Monday, 19 May 2025
ECONBIZ NEWS

‘วรวุฒิ อุ่นใจ’ ชี้ ทางออกผู้ประกอบการไทย ในวันที่ Crisis ทั้งใน-ต่างประเทศล้อมชิด 

เศรษฐกิจจะไปอย่างไรต่อ? ผู้ประกอบการไทยควรต้องระวังอะไรในช่วงที่สถานการณ์โลกและในเมืองไทยยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ? อะไรคือความเสี่ยง? อะไรคือทางรอดที่จะทำให้ไปต่อได้?

หลากคำถามที่กล่าวมาข้างต้น คุณวรวุฒิ อุ่นใจ อดีตผู้ก่อตั้งบริษัทออฟฟิศเมท และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) หรือ COL ได้ให้มุมมองแนะนำต่อผู้ประกอบการไทยถึงการปรับตัวในยุคที่วิกฤติต่างๆ เริ่มถาโถมก่อนที่ธุรกิจนั้นๆ จะปิดตัวไปอย่างน่าเสียดายผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 และ THE STATES TIMES ไว้ว่า...

“ตอนนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงเปราะบาง เหมือนกับคนเพิ่งฟื้นไข้ เราป่วยเป็นโควิด ปิดบ้าน-ปิดเมือง ค้าขายไม่ได้ ค้าขายฝืดเคืองมา 3 ปี นักท่องเที่ยวไม่เข้าประเทศ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของไทยตอนนี้ เหมือนคนที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นไข้ เพราะฉะนั้นการผ่าตัดระบบเศรษฐกิจไทยด้วยเรื่องใหญ่ๆ อันตรายอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบโครงสร้างการขึ้นค่าแรงต้องระวังให้มาก เพราะมันเหมือนกับร่างกายยังไม่แข็งแรง ดังนั้นหากให้ผมมองแล้ว การเลือกอัดฉีดเงินเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วน จึงน่าจะเป็นเรื่องแรกๆ ที่ต้องทำก่อน”

คุณวรวุฒิ กล่าวต่อว่า “ไม่ว่าจะต้องผ่านเข้าสู่ยุครัฐบาลใด ผู้ประกอบการ ก็ต้องอยู่ให้ได้ทุกสภาวะ ฉะนั้นการปรับปรุงตัวเอง ปรับธุรกิจตัวเอง จึงเป็นทางเลือกและทางรอดที่หนีไม่พ้น พูดง่ายๆ ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะมา รัฐบาลไหนจะไปเราก็ต้องดูแลตัวเอง”

ทั้งนี้ คุณวรวุฒิ ได้เปิดเผยถึงความเสี่ยงในโลกที่จะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของเหล่าผู้ประกอบการไทยในยุคที่ต้องเท่าทันต่อสถานการณ์โลก ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้...

1.) การถดถอยทางเศรษฐกิจโลก วันนี้เราก็ทราบกันดีว่าโลกกำลังเผชิญผลกระทบจากสภาวะของสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงเรื่องของแทรกแซงตลาดจีนโดยสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดการแบ่งขั้วอำนาจ และก่อเป็นสงครามการรบในโลกยุคใหม่ ที่มีทั้งสงครามทางเศรษฐกิจ ผสมผสานกับสงครามจริง ต่างจากสงครามยุคก่อนที่มุ่งรบกันด้วยอาวุธและไทยซึ่งเป็นประชาคมโลกก็ยากที่จะหลีกหนีจากภัยสงครามรูปแบบนี้ (สงครามเศรษฐกิจ)

2.) ภัยจากโรคระบาด วันนี้โควิด-19 ยังไม่หายไป และเราก็ไม่แน่ใจจะมีโควิดภาค2 กลายพันธุ์ไปอีกหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นความเสี่ยงที่ประเทศเราต้องจับตาดู
.
3.) ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ จะเห็นว่าวันนี้โลกกำลังประสบกับสภาวะ Global Warming หรือโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบให้เกิดสารพัดภัยธรรมชาติที่รุนแรงและถี่ยิบกว่าในอดีตเมื่อเทียบกับ30-40 ปีก่อน สังเกตได้ว่าตอนนี้ภัยธรรมชาติหนักหนามากและเกิดถี่มากและเกิดขึ้นทุกภูมิภาคทั่วโลก ไม่ว่าเรื่องของน้ำแข็งขั้วโลกละลาย เรื่องของไฟป่า เรื่องของฝุ่นควัน หมอกควัน ฝุ่นพิษ PM 2.5” 

4.) ความเสี่ยงที่กล่าวมา คุณวรวุฒิ มองว่า เป็นตัวกดดันให้การทำธุรกิจในยุคปัจจุบันต้องเผชิญความเสี่ยงที่มากกว่าในอดีต เพราะทุกความเสี่ยงโยงใยต่อการกำหนดทิศทางธุรกิจ การบริหารจัดการต้นทุน รายได้ และกำลังซื้อเป็นอย่างมาก ดังนั้นหากผู้ประกอบการจะอยู่ให้รอดภายใต้ความเสี่ยงเหล่านี้ จะเป็นต้อง 1.ปรับตัว 2.ใช้นวัตกรรมต่างๆ มาประยุกต์กับธุรกิจ 

“ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุด คือ ในยุคนี้ถ้าใครไม่ใช้ออนไลน์ บอกเลยว่าธุรกิจของคุณจะเดินต่อได้ยาก เช่น ในเรื่องของยอดขาย จากสถิติล่าสุดออนไลน์มีสัดส่วนเท่ากับ 16% ของระบบการค้าไปแล้ว นี่ยังน้อยนะ อนาคตอันใกล้น่าจะเห็น 30-40% และมันจะยังเติบโตไปได้อีกเรื่อยๆ ฉะนั้นธุรกิจในภาคค้าปลีก ก็ต้องสวิตช์ตัวเองไปเป็นออนไลน์มากขึ้น แต่ถ้าผู้ประกอบการยังหวังพึ่งการขายแบบเดิมๆ โดยที่ยังไม่มีส่วนผสมของออนไลน์มาช่วย การแข่งขันในระยะยาวลำบากแน่นอน นี่คือตัวอย่างแรก

“ต่อมา คือ Innovation หรือ ‘นวัตกรรม’ เป็นสิ่งที่ขาดจากชีวิตไม่ได้อีกต่อไป เพราะผมเชื่อว่าวันนี้ทุกคนคงยอมรับถึงตัวแปรที่ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไวในรอบ 20 ปี จากอินเตอร์เน็ต ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ตามมา (Smart Device) จนเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค เปลี่ยนการกินอยู่ เปลี่ยนการบันเทิง เมื่อก่อนใครจะไปคิดว่าทีวีจะถูกทิ้งร้างแล้วหันมานั่งดูหนังผ่าน Steaming แทน เมื่อก่อนใครจะคิดว่าแผ่นซีดีหนัง เพลง จะสูญพันธุ์ 

“ใครจะคิดว่าโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Facebook / YouTube / Twitter / TikTok และในอนาคตอีกมากมาย จะเข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิต ทั้งการเสพข่าวสาร เปิดโลกไลฟ์สไตล์ รสนิยมใหม่ๆ รวมถึงซื้อขายสินค้าในแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้แค่นิ้วคลิก นี่คือ สิ่งที่ผมอยากจะฝากผู้ประกอบการวันนี้ให้ตระหนัก” 

“ถ้าเราไม่เปลี่ยนหรือไม่ปรับตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เดินตามนวัตกรรมที่มาช่วยขับเคลื่อนชีวิตพวกเขา ธุรกิจของเราก็จะตายไปโดยปริยาย” คุณวรวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

‘วิชัย ทองแตง’ เผยแผนดำเนินชีวิตในวัย 76 ปี ทิ้งฉายา ‘พ่อมดตลาดหุ้น’ สู่นักปั้นธุรกิจสตาร์ตอัป

ในวัย 76 ปี ชื่อของ ‘วิชัย ทองแตง’ กำลังจะกลับมาโลดแล่นอีกครั้ง หลังจากหลายปีที่ผ่านมา ค่อนข้างเงียบหายไป จากอดีตที่เคยโด่งดังในยุคของการเป็นทนายมือทอง และเข้าสู่แวดวงตลาดหุ้น มีการ ‘เทกโอเวอร์กิจการ’ จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นเจ้าของธุรกิจหลายอย่าง

มาถึงวันนี้ ในวันที่หันหลังให้กับฉายา ‘เจ้าพ่อตลาดหุ้น’ แล้ว ฉากและชีวิตจะก้าวไปอย่างไร มาลองฟังมุมมองและแพชชันใหม่ ๆ ที่ ‘วิชัย ทองแตง’ ตั้งใจผลักดันกัน

>> ลุยปั้นคน-ไม่เน้นสร้างเวลท์
“new chapter ของผมต่อจากนี้ คือ สร้างคนเป็นหลัก ไม่เน้นสร้างเวลท์ (ความมั่งคั่ง) เหมือนก่อนแล้ว” อดีตเจ้าพ่อตลาดหุ้น ประกาศจุดยืนใหม่ของตัวเอง

วิชัยบอกว่าปัจจุบันตนไม่ใช่เซียนหุ้นแล้ว และไม่อยากจะให้ภาพตัวเองเป็นพ่อมดตลาดหุ้น หรือเป็นนักลงทุนขาใหญ่เหมือนในอดีต เพราะตนคิดว่าก้าวข้ามจากส่วนนั้นมาแล้ว โดยปัจจุบันได้โอนทรัพย์สินแบ่งให้ลูก ๆ ไปเกือบหมดแล้ว และวางมือจากธุรกิจเดิม ลาออกจากประธานกรรมการโรงพยาบาลพญาไท เพื่อขอออกมาทำตาม ‘passion’ ของตัวเอง นับตั้งแต่ตอนอายุ 70 ปี หรือตั้งแต่ราว 6 ปีก่อน ปัจจุบันรับบทเป็นเพียงที่ปรึกษาในแต่ละธุรกิจเท่านั้น

>>ดันสตาร์ตอัปเข้าตลาดหุ้น
“ตอนนี้ new chapter ของผมเป็นคนเก่าในชีวิตใหม่ ที่เริ่มต้นเมื่อตอนอายุ 70 ปี คือ ผมอยากมีภาพเป็น ‘นักปั้นหุ้น’ มากกว่า” วิชัยบอก พร้อมอธิบายว่า การปั้นหุ้น ก็คือ การปลุกปั้นบริษัทที่จะเข้าตลาดหุ้น โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ตอัปของเด็กรุ่นใหม่ ที่เดินทางมาถึงจุดหนึ่งแล้วไปต่อไม่ได้ โดยตนจะเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้เข้ามาคุยและวางแผนอนาคตร่วมกัน ซึ่งความตั้งใจของตนเองในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ จะต้องสร้างยูนิคอร์นตัวใหม่ให้ได้

