Saturday, 10 May 2025
ECONBIZ NEWS

สหรัฐฯ ส่อไม่รอด 'ภาวะเศรษฐกิจถดถอย' แบบหนัก ด้าน 'ดอยช์แบงก์' ชี้!! ยิ่งคุมเงินเฟ้อ ยิ่งกระอัก

ดอยช์แบงก์' คาดการณ์ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ผสมโรงจีนล็อกดาวน์กระตุ้นเงินเฟ้อ ส่อพา 'สหรัฐฯ' เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ที่อาจจะไม่เบาอย่างที่คิด

CNN รายงานการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของทีมนักเศรษฐศาสตร์ประจำดอยช์แบงก์ (Deutsche Bank) ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำสัญชาติเยอรมันที่อยู่ในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งใหญ่

ธนาคารดอยต์เชอ หรือ ดอยช์แบงก์ (Deutsche Bank) เป็นธนาคารแรกที่พยากรณ์เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมานี้ว่า สหรัฐฯ จะเผชิญกับ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ระดับไม่รุนแรง แต่รายงานล่าสุดที่เผยแพร่กับลูกค้าเมื่อ 26 เม.ย. ระบุว่า “เราจะเจอกับภาวะถดถอยครั้งใหญ่”

การประเมินครั้งนี้มาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ 'เฟด' ต้องการสยบภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งอาจใกล้จุดพีกแล้ว แต่ต้องอาศัยเวลาอีกนานกว่าจะลดต่ำลง 2% ตามเป้าหมายของเฟด และความพยายามที่จะกดอัตราเงินเฟ้ออย่างหนักจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจ

“เราคาดว่า มีแนวโน้มสูงที่เฟดจะกดอัตราเงินเฟ้ออย่างหนักอีก ดังนั้นจึงต้องอาศัยภาวะถดถอยมาช่วยกดให้เงินเฟ้อลดต่ำลง นี่เป็นเหตุผลว่า ภาวะถดถอยที่กำลังจะมาถึงนี้ อาจเลวร้ายกว่าที่คาดไว้” ทีมนักเศรษฐศาสตร์ดอยช์แบงก์ ระบุ

>> เบื้องหลังตัวเลขเงินเฟ้อ-ว่างงาน
เมื่อเดือนมีนาคม ราคาอุปโภคบริโภคสูงขึ้นไปแล้วถึง 8.5% เป็นอัตราพุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี ส่วนตลาดแรงงานยังน่าเป็นห่วง โดยจากการประเมินของมูดีส์ อนาไลติกส์ คาดว่า อัตราคนว่างงานจะดิ่งต่ำที่สุดนับจากช่วงต้นของทศวรรษ 1950

การประเมินครั้งนี้ ดอยช์แบงก์ได้สร้างดัชนีที่วัดระยะความห่างระหว่างเงินเฟ้อกับคนว่างงานในช่วง 60 ปีมานี้ และดูว่าเฟดตั้งเป้าตัวเลขทั้งสองด้านอย่างไร?

จากการวิจัยสถานการณ์ล่าสุดนี้ พบว่าปัจจุบันเฟดอยู่เบื้องหลังการกำหนดตัวเลขดังกล่าวมากกว่าเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 1980 ตอนที่เงินเฟ้อสูงมากจนบีบให้ธนาคารกลางต้องขึ้นดอกเบี้ยเป็นสถิติเพื่อจัดการคุมเศรษฐกิจ

ซึ่งประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า เฟดไม่เคยคุมเงินเฟ้อและอัตราการจ้างงานได้ โดยปราศจากการผลักให้เศรษฐกิจเข้าไปอยู่ในภาวะถดถอยอย่างเห็นได้ชัด

การบีบตลาดแรงงานจนแน่นเกินเพื่อจะให้อัตราว่างงานอยู่ที่ 2% ทำให้ต้องเลือกภาวะถดถอยรุนแรงมากกว่าที่จะเลือกแบบเบาบาง

อย่างไรก็ตาม ยังพอมีข่าวดีจากดอยช์แบงก์ ว่าเริ่มเห็นแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะกระเตื้องกลับมาช่วงกลางปี 2024 (พ.ศ. 2566) เมื่อเฟดถอยจากการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ

'กอบศักดิ์' จับตาโอมิครอนบุกปักกิ่ง หวั่น!! กระทบเศรษฐกิจโซนเอเชีย

‘ดร.กอบศักดิ์’ ชี้ต้องจับตาผลกระทบโควิดในจีนอย่างใกล้ชิด เมื่อ ‘โอมิครอน’ ลามถึง ‘กรุงปักกิ่ง’ หวั่นกระทบเศรษฐกิจเอเชีย

วันที่ 26 เมษายน 2565 ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศจีน ว่า …

เมื่อโอมิครอนบุกปักกิ่ง !!! 

