Saturday, 24 May 2025
ECONBIZ NEWS

'อ.พงษ์ภาณุ' มองท่องเที่ยวไทย ภายใต้เศรษฐกิจจีน 'เปราะบาง' ยกเว้นวีซ่า ช่วยได้แค่ไหน แม้ไทยจะเป็นจุดหมายเบอร์ 1

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น การท่องเที่ยวไทย ภายใต้เศรษฐกิจจีน 'เปราะบาง' และการยกเว้นวีซ่า จะช่วยได้จริงหรือไม่? เมื่อวันที่ 15 ต.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

การท่องเที่ยวของไทยปีนี้แม้ว่าจะยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ตอนต้นปีและยังไม่สามารถกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด 19 ได้ แต่ก็มีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ กล่าวคือ 8 เดือนแรกของ 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยแล้วกว่า 12 ล้านคน และอาจจะบรรลุเป้า 30 ล้านคน สร้างรายได้ 1.3 ล้านล้านบาท หากทุกฝ่ายร่วมมือกันเต็มที่

มาตรการยกเว้นวีซ่า (Visa Free) ชั่วคราวแก่นักท่องเที่ยวจีน ของรัฐบาล จึงได้รับการจับตามองว่าจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้หรือไม่ แต่ต้องถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากทางการจีน โดยเฉพาะในจังหวะที่จีนกำลังเข้าสู่วันหยุด Golden Week เนื่องในวันชาติจีน (1 ตุลาคม) ซึ่งจากผลสำรวจของ Trip.com มักมีชาวจีนกว่า 20 ล้านคนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว และประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวเหล่านี้ 

ดังนั้น หากนโยบายยกเว้นวีซ่า ประสบความสำเร็จในการดึงนักท่องเที่ยวจีนกลับมาในช่วง Golden Week นี้ น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปให้กลับมาคึกคักได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่จีนกำลังมีปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า ก็ยากที่จะด่วนสรุปว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาเหมือนเดิมได้หรือไม่ 

เพราะตอนนี้ จีนเจอปัญหาหลายด้าน ทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในภาวะฟองสบู่แตกกำลังประสบปัญหาหนี้สินอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และยากที่จะแก้ไขได้ในเวลารวดเร็ว รวมถึงความขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกาในเชิงภูมิรัฐศาสตร์โลก ก็กำลังซ้ำเติมปัญหาภายในของจีน สะท้อนจากการลดลงอย่างต่อเนื่องของมูลค่าการส่งออก และการลงทุนจากต่างประเทศ ขณะที่รัฐบาลจีนเอง ก็ดูจะมีความล่าช้าที่จะใช้นโยบายการคลังและการเงินเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทันการ 

ความเปราะบางของจีนขณะนี้ จึงถือเป็นความเสี่ยงใหญ่ที่อาจกระทบเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ซึ่งจริงๆ ก็กำลังเผชิญอยู่ จนต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด...

‘รัฐบาล’ ขอบคุณ ‘นทท.จีน’ ที่เชื่อมั่น ยืนยันมาไทยเกือบ 6 แสนคน หลังเกิดเหตุกราดยิง สัญญาจะคุมเข้มดูแลความปลอดภัยเต็มที่

