Monday, 19 May 2025
ECONBIZ NEWS

การบินไทยฟื้นตัว คงสถานะสายการบินแห่งชาติ คาด!! พร้อมกลับเข้าตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาส 4 ปี 67

(16 พ.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยนายกรัฐมนตรีชื่นชมที่ รัฐบาลสามารถแก้ปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้อย่างคืบหน้าในระดับหนึ่ง ซึ่งขอให้เร่งรัดแก้ปัญหาให้เร็วขึ้น เพื่อให้ได้กลับคืนสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด พร้อมทั้งฝากดูแลเจ้าหน้าที่พนักงานของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ ไทยสมายล์แอร์เวย์ฯ ให้ได้รับความเป็นธรรมและสามารถปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมั่นใจ

สำหรับมติที่สำคัญในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการดำเนินการปรับโครงสร้างทุน การแปลงหนี้เป็นทุนและการจัดสรรเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิม ไม่จัดสรรและเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดย การบินไทย จะดำเนินการแปลงหนี้เป็นทุนและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน PPO ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 ซึ่งจะทำให้มีส่วนของผู้ถือหุ้น จำนวน 28,685 ล้านบาท เพื่อให้สามารถกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ภายในไตรมาส 4 ปี 2567

ส่วนการปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ ไทยสมายล์แอร์เวย์ฯ มีอากาศยานที่ใช้ทำการบินรวม 64 ลำ ซึ่งบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการขออนุญาตจัดหาอากาศยานเพิ่มเติมโดยเช่าดำเนินงาน 13 ลำ และมีอากาศยานที่อยู่ระหว่างจัดหาตามแผนการจัดหาอากาศยานปี 2567-2568 อีกจำนวน 9 ลำ 

ทั้งนี้ยังคงสถานะสายการบินแห่งชาติ เนื่องจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย 83.93% ถือเป็นสัดส่วนการถือหุ้นที่มีความเหมาะสมสำหรับการกำหนดให้เป็นสายการบินแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการดำเนินภารกิจสำคัญต่าง ๆ ที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ รวมถึงให้สามารถกลับเข้าร่วมในคณะกรรมการต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการการจัดสรรเวลาเข้า-ออก ของเที่ยวบิน คณะกรรมการของผู้แทนของรัฐบาลเพื่อพิจารณาจัดทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศกับรัฐบาลต่างประเทศเป็นประจำ

นอกจากนี้ในการติดตามหนี้สินที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีสิทธิเรียกร้องและทุนทรัพย์สูง โดยธนาคารเจ้าหนี้ ได้แก่ ธนาคารออมสิน และ ธนาคารกรุงไทย โดยได้นำเงินฝากในบัญชีกองทุนบำเหน็จพนักงานการบินไทยหักกลบหนี้ตามมูลหนี้ ที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีต่อธนาคารต่อไป

'แสนสิริ' ประกาศกำไรไตรมาสแรกปี 66 ฟาดรายได้ทะลุ 1,582 ล้านบาท โต 423%

(16 พ.ค.66) นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2566 แสนสิริมีรายได้รวมในไตรมาสแรกปี 2566 อยู่ที่ 8,505 ล้านบาท โตขึ้น 63% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ผลงานมาจากรายได้จากการขายโครงการที่โดดเด่นในทุกกลุ่มที่อยู่อาศัย นำด้วยรายได้จากการขายคอนโดมิเนียม ที่ในไตรมาสนี้เติบโตสูงสุดถึง 217% หรือโกยรายได้ 2,717 ล้านบาท รายได้หลักมาจากโครงการเอ็กซ์ที พญาไทที่เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มมีการโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงเดือนธันวาคมของปี 2565 ที่ผ่านมา ตามด้วยโครงการเอ็กซ์ที ห้วยขวาง, โอกะ เฮ้าส์ และเอดจ์ เซ็นทรัล พัทยา นอกจากนี้ ยังมีคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จและเริ่มโอนกรรมสิทธิ์ในไตรมาสนี้ คือ เดอะ มูฟ บางนา

