Monday, 12 May 2025
ECONBIZ NEWS

BOI เผยยอดขอส่งเสริมการลงทุน 6 ด.กว่า 2 แสนลบ. พร้อมเคาะ 4 โครงการใหญ่มูลค่าหลายหมื่นล้าน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) โดยที่ประชุมมีมติอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ รวม 4 โครงการ ได้แก่ กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก มูลค่า 17,891 ล้านบาท จากประเทศจีน กิจการผลิตก๊าซธรรมชาติ ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มูลค่า 18,000 ล้านบาท กิจการขนส่งทางเรือของบริษัท ฐิตติ ภูมิ จำกัด มูลค่า 4,310 ล้านบาท และบริษัท ศานติ ภูมิ จำกัด มูลค่า 4,310 ล้านบาท  

รวมทั้งได้เห็นชอบให้เพิ่มประเภทกิจการผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 4 ประเภท ได้แก่ 1.กิจการผลิตเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง รวมถึงการผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วน และการซ่อมแซมเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ผลิตเอง ได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และ 2. กิจการซ่อมแซมเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง ได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี (ไม่จำกัดวงเงิน) 3.กิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ (Additive Manufacturing) ได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี และ 4.กิจการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้ไมโครเทคโนโลยีในการผลิต ได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี 

ทั้งนี้การเพิ่มประเภทกิจการใหม่ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนที่รองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการผลิตที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลิตและการซ่อมแซมเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูงเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมในภาพรวม นอกจากนี้ การผลิตแบบ Additive Manufacturing ได้กลายเป็นแนวโน้มใหม่ในการผลิต จึงจำเป็นต้องสร้างนโยบายสิทธิประโยชน์ที่ปรับเปลี่ยนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

'บิ๊กตู่' ยินดี นักลงทุนญี่ปุ่นเชื่อมั่นศักยภาพ EEC เร่งเดินหน้าขยายความร่วมมือด้านการลงทุนเพิ่ม

เมื่อวันที่ (16 ส.ค. 65) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่นักลงทุนชาวญี่ปุ่นเชื่อมั่นในศักยภาพของ EEC และความพร้อมในการสร้างความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ มุ่งพัฒนาการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพต่อไป

ทั้งนี้ประเทศญี่ปุ่นยังคงเป็นอันดับ 1 ที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งจากภาพรวมการลงทุนชาวญี่ปุ่นในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) พบว่า นักลงทุนญี่ปุ่นที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI (Board of Investment) ในปี 2564 มีมูลค่ารวม 19,445 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2565 มีมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมฯ แก่นักลงทุนญี่ปุ่นรวม 3,240 ล้านบาท 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อมูลจากสถานเอกอัครทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยพบว่า นักลงทุนญี่ปุ่นยังให้ความสนใจลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จากศักยภาพการเติบโตของไทย ทั้งยังได้เปรียบด้านพื้นที่ยุทธศาสตร์ในภูมิภาคอาเซียน มีต้นทุนจากสภาพแวดล้อม ทรัพยากรมนุษย์ สะดวกต่อการลงทุนเพิ่มและพร้อมพัฒนาในอุตสาหกรรมใหม่ สอดคล้องกับที่นักลงทุนญี่ปุ่นกล่าวถึง EEC ว่ามีศักยภาพ เหมาะสมแก่การลงทุนแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งภายหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการเปิดประเทศของไทย มีการติดต่อเจรจาธุรกิจระหว่างกันทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง

ท่าอากาศยานนานาชาติ อู่ตะเภา ระยอง-พัทยา และ เอไอเอส ผนึกกำลังต่อเนื่องพัฒนา Smart Terminal นำร่องเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ท่าอากาศยานนานาชาติ อู่ตะเภา ระยอง-พัทยา ร่วมกับ เอไอเอส  นำเทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนา Smart Terminal เพื่อสนับสนุนการพัฒนา ระบบคมนาคมขนส่ง ด้วยนวัตกรรมใหม่ ต่อเนื่อง ช่วยเสริมการพัฒนาให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติเชิงพาณิชย์ที่ทันสมัย ในช่วงก่อนการสร้างและเปิดใช้อาคาร 3 ให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ลำดับแห่งที่ 3 ของกรุงเทพมหานครในอนาคต ที่จะเชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสารและสินค้ากับสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ตามแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์สำคัญภายใต้นโยบาย Thailand 4.0

โดยล่าสุดได้มีการลงนาม MOU ความร่วมมือต่อเนื่องในการนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาและเสริมขีดความสามารถของท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อยกระดับสู่ Smart Terminal อย่างเต็มรูปแบบ ตอบสนองกับนโยบายของภาครัฐ ในการเป็นประตูหน้าด่านในการเปิดประเทศ ส่งเสริมทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขนส่ง คมนาคม ให้แข็งแกร่ง โดยได้รับเกียรติจาก พลเรือเอกวรพล ทองปรีชา ผู้อำนวยการการท่าอากาศยานอู่ตะเภา และคุณศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานผลิตภัณฑ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ กลุ่มลูกค้าทั่วไปเอไอเอส ร่วมลงนาม พลเรือเอก วรพล ทองปรีชา ผู้อำนวยการ การท่าอากาศยานอู่ตะเภา กล่าวว่า “การท่าฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมมือกับภาคเอกชนในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่สร้างสรรค์ด้วยคนไทย เข้ามายกระดับการให้บริการและการบริหาร ท่ากาศยานอู่ตะเภาให้ทันสมัย เป็นอาคารผู้โดยสารอัจฉริยะ หรือ Smart Terminal  อันสอดคล้องตามแนวนโยบายดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) ของรัฐบาล ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล เพื่อช่วยต่อยอดท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินพาณิชย์แห่งที่ 3 ของกรุงเทพมหานคร ที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสารกับสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเป็นAviation Hub ในภูมิภาคนี้”

ILINK เปิดโผ กำไรไตรมาส 2/65 พุ่งแตะ 91.50 ล้านบาท จับตาคว้างานใหญ่เติม Backlog อัพไซส์ธุรกิจ

ILINK โกยรายได้ครึ่งปีแรกรวม 3,055.84 ล้านบาท พร้อมทำกำไรพีคต่อเนื่อง ล่าสุดเผยผลประกอบการไตรมาส 2/65 มีรายได้รวม 1,628.32 ล้านบาท และกำไรสุทธิพุ่งแตะ 91.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.21% ด้านยอดขายธุรกิจจัดจำหน่ายโตแรง 13.08% จับตารอเดินหน้าคว้างานใหญ่เติม Backlog คาดแนวโน้มทำกำไรสูงทะลุเป้า เร่งดันทุกธุรกิจให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด

นางสาววริษา อนันตรัมพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสายสัญญาณที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และผู้นำเข้า และค้าส่งอุปกรณ์เครือข่ายส่งสัญญาณ เปิดเผยว่า “ผลประกอบการไตรมาส 2/65 ของ ILINK มีรายได้รวม 1,628.32 ล้านบาท เติบโตขึ้น 37.11% และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 91.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มั่นใจแนวโน้มรายได้และกำไรทะลุเป้าที่ตั้งไว้ รวมถึงเร่งผลักดันทุกธุรกิจภายใต้กลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ฯ ให้เติบโตอย่างทรงประสิทธิภาพ และตอบสนองกับกระแสยุคสมัยที่ขับเคลื่อนพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว”

