Thursday, 15 May 2025
ECONBIZ NEWS

ตอบคำถามอายุของรถ EV สั้นกว่ารถทั่วไปจริงหรือ?

ในยุคปัจจุบัน รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV (Electric Vehicle) นั้น ถือเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางทั่วโลก ตั้งแต่ในระดับของผู้คนทั่วไป แวดวงธุรกิจต่างๆ วงการวิชาการ ไปจนถึงระดับนโยบายภาครัฐ รวมถึงระหว่างประเทศด้วย นั่นเพราะการตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาเรื่องพลังงานที่มีอยู่จำกัด หรือที่เรียกว่า Non-Renewable Energy ซึ่งก็คือพลังงานน้ำมัน ที่วันหนึ่งจะหมดไปนั้น ทำให้ผู้คนหลากหลายฝ่ายทั่วโลกพยายามที่จะคิดหาทางออกจากปัญหาการขาดแคลนพลังงานที่จะมาถึงนี้

ความคิดในการผันตัวออกจากการพึ่งพาพลังงานน้ำมันไปสู่พลังงานที่สะอาดและยั่งยืนกว่า จึงนำไปสู่การพูดคุยถึงรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เพื่อใช้ทดแทนรถยนต์ทั่วไปที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งท้ายที่สุด การพูดคุยในเรื่องนี้ได้ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ จนทุกวันนี้เราสามารถเห็นรถ EV วิ่งอยู่บนท้องถนนได้มากขึ้นเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผู้คนทั่วไปที่มีสถานะเป็นผู้บริโภค การเปลี่ยนมาใช้รถ EV นั้นถือว่ามีอุปสรรคอยู่พอสมควร นั่นเพราะความไม่แน่ใจในเรื่องความคุ้มค่าและอายุการใช้งาน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากภาพจำที่เห็นว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไปนั้นมีอายุสั้น โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องแบตเตอรี่ ที่ในกรณีของรถยนต์ทั่วไปนั้นจะต้องมีการเปลี่ยนแบตเตอรี่อยู่ตลอด ๆ จึงอาจทำให้หลายคนมีความคิดว่ารถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV นั้นจะมีอายุการใช้งานที่สั้น เช่นเดียวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าปกติอื่น ๆ วันนี้ จึงอยากชวนมาเข้าใจถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้กัน

ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจว่ารถยนต์หรือยานยนต์ไฟฟ้า (EV) นั้นถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งได้รับการพัฒนาขึ้นมาในช่วงไม่กี่สิบปีให้หลังนี้ ในขณะที่รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงนั้น เป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาขึ้นมาอย่างยาวนานมากกว่าร้อยปี อีกทั้งยังมีการปรับปรุงพัฒนาขีดความสามารถต่างๆ ให้ดีขึ้นอยู่ตลอดๆ เรียกได้ว่าทุกวันนี้เครื่องยนต์สันดาปมีการพัฒนาจนเกือบจะสมบูรณ์แบบแล้ว ในขณะที่เทคโนโลยี EV นั้นยังคงอยู่ในช่วงแรกเริ่มเท่านั้น

อย่างไรก็ตามการพัฒนาขีดความสามารถของ EV นั้นก็เกิดขึ้นอยู่ตลอดๆ จนปัจจุบันนั้นมีการทดลอง ทดสอบ และตรวจสอบ จนสามารถผลิตและนำรถยนต์และยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้ได้จริง และเพื่อให้สามารถแข่งขันได้กับรถยนต์ทั่วไป ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปและน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น รถ EV จึงมีความจำเป็นที่จะพัฒนาองค์ประกอบต่างๆ ให้ทัดเทียมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเรื่องของอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญของ EV 

สถาบันทดลองพลังงานหมุนเวียนแห่งชาติ (National Renewable Energy Laboratory; NREL) ของกระทรวงพลังงาน ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการวิจัยและสรุปเป็นข้อเสนอแนะถึงผู้ผลิต EV ว่า “เพื่อแข่งขันกับรถยนต์ธรรมดา รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (Electric-Driven Vehicles; EDVs) และแบตเตอรี่ของ [รถนั้น] จะต้องมีสมรรถนะใช้งานได้ 10 ถึง 15 ปี ในสภาพอากาศและในวัฏจักรการใช้ที่แตกต่างออกไป” [1]

