Thursday, 15 May 2025
ECONBIZ NEWS

'สุริยะ' หนุน!! มาตรการส่งเสริมตัดอ้อยสด ส่งเสริมราคาดี พร้อมคุมอ้อยไฟไหม้ต้องไม่เกิน 5% ก่อนเข้าหีบ

'สุริยะ' ลุยแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ต่อเนื่อง พร้อมหนุนมาตรการส่งเสริมตัดอ้อยสด ตั้งเป้าฤดูการผลิตปี 2565/66 อ้อยไฟไหม้ไม่เกิน 5%

กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างต่อเนื่อง พร้อมหนุนมาตรการส่งเสริมตัดอ้อยสด สำหรับในฤดูการผลิตปี 2565/2566 ให้มีปริมาณอ้อยไฟไหม้ไม่เกิน 5% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด สนองนโยบายรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่น PM 2.5

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 ณ หอประชุมใหญ่สมาคมเพื่อเกษตรกรภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2564/2565 กรอบวงเงินช่วยเหลือ 8,159 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 27 ตุลาคม 2565 ได้จ่ายเงินช่วยเหลือไปแล้ว จำนวน 125,194 ราย เป็นเงิน 8,103.74 ล้านบาท โดยการช่วยเหลือเพื่อช่วยลดต้นทุนการตัดอ้อยสดในครั้งนี้ จะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดส่งโรงงานมากขึ้น รวมทั้งตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่น PM 2.5 โดยจะพยายามผลักดันมาตรการขอรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐตามโครงการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 เช่นเดียวกับฤดูการผลิตปีที่ผ่านมา

ราคาเหรียญ KUB วิ่งแรง เพิ่มขึ้นกว่า 40% ทั้งที่ ก.ล.ต.ให้แก้ไขคุณสมบัติเหรียญต่ำกว่ามาตรฐาน

ราคาเหรียญ KUB วิ่งแรงทะลุ 70 บาท เพิ่มขึ้นกว่า 40% ไม่สนคำสั่งก.ล.ต.ให้แก้ไขคุณสมบัติเหรียญต่ำกว่ามาตรฐาน ขาดคุณสมบัติเทรดในกระดาน พร้อมลาก 'JFIN-SIX' พุ่งพรวด บวก 10%

เมื่อวานนี้ (6 พ.ย. 65) ราคาเหรียญสัญชาติไทย 3 เหรียญ ประกอบด้วย KUB , JFIN และ SIX ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแรง โดยไม่มีปัจจัยสนับสนุนอย่างเห็นได้ชัด ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีการเข้ามาสร้างราคาของ Market Maker หรือไม่ โดยเฉพาะ KUB มีเพิ่มขึ้นมากกว่า 40% ในรอบ 24 ชม.ที่ผ่านมา

โดย KUB แตะระดับสูงสุด 75.95 บาท ต่ำสุด 50.25 บาท ก่อนจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 70.85 บาท (ณ เวลา 23.40 น.) เพิ่มขึ้น 39.17% ขณะที่อยู่ที่ 20.91 บาท เพิ่มขึ้น 10.3% และ SIX อยู่ที่ 1.98 บาท เพิ่มขึ้น 10.08%

'บิ๊กบอสศุภาลัย' มองต่างชาติซื้อที่อยู่อาศัยในไทย เสมือนส่งเสริมส่งออก โดยสินค้านั้นยังคงอยู่ในประเทศ

ดร.ประทีป บิ๊กบอสศุภาลัย เชื่อ ต่างชาติส่วนใหญ่แห่ซื้อคอนโด มากกว่าซื้อบ้าน – ที่ดิน

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2565 ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “ขายบ้านและที่ดินให้กับต่างชาติ =ขายชาติ”  มาตรการส่งเสริมชาวต่างชาติ เฉพาะกลุ่มให้มีสิทธิ์ซื้อบ้าน+ที่ดินไม่เกิน 1 ไร่ในเขตเมือง เริ่มร้อนแรง มีการถกเถียงกันมากขึ้น ๆ และระบุว่า คือ 'ขายชาติ'

ส่วนการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวระยะสั้นนั้น คนไทยเกือบทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้คนไทยมีงานทำมากขึ้นมีรายได้ดีขึ้น

ขณะเดียวกัน คนไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร  จึงรักผืนแผ่นดินมากซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้

ความคิดดังกล่าวข้างต้น จาก 1. การขาย  2. การเช่าระยะยาว  และ 3. การท่องเที่ยวระยะสั้น สามกรณี  ถ้านำมาประมวลและเปรียบเทียบเป็นตัวอย่างให้เข้าใจง่าย ๆ จะเป็นดังนี้…

ถ้ามีชาวต่างชาติจะแต่งงานกับคนไทยตลอดชีวิต และคนไทยยอมแต่งด้วย จะถูกสรุปว่า 'ขายชาติ'

แต่ถ้าเขาขอแต่งงานด้วยระยะยาวไม่เกิน 30 ปี จะมีผู้รู้สึกว่าน่าจะยอมรับได้

แต่ถ้าเขาขอแต่งด้วยไม่กี่วัน โดยจ่ายค่าตอบแทนตามที่เราต้องการ  เราก็ถือว่าไม่น่าจะเสียหายอะไร กระนั้นหรือ?