(14 ต.ค.66) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า รัฐบาลขอบคุณความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจีนที่มีต่อประเทศไทย ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวยังคงยืนยันเที่ยวบินและที่พักถึง 5.9 แสนคน รัฐบาลให้สัญญาจะดำเนินมาตรการ ดูแลความปลอดภัย แก่นักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ โดยตัวเลขจากการท่าอากาศยานไทยแสดงว่านักท่องเที่ยวจีนที่จองการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 6.5 แสนคน ก่อนเกิดเหตุการณ์ที่สยามพารากอน ยังคงยืนยันที่พัก และเที่ยวบินมาที่ไทยถึง 5.9 แสนคน ลดน้อยลงเพียง 9.2% ซึ่งถือว่าเป็นความเบี่ยงเบนที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ จึงสะท้อนได้ว่านักท่องเที่ยวจีนยังคงมีความเชื่อมั่นที่จะมาเที่ยวเมืองไทยเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า เมื่อเทียบกับภาวะปกติที่ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวจริงจะแตกต่างจากจำนวนที่จองเข้ามาล่วงหน้าราวๆ +-15% ดังนั้นจึงถือได้ว่า ความแตกต่างของตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเที่ยวไทยก่อนและหลังเหตุการณ์ที่สยามพารากอนมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ในเกณฑ์ปกติ สะท้อนให้เห็นว่านักท่องเที่ยวจีนยังคงมีความเชื่อมั่นในประเทศไทย และยืนยันที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยเช่นเดิม

“รัฐบาลไทยขอขอบคุณนักท่องเที่ยวจีนที่เข้าใจประเทศไทย และเชื่อมั่นในรัฐบาลไทย โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้สั่งการกำชับการทำงานให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามมาตรการที่ยกมาตรฐานขึ้นอย่างดีที่สุด เพื่อดูแลนักท่องเที่ยว รวมทั้งเพื่อดูแลพี่น้องคนไทยทุกคน” นายชัย กล่าว

‘รัฐบาล’ กำชับพาณิชย์คุมเข้ม ‘ราคาสินค้า-ปริมาณ’ ป้องกันปชช.ถูกเอาเปรียบ ในช่วงเทศกาลกินเจ

(14 ต.ค.66) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เทศกาลกินเจของทุกปีจะเป็นช่วงที่ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมายังมีผู้ประกอบการบางรายเอาเปรียบผู้บริโภค ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า โดยคาดว่าในปีเทศกาลกินเจ ระหว่างวันที่ 15 - 23 ตุลาคม 2566 จะคึกคัก มีประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอย ซื้อสินค้า และทำบุญมากยิ่งขึ้น รัฐบาลห่วงใยปัญหาสุขภาพของประชาชน มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดี เชิญชวนประชาชนลดการกินเค็มในทุกเมนูเจเพื่อสุขภาพที่ดี ตลอดช่วงเทศกาลกินเจ ประจำปี 2566 ขอให้รับประทานอาหารให้ได้สารอาหาร 5 หมู่ แนะนำให้ประชากรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,300 มก.ต่อวัน เพื่อช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดลงได้ถึง 20% โดยตั้งเป้าหมายลดพฤติกรรมการบริโภคโซเดียมของคนไทยลง 30% ภายในปี 2568

นายคารม กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลเรื่องราคาสินค้า พร้อมขอความร่วมมือผู้ประกอบการค้าขายในราคาที่เป็นธรรม” โดยกรมการค้าภายใน ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สายตรวจ ออกตรวจสอบตลาด และแหล่งจำหน่ายวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารเจอย่างใกล้ชิด เพื่อกำกับดูแลพฤติกรรมทางการค้า สถานการณ์ด้านราคาและปริมาณ ตลอดจนการปิดป้ายแสดงราคาจำหน่าย เพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าและเอาเปรียบผู้บริโภค ในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ 

“สำหรับประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อสินค้าและบริการ หรือพบเห็นพฤติกรรมที่เอาเปรียบผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ หากพบการกระทำความผิดจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด กรณีไม่ปิดป้ายแสดงราคามีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท กรณีจำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินสมควร กักตุนสินค้าและปฏิเสธการจำหน่ายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายคารม กล่าว

'สุกี้ตี๋น้อย' ปั้นแบรนด์ใหม่ 'Teenoi Express' ฝ่าดงหม่าล่าเกลื่อน ปักหมุด 'เมเจอร์รัชโยธิน' สาขาแรก 1 พ.ย.นี้ ราคาเดียว 439 บาท