วันนี้มีข่าวว่า หลังจีนได้ต่อสู้กับโอมิครอนที่เซี่ยงไฮ้มาเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ล่าสุด โอมิครอนได้ไปบุกไปถึงเมืองปักกิ่งแล้ว

ผลที่ตามมา ก็คือ ตลาดการเงินจีนและโลก ต่างปรับตัวรับข่าวอย่างรุนแรง

- ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ลดลง 5.1% ทำให้ดัชนีได้กลับไปต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดเรียบร้อยแล้ว

- ค่าเงินหยวนอ่อนค่าเพิ่มเติมอีก 1% ไปที่ 6.559 หยวน/ดอลลาร์ อ่อนสุดในรอบ 1 ปี

- ดัชนีฮั่งเส็งลดลง 3.7%

- ราคาน้ำมันโลกลดลง 5%

- ราคาทองคำลงไปต่ำกว่า 1,900 ดอลลาร์/ออนซ์

- ราคาพาลาเดี่ยม ลดลง 10%

- ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ต่างลดลงกันถ้วนหน้า

ทั้งนี้ เนื่องจากทุกคนกังวลใจว่า จีนจะต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดในการจัดการโอมิครอนที่ปักกิ่ง หลังจากมีรายงานว่ามีผู้ป่วยในพื้นที่หลายสิบคน และกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่งออกมะม่วงไทยอันดับที่ 2 ในอาเซียน “บิ๊กตู่” สั่งพาณิชย์เจาะตลาด FTA

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี พอใจมูลค่าการส่งออกมะม่วงสดของไทย ซึ่งปัจจุบันขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 15% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 โดยไทยถือเป็นผู้ส่งออกมะม่วงเป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 7 ของโลก สะท้อนความนิยมของผลไม้ไทยซึ่งมีศักยภาพในตลาดโลก พร้อมสนับสนุนการขยายช่องทางทางการค้าเพิ่มเติมผ่านการเจรจา และข้อตกลง FTA 

ทั้งนี้ในปี 2564 ไทยส่งออกมะม่วงสดมูลค่ารวม 95 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3,230 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวกว่า 52% จากปี 2563 ต่อเนื่องจนในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 ไทยส่งออกมะม่วงสดมูลค่ารวม 11 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวมากถึง 15% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 

จุรินทร์ ยกมาตรการดูแลราคาสินค้าใกล้ชิด 18 หมวด ยังห้ามขยับขึ้น! พาณิชย์ ละเอียด! คำนวณต้นทุนล่วงหน้า ช่วยประชาชน 

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ากรณีหลายภาคส่วนกังวลว่าน้ำมันจะขยับสูงขึ้นจะกระทบต่อต้นทุนผลิตและค่าขนส่ง และจะส่งผลต่อเนื่องให้สินค้าอุปโภคและบริโภคขยับราคาสูงขึ้นตามมานั้น เรื่องนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้นโยบายมาตั้งแต่ต้นและติดตามหากจะเกิดผลกระทบต่อราคาสินค้า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์โดย ให้กรมการค้าภายในขอความร่วมมือผู้ประกอบการ

ทั้งเรื่องตรึงราคาสินค้า 18 หมวด ได้แก่ อาหารสด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ข้าวสารถุง ซอสปรุงรส น้ำมันพืช น้ำอัดลม นมและผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ซักล้าง ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง อาหารสัตว์ เหล็ก ปูนซีเมนต์ กระดาษ ยาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ และบริการผ่านห้างค้าปลีกค้าส่ง

"ทั้งนี้ การพิจารณาปรับราคาสินค้า จะต้องพิจารณาตามต้นทุนที่แท้จริงและเป็นกรณีไป เนื่องจากผู้ประกอบการแต่ละรายมีต้นทุนไม่เท่ากัน ที่สำคัญหากมีการปรับราคาจะต้องไม่เป็นภาระกับผู้บริโภคมากจนเกินไป ขณะที่ผู้ประกอบการต้องอยู่ได้และสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ซึ่งทุกอย่างต้องสมเหตุสมผล ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ยังไม่มีนโยบายให้ปรับราคาสินค้าและยังไม่มีการอนุญาตให้ปรับราคาสินค้าแต่อย่างใด" นางมัลลิกา กล่าว 

