Monday, 12 May 2025
ECONBIZ NEWS

กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ครั้งแรกรอบ 4 ปี หลังมองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจน

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ระบุว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.50 เป็นร้อยละ 0.75 ต่อปี โดยให้มีผลทันที ทั้งนี้ 1 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.50 ต่อปี  

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น โดยคาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดของ COVID-19 ได้ภายในสิ้นปีนี้และจะขยายตัวต่อเนื่องในระยะต่อไป ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง คณะกรรมการฯ ประเมินว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษเพื่อรองรับวิกฤต COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมาจึงมีความจำเป็นลดลง

กรุงเทพฯ เจ๋ง!! ครองอันดับ 1 ในเอเชียแปซิฟิก เมืองที่ดึงงานประชุมนานาชาติเข้าประเทศสูงสุด

กรุงเทพฯ ยืน 1 ในเอเชียแปซิฟิก ในฐานะเมืองที่มีบุคลากรในสมาคมระหว่างประเทศใช้บทบาทช่วยดึงงานประชุมนานาชาติเข้าสู่ประเทศสูงสุด 

บริษัทที่ปรึกษาระหว่างประเทศด้านการจัดประชุม GainingEdge เผยรายงานวิจัยประจำปี “Leveraging Intellectual Capital” เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาพบว่า กรุงเทพมหานครมีบุคลากรเข้าเป็นกรรมการบริหารสมาคมระหว่างประเทศ 194 สมาคม แต่สามารถดึงงานประชุมเข้าประเทศได้มากถึง 123 งาน คิดเป็นอัตราการใช้ประโยชน์ (Harnessing Ratio) 63.4% ทำให้กรุงเทพเป็นอันดับหนึ่งของเอเชียแปซิฟิก

สำหรับ 5 อันดับแรกที่ดึงงานประชุมนานาชาติเข้าประเทศสูงสุด ประกอบด้วย
อันดับ 1 ไทย 63.4%
อันดับ 2 เซี่ยงไฮ้ 51.7%
อันดับ 3 สิงคโปร์ 50.8%
อันดับ 4 ไทเป 45.9%
อันดับ 5 กัวลาลัมเปอร์ 44.3%

GainingEdge จัดอันดับเมืองจุดหมายปลายทางไมซ์ทั่วโลก ด้านการใช้ประโยชน์จากบุคลากรที่เป็นต้นทุนทางปัญญาเพื่อดึงงานประชุมนานาชาติมาจัดในเมืองได้สูงสุด โดยพิจารณาจากจำนวนผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพที่ได้เข้าไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารของสมาคมวิชาชีพระหว่างประเทศ

แล้วนำไปเปรียบเทียบกับจำนวนงานประชุมนานาชาติของสมาคมฯ ที่จัดขึ้นระหว่างปี 2561 จนถึงปี 2564 ในเมืองของผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพที่ดำรงตำแหน่งอยู่ และคำนวณค่าออกมาเป็นสัดส่วนร้อยละหรือเปอร์เซ็นต์ เรียกว่า Harnessing Ratio

นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังอยู่ในอันดับ 6 ของโลก รองจากกรุงปราก 95% ดับลิน 81.9% ลิสบอน 81.8% มอนทรีออล 77.2% และเบอร์ลิน 64.7%

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า จากรายงานของ GainingEdge ได้แนะนำให้เมืองต่าง ๆ ใช้กลยุทธ์การประมูลสิทธิหรือดึงงานโดยเชิญชวนผู้นำองค์ความรู้ หรือผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพที่มีชื่อเสียงให้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการดึงงาน ซึ่งสอดรับกับแนวทางการดึงงานของทีเส็บที่ริเริ่มโครงการ Thailand Convention Ambassador Programme หรือผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดประชุมนานาชาติของประเทศไทย

‘กอบศักดิ์’ จับตาสัปดาห์นี้ถึงจุดเปลี่ยนศก.ไทย คาด กนง.จะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย 0.25%