เมื่อวานนี้ (13 ต.ค.66) เปิดเกมรุกบุกตลาดอย่างต่อเนื่อง ‘สุกี้ตี๋น้อย’ ร้านอาหารบุฟเฟ่ต์สุกี้ชื่อดัง โดยบริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด

มีสโลแกน ‘อร่อยไม่อั้น เที่ยงวันยันเช้า’ ในราคา 219 บาท ทำให้ฮิตติดลม จนแตกแขนงหลายสาขาทั้งกรุงเทพ ปริมณฑล ล่าสุดเริ่มบุกต่างจังหวัดแล้ว

ขณะที่รายได้เรียกว่าแม้จะเปิดตัวในปี 2562 หรือเพียงระยะเวลาแค่ 5 ปี แต่ก็สร้างรายได้เติบโตต่อเนื่อง

ปี 2562 มีรายได้ 499 ล้านบาท กำไร 15 ล้านบาท, ปี 2563 มีรายได้ 1,223 ล้านบาท กำไร 140 ล้านบาท, ปี 2564 มีรายได้ 1,572 ล้านบาท กำไร 148 ล้านบาท และปี 2565 มีรายได้พุ่งทะยาน 3,976 ล้านบาท กำไร 591 ล้านบาท

ส่วนปี 2566 น่าจับตาเส้นทางการเติบโตทั้งรายได้และกำไร หลัง ‘สุกี้ตี๋น้อย’ ปิดดีลความร่วมมือกับ บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ที่เข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 30% คิดเป็นเงินลงทุน 1,200 ล้านบาท และทำให้กิจการสุกี้ตี๋น้อยมีมูลค่ารวม 4,000 ล้านบาท โดยปีนี้วางแผนเปิด 12 สาขา

ล่าสุดออกแบรนด์ใหม่ ‘Teenoi Express’ (ตี๋น้อย เอ็กซ์เพรส) สุกี้ บุฟเฟต์ อร่อยไม่อั้น ราคาเดียว 439 บาท รวมเครื่องดื่มและของหวาน ครบจบที่เดียว พร้อมเปิดให้บริการวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 นี้ ที่ ‘อเวนิว เมเจอร์ รัชโยธิน’

มีเมนูไฮไลต์ เนื้อวากิวออสเตรเลีย บริสเกต MB 6, เนื้อ Rib Eye นิวซีแลนด์, เนื้อ Oyster Blade ออสเตรเลีย, ลิ้นวัว อาร์เจนตินา, ลูกชิ้นกุ้งปั้นสด, ปลาหมึกกระดอง, กุ้งแก้ว, เต้าหู้ม้วนทอด, ไส้เป็ด, ไส้อ่อน, เซี่ยงจี๊ และอื่นๆ อีกมากกว่า 50 รายการ

ส่วนน้ำซุป-น้ำจิ้ม เป็นสูตรซิกเนเจอร์ ไม่ว่าน้ำซุปหม่าล่า, น้ำซุปดำ, น้ำซุปกระดูกหมูทงคัตสึ, น้ำซุปเห็ดหอม และน้ำซุปต้มยำ

ด้านของหวาน มีวาฟเฟิลราดซอสช็อกโกแลต/สตรอเบอร์รี่ + ไอศกรีมวานิลลา ช็อก ชิป,ไอศกรีม พร้อมของทานเล่น

เป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของ ‘สุกี้ตี๋น้อย’ หลังสร้างความฮือฮาเปิดตัวโปรเจกต์ใหม่ ‘ข้าวแกง ตี๋น้อยปันสุข’ ในราคาเริ่มต้น 39 บาท ที่สาขาเลียบทางด่วน 1 และ ‘ตี๋น้อย ป็อปอัพ คาเฟ่’ สาขาสยามสแควร์ซอย 2

คงต้องจับตาการบุกตลาดพรีเมียมครั้งแรกของ ‘สุกี้ตี๋น้อย’ หลังทำตลาดมาแมส ที่ราคาเข้าถึงง่าย ใครๆ ก็กินได้ มานานหลายปี จะมีเสียงตอบรับมากน้อยขนาดไหน 

