Wednesday, 14 May 2025
ECONBIZ NEWS

‘สุริยะ’ เผย 5 อุตสาหกรรม รับอานิสงส์เปิดปท. ดันดัชนีผลผลิตอุตฯ ก.ค. ขยายตัว 6.37%

อก. เผย MPI เดือนกรกฎาคม 2565 ขยายตัวร้อยละ 6.37 อานิสงส์จากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ด้านส่งออกสินค้าอุตฯ ขยายตัวต่อเนื่องเดือนที่ 20

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากกว่าเป้าและช่วยหนุนการบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง มีคำสั่งซื้อและมีการเพิ่มการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ 95.71 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับภาพรวม MPI ใน 7 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว ร้อยละ 1.23 และอัตราการใช้กำลัง การผลิต 7 เดือนแรก อยู่ที่ระดับ 63.42 ทั้งนี้ คาดว่า MPI ในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารของไทยที่ขยายตัวท่ามกลางวิกฤตความมั่นคงทางอาหารของโลก

นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกฎาคม 2565 ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 6.37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 61.01 จากการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ อุตสาหกรรมหลักกลับมาขยายตัว ได้แก่ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีตและปูนซีเมนต์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน สะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวช่วยฟื้นการบริโภคภายในประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวจากเดิม 6 ล้านคน เป็น 8 ล้านคน ในปีนี้ รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อภาคการส่งออกทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 ติดต่อกัน จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ และอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) เดือนกรกฎาคม ขยายตัวร้อยละ 0.50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 20 ติดต่อกัน 

นอกจากนี้ ภาพรวมสถานการณ์เงินเฟ้อที่ยังคงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม แต่มีทิศทางชะลอตัวลง สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคมขยายตัวที่ร้อยละ 10.5 ชะลอตัวลงจากเดือนมิถุนายนขยายตัวที่ร้อยละ 12.9

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยเริ่มส่งสัญญาณเฝ้าระวัง โดย สศอ. ใช้เครื่องมือระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย (The Early Warning System Industry Economics : EWS-IE) สศอ. จึงคาดการณ์จากดัชนีชี้นำสถานการณ์การผลิตโลก (PMI) ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยใน 1-2 เดือนข้างหน้า ปัจจัยภายในประเทศยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวและปลดล็อกมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ประเทศคู่ค้าอยู่ในภาวะไม่ปกติ ส่งผลให้คำสั่งซื้อชะลอตัวลง ทั้งนี้ ต้องจับตาดูสถานการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงยืดเยื้อ ส่งผลต่อราคาพลังงานและวัตถุดิบ สภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย รวมถึงปัญหาข้อพิพาททางการเมืองระหว่างประเทศ

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือนกรกฎาคม 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

‘สุริยะ’ ชี้!! บอร์ด สมอ. ดีเดย์ 1 ม.ค.67 คุมมลพิษยานยนต์ ตามมาตรฐานยูโร 5

บอร์ด สมอ. เห็นชอบให้บังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 คุมมลพิษรถบรรทุก, รถบัส, รถกระบะ และรถยนต์เล็ก ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลและเบนซิน มีผล 1 มกราคม 2567 มุ่งแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และรักษาสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายรัฐบาล

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) หรือบอร์ด สมอ. ประจำเดือนสิงหาคม 2565 ว่า บอร์ด สมอ. ได้มีมติเห็นชอบให้ สมอ. ควบคุมรถบรรทุก, รถบัส, รถกระบะ และรถยนต์เล็ก ทุกรุ่นทุกคัน ต้องได้มาตรฐานยูโร 5 โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เพื่อควบคุมปริมาณสารมลพิษที่ปล่อยออกมา ไม่ให้เกินเกณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อประชาชน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้ขานรับนโยบายรัฐบาลในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ ได้กำชับให้ สมอ. เร่งรัดกำหนดมาตรฐานเพื่อควบคุมปริมาณสารมลพิษจากยานยนต์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันได้กำหนดมาตรฐานแล้วจำนวน 34 มาตรฐาน อาทิ รถยนต์ขนาดใหญ่และขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลและเบนซิน รถมอเตอร์ไซค์ การทดสอบสารมลพิษจากเครื่องยนต์ และมลพิษทางเสียงที่เกิดจากรถยนต์ตั้งแต่ 4 ล้อขึ้นไปเป็นต้น