“ตอนนี้เด็ก ๆ ให้ฉายาผมว่า ‘godfather of startup’ หรือแปลเล่น ๆ ว่า ‘พ่อทูนหัว’ ฉะนั้น new chapter ของผมต่อจากนี้ คือสร้างคนเป็นหลัก ไม่เน้นสร้างเวลท์เหมือนก่อนแล้ว” วิชัยกล่าว

โดยที่ผ่านมา ได้เฟ้นหาเด็กรุ่นใหม่ที่มีความกระหายอยากทำธุรกิจ แต่ที่สำคัญต้องมีคุณธรรมด้วย ซึ่งตรงนี้นับเป็นข้อกำหนดที่ร่วมธุรกิจกับทาง ‘บิทคับ’ ด้วย ว่าตนขอทำแค่ส่วนที่เกี่ยวกับบล็อกเชน และดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเท่านั้น ส่วนที่เป็นคริปโตเคอร์เรนซี พวกการเทรดต่าง ๆ จะไม่ยุ่ง

>>โฟกัสธุรกิจ ‘เมกะเทรนด์’
สำหรับประเภทธุรกิจที่ให้ความสำคัญ วิชัยกล่าวว่าจะเป็น ‘เมกะเทรนด์’ นอกจากเรื่องเทคโนโลยีบล็อกเชนแล้ว ก็ยังมีธุรกิจคาร์บอนเครดิต ซึ่งเตรียมจะเปิดตัวแถลงข่าวใหญ่ ในเร็ว ๆ นี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยบริษัทนี้ จะมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบการเคลมคาร์บอนเครดิตได้สูงขึ้น และมีตลาดรองรับ ซึ่งจะเป็นธุรกิจที่จะช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้เป็นอย่างดี

ต่อมาธุรกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ (bio economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ที่รับซื้อพลาสติก ซึ่งจะดำเนินการเป็น 2 แบบ คือ 1.) เม็ดพลาสติกรีไซเคิล และ 2.) กลั่นออกมาเป็นน้ำมัน ซึ่งธุรกิจแบบนี้มีความจำเป็นกับประเทศไทยตอนนี้มาก

ขณะที่ธุรกิจเกี่ยวกับการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือขยะติดเชื้อ ซึ่งทุกวันนี้ยังมีคนทำน้อย โดยตนกำลังปั้นบริษัทแบบนี้ ซึ่งจะเป็นธุรกิจใหม่ที่เติบโตและยิ่งใหญ่ได้ ไม่เพียงแค่ในประเทศ แต่หากินในต่างประเทศได้ด้วย

ส่วนธุรกิจที่ใช้ AI ก็สนใจ ซึ่งก็มีสตาร์ตอัปรายหนึ่งที่น่าสนใจ สามารถบริหารโหลดสำหรับการชาร์จไฟฟ้าของรถอีวี เพราะรถอีวีเวลาชาร์จไฟครั้งหนึ่งเท่ากับติดแอร์พร้อมกัน 10 ตัว ทำให้โหลดกระชากมาก

“ลองคิดดูเล่น ๆ ถ้าคนไทยทั้งประเทศใช้ไฟพร้อมกัน หม้อแปลงจะอยู่ได้ไหม ตอนนี้ไม่มีใครคิด แต่ผมไปเจอสตาร์ตอัปเด็กไทยคนหนึ่ง ไปประกวดระดับโลกได้ที่ 29 เขาทำสิ่งนี้อยู่ ผมพาเขา เข้าไปพรีเซนต์กับการไฟฟ้าแล้ว ธุรกิจพวกนี้คอยไม่ได้ เพราะกระแสอีวีเข้ามาเร็ว” วิชัยกล่าว

นอกจากนี้ ยังสนใจเกี่ยวกับ smart farmer โดยกำลังปั้นบริษัทบริหารฟาร์ม สร้างโมเดลเกษตรกรหัวขบวนอยู่ โดยสตาร์ตอัปรายนี้นอกเหนือบริหารฟาร์มแล้วยังสามารถค้นหาดีมานด์และซัพพลายให้มาเจอกันได้ ซึ่งสามารถช่วยลดขั้นตอนพ่อค้าคนกลางออกไปได้

“ตอนนี้บริษัทที่ว่านี้ เพิ่งทำ ‘กระดานเทรดข้าว’ ที่จังหวัดร้อยเอ็ด เสร็จเรียบร้อยไปเมื่อ 3 เดือนก่อน” วิชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษาโรงพยาบาลพญาไท ย้ำว่า ตนและลูก ๆ ก็ไม่ได้ทิ้งธุรกิจด้านสุขภาพ (healthcare) เพราะเป็นธุรกิจที่มีความมั่นคงสูงมาก

>>ดันสตาร์ตอัปเข้าตลาดหุ้น
สำหรับปีนี้วิชัยคาดว่าจะผลักดันบริษัทสตาร์ตอัปเข้าตลาดหุ้นได้ ประมาณ 2 บริษัท โดยตนจะไม่ถือหุ้นใหญ่เกิน 50% อาจจะถือหุ้นแค่ 20-30% และไม่เข้าไปบริหาร

