Saturday, 24 May 2025
ECONBIZ NEWS

‘สมโภชน์ อาหุนัย’ ซีอีโอ EA คว้ารางวัล ‘บุคคลคุณภาพแห่งปี 2023’ เชิดชูการริเริ่ม-ยกระดับธุรกิจพลังงานสะอาดด้วยนวัตกรรมที่โดดเด่น

เมื่อไม่นานมานี้ นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) รับโล่เชิดชูเกียรติคุณ ‘บุคคลคุณภาพแห่งปี 2023’ (QUALITY PERSONS OF THE YEAR 2023) สาขาภาคธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค ในฐานะเป็นบุคคลตัวอย่างที่มุ่งมั่นทำคุณประโยชน์เพื่อสังคม โดยเป็นผู้ริเริ่มและยกระดับธุรกิจพลังงานสะอาดด้วยผลงานนวัตกรรมที่โดดเด่น ด้านพัฒนากลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน, ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน, ธุรกิจแบตเตอรี่ ลิเธียม ไอออน, ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ และสถานีชาร์จ EA Anywhere สู่การสร้างโครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตรถโดยสาร EV ระหว่างไทยกับสมาพันธ์รัฐสวิส โครงการแรกในโลก พร้อมจัดให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งต่อให้แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาอย่างต่อเนื่อง กว่า 12,800 คน ใน 280 หน่วยงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

โดยได้รับเกียรติจาก พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี ประธานในพิธีมอบโล่รางวัลประกาศเกียรติยศ ซึ่งจัดขึ้นโดย มูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.) เป็นองค์กรเพื่อการกุศลสาธารณะ จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมยกย่องบุคคลตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จทั้งในชีวิตส่วนตัว ชีวิตการทำงาน และทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ ควรค่าแก่การส่งเสริมเพื่อประกาศเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจ มาอย่างต่อเนื่องกว่า 15 ปี

‘ธนกร’ มั่นใจ!! รัฐบาลเศรษฐาเดินหน้า ‘แลนด์บริดจ์’ ต่อจากลุงตู่ ชี้!! ช่วยดึงเงินลงทุนมหาศาล ดันไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์โลก

(20 ต.ค. 66) นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่นายกรัฐมนตรีและครม. เดินหน้าศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ โครงการแลนด์บริดจ์ ถือเป็นเมกะโปรเจกต์ตั้งแต่สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการวางรากฐานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของไทย ให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของโลก เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการขนส่งสินค้าและบริการ การท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่ม และยังกระจายความเจริญไปสู่ภาคใต้และภาพรวมของประเทศ

ผู้สื่อข่าวถามว่า แลนด์บริดจ์หากเปิดใช้ระยะแรกในปี 73 จะแก้ปัญหาความแออัดของการขนถ่ายสินค้าได้มากน้อยแค่ไหน นายธนกร กล่าวว่า คาดการณ์ไว้ว่าโครงการแลนด์บริดจ์ ทั้ง 2 ระยะ (เฟส) โดยระยะที่ 1 ประมาณมูลค่าการลงทุน รวมทั้งสิ้นกว่า 1 ล้านล้านบาท รองรับสินค้า 20 ล้านทีอียู จะส่งเสริมประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่ง ทั้งท่าเรือ รถไฟ และมอเตอร์เวย์ กระจายสินค้าในภูมิภาค เปิดเส้นทางเดินเรือแห่งใหม่ ของมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก เพิ่มความสะดวกปลอดภัยในการเดินเรือและการขนส่งสินค้าทางน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะลดระยะทางและเวลาขนส่งลงได้ 4 วัน เมื่อเทียบจากช่องแคบมะละกา จึงมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง โดยเน้นรับเรือฟีดเดอร์ ขนาด 8,000-9,000 ทีอียู สินค้าประเภทถ่ายลำ เพื่อเป็นเกตเวย์ เชื่อมการขนส่งสินค้า จากยุโรป-แลนด์บริดจ์-จีน กลายเป็นสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ รวมทั้งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ สามารถดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา สร้างรายได้ให้กับพื้นที่และประเทศอย่างมหาศาล

ทั้งนี้ โครงการแลนด์บริดจ์ มีทั้งโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกระนอง โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกชุมพร โครงการระบบรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-ระนอง และโครงการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงชุมพร-ระนอง รวมถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นไปตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย 

“พล.อ.ประยุทธ์ ได้วางโครงการแลนด์บริดจ์ไว้ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ต้องการให้ไทย เป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและการค้าของเอเชีย มั่นใจว่า แลนด์บริดจ์ จะพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ SEC ให้ เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพและยกระดับรายได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างมาก หากรัฐบาลสานต่อจนสำเร็จ จะเป็นการเปลี่ยนทิศทางการขนส่งของโลก พุ่งเป้ามาที่ไทยให้กลายเป็นฮับทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ เชื่อมโยงกับที่รัฐบาลชุดก่อนที่ได้ทำโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จนสำเร็จมาแล้ว” นายธนกร กล่าว

‘พิมพ์ภัทรา’ เตรียมประกาศมาตรฐาน ‘เครื่องวัดปริมาณแอลฯ จากลมหายใจ’ รับนโยบายรัฐ ‘ขจัดเมาแล้วขับ’ คาด!! ประกาศใช้จริงภายใน 2 เดือน