โดยอีกหนึ่งมาตรฐานที่ทางผู้ผลิต EV ต้องยึดถือ โดยเฉพาะผู้ผลิตสัญชาติอเมริกา นั่นก็คือ การรับประกันแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นผลมาจากกฎหมายของรัฐบาลกลางของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ กำหนดให้แบตเตอรี่ของรถ EV จะต้องได้รับการรับประกันคุณภาพให้มีอายุการใช้งานอยู่ที่ 8-10 ปี หรือเทียบเท่าระยะทาง 100,000-150,000 ไมล์ (ประมาณ 160,000-240,000 กิโลเมตร) [2] ซึ่งแม้ประเทศอื่นอาจจะไม่ได้มีการออกกฎหมายเช่นเดียวกันนี้ แต่ผลของกฎหมายนี้ก็จะเป็นตัวกำหนดมาตรฐานของผู้ผลิตอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

หากจะยกตัวอย่างผู้ผลิตที่ถือเป็นหนึ่งในผู้นำเจ้าสำคัญของเทคโนโลยี EV นั่นก็คือ เทสลามอเตอร์ส (Tesla Motors) ซึ่งในปีค.ศ. 2019 อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ได้ออกมาให้ข้อมูลว่าแบตเตอรี่ของรถ Tesla Model 3 นั้นสามารถรองรับการใช้งานได้ถึง 300,000-500,000 ไมล์ (ประมาณ 482,000-804,000 กิโลเมตร) เลยทีเดียว [3] ซึ่งเมื่อคำนวณด้วยตัวเลขการใช้รถทั่วไปของชาวอเมริกันจากกระทรวงคมนาคมนั้นเท่ากับ 22-37 ปี [4] อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าตัวเลขที่ผู้ผลิตโฆษณาโดยมากแล้วจะต้องจะมีความเกินจริงอยู่ โดยตัวเลขจริงๆ นั้นจะอยู่ที่ 30-37 เปอร์เซ็นต์ [5] อายุการใช้งานของแบตเตอรี่รถ Tesla Model 3 จึงน่าจะอยู่ที่ราว 15-25 ปี

ตัวอย่างของเทสลานั้นถือเป็นกรณีที่ดีที่สุด แต่อย่างไรก็ดี ตามมาตรฐานของฝั่งผู้ผลิตที่ได้กล่าวไปนั้น เราอาจจะอุ่นใจได้ว่าโดยทั่วไปแล้ว รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV นั้นจะมีอายุใช้งานอย่างต่ำคือ 10 ปีโดยประมาณ ซึ่งแน่นอนว่าในความเป็นจริงตัวเลขก็อาจจะมีความแตกต่างไปจากนี้ได้ จากปัจจัยต่างๆ ของผู้ใช้เอง โดย 3 ปัจจัยหลักที่ส่งผลกับอายุการใช้งานของแบตเตอรี่รถ EV นั้นก็คือ ความร้อน พฤติกรรมการชาร์จ และพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งทั้งสามปัจจัยนี้นั้นมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน อย่างความร้อนก็อาจเกิดจากการใช้งานที่หนักเกินไป หรือการชาร์จที่ปล่อยให้แบตเตอรี่หมดบ่อยครั้ง (deep discharges) หรือรวมทั้งการเลี้ยงให้เต็มอยู่ตลอดเวลาเกินไป (Overcharging) [6] อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้นั้นสามารถเรียนรู้ให้ไม่เกิดผลเสียได้หากผู้ใช้ทำความเข้าใจและปรับพฤติกรรมให้ถูกต้อง

INTERLINK ล่องสู่ใต้ พบปะคู่ค้า จัดปาร์ตี้ เลี้ยงขอบคุณ ณ แกรนด์ เมอร์เคียว เขาหลัก

บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ จัดงาน “LINK Exclusive Thank You  VIP 2022” ขอบคุณคู่ค้าภาคใต้แห่งท้องทะเลอันดามัน ร่วมฉลองปาร์ตี้ พร้อมทานอาหารนานาชนิด และซีฟู้ดไม่อั้น ในบรรยากาศสุดพรีเมียม สบาย ๆ ริมทะเล มีเสียงเพลงขับกล่อม อบอวลด้วยความสุข งานนี้ได้เรียนเชิญลูกค้ากว่า 35 บริษัท พร้อมครอบครัวกว่า 150 ท่าน เพื่อขอบคุณที่สนับสนุนสินค้า เชื่อมั่นในคุณภาพของ LINK และ 19” German Rack สินค้าอันดับ 1 ของประไทย ด้วยดีเสมอมา

ตกผลึกภาษี หน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ควรต้องจ่าย ยกเว้นบางชนิด ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องแจม

เมื่อพูดถึง ‘ภาษี’ คนจำนวนหนึ่งอาจรู้สึกว่าเป็น ‘ภาระ’ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ภาษีนั้นคือ ‘หน้าที่’ ที่คนในสังคมทุกคนจะต้องร่วมกันรับผิดชอบมาก-น้อยแตกต่างกันไป ซึ่งความแตกต่างตรงนี้เองที่ควรจะทำความเข้าใจว่า ใครและคนกลุ่มไหนในสังคมจะต้องเสียภาษีตัวไหน ประเภทไหน เพราะภาษีนั้นมีหลากหลายและไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องจ่ายทุกชนิด