ถ้าชาวต่างชาติซื้อบ้าน+ที่ดิน 1 ไร่ในราคา 40 ล้านบาท  จะเทียบเท่านักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาใช้จ่ายคนละ 50000 บาท 800 คน

หรือถ้าซื้อคอนโดมิเนียมราคา 10 ล้านบาทจะเทียบเท่านักท่องเที่ยวที่ใช้จ่าย 5 หมื่นบาท 200 คน

บางคนคิดว่าการยินยอมให้ชาวต่างชาติซื้อที่ดินได้ไม่เกิน 1 ไร่จะก่อให้เกิดการเก็งกำไร ทำให้ที่ดินราคาแพงจนคนไทยซื้อไม่ไหว

ที่จริง  'การเก็งกำไร' นั้นประเทศไทยเราเปิดกว้างมานานแล้วให้ชาวต่างชาติทั่วโลกเข้ามาลงทุน/เก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ โดยยกเว้นการเสียภาษีเงินได้ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก

อนึ่ง การลงทุนในหุ้นหรือหลักทรัพย์ ใช้เงินลงทุนเพียงหลักหมื่นก็ทำได้ อีกทั้งสภาพคล่องการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ก็สูงกว่าและดีกว่าอสังหาริมทรัพย์มาก

กล่าวคือ ถ้าต้องการขายหลักทรัพย์จะสามารถขายได้เกือบทุกวัน แต่ถ้าจะขายที่ดินส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาเป็นเดือน

ดังนั้น ชาวต่างชาติถ้าต้องการเก็งกำไรในประเทศไทยเขามีทางเลือกที่ดีกว่าง่ายกว่าการเก็งกำไรที่ดิน  ก็คือตลาดหลักทรัพย์ นั่นเอง หรืออาจจะหันไปเก็งกำไรเงินตราในสถานการณ์ที่เอื้ออำนวย..

ผมจึงไม่คิดว่าชาวต่างชาติจะแห่กันมาซื้อบ้าน+ที่ดินมากอย่างที่พวกเราหลายคนเป็นห่วง เพราะตั้งแต่ถูกจำกัดด้วยคน 4 กลุ่มที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจซึ่งได้แก่ผู้มีรายได้สูง คนเกษียณ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่ประสงค์พำนักเพื่อทำงาน

ผมยังเชื่อว่าชาวต่างชาติส่วนใหญ่จะนิยมซื้อคอนโดฯ หรือห้องชุดที่ประเทศไทยเปิดโอกาสให้ซื้อได้มานานแล้ว

โดยจะซื้อมูลค่ากี่ร้อยล้านก็ได้โดยไม่จำกัดด้วยขนาดหรือราคาของห้องชุด เพียงแต่ต้องไม่เกินร้อยละ 49 ของแต่ละอาคารชุด

'ชาติพัฒนากล้า' ปักหมุดชุมพร โฟกัสเมืองท่องเที่ยว พร้อมเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ชุมพร เขต2

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ชุมพร เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2565 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทศพล โชติคุตร์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เดินทางไปยัง จ.ชุมพร เพื่อเปิดตัวนายลิขิต ศรีชาติ ทนายความชื่อดัง อดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร เป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 ครอบคลุมพื้นที่ อ.ท่าแซะ และ อ.ปะทิว โดยนายกรณ์ ได้พบปะประชาชนในงานทอดกฐินวัดดอนตะเคียน อ.ปะทิว จ.ชุมพร ชาวบ้านให้การต้อนรับและได้ร่วมพูดคุยกันถึงการเพิ่มรายได้ให้กับชาวสวนผลไม้ และเกษตรกร ซึ่งนายกรณ์ได้นำเสนอวิธีการต่อยอดจากโครงการเกษตรเข้มแข็งที่ได้ช่วยพี่น้องภาคอีสานมากว่า 9 ปี โดยใช้หลัก 'เกษตรพรีเมี่ยม' เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร จนประสบความสำเร็จ   