“ผมต้องการให้สตาร์ตอัปเกิด ฉะนั้น ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกเทกโอเวอร์” วิชัยกล่าว

>>สูตรเลือกสตาร์ตอัป
วิชัยกล่าวว่า การเลือกสตาร์ตอัปที่จะนำมาปั้นนั้น ตนมีผู้เชี่ยวชาญกว่า 50 คน ที่อยู่ในเครือข่าย ที่มีหน้าที่วิเคราะห์ธุรกิจให้ เพราะทุกวันนี้สตาร์ตอัปเข้ามาหามาก เพราะ pain point ของสตาร์ตอัป คือการเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งเด็กที่เข้ามาจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า what’s next ? คืออะไร มีแผนธุรกิจต่อไปอย่างไร มีแผน 5-10 ปีหรือไม่ ต้องการเพิ่มทุนอย่างไร ซึ่งเป็นคำถามที่เป็นหัวใจของเรื่องนี้

“ผมมีสูตรเลือกสตาร์ตอัป คือ ขอให้มี 2G ก่อน G แรกคือ growth ต้องมีการเติบโต รายได้มากน้อยไม่ว่ากัน และ G ที่สอง คือ gain ต้องมีกำไร เพราะนั่นแปลว่าเข้าใจวิธีการบริหารและต้นทุนธุรกิจดี ถ้ามี 2G แล้ว ผมก็ไม่ต้องเหนื่อยมาก จากนั้นก็จะหาช่องทางระดมทุน หรือแนะนำกลุ่มเวนเจอร์แคปปิตอล (VC) พร้อมทั้งช่วยวางแผนทางการเงินให้ด้วย” วิชัยกล่าว

“นอกจากนี้ ทุกคนที่เข้ามา ต้องปฏิญาณ 3 ข้อ คือ 1. ไม่ใช้เทคโนโลยีเพื่อโกง หรือหลอกลวงผู้อื่น 2. เรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดีมีคุณธรรม และ 3. แบ่งปันความรู้และโอกาสให้แก่ผู้ที่ด้อยกว่า” เดอะ ก็อด ฟาร์เธอส์ นักปั้นสตาร์ตอัปกล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: prachachat

ยกระดับการบริการ!! SCBX จับมือ KakaoBank ผู้นำด้านดิจิทัลเกาหลีใต้ ดันตั้ง ‘Virtual Bank’ เจาะกลุ่มที่เข้าไม่ถึงการบริการ

(16 มิ.ย. 66) นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX เปิดเผยว่า ทุกวันนี้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางรายได้ (Income Inequality) ยังคงเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ หรือ Pain Point ที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ (Underserved Group) เรื่องนี้นับเป็นหนึ่งในโจทย์หลักที่กลุ่ม SCBX ตระหนักและให้ความสำคัญ ซึ่งการถือกำเนิดของ Virtual Bank จะช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มโอกาสให้กลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบนี้ ให้สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น และการจัดตั้ง Virtual Bank ให้แข็งแรงนั้น จะต้องอาศัยเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคตที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการให้บริการเพื่อความพึ่งพอใจสูงสุดของลูกค้า

“เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ KakaoBank พันธมิตรระดับโลกซึ่งเป็นธนาคารดิจิทัล 100% ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ ที่มีจุดแข็งคือความเชียวชาญและประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจ Virtual Bank ตลอดจนมีศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีที่จะมาช่วยเพิ่มขีดความสามารถ พร้อมสนับสนุนให้กลุ่ม SCBX ซึ่งเป็นผู้นำในการให้บริการเทคโนโลยีทางการเงินในประเทศไทย และมีความเข้าใจถึงความต้องการของตลาดเป็นอย่างดี ในการดำเนินธุรกิจ Virtual Bank ในเมืองไทยให้ประสบความสำเร็จ บรรลุวัตถุประสงค์ในการช่วยเพิ่ม โอกาสคนไทย โดยเฉพาะกลุ่ม Underserved ให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินได้อย่างสะดวก และทั่วถึง โดยการลงนามความร่วมมือจัดตั้ง Consortium ในครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา หรือ Virtua/ Bank จากธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป” นายอาทิตย์ กล่าวเสริม

ทั้งนี้ SCBX และ KakaoBank กำลังร่วมกันพิจารณาหาพันธมิตรเพิ่มเติม เพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนความแข็งแกร่งให้ครบทุกมิติในการขอใบอนุญาตเพื่อจัดตั้งและประกอบธุรกิจ Virtual Bank ในประเทศไทย

‘อินเตอร์ลิ้งค์’ จัดสัมมนา New Technology Talk เจาะลึกโซลูชั่น พลิกโฉมภาคอุตสาหกรรม ที่นำไปสู่ยุค 4.0

บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จัดสัมมนา New Technology Talk เรื่อง  Industrial Technology สรุปเนื้อหาสำคัญ และเทรนด์เทคโนโลยี เจาะลึกโซลูชั่น Smart Industrial พลิกโฉมภาคอุตสาหกรรม ที่นำไปสู่ยุค 4.0

โดยมี คุณพงษ์ชัย ชัยจิรวิวัฒน์ ประธานคณะทางานการปฏิรูปอุตสาหกรรมและพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มาให้ข้อมูล และบรรยายพิเศษเรื่อง INDUSTRIAL 4.0

