี่เกรดพรีเมี่ยมออกสู่ตลาด ภายใต้แบรนด์ Harumiki สำหรับผู้ที่ชื่นชอบบริโภคผลไม้คุณภาพสูงจากต่างประเทศ และใส่ใจสุขภาพ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค ทำให้ ปตท. ได้คิดค้น พัฒนา และต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มเติม อาทิ ผลไม้แปรรูป น้ำผลไม้สด รวมถึงผลไม้พันธุ์อื่นๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น อีกทั้งการพัฒนาธุรกิจใหม่ต่อยอดธุรกิจเดิมจากค้าปลีกสู่คาเฟ่ Harumiki Farm & Cafe จังหวัดระยอง ได้อย่างงดงาม

ผู้ที่มาชมงาน 'มหัศจรรย์ไม้เมืองหนาว ทิวลิปบานที่สวนหลวง ร.๙' ในปีนี้ นอกจากจะได้ดื่มด่ำกับความงดงามของพรรณไม้เมืองหนาวที่หาชมได้ยากในประเทศไทย พร้อมกับลิ้มรสสตรอว์เบอร์รี่เกรดพรีเมียมแล้ว ยังจะได้สัมผัสกับนวัตกรรมด้านพลังงานที่น่าทึ่งจาก ปตท. ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน

‘เจนเซ่น หวง’ ซีอีโอ NVIDIA ย้ำ!! Sovereign AI สำคัญกับคนไทย

(5 ธ.ค. 67) เจนเซ่น หวง ให้มุมมองเกี่ยวกับโอกาสของไทยในยุค AI ว่า นี่เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของวงการเทคโนโลยีที่ทุกประเทศมีโอกาสเท่าเทียมกัน ไม่เหมือนกับยุคซอฟต์แวร์หรือสมาร์ทโฟนที่ถูกครองตลาดโดยประเทศมหาอำนาจ ดังนั้นการพัฒนา Sovereign AI จึงเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยในการก้าวสู่ยุค AI อย่างมีศักยภาพและความเป็นตัวของตัวเอง

อุตสาหกรรมโลกกำลังจะถูกรีเซตใหม่ ครั้งนี้ไม่เหมือนกับซอฟต์แวร์ที่สหรัฐอเมริกาครองตลาดมานานกว่า 40 ปี ไม่เหมือนอินเทอร์เน็ตหรือสมาร์ทโฟน นี่คือแพลตฟอร์มใหม่เอี่ยม ทุกคนกลับไปเริ่มต้นใหม่ที่จุดเดียวกัน

‘ดร.สุวินัย’ มอง!! รัฐบาลต้องรีด VAT จาก 7% เป็น 15% เพื่อนำรายได้ มาปรนเปรอให้!! ‘นโยบายประชานิยม’

(5 ธ.ค. 67) รองศาสตราจารย์ ดร. สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT โดยมีใจความว่า ...

ทำไมต้องเก็บภาษี VAT เป็น 15%?

เพราะคนประเทศนี้มีแนวคิดที่ประหลาดพิกลมากยังไงเล่า หรือกล่าวแรง ๆ ได้ว่าเป็นแนวคิดของพวก ‘ขี้ขอ เอาแต่ได้ และขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวมอย่างรุนแรง’ แนวคิดของคนพวกนี้แถอย่างข้าง ๆ คู ๆ ว่า

"เพราะพวกกูมีรายได้น้อยอยู่แล้วทำไมต้องจ่ายภาษีเงินได้อีก"

คนพวกนี้ใช้ตรรกะวิบัติประเภทที่ว่า "กูจะจ่ายภาษีไปทำไม? จ่ายภาษีแล้วกูได้อะไรกลับมา? มีอะไรที่กูจับต้องได้บ้าง?"

นี่คือคนไทยหลายสิบล้านคนที่ไม่ยอมเข้าระบบ ไม่ยอมยื่น ภงด.

