Wednesday, 21 May 2025
ECONBIZ NEWS

อีอีซี โชว์หมุดหมายศูนย์กลางลงทุนโลก  ตั้งเป้า 5 ปี ปั๊มเงินกว่า 2.2 ล้านล้าน

(24 ส.ค. 66) นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวถึงการพัฒนาพื้นที่ EEC ยึดหลักสอดรับกับบริบทโลกของอุตสาหกรรมในอนาคต เพื่อดึงดูดและรองรับการลงทุนจากทั่วโลกในพื้นที่เศรษฐกิจนี้ ก้าวแรกที่สำคัญของเป้าหมาย 5 ปีต่อจากนี้ คือ เริ่มจากพื้นฐานที่สำคัญได้แก่ ที่ดินผ่านการจัดสรรให้เกิดการลงทุนเฉพาะแต่ละกลุ่มธุรกิจ การพัฒนาทักษะแรงงานขั้นสูง รวมทั้งการปรับปรุงกลไกทางกฎหมายและระเบียบให้ง่ายแก่การเข้ามาลงทุน ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งทาง อีอีซี ได้ตั้งเป้าดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศให้ได้กว่า 2.2 ล้านล้านบาท ภายในช่วงปี 2565-2570

โดยขณะนี้ได้เดินหน้าผลักดันการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้วยแผนงานการสร้างการรับรู้นโยบายในวงกว้าง ด้วยการจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือการจัดโรดโชว์ต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ ผู้ขายในพื้นที่ ได้เชื่อมต่อกับผู้ซื้อทั้งจากไทยและต่างชาติ โดยการขับเคลื่อนแผนงานดังกล่าว จะดำเนินการในเชิงบูรณาการกับภาคีเครือข่ายธุรกิจชั้นนำของไทยและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่มาของการจัดงาน EEC Cluster Fair 2023 ครั้งแรก! ในพื้นที่ อีอีซี มีเป้าหมายที่สำคัญ คือ พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ให้กลายเป็นหมุดหมายใหม่แห่งการลงทุนของประเทศ

‘Kazakh Thai Alliance’ เชิญร่วมทริปธุรกิจสุด Exclusive ปักหมุด คาซัคสถาน ในงาน ‘Food Business Matching’

‘Kazakh Thai Alliance’ โดยการสนับสนุนของสถานทูตคาซัคสถาน ประจำประเทศไทย เดินหน้าจัดงาน ‘2023 / Food Business Matching Trip & MARKET SURWEY’ โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 - 21 กันยายน 2566 นี้ ที่เมืองอัลมาตี้ ประเทศคาซัคสถาน

โดยในงานทางสถานทูตคาซัคสถาน หอการค้า และสมาคมนักธุรกิจอัลมาตี้ได้เชิญ Importer, Distributor และ Buyer ของ Modern Trade / Local Modern Trade รายใหญ่ ๆ ในคาซัคสถาน มาเพื่อเจรจาธุรกิจกับผู้ผลิตสินค้าและผู้ส่งออกจากประเทศไทย

รวมทั้งจะมีกิจกรรม Business Networking หลังงาน พร้อมด้วยการประชุมร่วมกับ Kazakh Invest รวมถึงการเยี่ยมชม Almaty Industrial Zone ซึ่งเป็นพื้นที่นิคมที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและมีความสะดวกสบายในการดำเนินธุรกิจ และมีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่ถูกมาก

ในโอกาสนี้ Kazakh Thai Alliance ได้จัดทริปสุดพิเศษให้กับทุกท่านที่สนใจไปสำรวจห้างและซูเปอร์มาร์เก็ต ทุกแบรนด์ชั้นนำ รวมถึงร้านแบบท้องถิ่นของคาซัคสถาน เพื่อให้ทุกท่านได้เข้าใจบริบทของตลาดมากยิ่งขึ้น ซึ่งในทริปนี้ ผู้ประกอบการทุกท่านสามารถนำสินค้าตัวอย่างไปเจรจาธุรกิจได้เลยทันที 