โดยก่อนจะเข้าใจถึงภาษีประเภทต่างๆ เราอาจจะต้องไปทำความรู้จักกับหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีเสียก่อน โดยหลักๆ แล้วจะมีอยู่ 4 หน่วยงาน คือ 1. กรมสรรพากร 2. กรมสรรพสามิต 3. กรมศุลกากร และ 4. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือ สำนักงานเขต

เมื่อทำความรู้จักกับหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีแล้ว ก็จะทำให้เราพอจะเห็นภาพคร่าวๆ ถึงประเภทของภาษีชนิดต่างๆ ได้ โดยทั้ง 4 หน่วยงานนั้นจัดเก็บภาษีแตกต่างกันไป กล่าวคือ...

กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีอากรจากรายได้และการสร้างผลประโยชน์ต่างๆ ของประชากรในประเทศ โดยจะดำเนินการจัดเก็บภาษี 5 ประเภท คือ 1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax ; PIT) 2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax; CIT) 3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax ; VAT) 4. ภาษีธุรกิจเฉพาะ (Specific Business Tax ; SBT) และ 5. อากรแสตมป์ (Stamp Duty ; SD)

โดยในกลุ่มภาษีอากรทั้ง 5 ประเภทนี้ เราจะเห็นมีเพียง 2 ประเภทที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั่วไปโดยตรง นั่นคือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจัดเก็บกับบุคคลที่ประกอบอาชีพและทำงานต่างๆ ที่มีรายได้ และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจัดเก็บกับการบริโภคสินค้าต่างๆ เมื่อมีการซื้อ-ขายปลีกและซื้อ-ขายส่ง

ในขณะที่ภาษีอากรชนิดอื่นๆ นั้นก็เป็นภาษีที่ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปไม่ได้มีหน้าที่จะต้องเสีย อย่างภาษีเงินได้นิติบุคคล ก็จะต้องเป็นนิติบุคคล (เช่น ห้างหุ้นส่วน หรือ บริษัทจำกัด) ถึงจะมีหน้าที่เสียภาษีประเภทนี้ หรืออย่างกรณีของภาษีธุรกิจเฉพาะนั้นก็ระบุเจาะจงลงไปอีกว่าเป็นธุรกิจต่อไปนี้เท่านั้นที่จะต้องเสียภาษีประเภทนี้ คือ การธนาคาร, การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ (Credit Foncier), การรับประกันชีวิต, การรับจำนำ, การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์, หรือ การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นการค้าหรือหากำไร หรืออากรแสตมป์นั้นก็เป็นการจัดเก็บต่อธุรกรรมเฉพาะกรณีไป โดยมี 28 ลักษณะ เช่น ตราสารเช่าที่กับโรงเรือน เช่าซื้อทรัพย์สิน จ้างทำของ กู้ยืมเงิน เป็นต้น

‘อลงกรณ์’ รวมพลคนปศุสัตว์ตั้งทีมพัฒนาโคขุน โคนม โคพื้นเมืองและวัวลานแบบครบวงจรสู่มาตรฐานใหม่พร้อมดึงโครงการเพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์ ศูนย์ AIC และคณะทำงานฮาลาลเสริมทัพ เพิ่มการแปรรูปและส่งออกเพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรอย่างยั่งยืนภายใต้ ‘5 ยุทธศาสตร์ เฉลิมชัย’

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยวันนี้ภายหลังเป็นประธานการประชุมการพัฒนาโคขุน โคนม โคพื้นเมือง และวัวลานกีฬาประเพณีวิถีไทยครั้งที่ 1/2565 ว่าการจัดระดมพลคนปศุสัตว์กลุ่มโคโดยผนึกความร่วมมือทุกภาคส่วนมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการปศุสัตว์อย่างเป็นระบบครบวงจรและยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้นอย่างยั่งยืนเป็นการพัฒนาอาชีพปศุสัตว์สู่เกษตรมูลค่าสูงตามหมุดหมายใหม่ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และแนวทาง ‘เพชรบุรีโมเดล’

นับเป็นก้าวใหม่ที่จะสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปสงค์และอุปทาน หากมีการยกระดับการพัฒนาจะเพิ่มศักยภาพเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรมากขึ้นและเพิ่มช่องทางใหม่ ๆ ให้กับเพชรบุรี ซึ่งเลี้ยงและจำหน่ายโคกว่า140,000 - 150,000 ตัวต่อปี โดยจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนเป็นกลไกการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นระบบต่อไป