รู้จัก ‘ปราชญ์ เทวานฤมิตรกุล’ นักเรียนทุนแบงก์ชาติ ประกาศ!! ขอนำความรู้ที่ได้กลับมาช่วยประเทศไทย

จากรายการ THE TOMORROW ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ ‘น้องไอซ์’ ปราชญ์ เทวานฤมิตรกุล เด็กไทยผู้เพียรพยายามและขอกลับมาทำงานที่บ้านเกิด หลังเรียนจบ เมื่อวันที่ 14 ต.ค.66 โดยมีเนื้อหา ดังนี้…

ประวัติของ น้องไอซ์ นั้น จบระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนวัดดอนทอง จังหวัดฉะเชิงเทรา แล้วสอบเข้าโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ในระดับมัธยมต้น จากนั้นเข้าศึกษาระดับมัธยมปลายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในแผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ โดยอยู่ในห้องของเด็กโครงการความสามารถพิเศษทางคณิตศาสตร์ หรือ Gifted Math และเมื่อเรียนจบ ก็ได้สอบชิงทุนและได้รับทุนธนาคารแห่งประเทศไทย ไปศึกษาต่อสาขาเศรษฐศาสตร์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ น้องไอซ์ ถือเป็นเด็กสายแข่งขันที่กวาดรางวัลมามากมาย เช่น ช่วงมัธยมต้นแข่งคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ได้รางวัลเหรียญทอง ช่วงมัธยมปลายแข่งภูมิศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ได้รางวัลเหรียญทอง และเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิก นอกจากนี้ยังเคยแข่งขันแต่งบทร้อยกรองทั้งในระดับโรงเรียนและระดับประเทศ จากนั้นก็มุ่งมั่นสอบชิงทุน เนื่องจากมีเป้าหมายไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่ต่างประเทศซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายตัวเอง และอยากเห็นโลกกว้างมากขึ้น เพื่อตามฝันของตัวเองตอนเด็ก ๆ ที่อยากเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากเท่ดี เพราะจะมีลายเซ็นตัวเองอยู่บนธนบัตร โดยเจ้าตัวมักบอกเสมอว่า “ถ้ากล้าฝันก็ต้องพยายามไปให้ถึง” ซึ่งเขาเริ่มเข้าใกล้ความฝันแล้ว

เพราะด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ทำให้น้องไอซ์ได้รับทุนจาก ‘ธนาคารแห่งประเทศไทย’ ไปศึกษาต่อที่ Northwestern University ประเทศสหรัฐอเมริกา ระดับปริญญาตรี ด้านสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ โดยขณะนี้กำลังขึ้นชั้นปี 2 ภายใต้รูปแบบการเรียนที่เจ้าตัวบอกว่าจะไม่พยายามกดดันตัวเอง ถึงแม้เวลากดดันตัวเองแล้วคะแนนจะดีขึ้นก็ตาม 

“ผมจะเรียนไปตามธรรมชาติที่เป็นไป แต่จะไม่กดดันตัวเอง เพราะถ้าเรากดดัน เช่น คาดหวังว่าต้องได้เกรด 3.9 ตลอดทุกเทอม จะทำให้เราไม่กล้าที่จะไปทำอย่างอื่น เช่น การเรียนรู้ชีวิตที่มหาวิทยาลัยว่าเป็นอย่างไร การปรับตัวต่าง ๆ เป็นต้น”

ทั้งนี้ น้องไอซ์ ได้บอกว่าความแตกต่างของมหาวิทยาลัยไทยกับมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกาด้วยว่า มีความแตกต่างกันมากโดยเฉพาะโครงสร้างการสอน เพราะมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกา เปิดโอกาสให้นักศึกษาเลือกเรียนในสิ่งที่อยากรู้ได้อย่างอิสระ แต่ต้องเรียนวิชาหลักของคณะให้ครบถ้วน ทว่าก็สามารถเรียนวิชาอื่น ๆ ที่อยากเรียนได้ 