สำหรับท่านที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับงาน พร้อมทั้งงบประมาณการเดินทางได้ที่ www.thailandfestival.co

อนึ่ง ‘คาซัคสถาน’ นับเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียกลาง และมีศักยภาพด้านการค้ากับไทยมากที่สุด ถือเป็นโอกาสใหม่ของผู้ประกอบการไทย ที่กำลังมองหาตลาดใหม่ ประตูการค้าที่สามารถเชื่อมธุรกิจระหว่างทวีปเอเชียและทวีปยุโรป

โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทย-คาซัคสถาน มีมูลค่า 136 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 98.42% คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 61.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการนำเข้า 74.21 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาซัคสถานเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชที่แยกตัวมาจากอดีตสหภาพโซเวียต และยังเป็นคู่ค้าที่มีศักยภาพมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียกลาง ซึ่งประกอบด้วย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน

ในขณะที่ภาพรวมการค้าระหว่างไทย-ภูมิภาคเอเชียกลาง มีมูลค่า 207.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 41.67% คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 99.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการนำเข้า 107.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สินค้าส่งออกของไทยที่มีโอกาสและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคท้องถิ่น ผู้นำเข้า และตัวแทนจำหน่ายคาซัคสถาน ได้แก่ อาหาร ทะเลกระป๋องและแปรรูป วัตถุดิบสำหรับปรุงอาหาร และอุปกรณ์เครื่องเขียน เป็นต้น

‘EA’ ผนึกเครือข่ายพันธมิตร จัดกิจกรรม ‘วิทยาศาสตร์พลเมือง’ เรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างความยั่งยืนให้ป่าชายเลน

เมื่อไม่นานมานี้ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด เดินหน้าอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตามกลยุทธ์ EA Go Green Clean Energy ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมวิทยาศาสตร์พลเมือง (Citizen Science) มุ่งมั่นส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ ณ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ กองทัพบก (บางปู) จัดขึ้นโดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พร้อมด้วยเครือข่ายภาคเอกชน และพันธมิตร

นายฉัตรพล ศรีประทุม ผู้อำนวยการ โครงการกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ เป็นผู้แทน EA ร่วมผลักดันกิจกรรมวิทยาศาสตร์พลเมือง เรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายจากภาคธุรกิจจำนวน 6 หน่วยงาน ประชาชน และสื่อมวลชนกว่า 150 คน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านกิจกรรมวิทยาศาสตร์พลเมือง โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานดังกล่าว โดยภายในงานได้มีกิจกรรมสร้างความรู้ ความเข้าใจและตระหนักในคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนี้

- Exploring Nature by Technology สร้างการเรียนรู้ระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ (Thailand Biodiversity Information Facility: TH-BIF) และ TH-BIF Journey แอปพลิเคชัน เพื่อการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ

- Anyone can be Citizen Science เรียนรู้ความสำคัญของระบบนิเวศป่าชายเลน และภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

- Nature Walk, Nature Talk ให้ความรู้เบื้องต้นผ่านการสังเกต ศึกษา และสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของพืช สัตว์ และระบบนิเวศ ควบคู่ไปกับการทดลองใช้งาน แอปพลิเคชัน TH-BIF Journey 

- Art and Science เชื่อมโยงศิลปะกับวิทยาศาสตร์ การบันทึกธรรมชาติ ผ่านภาพวาด และเทคนิคการถ่ายภาพ

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ ตระหนักถึงความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยและสุขภาพของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่ร่วมกันส่งผลให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพในวงกว้าง ดังนั้นเราจึงมุ่งมั่นที่จะจัดการและดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมฯ ตลอดจนรวมการพิจารณาและประเมินความหลากหลายทางชีวภาพเข้ากับกระบวนการทำงานของเรา รวมถึงได้มีการสำรวจความหลากหลายของชนิดพันธุ์และเส้นทางการบินของนกแต่ละชนิดในพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม และได้สำรวจความหลากหลายของพืชพรรณโดยใช้รูปแบบทุติยภูมิ ภาพถ่ายดาวเทียมและการสำรวจในพื้นที่ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีมาพัฒนานวัตกรรมพลังงานสะอาดในการขับเคลื่อนการยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวและเกิดความยั่งยืน