ในไตรมาสนี้ แสนสิริยังมีรายได้จากการขายโครงการแนวราบ ประกอบด้วยบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮมและมิกซ์ โปรดักส์ โดยแชมป์รายได้จากโครงการบ้านเดี่ยว ได้แก่ โครงการนาราสิริ กรุงเทพกรีฑา, โครงการบุราสิริ วัชรพล, โครงการเศรษฐสิริ จรัญ-ปิ่นเกล้า2, โครงการเศรษฐสิริ พระราม 5 และโครงการสราญสิริ รังสิต ส่วนรายได้จากการขายโครงการทาวน์โฮม เติบโตขึ้นถึง 104% โดยเฉพาะความสำเร็จในลักซ์ชัวรี่ เรสซิเดนท์แนวคิดใหม่ ‘เดมี สาธุ 49’ พร้อมกันนี้ยังสร้างผลงานในโครงการที่อยู่อาศัยแบบมิกซ์โปรดักส์ ที่รวมบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮม ในโครงการเดียว ตอบรับแนวคิดการอยู่อาศัยแบบ Feel Just Right ความพอดีที่ลงตัวภายใต้แบรนด์ “อณาสิริ” ที่ประสบความสำเร็จและสร้างรายได้ที่โดดเด่นต่อเนื่องในปีนี้เช่นเดียวกัน อาทิ โครงการ อณาสิริ บางใหญ่, โครงการอณาสิริ กรุงเทพ-ปทุมธานี และโครงการอณาสิริ ติวานนท์ - ศรีสมาน เป็นต้น

นอกจากรายได้ที่โดดเด่นในทุกโปรดักส์แล้ว กำไรขั้นต้นจากการขายโครงการที่อยู่อาศัยยังคงสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ประกอบกับในไตรมาสนี้ แสนสิริมีการบันทึกกำไรจากการขายกิจการโรงเรียนสาธิตพัฒนา และการเพิ่มขึ้นของส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมค้าและบริษัทร่วม ทำให้กำไรสุทธิในไตรมาสแรกของปี 2566 เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยแสนสิริมีกำไรสุทธิ 1,582 ล้านบาท เติบโตโดดเด่นขึ้นถึง 423% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตรากำไรสุทธิสูงถึง 18.6% ของรายได้รวม ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากจากอัตรากำไรสุทธิที่ร้อยละ 5.8 ของรายได้รวมในไตรมาสแรกของปี 2565

สำหรับไฮไลท์ของไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เพื่อตอกย้ำผู้นำตลาดลักซ์ชัวรีที่แสนสิริได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้ามาโดยตลอด แสนสิริยังเตรียมเปิดตัวโครงการ “นาราสิริ พหล – วัชรพล” ที่สุดของโครงการบ้านเดี่ยวลักซ์ชัวรี่ในปีนี้ บนที่สุดของทำเลศักยภาพแห่งใหม่ ที่กำลังเป็นที่จับตาของกลุ่มตลาดลักซ์ชัวรี่ เชื่อมต่อขยายจากถนนเลียบทางด่วน-รามอินทรา ในราคา 35-70 ล้านบาท ถ่ายทอดปรัชญาด้าน Brand Taste-Maker ลงรายละเอียดในทุกดีเทลของความเป็นฝรั่งเศส รวมถึงส่วนกลางที่มีพื้นที่มากถึง 6 ไร่ มูลค่าโครงการรวม 5,100 ล้านบาท เตรียมเปิดตัววันที่ 24-25 มิถุนายนนี้

นอกจากนี้ แสนสิริยังคงรุกเดินหน้าต่อเพื่อรองรับแผนการเติบโตในปี 2566 เตรียมเสนอขายหุ้นกู้ชุดใหม่ โดยหุ้นกู้ที่จะเสนอขายครั้งนี้เป็นหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป สำหรับหุ้นกู้ชุดที่ 1 อายุ 2 ปี 6 เดือน อัตราดอกเบี้ยระหว่าง [4.00-4.10]% ต่อปี และหุ้นกู้ชุดที่ 2 อายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ยระหว่าง [4.45-4.55]% ต่อปี ผ่าน 10 สถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารทหารไทยธนชาต บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง และบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) หุ้นกู้ทั้ง 2 ชุดจ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือนตลอดอายุหุ้นกู้ สำหรับอัตราดอกเบี้ยที่แน่นอนจะประกาศให้ทราบอีกครั้ง โดยหุ้นกู้และบริษัทได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ ‘BBB+’ แนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่ (Stable)” จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 และคาดว่าจะเสนอขายระหว่างวันที่ 1-2 และ 6 มิถุนายน 2566 นี้ ด้วยเงินจองซื้อขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท และทวีคูณครั้งละ 1,000 บาท เพื่อเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ของแสนสิริ ที่เป็นแบรนด์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ซึ่งไม่ใช่เพียงเฉพาะการพัฒนาที่อยู่อาศัยเท่านั้น แสนสิริยังมองถึงความสำคัญในด้านการลงทุนที่ต้องทั่วถึงและเท่าเทียมกัน โดยการระดมทุนเพื่อรุกเดินหน้าธุรกิจในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในแผนธุรกิจที่คาดว่าจะทำให้แสนสิริสร้างผลประกอบการเป็น New High ได้ต่อเนื่องจากปีก่อน” นายอุทัย กล่าวปิดท้าย