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐานยูโร 5 นี้จะควบคุมปริมาณสารมลพิษที่ปล่อยออกมา ได้แก่ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน ออกไซด์ของไนโตรเจน และปริมาณสารมลพิษอนุภาคหรือฝุ่นจากเครื่องยนต์ โดยมีระบบวินิจฉัยอุปกรณ์ควบคุมสารมลพิษ ซึ่งเป็นระบบที่จะแจ้งผู้ขับขี่ในกรณีที่อุปกรณ์ควบคุมสารมลพิษทำงานผิดปกติ รวมทั้งมีข้อกำหนดเรื่องความทนทานของอุปกรณ์ควบคุมมลพิษ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ารถยนต์ที่ผ่านการใช้งานไประยะเวลาหนึ่งแล้ว ยังคงสามารถควบคุมมลพิษตามเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรฐานได้

รัฐผนึก 'SME D Bank - SAM' แก้หนี้ SME หวังฟื้นการจ้างงาน - เศรษฐกิจขยายตัว

เมื่อวันที่ (29 ส.ค. 65) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่นโยบายรัฐบาลมุ่งส่งเสริมและดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงสภาพคล่อง และที่มีปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ (NPLs) ให้ฟื้นกลับมาเดินหน้าทางธุรกิจต่อได้ ทางธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank และ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือทางธุรกิจในรูปแบบหน่วยงานรัฐกับหน่วยงานรัฐ (G To G) เป้าหมายเพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มหนี้ด้อยคุณภาพ ให้สามารถกลับมาพลิกฟื้น อยู่รอด และเติบโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าว ถือเป็นเป็นครั้งแรกของภาครัฐที่ร่วมบูรณาการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็นหนี้อย่างยาวนาน โดยจะนำร่องช่วยกลุ่มหนี้ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกันที่เกิดขึ้นก่อนปี 2558 เงินต้นรวม ประมาณ 8,000 ล้านบาท และเมื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผ่านกระบวนการแก้ปัญหาต่าง ๆ จาก บสส. แล้ว ทาง ธพว. พร้อมต่อยอดผ่านกระบวนการด้านการเงิน และการพัฒนา ในโครงการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ ลดวงเงินผ่อนชำระเหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ และเติมทุนใหม่เสริมสภาพคล่อง นำไปใช้บริหารจัดการธุรกิจ ซื้อวัตถุดิบ เพิ่มกำลังการผลิต หรือสร้างมาตรฐาน

‘SME D Bank’ ออก E-Book หนุนเอสเอ็มอีภาคกลาง โปรดี๊ดีมีครบ ทั้ง พัก! เที่ยว! ช้อป! แบบจัดเต็ม

ธพว.หนุนเอสเอ็มอีท่องเที่ยว เพิ่มรายได้ ขยายตลาด ฟื้นฟูธุรกิจ ออก E-Book “โปรดี๊ดี เอสเอ็มอีทั่วไทย” ล่าสุดกับโซนพื้นที่ภาคกลาง จัดเต็ม ลดราคา พัก! เที่ยว! ช้อป!

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank ได้รวบรวมร้านอาหาร โรงแรม และร้านขายของฝาก เพื่อสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีในโซนพื้นที่ภาคกลาง ในรูปแบบ E-book โดยระบุว่า 

ใกล้วันหยุดแล้ว ไปเที่ยวกัน 
มีโปรเด็ด จาก SMEs ธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม ร้านขายของฝาก ฯลฯ  ในพื้นที่ภาคกลาง มามอบให้ จัดเต็ม ลดราคา พัก! เที่ยว! ช้อป! แบบจัดเต็ม

'สนธิรัตน์' ผุด 'สารคามโมเดล' ผลักดันเศรษฐกิจฐานราก “แก้หนี้ เพิ่มทุน สร้างรายได้เพิ่ม”

'สนธิรัตน์' ลั่น พร้อมผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมระบบสวัสดิการชุมชน-ผลักดันเศรษฐกิจฐานราก แก้หนี้ เพิ่มทุน สร้างรายได้เพิ่ม ดัน สภาองค์กรชุมชน-องค์กรสวัสดิการชุมชน เป็นหัวหอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ชม คนสารคามมีศักยภาพ พร้อมนำร่องเป็นสารคามโมเดล มั่นใจ ยกระดับคุณภาพชีวิตฐานรากอยู่ดี กินดี