“เราสามารถทำหลาย Major ได้ ซึ่งถือเป็นการเรียนแบบ ‘มิติสัมพันธ์’ เช่น เรียนเรื่องนี้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับวิชาหลักที่เราเรียนได้ เป็นต้น” 

เมื่อถามว่าอะไรคือ ความท้าทายเมื่อไปเรียนที่ต่างประเทศ? น้องไอซ์บอกว่า “มี 3 เรื่องด้วยกัน คือ 1.ความท้าทายเรื่องภาษา ต้องมีการไปเตรียมตัวเรียนภาษาก่อน 1 ปี 2.การจัดการเวลาเรียน เราต้อง Balance ให้ดี ทั้งเวลาเรียน ทำกิจกรรม การสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ และการได้อยู่กับตัวเอง และ 3.เรื่องอาหารและโภชนาการ เนื่องจากอาหารไม่ถูกปากเหมือนเมืองไทยเลยต้องปรับตัว”

เมื่อถามถึงตัวแปรสำคัญที่ส่งเสริมน้องไอซ์ให้มาถึงจุดนี้ได้? น้องไอซ์ เผยว่า “ครอบครัว มีส่วนผลักดันเยอะมาก รวมถึง อาจารย์ และเพื่อน ๆ ฉะนั้นเมื่อเรียนจบ ผมจะตั้งใจนำความรู้มาพัฒนาประเทศไทย ซึ่งพร้อมกลับมาทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมองว่าเรียนรู้อะไรมาก็จะใช้ความรู้ที่เรียนมานั้น มาทำงานจริง ๆ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งตอนนี้มี Project ที่น่าสนใจมากมาย เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) จากการนำเข้าส่งออก เราสามารถส่งเสริมให้ไทยกลายเป็น ศูนย์กลางของการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าได้ หรือกลายเป็นผู้ผลิตเองทั้งหมด หรือการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นมาโดยตลอด เป็นต้น”

น้องไอซ์ฝากทิ้งท้ายว่า “การเรียนหรือการพัฒนาตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่ว่าจะเรียนโรงเรียนวัดหรือโรงเรียนอะไรก็ตาม จริงๆ แล้วอยู่ที่ตัวเราเอง ถ้าเรามองว่าเราทำไม่ได้ ถึงแม้สังคมรอบข้างบอกว่าเราทำได้ เราก็จะทำไม่ได้อยู่ดี สุดท้ายแล้วไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ถ้าเรามีความมั่นใจในตัวเอง และตั้งใจทำมันจริง ๆ ผมก็เชื่อว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จได้ครับ”

‘รัดเกล้า’ ย้ำ!! รัฐฯ ตั้งเป้าลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือน ร้อยละ 80 พร้อมเดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้ ปชช.

(13 ต.ค. 66) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ธนาคารออมสิน ซึ่งกำกับดูแลโดยกระทรวงการคลัง เดินหน้าแก้ไขปัญหา และลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย ตลอดจนให้ความรู้ทางการเงิน และพัฒนากำลังคน เพื่อรองรับการทำงานตามนโยบายรัฐบาลในอนาคต ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายและย้ำถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย แก้ปัญหาหนี้ภาคประชาชน โดยให้ดำเนินการให้ได้เร็วที่สุด

นางรัดเกล้า กล่าวว่า เพื่อเป็นการขานรับนโยบายของรัฐบาล ธนาคารออมสินจึงได้จัด โครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันนวมินทรมหาราช วันที่ 13 ตุลาคม 2566 มาตรการแก้ไขหนี้ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อลูกหนี้รายย่อยธนาคารออมสิน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการผ่อนชำระ และลูกหนี้บางส่วนที่มีสถานะ NPLs จากผลกระทบดังกล่าว โดยจะเปิดให้เข้าร่วมโครงการได้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2566