'ศูนย์ฯ กสิกร' หวั่น!! ความไม่แน่นอนการจัดตั้งรัฐบาล อาจกระทบการเบิกจ่ายภาครัฐในไตรมาส 4/2566

(16 พ.ค.66) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2566 ขยายตัวที่ 2.7% (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน YoY ) ขณะที่เมื่อปรับฤดูกาลแล้วเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2566 ขยายตัวได้ 1.9% เมื่อเทียบ จากไตรมาสที่ผ่านมา ใกล้เคียงกับที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 1/2566 มีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลให้การส่งออกภาคบริการขยายตัวได้ถึง 87.8% YoY

นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ 5.4% YoY ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ชะลอลง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2566 มีปัจจัยกดดันจากการส่งออกที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและฐานที่สูงในปีก่อนหน้า ประกอบกับการอุปโภคของรัฐบาลที่หดตัว 6.2% YoY โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้จ่ายเกี่ยวกับโควิดที่ลดลงอย่างมาก

เมื่อมองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยที่ 3.7%

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ ปัจจัยภายในประเทศยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายภาครัฐในไตรมาส 4/2566 ได้

ทั้งนี้ ทิศทางเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่ ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทิศทางนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางหลัก ประกอบกับปัญหาในภาคธนาคารของประเทศตะวันตก ซึ่งส่งผลให้ภาพการค้าโลกในระยะข้างหน้ายังคงเผชิญแรงกดดันอยู่ แม้จะมีแรงขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจจีนที่มีโมเมนตัมขยายตัวได้ดีหลังยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด

ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกไทยในภาพรวมในปีนี้มีแนวโน้มที่จะติดลบจากปีก่อนหน้า ในขณะที่ ในด้านปัจจัยในประเทศ ยังมีความเสี่ยงจากประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้การอนุมัติร่าง พรบ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 นั้นล่าช้าออกไป และกระทบการเบิกจ่ายของรัฐบาลในช่วงไตรมาส 4/2566 เป็นต้นไป รวมถึงยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการออกนโยบายต่างๆ ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าได้

'นายกฯ' ปลื้ม!! มาตรฐาน 'ฮาลาลไทย' นานาชาติไว้ใจ พร้อมหนุน บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ

(16 พ.ค.66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาล และเป็นผู้ผลิตอาหารฮาลาลรายใหญ่ของโลก อุตสาหกรรมฮาลาลไทยเป็นที่ยอมรับในหลายประเทศ 

โดยอาหารฮาลาลคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของการส่งออกอาหารทั้งหมดของประเทศไทย และร้อยละ 60 ของการส่งออกอาหารฮาลาลไปยังประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และบรูไน คิดเป็นมูลค่าเกือบ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564/2565 ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าขึ้นร้อยละ 3 ภายในปี 2566 โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เชื่อมั่นในศักยภาพ การผลิต และส่งออกสินค้าฮาลาลมาโดยตลอด พร้อมสนับสนุน และยกระดับธุรกิจฮาลาลของไทยให้เป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เข้าถึงตลาดประชากรมุสลิมจำนวนหลายพันล้านคน 

นายอนุชา กล่าวว่า อุตสาหกรรมฮาลาลของไทยยังครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์และบริการอื่นๆที่หลากหลาย เช่น เครื่องสำอาง แฟชั่น เวชภัณฑ์ และการท่องเที่ยว ซึ่งกิจกรรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวฮาลาล (Halal tourism) ถือเป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันกระแสความต้องการท่องเที่ยวทางศาสนาและวัฒนธรรมเป็นที่นิยมสำหรับผู้บริโภคชาวมุสลิม และประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 5 จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูงสุดสำหรับประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมใน Global Muslim Travel Index ปี 2565 โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมงาน Arabian Travel Market (ATM) 2023 งานส่งเสริมการขายด้านการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นำเอกลักษณ์และความหลากหลายทั้งด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต และ Soft Power ของไทย โดยเฉพาะอาหารฮาลาล เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคจากตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่สุดตลาดหนี่งของประเทศไทย ทั้งทางรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งในปี 2565 มีนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางมาไทยกว่า 3 แสนคน และมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อวันมากกว่า 220 ดอลลาร์สหรัฐ และมีวันพักค้างเฉลี่ย 11.14 วันในปี 2562