วันที่ (26 ส.ค. 2565) ที่โรงแรมพิมานอินน์ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) พร้อมด้วยนายสุพล ฟองงาม รองหัวหน้าพรรค และประธานภาคอีสาน นายบุญส่ง ชเลธร รองเลขาธิการพรรค นางทิพย์พาพร ตันติสุนทร กรรมการบริหารพรรค นายสุทธิชัย จรูญเนตร รองประธานภาคอีสาน และว่าที่ผู้แสดงเจตจำนงเป็นผู้สมัคร สส. ภาคอีสาน จากจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร อุดรธานี และมหาสารคาม ร่วมพบปะแกนนำจากสภาองค์กรชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน วิสาหกิจชุมชน ในระดับอำเภอ จำนวนกว่า 150 คน ในเวทีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเพื่ออนาคตไทย 

โดยนายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ตนมาในฐานะคนที่ทำเรื่องเศรษฐกิจฐานรากมาก่อน ภายใต้ปรัชญาใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ที่ผ่านมาไม่เคยทิ้งเรื่องเศรษฐกิจฐานรากไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหน ถือเป็นหัวใจการทำงานหลักของตน ซึ่งมองว่าที่ผ่านมาการขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ของกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอ สิ่งที่กลุ่มทำถือเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่มาก ซึ่งความเข้มแข็งของชุมชนเกิดจากคนในชุมชนพึ่งพาตนเอง ขณะที่องค์กรสวัสดิการชุมชนที่ผ่านมาช่วยตัวเองอย่างเดียว เคยมีการร้องขอให้ออกพ.ร.บ.ส่งเสริมระบบสวัสดิการชุมชนมา 16 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า 

“อย่ามองว่าผมเป็นนักการเมือง เพราะตัวพรรคการเมืองเองจะไม่มีความหมาย หากไม่จับมือทำงานกับพี่น้องประชาชนจริง ๆ ผมตั้งใจมาหาวิธีทำงานร่วมกับท่าน ขอมาทำงานร่วมกัน มารับฟังว่าพี่น้องประชาชนอยากได้อะไรจริง ๆ เช่น พ.ร.บ.ส่งเสริมระบบสวัสดิการชุมชน ถ้าหากอยากได้จริง ผม และพรรคสร้างอนาคตไทย พร้อมที่จะขับเคลื่อนไปกับพวกท่าน โดยผมจะเสนอเป็นหนึ่งในนโยบายพรรค เพื่อทำให้พ.ร.บ.นี้เกิดขึ้นได้จริง”

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ตนมา จ.มหาสารคาม เพราะประชาชนที่นี่เข้มแข็งมาก ดังนั้นเราต้องเริ่มจากจุดที่เข้มแข็ง สร้างให้เป็นโมเดลเพื่อขยายไปสู่จังหวัดอื่น ๆ แม้ว่าจะทำได้ไม่ทั้งหมดในช่วงเวลานี้ แต่หลังจากที่ขับเคลื่อนจนได้พ.ร.บ.แล้ว ตนมั่นใจว่า จะสามารถจะผลักดันให้เกิดขึ้นทั่วประเทศได้ ตนเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะใช้สารคามโมเดลเป็นตัวตั้งของกองทุนสวัสดิการชุมชน 

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า เรื่องเศรษฐกิจฐานราก ถือเป็นหนึ่งในนโยบาย 5 สร้างของพรรค ความเข้มแข็งชุมชนคือหัวใจสำคัญของประเทศ การสร้างเศรษฐกิจฐานรากของพรรค จะทำควบคู่กับไปใน 3 ด้าน คือการแก้หนี้ เพิ่มทุน สร้างรายได้เพิ่ม ภายใต้แนวคิดขับเคลื่อนกลุ่มที่มีศักยภาพ 10-50 คน โดยขณะนี้ได้เริ่มนำร่องแล้วในพื้นที่ จ.มหาสารคาม ในกลุ่มเกษตรกรปลูกข้าว ซึ่งประสบปัญหาในเรื่องราคาตกต่ำ โดยเข้าไปช่วยในการลดต้นทุนการผลิต และผลักดันราคาขายให้มากกว่าท้องตลาด 0.50 สตางค์ – 1 บาทต่อกิโลกรัม โดยร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์ (ธกส.) กลุ่มรถเกี่ยวข้าวในพื้นที่ ซึ่งในช่วงบ่ายวันนี้ ตนจะเข้าไปพูดคุยกับกลุ่มชาวนาที่ได้นำร่องไว้ และจะขยายโครงการนี้ไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ในประเทศต่อไป 