(19 ต.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตนได้เตรียมประกาศมาตรฐาน ‘เครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจ’ เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลด้านการเมาแล้วขับ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ตลอดจนส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้อ้างอิงในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชน โดยเฉพาะนักดื่มสายแข็งที่เมาแล้วขับ และมักจะร้องเรียนกล่าวหาการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ บอร์ด สมอ. ได้มีมติเห็นชอบมาตรฐานดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา 

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด สมอ. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาว่า นอกจากบอร์ดจะเห็นชอบมาตรฐาน ‘เครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจ’ แล้ว ยังเห็นชอบแผนการจัดทำมาตรฐานของ สมอ. ประจำปีงบประมาณ 2567 ที่เสนอทั้งหมด 600 มาตรฐาน แบ่งเป็นมาตรฐานกำหนดใหม่ 443 มาตรฐาน และมาตรฐานเดิมที่ต้องทบทวนให้ทันสมัยอีก 157 มาตรฐาน ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve 105 มาตรฐาน เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ฯลฯ กลุ่ม New S-curve 120 มาตรฐาน เช่น หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์  เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ การแพทย์ครบวงจร ฯลฯ กลุ่มมาตรฐานตามนโยบาย 32 มาตรฐาน เช่น นวัตกรรม สมุนไพร ฯลฯ กลุ่มส่งเสริมผู้ประกอบการ 163 มาตรฐาน และกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ 23 มาตรฐาน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ฯลฯ

ด้าน นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐาน ‘เครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจ’ มีข้อกำหนดที่สำคัญ เช่น วัดความเที่ยงตรงแม่นยำของเครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์ โดยการฉีดก๊าซเข้าเครื่องวัดแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องซ้ำ ๆ 20 ครั้ง เพื่อจำลองลมหายใจของผู้ขับขี่ ต้องได้ค่าความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ที่อ่านได้จากเครื่องวัดที่มีค่าความคลาดเคลื่อนอยู่ในเกณฑ์การยอมรับของเครื่องมือ คือ ไม่เกิน 4 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ โดยกำหนดปริมาณลมที่หายใจออก ต้องไม่น้อยกว่า 1.2 ลิตร และเวลาที่หายใจออกต้องไม่น้อยกว่า 5 วินาที เครื่องวัดแอลกอฮอล์ต้องจัดเก็บข้อมูลผลการวัดสำหรับการใช้งาน และสามารถเรียกดูได้แต่ไม่สามารถปรับแก้ไขข้อมูลได้ และแสดงผลเป็นตัวเลขที่ถูกต้องชัดเจน เป็นต้น คาดว่าจะประกาศใช้มาตรฐานนี้ได้ภายใน 2 เดือน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้” นายวันชัยฯ กล่าว

‘รัฐ’ ดีเดย์ 15 ม.ค.67 แจกโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คุณสมบัติ ‘ถือ ส.ป.ก.4-01-ทำประโยชน์ไม่น้อยกว่า 5 ปี’

(19 ต.ค.66) นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล โฆษกคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ที่ประชุม กมธ.ที่ดินฯ วานนี้ (18 ต.ค.) มีวาระการพิจารณาเรื่อง ‘นโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนการปรับปรุงหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ให้เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม’ ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ติดตามการผลักดันนโยบายของรัฐบาล โดยคณะกรรมาธิการได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมให้ข้อมูลได้แก่ ตัวแทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัวแทนจากคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และตัวแทนจากกรมที่ดิน ร่วมให้ข้อมูล 

ประเด็นสำคัญในหลักการการดำเนินนโยบาย อาทิ เร่งรัดปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง และมติคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ คปก. ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดรับกับการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 การจัดทำร่างระเบียบเพื่อกำหนดรูปแบบและนิยามโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พร้อมทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเปลี่ยนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กำหนดคุณสมบัติผู้ได้รับการจัดที่ดินซึ่งเป็นเกษตรกรที่ถือครอง ส.ป.ก.4-01 และได้ทำประโยชน์ในที่ดินมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี กำหนดวิธีการจัดที่ดินโดยจะเป็นการจัดที่ดิน เพื่อประกอบเกษตรกรรมตามการจำแนกพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดิน กำหนดหลักเกณฑ์การเปลี่ยนแปลงผู้ทำประโยชน์ โดยให้สามารถเปลี่ยนมือได้ระหว่างเกษตรกรที่มีคุณสมบัติด้วยกันตามที่กฎหมายกำหนด และจำนวนเนื้อที่การถือครองยังคงเป็นไปตามที่กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด คือ เกษตรกรรมไม่เกิน 50 ไร่ และการเลี้ยงสัตว์ใหญ่ไม่เกิน 100 ไร่

รวมถึงการดำเนินการออกโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฉบับแรก จะสามารถแจกให้เป็นจังหวัดต้นแบบได้ภายในวันที่ 15 มกราคม 2567 เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องเกษตรกร และ ส.ป.ก. จะดำเนินการในการออกเอกสารสิทธิในรูปแบบโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในทุกจังหวัดภายใน 1 ปี และจะดำเนินการปรับปรุงเอกสารสิทธิให้กับเกษตรกรที่มีคุณสมบัติครบภายใน 5 ปี