นอกจากนี้ยังได้เดินทางไปยังชุมชนธุรกิจโฮมสเตย์บ้านไม้ชายคลอง และน้องจอยดำน้ำ เพื่อร่วมพูดคุยถึงประเด็นเศรษฐกิจท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งพบว่าหลังจากเปิดประเทศเนื่องจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ชุมพรเป็นเมืองรองที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ซี่งนายกรณ์มองว่า สามารถเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยววิถีชุมชน ที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ อย่างไรก็ตามจากการพูดคุยกับชาวบ้านพบว่า ชาวบ้านกว่าครึ่งในพื้นที่ อ.ปะทิว ไม่มีเอกสารสิทธิในการถือครองที่ดิน ทั้งที่อยู่อาศัยมาชั่วอายุคน ทำให้ขาดความมั่นคงในเรื่องที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน อันเกิดจากนโยบายที่ไม่เป็นธรรมของระบบราชการ

ซาอุฯ เตรียมขน 200 นักธุรกิจ ร่วมลงทุนในไทย ล็อกเป้า ‘EEC’ จ่อลงทุนใน 3 อุตสาหกรรมหลัก

รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนซาอุดิฯ นำทัพ 200 นักธุรกิจบุกไทย ลุยจับคู่ร่วมลงทุน 3 ธุรกิจใหญ่ ‘ท่องเที่ยวโรงแรม-สร้างเมืองใหม่-พลังงาน’ เอกชนชี้เป็นโอกาสดีสุด ๆ รอบ 32 ปีหลังฟื้นสัมพันธ์ เล็งเป้าดึงลงทุนระลอกใหญ่ลงอีอีซี ขณะ 3 อุตฯ ไทยเนื้อหอม เวลคัมร่วมลงทุนในซาอุดิฯ

(5 พ.ย. 65) รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือสำนักงานอีอีซี เผยว่า ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 นี้ Mr.Khalid Abdulaziz Al-Falih รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนแห่งซาอุดิอาระเบียจะนำคณะภาคเอกชนที่เป็นนักธุรกิจ และนักลงทุนของซาอุดิฯ รวมกว่า 200 คน ร่วมงาน ‘Thai - Saudi Investment Forum’ ในประเทศไทย

ไฮไลต์สำคัญ จะมีการลงนาม MOU ร่วมกันในธุรกิจเป้าหมาย ไทย-ซาอุดิฯ, การนำเสนอภาพรวมกลยุทธ์การลงทุนร่วมไทย-ซาอุดิฯ โดย นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และนายคณิศ แสงสุพรรณ ประธานที่ปรึกษาอีอีซี 

นอกจากนี้จะมีเวทีเสวนาร่วมระหว่างผู้บริหารของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และหอการค้าซาอุดิฯ โดย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และ Mr. Bads Aldadr, Deputy Minister of Investor Outreach, MISA

นอกจากนี้จะมีการเสวนาและจับคู่ธุรกิจ (บิซิเนส แมชชิ่ง) ร่วมลงทุนธุรกิจเป้าหมายภาคเอกชนและนักธุรกิจของไทย-ซาอุดิฯ ใน 3 เวทีได้แก่ ในธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม, ธุรกิจการสร้างมืองใหม่ และธุรกิจด้านพลังงาน ซึ่งจะเป็นการเปิดมิติใหม่ในการร่วมลงทุนไทย-ซาอุดิฯ ในรอบ 32 ปี หลังฟื้นความสัมพันธ์

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เผยว่า ไทยและซาอุดิฯ ได้แลกเปลี่ยนการเดินทางเยือนของคณะภาครัฐ-เอกชนกันหลายรอบแล้วในรอบปีนี้ หลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้นำคณะเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย เมื่อปลายเดือนมกราคม 2565 และประกาศการฟื้นความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ

สำหรับการเดินทางเยือนไทยและร่วมเวทีเชื่อมสัมพันธ์ด้านการลงทุนกันในครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์ให้มีความแน่นแฟ้นมากขึ้นตามลำดับ โดยทั้งสองฝ่ายได้เชิญชวนในการแลกเปลี่ยน และร่วมลงทุนทั้งในไทยและในซาอุดิฯ

ในส่วนของไทยมีเป้าหมายเชิญชวนทางซาอุดิฯ มาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ในเบื้องต้นมีธุรกิจที่ซาอุดิฯ ให้ความสนใจลงทุน หรือร่วมลงทุนในอีอีซี เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ เครื่องใช้ไฟฟ้า การแพทย์ เกษตรชีวภาพ อาหารแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ ก่อสร้าง ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และภาคการเงิน เป็นต้น

‘อลงกรณ์’ พุ่งเป้าฟื้นฟูพัฒนาฟาร์ม - สร้างตลาดยั่งยืน ตั้งเป้าปีหน้าผลิตกุ้ง 400,000 ตันภายใต้ยุทธศาสตร์กุ้งไทย