‘ITEL’ เซ็นสัญญารับงานโครงการ Course Online ภายใต้ ‘กสทช.’ มูลค่ากว่า 297 ล้านบาท

(21 ส.ค. 66) ​บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม หรือ ITEL คว้างานโครงการพัฒนาทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสู่สังคมดิจิทัล ในภารกิจบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม กลุ่มที่ 5 (ภาคใต้) หรือ โครงการ Course Online มูลค่า 297,208,550 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

​นายณัฐนัย อนันตรัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL ผู้ให้บริการโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติก ที่มีความเสถียรภาพสูงสุดทั่วประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เข้าทำสัญญาโครงการพัฒนาทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสู่สังคมดิจิทัล ในภารกิจบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม กลุ่มที่ 5 (ภาคใต้) จาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) มูลค่าทั้งสิ้น 297,208,550.00 บาท (สองร้อยเก้าสิบเจ็ดล้านสองแสนแปดพันห้าร้อยห้าสิบบาทถ้วน) ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าใช้จ่ายทั้งปวงไว้ด้วยแล้ว โดยสัญญาเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2566 ถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2568

​“บริษัทเล็งเห็นถึงความสำคัญของการต่อยอดจากโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีที่บริษัทได้ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยบริษัทฯ ได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมทางสังคม ที่ต้องให้เกิดความเท่าเทียมกันในพื้นที่ห่างไกลในด้านทักษะความรู้การเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสร้างโอกาสและการพัฒนาศักยภาพให้กับประชาชน และผู้ด้อยโอกาสในสังคม เพื่อการดำเนินธุรกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับสังคมที่ยั่งยืน” นายณัฐนัย กล่าว

​อย่างไรก็ตาม งานใหม่ที่ ITEL ได้รับความไว้วางใจนั้น จะสนับสนุนให้ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 เติบโตได้ต่อเนื่อง และผลักดันให้ผลประกอบการโดยรวม เติบโตได้ 20-30% ตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งยังทำให้งานในมือ (Backlog) เพิ่มมากขึ้น

‘ออมสิน’ ปล่อยสินเชื่อหนุนผู้ประกอบการอีวี วงเงินรายละ 50 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ 3.745% ต่อปี

(21 ส.ค. 66) นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสิน ให้ความสำคัญในการสนับสนุนยุทธศาสตร์การใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศมุ่งสู่เป้าหมายความยั่งยืน โดยล่าสุด ธนาคารออมสินได้ออกสินเชื่อ ‘GSB EV Supply Chain’ ภายใต้การบันทึกความร่วมมือกับ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ในการส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicle (EV) และผู้ประกอบการ Supply Chain ของอุตสาหกรรม EV ซึ่งเป็นการผลิตยานยนต์ใช้พลังงานทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สร้างมลพิษทางอากาศ โดยคาดหวังให้ความร่วมมือดังกล่าวเป็นฟันเฟืองสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ภาครัฐให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเป็นการผลักดันประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และเคลื่อนที่สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ได้ตามแผนและนโยบายของประเทศ