นายฐิติกันต์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการ มีข้อสังเกตว่า โฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คือ ที่ดินที่ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรฯ มีความต่างกับโฉนดที่ดินของกรมที่ดิน เรื่องหลักกรรมสิทธิ์ ส่วนโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่เป็นนโยบายรัฐบาลนั้น เป็นเพียงแค่สิทธิ์ แต่พยายามทำให้มีการเคลื่อนไหวแห่งสิทธิ์เหมือนกันกับโฉนดที่ดิน และมีการจํากัดว่าคนที่จะมาถือสิทธิ์ต้องครอบครอง ส.ป.ก.4-01 และได้ทำประโยชน์ในที่ดินมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี การยกระดับสิทธิ์และพัฒนาสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก. เพิ่มจากเดิมที่ให้เพียงสิทธิการเข้าทำประโยชน์ ไม่สามารถซื้อ ขาย เปลี่ยนมือ โอนไปยังบุคคลอื่นได้

กรรมาธิการฯ ยังกังวลถึงเรื่องข้อพิพาทจากการประกาศแนวเขตปฏิรูปที่ดินที่ไม่ชัดเจนและทับซ้อนกับแนวเขตที่ดินประเภทอื่น อาทิ แนวเขตป่าไม้ ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดินราชพัสดุ เพราะฉะนั้นก่อนจะมีนโยบายเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนด จะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร เนื่องจากหากดำเนินการไปแล้วอาจทำให้ปัญหาพื้นฐานที่มีอยู่ซับซ้อนขึ้นไปอีก ซึ่งทางกรรมาธิการยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน

อีกทั้งกังวลเรื่องวิธีการตรวจสอบคุณสมบัติและวิธีการดำเนินการกับนายทุนผู้ที่ครอบครองพื้นที่เกินกว่านโยบายและ จะทวงคืนอย่างไร รวมถึงมีแนวทางติดตามและตรวจสอบการเปลี่ยนมือที่ดินหลังจากการดำเนินนโยบายอย่างไร ซึ่งทางคณะกรรมาธิการจะติดตามข้อมูลเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง 

'พีระพันธุ์' ถก 'รัสเซีย' ซื้อ 'น้ำมัน-ก๊าซ-ถ่านหิน' ราคาถูก ด้าน ‘รัสเซีย’ ยืนยัน!! พร้อมสนับสนุนแบบครบวงจร

(19 ต.ค.66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้หารือแบบทวิภาคีกับรัฐมนตรีช่วยกระทรวงพลังงานของสหพันธรัฐรัสเซีย (นายเซอร์เก โมคานิคอฟ) และ เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย (นายเยฟกินี โทมิคิน) หลังเป็นประธานในการประชุม The 3rd APEF วันนี้ (19 ต.ค. 66) ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ เพื่อหาทางในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านพลังงานระหว่างกันและเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ 

การหารือครั้งนี้เป็นไปในทิศทางที่ดี โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานของรัสเซีย แจ้งว่าพร้อมสนับสนุนไทยด้านพลังงานแบบครบวงจร ทั้งในส่วนของทรัพยากรพื้นฐาน อาทิ ถ่านหิน น้ำมัน และ อื่น ๆ รวมทั้งด้านวิชาการ การลงทุนในการสร้างระบบผลิตพลังงานรูปแบบต่าง ๆ และการร่วมเป็นหุ้นส่วนทางการลงทุน โดยเสนอให้มีการจับคู่ธุรกิจด้านพลังงานระหว่างภาคเอกชนในประเทศไทยและสหพันธรัฐรัสเซีย และคาดหวังให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงเสนอให้ผู้แทนจากประเทศไทยเข้าสังเกตการณ์ในอุตสาหกรรมพลังงาน รัฐบาลรัสเซียพร้อมให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกนักธุรกิจชาวไทยในการเดินทางเข้าไปประกอบธุรกิจด้านพลังงานร่วมกับรัสเซีย และเชิญรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไปเยือนรัสเซีย เพื่อหารือเพิ่มเติมต่อไปด้วย 

จากนั้น นายพีระพันธุ์ ได้พบกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงไฟฟ้า พลังงาน และทรัพยากรธรณีสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ และร่วมหารือในประเด็นความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทยและบังกลาเทศ โดยหวังว่าจะมีความร่วมมือในประเด็นต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมพลังงานต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ ในช่วงเช้า นายพีระพันธุ์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เป็นประธานในการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านพลังงานแห่งเอเชียและแปซิฟิกครั้งที่ 3 (The Third Asian and Pacific Energy Forum: The 3rd APEF) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในฐานะ ‘ประธานฯ The 3rd APEF’

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำระหว่างเปิดการประชุมว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญและส่งเสริมการดำเนินการเพื่อผลักดันนโยบายพลังงานสะอาดร่วมกับประเทศสมาชิก โดยให้ความสำคัญกับการเข้าถึงแหล่งพลังงาน และการสร้างมาตรฐานราคาพลังงานที่เป็นธรรม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของการประชุม The 3rd APEF ที่จัดขึ้นเพื่อทบทวน รายงาน รวมถึงติดตามความคืบหน้า ในการพัฒนาการการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 7 (SDG7) ประเด็นเรื่องการสร้างหลักประกันการเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่อย่างยั่งยืนและเชื่อถือได้ ในราคาที่ซื้อหาได้ 

ปตท. จับมือ เมตรอน รุกธุรกิจแพลตฟอร์มบริหารจัดการพลังงาน หวังยกระดับอุตสาหกรรมไทย สู่ ‘อุตสาหกรรม 4.0’