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในศักยภาพ ชื่อเสียงของไทย และการทำงานสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่เดินหน้าขับเคลื่อนความร่วมมือเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจฮาลาลอย่างต่อเนื่อง ทั้งการค้าและการลงทุน ผลิตภัณฑ์และอาหารฮาลาล รวมถึงการท่องเที่ยว ซึ่งมั่นใจว่าด้วยระบบสนับสนุนที่แข็งแกร่ง และชื่อเสียง คุณภาพที่เป็นที่ยอมรับมายาวนานของผลิตภัณฑ์ไทยที่ผ่านการรับรองฮาลาล ส่งผลให้อุตสาหกรรมฮาลาลของไทยมีความพร้อม และมีศักยภาพที่จะเติบโตในระดับสากลได้อีกมาก” นายอนุชากล่าว

เงินสำรองไทยแกร่งต่อเนื่อง แตะ 8.6 ล้านล้านบาท สะท้อนสถานะทางการเงินของประเทศสุดแข็งแกร่ง

ในช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 นับเป็นช่วงเวลาที่ฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยอ่อนแอลงอย่างมาก เนื่องจากต้องรับมือกระแสเก็งกำไรค่าเงินบาท ในช่วงก่อนเกิดวิกฤต จนทำให้เหลือเงินสำรองฯ เพียง 2 หมื่นกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น

อย่างไรก็ดี หลังจากได้รับบทเรียนจากวิกฤตในครั้งนั้น ฐานะเงินสำรองฯ ของประเทศไทยก็เริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาถึง 10 เท่า จากปี 2540

และเมื่อมองย้อนกลับไป 5 ปี หลังสุด พบว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ปี 2559 อยู่ที่ 6,155,783 ล้านบาท, ปี 2560 อยู่ที่ 6,615,482 ล้านบาท, ปี 2561 อยู่ที่ 6,666,266 ล้านบาท, ปี 2562 อยู่ที่ 6,756,943 ล้านบาท, ปี 2563 อยู่ที่ 7,747,644 ล้านบาท และ ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 8,212,110 ล้านบาท

ทว่าในปี 2565 ช่วงเดือนธันวาคม ไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ อยู่ที่ 8,491,594.33 ล้านบาท ขณะที่ปี 2566 ในเดือนเมษายน มีทุนสำรองอยู่ 8,604,607.56 ล้านบาท มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ใกล้เคียงกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและเป็นรองเพียงสิงคโปร์ในกลุ่มประเทศอาเซียนเท่านั้น 

ในส่วนของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย มีทองคำด้วยมูลค่า 495,966.88 ล้านบาท รวมอยู่ด้วย ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีจำนวนทองคำมากที่สุดในกลุ่มอาเซียน (244 ตัน)

นอกจากนี้ ไทย ยังถือเป็นหนึ่งใน ‘เจ้าหนี้’ ของ IMF หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยได้เงินสบทบหรือให้กู้แก่ IMF เป็นจำนวน 41,508.51 ล้านบาทอีกด้วย

ทั้งนี้ เงินสำรองทางการ คือ เงินตรา/สินทรัพย์ต่างประเทศของเศรษฐกิจไทยที่อยู่บนงบดุลของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อรองรับความเสี่ยงในการทำธุรกรรมของเศรษฐกิจไทย และรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ ให้ค่าเงินบาทยังสามารถรักษาอำนาจในการซื้อของเศรษฐกิจไทย (Global Purchasing Power) ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนทั้งในไทยและต่างชาติ

ดังนั้น เงินสำรองทางการจึงทำหน้าที่เป็น ‘กันชน’ ให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อไม่ให้ความผันผวนจากภายนอกเข้ามาสร้างผลกระทบต่อธุรกิจไทย ซึ่งอาจจะกระทบกับอำนาจการซื้อของเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้  