‘อลงกรณ์’ กำหนด 10 มาตรการ มอบบอร์ดกุ้งฟื้นฟูพัฒนาฟาร์ม สร้างตลาด สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าปีหน้าผลิตกุ้ง 400,000 ตันภายใต้ยุทธศาสตร์กุ้งไทย

​นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวปาฐกถาวันนี้ในหัวข้อ ‘ทิศทางการประมงและกุ้งไทย 2023’ ใน ‘งานวันกุ้งดำเพชรบุรี’ ภายใต้หัวข้อ ‘ปรับการเลี้ยง สร้างตลาด เพิ่มศักยภาพ กุ้งดำเพชรบุรี’ โดยมี นายเฉลิม สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ผศ.ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี นายชยานันท์ อินทรัตน์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำเพชรบุรี ส่วนราชการ ภาคเอกชนและเครือข่ายเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งเข้าร่วม ณ ห้องประชุมพะนอมแก้วกำเนิด อาคารสุเมธตันติเวชกุล มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี

นายอลงกรณ์กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยรัฐมนตรี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน มีนโยบายพัฒนาและฟื้นฟูการประมงไทยให้กลับมาเข้มแข็งสร้างรายได้ให้กับชาวประมงและประเทศเพิ่มขึ้นครอบคลุมตั้งแต่ประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ ประมงนอกน่านน้ำ ประมงเพาะเลี้ยง และอุตสาหกรรมประมง โดยได้แต่งตั้งตนเป็นประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาการประมงไทยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมมือกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคการประมงของไทย

สำหรับการเพาะเลี้ยงกุ้งประสบปัญหาโรคกุ้ง และคุณภาพลูกพันธุ์กุ้งในขณะที่มีการแข่งขันในตลาดต่างประเทศสูงขึ้นทำให้การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล และอุตสาหกรรมต่อเนื่องถดถอย ผู้ประกอบการห้องเย็น และโรงงานแปรรูปที่ส่งออกกุ้งทะเลเป็นหลัก ต้องปิดตัวลงจากเดิมที่มีอยูเกือบ 200 แห่ง ปัจจุบันเหลือเพียง 20 แห่ง และปริมาณการผลิตกุ้งลดต่ำลงจนประเทศไทยที่เคยส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์กุ้งอยู่ลำดับต้นๆ ของโลกตกมาอยู่อันดับ 6 - 7 ในเชิงปริมาณและมูลค่าตามลำดับ รัฐมนตรีเกษตรฯ จึงมีนโยบายให้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) หรือบอร์ดกุ้งมีอธิบดีกรมประมงเป็นประธานมีกรรมการจากภาครัฐภาคเอกชนอุตสาหกรรมกุ้งและเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งโดยได้กำหนดยุทธศาสตร์พัฒนากุ้งไทยปี 2564-2566 มีเป้าหมายเพิ่มการผลิตกุ้งให้ได้ 400,000 ตันในปี 2566

ซึ่งในปี 2564 และปีนี้มีการผลิตกุ้งเพิ่มขึ้นคาดว่าจะเพิ่มจาก 280,000 ตันเป็น 300,000 ตันหรือ 320,000 ตันหากรวมกุ้งที่ผลิตและไม่ได้เข้าระบบ APD ซึ่งมีประมาณขั้นต่ำ 20% และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กุ้งไทยจึงกำหนด 10 มาตรการในการฟื้นฟูและพัฒนากุ้งไทย ดังนี้...

1.) การวิจัยและพัฒนาตลอดห่วงโซ่อุปทานและอุปสงค์
2.) การพัฒนาพันธ์ุกุ้ง 
3.)การพัฒนาระบบการผลิต
4.) ส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม 
5.) การยกระดับมาตรฐานฟาร์มและมาตรฐานอาหารกุ้ง
6.) การแปรรูปกุ้งสู่เกษตรมูลค่าสูง
7.) การพัฒนาระบบตลาด และกลไกราคา
8.) การส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรม และขจัดการผูกขาด 
9.) การใช้ประโยชน์จาก FTA ในการขยายตลาด
10.) สร้างกลไกและเครื่องมือการบริหารใหม่ๆ สนับสนุนการขับเคลื่อนแผนพัฒนากุ้งไทย

โดยบอร์ดกุ้งได้สร้างระบบประกันราคากุ้งขั้นต่ำโดยภาคเอกชนเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเริ่มตั้งแต่ปี 2564 จนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาทำให้ราคากุ้งหน้าบ่อและตลาดกลางเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล 7,255 ตำบลทุกจังหวัด ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมของปีนี้จะเป็นกลไกการทำงานบนความร่วมมือในระดับพื้นที่รวมทั้งการเพาะเลี้ยงกุ้งในตำบลนั้นๆ ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านกุ้ง (Shrimp Academy) ภายใต้โครงสร้างของ AIC