ทั้งนี้ จังหวัดเพชรบุรีเป็นจังหวัดที่มีการเลี้ยงโคขุน โคนม และโคพื้นเมืองมากที่สุดจังหวัดหนึ่งของประเทศ รวมทั้งวัวลานกีฬาประเพณีวิถีไทยถือเป็นฐานอาชีพสร้างรายได้สำคัญของเกษตรกร จึงมีความพร้อมที่จะเดินหน้าต่อยอดยกระดับการพัฒนาแบบครบวงจร ตั้งแต่ พันธ์ุโค อาหารสัตว์ มาตรฐานฟาร์มการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) มาตรฐานฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) มาตรฐานฟาร์มปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) คอกกักมาตรฐานเอกชนสำหรับการนำเข้า การส่งออก และปลอดโรค FMD การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างแบรนด์ การตลาดแบบออฟไลน์และออนไลน์ และการเจรจาการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ เช่น กรณีของวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคและพรีเมี่ยมบี๊ฟ (Premium Beef) สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์จำหน่ายได้มากกว่า 30 ผลิตภัณฑ์ เช่น สันนอก สเต็กแช่แข็ง ลิ้นแองกัสสไลด์แช่แข็ง เนื้อหมักกระเทียมพริกไทยเสียบไม้ เนื้อแดดเดียวท่าแร้ง เนื้อตุ๋นสมุนไพร ลูกชิ้นเนื้อ เป็นต้น ตลอดจนการส่งออกโคไปต่างประเทศสู่ตลาดมาเลเซีย เวียดนาม และจีนซึ่งจะได้เจรจากับประเทศลูกค้ารวมทั้งการส่งเสริมการค้าการลงทุนกับซาอุดีอาระเบียและดูไบในโครงการเพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่มีมติเห็นชอบสนับสนุนเมื่อเร็วๆนี้

สำหรับแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ โคขุน มุ่งการพัฒนาระบบมาตรฐานฟาร์ม โดยพัฒนากลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อโคขุน เข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์ม (GAP) ฟาร์มที่มีระบบป้องกันโรค (GFM) และเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ เป็นฟาร์มตัวอย่างให้เกษตรกรและประชาชนที่สนใจ ส่งเสริมรูปแบบการเลี้ยงที่ทันสมัย ประหยัด ลดต้นทุนการผลิต และการขยายตลาด สนับสนุนและยกระดับฟาร์มให้มีรูปแบบการผลิตเนื้อโคขุนที่มีคุณภาพ เพื่อส่งตลาดทั่วไปและตลาดพรีเมี่ยม เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า ส่งเสริมให้มีตลาดกลางปศุสัตว์โค เพื่อเพิ่มช่องทางการซื้อขายให้เกษตรกร ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ส่งเสริมการแปรรูปเนื้อโค สร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์เนื้อของเพชรบุรี รวมทั้งสนับสนุนให้มีการเลี้ยงโคไทยวากิวโดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ศูนย์ AIC จังหวัดนครราชสีมาสนับสนุน ทั้งนี้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเพชรบุรีรายงานว่า ปัจจุบันมีจำนวนเกษตรกร 5,571 ราย โค 80,717 ตัว

ส่วนแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม มีการพัฒนาระบบมาตรฐานฟาร์ม พัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์ม GAP ฟาร์มปลอดโรค ส่งเสริมเกษตรกรโคนมรุ่นใหม่ เพื่อปรับปรุงรูปแบบ เทคนิคการเลี้ยงที่ทันสมัย เช่น การปรับปรุงพันธุ์ การขุนโคนมเพศผู้ ในด้านการส่งเสริมการตลาด มีการส่งเสริมการแปรรูป เพิ่มชนิดผลิตภัณฑ์เช่น เนย โยเกิร์ต ชีสและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมของเกษตรกรและผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยว เชิงเกษตร ส่งเสริมให้มีการเพิ่มแนวทางการเลี้ยงโคนมนอกจากผลิตน้ำนมโคแล้วจะมีการผลิตโคขุนจากโคนมด้วย ทั้งนี้จะให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศูนย์ความเป็นเลิศโคนมและเป็นศูนย์ AIC จังหวัดสระบุรีมาสนับสนุนด้วย ปัจจุบันมีจำนวนเกษตรกร 370 ราย โค 13,840 ตัว

‘ชาติพัฒนากล้า’ ปลุกพลังบวกส่งต่อน้องๆ ม.สวนดุสิต ฉายภาพอนาคต ‘Soft Power’ ปลุกเศรษฐกิจสร้างสรรค์

(12 พ.ย. 65) พรรคชาติพัฒนากล้าได้โพสต์บรรยากาศและมุมมองสร้างสรรค์ของงานเสวนาแบบสบายๆ ในธีม ‘My Life / My Goal’ ซึ่งจัดขึ้นที่ ดุสิต บิสโทร ผ่านเฟซบุ๊กของพรรค ว่า...