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 66 ม.ล. ปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาความร่วมมือในธุรกิจแพลตฟอร์มบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management Platform) ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เมตรอน เอเชียแปซิฟิก จำกัด (เมตรอน) โดยมี นางสุณี อารีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ตลาดค้าปลีกและวิศวกรรมก๊าซธรรมชาติ ปตท. และ Mr. Vincent Sciandra ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมตรอน เอเชียแปซิฟิก จำกัด เป็นผู้ลงนาม เพื่อขยายตลาดเอนเนอร์ยี่โซลูชั่นส์ในประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยี Advanced Energy Intelligence Platform เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย และตอบสนองนโยบายภาครัฐตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)

ม.ล. ปีกทอง กล่าวว่า “ปตท. และ เมตรอน มุ่งมั่นในการพัฒนา Energy Management Platform เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในการจัดการพลังงานให้กับลูกค้าภาคอุตสาหกรรมของ ปตท. ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ลดต้นทุนและใช้พลังงานอย่างยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการพลังงานขั้นสูงของเมตรอน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 และเป็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ อีกทั้งเป็นการสนับสนุนนโยบายที่จะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมให้กับประเทศไทยในเวทีโลก”

Mr. Vincent เผยว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นขยายตลาดการให้บริการระบบ Energy Management and Optimization Solution (EMOS) ในประเทศไทย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรามีความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับการให้บริการและสนับสนุนด้าน Digital Solutions เพื่อให้ลูกค้าภาคอุตสาหกรรมของ ปตท. สามารถบริหารจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตอีกด้วย”

ทั้งนี้ ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่าง ปตท. และ เมตรอน ถือเป็นการส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรม โดยได้เริ่มใช้ระบบการจัดการพลังงานให้กับลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กแล้ว ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือเพื่อยกระดับมาตรฐานสำหรับการพัฒนาการจัดการพลังงานอย่างยั่งยืนของประเทศไทย

'OR' เผยทิศทางขับเคลื่อนธุรกิจในต่างแดน ปักหมุด 'กัมพูชา' ดันไลน์ธุรกิจหลักเจาะโอกาสเปิด

(18 ต.ค.66) นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ พร้อมด้วย นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ และนายรชา อุทัยจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจต่างประเทศ ร่วมเปิดเผยถึงกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ โดยมุ่งเสริมความแข็งแกร่งของการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศที่ OR ดำเนินการอยู่ เพิ่มความหลากหลายในการดำเนินธุรกิจ เช่น การจำหน่ายก๊าซหุงต้ม (LPG) หรือยางมะตอย รวมถึงขยายธุรกิจในต่างประเทศร่วมกับพันธมิตรของ OR ไม่ว่าจะเป็น บริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชัน จำกัด เจ้าของธุรกิจร้านสะดวกซักแบรนด์ Otteri Wash & Dry หรือ บริษัท ดุสิต ฟู้ดส์ จำกัด ตลอดจนโอกาสในการสร้างการเติบโตร่วมกันกับพันธมิตรในพื้นที่ผ่านการลงทุนใหม่ในรูปแบบต่างๆ ที่มีศักยภาพ โดยมุ่งเป้าเพิ่มสัดส่วน EBITDA ของกลุ่มธุรกิจ Global เป็น 15% ในปี 2570 โดยมีรายละเอียดการขับเคลื่อนธุรกิจในแต่ละประเทศ ดังนี้

• กัมพูชา เป็นประเทศในการดำเนินธุรกิจของ OR ในต่างประเทศ เป็นเหมือนบ้านหลังที่ 2 เนื่องจากเป็นประเทศที่ OR ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดย ณ เดือนสิงหาคม 2566 OR ดำเนินธุรกิจทั้งกลุ่มธุรกิจ Mobility ได้แก่ การจำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีบริการ PTT Station ซึ่งมีอยู่ 169 สาขา มีคลังเก็บผลิตภัณฑ์ 7 แห่ง และธุรกิจหล่อลื่น PTT Lubricants รวมทั้งได้ร่วมลงทุนในบริษัทร่วมค้า (Joint Venture) เพื่อให้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ณ สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ในกรุงพนมเปญ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างมีกำหนดแล้วเสร็จไตรมาส 3 ปี 2567 ส่วนกลุ่มธุรกิจ Lifestyle ได้แก่ ร้าน Café Amazon ซึ่งมีอยู่ 231 สาขา และร้านสะดวกซื้อ 65 สาขา เป็นต้น โดย OR ยังมีแผนลงทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ อาทิ คลังน้ำมันและก๊าซ LPG โรงงานผสมยางมะตอย รวมถึงแสวงหาโอกาสในการดำเนินธุรกิจพลังงานอื่นๆ อาทิ Battery Swapping และสถานีชาร์จไฟฟ้า EV station Pluz

• ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่ OR เข้าไปดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี 2540 โดย ณ เดือนสิงหาคม 2566 มีสถานีบริการ PTT Station อยู่ 168 สาขา มีคลังน้ำมัน 4 แห่ง และร้าน Café Amazon 17 สาขา จำหน่ายผลิตภัณฑ์หล่อลื่น PTT Lubricants  รวมถึงการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่สนามบินในประเทศฟิลิปปินส์อีกด้วย