ปักหมุดลงทุน 1.9 แสนล้านบาทในไทย หวังช่วยยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย

AWS ประกาศแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ในไทย มูลค่ามากกว่า 5 พันล้าน ดอลลาร์ หรือ 1.9 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 15 ปี ด้วยการเปิดตัว Region แห่งใหม่ ที่มีชื่อว่า AWS เอเชียแปซิฟิค (กรุงเทพฯ) 

อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (Amazon Web Services: AWS) บริษัทในเครือ Amazon.com, Inc. ประกาศแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ ด้วยการเปิดตัว Region ในประเทศไทย ที่จะมีชื่อว่า AWS Asia Pacific (Bangkok)

โดย Regionแห่งใหม่นี้จะประกอบด้วย Availability Zone สามแห่ง ซึ่งเพิ่มเติมจาก Availability Zone ของ AWS ที่มีอยู่แล้ว 87 แห่งใน 27 ภูมิภาคทั่วโลก และ AWS ได้ประกาศแผนที่จะสร้าง Availability Zone ทั่วโลกอีก 24 แห่งและ AWS Region อีก 8 แห่งในออสเตรเลีย แคนาดา อินเดีย อิสราเอล นิวซีแลนด์ สเปน สวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงประเทศไทย

AWS Region ที่กําลังจะมีขึ้นในประเทศไทยจะช่วยให้นักพัฒนา สตาร์ทอัพ และองค์กรต่างๆ รวมถึงภาครัฐ การศึกษา และองค์กรไม่แสวงผลกําไร สามารถเรียกใช้แอปพลิเคชันของตนและให้บริการผู้ใช้ปลายทางจากศูนย์ข้อมูล AWS ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย เพื่อให้ลูกค้าที่ต้องการเก็บข้อมูลของตนไว้ในประเทศไทยสามารถทําได้

นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นที่ AWS มีต่อภูมิภาคนี้ AWS วางแผนที่จะลงทุนมากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ (หรือ 1.9 แสนล้านบาท) ในประเทศไทยในระยะเวลา 15 ปี

นายปราสาท กัลยาณรามัน รองประธานฝ่ายบริการโครงสร้างพื้นฐานของ AWS เผยว่า บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของประเทศไทย ผ่านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศและการนำเสนอบริการใหม่ ๆ ที่รวดเร็ว

ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ลูกค้าในประเทศไทยสามารถใช้ศักยภาพทั้งหมดของคลาวด์เพื่อเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานและนำเสนอบริการต่าง ๆ

AWS Asia Pacific (Bangkok) region จะช่วยให้องค์กรสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยการใช้ประโยชน์จากบริการที่หลากหลายและเชี่ยวชาญของ AWSเช่น แมชชีนเลิร์นนิ่ง การวิเคราะห์ และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ด้วยเครื่องมือใหม่เหล่านี้ AWS ยังช่วยให้ลูกค้าภาครัฐสามารถมีส่วนร่วมกับพลเมืองได้ดียิ่งขึ้น องค์กรต่างๆ สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการเติบโตในระยะต่อไป รวมถึงสร้างธุรกิจและแข่งขันในระดับโลก

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวว่า แผนของ AWS ในการสร้างศูนย์ข้อมูลหรือดาต้า เซ็นเตอร์ในประเทศไทยถือเป็นก้าวสําคัญที่จะนำบริการการประมวลผลบนระบบคลาวด์ขั้นสูงมาสู่องค์กรจำนวนมากขึ้น และช่วยให้เราบรรลุเป้าหมาย Thailand 4.0 ในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีมูลค่า

ส่อง!! 5 ประเทศในเอเชีย ที่ต่างชาติเป็นเจ้าของที่ดินได้ พร้อมชั่งน้ำหนัก ‘ผลดี-ผลเสีย’ หากต่างชาติครองที่ดินในไทย

จากการที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2564 เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ในประเทศไทยแบบระยะยาว พร้อมกับสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ได้ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นผู้พำนักอาศัยในไทยระยะยาว 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.) กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy Global Citizen) 2.) กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy Pensioner) 3.) กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work from Thailand Professional) 4.) กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (Highly Skilled Professional)    

โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยดึงดูดชาวต่างชาติกลุ่มมั่งคั่งจำนวน 1 ล้านคน ให้ย้ายถิ่นฐานมาพำนักอาศัยในประเทศไทยภายในระยะเวลา 5 ปีงบประมาณ (พ.ศ. 2565-2569) ของการดำเนินมาตรการ และหากเป็นไปตามเป้าหมายจะช่วยเพิ่มปริมาณเงินใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ 1-2.5 แสนล้านบาท (สมมติฐานการใช้จ่ายในประเทศเฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อคนต่อปี)   