เงินสำรองทางการ จึงเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่ต่างชาติใช้ประเมินความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

เมื่อธุรกิจไทยส่งออกสินค้า คนต่างชาติมาท่องเที่ยวมากขึ้น หรือมีการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ความต้องการที่จะแลกเงินบาทก็จะมีมากขึ้น เงินบาทก็จะแข็งค่าขึ้น

ฉะนั้น เงินสำรองฯ จึงเป็นเครื่องชี้สำคัญที่ต่างชาติใช้ประเมินความมั่นคง และเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศ หากเงินสำรองฯ มีน้อยไปก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตค่าเงินเช่นที่เคยเกิดขึ้น แต่ถ้ามีมากไปก็อาจต้องคำนึงถึงภาระจากขนาดงบดุลธนาคารกลางที่ใหญ่ขึ้นทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สินด้วยเช่นกัน

และแน่นอนว่า จากระดับของทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นอีกหนึ่งดัชนีชี้วัด ที่สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจของโลก ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา

‘พงษ์ภาณุ’ ชี้!! รายได้ท่องเที่ยวไทยยังกระจุกตัว แนะใช้แพลตฟอร์มระดับโลก หนุนเที่ยว ‘เมืองรอง’

(14 พ.ค. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจของไทย ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 66 โดยระบุว่า...

แม้ประเทศไทยจะเผชิญกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในระดับสูง แต่การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยว ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวนับเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ซึ่งในอดีตช่วงที่การท่องเที่ยวประเทศไทยเติบโตสุดขีด เคยสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 2 ล้านล้านบาท และจากคนไทยเที่ยวไทยอีกราว 1 ล้านล้านบาท รวมเป็น 3 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็น 20% ของจีดีพี ขณะเดียวกัน ก็มีการจ้างงานถึง 10 ล้านคน แต่หลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ในส่วนนี้หายไปเกือบหมด ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก

นายพงษ์ภาณุ ระบุว่า ภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย เชื่อว่า การท่องเที่ยวไทยจะกลับมาคึกคัก และสร้างรายได้เข้าประเทศได้เช่นในอดีต พร้อมทั้งเป็นปัจจัยหนุนหลักให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศ และ ส่งผลดีต่อไปยังตลาดแรงงาน รวมถึงเศรษฐกิจระดับรากหญ้า ที่จะได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยว เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่เงินไหลตรงไปยังกลุ่มรากหญ้าจริงๆ ซึ่งจะแตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ

แต่ทว่า ในปัจจุบัน การท่องเที่ยวไทยกระจุกตัวอยู่เพียง 7 จังหวัดเท่านั้น ประกอบด้วย กรุงเทพฯ, ภูเก็ต, ชลบุรี, เชียงใหม่, ประจวบคีรีขันธ์, สุราษฎร์ธานี และกระบี่ โดยจังหวัดเหล่านี้มีครองสัดส่วนรายได้ถึง 80% ส่วนอีก 20% กระจายไปยังอีก 70 จังหวัดที่เหลือ

อย่างไรก็ตาม จากการท่องเที่ยวที่กระจุกตัวอยู่เพียงในเมืองหลัก แม้ว่าจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของจังหวัดนั้นๆ แต่ก็มีผลเสียและปัญหามากมายเช่นกัน ทั้งด้านความแออัด ด้านการกระจายรายได้ที่ไม่สมดุล ด้านการจราจรที่ติดขัด และด้านความปลอดภัย

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลพยายามกระจายการท่องเที่ยว ผ่านนโยบายที่เรียกว่า ‘การท่องเที่ยวเมืองรอง’ ทั้งการไปสร้างแหล่งท่องเที่ยว การมอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยว แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร 

“จากการที่ได้คุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวของจีน พบว่า นักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเที่ยวประเทศไทยนั้น เขากังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะฉะนั้น หากรัฐบาลต้องการกระจายการท่องเที่ยวไปยังเมืองรอง สิ่งที่ต้องเข้ามาดูแลข้อแรก คือ เรื่องความปลอดภัย ข้อสอง ความสะดวกในการเดินทาง และข้อสาม เรื่องการตลาดที่ต้องโปรโมตสถานที่ท่องเที่ยว อาหารและกิจกรรมที่รองรับนักท่องเที่ยว ผ่านระบบดิจิทัลที่เข้าถึงได้ง่าย เป็นต้นว่า การนำข้อมูลบ้านพักในภาคอีสานของไทย เข้าไปอยู่ใน Air BNB แพลตฟอร์มท่องเที่ยวระดับโลก พร้อมกับการรับรองความปลอดภัย ความสะอาด และการต้อนรับที่อบอุ่นจากเจ้าของบ้าน หากข้อมูลข่าวสารพวกนี้เข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มระดับโลกได้ เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้การท่องเที่ยวเมืองรองเกิดได้” นายพงษ์ภาณุ กล่าว