• สปป.ลาว ณ เดือนสิงหาคม 2566 OR มีสถานีบริการน้ำมัน PTT Station รวม 54 สาขา ศูนย์บริการยานยนต์ FIT Auto และ Procheck รวม 9 สาขา จำหน่ายผลิตภัณฑ์หล่อลื่น PTT Lubricants รวมถึงมีร้าน Café Amazon 87 สาขา ร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ 28 สาขา ร้านชานม Pearly Tea 5 สาขา และอยู่ระหว่างการศึกษาเกี่ยวกับการปลูกและค้าเมล็ดกาแฟร่วมกับพันธมิตรในท้องถิ่น โดยเน้นกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า

• เวียดนาม OR ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อดำเนินธุรกิจร้าน Café Amazon ในเวียดนาม ซึ่ง ณ เดือนสิงหาคม 2566 มีจำนวน 22 สาขา รวมถึงศึกษาเกี่ยวกับโอกาสในการค้าเมล็ดกาแฟร่วมกับพันธมิตรในท้องถิ่น โดยเน้นกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า อีกทั้งยังคงแสวงหาโอกาสในการดำเนินธุรกิจอื่นๆ เพื่อการเติบโตในอนาคต เช่น การค้า LNG และ LPG ในเวียดนาม

นอกจากนี้ ยังมีแผนการขยายร้าน Café Amazon ไปในประเทศอื่นๆ ได้แก่ โอมาน ซึ่งมีแผนเปิดร้าน Café Amazon อีก 4 สาขาในปีนี้ และเพิ่มเป็น 19 สาขาในปี 2567 มาเลเซีย ซึ่งมีร้าน Café Amazon 2 สาขาในปีนี้ และเพิ่มเป็น 10 สาขาในปี 2567 และ ญี่ปุ่น ซึ่งมีแผนเปิดร้าน Café Amazon เพิ่มเป็น 3 สาขาในปี 2567 อีกด้วย

“ทั้งหมดนี้เกิดจากความมุ่งมั่นของ OR ในการขยายฐานการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความสำเร็จและการยอมรับในตลาดโลก โดยนำความสำเร็จจากการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยไปปรับใช้ในต่างประเทศ ด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่ OR มีอยู่จากการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยมีการศึกษารูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสมในแต่ละประเทศเพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันกับสังคม ชุมชน และเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมทั้งเตรียมความพร้อมของบุคลากร เพื่อขยายความสำเร็จออกไปยังประเทศอื่น ๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก” นายดิษทัต กล่าวเสริมในตอนท้าย

‘สุริยะ’ ปลื้มใจ!! ประชาชนชื่นชอบ 20 บาทตลอดสาย ยัน!! ไม่สุดแค่ 30 พ.ย.67 เตรียมเสนอต่ออายุมาตรการปีหน้า

(18 ต.ค. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่เมื่อ 16 ต.ค. 66 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์-ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์-รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนนั้น ล่าสุดทาง รฟม. และ รฟท.ได้รายงานถึงผลการสอบถามความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ พบว่า ผู้โดยสารส่วนใหญ่ให้ผลตอบรับเป็นอย่างดี

นอกจากนั้นขอยืนยันว่า การที่ ครม.อนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ที่ระบุจนถึงวันที่ 30 พ.ย. 2567 นั้น เมื่อครบกำหนดในช่วงวันดังกล่าว จะยังไม่ได้มีการยกเลิกมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย และจะใช้มาตรการนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือและลดค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชน ตามนโยบาย ‘Transport Future for All : คมนาคมแห่งอนาคต เพื่อประชาชนทุกคน’

ส่วนการกำหนดระยะเวลาในวันที่ 30 พ.ย.2567 ตามที่เสนอเรื่องต่อ ครม. นั้นดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่กระทรวงคมนาคมจะต้องประเมินผลการดำเนินมาตรการเป็นรายปี อย่างไรก็ตาม การเสนอต่ออายุมาตรการ 20 บาทตลอดสายในปีหน้า รัฐจะชดเชยเงินรายได้ในจำนวนที่ลดลง เนื่องจากจะมีปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น จึงต้องประเมินผลมาตรการเป็นรายปี

‘Eco-Friendly Event’ เทรนด์อีเวนต์ยุคใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมทุกมิติ ด้วยแนวคิด ‘BCG’ ใช้พลังงานหมุนเวียน-ลดมลพิษ-ลดขยะอย่างยั่งยืน

(18 ต.ค. 66) รู้จัก ‘ธุรกิจไมซ์’ (MICE) เป็นหนึ่งในสาขาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากธุรกิจไมซ์ (MICE) เป็นธุรกิจการเดินทางท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพ และมีค่าใช้จ่ายตอบแทนหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลแต่ละทริป ในอัตราที่ค่อนข้างสูงกว่าการท่องเที่ยวประเภทอื่น ด้วยเหตุนี้ ในแต่ละประเทศ จึงค่อนข้างให้ความสำคัญกับธุรกิจนี้เป็นอย่างมาก เพื่อที่จะยกระดับประเทศตนเองให้เป็นมาตรฐาน ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในการเป็นเจ้าภาพจัดงานกิจกรรมที่สำคัญ ๆ ของภูมิภาค และเพื่อเป็นจุดหมายปลายทางของการจัดประชุมนานาทวีป เช่น ยุโรป อเมริกา เป็นต้น