แต่ก็เป็นคนไทยกลุ่มนี้แหละที่ใช้ 30 บาทรักษาทุกโรค ได้รับเงินหมื่น ฯลฯ คือใช้สวัสดิการและสาธารณูปโภคของประเทศอยู่ทุกวัน โดยหลอกตัวเองอย่างจริงจังว่า พวกกูไม่น่าจะต้องจ่ายภาษี

ประเทศนี้ประหลาดมากจนต้องเรียกว่า AMAZING THAILAND เพราะมีคนไทย 4 ล้านคนจ่ายภาษีเงินได้เพื่อเลี้ยงคนอีกหลายสิบล้านคนที่เชื่อว่าตัวเองไม่ควรต้องจ่ายภาษีเงินได้ แต่เชื่อว่าตัวเองควรจะได้รับสวัสดิการมากขึ้นเรื่อย ๆ 

ประเทศนี้ประหลาดจริง ๆ เพราะยอดภาษีที่เก็บได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มากกว่ายอดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากว่าเท่าตัว แถมยังมากกว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วยซ้ำ จนเป็นยอดเก็บภาษีสูงสุดของประเทศนี้

ดังนั้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 15% จึงหมายถึงรายได้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวของรัฐ 

นี่หมายถึง ‘การรีดภาษีทางอ้อม’ จากคนไทยหลายสิบล้านคนที่หลอกตัวเองว่าไม่ควรต้องจ่ายภาษีเงินได้นั่นเอง

เพื่อที่รัฐบาลจะได้เอาภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บเพิ่มได้กว่าเท่าตัวนี้ มา ‘ปรนเปรอ’ คนพวกนี้ด้วยนโยบายประชานิยมต่อไปชั่วกาลนาน

‘รัฐบาล’ รีบ!! รีดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 15% เลยครับ รีบทำเลย รีบทำทันที และอย่าลืมช่วยลดภาษีเงินได้ให้คนเสียภาษี 4 ล้านคน รวมทั้งช่วยลดภาษีเงินได้นิติบุคคลตามที่รับปากด้วยนะ

รัฐบาล เร่งเครื่องสร้างฐานอุตฯเซมิคอนดักเตอร์ ตั้งเป้าดึงเงินลงทุน 5 แสนล้านบาท ใน 5 ปี

(4 ธ.ค. 67) รัฐบาลเดินหน้านโยบายสร้างฐานอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เตรียมทัพบุคลากรระดับสูงกว่า 80,000 คน รองรับเป้าหมายการลงทุนกว่า 5 แสนล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้า พร้อมตั้งอนุกรรมการวางโรดแมปพัฒนาฐานเซมิคอนดักเตอร์ไทย พร้อมเจาะ 10 บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก เผยยอดส่งเสริมลงทุนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มต่อเนื่อง รวมกว่า 1,200 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 8 แสนล้านบาท

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ (บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์) ซึ่งมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบกรอบการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง (National Semiconductor and Advanced Electronics Strategy) และรับทราบแผนยุทธศาสตร์พัฒนาบุคลากรรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย พร้อมตั้งอนุกรรมการ 2 ชุด กำกับการจัดทำยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากร ตั้งเป้าหมายดึงเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท ในระยะ 5 ปี ข้างหน้า (พ.ศ. 2568 – 2572) เพื่อยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิสก์ขั้นสูงในภูมิภาค

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โดยเฉพาะการผลิตชิป (Chip) หรือหน่วยประมวลผล ถือเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่สำคัญของโลกที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยมูลค่าตลาดที่คาดว่าจะพุ่งสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 อันเนื่องมาจากความต้องการใช้งานในกลุ่มเทคโนโลยีใหม่ เช่น AI, Data Center, IoT, ยานยนต์ไฟฟ้า เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ซึ่งต้องใช้หน่วยประมวลผลที่ทำจากเซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัยเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น 

ประเทศไทยถือเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลกมายาวนาน โดยในปี 2566 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มียอดส่งออกสูงถึง 2.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศ ในจำนวนดังกล่าว มูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ เช่น วงจรรวม (IC) เซมิคอนดักเตอร์ไดโอด และอุปกรณ์ต่างๆ มีมูลค่าสูงถึง 5.1 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นฐานการผลิตสำคัญในห่วงโซ่อุปทานกลางน้ำและปลายน้ำของอุตสาหกรรม เช่น การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ (OSAT) และการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB)  ดังนั้น การเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดในห่วงโซ่อุปทาน เช่น การออกแบบวงจรรวม (IC Design) และการผลิตแผ่นเวเฟอร์ (Wafer Fabrication) จึงเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความมั่นคงและต่อยอดอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงได้ และการจัดตั้ง "บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ" เพื่อสร้างโรดแมประดับประเทศ จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะวางรากฐานให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมนี้ในภูมิภาคอาเซียน 