ธุรกิจจัดจำหน่าย (Distribution) ไตรมาส 2/65 มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 574.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.08% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอัตราการเติบโตของยอดขายในงวดนี้มีความโดดเด่นต่อเนื่องและเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ปัจจัยสนับสนุนยังคงมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโครงข่ายพื้นฐาน โดยเฉพาะอุปกรณ์ใช้สายซึ่ง ILINK เป็นผู้จัดจำหน่ายสายสัญญาณชั้นนำของประเทศไทยมายาวนานกว่า 30 ปี และมีการรับประกันที่ยาวนานที่สุดในตลาด จึงทำให้ลูกค้าทุกภาคส่วนเกิดความต้องการปรับปรุงระบบ และพัฒนาโครงข่ายให้มีคุณภาพมากขึ้น พร้อมตอบโจทย์การใช้งานอย่างถูกต้องเพื่อประสิทธิภาพและเสถียรภาพสูงสุด นอกจากนี้ กระแสของการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Cell) ยังมาแรงต่อเนื่อง ทำให้ในงวดนี้ยอดขายสินค้ากลุ่มสายโซล่า (Solar Cable) เติบโตขึ้น 63.41% ในขณะที่กลุ่มอุปกรณ์เครือข่ายส่งสัญญาณ (Networking) และกลุ่มสาย UTP (LAN Cable) เพิ่มขึ้น 22.12% และ 13.65% จากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า ตามลำดับ

ธุรกิจโทรคมนาคม (Telecom) ไตรมาส 2/65 มีรายได้จากการให้บริการรวม 842.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 92.72% จากงวดเดียวกันของปีก่อน การเติบโตอย่างก้าวกระโดดนี้เป็นผลสำเร็จจากการต่อยอด New S-Curve ซึ่งผลักดันรายได้จากการให้บริการติดตั้งโครงข่ายพุ่งแตะ 484.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 403.31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยงานโครงการติดตั้งสำคัญที่รับรู้รายได้ในงวดนี้ คือ โครงการ Smart CCTV จำนวน 211.03 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทฯ มีลูกค้าขนาดใหญ่เข้ามาใช้บริการโครงข่ายเพิ่มจำนวนมาก รวมถึงการขยายสาขาของลูกค้าเดิมก็ช่วยผลักดันให้รายได้จากธุรกิจนี้เติบโตดีต่อเนื่อง

‘กรมทางหลวง’ เร่งเครื่องมอเตอร์เวย์ ‘นครปฐม-ชะอำ’ ดีเดย์ 19 ส.ค.นี้ เปิดทางเอกชนร่วมลงทุน

'กรมทางหลวง' ใส่เกียร์เดินหน้าชวนเอกชนรวม Market Sounding ชวนลงทุนมอเตอร์เวย์ M8 ‘นครปฐม-ชะอำ’ ปูพรมเติมโครงข่ายลงสู่ภาคใต้ 19 ส.ค.นี้

(15 ส.ค. 65) รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) แจ้งว่าในวันที่ 19 ส.ค. 2565 เวลา 09.00-12.00 น. ทล.เตรียมจัดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน (Market Sounding) สำหรับการศึกษาความเหมาะสมในการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 8 (M8) สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กิโลเมตร (กม.)

ทั้งนี้ เพื่อให้โครงการเดินหน้า กรมทางหลวงจึงได้เชิญชวนภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และผู้สนใจ เข้าร่วมประชุมในรูปแบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ผ่าน Zoom Cloud Meetings เพื่อนำความคิดเห็นที่ได้รับ มาใช้ประโยชน์ในการศึกษาประกอบการกำหนดแนวทาง และรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับการลงทุนใหม่คาดว่าจะเป็นโมเดลเดียวกับ สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และ สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว และ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) โดยรัฐลงทุนงานโยธา และ PPP ให้เอกชนลงทุนในส่วนของงานระบบ O&M ซึ่งเส้นทางนี้มีความสำคัญเพราะเป็นการเพิ่มโครงข่ายลงสู่ภาคใต้ โดยสามารถเชื่อมกับมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และสายเอกชัย-บ้านแพ้วได้ โดยในการลงทุนจะผลักดันในเฟสแรก ช่วงนครปฐม-ปากท่อ ที่เป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมโครงการมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 สาย

บิ๊ก 4 โรงกลั่นน้ำมัน ฟันกำไรพุ่งสูงสุด 1,000% !!