'รัฐบาล' ปลื้ม!! ท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติทะลุ 4 ล้านคน

ข่าวดี!! ต่างชาติแห่เที่ยวไทย พุ่งเกิน 4 ล้านคน เชื่อสิ้นปี 65 ดึงนักท่องเที่ยวเข้าไทย 10 ล้านคน หลังเพิ่มวันพำนักต่างชาติ ช่วยทำรายได้เข้าประเทศเพิ่ม 

(25 ส.ค. 65) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าการเดินทางเข้าประเทศไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในปี 2565 ว่า ขณะนี้จำนวนมากกว่า 4 ล้านคน นับเป็นสัญญาณเชิงบวก สะท้อนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยเป็นผลสืบเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงรุกของรัฐบาล โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิจารณาหาแนวทางกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อสามารถบรรลุเป้าหมายดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคน ในปีนี้ 

นายอนุชา กล่าวว่า ข้อมูลสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติ จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย สะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 16 สิงหาคม 2565 อยู่ที่ 4,015,504 คน และคาดการณ์ว่าภายในเดือนส.ค.นี้ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยสะสม 4.5 ล้านคน โดย5 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย อินเดีย สปป.ลาว สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักร

นายอนุชา กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้มีนโยบายที่สอดคล้องกันเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว โดยขยายระยะเวลาการพำนักของผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทาง และเพิ่มค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ดังนี้...

‘สุริยะ’ ชูนโยบาย BCG ฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด ผ่านเวทีประชุมเอเปคด้านมาตรฐานอุตสาหกรรม

กระทรวงอุตฯ ชูนโยบาย BCG โชว์ศักยภาพเจ้าภาพการประชุมเอเปคด้านมาตรฐาน จับมือ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค พลิกฟื้นเศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) หรือ เอเปค 2022 ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565 พร้อมแสดงจุดยืนและบทบาทของไทยในเวทีการค้าโลก เพื่อส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือด้านต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ตามแนวคิด “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance.”  

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานและการรับรองของเอเปค (Sub-Committee on Standards and Conformance: SCSC) ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม SCSC ครั้งที่ 2/2565 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 18 - 20 สิงหาคม 2565  ที่ผ่านมา ณ โรงแรมแชงกรี-ลา จังหวัดเชียงใหม่ และผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ สมอ. ได้ผลักดันภารกิจสำคัญเพื่อให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาล 4 ด้าน ได้แก่ 1.) การพัฒนาและผลักดันกิจกรรมด้านมาตรฐานและการรับรองเกี่ยวกับ BCG Model 2.) สนับสนุนและส่งเสริมแนวทางใหม่ เพื่อให้ฟื้นตัวจากโควิด-19 และฟื้นฟูการค้าและการลงทุน 3.) ส่งเสริมด้านนวัตกรรมและดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนตลาดและเชื่อมโยงสู่สากล และ 4.) สนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการค้าให้ผู้ประกอบการรายย่อย (MSMEs)  โดยมีผู้แทนจาก 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน จีนฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย จีนไทเป ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม เข้าร่วมประชุมกว่า 80 คน ภายใต้หัวข้อ "Open. Connect. Balance." หรือ "เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล" ผ่านแนวคิด โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) 

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมในครั้งนี้มุ่งผลลัพธ์ที่สำคัญ ได้แก่ (1) การปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกันกับมาตรฐานระหว่างประเทศโดยมุ่งเน้นมาตรฐานเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (2) การจัดกิจกรรม/การประชุมเชิงปฏิบัติการ/การสัมมนาเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 และ BCG Model เช่น แนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ การส่งเสริมความโปร่งใสในการออกกฎระเบียบ การออกใบรับรองดิจิทัล และเทคโนโลยีเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น

'ดร.กอบศักดิ์' ชี้!! ภัยแล้งสุดรุนแรงในยุโรป-จีน ก่อวิกฤตอาหารโลก ให้ลุกลามยิ่งขึ้นไปอีกขั้น