และ 2.ได้ขอความร่วมมือห้างไม่ปรับขึ้นราคาจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ และหากมีผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายแจ้งขอปรับราคากับห้างขอให้แจ้งกรมการค้าภายในทราบก่อน และให้จัดเตรียมสินค้าอุปโภคบริโภคให้มีปริมาณเพียงพอและต่อเนื่อง เติมสต็อกสินค้าและชั้นวางจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค

รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชนและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศในช่วงเทศกาลให้มากขึ้น เช่น น้ำมันพืช ข้าวสาร นอกจากนั้นได้สั่งการให้จัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจ เพื่อติดตามราคาจำหน่ายปลีกให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต มิให้มีการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค หากพบว่ามีการฉวยโอกาสปรับราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น สามารถร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 กรมการค้าภายในหรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด

"แผนดำเนินงานเพื่อลดภาระค่าครองชีพและเพิ่มช่องทางการซื้อสินค้าราคาประหยัดให้แก่ประชาชน โดยจัดทำโครงการ Mobile พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพราคาถูกว่าท้องตลาด ลดสูงสุด 60% สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ไข่ไก่เบอร์ M คละใหญ่ เบอร์ 2-3 น้ำตาลทราย ข้าวสาร น้ำมันปาล์ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แชมพู สบู่ ซอสปรุงรส  น้ำยาซักผ้า ยาสีฟัน หน้ากากอนามัย เป็นต้น สินค้าเกษตรตามฤดูกาล เช่น มะม่วง ทุเรียน สับปะรด เป็นต้น ซึ่งช่องการจำหน่ายแบ่งเป็น รถ Mobile 25 คัน และจุดจำหน่าย 75 จุด สถานที่จำหน่ายในพื้นที่เขต กทม. 50 เขต ตามแหล่งชุมชน เคหะชุมชน หรือสำนักงานเขต ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบจุดจำหน่ายได้ที่เว็บไซต์ของกรมการค้าภายใน ระยะเวลาดำเนินการเฟสนี้คือ 1 พฤษภาคม 2565 " ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว 

เกษตรฯ เปิดฤดูกาลหมอนทอง ดีเลิศที่คุณภาพเยี่ยม

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินมาตรการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID - 19 ตั้งแต่ระดับสวนเกษตรกร และมาตรการควบคุมป้องกันแก้ไขทุเรียนอ่อนภาคตะวันออกปี 2565 ระดับสวนเกษตรกร เพื่อใช้เป็นมาตรฐานให้ทุกสวนผลไม้ส่งออกได้ยึดถือปฏิบัติ และเป็นแนวทางให้ทุกฝ่ายได้ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเป้าหมายให้ทุเรียนไทยมีคุณภาพดีที่สุดในโลก และมีมาตรฐานความปลอดภัย โดยมีหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ พร้อมเป็นพี่เลี้ยง และพร้อมแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ทั้งนี้ยังได้เปิดงานประชาสัมพันธ์ “Eastern Monthong Best Quality เปิดฤดูกาลทุเรียนหมอนทองตะวันออก ดีเลิศที่คุณภาพ ดีเยี่ยมเพื่อส่งออก” ณ สวนทุเรียนน้ำกร่อย อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี โดยยอมรับว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตและการส่งออกผลไม้เมืองร้อนที่สำคัญและมีชื่อเสียงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน มีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน อย่างไรก็ตามสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยเราประสบปัญหาภาวการณ์แข่งขันที่มีข้อกำหนดและเงื่อนไขทางการค้าที่เข้มงวดขึ้น รวมถึงการควบคุมสินค้าให้มีคุณภาพ และปัญหาผลไม้ราคาตกต่ำในช่วงผลผลิตกระจุกตัว 

ดังนั้น แนวทางที่จะพัฒนาภาคเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียน จึงต้องพัฒนาทั้งระบบด้วยความร่วมมือของทุกฝ่ายบูรณาการทำงานร่วมกันทั้งเกษตรกร ล้ง ภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ ตั้งแต่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เน้นการผลิตที่สอดคล้องกับตลาดโดยยึดหลักตลาดนำการผลิต สร้างและขยายตลาดโดยเฉพาะตลาดภายในประเทศให้มากยิ่งขึ้น และที่สำคัญ คือการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม 

'กอบศักดิ์' เผยข่าวดี 'ติด-ตาย' โควิด Wave 4 ทั่วโลกลด!! ส่งสัญญาณบวก 'ท่องเที่ยวไทย' หลังซบนานกว่า 2 ปี

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า...