การประชุมครั้งนี้ บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ได้กำหนดแนวทางยุทธศาสตร์เพื่อเร่งสร้างระบบนิเวศที่ครบวงจรและแข่งขันได้ในระดับโลก โดยมีมติสำคัญ 2 เรื่อง ประกอบด้วย

1. การจัดทำยุทธศาสตร์ระดับชาติด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง โดยเห็นชอบให้จัดจ้าง ที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลกเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ทั้งในระดับนโยบาย ครอบคลุมตั้งแต่การประเมินศักยภาพของประเทศไทย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุน และในระดับปฏิบัติการ ตั้งแต่การจัดทำแผนดึงดูดนักลงทุนรายสำคัญอย่างน้อย 10 บริษัทชั้นนำระดับโลกให้เข้ามาลงทุนออกแบบและผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับประเทศผู้นำด้านเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อร่วมกันพัฒนาห่วงโซ่อุปทานระดับโลกและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

2. การพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยรับทราบแผนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการผลิตบุคลากรเฉพาะทางและนักวิจัยระดับสูง 84,900 คนภายในปี 2573 ผ่านโครงการ Upskill และ Reskill หลักสูตรการศึกษารูปแบบใหม่ เช่น Sandbox และโปรแกรมฝึกงานนานาชาติ รวมถึงการตั้งศูนย์ฝึกอบรม 6 แห่ง พร้อมแผนสร้างโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติ เช่น ศูนย์ผลิต Wafer Fabrication และศูนย์วิจัยและพัฒนา เพื่อเสริมความเชื่อมั่นและสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่งสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไทย

นอกจากนี้ บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ คณะอนุกรรมการกำกับการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง โดยมีเลขาธิการบีโอไอเป็นประธาน และคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธาน  

“เซมิคอนดักเตอร์ ถือเป็นรากฐานสำคัญของเทคโนโลยีแห่งอนาคตในแทบทุกอุตสาหกรรม การสร้างฐานอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จึงเป็นยุทธศาสตร์ในระดับโลกและเป็นโอกาสครั้งใหญ่สำหรับประเทศไทย การประชุมครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ระดับชาติ ที่ครอบคลุมทั้งการกำหนดทิศทางอุตสาหกรรม การออกแบบมาตรการส่งเสริมการลงทุน การเตรียมพร้อมบุคลากร การสนับสนุนภาควิชาการและการวิจัย รวมถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเซมิคอนดักเตอร์ การที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญโดยรับเป็นประธานบอร์ดด้วยตนเอง จะช่วยเร่งสร้างความร่วมมือที่เป็นเอกภาพระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ทำให้สามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมและมาตรการสนับสนุนได้อย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและการวิจัยขั้นสูง” นายนฤตม์ กล่าว

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2561 - กันยายน 2567 มีการขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมกว่า 1,213 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 876,328 ล้านบาท โดยในช่วง 2 ปีหลัง มีการลงทุนในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น 

‘สุวรรณภูมิ’ คว้ารางวัล Prix Versailles 2024 ชูความวิจิตรเอกลักษณ์ไทยอวดสายตาชาวโลก

(4 ธ.ค.67) ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) และนายเอนก ธีระวิวัฒน์ชัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานยุทธศาสตร์ เข้ารับรางวัล Prix Versailles ประจำปี 2024 หมวดหมู่ สนามบิน สาขาสถาปัตยกรรมดีเด่นด้านรูปลักษณ์อาคาร (Exterior) ณ สำนักงานใหญ่ UNESCO กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ดร.กีรติ กล่าวว่า อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Midfield Satellite 1: SAT-1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ได้รับรางวัล Prix Versailles ในฐานะสนามบินสวยที่สุดในโลกประจำปี 2567 (The World’s most beautiful List 2024) จากคณะกรรมการ The Prix Versailles Selection Committee ร่วมกับ United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization หรือ UNESCO ซึ่งอาคาร SAT-1 ทสภ.ได้ถ่ายทอดความวิจิตรของเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ไทยตั้งแต่ก้าวแรกที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศ

ด้วยการนำจุดแข็งทางวัฒนธรรมมาออกแบบการตกแต่งภายในอาคารเป็นแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมและศิลปะที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้กลมกลืนไปกับโครงสร้างอาคารที่ทันสมัยครอบคลุมทั้งประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิต โดยรางวัลนี้ถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน ไปพร้อมกับการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวได้สัมผัสวัฒนธรรมไทยผสานการออกแบบอาคารที่ยั่งยืน (Sustainable Design) ใช้วัสดุการก่อสร้างที่ดูแลรักษาได้ง่าย เพื่อช่วยให้ประหยัดพลังงานและเน้นการใช้แสงธรรมชาติตอบสนองนโยบายสนามบินสีเขียว (Green Airport) ทั้งยังเป็นการตอกย้ำด้านการยกระดับงานบริการ (Level of Service) ของ AOT ซึ่งจะผลักดันให้ท่าอากาศยานไทยก้าวเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค

ดร.กีรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า AOT รู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจเป็นอย่างมาก ซึ่งการได้รับรางวัลนี้จะเป็นการยืนยันถึงความสำคัญของอีกหนึ่งการสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ผู้โดยสารจากทั่วโลก และเราจะมุ่งมั่นรักษามาตรฐานความสวยงามและประสิทธิภาพในการให้บริการ เพื่อให้ทุกการเดินทางของผู้โดยสารเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจและจดจำ ซึ่งจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยต่อไป

ปักหมุดไทยทุ่มพันล้าน เปิดโรงงานแห่งแรก ชิงส่วนแบ่งรถบรรทุก ตั้งเป้าเริ่มผลิต 1,800 คันต่อปี

(2 ธ.ค. 67) “โฟตอน” ค่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์รายใหญ่ของจีน ได้ร่วมมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดโรงงานผลิตรถบรรทุก “โฟตอน ซีพี มอเตอร์” (FOTON CP Motor) แห่งแรกในประเทศไทย ณ อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท โรงงานนี้จะเป็นฐานการผลิตรถบรรทุกรุ่นพวงมาลัยขวา โดยมีแผนผลิต 1,800 คันต่อปี สำหรับตลาดในประเทศ 80% และส่งออก 20% คาดว่าภายใน 3 ปีจะสามารถผลิตได้ไม่น้อยกว่า 7,200 คัน

การเปิดโรงงานในครั้งนี้ตอกย้ำการเติบโตของตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ในประเทศไทย และเปิดโอกาสสำหรับการขยายตลาดไปยังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยในปีนี้ยอดขายของ “ซีพี โฟตอน” เพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

นายชาง รุ่ย (Mr. Chang Rui) ประธานโฟตอน มอเตอร์ กรุ๊ป กล่าวว่า การเปิดโรงงานในไทยเป็นการขยายความร่วมมือระหว่างโฟตอนและเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยโรงงานนี้จะผลิตทั้งรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปและยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) เพื่อรองรับความต้องการของตลาดไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายนพดล เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ กลุ่มธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรม (จีน) เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวเสริมว่า การจัดตั้งโรงงาน “โฟตอน ซีพี มอเตอร์” จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์และโลจิสติกส์ของไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค พร้อมกับการขยายฐานการผลิตและความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำในอุตสาหกรรม เช่น Foton Cummins และ Yuchai

นายชัชชัย นาคประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี โฟตอน เซลส์ จำกัด กล่าวถึงการตั้งโรงงานในไทยว่าเป็นการตอกย้ำความมั่นคงในตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ในประเทศไทย โดยยอดจำหน่ายรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า (EV) ของบริษัทเติบโต 260% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การเปิดโรงงาน “โฟตอน ซีพี มอเตอร์” ถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์และโลจิสติกส์ของไทยสู่อนาคต โดยเฉพาะในด้านพลังงานสะอาดและการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตลาดโลจิสติกส์ในเอเชียแปซิฟิกและขยายฐานการผลิตไปยังตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

การตั้งโรงงานในประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักของ “โฟตอน มอเตอร์ กรุ๊ป” ในการขยายธุรกิจทั่วโลก โดยในปี 2023 โฟตอนสามารถส่งออกรถยนต์ได้ 131,000 คัน และตั้งเป้าหมายส่งออก 150,000 คันในปี 2024 รวมถึงมุ่งหวังเพิ่มจำนวนการผลิตให้ถึง 300,000 คันในปี 2030

การร่วมมือในครั้งนี้ไม่เพียงแค่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทย-จีน แต่ยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในด้านพลังงานใหม่และโลจิสติกส์แห่งอนาคตอย่างยั่งยืน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top