'ดร.กอบศักดิ์' เตือน ภัยแล้งที่รุนแรงสุดในรอบ 500 ปีในยุโรป รวมถึงภัยแล้งในจีนและพื้นที่อื่น ๆ กำลังจะทำให้วิกฤตอาหารโลกลุกลามยิ่งขึ้น ซ้ำเติมสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยุคข้าวยาก หมากแพง คนอดอยาก กำลังมาเยือน 

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์เฟซบุ๊ก มีเนื้อหาดังนี้ ..
วิกฤตอาหารโลก .... “ข้าวจะยาก หมากจะแพง” ยิ่งขึ้น

ภัยแล้งที่รุนแรงสุดในรอบ 500 ปีในยุโรป รวมถึงภัยแล้งในจีนและพื้นที่อื่น ๆ กำลังจะทำให้วิกฤตอาหารโลกลุกลามยิ่งขึ้นไปอีกระดับ

ภาพของแม่น้ำที่แห้งขอดจนถึงพื้น
ซากเมือง
ซากเรือจม
Spanish Stonehenge
Hunger Stones หรือหินของความหิวโหยที่คนเมื่อช่วงศตวรรษที่ 15
สลักฝากข้อความไว้ที่หินใต้แม่น้ำว่า “If you see me, cry” หรือ “ถ้าคุณเห็นข้อความนี้ จงร้องไห้เถอะ” รวมไปถึงพระพุทธรูปเก่าแก่ในจีนอายุ 600 ปี ที่โผล่จากน้ำขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

กลายเป็นภาพจำที่กำลังออกมาให้ทุกคนได้เห็น ได้ตื่นเต้น กับสิ่งที่ไม่ค่อยได้เห็นเหล่านี้
แต่ข้างหลังภาพดังกล่าว คือ สัญญาณอันตรายที่ชี้ว่า วิกฤตอาหารโลกจะแย่ขึ้นจากเดิม
สองในสามของยุโรปกำลังเผชิญภาวะภัยแล้ง ดังเห็นในแผนที่ด้านล่าง ปัญหาได้กระจายไปยังทุกพื้นที่

โปรตุเกส สเปน ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมัน อิตาลี และประเทศอื่นๆ ในยุโรปตะวันออก ต่างถูกกระทบการผลิตของข้าวโพด ข้าวสาลี น้ำมันโอลีฟ ถั่วเหลือง เมล็ดดอกทานตะวัน

นอกจากนี้ แม่น้ำที่แห้ง ยังกระทบต่อไปยังการขนส่งทางน้ำ ซึ่งเป็นช่องทางขนส่งสำคัญของยุโรป ที่จะไม่สามารถขนส่งสินค้าเกษตรได้ในช่วงนี้ ทำให้ผลผลิตเกษตรที่ออกมาสู่โลกลดลง ในพื้นที่อื่น ๆ ของโลก ก็ประสบปัญหาภัยแล้ง เช่นกัน

สหรัฐตะวันตก ก็กำลังเผชิญปัญหานี้อย่างรุนแรง ทำให้ผลผลิตฝ้ายปีนี้ลดลง 40%
จีนตะวันตกเฉียงใต้ ที่แม่น้ำแยงซีที่แห้งผากในบางส่วน กระทบต่อการผลิตข้าว ข้าวโพด

นอกจากภาคการเกษตรแล้ว ยังกระทบการขนส่งทางน้ำ และการผลิตกระแสไฟฟ้า บางมณฑลเช่น เสฉวนที่พึ่งพาไฟฟ้าจากเขื่อน ต้องประหยัดการใช้ไฟฟ้า หยุดจ่ายในบางส่วน กระทบไปถึงการผลิตของโรงงานสำคัญหลายแห่ง เช่น Toyota Foxconn Tesla

ในส่วนของแอฟริกา ความแห้งแล้งในพื้นที่ Greater Horn of Africa ได้ส่งผลกระทบต่อ เอธิโอเปีย เคนย่า โซมาเลีย ทำให้คนหลายสิบล้านคนกำลังประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร

หมายความว่า ระดับของความรุนแรงของวิกฤตอาหารโลกที่จะเพิ่มขึ้น ซ้ำเติมปัญหาเดิมที่เกิดมาจาก สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กระทบสินค้าเกษตรบางอย่างเช่น ข้าวสาลี

ปัญหาปุ๋ยแพง จากการ Sanctions รัสเซียและเบลารุส ที่ทำให้เกษตรกรทั่วโลกต้องประหยัดการใช้ปุ๋ย ทำให้ผลผลิตออกมาน้อยในฤดูกาลนี้ แล้วยังมาถูก “ผีซ้ำ ด้ำพลอย” จากภัยแล้ง

เที่ยวไทยนอนมา คาดต่างชาติเข้าไทยสิ้นปีแตะ 10 ล้านคน ยอดคนพุ่งกว่า 1,800% ดันรายได้พุ่ง 1,100%

(23 ส.ค. 65) ดร.สมเกียรติ โอสถสภา อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก สมเกียรติ โอสถสภา ระบุว่า...