คนรุ่นใหม่ ‘ชาติพัฒนากล้า’
ปลุกพลังบวกส่งต่อน้องๆ ม.สวนดุสิต

ผ่านงานเสวนาแบบสบายๆ ในธีม ‘My Life / My Goal’ จัดขึ้นที่ ดุสิต บิสโทร

ผ่านประเด็นดังต่อไปนี้...
1. Soft power  
2. เศรษฐกิจสายมู 
3. บ้านในฝัน 
4. จากซึมเศร้าสู่สร้างสรรค์
5. Future Learning
6. Green Eco Life

งานนี้ อีฟ วิเวียน จุลมนต์ สมาชิก #พรรคชาติพัฒนากล้า นำทีมฉายภาพอนาคตผ่าน Keywords เริ่มด้วย ‘Soft Power’ นำสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างไร

นุ่น ยศยา ชิยาปภารักษ์ - Yossaya Chiyapapharak : พูดถึงเศรษฐกิจสายมู ผ่านการเล่าเรื่อง How to สร้างเม็ดเงินจากมูเตลู เปี่ยมไปด้วยจินตนาการที่ทำได้จริง สร้างอาชีพให้กับน้องๆทุกคน ถ้าคุณไม่ได้เป็นสายมู แต่มี Passion ทำสิ่งใดสิ่งนั้นนำมามู Market ได้

PK Pasakorn Vanasirikul พีเค พัสกร วรรณศิริกุล : สุขภาพจิต จิตที่เหนื่อยล้าของเราทุกคนในสังคมจะทำอย่างไรให้ผันไปทางเรื่องสมดุล พีเค นำเสนอมุมมองเหนือชั้นที่ทุกคนในงานต่างร้อง Wow 

ธาม สมุทรานนท์ - Tharm Smuthranond : เล่าประสบการณ์เจอผู้คนที่เคยเจอวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ต้องสูญเสียอาชีพ บ้านโดนยึด ทำให้เกิดปมในใจ ผลักดันให้ธามอยากผลักดันให้คนส่วนใหญ่สามารถซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้ โดยมีคุณภาพดีและราคาจับต้องได้ 

ศราพงศ์ ปรินซ์ อิศรศักดิ์ ณ อยุธยา : ฉายภาพ Future Learning เพื่อให้น้องๆ สามารถออกแบบชีวิตที่ดีด้วยตัวเอง อาชีพใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ใช่เรื่องไกลตัว โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 

อีฟ วิเวียน จุลมนต์ : ได้ชี้เป้าให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน แล้วพาชวนมองภาพความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิด และตระหนักรู้ถึงมาตรการของโลกที่จะตอบสนองต่อภาวะโลกร้อนเพื่อให้ผู้ฟังทุกคนเตรียมมองเห็นช่องทางในการทำเงินรวมถึงการปรับตัวในการดำรงชีวิต 

'การบินไทย’ โชว์กำไรไตรมาส 3 กว่า 3.9 พันล้านบาท แง้ม!! เปิดเส้นทางบินใหม่ ขยายฝูงบินดันรายได้ต่อเนื่อง

(12 พ.ย. 65) รายงานข่าวจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วันนี้ (11 ต.ค.) การบินไทยได้รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 3,920 ล้านบาท เทียบกับการขาดทุน 5,310 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 32,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 582% จากไตรมาส 3 ของปี 2564 

อย่างไรก็ดีมีรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า 30,890 ล้านบาท อันเป็นผลจากการเพิ่มความถี่เที่ยวบินจากช่วง 6 เดือนแรกของปี ได้แก่ เส้นทางลอนดอน แฟรงก์เฟิร์ต เจนไน เบงกาลูรู นิวเดลี มุมไบ ละฮอร์ การาจีอิสลามาบัด ฮานอย โฮจิมินห์ พนมเปญ จาการ์ตา ธากา เดนปาซาร์ ไทเป สิงคโปร์ โคเปนเฮเกน มิวนิก และซูริค และกลับไปทำการบินในเส้นทางเดิมก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แก่ เส้นทาง ปีนัง โตเกียว (ฮาเนดะ) และบรัสเซลส์ ประกอบกับอัตราบรรทุกผู้โดยสารรวมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากเป็น 77.0% เทียบกับ 9.9% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564  

ในขณะเดียวกันบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายจ่ายรวมทั้งสิ้น 28,940 ล้านบาท สูงขึ้นจากปีก่อน 186% จากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและ/หรือปริมาณขนส่งตามจำนวนเส้นทางบินและเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นค่าใช้จ่ายน้ำมันถึง 44% ซึ่งเป็นผลจากการที่ราคาน้ำมันเครื่องบินปรับตัวสูงขึ้นกว่าปีก่อนถึง 80% ทั้งนี้ ผู้สอบบัญชีได้รายงานผลการสอบทาน แบบให้ข้อสรุปแบบไม่มีเงื่อนไข เป็นครั้งแรกตั้งแต่เข้าแผนฟื้นฟู

ทั้งนี้ในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินจำนวน 3,672 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีการปรับปรุงดอกเบี้ยจ่ายตามแผนฟื้นฟูกิจการจำนวน 2,160 ล้านบาท และแม้จะมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้และการขายทรัพย์สินในส่วนของรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว แต่บริษัทฯ ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากการตีมูลค่าทางบัญชีอันเนื่องมาจากการอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ 

อีกทั้งยังมีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ ส่งผลให้บริษัทฯ มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นค่าใช้จ่ายรวม 5,212 ล้านบาท และมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิจำนวน 4,780 ล้านบาท เป็นส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 4,785 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ และบริษัทย่อยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าทั้งในส่วนของเครื่องบินและอื่นๆ เป็นกำไรจำนวน 6,181 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 3,100 ล้านบาท ทั้งนี้ EBITDA สำหรับบริษัทฯ มากกว่า 20,000 ล้านบาทในรอบ 12 เดือนคือเงื่อนไขหนึ่งในการออกจากแผนฟื้นฟู 

กระจ่างชัด!! ทำไมน้ำมันไทยมีหลายประเภท แล้วแต่ละประเภทต่างกันยังไง

ในปัจจุบันน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นสิ่งที่เจ้าของรถทุกคนในประเทศไทยใช้กันเป็นประจำทุกวัน แต่ทราบหรือไม่ว่าน้ำมันแต่ละชนิดนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง แล้วทำไมราคาถึงไม่เท่ากัน? 

ก่อนที่จะมาหาข้อแตกต่างระหว่างน้ำมันแต่ละชนิด เราต้องเข้าใจถึงความแตกต่างกันระหว่าง ‘เครื่องยนต์’ ก่อนว่ามีหลายรูปแบบ เช่น เครื่องยนต์ ‘ดีเซล’ กับ ‘เบนซิน’ แต่ละแบบก็มีอัตรากลไกการทำงานที่ต่างกัน อย่าง อัตราส่วนของการอัดอากาศ ก็คนละอย่างกัน อาทิ ดีเซล จะมีอัตราการอัดอากาศเยอะ ในขณะที่เบนซินจะมีแรงอัดอากาศที่ต่ำกว่า

โดยดีเซลไม่ใช่ชื่อตัวละครใน Fast And Furious แต่อย่างใด แต่น้ำมันดีเซลเป็นส่วนหนึ่งของน้ำมันดิบที่ได้จากโรงกลั่นน้ำมัน (เช่นเดียวกับน้ำมันเบนซิน) ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่มีการใช้งานมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะใช้กับรถกระบะ, รถบรรทุก, เรือประมง, เรือโดยสาร, เพราะสามารถสร้างแรงบิดได้สูง ตั้งแต่ในรอบต่ำ นั้นจึงเหมาะกับการฉุดลากหรือขนส่งสิ่งของนั้นเอง 

ส่วนน้ำมันไบโอดีเซล คือ น้ำมันที่สกัดจากพืชผลทางการเกษตร เช่น ปาล์ม (ส่วนหลัก), ข้าวโพด, รำข้าว, สบู่ดำ, มะพร้าว, ทานตะวัน, ถั่วเหลือง, เมล็ดเรพ และน้ำมันพืช น้ำมันสัตว์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว นำมาทำปฏิกิริยาทางเคมีจนเกิดเป็น สารเอสเตอร์ ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซล เรียกว่า ‘ไบโอดีเซล’ หรือ ‘B100’

ทีนี้ เรามาดูกันต่อ สำหรับความแตกต่างระหว่างน้ำมันเบนซินกับแก๊สโซฮอล์ว่ามันต่างกันอย่างไร?