ต่อมาวันที่ 25 ต.ค. คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. …. ซึ่งร่างกฎกระทรวงนี้ จะมีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา  

‘ไตรรัตน์ จารุทัศน์’ นักวิชาการ อาจารย์ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้เขียนบทความลง TerraBKK ไว้ว่า ข้อเท็จจริง มีเกือบ 100 ประเทศทั่วโลกที่อนุญาตให้ต่างชาติมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน

1.) สำหรับประเทศอื่นๆ แบ่งเป็น 
- ประเทศที่ไม่มีข้อจำกัดในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน สำหรับชาวต่างชาติ เช่น สเปน ฝรั่งเศส อิตาลี คอสตาริกา 

- ประเทศที่มีข้อตกลงการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เช่น โครเอเชีย ตุรกี และเกาหลีใต้ เปิดให้เฉพาะบางสัญชาติที่มีข้อตกลงการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน อียิปต์อนุญาตสิทธิการเช่า 99 ปี 

2.) มีมาตรการเสริมเพื่อป้องกันราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้น หรือเพื่อเหตุผลความมั่นคง เช่น สวิส มีการจำกัดจำนวนชาวต่างชาติที่สามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ในแต่ละปี สหราชอาณาจักร เก็บภาษีกำไรจากการขายที่สูงกว่ามากซึ่งเรียกเก็บจากกำไรที่ได้จากการขายบ้านในสหราชอาณาจักรโดยชาวต่างชาติ ออสเตรเลีย

ปัจจุบันจำกัดเฉพาะประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะเป็นโครงการก่อสร้างใหม่เท่านั้น ผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายสามารถถูกตัดสินจำคุกหรือปรับจำนวนมาก

>> ศรีลังกา ให้ชาวต่างชาติได้รับอนุญาตให้ถือครองที่ดิน แต่มีภาษีการโอน 100% สำหรับชาวต่างชาติในศรีลังกา 

>>  แคนาดา จังหวัดชายฝั่งตะวันออกอื่นๆ รวมถึงจังหวัดควิเบก ออนแทรีโอ และบริติชโคลัมเบียไม่มีข้อจำกัดในการเป็นเจ้าของในต่างประเทศ

>> ออสเตรเลีย ชาวต่างชาติ ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในออสเตรเลียและบริษัทต่างๆ สามารถซื้อการพัฒนาที่อยู่อาศัยได้ถึง 50% และได้รับอนุญาตให้ซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือที่ดินใหม่เพื่อสร้างอาคารได้ตราบเท่าที่การก่อสร้างเริ่มขึ้นภายใน 12 เดือนนับจากวันที่ซื้อ สามารถซื้อทรัพย์สินที่เก่ากว่าได้โดยมีเงื่อนไขว่าอย่างน้อย 50% ของราคาซื้อจะใช้ในการปรับปรุง

3.) ข้อจำกัดอื่นๆ ในการซื้อที่ดินของต่างชาติ ประมาณ 40% ของ 195 ประเทศ มีข้อจำกัด ในการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เช่น (1) ที่ดินอยู่ห่างจากพรมแดนระหว่างประเทศ เช่น ปานามา ที่ดินอยู่ห่างจากพรมแดนระหว่างประเทศไม่เกิน 6 ไมล์ เม็กซิโก ชาวต่างชาติ ชาวต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ภายใน 62 ไมล์จากชายแดนระหว่างประเทศหรือ 31 ไมล์จากชายฝั่ง สเปน ที่ดินทางทหารและที่ดินใกล้พรมแดนระหว่างประเทศ (2) ทรัพย์สินริมน้ำบางแห่ง นิวซีแลนด์ ที่ดิน ‘อ่อนไหว’ รวมถึงเขตสงวน เกาะที่ระบุ และที่ดินและทะเลสาบทางประวัติศาสตร์หรือมรดก ปานามา การจำกัดที่ดินบนเกาะ ริมชายหาด

>> 5 ประเทศที่ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้ในเอเชีย  

1.) มาเลเซีย มาเลเซียเป็นที่เดียวที่ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของที่ดินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ อสังหาริมทรัพย์ประเภทเดียวที่ชาวต่างชาติไม่สามารถซื้อได้คือ ‘อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมรดก’ หรืออสังหาริมทรัพย์เก่าแก่ในยุคอาณานิคม ชาวต่างชาติสามารถขอที่พักอาศัยในมาเลเซียได้โดยการลงทุนผ่าน My Second Home Program (MM2H) ซึ่งช่วยให้ชาวต่างชาติได้รับวีซ่า 10 ปีโดยฝากเงินประมาณ 70,000 เหรียญสหรัฐ และเก็บไว้ในธนาคาร