ซึ่งมีส่วนผลักดันให้เกิดศักยภาพในการแข่งขัน และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ระบบ Automation ทำให้เกิดการใช้งานระบบ Network Cabling ที่เป็น Digital Infrastructure ของภาคอุตสาหกรรม ในปัจจุบัน และอนาคต นับเป็นการอธิบายเจาะลึกพร้อมกับสะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมจากอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของยุคของ Digital Disruption ให้เข้าใจชัดมากขึ้น โดยภาคอุตสาหกรรมในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลนี้จะต้องขับเคลื่อน และเดินหน้าปรับตัวให้ทันท่วงที อีกทั้งต้องพร้อมพัฒนาให้สอดรับกับอนาคตที่กำลังจะมาถึงอีกด้วย 

งานนี้ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ ได้เชิญวิศกรผู้เชี่ยวชาญด้านการวางโครงข่ายสายสัญญาณ คุณภาคภูมิ พลธร ผู้อำนวยการวิศวกรฝึกอบรม และผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Infrastructure มาบรรยายเกี่ยวกับการออกแบบโครงสร้าง Digital Infrastructure ให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรม และเตรียมความพร้อมยังไงให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอีก 10 ปีข้างหน้า

รวมถึงเรียนเชิญ คุณอภิชาติ พงศ์นา Product & Technical Support manager มาเล่าถึงโครงการ Project ต่าง ๆ ของภาคอุตสาหกรรมที่ก้าวเข้าสู่ Smart Industrial ว่ามีการเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง และเจาะลึกถึงการออกแบบการวางโครงข่ายแบบใดให้เหมาะสมตอบโจทย์แก่การใช้งาน เพื่อสามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไปในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ งานนี้สนับสนุนโดย LINK AMERICA และ GERMAN RACK และถ่ายทอดสด ณ สำนักงานใหญ่ บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ กรุงเทพฯ

สำหรับงานสัมมนา NEW TECHNOLOGY TALK อัพเดทเทรนด์เทคโนโลยีที่คุณต้องรู้ ในครั้งถัดไป จะจัดขึ้นในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ในหัวข้อ Smart HealthCare ( Smart Healthcare พัฒนาไปอีกระดับ พร้อมรับการแพทย์อัจฉริยะ) เพื่อนำไปปรับใช้ให้เหมาะสม ตอบโจทย์ตรงจุดอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปต่อยอดกับอาชีพของท่าน

สนใจเข้าร่วมอบรม ได้ที่ www.interlink.co.th หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 02-666-1111 ต่อ 1707

‘ไรมอนแลนด์’ ผุด ‘OCC’ ออฟฟิศ Grade A+ บริษัทดัง ‘ไทย-เทศ’ แห่จองพื้นที่แล้วกว่า 70%

(15 มิ.ย. 66) นายกรณ์ ณรงค์เดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไรมอนแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘RML’ เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดอาคารสำนักงานในปี 2566 โดยมองว่ามีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง พิจารณาข้อมูลจาก CBRE ระบุว่า ไตรมาส 1 ปีนี้ มีพื้นที่ให้เช่าอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ รวมทั้งหมด 9.38 ล้านตารางเมตร ซึ่งแบ่งเป็นพื้นที่ให้เช่าอาคารสำนักงาน Grade A+ บนทำเลศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) อยู่ที่ 400,000 ตร.ม. และเป็นพื้นที่ให้เช่าอาคารสำนักงาน Grade A บนทำเล CBD อยู่ที่ 900,000 ตร.ม. รวมถึงเป็นพื้นที่ให้เช่าอาคารสำนักงาน Grade A นอกพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ (Non-CBD) อยู่ที่ 520,000 ตร.ม. 

“จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าอุปทาน (Supply) พื้นที่ให้เช่าในอาคารสำนักงาน Grade A+ มีน้อยที่สุด ในขณะที่ความต้องการยังคงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ทาง RML จึงเล็งเห็นโอกาสในการเปิดตัวโครงการ OCC (One City Centre) อาคารสำนักงานลักชัวรี่ Grade A+ ที่สูงที่สุดในไทย โดยเตรียมเปิดตัวเต็มรูปแบบในวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตอบสนองดีมานด์ของตลาดในขณะนี้” 

สำหรับ OCC ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้คอนเซปต์ ‘REIMAGINE YOUR WORLD’ แลนด์มาร์กสำคัญทางธุรกิจและไลฟ์สไตล์ใจกลางเพลินจิต ที่ตอบสนองชีวิตในรูปแบบใหม่ให้กับการใช้ชีวิตการทำงานควบคู่กับไลฟ์สไตล์ในทุกวัน มีอัตราค่าเช่าในส่วนของพื้นที่สำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกประมาณ 1,500 บาทต่อตร.ม. โดยล่าสุดได้รับความสนใจจากผู้เช่าแล้วประมาณ 70% แบ่งสัดส่วนผู้สนใจเป็นกลุ่มบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลก 80% และบริษัทชื่อดังในไทย 20% 