สำหรับมาตรการแก้ไขหนี้ดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยสินเชื่อธนาคารออมสิน ด้วยการให้พักชำระเงินต้นและให้ทางเลือกจ่ายดอกเบี้ยตั้งแต่ 25% - 100% แล้วแต่กรณี ตามเงื่อนไขธนาคารและสถานะของลูกหนี้แต่ละรายเมื่อสามารถผ่อนชำระได้ตามเงื่อนไขของมาตรการ ธนาคารจะยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระก่อนเข้ามาตรการให้

รวมถึงลูกหนี้ที่มีสถานะ NPLs อยู่ก่อนวันที่ 30 ธันวาคม 2565 ธนาคารจะชะลอกระบวนการดำเนินคดีตามกฎหมายโดยไม่ฟ้อง ไม่ยึดทรัพย์ ไม่ขายทอดตลาด และไม่ฟ้องล้มละลาย แล้วแต่กรณี โดยให้ผ่อนชำระได้สูงสุด 10 ปี และคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษตามเงื่อนไขธนาคาร ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ประสงค์เข้าร่วมมาตรการ สามารถติดต่อธนาคารออมสินสาขาเจ้าของบัญชีเงินกู้ หรือสาขาที่สะดวกได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2566

“รัฐบาลผลักดันนโยบายไปสู่การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา พลิกฟื้นเศรษฐกิจ และยกระดับชีวิตประชาชน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งเตรียมความพร้อมดำเนินมาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดและยั่งยืน ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนคลี่คลายขึ้นได้ในระยะต่อไปโดยมีเป้าหมายที่จะลดหนี้ภาพรวมให้ลดลงอยู่ในระดับที่ยั่งยืน หรือต่ำกว่า 80% ต่อจีดีพี” นางรัดเกล้า กล่าว

ปตท. สนับสนุนการบริหารจัดการ ‘ปัญหาน้ำท่วม’ พื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน ส่งมอบอุปกรณ์ และบริการสำหรับระบบซ่อมบำรุงเชิงพยากรณ์

เมื่อเร็วๆ นี้ นายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แทน ปตท. ส่งมอบอุปกรณ์และบริการสำหรับระบบซ่อมบำรุงเชิงพยากรณ์ และการเฝ้าติดตามสภาพเครื่องจักรจาก บริษัท พี ดิคเตอร์ จำกัด (P-DICTOR) เป็นเวลา 1 ปี นับตั้งแต่การติดตั้งแล้วเสร็จ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ให้แก่ นายปวินท์สรรค์ กัลยาณพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานระบบควบคุมน้ำ สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการนำความเชี่ยวชาญในนวัตกรรมด้าน Predictive Maintenance and Machine Monitoring ของกลุ่ม ปตท. มาสนับสนุนการวิเคราะห์ข้อมูลการสั่นสะเทือนและทำนายการหยุดทำงานล่วงหน้าของเครื่องสูบน้ำ ณ สถานีสูบน้ำกรุงเกษม เขตบางรัก ที่เป็นจุดสำคัญในการสูบน้ำกรณีเกิดน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน เพื่อช่วยให้สำนักการระบายน้ำฯ สามารถป้องกันและแก้ไขอุปกรณ์ให้มีความพร้อมใช้งาน ลดค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุง ตลอดจนช่วยให้บริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

กลุ่ม ปตท. ร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องใน ‘วันนวมินทรมหาราช’ 13 ตุลาคม 2566

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เป็นประธานในพิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรม

ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ‘วันนวมินทรมหาราช’ 13 ตุลาคม 2566 พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร กลุ่ม ปตท. และพนักงานเข้าร่วมพิธีฯ ณ อาคารสำนักงานใหญ่ ด้วย ปตท. สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งพระองค์เปรียบดั่งพระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย ทรงมีวิสัยทัศน์อันกว้างไกลด้านพลังงานในหลายโครงการ อาทิ การผลิตพลังงานทดแทนจากแก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล ก๊าซชีวภาพ ชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ที่ถูกพัฒนาขึ้นเป็นรูปธรรม ทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตพลังงานใช้ได้เอง ลดการพึ่งพานำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่ง ปตท. น้อมนำแนวพระราชดำริหลักแนวคิดมาเป็นภารกิจหลักในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ก้าวตามรอยพระยุคลบาทสืบต่อไป

‘พิมพ์ภัทรา’ ขานรับนโยบายรัฐบาล ยกระดับภาคอุตฯ เสริมแกร่งศักยภาพและมาตรฐาน ‘อุตฯ EV - AI’

เร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำมาตรฐานในปีงบประมาณ 2567 ที่ตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยตามนโยบายรัฐบาล และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะมาตรฐานในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ เน้นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ได้แก่ EV อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมชีวภาพ AI ฮาลาล และ Soft power ซึ่งคาดว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถนำเม็ดเงินมาสู่ภาคอุตสาหกรรมของไทยได้เป็นอย่างดี โดยตั้งเป้าหมายไว้ 600 มาตรฐาน 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า สมอ. เตรียมขออนุมัติแผนการกำหนดมาตรฐานในปีงบประมาณ 2567 รวม 600 มาตรฐาน ในการประชุมบอร์ด สมอ. ในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566 ที่สามารถจัดทำมาตรฐานได้ 478 มาตรฐาน ทั้งนี้ ให้เร่งผลักดันมาตรฐานที่เป็นเรื่องเร่งด่วนตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมก่อน เช่น มาตรฐานสถานีชาร์จรถไฟฟ้า สาธารณะ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มาตรฐานอาหารฮาลาล AI เครื่องมือแพทย์ BCG และหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นต้น

“ภายหลังที่บอร์ดให้ความเห็นชอบมาตรฐานที่ สมอ. เสนอแล้ว จะเร่งรัดให้ สมอ. ดำเนินการจัดทำมาตรฐานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมในการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมเพื่อก้าวสู่ความเป็นอุตสาหกรรม 4.0 และคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน” นายวันชัยฯ กล่าว

'ดร.ปิติ' ชี้!! ไม่ใช่แค่ 'อิสราเอล-ปาเลสไตน์' แต่ทั่วโลกยังมีจุดขัดแย้งอีกมากมายที่รอปะทุ

(12 ต.ค.66) รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความถึงปมขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่อีกหลายจุดทั่วโลก ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า...

นอกจาก อิสราเอล-ปาเลสไตน์ แล้ว ทั่วโลกยังมีจุดปะทุความขัดแย้งครั้งทางภูมิรัฐศาสตร์อีกมากมาย

สุดสัปดาห์ที่แล้ว ในเมียนมา ค่ายผู้อพยพในรัฐคะฉิ่นติดพรมแดนจีนก็พึ่งถูกทำลาย 

ในหนังสือเล่มใหม่ของผม ปิติ ศรีแสงนาม และ จักรี ไชยพินิจ ยังคาดการณ์จุดปะทุทั่วโลกที่ไทยต้องจับตาไว้อีกหลายแห่งอาทิ

1. NATO vs รัสเซีย: สงครามเย็นที่ไม่สิ้นสุด
2. เอเชียใต้: ดินแดนแห่งตัวแปรของภูมิรัฐศาสตร์
3. แอฟริกา: กาฬทวีปที่ถูกมองข้าม
4. ตะวันออกกลาง: ทางแยกของแผนที่โลก
5. คาบสมุทรเกาหลี: ภูมิรัฐศาสตร์เก่าในบริบทใหม่ (บทความพิเศษโดย เสกสรร อานันทศิริเกียรติ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมไทยคดีศึกษาแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (Korean Association of Thai Studies : KATS))
6. ช่องแคบไต้หวัน: การช่วงชิงพื้นที่ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา
7. ทะเลจีนใต้: เขตอิทธิพลของจีนกับประเด็นพิพาทของอาเซียน, และ
8. Zomia: จากดินแดนแห่งเทือกเขาสู่พื้นที่ยุทธศาสตร์การเมืองในเมียนมา