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า สัปดาห์นี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเศรษฐกิจไทย จบยุคดอกเบี้ยต่ำของไทยที่เกิดขึ้นมาหลายปี สู่จุดเริ่มต้นของการปรับขึ้นดอกเบี้ยกลับไปสู่ปกติ 

ส่วนอัตราดอกเบี้ยของไทยจะปรับขึ้นเท่าไร ไปจบลงที่ตรงจุดไหนในช่วงต่อไปนั้น คงต้องรอคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจ โดยคาดว่าจะขยับขึ้นราว 0.25% โดยมีปัจจัยหลักที่จะเป็นหัวใจสำคัญกำหนดดอกเบี้ยต่อไป คือ แนวโน้มของเงินเฟ้อ ที่ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต้องแข่งกันปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา และสำหรับไทยจะเกิดขึ้นในช่วงต่อไปเช่นกัน 

ในประเด็นนี้ ต้องถือว่าเป็น "ข่าวดี" ที่ไทยกำลังจะปรับขึ้นดอกเบี้ย ในช่วงเงินเฟ้อกำลังแผ่วลงบ้าง หลังจากที่ในเดือนล่าสุด (กรกฎาคม) เป็นครั้งแรกของปี ที่เงินเฟ้อลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จากเคยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างน่ากังวลใจจากเดือนก่อนหน้า (MoM) เฉลี่ยเดือนละ +0.9% มาตลอด เทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) เงินเฟ้อไทยเดือนนี้ก็ลดลงเช่นกัน อยู่ที่ +7.61% จาก +7.66% ในเดือนก่อนหน้า แม้จะลดลงเพียงนิดเดียว แต่ก็ยังน่าดีใจ

เพราะภาพจำของทุกคนสำหรับครึ่งแรกของปีคือ เงินเฟ้อพุ่งทะยาน สูงแล้ว สูงอีก ไม่รู้จะไปจบที่ตรงไหน แต่เดือนนี้ มีข่าวดีเล็ก ๆ เรื่องราคาสินค้าต่าง ๆ พร้อมกันลดหลายจุด 

โดยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
เงินเฟ้อทั่วไป -0.16% 
ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) -1.3%
ดัชนีราคาก่อสร้าง -0.7%

จะมีก็เพียงเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังบวกเพิ่มอีก +0.5% จากการที่ราคาของสินค้าต่างๆ เริ่มปรับตัวขึ้น จากราคาหมวดพลังงาน และการขนส่ง ที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา 

หากเราไปดูรายละเอียดขององค์ประกอบสำคัญของเงินเฟ้อ จะพบว่า ที่ดีขึ้นคือ 

หมวดที่ไม่ใช่อาหาร +7.6% ลดลงจาก +8.5% 

- พลังงาน +33.8% ลดลงจาก +40.0%

- พาหนะการขนส่ง +10.2% ลดลงจาก 14.8%

สะท้อนราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ในช่วงที่ผ่านมา

ส่วนหมวดที่แย่ลง ก็คือ 

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ +8.0% เพิ่มขึ้นจาก +6.4% 

- เนื้อสัตว์ เป็นไก่ สัตว์น้ำ +13.7% จาก 13.0%

- ผัก ผลไม้ +5.8% จาก 0.4%

- อาหารบริโภค-ในบ้าน +8.7% จาก +7.3%

- อาหารบริโภค-นอกบ้าน +8.4% จาก 6.5%

สะท้อนถึงภาระต้นทุนที่เพิ่มในช่วงที่ผ่านมา ที่กดดันให้ทุกคนต้องปรับเพิ่มราคาสินค้าต่างๆ เพื่อส่งผ่านภาระบางส่วนให้แก่ผู้บริโภค

ศ.สุชาติ! ไม่เห็นด้วยที่มีผู้เสนอให้ขึ้นดอกเบี้ยเยอะ ๆ​ เพื่อสกัดเงินเฟ้อ​ เพราะไทยยังอยู่ในวัฏจักร​เศรษฐกิจ​ที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว

ศ​าสตราจารย์​ ดร.สุชาติ​ ​ธา​ดา​ธำ​รง​เวช​ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง​ กล่าวว่า

1. เราต้องแยกแยะ​เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นว่า​ เป็นด้านพิมพ์เงินมาใช้มากเกินไป​แบบสหรัฐ​ฯ (Demand​ pull inflation) หรือด้านต้นทุนนำเข้า (Cost push inflation) ออกจากกัน ประเทศไทยเป็น​ Cost push inflation หากขึ้นดอกเบี้ย​ ก็จะลดเงินเฟ้อได้น้อยมาก​ ราคาน้ำมัน, ราคาปุ๋ยก็คงไม่ลดลง​ แต่จะทำเศรษฐกิจ​ที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว​กลับไปถดถอย​ ทำให้ประชาชนยากจนลงเพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น​ เศรษฐกิจ​ไทยจะแย่ลง​ คนตกงานและรายได้ประชาชนลดลง​

2. รัฐบาลต้องดูแลประชาชนให้มีงานทำ​ มีรายได้​​เพิ่มขึ้นเร็วกว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น​ การแนะนำให้ขึ้นดอกเบี้ยมากๆ​ เพื่อ (ก) เพิ่มต้นทุนการกู้ยืมของประชาชน​ ลดการบริโภค​ ลดการลงทุน​ ลดรายได้ภาษี​รัฐบาล​ (ข)​ เพื่อทำค่าเงินบาทให้แข็ง​ขึ้น เพื่อลดความสามารถในการส่งออกและในการดึงดูดคนต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว​ ทั้ง​ 2 ประการจะทำให้​เศรษฐกิจ​จริง (GDP)​ ลดลง​ ทำให้ประเทศไม่พัฒนา​ ประชาชนไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้​ และยากจนลงมากขึ้น

ตึกร้างสร้างไม่เสร็จเกลื่อน ‘สีหนุวิลล์’ หลังทุนจีน ส่อทิ้งไปแล้วไม่หวนกลับ

‘สีหนุวิลล์’ เมืองท่าตากอากาศของประเทศกัมพูชา ที่ตั้งใจปลุกปั้นให้เป็นเมืองจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อสู้กับเมืองท่าท่องเที่ยวทางทะเลในภูมิภาคอาเซียน อย่างพัทยา ดานัง และภูเก็ต

โดยในช่วงสิบปีที่ผ่านมาสีหนุวิลล์เติบโตอย่างรวดเร็วจากการเข้ามาลงทุนของเอกชนจีน ที่เรียกได้ว่าทั้งเมืองนี้สร้างมาเพื่อคนจีนก็คงจะไม่ผิด เพราะอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ โรงแรม รีสอร์ท คอนโดมิเนียม รวมทั้งคาสิโน ล้วนแต่เป็นการลงทุนจากชาวจีนแทบทั้งสิ้น

‘จาง เจียเหว่ย’ นายกสมาคมธุรกิจจีนในเมืองสีหนุวิลล์ ได้พูดคุยกับทาง Nikkei ว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วของเมือง ส่งผลกระทบทำให้ราคาที่ดินพุ่งสูงอย่างมาก สะท้อนถึงต้นทุนค่าเช่าอาคารที่แพงขึ้น ซึ่งกำลังส่งสัญญาณฟองสบู่ภาคอสังหาอย่างชัดเจนของเมืองนี้

ในเดือนสิงหาคมจะครบ 3 ปี ที่การเติบโตของเมืองสะดุดลงหลังจากเกิดโรคระบาดใหญ่ การก่อสร้างมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ในสีหนุวิลล์ การพัฒนาอย่างรวดเร็วและไม่มีการตรวจสอบได้เปลี่ยนสิ่งที่เคยเป็นจุดหมายปลายทางริมทะเลยอดนิยมของนักเดินทางแบ็คแพ็ค ให้กลายเป็นคาสิโนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คอนโด โรงแรม และห้างสรรพสินค้า