‘การบินไทย’ รุกเพิ่มความถี่เส้นทางบิน ‘จีน-ญี่ปุ่น’ เล็งเพิ่มไฟลต์ 1 ก.ค.นี้ คาดรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.3 แสนล้าน

‘การบินไทย’ เผยไตรมาส 1/66 กำไร 1.2 หมื่นล้าน โตต่อเนื่อง 3 ไตรมาส ดีกว่าแผนที่กำหนดไว้ เผย 1 ก.ค.นี้ รุกเพิ่มความถี่เส้นทางบินสู่จีน-ญี่ปุ่น อีกระลอกใหญ่ พร้อมเตรียมรองรับไฮซีซั่นไตรมาส 4 เต็มที่ หลังรับมอบเครื่องบินใหม่ปีนี้ครบ 4 ลำ คาดรายได้รวมปี’ 66 ไม่ต่ำกว่า 1.3 แสนล้าน ขนส่งผู้โดยสารกว่า 9 ล้านคน

(13 พ.ค. 66) นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ไตรมาส 1/2566 ที่ผ่านมา บริษัทมีผลประกอบการดีกว่าแผนที่กำหนดไว้ค่อนข้างมาก โดยบริษัทการบินไทยและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 41,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งมีรายได้รวม 11,181 ล้านบาท (271.2%) หรือประมาณ 3 เท่าตัว และมีกำไรสุทธิ 12,523 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่อง 3 ไตรมาส ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าขาดทุน 3,243 ล้านบา

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นถึง 30,502 ล้านบาท หรือ 681.5% เนื่องจากให้บริการเส้นทางบินสู่ 34 เส้นทางทั่วโลก ทั้งยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชีย และเพิ่มความถี่ในเส้นทางที่ได้รับความนิยม อาทิ ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ เป็นต้น รวมถึงการกลับมาให้บริการเส้นทางบินสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนอีกครั้งตั้งแต่ 1 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ประกอบกับมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (cabin factor) โดยรวมเฉลี่ยสูงถึง 83.5%

“ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา การบินไทยและไทยสมายล์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือมีเครื่องที่ใช้ทำการบินรวม 65 ลำ มีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน 12.3 ชั่วโมง มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 121.4% มีจำนวนผู้โดยสารรวม 3.52 ล้านคน เพิ่มขึ้น 245.1%” นายชาย กล่าว

นายชายกล่าวด้วยว่า ตามแผนการขยายฝูงบินและเพิ่มปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) บริษัทจะดำเนินการเช่าเครื่องบินใหม่ (แอร์บัส A350) เข้ามาเสริมฝูงบินอีกรวม 11 ลำ ภายในปี 2567 โดยปีนี้จะรับมอบจำนวน 4 ลำ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา บริษัทได้รับมอบเครื่องบินลำแรกเข้ามาประจำฝูงบินแล้ว ส่วนลำที่ 2 จะรับมอบประมาณเดือนมิถุนายน ที่เหลืออีก 2 ลำจะทยอยเข้ามาประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน 2566 เพื่อรองรับไฮซีซั่นในช่วงไตรมาส 4/2566

ด้านนายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า บริษัทมีแผนนำเครื่องบินที่รับมอบใหม่มาทำการบินเส้นทางสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องจากเป็นตลาดที่เพิ่งเปิดและการบินไทยยังทำการบินได้ไม่มากนัก รวมถึงเส้นทางสู่ญี่ปุ่นที่ได้รับการตอบรับดีอย่างต่อเนื่อง

โดยตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2566 นี้เป็นต้นไป บริษัทมีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินสู่จีนให้เป็นวันละ 1 เที่ยวบิน (daily fight) ทุกเส้นทาง จากปัจจุบันเส้นทางสู่เซี่ยงไฮ้ทำการบินอยู่จำนวน 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, กวางเจาให้บริการอยู่จำนวน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และปักกิ่ง 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