นอนมาเลย! มั่นใจต่างชาติเข้าไทยถึงสิ้นปีนี้แตะ 10 ล้านคน ยอดคนพุ่งกว่า 1,800% ดันรายได้พุ่งกว่า 1,100% 

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เยี่ยมครับ

ข่าว B time ปีหน้า 20 ล้านคนไปเลย เอ๊ะหรือ 30 ล้านคน ยังไม่นับจีน ตั้งเป้าสามสิบล้านคนเลย พี่ช่วยเต็มที่

‘กอบศักดิ์’ ชี้ วิกฤติอสังหาจีนเริ่มลาม แนะติดตามใกล้ชิด เตรียมพร้อมรับมือ

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพและประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า...

วิกฤตอสังหาจีน 

หนึ่งในประเด็นที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดในช่วงต่อไป ก็คือ วิกฤตอสังหาจีน
หลายคนถาม - ทำไมจีนต้องลดดอกเบี้ย ขณะที่ประเทศอื่น ๆ เกือบทุกประเทศทั่วโลกกำลังเร่งขึ้นดอกเบี้ย

คำตอบ - จีนกำลังเผชิญปัญหาที่คนอื่นไม่มี

ปัญหาเริ่มตั้งแต่กรณี Evergrande เมื่อปีที่แล้ว ลุกลามบานปลายขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่ง อสังหารายใหญ่สุดของจีน คือ Country Garden ก็ยังเอาตัวไม่รอด ลำบากสุดๆ

ล่าสุดในภาพ จะเห็นว่า หุ้นกู้สกุลดอลลาร์ครบกำหนดปี 2024 ของ Country Garden ซื้อขายกันอยู่ที่ประมาณ 50% ของราคาเต็ม เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เคยลงไปต่ำสุดที่ประมาณ 31% !!!

จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมบริษัทอสังหาจีนทุกขนาด เล็ก กลาง ใหญ่ ต่างเข้าสู่ช่วงคับขัน ขาดสภาพคล่อง กันถ้วนหน้า ยิ่งนานวัน ยิ่งยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะหากหุ้นกู้ที่มีอยู่เดิม ซื้อขายกันราคานี้ การออกหุ้นกู้ใหม่ คงเป็นไปได้ยากยิ่ง ดอกเบี้ยที่อสังหาจีนจะต้องจ่าย เพื่อให้ได้เงินใหม่มาหมุน จึงแพงขึ้นเป็นพิเศษ นำไปสู่เหตุการณ์ “โครงการสร้างไม่เสร็จ” ล่าสุด นำไปสู่การประท้วงของลูกบ้านที่ไม่ยอมจ่ายคืนเงินสินเชื่อบ้าน ในโครงการเหล่านั้น 

Bloomberg รายงานว่า จากจุดเล็กๆ จากจดหมายประท้วงสั้นๆ 590 คำ ของลูกบ้านในโครงการ Dynasty Mansion Project ของ Evergrande ที่มณฑลเจียงซี แจ้งเพื่อทราบว่า “ถ้าไม่เริ่มสร้างต่อ ลูกบ้านก็จะไม่จ่ายเงินเช่นกัน” ในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่กี่สัปดาห์ ได้แพร่ระบาดไปยังเมืองต่าง ๆ ประมาณ 100 เมือง 300 กว่าโครงการ กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวิกฤตอสังหาจีน 

เพราะปัญหาเรื่องนี้กำลังกระจายออกจาก “ภาคอสังหา” ไปสู่ “ภาคการเงิน” ที่เป็นคนปล่อยกู้ ทำให้ทางการไม่สามารถปล่อยให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของเอกชน เป็นเรื่องของภาคอสังหา ที่จะต้องจัดการปัญหาโดยลำพัง อีกต่อไป เพราะถ้าปล่อยไป เราอาจจะเห็นภาพของคนไปยืนรอถอนเงินอีกหลายธนาคารท้องถิ่นในจีน ทำให้วิกฤตอาจจะลุกลามขึ้นไปอีกขั้น