‘ธุรกิจไมซ์’ (MICE) คือ ธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดประชุม การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล และการจัดแสดงสินค้าเข้าด้วยกัน โดยมีการจัดการอย่างมืออาชีพ ประกอบด้วยธุรกิจต่าง ๆ คือ Meetings, Incentives, Conventions (หรือ Conferencing), และ Exhibitions ซึ่งแต่ละธุรกิจมีความหมาย ดังนี้

M : Meeting คือ ‘การประชุมของกลุ่มบุคคล’ ผู้แทนจากบริษัทเดียวกัน หรือบริษัทในเครือเดียวกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งอันจะนำไปสู่ผลประโยชน์ทางสังคมและธุรกิจร่วมกัน

I : Incentive Travel คือ ‘การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล’ เป็นการจัดนำเที่ยวเป็นหมู่คณะให้กับพนักงาน เพื่อตอบแทนที่ทำงานได้ตามเป้าหมายของบริษัท โดยบริษัทผู้ให้รางวัลจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว

C : Convention หรือ ‘Conferencing’ คือ การประชุมที่มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การมุ่งให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมงาน มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าร่วมงานที่มีการอภิปราย การเข้าสังคม ส่วนใหญ่เป็นการจัดโดยสมาคมระดับนานาชาติ ซึ่งอาจจัดแบบหมุนเวียนตามประเทศสมาชิก หรือประมูล เพื่อเป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดงาน

E : Exhibition คือ ‘การจัดงานแสดงสินค้า’ หรือนิทรรศการนานาชาติ การแสดงผลงาน สินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือกิจกรรมให้กลุ่มเป้าหมายชม โดยการจัดแสดงงานสินค้า มีวัตถุประสงค์หลักเชิงพาณิชย์ในการก่อให้เกิดการติดต่อซื้อขายระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ

‘ธุรกิจไมซ์’ มีความสำคัญอย่างไร?
ประเทศไทย นอกจากจะมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายแห่งที่น่าสนใจแล้ว ยังมีจุดเด่นที่สร้างความประทับใจให้กับชาวต่างชาติ เช่น ประเพณีและวัฒนธรรม อาหารไทย สถานที่จัดประชุม สถานที่รับรองที่ได้มาตรฐาน ที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ทำให้ประเทศไทยเป็นที่ต้องการของตลาดธุรกิจไมซ์จากหลายประเทศ และในอนาคต คาดว่าจะมีการผลักดันให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

นอกจากธุรกิจไมซ์ จะส่งผลโดยตรงกับธุรกิจท่องเที่ยวแล้ว ยังช่วยกระจายรายได้ไปยังธุรกิจอื่น เช่น หน่วยงานการเที่ยว องค์กรรับจัดงานอิเวนต์ ศูนย์จัดการประชุม โรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งความน่าสนใจ คือ เมื่อธุรกิจไมซ์ มีการขยายตัวและเติบโตมากขึ้น ความต้องการของตลาดแรงงานจะสูงขึ้น เนื่องจากงานที่เกี่ยวข้องกับองค์กรธุรกิจไมซ์มีความหลากหลาย

อุตสาหกรรม MICE ลดโลกร้อนได้อย่างไร?
อุตสาหกรรมไมซ์ ได้ตั้งเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization Pathways) โดยครอบคลุมการลดและเลี่ยงการปล่อยคาร์บอนที่เกิดจากการจัดงาน (Carbon Reduction and Avoidance) อันจะนำไปสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission)

‘การประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน’ (Circular Economy) หนึ่งในกลไกของโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) มาผสานเข้ากับแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และปรับรูปแบบกิจกรรมในการจัดงานไมซ์ ให้เกิดการลดการใช้ (Reduce) ชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) ด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization)

ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการจัดงานไมซ์อย่างใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าของงานอีเวนต์ (Value Added Event) อีกด้วยขณะเดียวกัน ผู้จัดงานไมซ์ทั่วโลก เริ่มนำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนและคอนเซ็ปต์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้ในการจัดงาน โดยแนวคิดนี้ ไม่เพียงแต่จะสามารถสร้างภาพลักษณ์ในเชิงบวก แต่ยังช่วยลดต้นทุนการจัดงานได้อีกทางหนึ่ง

ตัวอย่างการจัดงานที่ลดคาร์บอน และนำหลักการ ‘BCG Model’ มาใช้
เมื่อธุรกิจไมซ์ นำแนวคิดรักษ์โลกมาใช้ยกระดับสถานที่จัดงานให้เป็น Green Venue ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการประหยัดพลังงานภายในงาน และใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำเรื่อง ‘Eco-Friendly’ มาเป็นคอนเซ็ปต์หลักของงาน รวมถึงการจัดการและลดปริมาณขยะ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ช่วยสร้างรากฐานความยั่งยืน (Sustainability) ให้แก่โลก อีกทั้งเพิ่มภาพลักษณ์ให้กับองค์กร ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังตัวอย่างต่อไปนี้