ส่วนเส้นทางสู่ญี่ปุ่นก็มีแผนจะเพิ่มความถี่ต่อเนื่องเช่นกัน กล่าวคือ เพิ่มเส้นทางบินกรุงเทพฯ-โตเกียวจากปัจจุบัน 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 21 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เส้นทางกรุงเทพฯ-โอซากา ปัจจุบันให้บริการอยู่ 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เส้นทางกรุงเทพฯ-นาโกยา ปัจจุบันให้บริการอยู่ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็นต้น

และฮ่องกง ซึ่งมีแนวโน้มคลี่คลายมากขึ้นก็เตรียมแผนเพิ่มเที่ยวบินจากปัจจุบัน 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 21 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เช่นกัน ขณะที่เส้นทางยุโรปที่มีแผนให้บริการสัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน หรือ daily fight ในเมืองสำคัญๆ และ 2 เที่ยวบินต่อวันสำหรับเส้นทางสู่ลอนดอน, แฟรงก์เฟิร์ต

“ในช่วงไตรมาส 2 ปกติจะเป็นโลว์ซีซั่น เราจึงไม่ได้คาดหวังมากนักในแง่การเติบโตของรายได้ แต่ตลาดยุโรปสู่ไฮซีซั่นอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม ตอนนี้ก็เริ่มมีบุ๊กกิ้งเข้ามาแล้ว เราจึงต้องเตรียมแผนรองรับเช่นกัน เพราะยุโรปยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญถึงประมาณ 40% ของเรา” นายกรกฎ กล่าว

นายชายกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า สำหรับภาพรวมทั้งปี 2566 นี้ บริษัทคาดว่าจะมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 1.3 แสนล้านบาท และขนส่งผู้โดยสารรวมกว่า 9 ล้านคน

ปตท. เผยผลประกอบการไตรมาส 1/2566 เป็นไปตามแผนธุรกิจ ใช้งบกว่า 20,000 ล้านบาท ฟื้นฟูประเทศหลังโควิด-19

เมื่อวานนี้ (11 พ.ค. 66) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากปัญหาความขัดแย้งและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศ การปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มประเทศ OPEC และชาติพันธมิตร จนถึงสิ้นปี 2566 และเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ส่งผลให้ไตรมาส 1 ปี 2566 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) ที่ 104,008 ล้านบาท ลดลง 36,904 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.2 จากไตรมาส 1 ปี 2565 ที่จำนวน 140,912 ล้านบาท โดยหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ซึ่งมีผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานของธุรกิจที่ ปตท. ดำเนินการเอง เช่น กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลงจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ที่มีราคาขายเฉลี่ยที่ลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ตามราคาปิโตรเคมีในตลาดที่ใช้อ้างอิง ประกอบกับปริมาณการขายลดลงและต้นทุนค่าเนื้อก๊าซสูงขึ้น สำหรับกลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นตามปริมาณการขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้ มีผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ที่ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 ส่งผลให้ ปตท. และบริษัทย่อยในไตรมาส 1 ปี 2566 มีกำไรสุทธิจำนวน 27,855 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,063 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.4 จากไตรมาส 1 ปี 2565 ที่จำนวน 24,792 ล้านบาท 

ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ ยึดมั่นพันธกิจสร้างความมั่นคงทางพลังงาน พร้อมเป็นแรงสำคัญขับเคลื่อนอุตสาหกรรม และประเทศให้เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 - 2565 ได้ใช้งบประมาณกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบของภาคประชาชนจากวิกฤตโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน อาทิ การสำรองน้ำมัน 4 ล้านบาร์เรล การตรึงราคา NGV การช่วยเหลือราคา LPG แก่หาบเร่แผงลอยผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การสนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมัน และการขยายเทอมการชำระเงินแก่ กฟผ. เพื่อลดภาระค่า FT เป็นต้น 

ทั้งนี้ ปตท. เร่งเดินหน้ากลยุทธ์ ‘ปรับ เปลี่ยน ปลูก’ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2583 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายใน ปี 2593 ด้วยการทำงานเชิงรุก ปรับกระบวนการผลิต พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ พร้อมเปลี่ยน สู่ธุรกิจพลังงานสะอาด ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งขยายสู่ธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน เพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการ ปลูกป่าเพิ่ม 1 ล้านไร่ ภายในปี 2573 ในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน เพื่อการมีส่วนร่วมดูแลรักษาป่า ส่งเสริมอาชีพ และรายได้ของชุมชนในพื้นที่ ในอนาคตพื้นที่ป่าเหล่านี้จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 4.15 ล้านตัน/ปี 