นายกรณ์ กล่าวอีกด้วยว่า ในไตรมาส 4 นี้ เตรียมเปิด Sky Bar ที่ชั้น 61 และร้านอาหาร ที่ชั้น 58 ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน รวมถึงฟู้ดคอร์ท ‘กินนี่ฟู้ด’ (Kinnie Food) ที่รวมร้านอาหารชื่อดังมากมายในราคาที่จับต้องได้มาไว้ที่นี่อีกด้วย 

“ยิ่งไปกว่านั้น เรามั่นใจว่าหลังจาก Sky Bridge ซึ่งเชื่อมกับ BTS เพลินจิต ตรงสู่อาคาร OCC แล้วเสร็จ จะยิ่งผลักดันให้อัตราการเช่า OCC เต็มพื้นที่ในต้นปี 2567 และหลังจากที่เปิดใช้บริการ OCC เต็มรูปแบบ จะส่งผลให้ RML มีสัดส่วนรายได้ประจำเพิ่มขึ้นถึง 15-25% ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ RML มีสถานะทางการเงินที่เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตระยะยาว” นายกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

นักวิเคราะห์ ชี้!! ระวังหุ้น STARK ภาค 2 หายนะครั้งใหญ่จ่อนักลงทุนนับหมื่นคน

เมื่อไม่นานนี้ คุณสุนันท์ ศรีจันทรา คอลัมนิสต์และนักวิเคราะห์หุ้น ได้เผยว่า แม้หุ้นบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ปิดฉากการสร้างภาพลวงตาไปแล้ว แต่ไม่ใช่หุ้นตัวสุดท้ายที่จะสร้างหายนะครั้งใหญ่ให้นักลงทุนนับหมื่นคน

เพราะยังมีหุ้นบางตัวที่มีพฤติกรรมไม่แตกต่างจาก STARK และถูกจับตาว่า อีกไม่นานเกินรอบริษัทจะล่มสลายเช่นเดียวกัน

หุ้นเก็งกำไรตัวเล็กนับสิบบริษัท ช่วงนี้สงบราบคาบตามๆ กัน แต่บางตัวยังมีความพยายามสร้างข่าว กระตุ้นราคาหุ้นอยู่เป็นระยะ แม้ว่าธุรกิจหลักกำลังตกต่ำ กลายเป็นสินค้าและบริการที่ตกยุค เนื่องจากผู้บริโภคหันไปใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาไปไกล และสะดวกสบายมากกว่า

หุ้นที่มีพฤติกรรมปั่นราคาจะมีสูตรสำเร็จในลักษณะเดียวกันคือ การสร้างข่าว การขยายการลงทุน การซื้อทรัพย์สิน หรือซื้อกิจการบริษัทอื่น รวมทั้งบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ด้วยกัน

การแจกใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญหรือวอร์แรนต์

การปล่อยข่าวโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของบริษัท และการจุดพลุไล่ราคาหุ้น เพื่อล่อแมลงเม่าให้ตามแห่เข้าไปเก็งกำไร

การซื้อทรัพย์สิน กิจการ หรือบริษัทจดทะเบียนจะใช้เงินจากการออกหุ้นกู้ โดยวิ่งหาบริษัทจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือ ซึ่งสามารถแจกเครดิตเกรดดีๆ ได้ง่าย เช่นเดียวกับ STARK และมีบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งเสนอตัวเป็นตัวแทนผู้จำหน่ายหุ้นกู้ จนระดมเงินจากหุ้นกู้ได้หลายพันล้านบาท

บริษัทจดทะเบียนขนาดเล็กบางแห่งสร้างภาพเป็นกิจการขนาดใหญ่ มีบริษัทย่อยในเครือข่ายจำนวนนับสิบแห่ง จนนักลงทุนมองว่าเป็นกิจการที่มั่นคง ขณะที่มีเจ้ามือคอยดูแล สร้างมูลค่าการซื้อขายแต่ละวันสูง ราคาบางช่วงขึ้นถูกลากขึ้นอย่างร้อนแรงจนดูเหมือนเป็นหุ้นที่มีสภาพคล่อง

แต่บริษัทพร้อมล่มสลายได้ตลอดเวลา

หุ้นเก็งกำไรตัวเล็กบางตัวมีจำนวนผู้ถือหุ้นหลายหมื่นคน มากกว่าจำนวนผู้ถือหุ้น STARK เสียอีก ซึ่งหากวันใดบริษัทถึงจุดอวสาน จะสร้างความเสียหายให้นักลงทุนจำนวนมากยิ่งกว่า STARK

ผู้บริหารหุ้นเก็งกำไรตัวเล็กบางคนไม่รู้ไปทำเรื่องร้ายๆ อะไรไว้ จึงต้องคอยระวังตัว โดยมีคนคอยเดินติดตามคุ้มกัน เหมือนกลุ่มคนที่ทำธุรกิจสีเทา ทั้งที่เป็นเจ้าของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งต้องดำเนินงานด้วยความโปร่งใส และยึดหลักธรรมาภิบาล

นายเอริค เลอวีน อดีตผู้บริหาร บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ CAWOW ชาวแคนาดา ซึ่งมาเปิดกิจการฟิตเนส ก่อนหอบเงินสมาชิกหนีคดีฉ้อโกงออกนอกประเทศ โดยยังมีหมายจับติดตามตัวอยู่