สินเชื่อ ‘GSB EV Supply Chain’ สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และ Supply Chain ได้แก่ ผู้ผลิต/ผู้ประกอบยานยนต์ไฟฟ้า (OEM) ผู้ผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบยานยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้าหมายสนับสนุนให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อหมุนเวียนทำธุรกิจ หรือลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และ Re-Finance ภายใต้ ‘โครงการสินเชื่อธุรกิจ GSB EV Supply Chain’ โดยเป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเก็จ ‘สินเชื่อ Green Loan’ ซึ่งเป็นสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจเศรษฐกิจสีเขียว วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นเพียง 3.745 % ต่อปี (MOR/MLR-3 % ต่อปี) ระยะเวลากู้สูงสุด 10 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 2 ปี และสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการวงเงินมากกว่า 50 ล้านบาท สามารถใช้วงเงินสินเชื่อ ‘โครงการ GSB For BCG Economy’ ได้ ซึ่งไม่จำกัดวงเงินกู้

อนึ่ง ที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้ออกสินเชื่อเพื่อรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคตามกระแสอนุรักษ์พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ สินเชื่อ GSB Green Home Loan สำหรับผู้บริโภครายย่อยที่มีความต้องการซื้อบ้านประหยัดพลังงาน สินเชื่อ GSB Go Green ตอบสนองผู้ที่ต้องการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดภาระค่าไฟ หรือติดตั้งแผงโซล่าร์ หรือซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และสินเชื่อ GSB for BCG Economy สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวมถึง สินเชื่อ GSB Green Biz สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ด้าน นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้แก่สมาชิกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้า โดยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ ตลอดจนเข้าถึงความรู้ในการจัดการทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs และ Start up เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ให้เติบโต อย่างมั่นคง

“ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ตามที่ภาครัฐได้ประกาศนโยบายสนับสนุนให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 30 จากการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศภายในปี 2573 และตั้งเป้าในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย เดินไปข้างหน้าคือ การระดมเงินทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท กลไกทางการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนได้อย่างแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต” นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าว

กรมทรัพย์สินฯ ขึ้นทะเบียน GI ‘ปลาทูแม่กลอง’  เป็นสินค้า GI ลำดับที่ 4 ของสมุทรสงคราม

กรมทรัพย์สินฯ เดินหน้าประกาศขึ้นทะเบียน GI ต่อเนื่อง ล่าสุดดัน ปลาทูแม่กลอง สินค้ายอดนิยมสมุทรสงครามที่ชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศขนเงินข้าชุมชนกว่า 12 ล้านบาท

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มีการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อยกระดับสินค้าในท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน พร้อมกับการส่งเสริมการควบคุมคุณภาพสินค้าเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภค

ล่าสุดได้ประกาศขึ้นทะเบียน ปลาทูแม่กลอง เป็นสินค้า GI ลำดับที่ 4 ของจังหวัดสมุทรสงคราม ต่อจากส้มโอขาวใหญ่สมุทรสงคราม สิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม และพริกบางช้าง

ทั้งนี้ ‘ปลาทูแม่กลอง’ เป็นที่รู้จักมาอย่างยาวนาน มีแหล่งอาศัยในบริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนใน มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ และที่ราบชายฝั่งทะเลบริเวณปากน้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเล ลักษณะดินเกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำและตะกอนน้ำทะเล ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยธาตุอาหาร ทำให้ปลาทูแม่กลองมีลำตัวกว้าง แบน สั้น ผิวหนังขาวเงินมันวาว มีแถบสีน้ำเงินแกมเขียวหรือแถบสีเหลือง ครีบหางสีเหลืองทอง มีเอกลักษณ์โดดเด่นทั้งด้านรสชาติและรูปร่าง

โดยเนื้อปลาทูที่นึ่งแล้วจะมีความละเอียดนุ่ม เนื้อแน่น หอม และมันมาก เมื่อนำมาบรรจุลงในเข่งจะมีลักษณะหน้างอ คอหัก ด้วยลักษณะเช่นนี้ จึงทำให้ปลาทูแม่กลองเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายจนมีคำกล่าวที่ว่า ‘ปลาทูแม่กลองของแท้ จะต้องหน้างอ คอหัก’ บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากปลาทูบริเวณอื่นไปโดยปริยาย และหลายหน่วยงานได้นำเอกลักษณ์นี้มาใช้ในการจัดกิจกรรมงานประจำปี ‘เทศกาลกินปลาทูที่แม่กลอง’ ซึ่งจัดมาอย่างยาวนานถึง 24 ปี นับเป็นงานเทศกาลที่มีชื่อเสียง และได้รับการประชาสัมพันธ์จากภาคส่วนต่างๆ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนไปกว่า 12 ล้านบาท 