สั่งซื้อได้แล้วนะครับ หนังสือเล่มใหม่ของผม

Amidst the Geo-Political Conflicts #สมรภูมิพลิกอำนาจโลก

ผู้เขียน : ปิติ ศรีแสงนาม, จักรี ไชยพินิจ Chakkri Chaipinit

ทดลองอ่าน https://bit.ly/3PWGEfm

>> นอกจากนี้ ท่ามกลางสมรภูมิความขัดแย้งทั่วโลก ท่ามกลางการปะทะของสามขั้วอำนาจที่จะเปลี่ยนระเบียบโลกใหม่ ไทยของเราควรอยู่ตรงไหน และอยู่อย่างไร?

Amidst the Geo-Political Conflicts สมรภูมิพลิกอำนาจโลก ว่าด้วยสถานการณ์ในจุดปะทุทางการเมืองโลก ณ ปัจจุบัน ได้แก่ รัสเซีย-ยูเครน ตะวันออกกลาง แอฟริกา เอเชียใต้ คาบสมุทรเกาหลี ช่องแคบไต้หวัน ทะเลจีนใต้ และดินแดนเทือกเขาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Zomia) โดยจะวิเคราะห์ให้เห็นว่า สามขั้วอำนาจคือ สหรัฐอเมริกา จีน และโลกมุสลิม เข้าไปมีบทบาทกับการเมืองภายในอย่างไร และเพราะเหตุใดทั้งสามถึงต้องการช่วงชิงการมีอิทธิพลเหนือพื้นที่เหล่านี้

ร่วมทำความเข้าใจความขัดแย้งที่คุกรุ่นอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ผ่านเลนส์ภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ และร่วมขบคิดถึงการวางนโยบายต่างประเทศของไทยในอนาคต เพื่อรู้เท่าทันในวันที่ระเบียบโลกจะพลิกผันไปจากเดิม

สั่งซื้อได้ที่ https://www.matichonbook.com/p/4664/amidst-the-geo-political-conflicts-สมรภูมิพลิกอำนาจโลก.html

รวมทั้งภาคแรกของ Series "Amidst" อย่าง 

Amidst the New World Order #ไทยในระเบียบโลกใหม่

ผู้เขียน : รองศาสตราจารย์ ดร. ปิติ ศรีแสงนาม

ทดลองอ่าน: https://bit.ly/3UQqpRn

อ่านมหาอำนาจ วางยุทธศาสตร์เพื่อ “ปรับ” เมื่อโลก “เปลี่ยน” ภายใต้โลกใหม่ที่ไม่มีวันเหมือนเดิม

>> ขณะที่ดุลอำนาจของสหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในภาวะถดถอย จีนทะยานขึ้นเป็นผู้กุมอนาคตทางการค้าและเทคโนโลยี ผู้เล่นอื่นๆ ในสนามภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจโลกก็พร้อมขยับเพื่อก้าวกระโดด

Amidst the New World Order ไทยในระเบียบโลกใหม่ โดยรองศาสตราจารย์ ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ชวนสำรวจและทำความเข้าใจโลกที่พลิกผันจากการกระชากเปลี่ยนครั้งใหญ่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง 

ร่วมกำหนดตำแหน่งแห่งที่ บทบาท ท่าทีและ “อนาคต” ของชาติที่คาดหมายและคาดหวังให้เป็นจริง

สั่งซื้อได้ที่ https://www.matichonbook.com/p/4034/amidst-the-new-world-order-ไทยในระเบียบโลกใหม่.html

หรือไปซื้อที่ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 วันที่ 12-23 ตุลาคม 2566 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ บูธ J47 Matichon Book - สำนักพิมพ์มติชน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top