ผู้บริหาร CAWOW เคยจ้างตำรวจขับรถตำรวจนำทางจากบ้านย่านฝั่งธนบุรี ส่งถึงสำนักงานย่านสีลม เพื่อคุ้มกัน เพราะรู้ตัวว่ากำลังฉ้อโกง และเกรงกลัวผู้ที่ได้รับความเสียหายจะลอบทำร้าย

ผู้บริหารหุ้นเก็งกำไรตัวเล็กบางคนกำลังก่อพฤติกรรมฉ้อโกง สร้างความเสียหายให้นักลงทุนหรือไม่ จึงต้องจ้างบอดี้การ์ดมาคุ้มกัน

หุ้น STARK เก็บฉากไปแล้ว ทิ้งไว้แต่ซากศพนักลงทุนทั้งหุ้นกู้และหุ้นสามัญนับหมื่นชีวิต แต่หุ้น STARK 2 อาจตามมาในเร็วๆ นี้

อย่าหวังว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์จะป้องกันไม่ให้เกิด STARK ภาค 2 ได้

แต่นักลงทุนต้องป้องกันตัวเอง โดยสำรวจตรวจสอบว่ามีหุ้นเก็งกำไรตัวเล็กตัวใดที่มีพฤติกรรมสร้างภาพ สร้างข่าวกระตุ้นราคาหุ้น มีการซื้อทรัพย์สิน ซื้อกิจการ ออกหุ้นกู้หลายๆ รุ่น และอยู่ในข่ายอาจล่มสลายเช่นเดียวกับ STARK หรือไม่

ถ้ามีหุ้นเล็กตัวอันตรายอยู่ในพอร์ตต้องรีบตัดสินใจขายทิ้งทันที จะขาดทุนเท่าไหร่ก็ช่าง

เพราะถ้าชะล่าใจ หรือทำใจตัดขายขาดทุนไม่ได้ จะเสียใจที่ตกเป็นเหยื่อหุ้น STARK 2 ในภายหลัง

ประชาชนต้องรับรู้ เคาะ!! ทุก ‘บล.’ ต้องเผย ‘ข้อมูล-งบการเงิน’ ผ่านทุกช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ 16 มิ.ย.นี้

📌เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 66 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ.9/2566 เรื่อง หลักเกณฑ์และระยะเวลาในการประกาศ รายการและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหลักทรัพย์ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.2566

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 108 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 สำนักงานออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 4/2544 เรื่อง หลักเกณฑ์และระยะเวลาในการประกาศรายการและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหลักทรัพย์ ลงวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2544 

ข้อ 2 ให้บริษัทหลักทรัพย์เปิดเผยข้อมูลโดยวิธีการที่กำหนดดังต่อไปนี้ ในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงานหรือประชาชนเรียกดูหรือตรวจสอบได้โดยพลัน ณ สำนักงานทุกแห่งของบริษัทหลักทรัพย์ที่ใช้ติดต่อกับประชาชน ทั้งนี้ การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต้องถูกต้องครบถ้วน ชัดเจน เป็นปัจจุบัน และตรงต่อความเป็นจริง

(1) ใบอนุญาต สำเนาใบอนุญาต หรือเอกสารหลักฐานที่แสดงถึงสถานะการได้รับใบอนุญาต ให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ของสำนักงาน โดยปิดประกาศหรือแสดงผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่นเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือช่องทางอื่นใดที่สามารถเชื่อมโยงหรือเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสถานะการได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ เป็นต้น 

(2) งบการเงินและรายงานของผู้สอบบัญชี พร้อมหมายเหตุประกอบงบการเงินของงวดการบัญชีหลังสุด โดยปิดประกาศหรือแสดงข้อมูลบนหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งติดตั้งไว้ที่บริษัทหลักทรัพย์

ข้อ 3 ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่ต้องเปิดเผยตามข้อ 2 ให้บริษัทหลักทรัพย์ปรับปรุงแก้ไขข้อมูลนั้นให้ถูกต้องครบถ้วน เป็นปัจจุบัน และตรงต่อความเป็นจริงโดยพลัน

ข้อ 41 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2566
นายธวัชชัย พิทยโสภณ
รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
 

หน้าร้อนดันโต!! CPALL รับอานิสงส์หน้าร้อน เครื่องดื่มขายดีกระฉูด หนุน Q2/66 ผงาด โบรกฯ แนะ!! ซื้อ เคาะเป้า 72 บ.

🔴 (14 มิ.ย. 66) บล.ฟินันเซีย ไซรัส เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยแนะนำ ‘เพิ่มน้ำหนัก’ เข้าลงทุน CPALL โดยแนวโน้มผลการดำเนินงาน Q2/66  เติบโตโดดเด่น โดยล่าสุด SSSG ยังบวกได้ 7-9% y-y จากการบริโภคที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและเป็นช่วงหน้าร้อนทำให้เครื่องดื่มขายดี

🟢 นอกจากนี้ยังได้อานิสงส์จากค่าไฟภาคธุรกิจที่เริ่มปรับลงในเดือน พ.ค. - ส.ค. 66 ส่งผลให้ลดแรงกดดันในด้านค่าใช้จ่าย

⚪ สำหรับแนวโน้มกำไรในช่วงครึ่งหลังปี 66 คาดจะได้อานิสงส์ทางอ้อมจากการปรับโครงสร้างหนี้ Lotus’s ซึ่งทำให้ดอกเบี้ยจ่ายลดลง ส่งผ่านมายังกำไรของ MAKRO ที่เร่งตัวขึ้น ดังนั้นฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการกำไรปี 66 ที่ 1.7 หมื่นลบ. +30% y-y  แนะนำ ‘ซื้อ’ ราคาเป้าหมาย 72 บาท
 