‘รองโฆษกรัฐบาล’ เผย 7 เดือนแรก ‘ต่างชาติ’ ลงทุนไทย พุ่ง 17%  เม็ดเงินลงทุน 58,950 ล้านบาท ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 9% 

(20 ส.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความคืบหน้าการลงทุนในประเทศไทย ช่วง 7 เดือน ปี 2566 (ม.ค.-ก.ค.) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 377 ราย เพิ่มขึ้น 17% เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 122 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 255 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 58,950 ล้านบาท ลดลง 20% เกิดการจ้างงานคนไทย 3,594 คน เพิ่มขึ้น 9% โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 84 ราย เงินลงทุน 19,893 ล้านบาท สหรัฐฯ 67 ราย เงินลงทุน 3,044 ล้านบาท สิงคโปร์ 61 ราย เงินลงทุน 12,925 ล้านบาท จีน 28 ราย เงินลงทุน 11,663 ล้านบาท และเยอรมนี 16 ราย เงินลงทุน 1,298 ล้านบาท

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ในช่วง 7 เดือน ปี 2566 (ม.ค.-ก.ค.) นางสาวรัชดา กล่าวว่า มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 73 ราย คิดเป็น 19% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด มูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC 12,348 ล้านบาท คิดเป็น 21% ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น 31 ราย ลงทุน 5,379 ล้านบาท จีน 12 ราย ลงทุน 893 ล้านบาท เกาหลีใต้ 5 ราย ลงทุน 287 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ อีก 25 ราย ลงทุน 5,789 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ลงทุน เช่น บริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการบริหารจัดการกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การออกแบบเครื่องจักร เครื่องกล เครื่องมือและอุปกรณ์ บริการรับจ้างผลิตเครื่องจักร และชิ้นส่วนของเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรม บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ และบริการออกแบบแม่พิมพ์โลหะสำหรับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

น.ส.รัชดา กล่าวว่า เฉพาะเดือน ก.ค. 2566 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 51 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 20 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 31 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 10,023 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 372 คน ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐฯ 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เน้นส่งเสริมสนับสนุนการลงทุน พร้อมอำนวยความสะดวกในทุก ๆ ด้านให้นักลงทุนชาวต่างชาติ ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น สนใจลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ผลจากการขับเคลื่อนนโยบาย นอกจากจะมีรายได้เข้าสู่ประเทศไทยแล้ว คนไทยยังได้รับประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาโปรแกรมแอปพลิเคชันเพื่อความปลอดภัยและการจัดการข้อมูลส่วนตัว องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการพัฒนาเว็บไซต์ และ Data Analysis เพื่อการพัฒนาเว็บไซต์และวิเคราะห์ข้อมูลในการทำการตลาด และองค์ความรู้เกี่ยวกับการทดสอบสมรรถนะของรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อการวิจัยและพัฒนา

'อ.พงษ์ภาณุ' หวั่น!! หลังสหรัฐฯ ถูกลดระดับความน่าเชื่อถือเรื่อง Governance สัญญาณไม่ดีต่อระบบการเงินระหว่างประเทศที่อิงค่า USD เป็นเสาหลัก