แรงบันดาลใจของสีหนุวิลล์ต้องการวางยุทธศาสตร์ของเมืองให้เป็น "มาเก๊าแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" การเติบโตของอุตสาหกรรมการพนันออนไลน์ซึ่งเริ่มตั้งขึ้นในเมืองประมาณปี 2017 และดึงดูดคนงานหลายแสนคนให้มาทำงานที่เมืองแห่งนี้

แต่แล้วธุรกิจที่กำลังเติบโตกลับหยุดชะงัก เมื่อเดือนสิงหาคม 2019 รัฐบาลกัมพูชาที่ได้รับแรงกดดันจากรัฐบาลปักกิ่งให้ควบคุมอาชญากรรมและเงินที่ผิดกฎหมายที่หมุนเวียนอย่างมหาศาลในสีหนุวิลล์ มีคำสั่งห้ามเล่นการพนันออนไลน์ ผู้คนในอุตสาหกรรมนี้ตกงานเป็นจำนวนมหาศาล

อีกทั้งโรคระบาดได้ซ้ำเติมทำให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรวดเร็ว เนื่องจากชื่อเสียงของเมืองแย่ลงไปอีก โดยเกิดการลักลอบเปิดบริษัทการพนันออนไลน์ซึ่งผู้ที่เข้ามาคุมกิจการเต็มไปด้วยแก๊งอาชญากรที่ดำเนินการหลอกลวงเหยื่อบนเว็บทั่วโลกด้วยแรงงานที่ถูกบังคับจากการลักลอบเข้ามาในประเทศ

และในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ กลุ่มทุนจีนได้ทิ้งเศษซากต่าง ๆ เอาไว้แล้วหอบเงินกลับประเทศจีน ส่งผลทำให้เมืองนี้เต็มไปด้วยอาคารที่ยังสร้างไม่เสร็จถึง 1,155 หลัง ตามตัวเลขอย่างเป็นทางการ การก่อสร้างส่วนใหญ่ได้หยุดลง ทิ้งปัญหาความเสื่อมโทรมของโครงสร้างพื้นฐานในเมืองเอาไว้มากมาย ทั้งถนน ทางเท้า และระบบระบายน้ำ ที่สุดท้ายแล้วรัฐบาลกัมพูชา ต้องมาตาล้างตามเช็ดสร้างขึ้นหลังจากการพัฒนาของเมืองอย่างรวดเร็วเกินไปได้ทำลายโครงสร้างพื้นฐานของเมืองไปมาก

ในความพยายามที่จะหาทางเดินต่อไปข้างหน้า นักพัฒนาชาวจีนหลายคนได้พบกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกัมพูชาในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม เพื่อเรียกร้องให้ทางการลดภาษีและสร้างดัชนีมูลค่าที่ดินเพื่อช่วยในการเจรจาสัญญาเช่า

พวกเขายังต้องการให้รัฐบาลช่วยแก้ไขข้อพิพาทกับเจ้าของที่ดินดั้งเดิมโดยชักชวนให้กลายเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการ

นักพัฒนาชื่อ Qiu ซึ่งเดินทางมาถึงสีหนุวิลล์จากประเทศจีนในปี 2017 เป็นหนึ่งในนักธุรกิจที่มีปัญหาข้อพิพาททางกฎหมายกับเจ้าของที่ดินชาวกัมพูชา

โรงแรมสูงระฟ้ามูลค่า 3 ล้านดอลลาร์ของเขาบนถนนอินดิเพนเดนซ์อเวนิว สร้างเสร็จประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2020 หลังจากการก่อสร้างนานถึง 18 เดือน แต่ยังไม่สามารถเปิดกิจการได้ และมีปัญหาพัวพันกับค่าเช่าและข้อพิพาททางกฎหมายกับเจ้าของที่ดินที่ต้องการจะควบคุมโครงการทั้งหมด ทั้งที่เขาคือหนึ่งคนที่สร้างธุรกิจในจีนได้เติบโต แต่ตอนนี้เขารู้สึกว่าเขาอาจคิดผิดที่มาลงทุนในสีหนุวิลล์