ความหวังของภาคท่องเที่ยวไทย !!! 

เริ่มต้นสัปดาห์ ด้วยข่าวที่ดี 🙂

หลังจากไม่ได้ดูข้อมูลผู้ป่วยรายใหม่จากโควิด-19 มาเป็นเดือน

เมื่อเช้า เลยไปลองเปิดดู 

สิ่งที่น่าสนใจ ก็คือ Covid Wave ที่ 4 ของโลก ดูเหมือนจะเริ่มผ่านไปแล้ว 

ในภาพจะเห็นว่า ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ จากที่เคยไปสูงถึงเกือบ 4 ล้านคนต่อวัน

ล่าสุด ลดลงมาอยู่ประมาณ 6 แสนกว่าคนต่อวัน หรือเพียง 15% ของยอดสูงสุด

ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิต ก็ลดลงมาเช่นเดียวกัน จาก 12,000 คนต่อวัน ล่าสุดเหลือประมาณ 2,400 คน หรือประมาณ 20% ของยอดสูงสุดในรอบนี้

นับว่าเป็นข่าวดี ที่ชี้ว่ามรสุมโควิดรอบที่ 4 ได้ผ่านไปมากแล้ว

กระทั่งฮ่องกง ที่เคยเป็นข่าวใหญ่เมื่อช่วงต้นมีนาคม ติดเชื้อรายใหม่วันละ 80,000 คน (จากประชากรไม่กี่ล้านคน) ล่าสุดเหลือเพียงวันละ 1,400 คน

จะเหลือที่เป็นประเด็นอยู่ ก็เพียงแต่ในจีนที่กำลังต่อสู้กันกับโควิดในขณะนี้ 

โดยทุกสายตาของโลก กำลังจับจ้องดูว่าจะกระจายไปมากแค่ไหน และด้วยมาตรการที่เข้มงวด จีนจะเอาอยู่หรือไม่ 

'รมว.สุชาติ' วอนผู้ประกอบการเห็นใจประชาชนอย่าขึ้นราคาสินค้า ชี้ มาตรการลดเงินสมทบ ช่วยลดต้นทุนนายจ้าง เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนกว่าแสนล้านบาท

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ติดตามผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน – รัสเซีย รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนและพี่น้องผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวถือเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตทั้งโรคระบาดและภัยสงคราม จึงได้ออกมาตรการมาช่วยเหลือเยียวยาและลดผลกระทบ ในส่วนของกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการลดรายจ่ายของพี่น้องประชาชนที่เกิดขึ้นและลดต้นทุนการผลิตแก่นายจ้าง โดยการลดเงินสมทบทั้งในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตนทุกมาตรา 

ทั้งมาตรา 33,39 และ 40 เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค. – ก.ค. 2565 โดยพี่น้องประชาชนจะได้รับการช่วยเหลือจากกระทรวงแรงงานประมาณ 24.2 ล้านคน เป็นเม็ดเงินประมาณ 34,540 ล้านบาท เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 100,000 ล้านบาท 

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า มาตรการลดเงินสมทบในครั้งนี้ทำให้มีผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.2 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือ ร้อยละ 1 ยกตัวอย่างหากคิดบนฐานเงินเดือน 15,000 บาท จากเดิมต้องส่งเงินสบทบ 750 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 150 บาท ทำให้สามารถลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 600 บาทต่อคนต่อเดือน ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 9 เหลือร้อยละ 1.9 คือจากเดิมที่ต้องส่งเงินสมทบ 432 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 91 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 341 บาทต่อคนต่อเดือน และผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 10.6 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบในแต่ละทางเลือกลงร้อยละ 40 คือ ทางเลือกที่ 1 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 70 บาท ลดลงเหลือ 42 บาท ทางเลือกที่ 2 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 100 บาท ลดลงเหลือ 60 บาท ทางเลือกที่ 3 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 300 บาท ลดลงเหลือ 180 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 84 - 360 บาทต่อคนต่อเดือน

สัญญาณฟื้นพบยอดตั้งโรงงานครึ่งปีลงทุนพุ่ง 5.6 หมื่นล้านอ

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ยอดตั้งโรงงานใหม่ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีทั้งหมด 1,110 โรงงาน คิดเป็นเงินลงทุน 56,354.19 ล้านบาท และมีการจ้างงาน 31,330 คน ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการประกอบกิจการใหม่สูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร แปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ และผลิตภัณฑ์โลหะ ตามลำดับ 