น้ำมันเบนซินนั้นไม่มีส่วนผสมของสารที่เอาไว้เพิ่มค่าออกเทนหรือเอทานอล ส่วนแก๊สโซฮอล์นั้นมาจากคำว่า แก๊สโซลีน + แอลกอฮอล์ หรือน้ำมันเบนซินที่มีส่วนผสมของเอทานอล โดยในประเทศไทย 

แก๊สโซฮอล์ไม่เพียงหมายถึงการผสมเอทานอลในระดับต่ำ (E 10, E 20) แต่ยังรวมถึงเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้นด้วย (เช่น E 85 ซึ่งเป็นส่วนผสมของเอทานอล 85% และน้ำมันเบนซิน 15%)

ในการใช้งาน ก็เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า เบนซินให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่า และการหล่อลื่นที่ดียิ่งขึ้น แต่ปัจจุบันน้ำมันเบนซินหาได้ยาก ในขณะที่แก๊สโซฮอล์จะเป็นที่แพร่หลายมากกว่า

อย่างไรก็ตาม แก๊สโซฮอล์ ก็ยังมีทั้งแก๊สโซฮอล์ 91 กับ 95 แล้ว 2 ตัวนี้ มันต่างกันยังไง? 

Sony โยกฐานผลิตเซมิคอนดัคเตอร์จากญี่ปุ่นมาไทย ทุ่มงบ 2.5 พันล้าน สร้างงานได้กว่า 2 พันตำแหน่ง

Sony จะลงทุนราว 2,500 ล้านบาท สร้างโรงงานเซมิคอนดัคเตอร์ในไทย โดยย้ายการผลิตออกจากญี่ปุ่น เพื่อลดต้นทุนการผลิต

(11 พ.ย. 65) Nikkei Asia รายงานว่า การย้ายฐานการผลิตกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยคาดว่าโรงงานจะพร้อมดำเนินงานภายในเดือนมีนาคมปี 2025 สามารถสร้างงานได้กว่า 2,000 ตำแหน่ง โรงงานดังกล่าวจะรับหน้าที่ผลิตเซนเซอร์รับภาพที่มีส่วนช่วยให้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติรับรู้สภาพสิ่งกีดขวางและผู้คนรอบ ๆ

‘ศิริกัญญา’ หอบหลักยื่น ป.ป.ช. เอาผิด กสทช. ปล่อยควบรวม True-DTAC ผิดมาตรา 157

‘ศิริกัญญา’ ยื่นหนังสือ ป.ป.ช. ให้เอาผิด กสทช. เสียงข้างมากที่ปล่อยควบรวม True-DTAC พร้อมหอบหลักฐานมีกรรมการ กสทช. บางคนมีรับผลประโยชน์จากซีพี

ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางไปยังอาคารสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) สนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี เพื่อยื่นหนังสือให้มีการไต่สวนและตรวจสอบกรณีการปล่อยให้มีการควบรวมทรู-ดีแทค ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หลังกสทช.มีการลงมติเพียงแค่รับทราบการควบรวมกิจการ 2 ค่ายมือถือ โดยทำการยังยั้งการควบรวมตามอำนาจหน้าที่ที่ตนเองมี

ศิริกัญญา ได้พูดถึงปัญหาของการควบรวมกิจการไว้ว่าได้ทำการศึกษาราคาค่าบริการหลังควบรวมพบว่า ราคาค่าบริการจะสูงขึ้นและศักยภาพการให้บริการจะด้อยลง แตกต่างจากในตลาดมือถือที่มีการแข่งขันของรายใหญ่ 3 เจ้า แต่กสทช. ไม่ทำหน้าที่ของตนให้เหมาะสมในการยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ ในการลงมติของกสทช. ที่เป็นมติพิเศษ มีหลักเกณฑ์ว่า จะต้องได้เสียงกึ่งหนึ่งในการลงมติ และคณะกรรมการในครั้งนี้มีทั้งหมด 5 คน จึงจะต้องลงเสียงให้ได้คะแนน 3:2 แต่มติในครั้งนี้คือ 2:2:1 งดออกเสียงหนึ่งเสียง หากว่ากันตามข้อบังคับการประชุมจะต้องได้ทั้งหมด 3 เสียงขึ้นไป ดังนั้นกสทช. กำลังทำผิดกฎหมายที่ตนเองร่างขึ้นมา

จัดงาน ‘Asia International Hemp Expo 2022’ ปักหมุดไทย สู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมกัญชง

สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย จับมือ เอ็น. ซี. ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ กลุ่มสมาคมพันธมิตรและผู้ประกอบการในธุรกิจ อุตสาหกรรม เดินหน้าการจัดงานแสดงสินค้า Asia International Hemp Expo งานแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์จากพืชกัญชงนานาชาติครั้งแรกของประเทศไทย มุ่งสร้างมาตรฐานขับเคลื่อนธุรกิจ ย้ำจุดยืนการเป็นงานแสดงสินค้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมและการแพทย์ คาดมูลค่าการซื้อขายไม่ต่ำกว่า พันล้านบาท 