'กรณ์' เปิดข้อมูลบิ๊ก 4 โรงกลั่นน้ำมัน กำไรพุ่งสูงสุดถึง 1,000% จี้ลดค่าการกลั่น-ค่าการตลาด ต้นตอน้ำมันแพง ทำเงินเฟ้อกระทบประชาชน-ผู้ประกอบการ ทวงถาม รมว.พลังงาน มาตรการที่เคยประกาศ หายไปไหนหมด

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊กเปิดเผยผลประกอบการ 4 โรงกลั่นน้ำมัน ฟันกำไรสูงสุดกว่า 1,000% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว ประกอบด้วย 1.ไทยออยล์ในไตรมาส 2 กำไรเพิ่มขึ้น +1088.9% , 2. ESSO +867.1% , 3. SPRC +825.3% , 4. BCP +199.0% และเมื่อกลับไปดูผลประกอบการไตรมาส 2 ย้อนไปสี่ปีจนถึงปี 2561 เอากำไรมารวมกัน ยังไม่ถึงครึ่งของปีนี้

จำได้ไหมครับว่า สองเดือนที่ผ่านมาโรงกลั่นรวมตัวกันพยายามบอกเราว่า #ค่าการกลั่น ไม่ได้หมายถึงกำไร? ผมว่าตัวเลขมันฟ้องชัดเจนมาก !

และที่หลายคนไม่รู้ นี่คือ กำไรหลังจากที่โรงกลั่นในเครือปตท.คาดการณ์ผิด ไปขายนํ้ามันในตลาดล่วงหน้าที่ต่างประเทศไว้ถึงเกือบ 50% ของกำลังผลิตทั้งหมด ทำให้กำไรหายไปรายละเป็นหมื่นล้านบาท (แต่ประชาชนในประเทศก็ยังต้องจ่ายค่าน้ำมันราคาเต็ม!)

ปกติแล้วผู้ประกอบการมีกำไรเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่การมีกำไรที่เพิ่มขึ้นแบบผิดปกติมากถึงขนาดนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากความทุกข์ร้อนของประชาชน และความเดือดร้อนของภาคธุรกิจอื่นๆ ทุกสาขา

‘ค่าการกลั่น’ เป็นสาเหตุสำคัญที่ราคาหน้าปั๊มเราสูงกว่าที่ควรจะเป็น และเป็นสาเหตุสำคัญที่เรายังต้องใช้ #หนี้กองทุนน้ำมัน ทุกครั้งที่เราเข้าปั้ม และจะต้องใช้หนี้นี้กันไปอีกหลายปี แต่ปัญหาไม่ได้มีแค่นี้ครับ 

ตัวเลขข้างบนคือกำไรโรงกลั่น เรามาดูผลประกอบการของบริษัทค้านํ้ามันกันบ้าง
1. PTTOR +103.7%
2. PTG +20.7% (+275.3% เทียบกับไตรมาส 1 ปีนี้)

รายได้ส่วนใหญ่ของทั้งสองบริษัทมาจากการขายนํ้ามันให้พวกเรา ซึ่งก็เป็นประเด็นกังขามาตลอดว่า ‘เวลาราคาน้ำมันจากโรงกลั่นลดลง ทำไมราคาหน้าปั๊มไม่ลดตาม?’

คำตอบอยู่ที่ #ค่าการตลาด ครับ และที่ผ่านมาหลายเดือนปัญหาอยู่ที่ค่าการตลาดกรณีน้ำมันเบนซิน ไม่ว่าจะเป็น Gasohol 95 หรือ 91 วันนี้ค่าการตลาดอยู่ที่ 3บาทต่อลิตร สูงเกินเกณฑ์ปกติอย่างมาก แต่ก็ไม่เห็นว่ากระทรวงพลังงานเดือดร้อนแทนประชาชนเลย!