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป? วิกฤตฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติในประเทศต่าง ๆ 
ญี่ปุ่นประสบปัญหาในช่วงก่อนปี 1991 
ไทยเคยประสบปัญหานี้เมื่อก่อนปี 1997 
สหรัฐประสบปัญหาในช่วงก่อนปี 2008 
ทุกครั้งที่เกิด จะส่งผลกระทบกว้างไกลในประเทศดังกล่าว

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนที่ใหญ่ มี Supply chain ที่ยาว ส่งต่อไปถึงภาคส่วนอื่นๆ ภาคก่อสร้าง วัสดุ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่งบ้าน และอื่นๆ หลายสำนักประเมินไว้ว่า ภาคอสังหาของจีนมีสัดส่วนใหญ่ถึง 25-30% ของ GDP จีน หมายความว่า เมื่ออสังหาจีนเกิดวิกฤต ก็จะมีนัยตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม

จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมจีนที่เคยขยายตัวดีมาตลอด ตอนนี้ กำลังมีปัญหาในการขยายตัว Goldman Sachs ปรับลดอัตราขยายตัวปี 2022 ของจีนจาก 3.3% เหลือ 3.0% ส่วน Nomura จาก 3.3% เหลือ 2.8% การผลิตซีเมนต์ เหล็กกำลังลดลง ตัวเลขการใช้จ่ายด้านต่างๆ ต่ำกว่าที่เคยคาดกันไว้

ล่าสุด เด็กที่จบใหม่ 20% หางานทำไม่ได้ !!! ทั้งหมด เป็นสัญญาณเตือนภัยว่า ปัญหากำลังรออยู่ข้างหน้า และสถานการณ์เรื่องนี้ กำลังคับขันมากขึ้นเรื่อยๆ 

แล้วทางออกคืออะไร?
การจะออกจากวิกฤตภาคอสังหา ต้องเริ่มจากความเข้าใจที่ว่า “ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว” 
คำถามหลัก คือ จะจัดการกับความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วอย่างไร 
จะให้ “ใคร” เป็นคนรับภาระบ้าง
ความเสียหายเริ่มมาจาก “โครงการที่ไม่เสร็จ” “ราคาที่เพิ่มสูงไปแล้วตกลง” “ลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายชำระหนี้” 
กลายเป็นหนี้เสีย NPL ในระบบการเงินและเศรษฐกิจ 

นอกจากนี้ หากจัดการไม่ดี อาจจะมีหนี้เสียเพิ่มเติมจากภาคส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจมาให้ทางการแก้ไขเพิ่มเติม จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวน้อยกว่าที่ทุกคนคาดมาก ทำให้แผนธุรกิจของหลายๆ บริษัท ไม่เป็นไปตามเป้า อย่างที่เกิดในไทยเมื่อปี 1997 

ทั้งนี้ เวลาเกิดวิกฤตอสังหา ปกติแล้วมีทางออกอยู่ 2 ทาง 

ทางแรก - แบบไทยหรือสหรัฐ ยอมเกิดวิกฤตใหญ่เพื่อล้างปัญหาภาคอสังหา แบงก์ เจ้าหนี้หุ้นกู้ ผู้ฝากเงิน ต่างรับภาระไปบางส่วน โดยสุดท้ายแล้ว ทางการต้องยอมรับหนี้เสียต่างๆ เข้ารัฐ อย่างที่ไทยทำในช่วงปี 1997 เพื่อที่จะให้สามารถเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง
ไทยเสียเวลาไป 4-5 ปี ในการสะสางปัญหา สหรัฐประมาณ 5 ปีกว่าที่ทุกอย่างจะกลับดีขึ้น

ทางที่สอง - แบบญี่ปุ่น ที่ประคองเลี้ยงปัญหาไว้ไม่ให้ลุกลามกลายเป็นวิกฤต แต่สุดท้ายหนี้เสียที่ฝังตัวอยู่ในระบบไม่ได้รับการคลี่คลาย สุดท้ายญี่ปุ่นก็ต้องเสียหายเช่นกัน Pay the Price โดยเศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่สามารถขยายตัวได้เป็นเวลานับสิบกว่าปี กลายเป็น “ทศวรรษที่หายไป” หรือ “Lost decades”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top