‘โอลิมปิกเกมส์ 2020 กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น’ อีเวนต์ระดับโลก ที่เชื่อมโยง BCG Model ครบทุกมิติ แบบ ‘Eco-Friendly Event’ อย่าง มหกรรมโอลิมปิกเกมส์ 2020 กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นงานที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก มีการวางแผนที่ดีในหลากหลายมิติ ตั้งแต่ กระแสไฟฟ้าที่ใช้ในสถานที่แข่งขัน มาจากแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียน โดยไฟฟ้ามาจากพลังงานชีวมวลจากไม้ที่เหลือจากการก่อสร้าง หรือการตัดไม้ และจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยบางส่วนมาจากการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ และสึนามิ เมื่อปี 2011 ระบบการขนส่งใช้รถยนต์ไฟฟ้า ไฟที่ถูกจุดในกระถางคบเพลิงและตลอดการวิ่งคบเพลิงทั่วญี่ปุ่น ก็ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน รวมถึงแหล่งพลังงานบางส่วนในหมู่บ้านนักกีฬา มาจากพลังงานไฮโดรเจนเช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่เหรียญรางวัลและโพเดียมที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล ไปจนถึงการสร้างหมู่บ้านนักกีฬาที่เมื่อรื้อถอนแล้ว วัสดุก่อสร้างจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่

ซึ่งหากการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกใช้วิธีการจัดงานแบบเดิม จะสร้างคาร์บอนฟุตพรินต์มากถึง 3,010,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (t-CO2) แต่ด้วยความพยายามลด และหลีกเลี่ยงการปล่อยคาร์บอนด้วยวิธีต่าง ๆ ทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 280,000 ตัน หรือเทียบเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานต่อปีมากกว่า 30,000 ครัวเรือน ถือเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจ ให้กับผู้จัดงานที่ต้องการจัดอีเวนต์แบบรักษ์โลก

‘ศูนย์ประชุมนานาชาติบาร์เซโลนา’ ที่สามารถลดและควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีการผลิตพลังงานและพลังงานชีวภาพทดแทนแทนการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 175 ตันต่อปี

‘งาน Expo CIHAC ที่ประเทศเม็กซิโก’ ที่สร้างโดยใช้วัสดุต้นทุนต่ำ และใช้แนวคิดการแปรรูปวัสดุเหลือใช้ให้มีมูลค่าเพิ่มแบบ Upcycling ด้วยการนำลังใส่น้ำอัดลมกว่า 5,000 ลัง มาสร้างเป็นบูธแสดงงาน ใช้ต้นทุนต่ำและไม่สร้างขยะเพิ่มเติมหลังจบงาน ทั้งยังสามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้อีกด้วย

‘Tote Bag Music Festival เทศกาลดนตรีรักษ์โลกของเมืองไทย’ ผู้จัดงาน ธุรกิจไมซ์ หลายราย เริ่มหันมาใช้ BCG Model เป็นแนวทางในการจัดงาน เช่น แผนคอนเสิร์ตรักษ์โลก จัดโดย ‘กรีนเวฟ’ ใช้คอนเซ็ปต์รักษ์โลกอย่างเต็มรูปแบบ เป็นคอนเสิร์ตแรกในไทยที่วางแผนการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ รวมทั้งลดพลังงานสิ้นเปลืองภายในงาน ไม่ว่าจะเป็น เครื่องปั่นไฟพลังงานทางเลือกแทนน้ำมันดีเซล การให้ผู้ร่วมงานพกถุงผ้า แก้ว จาน ช้อน ส้อม มากันเอง เพื่อช่วยลดปริมาณขยะ รวมทั้งการใช้ของทุกอย่างที่สามารถนำมาใช้ซ้ำ หรือนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด เช่น หลังคาจากเวทีคอนเสิร์ต หลังจบงานจะถูกส่งต่อเพื่อไปทำหลังคาให้กับโรงเรียนในจังหวัดเชียงราย นับเป็นเทศกาลดนตรีในคอนเซ็ปต์ ‘ZERO WASTE’ อย่างแท้จริง

‘ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์’ ได้นํานวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการด้านความยั่งยืน ตั้งแต่สถานที่ตั้งและการเดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดิน และใกล้กับป้ายรถประจำทาง ทำให้ผู้เข้าร่วมสามารถเดินทางด้วยบริการขนส่งสาธารณะ เป็นการช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในการเดินทาง ตลอดจน มีบริการที่ชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

ขณะที่อาคาร ลดการใช้แสงจากหลอดไฟ โดยเพิ่มแสงธรรมชาติและระบบไหลเวียนอากาศจากธรรมชาติทั่วอาคาร และติดตั้งอุปกรณ์และใช้สุขภัณฑ์แบบประหยัดน้ำทั่วทั้งอาคาร ใช้ระบบน้ำหยดและนำน้ำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ทำให้ลดการใช้น้ำได้ถึง 45%

รวมถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีการคำนวณการใช้พลังงานแบบเรียลไทม์ และติดตามการใช้งาน รวมทั้งใช้ระบบบริหารจัดการและควบคุมอาคารอัตโนมัติ ผนวกกับการตรวจสอบและการควบคุมอาคารอัจฉริยะ มีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 5,400 ตารางเมตร บนชั้นดาดฟ้าของอาคารเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียน ติดตั้งไฟ LED ในห้องจัดแสดงนิทรรศการทั้งหมด เพื่อลดการใช้พลังงาน และปรับความสว่างในบริเวณ Lobby และพื้นที่ร้านค้าให้สอดคล้องกับแสงธรรมชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ ยังมีแนวปฏิบัติการก่อสร้างสีเขียว ประกอบด้วยการควบคุมมลพิษในการก่อสร้าง และแนวทางการจัดการของเสียจากการก่อสร้าง มุ่งเน้นการลดปริมาณขยะจากการก่อสร้างที่ต้องนำไปกำจัด ด้วยการกลบฝังได้มากกว่า 75%