แม็คโคร’ เตรียมเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ‘ซีพี แอ็กซ์ตร้า’ 15 มิ.ย. นี้ แต่ยังยืนยัน จะยังคงใช้แบรนด์ชื่อเดิม

วันที่ 13 มิ.ย. 2566 –  แม็คโคร ซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดัง ได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กว่า บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) จะเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ 15 มิ.ย. 2566 เป็นต้นไป แต่ยืนยันจะใช้แบรนด์ “แม็คโคร” เช่นเดิม

ก่อนหน้านี้ ได้มีรายงานข่าวว่า จะมีการประกาศให้ บริษัทสยามแม็คโคร อนุมัติให้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทและตราประทับจาก SIAM MAKRO เป็น CP AXTRA รวมทั้งชื่อย่อหลักทรัพย์จาก MAKRO เป็น CPAX

ขณะที่ผลกำไร ไตรมาสแรกของปี 66 นั้น แม็คโคร มีรายได้โตกว่า 1.2 แสนล้าน โดยมีกำไร 2 พันล้านบาท อานิสงส์เปิดประเทศดันการท่องเที่ยวฟื้น เศรษฐกิจขยับ พร้อมแผนเชิงรุก ขยายสาขา บุกช่องทางขายออนไลน์ และมีแผนการขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง
 

ผู้ลงนามบันทึกรายงานประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี พบนั่ง ‘เอ็มดี INTUCH’ ควบบอร์ด ถือหุ้น 0.0006%

วันที่ (13 มิ.ย. 66) จากกระแสข่าวใหญ่ในแวดวงการเมืองและตลาดทุนไทย โยงปมการถือหุ้นสื่อของนายทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ล่าสุดปรากฏคลิปวิดีโอเกี่ยวกับเทปบันทึกการรายงานผลการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ITV’ ที่มีเนื้อหาไม่ตรงกับเอกสารรายงานการประชุม

โดยสปอตไลต์ยิงตรงไปที่บุคคลรายนามว่า ‘นายคิมห์ สิริทวีชัย’ ซึ่งเป็นประธานการประชุมผู้ถือหุ้น ITV และเป็นผู้เซ็นลงนามรับรองในเอกสารรายงานการประชุม โดยที่คำตอบในคลิปวิดีโอค่อนข้างย้อนแย้งกับเอกสารรายงานผลการประชุมผู้ถือหุ้น เนื่องจากมีเนื้อหาคนละเรื่อง หรือคนละความหมายกันเลย

ทำให้ชื่อ ‘นายคิมห์ สิริทวีชัย’ กลายเป็นที่สนใจของคนในสังคม โดยติดอันดับรายชื่อที่ถูกค้นหาบน Google Trends มากที่สุด วันนี้ประชาชาติธุรกิจจึงจะพาไปเปิดประวัติ ‘นายคิมห์ สิริทวีชัย’ ว่าบุคคลท่านนี้เป็นใคร และมีความสัมพันธ์กับใครและบริษัทไหนกันบ้าง

โดยจากการสืบค้นข้อมูลพบว่า ‘นายคิมห์ สิริทวีชัย’ ปัจจุบันอายุ 54 ปี จบการศึกษาสูงสุดคือระดับปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) และได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2557 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการกำกับดูแลกิจการและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น INTUCH อยู่ที่ 0.0006%

ทั้งนี้ ยังพบว่าเป็นกรรมการอยู่ใน บมจ.ไทยคม (THCOM) บมจ.ไอทีวี (ITV), บจก. อาร์ตแวร์ มีเดีย, Shenington Investments Pte Ltd, บจก. ลิตเติ้ล เชลเตอร์, บจก. ไอ.ที.แอพพลิเคชั่นส์ แอนด์ เซอร์วิส, บจก. อินทัช มีเดีย, บจก. ทัชทีวี, บจก. สเปซ เทค อินโนเวชั่น นอกจากนี้ เคยเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน และรองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานบริหารการลงทุนของ INTUCH อีกด้วย

และที่สำคัญผ่านการอบรมจากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และอื่น ๆ ประกอบด้วย

1.) DCP : Directors Certification Program รุ่น 116/2552
2.) Harvard#1 Executive Learning Sustainment Program ปี 2561-2562
3.) Harvard Leadership Development Program, Harvard Business Publishing ปี 2560-2561
4.) SFLP : Strategic Financial Leadership Program ปี 2562 โดยสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย
5.) หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) รุ่นที่ 21

ทั้งนี้ สำหรับ INTUCH ปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF จำนวน 1,320.91 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 41.19% โดย GULF ได้เทกโอเวอร์ INTUCH ผ่านการทำคำเสนอซื้อหุ้น INTUCH ที่ราคาหุ้นละ 65 บาท เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ในสัดส่วน 23.32% โดยใช้เงินลงทุนจำนวน 48,611 ล้านบาท ตอนนั้นเมื่อรวมกับหุ้น INTUCH ที่ GULF ถืออยู่ก่อนแล้วสัดส่วน 18.93% ทำให้ GULF กลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 42.25% ของหุ้นที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด

 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top