2.) เกาหลีใต้ เกาหลีใต้ไม่มีข้อจำกัดมากมายในการถือครองที่ดิน การเปิดกว้างสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศนี้ค่อนข้างสมเหตุสมผลเมื่อพิจารณาถึงความเป็นสากลของเกาหลี ชาวต่างชาติเหล่านี้มักต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของตนเอง สาธารณรัฐเกาหลีนั้นพิถีพิถันในการออกวีซ่าระยะยาว ยกเว้นที่ เกาะเชจู เกาะเล็กๆ แห่งนี้ตั้งอยู่นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของคาบสมุทรเกาหลี เป็นเขตปกครองพิเศษที่อนุญาตให้ทุกคนเข้าชมได้โดยไม่ต้องมีวีซ่า ในทำนองเดียวกัน เชจูยังมีใบอนุญาตผู้พำนักสำหรับนักลงทุนทุกคนที่ต้องการลงทุนอสังหาริมทรัพย์มูลค่าประมาณ 430,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ บนเกาะนี้ ใบอนุญาตผู้พำนักดังกล่าวสามารถนำไปสู่การถือสัญชาติเกาหลีได้

3.) ไต้หวัน ไต้หวันเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีข้อจำกัดในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินในต่างประเทศเพียงเล็กน้อย การซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไต้หวันไม่ได้ให้สิทธิ์ชาวต่างชาติในการพักอาศัยที่นั่นโดยอัตโนมัติ ต่างจากประเทศมาเลเซียและเกาหลีใต้ โดยมีโปรแกรมการอยู่อาศัยสำหรับนักลงทุนบางรูปแบบสำหรับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ชาวต่างชาติจะต้องผ่านช่องทางการย้ายถิ่นฐานปกติเพื่ออาศัยอยู่ในไต้หวันอย่างถาวร ชาวต่างชาติสามารถซื้อบ้านหรือที่ดินที่ยังไม่พัฒนาในไต้หวันได้ 

4.) ญี่ปุ่น ชาวต่างชาติสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่นได้ โดยไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับประเภทของอสังหาริมทรัพย์ ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในชื่อตนเองได้ ทั้งนี้ชาวต่างชาตินั้นจะต้องมีงานทำ หรือทำธุรกิจ หรือใช้วีซ่าประเภทใช้ชีวิตในญี่ปุ่นแบบเต็มเวลา 

5.) สิงคโปร์ ในสิงคโปร์ ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของคอนโด บ้าน และที่ดินได้ตามกฎหมาย สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ง่ายที่สุดในเอเชียในการซื้อคอนโด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชาวต่างชาติจะได้รับอนุญาตให้เป็นเจ้าของบ้านหรือที่ดินในทางทฤษฎี แต่จริงๆ แล้วการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ประเภทนี้อาจเป็นเรื่องยากและมีราคาแพงอย่างเหลือเชื่อในทางปฏิบัติ การจะถือครองที่ดินเป็นคนต่างด้าวนั้นต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการเสียก่อน การอนุมัติดังกล่าวต้องมีการซื้อจำนวนมาก (คิดมูลค่าที่ดินมากกว่า 20 ล้านดอลลาร์) และพิสูจน์ว่าการซื้อดังกล่าว ‘เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของสิงคโปร์’

‘ผู้ผลิตสุราพื้นบ้าน’ ดีใจ หลังรัฐปลดล็อก ‘ผลิตสุรา’ เตรียมแผนโปรโมตสุราท้องถิ่น - สร้างรายได้ให้ชุมชน

ผู้ผลิตสุราพื้นบ้านวิสาหกิจชุมชนใน จ.ขอนแก่น เตรียมตัวทำการตลาดเพิ่มยอดขาย มองเป็นเรื่องดีหลังปลดล็อกการผลิต วอนรัฐลดภาษี

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 นายบวน การสร้าง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มตะกัวป่าสาโทไท อ.หนองสองห้อง จ.ขอนแก่น กล่าวถึงกรณีการประกาศกฎกระทรวงการ ‘ผลิตสุรา’ พ.ศ. 2565 ว่า

มองเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากปัญหาก่อนหน้าจะประกาศกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ.2565 นั้น การขออนุญาตค่อนข้างซ้ำซ้อน เมื่อหมดอายุใบขออนุญาตก็ต้องเริ่มดำเนินการใหม่ ทำให้เสียเวลาการทำเอกสาร และในส่วนการเพิ่มกำลังการผลิตเครื่องจักร จำนวนแรงม้า และการให้มีคนงานมากขึ้น ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากชุมชนจะได้เพิ่มการผลิตเพื่อให้ทันความต้องการของลูกค้า

ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มตะกั่วป่าสาโทไท กล่าวต่ออีกว่า ในการเสียภาษีสรรพสามิตที่ทางวิสาหกิจชุมต้องเสียซ้ำซ้อน โดยปัจจุบันต้องเสียภาษีขาย ทั้งขายส่ง และขายปลีก รวมไปถึงเสียภาษีทั้งรายปีและรายเดือน ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูง จึงอยากให้รัฐบาลช่วยดูแลและสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็ก เพื่อการพัฒนาการแข่งขันทางธุรกิจด้วย

'รมว.เฮ้ง' เล็งส่งเยาวชนฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น เปิด 4 ศูนย์รับสมัคร เริ่ม 21 พฤศจิกายนนี้

กรมการจัดหางานเตรียมรับสมัครและสอบคัดเลือกคนไทยไปฝึกงานประเทศญี่ปุ่น ผ่านองค์กร IM Japan ประจำปี 2566  เปิดศูนย์สอบกรุงเทพฯ ชลบุรี อุดรฯ ลำปาง เป้าหมาย นักศึกษา คนหางาน วุฒิม.6/ ปวช./ปวส. 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน และองค์กรพัฒนาแรงงานระดับนานาชาติ ประเทศญี่ปุ่น (IM Japan) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจในการดำเนินการจัดส่งผู้ฝึกงานเทคนิคคนไทยไปฝึกงานเทคนิคในสถานประกอบการของประเทศญี่ปุ่น โดยกำหนดให้กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการรับสมัครฯ การจัดฝึกอบรมก่อนเดินทาง และการส่งผู้ผ่านการฝึกอบรมจากประเทศไทยไปฝึกงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกรมการจัดหางานได้อนุมัติแผนการรับสมัครและสอบคัดเลือกฯ ประจำปี 2566 โดยกำหนดการรับสมัครและสอบคัดเลือก จำนวน 4 ครั้ง ณ ศูนย์สอบจังหวัดอุดรธานี ลำปาง ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร

“การเป็นผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคฯ ผ่านองค์กร IM Japan ถือเป็นทางเลือกและการสร้างโอกาสของคนหางาน โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา ที่กำลังจะเรียนจบม.6 ปวช. หรือปวส. เพราะเป็นโอกาสที่จะเพิ่มพูนประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศและสร้างรายได้ไปพร้อมกัน โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเป็นผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคฯ จะได้รับเบี้ยเลี้ยงเดือนแรก จำนวน 80,000 เยน หรือประมาณ 20,480 บาท ค่าที่พัก ค่าน้ำ-ค่าไฟ ฟรี เดือนที่ 2 ถึงเดือนที่ 36 จะได้ค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายญี่ปุ่นกำหนด และเมื่อสำเร็จการฝึกปฏิบัติงานครบ 3 ปี จะได้รับใบประกาศนียบัตรรับรองการฝึกงาน รวมทั้งเงินสนับสนุนการประกอบอาชีพ จำนวน 600,000 เยน หรือประมาณ 153,596 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565)” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า การสอบคัดเลือกจะมีการสอบข้อเขียน ด้านความรู้ทางคณิตศาสตร์ ด้านช่าง และภาษาญี่ปุ่น การทดสอบสมรรถภาพร่างกายและสอบสัมภาษณ์ เพื่อทดสอบทัศนคติ บุคลิกภาพ การปรับตัว และวุฒิภาวะทางอารมณ์ สำหรับคุณสมบัติผู้สมัครต้องเป็นเพศชายอายุ 18 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 30 ปีบริบูรณ์ จบการศึกษาระดับ มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) หรือเทียบเท่าประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ไม่จำกัดสาขาวิชา พ้นภาระการรับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร ไม่มีรอยสักหรือความผิดปกติทางร่างกาย ไม่มีความประพฤติเสียหาย ไม่เคยเป็นผู้ไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคที่ประเทศญี่ปุ่นโดยใช้วีซ่า “Technical Intern” ไม่เคยทำงานหรือเข้าเมืองหรือพำนักอาศัยโดยผิดกฎหมายทั้งในประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ ไม่เคยเป็นผู้ผ่านการคัดเลือกและถูกตัดสิทธิออกจากการฝึกอบรมก่อนเดินทางไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น มีความสูงไม่ต่ำกว่า 160 เซนติเมตร น้ำหนักได้สัดส่วนกับส่วนสูง สุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ สายตาปกติ ไม่บอดสี ไม่เป็นโรคต้องห้ามเข้าประเทศญี่ปุ่น และสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงระหว่างการฝึกอบรมในประเทศไทยและระหว่างการฝึกงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่นได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top