ส่วนของการขยายโรงงานมีจำนวน 152 โรงงาน เงินลงทุน 41,510.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.41 % การจ้างงาน 37,550 คน เพิ่มขึ้น 52.02 % ขณะเดียวกันมีการเลิกประกอบกิจการลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จำนวน 361 โรงงาน ลดลง 8.38% เงินลงทุน จำนวน 21,427.65 ล้านบาท ลดลง 4.57% เลิกจ้างงาน 12,172 คน ลดลง 8.74% สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากที่โรงงานขนาดเล็กส่วนใหญ่และขนาดกลางบางส่วนได้รับผลกระทบของวิกฤตการณ์โควิด-19

กระเป๋าฉีก! ราคาไข่ปรับเพิ่มขึ้นอีก หลังต้นทุนผู้เลี้ยงพุ่ง

นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เปิดเผยว่า ขณะนี้ไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม ได้ปรับขึ้นราคาฟองละ 10 สตางค์ จากเดิม 3.40 บาทต่อฟอง เพิ่มเป็น 3.50 บาทต่อฟอง โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากต้นทุนอาหารสัตว์ปรับขึ้นกิโลกรัมละ 60 สตางค์ ทำให้ต้นทุนมาอยู่ที่ 3.20 บาทต่อฟอง 

นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้กล่าวว่า สมาคมไม่ได้ประกาศปรับขึ้นราคาไข่ไก่เนื่องจากกรมการค้าภายในขอให้ตรึงราคาไว้ แต่ผู้เลี้ยงรายย่อยที่รวมตัวกันเป็นสหกรณ์และชมรมมีต้นทุนการเลี้ยงสูงกว่ารายย่อยได้ประกาศปรับราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มขึ้น 10 สตางค์จาก 3.40 บาท เป็น 3.50 บาท สาเหตุที่ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้นเกิดจากอาหารสัตว์ที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น รวมถึงค่ายา วิตามิน และเวชภัณฑ์ และไก่ให้ไข่น้อยลงด้วย

'กอบศักดิ์' ชี้!! วิกฤติอาหารแพงลามทั้งโลก ผลพวงสงคราม แย้ม!! ไทยยังดี ไม่เคยทิ้งภาคเกษตร พอช่วยก้าวผ่านไปได้

ไม่นานมานี้ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ฉายภาพวิกฤตอาหารโลก - Coming Global Food Crisis ไว้ว่า...

หลายคนคงได้ยินคนบ่นว่า ช่วงนี้ข้าวของแพง 

แต่เรื่องนี้ไม่ได้เกิดแค่ในไทย ยุค "ข้าวยาก หมากแพง" กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

ข้อมูลล่าสุดจาก FAO หรือองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ชี้ว่า ในหลายพื้นที่ของโลกกำลังเข้าสู่ช่วงการเกิดวิกฤตการณ์อาหาร

ดัชนีราคาอาหารล่าสุดในเดือนมีนาคม เร่งเพิ่มขึ้นถึง 12.6% จากเดือนก่อนหน้า !!!

หากเทียบกับปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 17.9% ทำให้ระดับราคาอาหารโลกสูงสุดในรอบ 22 ปี ตั้งแต่ได้สร้างดัชนีนี้ขึ้นมา

ในภาพ เราจะเห็นถึงความรุนแรงของปัญหานี้ โดยเมื่อเทียบกับเดือนมกราคมหรือต้นปีที่ผ่านมา แยกรายหมวดแล้ว พบว่า...

- ราคาเนื้อสัตว์ +7.0%
- ราคาผลิตภัณฑ์จากนม +9.5%
- ราคาธัญพืช +21.0%
- ราคาน้ำมันพืช +39.1%
- ราคาน้ำตาล +4.6%

ไม่น่าแปลกใจว่า คนทั้งโลกจึงบ่นอุบกันไปทั่ว

กำเงินไป 100 แต่ได้ของมาแค่ 80

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสงครามที่ยุโรป 

รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลี 28% ของโลก ยิ่งไปกว่านั้น รัสเซียและเบลารูสเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยโปแตส 40% ของโลก

เมื่อมีการ Sanctions รัสเซียและเบลารูส บวกกับการที่ยูเครนไม่สามารถเพาะปลูกได้ ข้าวสาลีและปุ๋ยจึงขาดแคลนหนัก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top