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็นการเงินระหว่างประเทศและบทบาทนำของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 20 ส.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ระบบการเงินระหว่างประเทศมีวิวัฒนาการมายาวนาน แต่เริ่มที่จะมีกฎเกณฑ์ชัดเจนเมื่ออังกฤษจัดตั้งมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) ขึ้นราวปี 1815 ภายใต้ Gold Standard อัตราแลกเปลี่ยนและปริมาณเงินของทุกประเทศอิงอยู่กับปริมาณทองคำของประเทศนั้นแบบคงที่ หากดุลการค้าดุลการชำระเงินเกินดุล/ขาดดุล จะต้องมีการเคลื่อนย้ายทองคำระหว่างประเทศเพื่อปรับตัวเข้าสู่สมดุล ทองคำจึงทำหน้าที่เป็น Reserve Currency 

ระบบ Bretton Woods ซึ่งเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กำหนดให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ (USD) ทำหน้าที่เป็น Reserve Currency แทนทองคำ แต่ก็ยังอิงทองคำเป็นฐานของค่าเงิน USD อยู่ จนกระทั่งประธานาธิบดี Nixon ประกาศยกเลิก Gold Convertibility ในปี 1971 นับแต่นั้นเป็นต้นมาระบบการเงินโลกได้เปลี่ยนมาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนเสรี (Flexible or Floating Exchange Rates) โดย USD ทำหน้าที่เป็นเงิน Reserve สกุลหลัก และอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของธนาคารกลาง ระบบดังกล่าวจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อโลกมีความเชื่อมั่นในเงิน USD

การลดระดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Downgrade) ของสหรัฐอเมริกา เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดย Fitch ซึ่งเป็นหนึ่งใน Big Three ของ Credit Rating Agencies โดยอ้างเหตุผลว่าเกิดความสึกกร่อนใน Governance ของรัฐบาลสหรัฐฯ ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนักต่อระบบการเงินระหว่างประเทศที่อิงค่าเงิน USD เป็นเสาหลัก และย่อมส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ และตลาดการเงินทั่วโลก และอาจเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่ต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นและการปรับเปลี่ยนระบบการเงินระหว่างประเทศ

พูดถึงเรื่อง Governance ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของ Rating Downgrade นั้น ก็อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยได้ หากยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้หรือจัดตั้งได้แต่ไม่มีความมั่นคง 3 เดือนหลังการเลือกตั้ง ก็อาจเป็นเหตุของการถูก Rating Downgrade ด้วยเช่นกัน 

นอกจากนี้ ในทางกลับกันหากเราได้รัฐบาลใหม่ที่มีความมั่นคง ประเทศไทยก็อาจใช้เป็นโอกาสในการเชิญ Credit Rating Agencies เข้ามาประเมินเครดิตของประเทศใหม่ เพราะอยู่ในวิสัยที่ไทยจะได้รับการพิจารณา Upgrade ได้ด้วยเช่นกัน เมื่อคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังเข้มแข็งอยู่

อุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินลอดใต้แม่น้ำแห่งแรกของไทย แค่ 2 นาที เชื่อมความเจริญสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

'บิ๊กตู่' ชวนประชาชนนั่งข้ามเจ้าพระยาผ่านรถไฟฟ้าใต้ดินลอดอุโมงค์แม่น้ำเจ้าพระยา ความสำเร็จในรัฐบาลชุดนี้ ที่ใช้เวลาเพียง 2 นาที เชื่อมฝั่งธน-เกาะรัตนโกสินทร์ สู่มหานครแห่งความสุข 

(20 ส.ค.66) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เร่งผลักดันโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งของประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยได้ติดตามทุกโครงการของรถไฟฟ้ามหานคร ให้การก่อสร้างเป็นไปตามแผนและมีความสำเร็จให้ตรงตามเวลาตามเป้าหมาย

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ทั้งนี้หนึ่งในสายรถไฟฟ้าที่เป็นเส้นทางการเดินทางและใกล้แหล่งท่องเที่ยวชุมชนเก่าคือ สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วง หัวลำโพง-บางแค เป็นโครงการเชื่อมต่อจากรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ไปฝั่งธนบุรี ความพิเศษของเส้นทางระหว่างสถานีสนามไชยกับสถานีอิสรภาพ เป็นเส้นทางผ่านอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของประเทศไทย เป็นระยะทางประมาณ 200 เมตร โดยพล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นประธานในพิธีเปิดเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา (Eastbound TBM Launching Ceremony) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายฯ สัญญา 2 ช่วงสถานีสนามไชย - สถานีท่าพระ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2558 กระทั่งแล้วเสร็จสามารถเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา

ตรงนี้เป็นเส้นทางที่สะดวกในการเชื่อมระหว่างพระนคร (เกาะรัตนโกสินทร์) ไปยังฝั่งธนบุรี และเป็นจุดแหล่งท่องเที่ยวสำคัญระดับโลกของไทย แหล่งสถานศึกษา 3 มหาวิทยาลัย (ม.ศิลปากร วังท่าพระ-ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์-คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล วังหลัง) และโรงพยาบาลขนาดใหญ่หลายแห่ง จึงทำให้เส้นทางนี้สามารถลดปัญหาการจราจร ประชาชนเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยเป็นอย่างมาก

“โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงสถานีสนามไชย-สถานีอิสรภาพ รถไฟฟ้าจะต้องผ่านอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งใช้เวลาเพียง 2 นาที แต่ต้องก่อสร้างด้วยเทคนิคพิเศษ เนื่องจากเป็นการขุดอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีความลึกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20 เมตร และตัวอุโมงค์รถไฟฟ้าขุดลึกลงไปจากก้นแม่น้ำอีก 10 เมตร หรือลึก 30 เมตรจากผิวดิน โดยในบางช่วงที่ลึกที่สุดจะลึกไปถึง 38 เมตรเทียบเท่าตึก 10 ชั้น โดยที่บริเวณจุดกลางแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีความลึก 30.86 เมตรใต้ท้องน้ำและลึก 9.71 เมตรจากใต้ท้องน้ำถึงหลังอุโมงค์ พิกัดจุดกลางแม่น้ำเจ้าพระยาห่างจากสถานีสนามไชย 323.92 เมตร“ น.ส.ทิพานัน กล่าว

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายฯ นี้ ผ่านย่านเมืองเก่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จึงมีความตั้งใจที่จะให้มีแผนพัฒนาให้มีการออกแบบสถาปัตยกรรมที่วิจิตรทั้งภายนอกและภายในให้สอดรับกับบริบทในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งมีความสวยงามมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมผสมเข้าไปด้วย เช่น สถานีวัดมังกร, สถานีสนามไชย, สถานีอิสรภาพ, สถานีสามยอด จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าแวะชมไปด้วย

“การเชื่อมความเจริญใต้น้ำเจ้าพระยา ขยายความเจริญสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งฝั่งธนบุรีและเกาะรัตนโกสินทร์ ฝั่งพระนคร เป็นการเชื่อมสู่มหานครแห่งความสุข เชื่อมคนสองฝั่งเมืองเข้าด้วยกันอย่างลงตัวเป็นความทันสมัยที่ไม่หลงลืมวัฒนธรรมความเป็นไทยที่จะสอดแทรกไว้ตามสถานีต่างๆ ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่อนุมัติงบประมาณและเป็นผลงานการพัฒนาของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีความมุ่งมั่นให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบรถไฟฟ้าได้มากขึ้น และยกระดับเชื่อมการเดินทาง ล้อ-ราง-เรือ ได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น พร้อมกับส่งเสริมการท่องเที่ยวและการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย” น.ส.ทิพานัน กล่าว

'ซาบีน่า' เปิดภารกิจเพื่อสังคม เปลี่ยนชุดชั้นในเก่าเป็น 'พลังงานสะอาด' พร้อมเติมเต็มส่วนที่ขาดหายให้กับผู้ป่วยหลังการผ่าตัดมะเร็ง