Ivan Franceschini นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งศึกษาการลงทุนของจีนในเมืองสีหนุวิลล์กล่าวว่า ในประเทศที่การทุจริตในระดับท้องถิ่นและการเก็งกำไรที่ดินโดยชนชั้นสูงที่เชื่อมโยงกันนั้นมีอยู่มากมาย ข้อเสนอของนักพัฒนาไม่น่าดึงดูดใจนัก

แต่หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติพากันทิ้งเมืองไป ตอนนี้เริ่มเห็นปัญหา ทำให้เจ้าของที่ดินเริ่มรู้ตัวว่า สุดท้ายแล้วเขาก็ไม่ได้ง้อ และทิ้งไว้ซึ่งตึกรามบ้านช่อง อาคารมากมายที่สร้างไม่เสร็จ และหวังเพียงว่านักลงทุนรายใหม่จะกลับมาเพื่อฟื้นฟูเมืองแห่งนี้ ซึ่งเขามองว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้

รัฐบาลได้มอบหมายให้สถาบันการวางผังเมืองและการออกแบบของเซินเจิ้นดำเนินการตามแผนแม่บทที่ "ทะเยอทะยาน" เพื่อเปลี่ยนเมืองให้กลายเป็น "ศูนย์กลางการค้า บริการ และโลจิสติกส์"

แต่ในทางปฏิบัติระดับท้องถิ่น กลับมีผลเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับโครงการที่หยุดชะงักหลายร้อยโครงการ ส่วนหน่วยงานระดับจังหวัดต่างก็ล้มเหลวในการดำเนินงานตามแผน

'แบงก์ชาติ' ร่วม 3 เอกชนเตรียมทดสอบสกุลเงินดิจิทัล คัดประชาชนร่วมเทสต์ 10,000 ราย ช่วงปลายปีนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมจับมือกับเอกชน 3 ราย เตรียมทดสอบสกุลเงินดิจิทัลช่วงปลายปี 2565 ถึงกลางปี 2566 ขณะเดียวกันก็เตรียมทดสอบในด้านนวัตกรรมเพื่อที่ธนาคารแห่งประเทศไทยนำมาปรับปรุงการออกแบบสกุลเงินดิจิทัลที่เหมาะสมกับบริบทของไทยในอนาคต

วชิรา อารมย์ดี รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางเพื่อให้ประชาชนใช้งาน (Retail Central Bank Digital Currency: Retail หรือ CBDC สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ) เป็นเรื่องที่ธนาคารกลางทั่วโลกให้ความสนใจ และอยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนา เนื่องจากมีศักยภาพที่จะช่วยพัฒนาระบบการเงินในอนาคต

โดย ธปท. เตรียมจะขยายขอบเขตการศึกษาและพัฒนา Retail CBDC ไปสู่การใช้งานจริงในวงจำกัดร่วมกับภาคเอกชน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ...

การทดสอบระดับพื้นฐาน เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบ รวมถึงรูปแบบของการนำเทคโนโลยีมาใช้งานจริงกับประชาชนรายย่อย โดยจะทดสอบการนำมาใช้ชำระค่าสินค้าบริการในพื้นที่เฉพาะ และในกลุ่มผู้ใช้งานประมาณ 10,000 ราย ที่กำหนดโดย ธปท. และภาคเอกชนที่ร่วมทดสอบ 3 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด โดยจะเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ไปจนถึงกลางปี 2566

ครึ่งปีแรก แรงงานไทย ไปทำงานประเทศไหนมากที่สุด

ตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศที่จำนวนคนไทยไปทำงานด้วยมากที่สุด ได้แก่ ไต้หวัน จำนวน 12,238 คน โดยไต้หวันมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 25,250 เหรียญไต้หวัน/เดือน หรือประมาณ 30,497 บาท 

แต่เนื่องจากค่าเงินและค่าครองชีพของไต้หวันกับไทยไม่แตกต่างกันนัก และส่วนใหญ่เป็นงานใช้แรงงาน อาทิ คนทำงานทั่วไป ช่างทั่วไป ช่างฝีมือ โดยภาพรวมแล้ว นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้แรงงานไทยบางกลุ่มเลือกไปประเทศนี้มากสุดในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565