‘คนละครึ่งเฟส 5’ ให้ร้านค้าลงทะเบียนวันแรก ส่วน ปชช. เริ่มเปิดให้ยืนยันสิทธิ 19 ส.ค.

‘คนละครึ่งเฟส 5’ เริ่มเปิดให้ร้านค้าลงทะเบียนร่วมโครงการวันนี้วันแรก ขณะที่ประชาชนทั่วไปเตรียมยืนยันสิทธิ 19 สิงหาคม นี้

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการคนละครึ่งเฟส 5 ที่เป็นไปตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการลดภาระค่าใช้จ่ายประจำวันของประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก สร้างเม็ดเงินสะพัดในชุมชน เจ้าของร้านค้า หาบเร่ แผงลอย รถเข็น ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยในวันที่ 15 ส.ค. 65 นี้ เป็นวันแรกที่กระทรวงการคลัง เปิดรับลงทะเบียนให้ผู้ประกอบการร้านค้าเข้าร่วมโครงการ จนกว่าจะประกาศปิดรับสมัคร โดยผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมมาตรการ โครงการอื่นของรัฐที่มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” แล้ว และประสงค์จะเข้าร่วมโครงการต่อไป ให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” 

ส่วนผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการ โครงการอื่นสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com หรือสาขา หรือจุดรับลงทะเบียนของธนาคารกรุงไทยฯ โดยคุณสมบัติและประเภทกิจการที่สามารถเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป และค่าบริการ (นวด สปา ทำผมทำเล็บ ค่าเดินทางโดยบริการขนส่งสาธารณะหรือขนส่งมวลชนสาธารณะ) ไม่รวมถึงสลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ บัตรกำนัล (gift voucherหรือgift card) บัตรเงินสด (cash card) และสินค้า บริการรูปแบบอื่น ๆ ที่เป็นการชำระล่วงหน้า (prepaid) ส่วนในวันที่ 17 ส.ค. 65 จะเปิดรับลงทะเบียนร้านอาหารและเครื่องดื่ม สมัคร Food delivery Platform เฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น

‘คลัง’ เคาะ!! 5 กันยายน – 19 ตุลาคม 2565 ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม มติเห็นชอบการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 โดยจะเริ่มเปิดรับลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน – 19 ตุลาคม 2565 ทั้ง ลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และลงทะเบียน ณ หน่วยงานรับลงทะเบียนในพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งช่วงเวลาในการเปิดรับลงทะเบียน หากตรงกับวันเสาร์ - วันอาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหน่วยงานรับลงทะเบียนแต่ละแห่ง

ส่วนการประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติ กระทรวงการคลังจะประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนภายในเดือนมกราคม 2566 ผ่านทางเว็บไซต์ โดยสำหรับผู้ลงทะเบียนที่ผ่านคุณสมบัติของโครงการฯ จะต้องยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ ที่ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน หรือธนาคารกรุงไทยฯ โดยสามารถยืนยันตัวตนได้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ขณะที่ผู้ลงทะเบียนที่ไม่ผ่านคุณสมบัติของโครงการฯ สามารถดำเนินการยื่นเรื่องอุทธรณ์ผ่านทางเว็บไซต์ หรือช่องทางที่กระทรวงการคลังกำหนดได้ตั้งแต่วันที่ 9 – 31 มกราคม 2566

'พิพัฒน์' จ่อชงสถานบันเทิงเปิดถึงตี 4 เคาะเมืองท่องเที่ยวหลัก ไม่สะเปะสะปะ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ขณะนี้ตนเดินหน้าเสนอ ให้ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พิจารณา ขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงในพื้นที่ควบคุม (โซนนิ่ง) ตามเมืองท่องเที่ยวหลัก ถึงเวลา 04.00 น. จากปัจจุบันเปิดให้บริการได้ถึง 02.00 น. โดยขอย้ำว่าไม่ใช่การขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงแบบสะเปะสะปะไปในทุกพื้นที่ แต่เป็นการเปิดเพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น ยุโรป และตะวันออกกลาง ซึ่งเริ่มทานมื้อค่ำเวลาประมาณ 22.00 น. กว่าจะทานเสร็จและเริ่มดื่มก็ตอนเที่ยงคืนกว่า พอเริ่มสนุก ก็ถึงเวลาปิดสถานบันเทิงแล้ว ทั้งที่ยังอยากกินดื่มต่อ จึงไม่ตอบความต้องการของนักท่องเที่ยวนัก

นายพิพัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า ในต่างประเทศ มีสถานบันเทิงเปิดให้บริการนานกว่า 02.00 น. ยกตัวอย่างคนไทยเอง เมื่อออกไปเที่ยวต่างประเทศก็อยากเที่ยวให้เต็มที่มากที่สุดเช่นกัน จึงไม่อยากให้กังวลกับแนวคิดนี้ และ อยากสื่อไปถึงกลุ่มต่าง ๆ ที่ออกต่อต้านเรื่องนี้ ว่าแม้สถานบันเทิงจะปิดตามกำหนด คนก็ซื้อไปนั่งดื่มต่ออยู่ดี บางคนอาจไปนั่งดื่มตามมุมที่ยากต่อการสอดส่องดูแล 

รวมทั้งผู้ประกอบการบางรายก็แอบเปิดอยู่ดี บางที่มีการล็อกประตูทั้งหมด ลูกค้าไม่สามารถออกมาได้ทันเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน แต่ถ้ามีการอนุญาตให้เปิดถึงเวลา 04.00 น. ทุกสิ่งทุกอย่างโปร่งใส ผู้ประกอบการไม่ต้องกังวลว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจค้น และเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา ก็สามารถอพยพนักท่องเที่ยวได้ทันและปลอดภัย

ดัชนีฯ เชื่อมั่นภาคอุตฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รับอานิสงส์ส่งออกขยายตัว-ใช้จ่ายในประเทศคึกคัก

ดัชนีฯ เชื่อมั่นภาคอุตฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งออกขยายตัว ใช้จ่ายในประเทศคึกคัก แต่ยังคงระวังต้นทุนการผลิตจากราคาพลังงานที่คงอยู่ระดับสูง

(10 ส.ค. 65) นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 89.0 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 86.3 ในเดือนมิถุนายน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ทั้งนี้องค์ประกอบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ คำสั่งซื้อโดยรวม, ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยมีปัจจัยบวกจากภาคการผลิตที่ขยายตัวจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มสินค้าคงทนและสินค้าอุปโภคบริโภค จากตลาดในประเทศและตลาดส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ, จีน, ญี่ปุ่น และอินเดีย เป็นต้น 

ขณะที่การผ่อนคลายล็อกดาวน์เมืองสำคัญของจีนส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย ทั้งนี้การเปิดประเทศและการยกเลิก Thailand Pass ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้นและช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก นอกจากนี้รายได้ในภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อกำลังซื้อในส่วนภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการลดลงเนื่องจากปัญหาราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน รวมถึงค่าขนส่ง ที่ยังทรงตัวในระดับสูง แม้ราคาน้ำมันตลาดโลกในเดือนกรกฎาคมจะทยอยปรับตัวลดลงก็ตาม ขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อ ยังกดดันกำลังซื้อของประชาชน นอกจากนี้ความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคก่อสร้างชะลอตัวลงเนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,238 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2565 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 72.2 สถานการณ์การเมือง ร้อยละ 40.3 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 35.5 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวล ลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 80.7 เศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 51.8 สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ร้อยละ 50.1 และอัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 32.0 ตามลำดับ 

สำหรับดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 97.5 ในเดือนมิถุนายน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศรวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการมีความกังวลการกลับมาระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ รวมทั้งแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะกระทบต้นทุนด้านการเงิน ตลอดจนสถานการณ์สงครามรัสเซีย - ยูเครน ที่ยังมีความไม่แน่นอนส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบรวมถึงเศรษฐกิจโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top