จากรายการ THE TOMORROW ทางสำนักข่าวออนไลน์ THE TOMORROW สัปดาห์นี้ ได้พูดคุยกับ แขกพิเศษ คุณดวงดาว มหะนาวานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตชุดชั้นใน ซาบีน่า แบรนด์ไทยที่กำลังก้าวสู่ปีที่ 60 ตอกย้ำการเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับภูมิภาคด้วยพันธกิจใหม่

ซาบีน่า เริ่มต้นโดยคุณแม่จินตนา ที่เริ่มขายชุดชั้นใน บริเวณตลาดพลู เย็บด้วยมือ ถือหิ้วตระกร้าเดินขาย จนสามารถแตกไลน์จากชุดชั้นในจินตนามาสู่แบรนด์ซาบีน่า ที่ขึ้นแท่นเบอร์ 2 ของประเทศ ไว้อย่างน่าสนใจ

อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญในปีที่จะก้าวสู่วัย 60 อยู่ที่พันธกิจที่เหนือกว่าการผลิตสินค้าและการขายของแบรนด์ ซาบีน่า ภายใต้มุมคิดที่จะทำธุรกิจอย่างไรให้เกิดผลกระทบต่อโลกให้น้อยที่สุด และสร้างประโยชน์ต่อผู้คนให้มากที่สุด

คุณดวงดาว กล่าวว่า "ปัจจุบันซาบีน่าให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (Sustainability) เพราะชุดชั้นใน เสื้อผ้า ไม่สามารถย่อยสลายเองได้ ยิ่งเมื่อไหร่ที่มียอดขายสูงขึ้น แปลว่าเรากำลังสร้างขยะออกมาในโลกนี้มากขึ้นเท่านั้น นั่นจึงให้เราเริ่มหาวิธีการที่จะจัดการปัญหาเหล่านี้

"โดยในปีที่แล้ว เราได้มีส่วนสำคัญในการรับผิดชอบขยะให้ถูกนำไปทำลายอย่างถูกวิธี ภายใต้แคมเปญ 'โละแล้วไปไหน' หรือก็คือ ชุดชั้นใน ไม่ว่าจะเป็นของคุณเอง หรือคนในครอบครัว คุณเก็บใส่ถุงให้ดีแล้วนำมาให้เรา เพื่อนำไปเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาด ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยสามารถนำมาใส่กล่องรับชุดชั้นในเก่า ที่จุดขาย หรือ Shop ของเรา ซึ่งที่กล่องจะมี QR CODE ให้สแกนเก็บไว้ และทุก ๆ 1 สแกนเราจะบริจาคสินค้าใหม่ให้กับคนที่ต้องการ 1 ชิ้นอีกด้วย"

ต่อมากับ โครงการเต้านมเทียม Sabina Sewing Cup Sewing Heart เย็บเต้ารวมใจ สู้ภัยมะเร็งเต้านม แคมเปญนี้ถูกคิดขึ้นเพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาดหายให้กับผู้ป่วยหลังการผ่าตัดมะเร็ง สำหรับผู้ป่วย หรือผู้ที่ประสงค์ติดต่อขอรับเต้านมเทียมเพื่อส่งต่อให้กับผู้ป่วย สามารถติดต่อขอรับเต้านมเทียม ได้ผ่านทาง Line@ : @SabinaThailand หรือทาง www.sabina.co.th

โดยซาบีน่าจะจัดส่งเต้านมเทียมให้ถึงมือผู้ป่วยฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Sabina Call Center โทร. 02-422-9430 บริษัทหรือหน่วยงานแจ้งความประสงค์ผ่านทาง [email protected] ซาบีน่าหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเต้านมเทียมเหล่านี้ จะช่วยเติมเต็มพลังใจให้กับผู้ป่วย หลังการรักษาโรคมะเร็งเต้านมด้วยวิธีตัดเต้า ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข

เรียกว่าเป็นอีกพันธกิจเพื่อสังคม ที่เดินหน้าควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจของ

ซาบีน่า ที่เราต้องขอปรบมือให้จริง ๆ

เรื่อง: วสันต์ มนต์ประเสริฐ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top