จุรินทร์อัดกว่า 200 ล้าน ลุยช่วยชาวสวนลำไย 'ดึงราคาขึ้น' เผยเกรดส่งออกและมัดปุ๊กราคากระเตื้องขึ้น 11-38% ส่วนรูดร่วงเกรดบี สูงกว่าปีก่อน 20%

วันที่ 3 สิงหาคม 2565 เวลา 11.50 น. นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์รายการขีดเส้นใต้เมืองไทย ช่องไทยรัฐทีวี ประเด็นราคาลำไย การดูแลราคาสินค้าและราคาปุ๋ย

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ลำไยมี 2 แบบ 1. ลำไยช่อ 2. ลำไยรูดร่วง ลำไยช่อมี 2 แบบ สำหรับการส่งออกที่เรียกว่า มัดปุ๊กขายในประเทศ ซึ่งอันนี้ไม่มีปัญหาปีนี้ราคาดีกว่าปีที่แล้วเยอะ เพราะเกรดส่งออกราคาดีกว่าปีที่แล้ว 21% สำหรับเกรดมัดปุ๊กทั่วไปราคาดีกว่าปีที่แล้ว 38% สำหรับในประเทศคือภาพรวม แต่ที่มีปัญหาคือลำไยรูดร่วง เพราะปีนี้ฝนตกชุกมาก ทำให้คุณภาพต่ำลง ประกอบกับลำไยรูดร่วงส่วนใหญ่เอาไปทำลำไยอบแห้งปรากฏว่าโรงอบแห้งของไทยชะลอการรับซื้อเพราะปีที่แล้วสต๊อกของไว้เยอะและเหลืออยู่มาก และที่ซ้ำเข้ามาคือจีนชะลอการรับซื้อเพราะเก็บสต๊อกปีที่แล้วไว้เยอะ  6 เดือนแรกของปีนี้เราส่งออกลำไยอบแห้งไปจีนบวกถึง 95% เกือบ 100% ทำให้ราคาลดลงมาสำหรับบางตัว ถ้าลำไยรูดร่วงเกรด AA ราคายังได้อยู่ เกรด B ราคาบวกถึง 20% แต่มีปัญหาคือเกรด A ที่ราคาลดลงมากระทรวงพาณิชย์เข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้อยู่ในตอนนี้

เกรดรูดร่วง AA ตอนนี้ปรับเพิ่มเป็น 12 - 16 บาท/กก. แล้วในภาพรวม และเกรด A ที่มีปัญหามากสำหรับรูดร่วงที่ราคาปีที่แล้ว 4-7 บาท/กก. ปีนี้เหลือ 4-6 บาท/กก. แต่กระทรวงพาณิชย์เข้าไปช่วยดูเกรด B ราคาดีกว่าปีที่แล้ว เกรด B ปีที่แล้ว 2-3 บาท/กก. ปีนี้ 2-4 บาท/กก. +20% แต่เกรด A มีปัญหาหนัก ตอนนี้ราคาขยับขึ้นเพราะกระทรวงพาณิชย์เข้าไปใช้วิธีเอาเงิน คชก.(คณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร) ลงไปช่วย 200 กว่าล้านบาท โดยให้โรงงานลำไยอบแห้งช่วยรับซื้อ 100,000 ตันสดและมีจุดรับซื้อทั้งหมด 400 จุด ในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ ทำให้ราคาดีขึ้นสำหรับตัวที่มีปัญหา ส่วนเกรด AA ราคาอยู่ในช่วง 12-16 บาท/กก. เกรด A ราคาขยับขึ้นมาแต่ยังไม่ถึงกับดีมากแต่ B ขยับดีขึ้น