สรุปได้ว่า การจัดงานแบบ ‘Eco-Friendly Event’ รักษ์โลก สามารถทำได้โดยยึดหลักการ 3 ขั้นตอน ได้แก่

1.) Eco-Friendly ตั้งแต่เริ่มเดินทาง ผู้จัดงานควรเลือกสถานที่จัดงาน ที่สามารถเดินทางสะดวกด้วยระบบขนส่งสาธารณะ อย่างรถไฟฟ้าหรือรถโดยสารประจำทาง เพื่อลดการใช้รถส่วนตัว

2.) เลือกสถานที่จัดงานที่ใส่ใจในความยั่งยืน ผู้จัดงานควรเลือกสถานที่จัดงานที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (Sustainability) และได้รับการรับรองจากมาตรฐานต่าง ๆ รวมถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของสถานที่ เช่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประหยัดน้ำ-ไฟ มีมาตรฐาน ISO 20121 ในการบริหารการจัดงานอีเวนต์อย่างยั่งยืน

3.) ลดขยะในทุกมิติของงานอีเวนต์ เริ่มจากลงทะเบียน และอัปโหลดข้อมูลต่าง ๆ ลงช่องทางออนไลน์ทั้งหมด เพื่อลดการใช้กระดาษ ส่วนอาหารและของว่างสำหรับผู้เข้าร่วมงาน ควรเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ และของที่ระลึกควรเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน รวมถึงวางแผนลดการสร้างขยะจากอาหาร ด้วยการส่งต่ออาหารที่สั่งมาเกินให้แก่ผู้ขาดแคลน โดยติดต่อมูลนิธิรักษ์อาหาร (SOS Thailand) เพื่อช่วยประสานงานรับอาหารส่วนเกินจากภาคธุรกิจ และส่งต่อให้ผู้ขาดแคลนโดยตรง

ทั้งหมดนี้ คือทิศทางที่ผู้ประกอบการไมซ์กับแนวทาง BCG Model จะเดินไปด้วยกัน เพื่อดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และโลก พร้อมทั้งสร้างจุดแข็งและความแตกต่างให้ขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจร่วมกันอย่างยั่งยืน (Sustainability)

'รัดเกล้า' ย้ำ!! ภารกิจใหญ่รัฐบาล ดันไทย 'ศูนย์กลางอาหารฮาลาล' เล็งเดินหน้า 8 มาตรการ พาอาหารฮาลาลไทยสู่เวทีโลก

(18 ต.ค. 66) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) พร้อมมุ่งหน้าผลักดันนโยบายหลักด้านความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางสำหรับอุตสาหกรรมฮาลาลโลก ซึ่งไทยมีความพร้อมทั้งด้านวัตถุดิบและมีศักยภาพ ที่จะเดินหน้าสู่การเป็นแหล่งผลิตอาหารฮาลาลเติมเต็มความต้องการของหลายประเทศทั่วโลก

นางรัดเกล้ากล่าวว่า ตลาดอาหารฮาลาลเป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตเฉลี่ย 13.5% ตามสัดส่วนประชากรมุสลิมโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย อก. ได้จัดทำ 8 มาตรการสำคัญ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทยสู่ตลาดโลก โดยเชื่อมโยงกับ Soft Power ในท้องถิ่น ได้แก่

1.ขับเคลื่อน Soft Power ยกระดับอาหารฮาลาลท้องถิ่นภาคใต้ของไทย เป็นอาหารแนะนำเสิร์ฟบนเครื่องบิน 

2. เชื่อมโยงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฮาลาล กับแหล่งอาหารฮาลาลในพื้นที่ พร้อมร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แนะนำ และขึ้นทะเบียนเมนูอาหาร ตลอดจนส่งเสริมอาหารฮาลาลในเทศกาลต่าง ๆ 

3.ลดข้อจำกัด และอุปสรรคเกี่ยวกับการขอรับรองตราสัญลักษณ์ฮาลาล โดยร่วมกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อลดข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการรับรอง 

4.เจรจาความตกลง (MOU) เพื่อเปิดตลาดสินค้าอาหารฮาลาลใหม่ ๆ ในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สาธารณรัฐทูร์เคีย

5.พัฒนาผู้ผลิตอาหารฮาลาลไทย ให้สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคมุสลิมรุ่นใหม่ 

6.สร้างเครือข่ายความร่วมมืออาหารฮาลาลไทยกับประเทศเป้าหมาย โดยร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์เดินสาย road show ในตลาดศักยภาพ อาทิ อาเซียน ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ 

7.พัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อยกระดับศูนย์พัฒนาสินค้าอาหารของสถาบันอาหารในจังหวัดสงขลา 

8.พัฒนาและจัดทำต้นแบบ (Role Model) ในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อยกระดับสถานประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ให้ได้มาตรฐานฮาลาลเพื่อการส่งออก รวมทั้งพัฒนาสายพันธุ์วัวใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพสูง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งออกสู่ประเทศที่มีกำลังซื้อสูง

“นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เน้นย้ำเสมอถึงความสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร ไทยมีวัตถุดิบ และมีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนาคุณภาพของอาหารได้ (Food Technology) เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารฮาลาลของหลายประเทศ เชื่อมตลาดไทยสู่ตลาดโลก ปูทางสู่การเป็นศูนย์กลางสำหรับอุตสาหกรรมฮาลาลของไทย” นางรัดเกล้ากล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top