“ปตท. มุ่งมั่นดำเนินงานในทุกมิติ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย สนับสนุนการใช้พลังงานแห่งอนาคต สร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าสมบูรณ์แบบ พร้อมศึกษาพลังงานไฮโดรเจน และพลังงานหมุนเวียน เพื่อเป็นแรงสำคัญขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพลิกฟื้นผืนป่าให้อุดมสมบูรณ์ นำพาประเทศบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นายอรรถพล กล่าวเสริม

'บิ๊กตู่' ปลื้ม!! กล้วยหอมทองหนองบัวแดง ขึ้นทะเบียน GI  ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนปีละไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท

(11 พ.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยินดีที่ได้รับทราบว่า 'กล้วยหอมทองหนองบัวแดง' ของจังหวัดชัยภูมิ ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) สะท้อนคุณภาพของผลไม้ไทยที่มีศักยภาพและมีอัตลักษณ์จากแหล่งผลิตท้องถิ่น ปัจจุบันมีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศที่สำคัญ คือ ประเทศญี่ปุ่น สามารถสร้างรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท ขณะที่ ทุเรียนไทย มีแพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน KASETTRACK ช่วยควบคุมมาตรฐานการผลิต พร้อมส่งออกผลไม้ไทยในตลาดต่างประเทศควบคู่การใช้นวัตกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า สร้างรายได้ให้ชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DEPA) บริษัท วีเดฟซอฟท์ จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน KASETTRACK และกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียน อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี ยังได้มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการใช้แพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน KASETTRACK เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการบันทึกข้อมูลการผลิตให้แก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียน สร้างมาตรฐานการผลิตทุเรียนคุณภาพ 

โดยระบบจะสร้างขั้นตอนการผลิตทุเรียนที่เป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐาน GAP ให้เกษตรกรสามารถบันทึกและวิเคราะห์ความก้าวหน้ากิจกรรมการผลิต และการดูแลรักษาในทุกระยะการเติบโต สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าทุเรียนอันดับหนึ่งของไทย โดยปัจจุบันเกษตรกรใช้งานแอปพลิเคชัน KASETTRACK แล้วกว่า 1,000 รายใน 8 จังหวัด ได้แก่ ตราด จันทบุรี ระยอง ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ยะลา และสุโขทัย พร้อมตั้งเป้าหมายว่า KASETTRACK จะดูแลการผลิตทุเรียนไทยคุณภาพได้กว่า 1 แสนตัน สร้างเกษตรกรคุณภาพที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ไม่น้อยกว่า 10,000 รายในปี 2569

“นายกรัฐมนตรีสนับสนุนความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่ผลักดันและพัฒนาศักยภาพภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลไม้ไทยซึ่งเป็นผลผลิตจากชุมชนท้องถิ่น ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาทั้งการส่งเสริมสินค้า GI และการผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อควบคุมการผลิต เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างมูลค่าทางการค้า คงมาตรฐานคุณภาพสินค้าไทยในตลาดโลก ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการท้องถิ่น สร้างความมั่นคงให้เศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืน” นายอนุชา กล่าว

ปตท. ผนึก JERA นำร่องพัฒนาธุรกิจไฮโดรเจนและแอมโมเนียในไทย มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Emissions 2050

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือโครงการริเริ่มการขยายห่วงโซ่อุปทานและการใช้ประโยชน์จากไฮโดรเจนและแอมโมเนีย เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย โดยมี ดร.ยุทธนา สุวรรณโชติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ Mr. Toshiro Kudama (โทชิโระ คุดามะ) Senior Managing Executive Officer และ CEO JERA Asia บริษัท JERA Co., Inc. (JERA) (ที่ 2 จากขวา) ร่วมลงนาม พร้อมทั้งผู้บริหารของทั้งสององค์กรร่วมเป็นสักขีพยาน ณ อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ความร่วมมือในครั้งนี้ มุ่งศึกษาแนวทางการพัฒนาธุรกิจ และการใช้ไฮโดรเจนและแอมโมเนียในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อแสวงหาโอกาสการลงทุนในอนาคต ตอกย้ำว่า ปตท. พร้อมเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมพลังงานที่ยั่งยืน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top