ตั้งแต่เดือน เม.ย.ถึง มิ.ย. ผลไม้ในภาคตะวันออกทั้งหมด เราเข้าไปช่วยเดิมตลาดใหญ่คือจีน แต่จีนมีปัญหาเรื่องด่านการขนส่งทางบกมีปัญหามาก เราปรับระบบการขนส่งให้ขนส่งทางเรือมากขึ้น และกระทรวงพาณิชย์ประสานกับสมาคมผู้ส่งออกสินค้าทางเรือ สมาพันธ์ สมาพันธ์โลจิสติกส์และเกษตรกร ล้ง ผู้ส่งออกทั้งหมดปรับ หาเที่ยวเรือและหาตู้คอนเทนเนอร์ให้ ทำให้ส่งออกไปจีนคล่องตัวมากขึ้นและราคาดีมากสำหรับปีนี้ เช่น หมอนทอง ภาคตะวันออกปี 64 ราคา 117 บาท/กก. ปีนี้เฉลี่ย 140 กว่าบาท/กก. ราคาดีขึ้น 22% ภาคใต้หมอนทอง ราคา +45% มังคุดผิวมัน +90% มังคุดคละ +114% เงาะโรงเรียน +168%  สับปะรดภูแลภาคเหนือ +20% สับปะรดโรงงาน +4% ลิ้นจี่จักรพรรดิ เกรด B +19% มะม่วงน้ำดอกไม้ +100% มะม่วงคละ +เกือบ50% 

ราคาที่ปรับดีขึ้นเพราะเราแก้ปัญหาทันท่วงทีและแก้ปัญหาเชิงรุก เข้าไปแก้ระบบการขนส่งทำให้ตัวเลขการส่งออกผลไม้ 6 เดือนแรกปีนี้ เพิ่มไปแตะ 120,000 ล้านบาท สำหรับตลาดจีนมีปัญหาเฉพาะการขนส่งทางบกเพราะจีนใช้นโยบาย Zero Covid ตรวจโควิดเข้มข้นมาก การส่งออกผลไม้ทางบกต้องผ่านลาวและผ่านเวียดนามเข้าด่านจีนต้องตรวจเข้มและรถติด เดี๋ยวปิด-เปิดเป็นอุปสรรคมาก ตนจึงปรับระบบการขนส่งมาใช้ทางเรือมากขึ้นประสบความสำเร็จอย่างยิ่งทำให้ระบายผลไม้ไปจีนได้คล่องตัวมากขึ้นในปีนี้ตัวเลขราคาขยับไปเยอะ 

 

‘อินเดีย’ บล็อกนำเข้าแอร์ไทยที่ใส่สารทำความเย็น อ้าง!! ปฏิบัติตามพันธกรณีพิธีสารมอนทรีออล

ก.อุตฯ เร่งช่วยเหลือผู้ส่งออกเครื่องปรับอากาศของไทย เหตุอินเดียห้ามนำเข้าเครื่องปรับอากาศที่มีสารทำความเย็น อ้างความปลอดภัยด้านสุขภาพ ตามพันธกรณีพิธีสารมอนทรีออล สั่ง สมอ. จี้อินเดียแจ้งเวียนมาตรการต่อ WTO พร้อมขอหลักฐานพันธกรณีที่อ้าง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกรณีที่ประเทศอินเดียกำหนดมาตรการห้ามนำเข้าเครื่องปรับอากาศที่บรรจุสารทำความเย็น (น้ำยาแอร์) ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของไทยเป็นอย่างมาก ตนจึงสั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมการว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Committee on Technical Barriers to Trade : TBT) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยอย่างเร่งด่วน

ด้าน นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อสั่งการของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และข้อร้องเรียนจากผู้ประกอบการที่สมอ. ได้รับเมื่อเดือนกันยายน 2564 สมอ. ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยหยิบยกประเด็นดังกล่าวเข้าในการประชุม Committee on TBT ครั้งที่ 86 เมื่อวันที่ 8-11 มีนาคม 2565 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ตามพันธกรณีความตกลงที่ประเทศสมาชิกต้องถือปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันระหว่างสินค้าที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ และถือเป็นอุปสรรคทางการค้าโดยไม่จำเป็น 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top