นายพรชัย ปัทมินทร นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย (TIHTA) เผยว่า จากพันธกิจที่สมาคมได้มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา ในการขับเคลื่อนพืชกัญชงสู่ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และประกาศการจัดงานนิทรรศการและการแสดงสินค้านานาชาติ ที่ทางสมาคมจะร่วมจัดกับพันธมิตรจากต่างประเทศ ตอนนี้ทางสมาคมมีความพร้อมอย่างมากที่จะเรียนเชิญทุกท่านให้มาร่วมงาน Asia International Hemp Expo 2022 และ 2nd International Hemp Environmental Forum ภายใต้แนวคิด ‘Hemp For All’ เพราะกัญชงเป็นพืชสำหรับทุกคน และเป็นพืชที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนโดยไม่เหลือทิ้งในหลากอุตสาหกรรม 

ซึ่งภายในงานนี้จะมีการนำเอานวัตกรรมต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมกัญชงมาจัดแสดงให้องค์ความรู้ เช่น วัสดุทางการแพทย์จากกัญชง รถไฟฟ้าจากไฟเบอร์กัญชงคันแรกของประเทศไทย ส่วนประกอบอากาศยาน และยานยนต์ รวมไปถึง ยา อาหารแห่งอนาคต 

ขณะนี้มีผู้ประกอบการที่ร่วมออกบูธจากทั่วโลกกว่า 300 ราย ในอุตสาหกรรมกัญชงตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ และจากการดำเนินการเตรียมการจัดงานมาตลอดระยะเวลา 1 ปี ร่วมกับพันธมิตรนานาประเทศ ทำให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าจับตามองอย่างมากของผู้ประกอบการทั่วโลก โดยคาดว่าการจัดงานครั้งนี้จะสร้างรายได้หมุนเวียนในอุตสาหกรรมกัญชงไม่ต่ำกว่าพันล้านบาท และคาดว่ามูลค่าตลาดกัญชง กัญชา กระท่อมของไทยจะเติบโตขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 25 ต่อปี 

นอกจากส่วนแสดงสินค้าแล้ว ทางสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทยได้มีความร่วมมือกับ International Hemp Environmental Committee (คณะกรรมการกัญชงและสิ่งแวดล้อมนานาชาติ) และ Japan Hemp Association (สมาคมกัญชงแห่งประเทศญี่ปุ่น) จัดสัมมนานานาชาติ ‘The 2nd Hemp Environmental Forum’ ในหัวข้อ ‘The New Innovation Landscape of Hemp’ เพื่อสร้างองค์ความรู้ และจุดประกายความคิดจากนวัตกรรมของกัญชงที่เป็นมิตรต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม และการนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงของผู้คน ซึ่งเป็นการรวมองค์ความรู้และประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญในวงการกัญชงทั่วโลกมาให้คนไทยในงานนี้ ถึง 14 หัวข้อตั้งแต่แนวโน้มตลาดกัญชงโลก โอกาสและความท้าทายของประเทศไทย หัวข้อสำหรับอุตสาหกรรมในแขนงต่างๆ โดยวิทยากร 38 ท่าน จาก 15 ประเทศ 

และเนื่องในวโรกาสพิเศษ ในการจัดงานครั้งนี้จะมีการจัดนิทรรศการพิเศษ ‘Golden Hemp’ จากประเทศญี่ปุ่น นับเป็นครั้งแรกในรอบ 150 ปีที่มีการจัดแสดงนอกประเทศ เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชมมายุ 90 พรรษา ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยแรงบันดาลใจจากวิถีวัฒนธรรมของเส้นใยกัญชงสีทอง ซึ่งปลูกจากเมล็ดกัญชงสายพันธุ์โบราณ ที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติชาติของประเทศญี่ปุ่น สำหรับใช้ผลิตเส้นใยเพื่อการทอเฉพาะในราชสำนักญี่ปุ่นเท่านั้น

นายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด เผยว่างาน ‘Asia International Hemp Expo 2022’ หรืองานแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์นานาชาติสำหรับอุตสาหกรรมกัญชง ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ครั้งนี้ เป็นรูปแบบ Business to Business (B2B) ที่เราใช้ศักยภาพของงานแสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติทุกด้าน ในการร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรม และนำเสนอมาตรฐานสำหรับพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่นี้ของประเทศไทยในมิติใหม่ ผ่านบริบทที่หลากหลายภายในงาน 

เริ่มตั้งแต่การใช้ศักยภาพของงานแสดงสินค้าเป็นเวทีในการนำเทคโนโลยีล่าสุดซึ่งเป็นโซลูชั่น ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจกัญชง เพื่อให้สามารถผลิตวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ ที่ได้มาตรฐาน ทั้งในเชิงของคุณภาพ และการบริหารจัดการต้นทุนการผลิต รวมไปถึงการเป็นเวทีทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งผลิตภัณฑ์กลุ่มสารสกัด เช่น เครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มเส้นใย เช่น แฟชั่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top